Grey Shade แบรนด์ของแต่งบ้านจากคู่เพื่อนซี้ ที่ทรีตลูกค้าเหมือนเป็นเพื่อนสนิท

Highlights

  • Grey Shade คือแบรนด์ของตกแต่งบ้านงานปูนที่เกิดจากสายรหัสในรั้วมหาวิทยาลัยอย่าง มดแดง–มัชฌกานต์ ชุมยวงศ์ และ ไอซ์–กานต์ชนิศ ฤกษ์ชะนะ
  • จากร้านขายของเล็กๆ ในจตุจักร พวกเขาพัฒนาคุณภาพของแบรนด์ จนเวลาผ่านไปเพียงปีครึ่งก็สามารถวางขายในห้างร้านชั้นนำกว่า 20 แห่ง
  • 'เห็นลูกค้าเป็นเพื่อน และไม่ได้มองว่าตัวเองเป็นพ่อค้าหรือแม่ค้า' คือเคล็ดลับในการทำธุรกิจของเขาและเธอ
  • แต่จะมีเคล็ดลับและเรื่องราวอะไรอีกหรือเปล่า บุกเข้าไปในสตูดิโอของ Grey Shade พร้อมกันเลย

รูปทรงของกระถางปูนที่มีบันไดจิ๋วให้เดินลงไปนั้นดูสะดุดตาจนเราอดไม่ได้ที่จะเข้าไปสอดส่องอินสตาแกรมที่ชื่อว่า greyshade.th ให้มากขึ้น

ก่อนพบว่านี่คือแบรนด์ของตกแต่งบ้านที่ผลิตสินค้าทุกอย่างออกมาด้วยวัสดุประเภท ‘คอนกรีต’ ทั้งกระถางต้นไม้ ที่รองแก้ว เทียน ไปจนถึงแท่นวางสินค้าในร้านชื่อดังอีกหลายแห่ง

เพื่อรู้จักกันมากกว่านี้ เราไม่รอช้าแอดไลน์ของร้าน นัดเจ้าของร้านทั้งสองออกมาพูดคุยกันถึงความเป็นมาเป็นไปของแบรนด์นี้

ขอเตือนไว้ก่อนว่าระวังจะตกหลุมรักงานซีเมนต์เหมือนกันกับพวกเขา และแอบอมยิ้มให้กับแพสชั่นอันล้นปรี่ของทั้งคู่เหมือนกับเรา

แต่ถ้าแน่ใจแล้วว่ารับมือไหวก็ไม่ต้องทักอินบอกซ์ไปหาใคร ตามไปฟังเขาและเธอเล่าเรื่องราวได้เลย

“Grey Shade เกิดจากความชอบของมดแดง” ไอซ์–กานต์ชนิศ ฤกษ์ชะนะ ตอบพร้อมปรายตาไปยัง มดแดง–มัชฌกานต์ ชุมยวงศ์ หญิงสาวที่นั่งอยู่ข้างกัน เมื่อเราถามหาจุดเริ่มต้นของแบรนด์ที่คนทั้งคู่ร่วมกันสร้างขึ้น

ทั้งคู่เป็นเพื่อนต่างชั้นที่มาผูกพันกันได้ด้วยสายสัมพันธ์ในรั้วมหาวิทยาลัย จากที่เคยร่วมมือช่วยเหลือในการทำงานบ่อยครั้งด้วยแนวทางความชอบที่คล้ายคลึงกัน หลังจากเรียนจบ ผู้เป็นพี่รหัสอย่างมดแดงจึงชักชวนน้องรหัสอย่างไอซ์มาทำงานร่วมกันแบบจริงจังขึ้น นั่นคือการผลิตของตกแต่งบ้านจาก material ที่พวกเขาทั้งสองชื่นชอบอย่างคอนกรีต ภายใต้แบรนด์ที่ชื่อ Grey Shade


“จริงๆ เราเริ่มทำ Grey Shade มาตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัยแล้ว

