‘มนุษยธรรม’ คืออะไร? ชวนดู 3 โปรเจกต์ศิลปะที่ทำให้เข้าใจความหมายของคำนี้มากขึ้น

Highlights

  • คำว่า ‘มนุษยธรรม’ อาจดูเป็นคำที่ยิ่งใหญ่และยากที่จะนิยาม แต่หากลองดู 3 โปรเจกต์ศิลปะที่พูดถึงมนุษยธรรมในมิติที่แตกต่างกันไป เราอาจจะเข้าใจคำคำนี้มากขึ้น
  • บางโปรเจกต์ศิลปะที่ถูกพูดถึงในนี้ ไม่เพียงสร้างการตระหนักรู้เรื่อง ‘มนุษยธรรม’ แต่ไปไกลถึงขั้นใช้ตัวเองเป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาเลยทีเดียว

ทหารสองนายเดินผ่านหมู่บ้านเขตสงคราม เสียงเครื่องบินดังมาแต่ไกล ทันใดเครื่องบินที่โฉบบนฟ้าเหนือศีรษะของทั้งคู่กลับถลาลง ทั้งลำปักลงบนพื้น เสียงระเบิดดังสนั่นตามมาด้วยไฟลุกท่วม ทหารทั้งสองสาวเท้าเข้าไปใกล้ เปลวไฟกำลังลุกโชนอยู่บนร่างของชายที่อยู่ในห้องเครื่อง ทว่าชุดที่ชายผู้นั้นสวมคือเครื่องแบบของฝ่ายศัตรู ทหารนายหนึ่งเห็นดังนั้นจึงยั้งตัวไว้ แต่อีกนายรีบรุดเข้าไปดึงชายผู้นั้นออกจากกองไฟ ถ้าจะมีเหตุผลอะไรสักอย่างที่ทำให้เขาทำแบบนั้นคงเป็นเพราะภายใต้เครื่องแบบทหารฝ่ายตรงข้าม เขาคนนั้นเป็นเพียงผู้ชายคนหนึ่งที่กำลังทรมานจากการโดนไฟคลอก

หากมีคนถามว่า ‘มนุษยธรรม’ คืออะไร  ฉากเล็กๆ ที่น่าจดจำในภาพยนตร์เรื่อง 1917 ฉากนี้คงเป็นสิ่งที่ผมนึกได้เป็นอย่างแรก (แม้ว่าตามเนื้อเรื่องในหนัง ทหารผู้มอบความช่วยเหลือจะถูกทำร้ายโดยคนที่ตนช่วยไว้ก็ตาม) ก่อนจะตอบตามความเข้าใจส่วนตัวว่า ‘มนุษยธรรมคือความปรารถนาที่จะมอบความช่วยเหลือโดยไม่เลือกปฏิบัติ ไม่มีเชื้อชาติ สัญชาติ ความเชื่อทางศาสนา หรือความคิดเห็นทางการเมืองมาเป็นตัวขวางกั้น’

แม้ภาพจำของหลายคนรวมทั้งตัวผมเอง การมอบความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมจะผูกอยู่กับเรื่องใหญ่ไกลตัว อย่างผู้คนในพื้นที่สงคราม เขตชายแดน หรือพื้นที่ประสบภัยพิบัติ แต่เอาเข้าจริงเราสามารถมอบสิ่งนี้ให้กับเพื่อนมนุษย์บนรถไฟฟ้า คนบนท้องถนน หรือแม้กระทั่งคนที่เราเห็นในข่าว และดูเหมือนว่าในช่วงเวลาที่เพื่อนร่วมโลกของเรากำลังสะบักสะบอมจากวิกฤตการณ์มากมาย การมองโลกด้วยสายตาที่มีมนุษยธรรมคือทักษะสำคัญที่ทำให้โลกนี้น่าอยู่ขึ้น

และเพื่อจะเข้าใจคำคำนี้ให้มากขึ้น ผมอยากชวนไปมองโลกผ่านสายตาของ 3 ศิลปินระดับโลกผู้ใช้ ‘ศิลปะ’ เป็นเครื่องมือในการมอบมนุษยธรรมให้แก่คนในพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลก

 

‘มนุษยธรรม’ คือแสงสว่างอย่างเท่าเทียมสำหรับทุกคน

ในวันที่พวกเราหลายคนตกใจกับบิลค่าไฟที่สูงปรี๊ดในฤดูร้อน อีกพันล้านคนทั่วโลกไม่สามารถเข้าถึงแหล่งพลังงานไฟฟ้าได้ ศิลปิน Olafur Eliasson จึงริเริ่มโปรเจกต์ Little Sun เพื่อให้ทุกคน ไม่ว่าจะอยู่ที่ใด สามารถเข้าถึงแสงสว่างได้อย่างเท่าเทียม

เอเลียซอนเป็นศิลปินชาวเดนมาร์ก-ไอซ์แลนด์ ผู้เติบโตท่ามกลางธรรมชาติที่สมบูรณ์ อีกทั้งสังคมรอบตัวยังให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมเป็นที่หนึ่ง งานศิลปะแทบทุกชิ้นของเขาจึงพูดเรื่องสิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม และผู้คน เขามักใช้งานศิลปะเป็นสื่อกลางให้คนสัมผัสความงามในธรรมชาติ และทำให้คนตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมที่กำลังเกิดขึ้นกับโลกของเรา เช่น นำก้อนน้ำแข็งขนาดยักษ์จำนวน 24 ก้อนที่แตกออกมาจากธารน้ำแข็งที่กรีนแลนด์ มาตั้งโชว์หน้าพิพิธภัณฑ์ Tate Modern ในลอนดอน เพื่อให้คนสัมผัสกับปัญหาโลกร้อนอย่างเป็นรูปธรรมผ่านการสัมผัสก้อนน้ำแข็งที่ค่อยๆ ละลายไปต่อหน้าต่อตา ไปจนถึงสร้างพระอาทิตย์จำลองขนาดยักษ์ไปตั้งไว้ในห้องโถงของพิพิธภัณฑ์เดียวกัน ให้คนเข้ามานั่งเล่น นอนเล่น วิ่งเล่นท่ามกลางฉากพระอาทิตย์ตก เพื่อให้คนตระหนักถึงแหล่งพลังงานสำคัญอย่างดวงอาทิตย์และปัญหาเรื่องสภาพอากาศของโลกไปพร้อมกับความสนุก

มนุษยธรรม humanitarian

Ice Watch (2014) / Olafur Eliasson

มนุษยธรรม humanitarian

The Weather Project (2003) / Olafur Eliasson

โปรเจกต์ Little Sun แตกต่างจากสองชิ้นที่ผมยกตัวอย่างมาก่อนหน้าตรงที่ มันไม่เพียงชี้ให้เห็นปัญหาของการเข้าถึงแหล่งพลังงาน แต่ยังเป็นเครื่องมือแก้ปัญหาโดยตรงอีกด้วย 

Little Sun เป็นโคมไฟรูปดอกทานตะวันสีเหลืองสดใส ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ที่ได้จากแผงโซลาร์เซลล์ที่ติดตั้งอยู่ด้านหลังเครื่อง เพียงนำไปตากแดดในช่วงกลางวันและนำมาเปิดใช้เพื่อให้ความสว่างได้ตลอดทั้งคืนแบบไม่ต้องง้อไฟฟ้า คนในพื้นที่ที่ไฟฟ้าเข้าไม่ถึงจึงสามารถใช้งานศิลปะชิ้นนี้ให้ความสว่าง ไม่ว่าจะเป็นเด็กๆ ที่ต้องอ่านหนังสือ หรือผู้ใหญ่ที่ต้องทำงานในเวลากลางคืน สมกับที่ Eliasson ให้คำนิยามงานศิลปะชิ้นนี้ไว้ว่า ‘work of art that works in life’ หรือ ‘งานศิลปะที่ใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันได้’

