Horse Unit และ Woot Woot Store ร้านวินเทจในร้านวินเทจที่มีตั้งแต่ชุดทหารอเมริกันยันไม้กวาดญี่ปุ่น

Horse Unit และ Woot Woot Store คือร้านขายของวินเทจในโครงการ Warehouse 30 ที่มีหนุ่มสาวเจ้าของร้านอย่าง บาส–ธรรมนูญ ใหม่พิมพ์ และ ตวง–พันธ์นันท์ ธนินเดชพัฒน์ แบ่งพื้นที่ร่วมกันเติมเต็มความฝันของแต่ละคน 

แรกเริ่ม พวกเขาต่างคนต่างเปิดร้านตามความชอบของตัวเองใต้ชายคาโกดัง Warehouse 30 แต่เมื่อเวลาผ่านไป ทั้งสองร้านค่อยๆ ขยายพื้นที่จนทุกวันนี้กลายเป็นพื้นที่ขายของวินเทจที่มีร้าน 2 ร้านซ้อนกันอยู่ภายในโกดังเดียวกัน

ส่วนชั้นล่างเป็นพื้นที่ขายของวินเทจแนวทหารหลากยุคที่เกิดจากความคลั่งไคล้ของฝ่ายชาย ส่วนชั้นบนเป็นพื้นที่สำหรับความรักในเครื่องประดับทำมือ แร่หิน สัตว์สตัฟฟ์ และข้าวของจากธรรมชาติของฝ่ายหญิง

เสื้อผ้าทหารยุคสงครามโลก เฟอร์นิเจอร์ ของตกแต่งบ้าน ป้ายบอกทางรถเมล์ เครื่องประดับจากแร่และหิน หรือกระทั่งไม้กวาดแบบญี่ปุ่น

ท่ามกลางสารพันข้าวของวินเทจเหล่านี้คุณอยากได้อะไรบ้างล่ะ เดี๋ยวเราไปตามเจ้าของร้านมาให้

 

พื้นที่ชั้นหนึ่งสำหรับความรักความชอบของฝ่ายชาย

เพียงผลักประตูกระจกใสเปิดเข้าไปในร้านก็เหมือนหลุดเข้ามาอยู่ในโลกอีกใบ ของเครื่องใช้วางเรียงรายใต้แสงสลัว ทั้งของสำหรับขายและของใช้ตกแต่งร้าน ยิ่งเสริมให้ร้านแห่งนี้ดูมีมนต์ขลัง

“ร้านเรามีของหลายอย่าง แต่หลักๆ จะเป็นของวินเทจเกี่ยวกับทหารหรือช่าง” ชายผู้เป็นเจ้าของส่งเสียงแนะนำเมื่อเห็นเรา ตามมาด้วยรอยยิ้มหวานๆ จากผู้หญิงข้างตัว

ภายในพื้นที่ขนาดหนึ่งโกดัง อัดแน่นไปด้วยความชอบที่แสนชัดเจนของคนทั้งคู่

บาสเคยเป็นนักสะสมที่มีงานอดิเรกคือการขายของตามงานวินเทจต่างๆ จนกระทั่ง ดวงฤทธิ์ บุนนาค เจ้าของโครงการ Warehouse 30 เห็นแววและความเป็นไปได้ จึงชักชวนให้มาลองเปิดร้านแบบจริงจังดูที่โครงการของตัวเอง

จากเดิมที่ร้านมีขนาดเพียง 3×3 ตารางเมตร ร้านวินเทจของบาสค่อยๆ ขยับขยายเพิ่มใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ตามยอดขาย จาก 6×6 ตารางเมตรจนสามารถยึดครองพื้นที่ทั้งโกดัง 

ด้วยเหตุนี้ เขาจึงชักชวนแฟนสาวที่เคยแยกบริเวณ ต่างคนต่างขายสินค้าที่ตัวเองชอบภายใต้ชายคา Warehouse 30 มาอยู่ในบริเวณเดียวกัน เปลี่ยนเป็นร้านวินเทจแบบร้านซ้อนร้าน พื้นที่ชั้น 1 คือพื้นที่สำหรับร้าน Horse Unit ของบาส ส่วนพื้นที่ชั้น 2 เป็นร้าน Woot Woot Store ของตวง

“ก่อนหน้านี้เราเคยเป็นกราฟิกดีไซเนอร์ แต่สิ่งที่ดึงให้เข้ามาสนใจวงการวินเทจได้เป็นเพราะความคลั่งไคล้ใน typography” บาสนั่งลงบนเก้าอี้ไม้หน้าตาคลาสสิกหลังพาเราเดินชมจนทั่วร้าน พร้อมเล่าถึงที่มาความชอบให้ฟังด้วยท่าทีสบายๆ