“เราเป็นคนชอบ material มาก หลงใหลความเป็นธรรมชาติของหิน ดิน ทราย ปูน ถ้าได้เห็นตามผนังจะต้องเข้าไปลูบ เข้าไปคลำ อยากเอามันกลับมาอยู่ที่บ้านด้วย แต่ก็ทำไม่ได้ เพราะติดข้อจำกัดที่ว่าตอนนั้นอาศัยอยู่ที่หอ เราคงไม่สามารถเอาปูนมาฉาบหรือเทพื้นใหม่ได้ สิ่งที่ทำได้เลยเป็นการหาของชิ้นเล็กๆ มาสะสม มาวางไว้ใกล้ตัว ซึ่งสิ่งที่หาไม่ได้เลยคืออะไรที่เกี่ยวกับปูน ขนาดกระถางปูนสำหรับใส่ต้นไม้ซึ่งเป็นสิ่งที่ง่ายที่สุดเท่าที่เราจะคิดได้มันยังไม่ใช่สิ่งที่เราต้องการเลย มาตรฐานเราสูงมาก อยากให้มันเนี้ยบกว่านี้ พรุนกว่านี้ สัมผัสแล้วได้อารมณ์มากกว่านี้ แต่เราหาไม่ได้ ตอนนั้นก็เลยชวนไอซ์มาลองทำกันขึ้นมาเอง” มดแดงเป็นฝ่ายชี้แจงให้ฟังถึงจุดเริ่มต้นโดยละเอียด ก่อนพาเราย้อนกลับไปในวันที่เขาทั้งสองคนช่วยกันแบกถุงปูนหนักกว่า 50 กิโลกรัมขึ้นบันได แอบแม่บ้านขึ้นไปทำที่ระเบียงหอพัก 

หากจะเปรียบที่นั่นเป็นสตูดิโอแห่งแรกของ Grey Shade ก็คงไม่ใช่เรื่องที่เกินไปนัก แม้ความพร้อมด้านอุปกรณ์และความรู้บางอย่างไม่เอื้ออำนวย แต่เขาทั้งคู่ก็ไม่ละความพยายามที่จะสร้างสรรค์ของใช้ที่ตอบโจทย์ความชอบ ความต้องการ ของตัวเอง 

อุปกรณ์ที่ใช้ในการเรียนอยู่แล้ว อย่างเทปกาวและกระดาษ จึงถูกปรับมาต่อเป็นรูปทรงต่างๆ เพื่อทำเป็นโมล กำหนดรูปทรงของกระถาง ก่อนจะเริ่มลองผิดลองถูก ผสมปูนและทดลองทำตามความรู้พื้นฐานที่พอมีติดตัว ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ก็เกินคาดคิด เพราะนอกจากจะเป็นกระถางต้นไม้ได้จริงแล้ว พวกเขายังลงความเห็นว่ากระถางที่ได้นั้นดูดีกว่าที่วางขายกันทั่วไปด้วยซ้ำ 

“ทดลองทำไปประมาณ 6 เดือน เราก็ไปได้ที่ในจตุจักร ขนาดเล็กมากเลยนะ แค่ประมาณ 50×50 เซนติเมตรเอง พอขายของหมด จากตอนแรกที่ทำไปโดยไม่ได้คาดหวังอะไร เราเลยรู้สึกว่า เออ มันมีคนที่ตามหาสิ่งนี้อยู่เหมือนเราเลย เขาแค่รอให้เราทำออกมาแค่นั้นเอง ก็เลยเป็นแรงบันดาลใจให้เราอยากทำสิ่งนี้ออกมาเรื่อยๆ จนตัดสินใจออกจากงานประจำ ชวนไอซ์มาเป็นพาร์ตเนอร์กัน” 

Grey Shade จึงฟอร์มทีมอย่างเข้มแข็ง พร้อมเข้าสู่ช่วงถัดไป อย่างการขยายไลน์สินค้าและพัฒนาคุณภาพให้ดีขึ้นกว่าเดิม โดยมีไอซ์เป็นคนลงแรงและมีมดแดงเป็นคนคิดฟังก์ชั่นที่ต้องการ 