มนุษยธรรม humanitarian

Little Sun (2012) / Olafur Eliasson

Olafur ก่อตั้ง Little Sun Foundation ขึ้นเพื่อเป็นตัวกลางในการส่งต่อโคมไฟทานตะวันไปยังพื้นที่ที่ไฟฟ้าเข้าไม่ถึงในแอฟริกาและอเมริกาใต้ โดยผู้สนใจสามารถบริจาคเงินผ่านเว็บไซต์ ก่อนที่ยอดบริจาคจะกลายเป็นโคมไฟ Little Sun ส่งไปยังโรงเรียนห่างไกล ค่ายผู้ลี้ภัย หรือพื้นที่ที่กำลังประสบภัยธรรมชาติ ผ่านความร่วมมือขององค์กรด้านมนุษยธรรมที่ดูแลอยู่ในพื้นที่นั้น ผลลัพธ์สุดท้ายคือโคมไฟอันจิ๋วได้เข้าไปเปลี่ยนให้ชีวิตคนกว่า  2 ล้านคนดีขึ้นและยังช่วยจุดประกายความสนใจเรื่องพลังงานสะอาดอย่างโซลาร์เซลล์ให้แก่คนทั่วโลก

‘มนุษยธรรม’ คืออากาศหายใจที่บริสุทธิ์

อากาศหายใจคือความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ แต่ปัญหามลพิษในหลายประเทศทำให้ผู้คนไม่มีโอกาสเข้าถึงปัจจัยพื้นฐานข้อนี้ ไม่เว้นแม้แต่ประเทศในฝันของใครหลายคนอย่างเนเธอร์แลนด์ที่เคยเผชิญกับภาวะฝุ่นควันเช่นเดียวกัน บรรดาชาวดัตช์ผู้เชี่ยวชาญศาสตร์คนละด้านคนละแขนงจึงชวนกันมาระดมสมองหาวิธีแก้ไขปัญหา ซึ่งแน่นอนว่ามีศิลปินรวมอยู่ในนั้นด้วย

มนุษยธรรม humanitarian

Smog Free Tower / Daan Roosegaarde

Studio Roosegaarde สตูดิโอศิลปะและนวัตกรรมจากเดนมาร์กริเริ่มโปรเจกต์ศิลปะชื่อ Smog Free ซึ่งมองจากภายนอกดูเหมือนจะเป็นประติมากรรมขนาดยักษ์ที่มีไว้เพื่อความสวยงามหรือให้ชาวเมืองไปนั่งแฮงเอาต์ แต่จริงๆ แล้วงานศิลปะชิ้นนี้กำลังทำหน้าที่ฟอกอากาศไปด้วย โดยได้รับการรับรองจาก Eindhoven University of Technology ในเนเธอร์แลนด์ว่าสามารถสร้างอากาศบริสุทธิ์ได้ถึง 30,000 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง

มนุษยธรรม humanitarian

Smog Free Ring / Daan Roosegaarde

Smog Free ยังเปิดให้คนทั่วไปสนับสนุนการฟอกอากาศด้วยกิมมิกที่น่ารักเอามากๆ โดยนำฝุ่นที่เครื่องกรองได้ในแต่ละวันมาบรรจุในรูปแบบของ ‘แหวน’ ที่ทุกคนสามารถซื้อกลับไป จะเอาไปใส่เองหรือขอแฟนแต่งงานก็ไม่ว่า เพราะการสนับสนุนแหวนหนึ่งวงมีส่วนช่วยให้เกิดอากาศบริสุทธิ์ถึงหนึ่งพันลูกบาศก์เมตร 

การมีงานศิลปะช่วยกรองฝุ่นตั้งอยู่กลางเมือง นอกจากจะมอบอากาศบริสุทธิ์ให้คนไว้หายใจ ยังเป็นการบอกคนในเมืองเป็นนัยว่า ‘ชีวิตที่ดี’ ไม่ได้สงวนไว้สำหรับคนที่มีเงินซื้อเครื่องฟอกอากาศเท่านั้น แต่มีไว้สำหรับทุกคน

 