ของวินเทจชิ้นแรกที่ชักนำให้เขาเข้าวงการมาไกลถึงขนาดเป็นพ่อค้าจนเปิดร้านจริงจังได้อย่างนี้คือลังเก็บของของทหารที่มี typography สีเหลืองเขียวประทับตราไว้ เพียงเห็นครั้งแรกเขาก็เหมาลังคล้ายๆ กันมาเพียบโดยไม่ทันได้คิด

บาสเล่าว่าแม้ร้านขายของวินเทจจะมีมากมาย แต่คำว่า ‘วินเทจ’ หรือย้อนยุคนั้นกว้างราวกับมหาสมุทรจนร้านวินเทจแต่ละร้านก็สามารถปักหมุดหาจุดยืนในวงการของเก่าได้ ไม่ว่าจะด้วยประเภทสินค้า ดีไซน์ ยุคที่ผลิต และที่สำคัญที่สุดคือความชอบของเจ้าของ

เมื่อกวาดสายตามองไปรอบๆ ความชอบของบาสหนีไม่พ้นข้าวของวินเทจที่มีการออกแบบตัวอักษร typography ดึงดูดสายตา และของวินเทจเกี่ยวกับทหารจำพวกเสื้อผ้าหลากยุค ชุดล่าสัตว์มากดีเทล ไปจนถึงเฟอร์นิเจอร์ชิ้นโตทั้งไม้และเหล็ก

นั่นเป็นเพราะเขาคัดสรรและเลือกมาวางขายตามความชอบใจล้วนๆ

“ถึงสินค้าที่ขายโดยรวมจะเป็นของวินเทจแนวทหารแต่รายละเอียดของแต่ละชิ้นไม่เหมือนกันเสียทีเดียว อย่างพวกลังทหารก็สามารถแบ่งได้ตามยุค มีทั้งแบบที่วัสดุเป็นไม้ เหล็ก พลาสติก สำหรับชุดทหารอเมริกัน ลวดลายและลักษณะทรงเสื้อทหารในช่วงสงครามเวียดนามหรือสงครามโลกก็ไม่เหมือนกัน หรืออย่างชุดล่าสัตว์ ถึงจะมีสีเขียว มีลวดลายที่ดูคล้ายกันกับเสื้อผ้าแนวทหารแต่ก็จะมีรายละเอียดปลีกย่อยที่ออกแบบมาเพื่อการล่าสัตว์โดยเฉพาะ เช่น ในกระเป๋าหน้ามีช่องสำหรับใส่อาวุธ มีฮู้ดด้านหลังไว้แบกสัตว์กลับบ้าน

“วงการวินเทจนั้นค่อนข้างกว้าง ของวินเทจแต่ละชนิดก็สามารถแบ่งแยกย่อยประเภทไปได้เยอะและละเอียดมาก อย่างวินเทจแนวทหารที่เราชอบก็มีตั้งแต่เสื้อผ้าไปจนถึงเฟอร์นิเจอร์ ดังนั้นเวลาเราจะคัดสินค้าอะไรสักอย่างมาวางขายเราเลยต้องชอบมันก่อน”

การเลือกของด้วยความคลั่งไคล้มีข้อดียังไงคงไม่ต้องอธิบายกันมาก เพราะท่ามกลางสินค้าสารพันที่ Horse Unit วางขาย ไม่มีของชิ้นไหนไม่เข้ากันเลย และที่สนุกคือเพราะค้นคว้า หาข้อมูล และเลือกของแต่ละชิ้นมากับมือ บาสจึงเล่าเรื่องราวเบื้องหลังสินค้าได้ทุกชิ้น

“เรารู้ข้อมูล รู้ที่มาของสินค้า เพราะหลายครั้งเราก็เป็นคนบินไปดูของ ไปเลือกเอง หรือบางครั้งก็มีเจ้าของสินค้าเก่าทักมาเสนอขายเองเลยด้วยซ้ำ เราอาจจะไม่ได้รู้ข้อมูลทุกด้านของของชิ้นนั้น แต่อย่างน้อยที่สุดเราบอกได้ว่าของที่ดูคล้ายๆ กันแตกต่างกันยังไง เล่าความพิเศษของของแต่ละชิ้นให้ฟังได้”

 

พื้นที่ชั้นสองสำหรับแสดงออกถึงความเป็นตัวตนของฝ่ายหญิง

อย่างที่บอกไป เมื่อ Horse Unit ขยายร้าน บาสจึงชักชวนแฟนสาวอย่างตวงมาจับจองพื้นที่ชั้นสองของร้าน นำร้าน Woot Woot Store มาอยู่ในอาณาจักรเดียวกัน

แรกเริ่มเดิมที ร้านของตวงมีรูปร่างเป็นบ้านหลังเล็กสีขาวกลางโกดัง Warehouse 30 ที่ใครเดินผ่านไปผ่านมาก็อดถ่ายรูปไว้ไม่ได้

