ฉันมันไม่มีศาสนา ขอเธอนั้นอย่ามาตัดสินกัน

น่าจะเป็นตอนทำบัตรประชาชนครั้งที่ 2 ที่ฉันบอกกับเจ้าหน้าที่ว่าขอไม่ระบุศาสนาลงไปบนบัตร ไม่มีศาสนา  

ฉันเตรียมเหตุผลไปอย่างดี เพราะการทำบัตรครั้งแรกตอนอายุ 15 (ในยุคนั้น) ฉันเคยขอแบบเดียวกันนี้แต่ไม่สำเร็จ เรื่องมันเริ่มต้นเมื่อเจ้าหน้าที่สะดุดไปหนึ่งจังหวะ ลอบยิ้มบางๆ แล้วถามว่าครอบครัวนับถือศาสนาอะไร จากนั้นก็แนะนำฉันว่าให้ใส่ไว้ดีกว่า เพราะถ้าประสบอุบัติเหตุหรือเสียชีวิต เขาจะได้รู้ว่าต้องจัดการร่างภายใน 24 ชั่วโมงตามหลักศาสนา ซึ่งเมื่อแม่ได้ยินอย่างนั้น ก็ขอร้องแกมบังคับให้ฉันทำตามที่เจ้าหน้าที่บอก

ฉันไม่ใช่เด็กดื้ออะไร แค่โพล่งว่าจะไม่ใส่ศาสนาลงไปก็เป็นเรื่องน่าตกใจมากแล้วสำหรับแม่ จำไม่ได้แล้วว่าต้องคุยหรือเคลียร์กันต่อไหม แต่สุดท้ายเมื่อได้เวลาทำบัตรประชาชนครั้งใหม่ ฉันก็ยังตั้งใจทำอย่างเดิม

ฉันโตมาในบ้านสองวัฒนธรรม ครอบครัวฝั่งพ่อเป็นมุสลิม ส่วนครอบครัวแม่เป็นชาวพุทธถ้วนหน้า แม่เข้ารีตเป็นมุสลิมเมื่อเข้าพิธีแต่งงาน ฉันจึงเป็นเด็กที่มี ‘ชื่อแขก’ ที่ครูสอนศาสนาคนหนึ่งตั้งให้ ฉันเรียนอ่านเขียนภาษาอาหรับ (แต่ไม่จริงจังนัก–เพราะทั้งแม่และพ่อไม่อยากตื่นไปส่งที่โรงเรียนแต่เช้า ก่อนเข้าเรียนวิชาปกติ) ฉันตามป้าๆ และพี่ๆ ไปละหมาดที่สุเหร่าเป็นบางที (ด้วยเหตุผลว่าพื้นหินอ่อนที่สุเหร่านั้นสวยและเย็นดีจัง) ฉันถูกสั่งห้ามไม่ให้กินหมู ไม่ให้เล่นกับหมา และห้ามชี้นิ้วไปที่กุโบร์ (สุสาน) นอกจากนั้นไม่ได้มีความเข้าใจอะไรจริงจัง

ขณะเดียวกัน ฉันก็ถูกกะเตงไปร่วมงานสวดศพญาติผู้ใหญ่ฝั่งแม่บ่อยมาก ยายก็ชอบจ้างให้อ่านบทสวดมนต์ให้ฟัง โรงเรียนมีชั่วโมงพุทธศาสนาที่ต้องสวดมนต์และนั่งสมาธิยาวนาน แม้จะไม่ได้พนมมือก้มกราบ แต่ดูเหมือนฉันจะจำบทสวดบาลีได้คล่องกว่าซูเราะห์ภาษาอาหรับ ท่องเป็นนกแก้วนกขุนทองได้โดยไม่เข้าใจคำแปลสักตัว

แต่นั่นก็ทำให้ฉันในวัยประถมมีคำถามมากมาย เรามีสวรรค์หลากแบบใช่ไหม นรกมีรุ่นเฉพาะของใครของมันใช่หรือเปล่า พระเจ้าได้ยินพรที่ทุกคนขอจริงเหรอ ทำไมไม่ให้แม่กับน้าคืนดีกันอย่างที่ขอไปซะที มีศาสนาไหนไม่มีนรกไหม ถ้าเรานับถือแล้วตายไปจะได้ไม่ตกนรก (เป็นเด็กที่มั่นใจมาแต่ไหนแต่ไรว่าคงไม่ได้ขึ้นสวรรค์!) 

