รู้จักหนังสือจะรู้จักคน เมื่อรู้จักคนก็รู้จักเมือง–กรกฎ ศรีวิกรม์

Highlights

  • กรกฎ ศรีวิกรม์ คือหนึ่งในทีมบริหารศูนย์การค้าขนาดใหญ่ เธอเรียนรู้ชีวิตผ่านหนังสือ และหนังสือนี่เองที่ยังคงพาเธอเดินไปข้างหน้าทั้งในชีวิตและในสิ่งที่เธอทำ
  • ด้วยความเชื่อที่ว่า หากรู้จักหนังสือจะรู้จักคน เมื่อรู้จักคนก็รู้จักเมือง เธอจึงเลือกเข้าร้านหนังสืออิสระเล็กๆ ในทุกเมืองที่เดินทางไป เพื่อต้องการเข้าใจว่าคนเมืองนี้กิน อยู่ คิด และอ่านอะไร ผ่านการคัดสรรหนังสือของเจ้าของร้านหนังสือเล็กๆ

We believe that the journey to finding fulfilment
begins with self-knowledge. It is only when we have
a sense of who we really are that we can make
reliable decisions, particularly around love and work.

ชีวิตไม่ได้ดำเนินไปด้วยบทเรียนเพียงบทเดียว และเราไม่ได้มีความเกี่ยวเนื่องกับเรื่องเพียงไม่กี่เรื่องในห้วงชีวิตหนึ่ง หากแต่สัมพันธภาพของการมีชีวิตอยู่นั้นมีมิติที่ไล่เรียงกันไปได้ไม่จบสิ้น นี่คือคำอธิบายตัวตนของ The School of Life โรงเรียนแห่งชีวิต โรงเรียนที่สอนเรื่องราวนอกตำรา ก่อตั้งโดย Alain De Botton นักปรัญชาสมัยใหม่ชาวสวิสที่หยิบยกเรื่องราวรอบตัว เรื่องราวที่ผู้คนหลีกเลี่ยง เรื่องราวที่คนส่วนใหญ่ไม่เผชิญหน้า และเรื่องราวเหล่านี้ได้กลายมาเป็นหัวข้อการเรียนรู้ใน The School of Life การเรียนรู้ในชีวิตจริงของ กรกฎ ศรีวิกรม์ ผู้เรียนรู้ชีวิตผ่านหนังสือ

และหนังสือนี่เองที่ยังคงพาเธอเดินไปข้างหน้าทั้งในการดำเนินชีวิตและในสิ่งที่เธอทำ

จากที่อ่านหนังสือเพียงเพราะรู้สึกเหงากับชีวิตต่างแดน กรกฎเลือกเดินเข้าหาหนังสือไทยอย่างเรื่อง ปริศนา แต่หาใช่อยากมีชีวิตแบบนั้นไม่ เหตุผลเดียวของเธอในตอนนั้นคือ ‘คลายเหงา’

การเลือกอ่านหนังสือ นอกจากจะบอกลักษณะตัวตนของคนนั้นๆ แล้ว ยังเป็นประตูที่เปิดให้รู้จักคนคนนั้นมากขึ้น แน่นอนว่าไม่มีใครอ่านหนังสือเล่มเดียว หรือชอบหนังสือเพียงไม่กี่เล่ม กรกฎบอกว่า

ท้ายที่สุดแล้วเราจะรู้เองว่าหนังสือเล่มไหนจะอยู่กับเราไปชั่วชีวิต

จากปริศนา มาสู่งานที่แฝงด้วยจินตนาการของ C. S. Lewis เรื่อง The Chronicles of Narnia: The Lion, the Witch and the Wardrobe จากวัยที่ต้องไปอยู่ต่างประเทศสู่ช่วงเวลาของการเข้าใจโลก หนังสือของ R.K. Narayan ที่บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับอินเดียผ่านวิธีการเล่าเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่ายนี่เองทำให้กรกฎเลือกให้การอ่านเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต

กรกฎบอกว่าเมื่อนึกถึงกระบวนการกว่าจะได้หนังสือสักเล่ม กว่าคนเขียนจะเขียนออกมาให้เราได้อ่านนั้น นักเขียนต้องศึกษามามาก ต้องรู้ และเข้าใจอย่างถ่องแท้จึงสามารถเขียนให้เราเข้าใจได้ นี่คือคุณค่าของหนังสือหนึ่งเล่ม