เพียงบ้านขนาดจิ๋วก็ดึงดูดสายตาแล้ว แต่ที่พิเศษคือบ้านสีขาวหลังนั้นรวบรวมความชอบและความเป็นตัวเองของเจ้าของไว้เต็มหลัง ทั้งของกระจุกกระจิกจำพวกดอกไม้ทับแห้ง จิวเวลรีจากหิน แร่ธรรมชาติ รวมทั้งสินค้าแบรนด์ไทยที่เธอตั้งใจเลือกสรรมาเองกับมือ 

และเมื่อ Woot Woot Store ย้ายมาทำการที่ชั้นสองเหนืออาณาจักรของบาส สินค้าเหล่านั้นก็ยังมีขาย พร้อมเพิ่มสินค้าที่หลากหลายขึ้นไปอีก ทั้งจิวเวลรีที่ตวงทำเอง แร่หินธรรมชาติ สัตว์สตัฟฟ์ ไม้กวาดแบบญี่ปุ่นจากบ้านบูรณ์ แจกันปั้นมือของศิลปินอย่าง mamolism รวมทั้งกระเป๋าใยถักจาก Temp in Sept 

horse unit

horse unit

“เราเริ่มสนใจของวินเทจจริงๆ จังๆ ตอนเรียนจิวเวลรี เวลาทำโปรเจกต์เราต้องหาพร็อพมาประกอบเครื่องประดับที่ทำอยู่บ่อยๆ หรือตอนที่เรียนจบมาแล้วเราทำจิวเวลรีแฮนด์เมดขาย เวลาไปออกร้านลูกค้าก็มักจะสนใจของตกแต่งร้านและขอซื้อของพวกนั้นมากกว่า ตอนแรกเราก็บอกเขาว่าของชิ้นนี้ไม่ได้ขาย เป็นพร็อพ หลังๆ เราก็เริ่มเอาของตกแต่งมาขายด้วยกัน จุดนั้นทำให้เราเริ่มเห็นความเป็นไปได้ในการขายของวินเทจ” ตวงเล่าย้อนถึงช่วงเวลาที่ Woot Woot Store ยังไม่เกิดขึ้น

เราเคยไปเรียนที่อเมริกาและมีโอกาสได้ทำงานพิเศษที่ร้านขายเสื้อผ้า เจ้าของร้านเขาจะชอบชวนเราไปเดินตลาด ร้านขายของเก่า และซื้อของราคาไม่กี่เหรียญมาจัดดิสเพลย์ มันเลยเหมือนยิ่งตอกย้ำทำให้เราเห็นว่าของวินเทจเหล่านี้สามารถเพิ่มมูลค่าได้ ที่สนุกคือมันไม่ใช่ของที่เราไปดูตามห้างแล้วชี้ได้เลยว่าจะเอาอันนี้หรือของที่คนเห็นแล้วรู้เลยว่าเราซื้อมาจากที่ไหน แต่ของวินเทจเป็นของที่ต้องหา ต้องเลือกเอง แต่ละคนก็มองเห็นความพิเศษไม่เหมือนกัน ให้มูลค่าไม่เท่ากัน นี่คือเสน่ห์ของมัน 

“กับร้านนี้ สำหรับเราแล้วมันเลยเป็นเหมือนการรวมเอาความเป็นตัวเรามาแสดง เอาทุกสิ่งที่เราสนใจ ทุกสิ่งที่เราชอบในช่วงชีวิตมาไว้รวมกัน”

horse unit

เธอบอกว่าถึงตัวเองกับบาสจะชื่นชอบในของวินเทจเหมือนกัน แต่สิ่งของที่ชอบก็มีรายละเอียดที่แตกต่างกันอยู่ นั่นจึงเป็นที่มาว่าทำไมทั้งสองจึงต้องเปิดร้านแยกกันตั้งแต่ต้น

ถึงอย่างนั้น เธอก็ยอมรับว่าในความแตกต่างนี้ สุดท้ายก็ยังมีจุดเชื่อมโยงตรงกลางที่เข้ากันได้อยู่ดี 

“พอได้มาอยู่ในพื้นที่เดียวกันแบบนี้ Woot Woot Store เลยเป็นเหมือนพื้นที่ของคนที่ชอบของวินเทจอีกแบบ ไม่ใช่ของวินเทจที่เป็นเสื้อผ้าสำหรับสายลุยหรือข้าวของแนวเข้มๆ แบบที่พี่บาสนำเสนอ อย่างเวลาคู่รักมาเดินเที่ยวกันแล้วอีกฝ่ายไม่ได้ชอบสินค้าแบบที่ Horse Unit ขาย เขาก็ยังสามารถขึ้นมาดูของกระจุกกระจิกที่ร้านเราได้ต่อ” ตวงอธิบายด้วยรอยยิ้ม  