บวกกับการถูกจับจ้องว่าแตกต่างอยู่ตลอดเวลา เป็นคนเดียวในห้องเรียนที่ไม่นับถือศาสนาพุทธ เป็นเด็กในซอยคนเดียวที่ไม่ไปเรียนศาสนาที่สุเหร่า ผลลัพธ์คือการไม่รู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับศาสนาไหน แล้วจู่ๆ ความคิดว่าไม่ต้องมีศาสนาก็ได้ กลายเป็นคำตอบ

นอกจากการกระทำเชิงรูปธรรมว่าไม่ระบุศาสนาลงในบัตรประชาชน (พบสายตาตัดสินหลากหลายรูปแบบ เข้มข้นบ้าง เจือจางบ้าง ต่างวาระไป) ก็ดูเหมือนว่าการไม่มีศาสนาก็ไม่มีพิธีกรรมอะไรที่ต้องทำขนาดนั้น แต่ที่จริงแล้วมันกลายเป็นความยุ่งยากอยู่ไม่น้อย ฉันต้องคอยตอบคำถามเพื่อนซ้ำๆ ว่าทำไมกินหมูแล้วล่ะ ที่ไม่อยากมีศาสนาเพราะอยากกินหมูเท่าไหร่ก็ได้ใช่ไหม หรือต้องระวังว่าจะไม่พูดอะไรให้เพื่อนมุสลิมรู้สึกว่าถูกลบหลู่ ขณะเดียวกันเราก็ต้องพยายามไม่ให้ญาติฝั่งพ่อรู้ว่าฉันไม่อยู่ในรูปในรอยที่เขาเชื่ออีกต่อไป การเป็นอื่นในศรัทธาที่เหนียวแน่นเป็นเรื่องยาก สิ่งที่เห็นชัดๆ คือทุกครั้งที่เข้าไปเยี่ยมหลุมศพพ่อในสุสาน ฉันจะถูกปรายตามองว่าทำไมไม่สวมฮิญาบ หรือบางคนก็แสดงออกว่าไม่อยากสุงสิงด้วยอย่างโจ่งแจ้ง ซึ่งฉันก็เข้าใจดีว่าหลายคนคงไม่สบายใจในความเป็นอื่นนี้ แต่บางอากัปที่ได้รับก็ยากจะเฉยชา

หรือกับสังคมในวงที่กว้างออกมา คนไม่มีศาสนาก็ยังถูกมองเป็นพวกต่อต้านสังคม หนักกว่านั้นคือเป็นพวกไม่มีศีลธรรมในใจ ใช้ชีวิตเลวทรามไร้หลักยึด หรือถูกค่อนขอดว่าแค่อยากจะทำตัวเท่ แปลกแยกไปวันๆ ซึ่งหากจะขอโอกาสอธิบายสักครั้ง ฉันก็แค่คิดว่าฉันไม่จำเป็นต้องใช้วิธีแบบศาสนา (ไม่ว่าจะศาสนาใด) มาบอกว่าฉันควรใช้ชีวิตอย่างไร และก็เชื่อว่าฉันสามารถเป็นคนที่ไม่เอาเปรียบใคร และรู้จักแบ่งปันตามสมควรได้ โดยไม่ต้องมีเครื่องมืออย่างบุญหรือบาปมาชั่งตวง

เท่านั้น, เท่านั้นจริงๆ  

และแน่นอน ฉันก็ไม่เห็นด้วยกับคนที่บอกว่าไม่ศรัทธาศาสนาไหนแต่ตั้งป้อมโจมตีศรัทธาของใครอื่น ไม่อินกับมีมหรือแก๊กที่เอาพิธีกรรมมาเสียดสีเสียหาย ไม่ซื้อความหยาบคายด้อยค่าใคร แม้จะเลือกไม่ใส่ฮิญาบ แต่ฉันก็ยังเศร้าใจเมื่อรู้ว่านักเรียนต้องต่อสู้เพื่อให้ได้ใส่ฮิญาบไปโรงเรียนทั้งที่มันควรจะเป็นสิทธิพื้นฐาน ไม่มีศาสนา  

สิ่งที่สังคมนี้ควรมีพอๆ กับการมีศาสนา คือการเคารพในความเป็นมนุษย์ของกันและกัน 

เพราะเราล้วนต้องการการเคารพกันในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ไม่ใช่ศาสนิกชนของศาสนาหนึ่งศาสนาใด, ไม่ใช่หรือ  

AUTHOR

ILLUSTRATOR

auracherrybag

Mixed media illustrator who just likes making things.