“ตอนจะเอาไปวางขายจริงมันซีเรียสกว่าเดิมเยอะมาก เพราะเราไม่ได้ใช้เองคนเดียวแล้ว เราต้องเพิ่มคุณภาพ คอยศึกษาว่าควรใช้ปูนแบบไหน ปูนเทพื้น ปูนเทคาน หรือปูนฉาบ ซึ่งสิ่งพวกนี้ในวิชาอินทีเรียร์ที่เราเรียนมา เขาไม่ได้สอนว่าเทปูนแบบไหนจะได้เทกซ์เจอร์ยังไง ทุกอย่างคือการศึกษาเพิ่มเอาเอง

“ดีที่ช่วง 6 เดือนก่อนวางขายจริงเราก็ได้ศึกษามาบ้างแล้ว พอวางขายจริงๆ ก็เหมือนได้ศึกษาต่อจากลูกค้าอีกทีด้วย คอยฟังฟีดแบ็กจากเขา แล้วเอากลับมาคิดว่าทำไมงานของเรามันถึงยังร้าว เพราะมันบางเกินไป รูปทรงมันหนา มันหนักเกินไป มันมีปัญหาอะไร เราผสมไม่ถูกต้องตรงไหนไหม ลองใช้ส่วนผสมอื่น ลองมิกซ์ตัวนู้นตัวนี้เพิ่มเข้ามา เหมือนเป็นการศึกษา พัฒนาตัวเอง คิดค้น แล้วก็ทำออกมาเรื่อยๆ”

จากที่มีแค่กระถางต้นไม้ ทั้งคู่จึงค่อยๆ ออกแบบและผลิตสิ่งของขึ้นตามความสนใจ จนทุกวันนี้สินค้าของ Grey Shade สามารถแบ่งได้เป็น 3 หมวดใหญ่คือ กระถางต้นไม้ ของใช้ และของตกแต่งบ้าน เช่น เทียนหอม แท่นสำหรับวางของ นาฬิกา ไปจนถึงงานศิลปะเพื่อแขวนตกแต่งห้อง 

นอกจากสินค้าหลากหลายประเภทที่ว่าไปแล้ว ผลลัพธ์ของการฝึกฝนยังเห็นได้ชัดเจนจากสีสันที่เริ่มมีเยอะขึ้นมากกว่าสีเทาธรรมชาติของปูน ทั้ง terrazzo ลายหินขัด ลายหินอ่อน ที่เห็นในชิ้นงาน ก็ล้วนเกิดจากวัสดุประเภทคอนกรีตเช่นเดียวกัน

ซึ่งไอซ์บอกถึงสาเหตุที่ทำของเหล่านี้ขึ้นมาด้วยเหตุผลง่ายๆ ที่ว่า “เพราะอยากมี”

“เราเริ่มรู้สึกว่าการแต่งบ้านของเราไม่ได้มีแค่ต้นไม้อย่างเดียว เราอยากได้สิ่งอื่นด้วย อยากได้โต๊ะ เฟอร์นิเจอร์ แต่เราก็ตัวเล็กๆ ยังทำเองไม่ได้ เลยเริ่มต้นจากของกระจุกกระจิกบนโต๊ะทำงาน อย่างที่ใส่ปากกา มันเป็นฟอร์มง่ายๆ เหมือนกระถางต้นไม้นั่นแหละ แต่เพิ่มฟังก์ชั่นให้มัน เป็นที่ใส่ปากกา ดินสอ เป็นถาดเล็กๆ ไว้วางตัวทับกระดาษ บวกฟังก์ชั่นขึ้นมาเรื่อยๆ  

“เพราะเราไม่ได้จำกัดสิ่งที่กำลังทำอยู่ด้วย อย่าง phone stand เราก็ถอดแบบมาจากแลนด์สเกป เป็นบ้าน เป็นบันได เพื่อให้เวลาที่เราไม่ได้ใช้งาน ไม่ได้วางโทรศัพท์ มันยังคงเป็นประติมากรรมเล็กๆ อยู่บนโต๊ะ เหมือนได้ตกแต่งบ้านไปด้วยในตัว”