‘มนุษยธรรม’ คือทุกคนได้รับการช่วยเหลือโดยไม่เลือกปฏิบัติ

เมื่อเอ่ยชื่อ Banksy ภาพจำของคนทั่วไปคงเป็นศิลปินกราฟฟิตี้ตัวแสบที่มักพูดถึงประเด็นสังคมผ่านผลงานอย่างแสบสัน ตรงไปตรงมา และอาจจะ ‘จริง’ เกินไปจนมีปัญหากับตำรวจอยู่เป็นประจำ 

แต่จริงๆ แล้ว Banksy ถือเป็นศิลปินคนหนึ่งที่ใช้งานศิลปะของตัวเองเป็นเครื่องมือช่วยเหลือผู้คนและสนับสนุนงานด้านมนุษยธรรมอยู่บ่อยๆ โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องผู้ลี้ภัย เขาเคยบริจาคเงินจากการประมูลภาพวาดเกี่ยวกับปัญหาผู้ลี้ภัยของตัวเองให้แก่โรงพยาบาลในยุโรป และตอนที่ Dismaland สวนสนุกสุดดาร์กที่รวบรวมงานศิลปะเสียดสีสังคมสิ้นสุดลง เขาก็ส่งชิ้นส่วนโครงสร้างที่ถูกรื้อถอนไปสร้างค่ายผู้ลี้ภัยในฝรั่งเศส ส่วนเรือบังคับที่บรรจุผู้ลี้ภัยเอาไว้เต็มลำ ซึ่งเปิดให้คนหยอดเหรียญบังคับเล่น ในงานเดียวกัน Bansky ยังนำไปเล่นเกมต่ออีกเกม คือให้คนทายน้ำหนักเรือลำนี้ โดยการทาย 1 ครั้งมีมูลค่า 2.5 ดอลลาร์ แล้วเมื่อจบเกม Banksy ก็รวบรวมเงินทั้งหมดไปบริจาคให้ผู้ลี้ภัย

How heavy it weighs (2018) / Banksy / collater.al

เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา Banksy เพิ่งทำภารกิจที่ดูแล้วน่าจะใหญ่ที่สุดในฐานะศิลปินและผู้สนับสนุนด้านมนุษยธรรม ด้วยการระดมทุนและลงทุนส่วนตัวเพื่อซื้อเรือยอร์ชและนำมาดัดแปลงเป็นเรือกู้ชีพ เพื่อตามหาและช่วยเหลือผู้ลี้ภัยที่กำลังเผชิญกับอันตรายกลางทะเลเมดิเตอเรเนียน โดยเรือลำนี้ตั้งชื่อว่า Louise Michel ตามชื่อนักเคลื่อนไหวชาวฝรั่งเศส ลำเรือตกแต่งด้วยสีชมพูและกราฟฟิตี้สไตล์ Banksy

มนุษยธรรม humanitarian

แม้ระหว่างภารกิจเรือ Louise Michel จะถูกเพิกเฉยจากทางการยุโรป แต่ล่าสุดในเดือนกันยายนมีรายงานว่าผู้ลี้ภัย 353 คนได้ถูกช่วยเหลือโดยเรือลำนี้ และโอนถ่ายไปยังเรือ Sea-Watch 4 ซึ่งสนับสนุนโดยองค์กรช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมจากเยอรมนีเพื่อทำการกักตัว

มนุษยธรรม humanitarian

Banksy บอกว่าเป้าหมายของงานศิลปะกลางทะเลชิ้นนี้คือการให้ความช่วยเหลือแก่ทุกคนที่กำลังอยู่ในภาวะยากลำบากอย่างไม่มีอคติ ไม่มีคำว่า ‘สัญชาติ’ หรือ ‘เชื้อชาติ’ มาแบ่งแยกให้เราต้องเลือกปฏิบัติ 

ผู้สนใจสามารถสนับสนุนให้เรือ Louise Michel ทำภารกิจต่อผ่านการบริจาคในเว็บไซต์ mvlouisemichel.org

 

มนุษยธรรมคืออะไร? ชวนตีความและส่งต่อความหมายคำนี้ผ่านภาพวาด

หลังจากได้เห็นความหมายของคำว่า ‘มนุษยธรรม’ ผ่านงานศิลปะทั้งสามโปรเจกต์ เราลองกลับมาถามตัวเองกันดีไหมว่า สำหรับเรา มนุษยธรรมหมายถึงอะไรกันแน่

