โบกนิด สะบัดหน่อย! ส่องเบื้องหลังการเนรมิตปกแฮร์รี่ พอตเตอร์ ปกใหม่จากฝีมือศิลปินไทยเป็นครั้งแรก

ใครที่เกิดและโตในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา เราเชื่อว่าหลายคนน่าจะมี แฮร์รี่ พอตเตอร์ เป็นส่วนหนึ่งของความทรงจำวัยเด็ก

ภาพแฮร์รี่กำลังขี่ไม้กวาดตามลูกสนิชในซุ้มประตูทรงโค้งสีน้ำตาล ‘เด็กชายผู้รอดชีวิต’ คือชื่อบทแรกที่ได้อ่าน หรือเพลงธีมสุดคุ้นหูที่จะขึ้นตอนหนังเริ่ม

ในช่วงเวลาหนึ่ง เราเคยต่อแถวยาวเหยียดรอซื้อตั๋วตอนหนังภาคใหม่เข้าฉาย รอหนังสือภาคใหม่อย่างใจจดจ่อเป็นปี เหมาสิ่งของทุกอย่างเกี่ยวกับ แฮร์รี่ พอตเตอร์ เพราะยุคนั้นใครๆ ก็ต้องสะสม (ยุคนี้ก็ยังเป็น!)

แม้เรื่องราวของแฮร์รี่จะจบลงแล้ว แต่เหมือนที่ J. K. Rowling เคยกล่าวไว้ ฮอกวอตส์จะเป็นบ้านหลังเดิมที่พร้อมต้อนรับทุกคนให้กลับไปเสมอ

ในวาระครบรอบ 20 ปีที่ แฮร์รี่ พอตเตอร์ กับศิลาอาถรรพ์ ฉบับภาษาไทยออกวางจำหน่าย สำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์อยากชวนเราให้กลับไปยังบ้านที่คุ้นเคยอีกครั้ง ด้วยการออกวางจำหน่าย แฮร์รี่ พอตเตอร์ ฉบับภาษาไทยใหม่ยกชุด ความพิเศษของการกลับมาครั้งนี้คือเรากำลังจะได้เห็นภาพปกครั้งแรกที่วาดโดยศิลปินไทย

นั่นคือเหตุผลที่วันนี้เรามานั่งอยู่กับ อาชว์–อรุษ เอ่งฉ้วน หรือ Arch Apolar ศิลปินผู้ได้รับมอบหมายให้ทำปกและภาพประกอบชุดนี้ ท่ามกลางหนังสือ แฮร์รี่ พอตเตอร์ ปกเดิมที่วางเรียงสวยในชั้นวางของร้านหนังสือแว่นแก้ว อาชว์เปิดคอมพิวเตอร์ของเขาเพื่อเล่าเบื้องหลังการทำงานให้เราฟังด้วยสายตาเป็นประกาย

เมาส์ปากกาฉวัดเฉวียนดั่งไม้กายสิทธิ์ คาถาวิเศษที่อาชว์จะใช้สร้างสรรค์ปกใหม่เซตนี้คืออะไร ไปฟังจากปากเขากัน

แฮร์รี่ พอตเตอร์

เด็กหนุ่มผู้รอดชีวิต 

“ผมชอบงานศิลปะมาตั้งแต่เด็กเพราะคุณพ่อชอบงานศิลป์ ท่านจะปลูกฝังด้วยการให้พกสมุดสเกตช์ติดตัวไปไหนมาไหนอยู่ตลอด ตอนปริญญาตรีผมเลือกเรียนคณะสถาปัตย์ จุฬาฯ เพราะอยากลองเรียนศิลปะที่ประยุกต์กับวิทยาศาสตร์ดู ปรากฏว่า 5 ปีที่เรียนสถาปัตย์ เราได้ฝึกฝนเรื่องเหตุผล ตรรกะ ในขณะเดียวกันก็แทบจะทิ้งการวาดรูปของเราไปเลย ซึ่งจริงๆ เรามีความสนใจด้าน visual development หรือคอนเซปต์อาร์ต เป็นสายงานที่ออกแบบเชิงคอนเซปต์ในขั้น pre-production ให้หนัง แอนิเมชั่น เกม หนังสือ ฯลฯ ผมอยากเรียนต่อด้านนี้แต่เมืองไทยไม่มีสอน จึงตัดสินใจสมัครต่อปริญญาโทที่อเมริกา

