ทำไมคนเกาหลีใต้ส่วนใหญ่ถึงยังไม่ยอมรับเกย์

ประเทศเกาหลีใต้ ดินแดนที่มีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ครองส่วนแบ่งอันดับต้นๆ ในตลาดสมาร์ตโฟนโลก มีวัฒนธรรมป๊อปอันแข็งแกร่งส่งออกแพร่หลาย กลับเป็นสถานที่เดียวกันกับพื้นที่ทางวัฒนธรรมที่ปิดกั้นการมีตัวตนของเพศทางเลือกมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก

“ไม่มีเกย์ในสังคมของเรา ทั้งในเรื่องค่านิยมและบรรทัดฐาน เพราะฉะนั้นผมเชื่อว่าเราควรจะต่อต้านมัน” คือคำพูดของรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม Kim Hyun-woong ที่ห้ามไม่ให้จัดขบวนพาเหรดเกย์ในเดือนมีนาคม ปี 2015 ทั้งที่งานสีรุ้งนี้จัดมายาวนานเป็นครั้งที่ 16 ในปีดังกล่าว แต่สุดท้ายด้วยพลังของชาว LGBTQ ในเกาหลีใต้ก็ทำให้งานได้จัดขึ้นในเดือนมิถุนายน นี่เป็นตัวอย่างของสถานการณ์ด้านสิทธิทางเพศในเกาหลีที่ดูเหมือนว่าปัญหาเรื่องการยอมรับเพศทางเลือกจะยังคงเป็นเรื่องที่ต้องถกเถียงและต่อสู้ในสังคมเกาหลีไปอีกยาวนาน และเราอยากหาคำตอบว่า ทำไมคนเกาหลีใต้ส่วนใหญ่ถึงรังเกียจและเกรงกลัวการเป็นเกย์มากขนาดนี้

เกาหลีใต้ในยุคที่ชายรักชายยังไม่ใช่เรื่องผิด

ย้อนกลับไปสมัยโครยอซึ่งมีสัญลักษณ์เป็นมังกรกับพระอาทิตย์ ทั้งคู่เป็นตัวแทนของเพศชายที่มารวมตัวกันจนแข็งแกร่ง ในยุคนี้ ความสัมพันธ์เชิงชู้สาวระหว่างชายและชายยังเป็นเรื่องปกติ เห็นได้จากกรณีของกษัตริย์คงมิน ผู้ปลดแอกอาณาจักรโครยอจากการครอบงำของมองโกลราชวงศ์หยวน (ครองราชย์ ค.ศ. 1351 – 1374) ซึ่งหลังจากพระมเหสีของพระองค์สิ้นพระชนม์ พระองค์ทรงมีชาเจวี (Jajewi) ชายหนุ่มหน้าตาดีที่เลือกมาเป็นคู่รัก คล้ายกันกับกรณีของกษัตริย์ชุงซอน (Chungseon) พระราชาองค์ที่ 26 แห่งราชวงศ์โครยอก็ทรงมีคู่รักชายเช่นเดียวกัน

ประวัติศาสตร์ที่ถูกบันทึกไว้นี้แสดงให้เห็นว่าการมีคู่รักชายกับชายเป็นเรื่องปกติในสังคมชนชั้นสูงโบราณ แม้การยอมรับคู่ชายรักชายจะลดลงในสมัยโชซอนเพราะลัทธิขงจื๊อจากจีนเข้ามาเผยแพร่ในสังคมแล้ว แต่ชายชาวชนบทยังคงร่วมเพศกันและไม่ได้เป็นเรื่องน่าแปลกแต่อย่างใด