ล่าสุด คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ ประจำประเทศไทย (ICRC) สหพันธ์กาชาดและสภาเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศ (IFRC) และ สภากาชาดไทย (The Thai Red Cross Society) เปิดโอกาสให้ทุกคนมาขบคิดถึงความหมายของคำนี้โดยอ้างอิงจากรูปแบบการทำงานและแนวคิดของทั้ง 3 องค์กร และสร้างสรรค์ออกมาเป็นภาพวาดในการประกวดภาพวาดหัวข้อ ‘มนุษยธรรมคืออะไร’ 

ก่อนจะลงมือวาด เราลองไปดูตัวอย่างผลงานของศิลปินไทย 3 คนว่าพวกเขาตีความคำคำนี้อย่างไร

เริ่มจากผลงาน Humans โดย juli baker and summer ภาพวาดสีอะคริลิกวาดผู้คนที่เปลือยเปล่าโดยไม่มีการแบ่งแยกด้วยเชื้อชาติ ฐานะ หรืออาชีพ อาศัยอยู่ในกรอบรูปโลกซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์ทั้งหมดโดยไม่แบ่งแยกด้วยประเทศ เพราะภารกิจด้านมนุษยธรรมของทั้งสามองค์กรให้ความช่วยเหลือคนทุกคนโดยไม่แบ่งว่าเป็นคนชาติไหน หรือมีความเชื่อแบบใด 

ภารกิจของทั้งสามองค์กรถูกเล่าผ่านองค์ประกอบต่างๆ ที่ซ่อนอยู่ในภาพ เช่น ผู้หญิงที่ถือดอกทานตะวันเป็นตัวแทนของคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ ประจำประเทศไทย (ICRC) จากแรงบันดาลใจที่เธอเคยได้อ่านเรื่องราวการใช้ดอกทานตะวันเป็นสัญลักษณ์ในการต่อต้านการใช้อาวุธนิวเคลียร์ คนที่จับมือกันเป็นวงกลมท่ามกลางสายฝนสื่อถึงสหพันธ์กาชาดและสภาเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศ (IFRC) ที่ร่วมมือกันยามเกิดภัยพิบัติ ส่วนหัวใจตรงกลางภาพสื่อถึงภารกิจหลักที่คนรู้จักสภากาชาดไทยคือการบริจาคเลือดนั่นเอง

สำหรับ juli baker and summer เธอมองว่า ศิลปะคือ soft power แบบหนึ่ง เพราะเป็นเครื่องมือการสื่อสารที่ไม่ได้มีท่าทีรุนแรง ทุกคนเปิดใจให้ และศิลปะยังแฝงไปด้วยอารมณ์ความรู้สึกอยู่ในนั้น และน่าสนุกที่จะได้เห็นคนหลากหลายตีความคำคำเดียวออกมาเป็นภาพ เพราะการได้แสดงออกทางความคิดที่หลากหลายคือสิ่งที่สวยงาม

ผลงานชิ้นที่สองคือ Untitled โดย นริศรา เพียรวิมังสา ในงานชิ้นนี้เธอเลือกใช้เทคนิคศิลปะที่ทำอยู่ในปัจจุบันอย่างการปักผ้า เพราะการซ่อมแซมเสื้อผ้าที่ชำรุดมีความเชื่อมโยงกับภารกิจของ ICRC ที่ทำหน้าที่เยียวยาคนที่ได้รับผลกระทบจากสงคราม 

ในความหมายของคำว่า ‘มนุษยธรรม’ นริศรามองว่ามันคือการให้ความช่วยเหลือโดยไม่แบ่งแยกชาติพันธุ์ ไม่แบ่งฝักฝ่าย เธอจึงนำเศษผ้าจากที่ต่างๆ มาเย็บรวมเข้าด้วยกัน เพื่อสื่อว่าไม่ว่าจะเป็นใครมาจากไหน ทุกคนมีสิทธิได้รับการเยียวยา องค์ประกอบสำคัญที่เย็บผ้าผืนต่างๆ เข้าด้วยกันคือ ‘ดวงตา’ ที่ให้ความหมายของการจ้องมองเพื่อตระหนักรู้ถึงปัญหาและเฝ้าระวังปัญหาที่จะเกิดขึ้น โดยให้สีของดวงตาสื่อถึงชนชาติต่างๆ ที่ร่วมมือกันทำงาน