“ช่วงที่ไปเมืองนอกใหม่ๆ เรารู้สึกเหงา เหมือนมาเรียนหลักสูตรใหม่เลยไม่รู้ว่าจะรอดหรือเปล่า เรารู้สึกอยากกลับไปวาดอะไรที่เคยให้ความสุขในวัยเด็ก ก็เลยลองวาดแฟนอาร์ต แฮร์รี่ พอตเตอร์ เป็นตัวละครหลักทั้ง 3 ตัวตอนเขายังเด็ก เราวาดเพราะอยาก motivate ตัวเองให้กลับมามีความสุขล้วนๆ ไม่ได้คาดหวังอะไร

“ปรากฏว่านานมีบุ๊คส์เห็นงานนี้ของเราแล้วติดต่อมา ถามว่าสนใจทำปกใหม่ให้ฉบับภาษาไทยไหม”

แฮร์รี่ พอตเตอร์

จดหมายจากฮอกวอตส์

“พอเราบอกว่าสนใจ ทางนานมีบุ๊คส์ก็ให้เรารวบรวมพอร์ตโฟลิโอเพื่อส่งให้เขาและต้นสังกัดที่อังกฤษพิจารณาด้วย ตอนแรกผมก็ท้อเหมือนกันเพราะศิลปินที่เขาส่งไปให้เลือกมีหลายคนเลย คิดว่าเขาคงไม่เลือกเราหรอก ปรากฏว่า 2 เดือนผ่านไปเขาติดต่อมา บอกว่าเขาเลือกเรา

“ผมดีใจกว่าตอนสอบติดมหา’ลัยอีก แต่ดีใจได้แป๊บเดียว หลังจากนั้นคือรู้สึกถึงภารกิจอันหนักอึ้งบนบ่า เรารู้ว่าความคาดหวังต่อใครก็ตามที่จะมารับหน้าที่นี้มันมากมายมหาศาลขนาดไหน เป็นหน้าที่ใหญ่มากที่ต้องรับผิดชอบ เราไม่ได้ทำเพื่อตัวเราเอง แต่เพื่อแฟนคลับคนไทยด้วย เพราะเป็นเวอร์ชั่นแรกของคนไทยเลย

“ตอนเด็กๆ เราเคยตื่นเต้นกับการลุ้นปก แฮร์รี่ เล่มใหม่มากว่าจะเป็นยังไง แฟรนไชส์นี้เป็นอีกแรงผลักดันที่ทำให้ผมอยากเป็นนักวาด ไม่คิดว่าวันหนึ่งมันจะวนกลับมาให้เราทำ เพราะฉะนั้นเราจะตั้งใจถ่ายทอดความรักที่มีต่อ แฮร์รี่ ลงไปในงาน ไม่ใช่แค่จากมุมมองของนักวาดคนหนึ่ง แต่จากมุมมองของแฟนคลับที่อยากทำให้แฟนคลับด้วยกัน เพราะเราจะเข้าใจกันดีที่สุดว่าต้องการอะไร”

กลับสู่โลกเวทมนตร์

“ผมโตมากับ แฮร์รี่ ผูกพันกับแฟรนไชส์นี้มาตั้งแต่เด็ก สิ่งที่ผมชอบเป็นพิเศษคือรายละเอียดที่ เจ. เค. โรว์ลิ่ง ใส่ไว้ในทุกๆ อณูของเนื้อเรื่อง มันทำให้วรรณกรรมเรื่องนี้แตกต่างจากเรื่องราวเกี่ยวกับพ่อมดแม่มดเรื่องอื่นๆ เพราะจินตนาการของ เจ. เค.ค่อนข้างเป็นรูปธรรม ทั้งตัวละคร องค์ประกอบเล็กๆ น้อยๆ สิ่งเหล่านี้ส่งผลต่อการออกแบบปกของผมด้วย

“เช่นกบช็อกโกแลต เป็นตัวที่ไม่ได้เป็นสาระสำคัญ ไม่ต้องอยู่บนปกก็ได้ แต่มันคือ first impression ของผมที่มีต่อเรื่องนี้ เฮ้ย กบช็อกโกแลตเคลื่อนที่ได้ กระโดดได้ด้วย ผมรู้สึกว่าสิ่งเล็กๆ เหล่านี้ทำให้คนอ่านตกหลุมรัก และส่งผลให้เราอยากรู้จักโลกเวทมนตร์ใบนี้มากขึ้น เราไม่เคยเบื่อที่จะกลับมาอ่านหรือดูหนังจากแฟรนไชส์นี้ เพราะทุกครั้งที่เรากลับมา นอกจากความสนุกสนานเราจะได้เจออะไรที่ไม่เคยเจอ

“ผมอยากให้คนอ่านรู้สึกแบบนั้นกับปกที่ผมออกแบบเหมือนกัน”

เจ้าชาย ‘เลือก’ ผสม

“ผมดูหนังทั้งหมดเพื่อรีเฟรชความทรงจำแบบเร็วๆ แล้วลิสต์องค์ประกอบที่คิดว่าน่าจะอยากใช้บนปกของแต่ละภาคไว้ จากนั้นก็ศึกษาข้อมูลในหนังสืออย่างละเอียดอีกที ผมไล่ดูปก แฮร์รี่ ของประเทศต่างๆ ว่ามีมาแล้วกี่เวอร์ชั่น ศึกษาข้อดี-ข้อเสีย คนชอบอะไรในแต่ละเวอร์ชั่น แล้วนำมาคิดต่อเพื่อให้ได้งานที่ไม่ซ้ำกับแนวที่เคยทำมา

“ผมพยายามหาตรงกลางระหว่างสิ่งที่เป็นภาพจำกับสิ่งที่ไม่เคยนำเสนอมาก่อน เหมือนเป็นเรื่องเดียวกัน แต่คนละจักรวาล จริงๆ ทางสำนักพิมพ์ต้นสังกัดที่อังกฤษเขาให้อิสระในการตีความเต็มที่เลยนะ เราตีความปกออกมาโดยที่ไม่ได้หยิบซีนใดซีนหนึ่งมาขึ้นปกแบบที่เราเคยเห็น แต่เลือกหยิบ key moment ในเล่มนั้นขึ้นมา เพราะเวลาเราถามแฟนคลับว่านึกถึงภาคนี้คุณนึกถึงอะไร พวกเขาจะให้คำตอบแตกต่างกัน ในขณะเดียวกันเราก็เลือกจะเก็บของเดิมไว้ ในกรณีที่มันเป็นภาพที่คุ้นเคยของคนส่วนใหญ่และทรงพลังมากกว่า

“อย่างปกของภาค 1 ผมเลือกใช้ซีนหมวกคัดสรร เพราะคิดว่าเป็นซีนสำคัญในเรื่อง มันทำให้แฮร์รี่ได้เริ่มต้นชีวิตใหม่ เป็นฉากที่แนะนำเขาเข้าบ้านกริฟฟินดอร์ ในขณะเดียวกันก็จะมี element ที่เราคุ้นเคยในปกก่อนๆ คือปราสาทฮอกวอตส์และรถไฟ รวมถึงซุ้มโค้งที่จากปกเวอร์ชั่นแรกสุดที่คนไทยเห็น ผมก็ใส่ไว้เพื่อเป็นการ pay tribute ให้ปกนั้น”

ปกใหม่พร้อมฟอนต์ชื่อเรื่องแบบเดิมที่ไม่ได้ใช้จริง

สีประจำบ้าน

“ผมเป็นนักวาดประเภทที่ไม่มีลายเส้นตายตัว งานไม่ได้ผูกกับสไตล์ใดสไตล์หนึ่ง แต่ขึ้นอยู่กับโจทย์ที่ได้รับมากกว่า สำหรับโปรเจกต์นี้ผมพยายามหาสมดุลของภาพประกอบนิยายที่มีกลิ่นอายของความสนุกสนาน เป็นมิตรกับเด็ก แต่ผู้ใหญ่ก็ดูได้

“พอปล่อยภาพปกที่ทำในอินสตาแกรม มีหลายคนทักว่างานของผมมีกลิ่นอายคล้าย J. C. Leyendecker นักวาดภาพประกอบชื่อดังช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ลักษณะงานของเขาจะเน้นการสโตรกเส้น เป็นคลาสสิกของงานโปสเตอร์และงานพิมพ์ในยุคนั้น ถามว่าได้อิทธิพลมาไหม ผมตอบว่าใช่ เพราะเขาเป็นศิลปินใดดวงใจผมมากๆ แล้วงานลักษณะนี้ก็หายไปจากวงการนานมากแล้ว ผมรู้สึกว่า แฮร์รี่ พอตเตอร์ สร้างยุคทองของวรรณกรรมในยุคหนึ่ง งานปกนี้ผมก็อยากจะนำเสนอสไตล์ที่เคยเป็นยุคทองของ illustrator เช่นกัน เป็นการเบลนด์ระหว่างยุคทองของวรรณกรรมและยุคทองของสิ่งพิมพ์

แฮร์รี่ พอตเตอร์

“ในแง่ของเทคนิคการวาด ผมใช้เครื่องมือ lasso tool วาดโดยเริ่มจากกำหนดภาพเงา เส้นรอบนอกของตัวละคร ให้ความสำคัญกับรูปทรงที่ต้องชัดเจน จากนั้นกำหนดโทนสี จะเห็นได้ว่า 3 ภาคแรกจะเป็นสีแดง เหลือง น้ำเงิน แม่สีที่เป็นจุดเริ่มต้นของสีอื่นๆ เปรียบเสมือนจุดเริ่มต้นของเรื่องราว ในขณะเดียวกันมันก็หมายถึงสีประจำบ้านด้วย โดยเฉพาะปกภาค 1 ที่ผมกำหนดเลยว่าต้องเป็นสีแดงเท่านั้นเพราะเป็นสีหลักของกริฟฟินดอร์ บ้านของแฮร์รี่ที่ฮอกวอตส์

“ตอนทำผมจะคิดภาพรวมของปกไปพร้อมกับรายละเอียด เช่นปกภาค 2 ผมเลือกซีนขี่รถวิเศษของนายวีสลีย์ไปฮอกวอตส์ กระเป๋าเดินทางอาจจะไม่มีการพูดถึง แต่ดีเทลพวกนี้มันช่วยเล่าเรื่องได้มากขึ้นว่าเขากำลังทำอะไรอยู่ ดังนั้นเราจึงพยายามแฝงรายละเอียดเหล่านี้ลงไป”

แฮร์รี่ พอตเตอร์

ช่องต้องประสงค์

“ในทุกปกผมอยากให้มีแพตเทิร์นบางอย่าง คล้ายโครงร่างให้คนรู้ว่ามันคือปกในชุดเดียวกัน ผมจึงกำหนดช่องเฟรมคล้ายไกด์ไลน์ แต่ทุกปกก็จะนำเสนอสิ่งใหม่ให้คนอ่านด้วย ไม่ใช่แค่มีช่องเฟรมแล้วเปลี่ยนตัวละครไปเรื่อยๆ

“ช่องเฟรมเปรียบเสมือนหน้าต่างให้คนอ่านเปิดเข้าสู่หนังสือเล่มนั้น ผมอยากให้มันมีความไหลลื่นอยู่ในปก มีการเคลื่อนที่ของวัตถุเหมือนหนังสือพิมพ์ใน แฮร์รี่ ที่ภาพเคลื่อนไหวได้ เช่นในปกภาค 1 เราจะเห็นรถไฟที่แล่นมาจากด้านหลังแล้วปล่อยควันขึ้นไป มันไม่ใช่ควันธรรมดา แต่ transform ไปเป็นหนวดของดัมเบิลดอร์ด้านบน ตัวละครที่หยิบมาใช้ก็เป็นตัวละครที่พาคนอ่านเข้าสู่เรื่องราว อย่างแฮกริดที่เป็นคนพาแฮร์รี่ไปชานชาลารถไฟ พาไปตรอกไดแอกอนเพื่อซื้อข้าวของ มันคือเรื่องของการเริ่มต้น

“นอกจากนี้ ในปกต่อๆ ไปผมอยากให้คนอ่านเห็นว่ามันมีการส่งต่อเรื่องราวกันอยู่ โครงเดิมแต่องค์ประกอบบนปกจะเชื่อมโยงถึงกัน เช่นในปกภาค 1 เราเห็นรถไฟชัดเจน ในปกภาค 2 ก็จะมี hint เบาๆ ด้วยการใส่รถไฟเป็นแบ็กกราวนด์ หรือช่องที่เคยเป็นกบช็อกโกแลตกับตราชานชาลาในปกภาค 1 ก็จะถูกเปลี่ยนมาเป็นไดอารีของทอม ริดเดิล กับต้นแมนเดรก คนอ่านจะเห็นการเปลี่ยนแปลงไปของแต่ละปก ซึ่งเราจะนำเสนอสิ่งใหม่ภายในกรอบหน้าต่าง เมื่อคุณมองเข้ามาในหน้าต่างบานนี้ คุณจะเห็นเนื้อเรื่องที่จะพาคุณไปผจญภัยพร้อมกับตัวละคร”

ไข่อีสเตอร์มหัศจรรย์และถิ่นที่อยู่

“ด้วยโลกสมัยใหม่ที่เปลี่ยนไป สิ่งที่เราเคยเห็นในหนังหรือในปกก่อนๆ ก็อาจจะกลายมาเป็นข้อจำกัดในยุคนี้ มีบางสิ่งที่เป็นประเด็นละเอียดอ่อน เช่นการวาดเฮดวิกถูกขังอยู่ในกรงก็จะทำไม่ได้เพราะเป็นเรื่องของสิทธิสัตว์ ผมคิดว่าแฟรนไชส์นี้ใหญ่มากจนคนจับตามอง ทุกคนจับตามอง เพราะฉะนั้นมันเป็นอะไรที่ต้องทำให้ทุกคนยอมรับได้

“สิ่งที่ต้นสังกัดค่อนข้างเข้มงวดกับเราอีกอย่างคือ การเห็นพัฒนาการความเติบโตของแฮร์รี่ในแต่ละปก เช็กความเป๊ะของตัวละครทุกตัวในเรื่อง แต่กับหลายๆ อย่างก็ให้อิสระกับเราเช่นกัน เช่นเลขชานชาลา 9¾ ซึ่งเวอร์ชั่นก่อนๆ เป็นเลขอารบิก ทางต้นสังกัดก็เปิดโอกาสให้เราเล่นได้เต็มที่ ผมก็จัดเป็นเลขไทยเลย เพราะอยากให้คนไทยภูมิใจว่านี่คือปกของประเทศไทยจริงๆ

“หรือสิ่งที่คนจะชินคือโลโก้ฮอกวอตส์รูปโล่ มีตัว H ตรงกลาง ผมก็คงรูปโล่ไว้ แต่เปลี่ยนตัว H เป็น ฮ. ของไทย ซึ่งไม่ได้ดีไซน์ให้เป็น ฮ นกฮูก จ๋า แต่ปรับให้รับกับทรงโล่ หรือดีเทลเล็กๆ อย่างชื่อย่อ ร. ว. บนกระเป๋าเดินทางในปกเล่ม 2 ที่หมายถึงรอน วีสลีย์ รวมไปถึงสติกเกอร์รูปธงชาติประเทศไทยและอังกฤษที่ติดอยู่ข้างกัน สะท้อนถึงการร่วมมือกันระหว่างเรากับทางลอนดอน เจ้าของลิขสิทธิ์

“สิ่งที่ผมได้เรียนรู้จากการทำภาพปกชุดนี้คือ การเอาชนะลิมิตตัวเองที่ผมไม่คิดว่าจะไปถึง ผมอยากให้ใครก็ตามที่ได้เห็นปกชุดนี้สนุกสนานกับการค้นหาไข่อีสเตอร์ที่ซ่อนอยู่ในปก ยิ่งอ่านไปแล้วกลับมาดูรายละเอียดก็จะเจอสิ่งใหม่ตลอด เป็นเหมือนลายแทงขุมทรัพย์

“เหนือสิ่งอื่นใด ผมอยากให้คนไทยภูมิใจว่าปกของเรามีดีไม่แพ้เวอร์ชั่นไหนเลย”

แฮร์รี่ พอตเตอร์


ติดตามข่าวสารและรายละเอียดการสั่งจอง แฮร์รี่ พอตเตอร์ ปกใหม่ทั้ง 7 เล่มและ boxset ได้ทางแฟนเพจ นานมีบุ๊คส์ เร็วๆ นี้

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

วริทธิ์ โพธิ์มา

รักหมูกรอบ และข้าวมันไก่