เมื่อเกย์ (ถูกทำให้) กลายเป็นอื่น

เมื่อลัทธิขงจื๊อเข้ามามีอิทธิพลกับคนเกาหลีใต้แทบทุกด้าน และถูกทำให้เป็นอุดมการณ์สำคัญของรัฐตั้งแต่สมัยโชซอน (ค.ศ. 1392 – 1910) หน้าที่ของชายและหญิงจึงถูกจัดสรรปันส่วนกันอย่างชัดเจน ผู้ชายควรเป็นผู้นำ และผู้หญิงควรเป็นผู้สนับสนุน บทบาทของชายหญิงคือการเป็นสามีภรรยาสืบวงศ์ตระกูลและมีลูกหลาน เรื่องของเพศทางเลือกจึงไม่ได้อยู่ในกรอบคิดหลักและกลายเป็นอื่นในสังคมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แถมแนวคิดนี้ยังฝังรากลึกอยู่ในวิธีคิดของคนเกาหลีอย่างแนบแน่น

ระลอกถัดมาคือการเข้ามาของศาสนาคริสต์ในศตวรรษที่ 18 แม้ตอนแรกความเชื่อต่อพระเจ้าจะถูกต่อต้านและไม่ได้รับความนิยมนัก แต่ตลอดทศวรรษ 1960, 1970 และ 1980 คริสต์ศาสนิกชนในเกาหลีเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ตามคำสอนของคริสต์ศาสนา ถือว่าการหลั่งอสุจินอกช่องคลอดของเพศหญิงเป็นบาป ดังนั้นการมีเพศสัมพันธ์ทางอื่นจึงไม่ควร และการร่วมเพศของเพศทางเลือกก็เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ โดยเฉพาะนักกิจกรรมคริสเตียนหัวเก่าที่มีอำนาจยึดโยงทางการเมืองจะพยายามทุกวิถีทางไม่ให้มีกฏหมายสนับสนุนคนรักเพศเดียวกันได้รับการอนุมัติ

ปัจจุบันกลุ่ม LGBTQ ในแดนกิมจิจึงยังต้องเผชิญหน้ากับการต่อต้านของกลุ่มคริสต์ศาสนิกชนในประเทศเสมอมา เป็นความเชื่อที่ยังท้าทายวัฒนธรรมและทำให้กลุ่มเพศทางเลือกในเกาหลีใต้กลายเป็นคนชายขอบของสังคมมาเรื่อยๆ

การปฏิเสธ LGBTQ ในสังคมกิมจิ

นอกจากความเชื่อแบบของจื๊อและศาสนาคริสต์แบบอนุรักษ์นิยมทำให้คนเกาหลีใต้ตั้งแต่ระดับปัจเจกจนโครงสร้างมองว่าการเป็นเกย์ผิดปกติ ยังมีความกังวลของคนรุ่นเก่าในเกาหลีใต้ว่ากลุ่มเพศทางเลือกมีแนวโน้มที่จะเสี่ยงต่อการติดโรคทางเพศสัมพันธ์มากกว่าและทำให้เกิดการแพร่กระจายของโรคติดต่อ ที่ทำให้เกิดการกีดกันจากหน่วยต่างๆ ในสังคมตามมาจนถึงปัจจุบัน

ในปี 2013 SAMSUNG ปฏิเสธแอพพลิเคชั่นเกย์ชื่อดังอย่าง Hornet ด้วยเหตุผลด้านค่านิยมและกฎหมายที่ไม่อนุญาตให้มีเนื้อหาเรื่อง LGBT ในประเทศของตน นอกจากนี้ซัมซุงยืนยันการบล็อกแอพพลิเคชั่นเกย์ตามแต่ละประเทศที่สั่งห้ามอีกด้วย

ด้วยเหตุนี้ทำให้ผู้ใช้โทรศัพท์แอนดรอยด์หลายเจ้าพากันต่อต้านซัมซุง ซัมซุงในเกาหลีใต้ไม่เพียงปฏิเสธแอพ Hornet แต่ยังปฏิเสธ Grindr รวมถึง Jack’d แอพเกย์เหล่านี้ถูกลบจาก Google Play ของเกาหลีใต้เมื่อไม่กี่ปีมานี้ โดยไม่มีการแจ้งข้อมูลจากผู้พัฒนาด้วยซ้ำ