สำหรับนริศรา งานศิลปะไม่ใช่เครื่องมือที่จะบอกเล่าปัญหาทั้งหมดให้คนรู้ ทว่าทำหน้าที่ชี้ให้คนตระหนักถึงปัญหา และเว้นพื้นที่ไว้ให้คนขบคิดกับมันต่อ นั่นแหละคืออานุภาพของศิลปะ

และผลงานชิ้นที่สาม Across the body โดย อภิสิทธิ์ สิทสันเทีย ได้รับแรงบันดาลใจจากเรื่องราวที่ ICRC เคยมอบความช่วยเหลือให้ผู้ลี้ภัยระหว่างเขตแดนไทยและกัมพูชากลับไปเจอกันอีกครั้ง บวกกับรูปแบบงานจิตรกรรมของศิลปินที่จะถ่ายทอดออกมาในรูปแบบของสถานการณ์ ซึ่งไปในทางเดียวกับภารกิจของ ICRC ที่มีการใช้ virtual reality เพื่อถ่ายทอดผลกระทบของความรุนแรง 

ในภาพนี้อภิสิทธิ์จึงถ่ายทอดสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ระหว่างรอยต่อ ด้วยเต็นท์ที่คร่อมอยู่ระหว่างสองเขตแดนที่สื่อถึงการมอบความช่วยเหลือโดยไม่แบ่งแยกเชื้อชาติ องค์ประกอบต่างๆ ที่ซ่อนอยู่ในภาพอย่างซองจดหมาย สื่อถึงภารกิจของ ICRC ที่ทำหน้าที่ในการส่งจดหมายเพื่อให้ครอบครัวที่พลัดพรากกลับมาเจอกัน รองเท้าที่ชวนให้คิดไปถึงบุคคลที่สูญหายจากความขัดแย้ง ไฟที่กำลังลุกไหม้ในอีกเขตแดนสื่อถึงสงครามและความรุนแรงที่เกิดขึ้น

อภิสิทธิ์เองมองว่า ศิลปะไม่ได้ทำหน้าที่หยิบยื่นทางออกให้ปัญหา เช่นเดียวกับผลงานชิ้นนี้ที่ทำหน้าที่พาคนดูไปเผชิญหน้ากับสถานการณ์ และเปิดพื้นที่ให้คนดูคิดต่อว่าภาพตรงหน้าคืออะไร เราทำอะไรกับมันได้ เราเลือกจะเพิกเฉยกับมันหรือจะลงมือทำอะไรกับมันต่อ

สำหรับคนที่ได้เห็นผลงานของทั้งสามศิลปินแล้วรู้สึกว่าไฟในตัวลุกโชน อยากบอกเล่าความหมายของคำว่ามนุษยธรรมในมุมมองของตัวเองก็อย่ารอช้า เพราะทาง ICRC เปิดผลงานตั้งแต่วันนี้ – 23 พฤศจิกายนนี้เท่านั้น ผู้ชนะจะได้รับเงินรางวัล 9,000 บาท และรองชนะเลิศจะได้รับเงินรางวัล 6,000 บาท ใครสนใจอยากอ่านรายละเอียดเพิ่มเติม ตามไปได้ที่ blogs.icrc.org/th/2020/09/23/call-for-artists

เอาเข้าจริงถ้าไม่นับเรื่องรางวัลจากการประกวด แค่ได้นั่งทบทวนความหมายของมนุษยธรรมกับตัวเอง และส่งต่อมันออกมาให้คนอื่นดูผ่านภาพวาด ก็น่าจะได้โลกที่น่าอยู่ขึ้นกลับมาเป็นรางวัลแล้ว

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย