LATE NIGHT DANCE CLUB แบรนด์ของหนุ่มนักเต้น ผู้หยิบจับความสดใสในวัยเด็กมาเป็นแฟชั่น

ความคลั่งไคล้ในวัยเด็กของใครคนหนึ่งอาจเป็นการเล่นสเกตบอร์ด ในขณะที่ใครอีกคนหนึ่งอาจชื่นชอบการได้จมอยู่กับกองมังงะ แต่ถ้าคุณถาม ท็อป–กิตติฑัตย์ โควหกุล ว่าความสนุกในวัยเด็กของเขาคืออะไร คำตอบที่คุณจะได้ย่อมหนีไม่พ้น ‘การเต้น’

“ด้วยความที่เราเติบโตมากับพี่สาวที่อายุห่างกันค่อนข้างมาก แทนที่เราจะได้ดูการ์ตูนเหมือนเด็กคนอื่นๆ เรากลับได้ซึมซับเพลงและมิวสิกวิดีโอของต่างประเทศผ่านรายการเพลงที่พี่สาวมักเปิดฟังอยู่บ่อยๆ มันเลยทำให้เราอินกับศิลปินอย่าง Michael Jackson มากๆ” ท็อปเล่าย้อนถึงความหอมหวานในวัยเด็ก

ควบคู่ไปกับการซึมซับดนตรีตะวันตกผ่านอิทธิพลของพี่สาวนี่เองที่ทำให้ท็อปเริ่มเห็นว่า พ้นไปจากเสียงเพลงแล้วยังมีการเต้นซึ่งเป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบสำคัญที่ส่งให้มิวสิกวิดีโอของเพลงเพลงหนึ่งดูมีชีวิตชีวาขึ้นมา โดยไม่ทันรู้ตัว ท็อปก็ได้ค่อยๆ พาตัวเองเข้าสู่วงการเต้นนับตั้งแต่นั้น

“เราเริ่มจากการไปเรียนคลาสเต้นที่สยาม จนได้รู้จักกับการเต้นเบรกแดนซ์ หลังจากนั้นเราก็พยายามหาว่าในกรุงเทพฯ เขาซ้อมเต้นกันที่ไหนบ้าง แล้วพยายามเรียนรู้ไปเรื่อยๆ จนการเต้นกลายเป็นชีวิตเราไปเลย เรียกว่ากินนอนอยู่กับมันเลยก็ได้”

สำหรับท็อป การเต้นคือแพสชั่นที่ก่อตัวขึ้นในวัยเด็ก แต่ยังคงลุกโชนอยู่เรื่อยๆ แม้ในวันที่เขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ แล้วก็เป็นความคลั่งไคล้ในการขยับร่างกายไปตามจังหวะเพลงนี้เอง ที่พอถึงจุดหนึ่งก็ได้ต่อยอดมาเป็นแบรนด์แฟชั่นที่เขาก่อตั้งขึ้น

แบรนด์ที่ว่าคือ LATE NIGHT DANCE CLUB

จากหนุ่มนักเต้นสู่ครีเอทีฟแห่งแบรนด์ Carnival

ฟาสต์ฟอร์เวิร์ดจากเด็กหนุ่มผู้ลุ่มหลงการเต้น สู่มาร์เก็ตติ้งเมเนเจอร์และครีเอทีฟประจำแบรนด์สตรีทแวร์ยักษ์ใหญ่ของประเทศอย่าง Carnival ท็อปเล่าว่าการได้เข้ามาทำงานที่ Carnival ทำให้เขาเริ่มหันมาศึกษาแฟชั่นอย่างจริงๆ จังๆ

LATE NIGHT DANCE CLUB
ท็อป–กิตติฑัตย์ โควหกุล ผู้ก่อตั้งแบรนด์

“ด้วยความที่เราอยู่ในวงการเต้นมาตลอด มันก็จะมีแฟชั่นอย่างรองเท้า Puma และ PRO-Keds กับกางเกง Dickies เพียงแต่อะไรเหล่านี้จะไม่ได้อยู่ในเทรนด์แฟชั่นปัจจุบันสักเท่าไหร่ พอได้มาทำงานที่ Carnival เราเลยต้องศึกษาเทรนด์แฟชั่นและวงการสตรีทแวร์มากขึ้น”

หลังจากที่ได้ขลุกอยู่กับวงการสตรีทแวร์มาสักพักก็ถึงเวลาที่ท็อปจะได้พิสูจน์ความสามารถ จากการร่วมงานระหว่าง Carnival กับศิลปินหนุ่มชาวญี่ปุ่นที่อยู่ๆ ครีเอทีฟหนุ่มก็ได้จับพลัดจับผลูมาเป็นผู้ออกแบบเสื้อผ้าให้กับคอลเลกชั่น CARNIVAL™ x Yuya Hashizume

“ปกติแล้วหน้าที่ของเราในฐานะครีเอทีฟคือการกำหนดว่าอะไรคือคอนเซปต์ของคอลเลกชั่นหนึ่งๆ ส่วนเรื่องการออกแบบจะเป็นงานของกราฟิก แต่ด้วยความที่เราพอจะทำกราฟิกได้ก็เลยลองจัดวางลวดลายต่างๆ ลงบนเสื้อผ้าเล่นๆ ปรากฏว่าพอส่งให้พี่ปิ๊น (อนุพงศ์ คุตติกุล หนึ่งในผู้ก่อตั้ง Carnival) ดู เขาก็บอกว่าสวยนะ ใช้แบบที่เราทำมานี่แหละ กลายเป็นว่า CARNIVAL™ x Yuya Hashizume เลยเป็นคอลเลกชั่นแรกของ Carnival ที่เราได้ออกแบบเต็มๆ เป็นความบังเอิญที่ทำให้ตระหนักว่า อ้าว เราก็ออกแบบเสื้อผ้าได้เหมือนกันว่ะ”

เปลี่ยนความคลั่งไคล้ในวัยเด็กมาเป็นแบรนด์

หลังจากที่สั่งสมประสบการณ์จาก Carnival ได้สักพัก ในที่สุดก็ถึงเวลาที่ท็อปจะลงสนามภายใต้แบรนด์ของตัวเองบ้าง

“เราเข้ามาทำงานที่ Carnival กลางคัน ซึ่งหน้าที่ของเราคือการปรับแต่งแบรนด์ไปเรื่อยๆ แต่เราไม่เคยมีโอกาสได้เริ่มแบรนด์เป็นของตัวเอง พอถึงจุดหนึ่งเราเลยคิดว่าลองเอาความรู้ที่สั่งสมจาก Carnival มาพัฒนาแบรนด์ของตัวเองบ้างดีไหม สุดท้ายเลยออกมาเป็น LATE NIGHT DANCE CLUB” ท็อปเล่าถึงจุดเริ่มต้นของแบรนด์ที่ก่อตั้งร่วมกับ ตุ้ม–ศุภนารถ ฮุนตระกูล แฟนสาวของเขา

LATE NIGHT DANCE CLUB
ตุ้ม–ศุภนารถ ฮุนตระกูล ผู้ร่วมก่อตั้งแบรนด์

ส่วนสาเหตุที่ใช้ชื่อนี้ นอกจากจะมาจากความหลงใหลในการเต้นของเจ้าของแบรนด์แล้ว คำว่า late night ยังสะท้อนให้เห็นความคลั่งไคล้ในกิจกรรมหนึ่งๆ จนแม้ว่าดึกดื่นก็ยังไม่คิดจะพักผ่อน

“เวลาเราคลั่งไคล้อะไรสักอย่าง ต่อให้ดึกแค่ไหนมันก็จะไม่เหนื่อย เพราะยิ่งคุณยินดีจะทำอะไรสักอย่างดึกๆ ดื่นๆ เท่าไหร่ มันก็ยิ่งสะท้อนให้เห็นตัวตนจริงๆ ของคุณที่พร้อมจะบ้าคลั่งกับสิ่งหนึ่งๆ ซึ่งมันไม่ใช่แค่กับการเต้นหรอก บางคนอาจชอบร้องเพลงหรือวาดรูปมากๆ เราเลยอยากให้แบรนด์ของเราสะท้อนให้เห็นความคลั่งไคล้ทำนองนี้”

ท็อปเล่าว่าคอลเลกชั่นแรกที่แบรนด์ปล่อยออกมาเป็นเสื้อยืดกราฟิกสองลวดลายที่ได้แรงบันดาลใจมาจากเสื้อยืดที่ระลึกของวงการฮิปฮอป โดยที่ลายหนึ่งเป็นดอกไม้สีสดใสซึ่งท็อปตั้งใจล้อเลียนวงดนตรีโปรดของเขาอย่าง De La Soul ส่วนอีกลายก็ปรากฏรูปหัวใจกระจัดกระจายพร้อมข้อความว่า ‘Somebody on the dance floor loves me’

“ปรากฏว่าสองลายแรกขายหมด ซึ่งมันก็ไม่ได้ขายหมดในทันทีหรอก แต่ก็ทยอยๆ ไป อีกอย่างคือเราผลิตออกมาไม่เยอะด้วย แล้วราคาตัวหนึ่งก็ค่อนข้างสูงคือตัวละ 890 บาท เพียงแต่สาเหตุที่เราเลือกตั้งราคานี้เพราะเราไม่อยากลดสเป็กเสื้อเพื่อให้ราคาถูกลง เราอยากใช้เสื้อที่มีคุณภาพดีที่สุด แล้วก็เลือกใช้เทคนิคการสกรีนที่จะไม่เสื่อมคุณภาพง่ายๆ เพราะเราอยากให้เสื้อตัวหนึ่งอยู่กับคนใส่ได้นานๆ”

หลังจากคอลเลกชั่นแรกหมดไป แบรนด์ของท็อปก็ได้มีโอกาสไปร่วมงานกับวงการแรปเปอร์จนออกมาเป็นเสื้อยืดที่ปรากฏข้อความว่า ‘Support Your Local Hip-Hop Community’ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของกระบอกเสียงที่ช่วยสนับสนุนวงการฮิปฮอปไทย จากนั้นแบรนด์ก็ได้กระโดดไปจับมือกับ Olympic Digger คอมมิวนิตี้คนรักแผ่นเสียง และศิลปินอย่าง Bloody Hell Big Head จนออกมาเป็นคอลเลกชั่น HAVE A NICE DIGGIN’ DAY ที่ประกอบไปด้วยเสื้อยืด เสื้อฮาวาย หมวก runner cap และ tote bag

LATE NIGHT DANCE CLUB
LATE NIGHT DANCE CLUB

“การได้ร่วมงานกับคอมมิวนิตี้ต่างๆ เหล่านี้ไม่เพียงทำให้แบรนด์ของเรามีโอกาสได้เป็นกระบอกเสียงให้กับผู้คนในหลายๆ วงการเท่านั้น แต่ยังทำให้แบรนด์เป็นที่จดจำมากขึ้นด้วย มันเลยทำให้แบรนด์ของเราไฮป์ขึ้นเรื่อยๆ ในกลุ่มคอมมิวนิตี้เล็กๆ”

หลังจากที่ไปร่วมงานกับคนอื่นๆ จนพอเป็นที่รู้จัก เมื่อต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ท็อปก็ได้ตัดสินใจปล่อยคอลเลกชั่นที่ 2 ของแบรนด์อย่าง HAPPY BIG KIDS ออกมา โดยที่ในครั้งนี้ท็อปจัดเต็มกว่าคอลเลกชั่นแรกเพราะมาครบทั้งเสื้อยืดกราฟิก tote bag หมวก เสื้อเชิ้ตขาว ไปจนถึงเซตเบลเซอร์โอเวอร์ไซส์สีเนวีพร้อมโลโก้รูปหัวใจสีแดงของแบรนด์บนกระเป๋าซ้าย

“เราอยากทำเสื้อผ้าที่หลากหลายขึ้นเพราะไม่อยากให้คนรู้สึกว่าแบรนด์เรามีแค่เสื้อยืดกราฟิกอย่างเดียว แต่มีทั้งกระเป๋าและเบลเซอร์ มันเลยทำให้เรากล้าลองและสนุกกับการทำอะไรใหม่ๆ อยู่เรื่อยๆ อย่างเบลเซอร์เราทำก็เพราะคิดว่าตัวเองอยากใส่ ซึ่งถ้าเราอยากใส่ก็คงจะมีคนอื่นอยากใส่เหมือนกันแหละ ส่วนหัวใจที่อยู่บนกระเป๋านั่นจริงๆ ก็มาจากฝีมือการปักของแฟนเราทุกชิ้นเลยนะ

LATE NIGHT DANCE CLUB

“จริงๆ ต้องบอกว่าคอลเลกชั่นนี้เราทำเสร็จตั้งแต่ปีที่แล้ว ซึ่งความตั้งใจแรกคือเราจะปล่อยออกมาในช่วงที่หมดโควิด-19 เพราะแรงบันดาลใจของคอลเลกชั่นนี้มาจากดิสนีย์แลนด์ เราเลยอยากวางขายในช่วงที่บรรยากาศของประเทศพร้อมจะกลับมาสนุกได้อีกครั้ง แต่ไปๆ มาๆ โควิดก็ไม่หมดไปสักที โชคดีว่าช่วงปลายเดือนมิถุนายน Disney+ เข้าไทยพอดี ซึ่งเราสังเกตว่าบรรยากาศของประเทศดูจะกลับมาสดใสขึ้นบ้าง เราเลยปล่อยคอลเลกชั่นนี้ออกไป”

ผลตอบรับของคอลเลกชั่นที่ 2 เรียกได้ว่าน่าพอใจไม่น้อย ยิ่งพอเสื้อผ้าของแบรนด์ได้ไปวางขายบนเว็บไซต์ของ Carnival ด้วยแล้ว ไอเทมเด่นๆ อย่างเซตเบลเซอร์และเสื้อยืดกราฟิกก็ sold out ไปเป็นที่เรียบร้อย

นับจากวันแรกที่ก่อตั้งจนถึงปัจจุบัน แบรนด์เพิ่งจะมีอายุได้แค่ปีนิดๆ ถึงอย่างนั้นท็อปก็รู้สึกว่าแบรนด์เดินทางมาไกลกว่าที่เขาคิดไว้มาก

“เราเซอร์ไพรส์นะที่แบรนด์เล็กๆ อย่างเรามีคนสนใจ จริงๆ ต่อให้เสื้อผ้าของเราขายได้เพียงชิ้นเดียว แค่นี้เราก็เซอไพรส์แล้วนะ เพราะนั่นแปลว่ามีคนชอบในสิ่งที่เราคิดจริงๆ

“ถึงแม้ว่าแบรนด์เราจะมาไกลกว่าที่คิดก็จริง แต่แบรนด์เรายังใหม่อยู่มาก ซึ่งตั้งแต่ที่เริ่มทำแบรนด์มาเราเห็นทุกอย่างบนโลกออนไลน์ตลอด ยังไม่เคยเห็นคนใส่เสื้อผ้าของเราในชีวิตจริงเลยเพราะทุกคนกักตัวอยู่บ้านกันหมด ถ้าเป็นไปได้เราก็อยากไปงานเฟสติวัลสักงานแล้วเห็นคนใส่เสื้อผ้าของแบรนด์เราเหมือนกันนะ มันคงรู้สึกดีไม่น้อยเลย” ท็อปทิ้งท้าย

AUTHOR