หนังสือคือวัตถุดิบของชีวิตที่เธอเลือกเก็บเอาไว้แล้วนำออกมาใช้เมื่อเหมาะสม ถ้าในชีวิตมีห้องสมุดหรือในห้องสมุดมีชีวิต กรกฎคือคนนั้น คนที่สร้างสมดุลการใช้ชีวิตทั้งในด้านงานและเรื่องส่วนตัวผ่านสิ่งที่เลือกใช้จากหนังสือในแต่ละเล่มที่ได้อ่าน

 

เมื่อชีวิตเดินทางมาไกลจนพบความแตกต่างของยุคสมัย หนังสือคำสอนของหลวงพ่อชาคือหนังสือที่บ่อยครั้งกรกฎบอกว่าเมื่ออ่านแล้วได้นำมาใช้หรือได้พบคำตอบในชีวิตจริง

กรกฎเชื่อว่าการเรียนรู้และการอ่านเป็นสิ่งจำเป็น และคือความหลากหลายของชีวิต หนังสืออย่าง Joyful: The Surprising Power of Ordinary Things to Create Extraordinary Happiness เป็นอีกเล่มที่เธอเลือกเอามาเป็นหลักทั้งในเรื่องงานและการใช้ชีวิต

เธอตั้งคำถามจากหนังสือว่า “ทำยังไงให้ลูกค้ามีความสุข” ในบทบาทของการเป็นส่วนหนึ่งของทีมบริหารศูนย์การค้าขนาดใหญ่ที่จำเป็นต้องมีการแข่งขัน และ Joyful บอกกับเธอว่า สิ่งนั้นคือการแข่งขันจากภายใน และความสุขของลูกค้าต้องสร้างบนพื้นฐานของความจริงใจที่แท้จริง

 

หากเป็นในเรื่องการเดินทาง กรกฎเชื่อว่า รู้จักหนังสือ จะรู้จักคน เมื่อรู้จักคนก็รู้จักเมือง เธอจึงเลือกเข้าร้านหนังสืออิสระเล็กๆ ในทุกเมืองที่เดินทางไป “การไปร้านหนังสือเล็กๆ แทนที่จะไปร้านใหญ่ๆ อย่าง Barnes & Noble นั้น ก็เพื่อต้องการเข้าใจว่าคนเมืองนี้กิน อยู่ คิด และอ่านอะไรผ่านการคัดสรรหนังสือของเจ้าของร้านหนังสือเล็กๆ ที่มักทำให้ประหลาดใจ และพบเรื่องที่แปลกไปจากที่คุ้นเคยเสมอ และนี่เองทำให้เรารู้จักคนและเมืองได้ดี”

หนังสือเป็นสื่อกลางของการทำความเข้าใจวัฒนธรรมในแต่ละประเทศได้เป็นอย่างดี และร้านหนังสืออิสระก็ดูเป็นทางเลือกที่เหมาะสม ในบทความของ The Guardian เมื่อวันที่ 16 มิถุนายนที่ผ่านมา เรื่อง How Indie Bookshop are fighting back โดย Damian Barr ก็ได้สรุปสั้นๆ ถึงการกลับมาเติบโตอีกครั้งของร้านหนังสือในอเมริกาและอังกฤษว่า

Independent bookshops are thriving because they understand readers’ tastes better than an Amazon algorithm

อย่างที่กรกฎบอก เหตุผลที่เธอเข้าร้านหนังสือเล็กๆ แท้จริงแล้วสะท้อนความเป็นจริงที่ไม่เล็กเลยในโลกหนังสือ และเป็นคำตอบที่อธิบายว่าทำไมหนังสือและร้านหนังสือยังอยู่ได้ในโลกดิจิทัล

คนต้องการอะไร หรือคนต้องการอะไรจากหนังสือ นี่จึงมากกว่าแค่ความถวิลหาอดีตของหนังสือเล่ม แต่มันคือสิ่งที่ทดแทนกันไม่ได้

หนังสือยังเป็นแหล่งรวมแรงบันดาลใจหรือวัตถุดิบอันล้ำค่า (ในคำจำกัดความของกรกฎ) ที่พร้อมให้เราหยิบมาใช้ตามแต่สถานการณ์ชีวิตจะอำนวย

AUTHOR