 

พื้นที่ขนาดหนึ่งโกดังที่ตั้งใจอยากให้คนได้สัมผัสกับความ ‘วินเทจ’

เมื่อได้ครองพื้นที่ขนาดหนึ่งโกดังและรวมทั้งสองร้านเข้าด้วยกัน ความตั้งใจหนึ่งที่ทั้งคู่อยากทำให้เกิดขึ้นในพื้นที่แห่งนี้คืออยากให้ของวินเทจเป็นมิตรกับคนทุกกลุ่ม ไม่จำกัดวงอยู่ที่นักสะสมฮาร์ดคอร์เท่านั้น นำมาสู่วิธีคิดในการเลือกสินค้าที่หลากหลายและจัดวางให้คนเข้าใจว่าของวินเทจเหล่านี้สามารถกลมกลืนอยู่ในวิถีชีวิตยุคโมเดิร์นได้อย่างแนบเนียน

“ว่ากันจริงๆ ร้านเรามีของทุกประเภทเลย ในหมวดเสื้อผ้าเองก็มีตัวที่ไม่เก่ามาก ปีไม่ลึกมากอยู่ เป็นของที่คนที่ไม่ใช่นักสะสมของวินเทจตัวยงก็สามารถใส่ได้ในชีวิตประจำวัน” บาสเล่า ก่อนตวงจะช่วยเสริม

“เราไม่ได้อยากเปิดร้านให้คนที่ชอบของวินเทจสายลึกเท่านั้น คนที่ชอบแต่งบ้านสไตล์โมเดิร์นหรือชอบของที่มีกลิ่นอายวินเทจก็สามารถมาร้านเราได้ โชว์ให้เขาดูเลยว่าเราก็จัดบ้านอย่างนี้จริงๆ เหมือนละลายพฤติกรรมให้เขาเข้ามาสู่โลกของเรา ทำให้เขาเริ่มอินไปกับเรา”

horse unit

horse unit

เธอคิดว่าของวินเทจคือความคลาสสิกที่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเทรนด์ กระแส หรือสิ่งที่ตอนนี้คนในสังคมกำลังอิน-ไม่อิน หากแต่เป็นเหมือนสิ่งของที่รอคอยให้คนโคจรเข้ามาเจอกัน

“เราอาจจะไม่ได้โปรโมตร้านมาก ไม่ได้ถ่ายรูปแล้วเผยแพร่ทางโซเชียลมีเดียเยอะขนาดนั้น แต่ร้านจะดึงดูดคนที่มีความชอบเดียวกันนี้มาเจอกันเอง เป็นเหมือนสเปซหรือคอมมิวนิตี้ของคนที่สนใจของวินเทจเหมือนๆ กัน”

บางครั้งลูกค้าที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อนเลยก็สามารถยืนคุยกันได้อย่างออกรส บางทีที่แห่งนี้ก็ทำให้ลูกค้าหลายๆ คนได้หวนรำลึกถึงความทรงจำในอดีต และบางครั้งที่นี่ก็รับบทเป็นเหมือนพิพิธภัณฑ์ที่พ่อแม่จูงมือลูกมาเดินดู ศึกษาเกี่ยวกับของต่างๆ ด้วยกัน กระทั่งในบางวันลูกค้าก็เป็นคนที่เข้ามาเติมความรู้ เล่าข้อมูลเกี่ยวกับของแต่ละชิ้นให้กับบาสและตวงฟัง

horse unit

“เราใช้ชีวิตอยู่กับร้านนี้เกือบทุกวัน จนเหมือนมันเป็นบ้านหลังหนึ่ง” บาสที่นั่งฟังเงียบๆ อยู่นานเสริมขึ้น 

“เราไม่ได้คิดว่าที่นี่เป็นที่ทำงาน แต่มันเหมือนเรามาใช้ชีวิตตามปกติ มาเจอเพื่อนใหม่ๆ มาพุดคุย มาแลกเปลี่ยนความชอบของกันและกัน มันสนุก”

“สำหรับเรานี่คือความสำเร็จที่มากกว่าค่าเงินที่ได้รับเสียอีก” ตวงทิ้งท้าย

horse unit

Horse Unit และ Woot Woot Store

address : Warehouse 30, Warehouse, No.4, ถนน เจริญกรุง ซอย 30 เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร 10500
hours : เปิดทุกวันจันทร์-อาทิตย์ (ปิดวันพุธ) ตั้งแต่ 11:00-19:00 น.
Facebook : Horse Unit และ Woot Woot Store

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ

ช่างภาพนิตยสาร a day ที่เพิ่งมีพ็อกเก็ตบุ๊กเล่มใหม่ชื่อ view • finder ออกไปเจอบอลติก ซื้อสิ ไปซื้อ เฮ่!