ก่อนที่ Jack’d ในเกาหลีใต้จะโดนแบน ข้อมูลจากแอพระบุว่ามีผู้ใช้มากกว่าห้าแสนคนในเกาหลีใต้ ซึ่งส่วนมากเป็นผู้ใช้ในระบบแอนดรอยด์เสียด้วย แต่ก็ไม่น่าแปลกใจนักที่ซัมซุงจะแสดงจุดยืนนี้เพราะหลายคนรู้ดีว่าซัมซุงบริหารบริษัทด้วยคนรุ่นก่อนที่เชื่อหลักคิดขงจื๊ออย่างเข้มข้น แม้ว่าแอปพลิเคชันเหล่านี้จะถูกระงับ แต่แบรนด์สมาร์ทโฟนอื่นๆ ก็เป็นทางเลือกให้พวกเขาได้หลบหนีการกีดกันอันน่าอึดอัดนี้ได้บ้าง

นอกจากนี้ ปี 2010 ซีรีส์เรื่อง Life is Beautiful ที่ออกอากาศทางช่อง SBS ยังได้รับการต่อต้านจากผู้ปกครองเกาหลีใต้กลุ่มหนึ่ง เกิดการรวมกลุ่มเป็นสหภาพคุณแม่แห่งเกาหลีใต้ เพื่อซื้อโฆษณาในหนังสือพิมพ์ The Chosun Ilbo ให้กล่าวโทษซีรีส์และสถานีโทรทัศน์แห่งนี้ เพราะเกรงว่าลูกชายของพวกเขาจะกลายเป็นเกย์และอาจเกิดโรคทางเพศสัมพันธ์อย่าง HIV นอกจากภาพของเกย์จะไม่เป็นที่ยอมรับ ในปี 2011 ซีรีส์ที่นำเสนอภาพของคู่รักเลสเบี้ยนที่ออกอากาศทางช่อง KBS อย่าง Daughters of Club Bilitis ก็กลายเป็นประเด็นว่าอาจเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีให้กับเยาวชนได้

ไม่เว้นแม้แต่กองทัพเกาหลีใต้ ในปี 2017 มีมาตรการล่าทหารเกย์ โดยใช้เทปสนทนาทางโทรศัพท์ และแอปพลิเคชันหาคู่ของเกย์ เพื่อสอดส่องและตามล่าทหารที่มีพฤติกรรมรักเพศเดียวกัน ซึ่งระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคมที่ผ่านมา กองทัพได้ขึ้นบัญชีดำทหารจำนวน 40 – 50 นายที่มีพฤติกรรมรักเพศเดียวกัน

เหตุการณ์ที่เรายกขึ้นมาเป็นตัวอย่างเพียงบางส่วนซึ่งในทุกเหตุการณ์เกิดการต่อสู้ทางความคิดระหว่างกลุ่มอนุรักษ์นิยมและกลุ่มเสรีนิยม แต่สุดท้ายเมื่อกลุ่มอนุรักษ์นิยมถือไพ่เหนือกว่า ความคิดที่ว่าเพศทางเลือกเป็นคนเท่ากันจึงยังถูกท้าทาย

ระบบการเซ็นเซอร์เพศทางเลือกจากโครงสร้างส่วนบนของสังคม

แม้ไม่มีกฎหมายห้าม ไม่มีการใช้ความรุนแรงโดยตรง แต่ก็ยังคงมีการต่อต้านและแสดงจุดยืนว่าเกลียดชังเกย์และกลุ่ม LGBTQ

ภูมินทร์ สิงห์กวาง เจ้าของเพจท่องเที่ยว NightPhoomin ไนท์เพื่อนข้างบ้าน ที่แบ่งปันประสบการณ์และชีวิตของเกย์ในเกาหลีใต้ในบล็อกท่องเที่ยวส่วนตัว เล่าให้เราฟังว่าเพื่อนเกย์ชาวเกาหลีใต้หลายคนของเขาต้องแอบซ่อนตัวตนเอาไว้ เพราะกลัวว่าครอบครัว เพื่อนฝูง และที่ทำงานจะยอมรับไม่ได้ แม้แต่ผู้เข้าร่วมขบวนพาเหรดเกย์ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปียังต้องสวมหน้ากากปิดบังตัวเองเพราะกลัวว่าคนรู้จักจะจำได้ และนำไปสู่การถูกเลือกปฏิบัติไปจนถึงถูกเลิกคบหา เกย์เกาหลีจึงต้องมีความแมน และบางรายถึงขั้นต้องจ้างผู้หญิงมาเป็นแฟนหรือแต่งงานเพื่อปิดบังตัวเอง บางรายช่วงเวลากลางวันเป็นพนักงานออฟฟิศทั่วไป แต่ช่วงกลางคืนจะปลดปล่อยด้วยการเป็น drag queen ทำงานในผับ ส่วนในเรื่องความสัมพันธ์ของเกย์เกาหลีส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นผ่านแอพนัดเดต พบกันในซาวน่า ในผับสำหรับเกย์ย่านอิแทวอน และจบลงด้วยการมีเซ็กซ์ด้วยกันแบบไม่ผูกมัด

คำบอกเล่าที่น่าสนใจของภูมินทร์คือการที่มีเพื่อนเกย์ชาวเกาหลีใต้อายุราว 20 – 30 ปีหลายคน หลากหลายอาชีพทั้งพนักงานออฟฟิศไปจนถึงนายแพทย์และวิศวกร พวกเขาตั้งหมุดหมายว่าจะมาเที่ยวประเทศไทยอย่างน้อยปีละครั้ง โดยเฉพาะย่านท่องเที่ยวแถบสีลมและพัทยา เพื่อปลดปล่อยแรงขับทางเพศ เพราะในเมื่อแสดงออกในบ้านเกิดไม่ได้ ประเทศไทยจึงเป็นพื้นที่แสดงตัวตนได้อย่างอิสระ และลดความตึงเครียดจากการใช้ชีวิตในเกาหลีใต้

ถ้าคุณยังนึกภาพไม่ออกว่าการเปิดตัวเป็นเกย์ในเกาหลีใต้ร้ายแรงยังไง กรณีของ ฮง ซอกชอน ดาราเกาหลีใต้คนแรกที่เปิดตัวว่าเป็นเกย์ในปี 2000 เขาได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ต้องสูญเสียทั้งการงานและชื่อเสียง ถูกขู่ฆ่าและทำให้ดาราหนุ่มหลบหนีสังคมไปพักใหญ่ เขาใช้เวลาหลายสิบปีเพื่อกอบกู้ชีวิตให้ตัวเอง โดยช่วงแรกที่กลับมาเปิดร้านอาหารไม่ค่อยมีใครอยากเข้ามาใช้บริการ แต่เขาก็ใช้เวลาและความพยายามพิสูจน์ตัวเองว่าเกย์ก็มีความสามารถไม่ต่างจากเพศอื่น หลังจากเริ่มได้รับการยอมรับ เขาจึงผันตัวเป็นวิทยากรเพื่อให้ความรู้คนเกาหลีใต้เกี่ยวกับเพศทางเลือก เพราะประเทศนี้มีองค์ความรู้เรื่องเกย์น้อยเกินไป และส่วนหนึ่งเป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้องและเต็มไปด้วยอคติ

ในกรณีของซอกชอน โชคดีที่เขาไม่เลือกฆ่าตัวตายและรอดพ้นวิกฤติมาได้ แต่สำหรับนักแสดงและนายแบบ คิม จี ฮุน เขาเลือกจบชีวิตตัวเองเพราะถูกสังคมประณามและไม่ยอมรับการเป็นเกย์อย่างรุนแรง ด้วยเหตุผลเหล่านี้ แม้ในปัจจุบันจะมีองค์กรสนับสนุนความหลากหลายทางเพศในเกาหลีใต้จะมีมากขึ้น แต่ส่วนใหญ่เกย์ก็ยังคงเลือกปิดบังตัวเองเพื่อความปลอดภัยและความสงบสุขในชีวิต

การเดินทางต่อไปของเกย์ในเกาหลีใต้

“ชาวเกย์ก็มีสิทธิเช่นเดียวกัน และคนที่เกลียดชังเราคือพวกที่ผิดต่างหาก” คิม โจ กวางซู ผู้กำกับเกย์ที่ทำหนังชายรักชายชื่อดังอย่าง Boy Meets Boy (2008) และเจ้าของค่ายหนัง Rainbow Factory กล่าว เมื่อปี 2013 คิมได้แต่งงานกับหนุ่มรุ่นน้องในโซล เขาฝากความคิดเห็นที่เป็นเหมือนความหวังต่อสังคมเกาหลีใต้ไว้ว่า “อีก 10 ปีข้างหน้าเราอาจจะมีนายกเทศมนตรี หรือประธานาธิบดีเกย์ก็ได้”

ผลสำรวจของสำนักวิจัย Pew ในปี 2015 พบว่า มีชาวเกาหลีใต้เพียงร้อยละ 23.7 ที่ระบุว่า พวกเขาไม่รังเกียจกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนอายุน้อย ขณะที่ชาวเกาหลีใต้วัย 50 – 60 ปีส่วนใหญ่มองกลุ่มคนเหล่านี้ในเชิงลบ จนกระทั่งปี 2017 การหยั่งเสียงโดยสถานีโทรทัศน์ MBC และประธานสภาแห่งชาติรายงานว่าร้อยละ 41 ของชาวเกาหลีใต้คิดว่าเพศทางเลือกควรได้รับอนุญาตให้แต่งงานกัน

แม้เสียงสะท้อนข้างต้นจะยังไม่ถึงครึ่ง แต่ก็สะท้อนให้เห็นว่าคนเกาหลีใต้รุ่นใหม่เริ่มยอมรับเพศทางเลือกกันมากขึ้น และเป็นสัญญาณที่ดีต่อความเป็นอยู่ของเพศทางเลือกในแดนกิมจิในอนาคต สะท้อนจากวงการภาพยนตร์เกาหลีใต้ที่ผลิตเนื้อหาเกี่ยวเพศทางเลือกออกมามากขึ้น ถึงจะยังเป็นเรื่องเฉพาะกลุ่ม แต่ภาพยนตร์เหล่านี้ก็ได้รับความนิยมและการยอมรับด้านคุณภาพจากต่างประเทศ ส่วนในวงการเพลง K-pop เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ไอดอลนักร้องเดี่ยวที่ชื่อว่า Holland เป็นศิลปินคนแรกที่เดบิวต์พร้อมยอมรับว่าเป็นเกย์โดยไม่แคร์ความคิดของกลุ่มหัวเก่า กลายเป็นที่ฮือฮาในสังคมไม่น้อย จึงเรียกได้ว่าเป็นความหวังใหม่ของชาว LGBTQ ในเกาหลีใต้ให้กล้าหาญออกมายอมรับตัวตน และกล้าเรียกร้องสิทธิให้ตัวเองว่ามีศักดิ์ศรีเป็นมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่งที่มีตัวตน และมีสิทธิเสรีภาพไม่ต่างจากคนอื่นเลยสักนิดเดียว

อ้างอิง หนังสือ KOREA: THE IMPOSSIBLE COUNTRY, voicetv.co.th/, nightphoomin.com, manager.co.th

ภาพ time.com, hollywoodreporter.com, the-totality.com, koreaboo.com, newnownext.com, nationmultimedia.com, pinknews.co.uk, altfg.com, timeout.com, newnownext.com

AUTHOR