หัวใจหลักๆ ในการออกแบบงานของมดแดงและไอซ์จึงเป็นการออกแบบสินค้าให้สามารถนำไปวางในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง แล้วทำให้ที่ตรงนั้นคอมพลีตขึ้นมาได้ หรือสามารถใช้ Grey Shade เป็นตัวแทนในการบอกเล่าหรือแสดงความเป็นตัวตนของตัวเองออกมา 

“เพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะชอบปูน แต่เราคิดว่าคนที่เลือกปูนแปลว่านั่นคือความชอบของเขา เราก็อยากทำให้พื้นที่ของเขาโดดเด่น” ไอซ์ว่าไว้อย่างนั้น

นอกจากสินค้าหลากประเภทที่พวกเขาต้องศึกษาค้นคว้าวิธีทำกันอยู่บ่อยๆ สินค้าของพวกเขายังกระจายออกไปยังห้างดังหลากหลายห้าง รวมแล้วกว่า 20 แห่งในเวลาเพียงปีครึ่ง จนอดไม่ได้ที่จะถามไถ่ถึงหลักการทำตลาดในรูปแบบของทั้งคู่

“พวกเราโชคดีด้วยมั้ง” ไอซ์หัวเราะอยู่นานก่อนตอบ 

“เราตื่นเต้นทุกงานนะ ไม่ว่าจะได้วางขายที่ไหน เพราะมันเหมือนได้พัฒนาตัวเองขึ้นไปเรื่อยๆ และเป็นแรงผลักดันให้เราต้องทำให้คุณภาพมันสูงขึ้น เวลาไปขายที่ไหนก็จะวิเคราะห์กลุ่มเป้าหมายของแต่ละที่ก่อนว่ากลุ่มนั้นเขาเน้นเป้าหมายแบบไหน เราควรทำสินค้าอะไรนอกเหนือจากที่มีอยู่แล้วไปวางด้วยไหม เช่น ร้าน Flower Pavilion Sooksiam ที่ไอคอนสยาม เป็นร้านที่ขายของเกี่ยวกับดอกไม้ ต้นไม้ ทั้งหมด เราก็เลือกขายต้นไม้ลงไปพร้อมกับสินค้าด้วย เป็นที่เดียวเลยที่ทำแบบนั้น

“ส่วนมดแดงก็จะ QC คุณภาพสินค้าหนักมาก ดีเทลเล็กๆ น้อยๆ ไม่ให้ผ่านสายตาเลย ตอนที่พวกเราทำเลยเหมือนแอบคิดไว้ในใจนั่นแหละว่า ถ้าคุณภาพงานเป็นแบบนี้ เราต้องไปได้ไกล พอมีห้างเข้ามาติดต่อเราจริงๆ ก็รู้สึกว่านี่แหละคือผลสำเร็จที่เราทำ คือการที่เขาเชื่อในสินค้าของเรา” 

“พวกเราใช้ความเฟรนด์ลี่ด้วย พยายามขายเอง พูดคุยเองให้มากที่สุด” หญิงสาวที่นั่งฟังอยู่นานแย้มยิ้ม พยักหน้าเห็นด้วยกับไอซ์ แล้วกล่าวเสริม 

“เราไม่ได้มองว่าตัวเองเป็นแม่ค้า แต่เราเป็นเพื่อนกับพวกเขา เราเต็มใจที่จะบอก เต็มใจตอบคำถามที่พวกเขาสงสัย จริงๆ ตั้งใจทำเวิร์กช็อปสอนวิธีการทำด้วยซ้ำ แต่ยังไม่สะดวกเรื่องสถานที่ คงเป็นความชอบของเราด้วยมั้งที่อยากแชร์สิ่งที่เราชอบให้คนอื่นรู้จักด้วย เราเลยไม่รู้สึกว่าจะต้องกั๊กอะไร เราขายของไปด้วยความรู้สึกภูมิใจที่ได้ทำสิ่งนี้ออกมาให้คนได้รู้จักสิ่งที่เราชอบในรูปแบบใหม่ๆ เหมือนเรากำลังพรีเซนต์สิ่งประดิษฐ์บางอย่างที่เราทำขึ้นมาใหม่” 

“ใช่ มันเป็นเรื่องแปลกเหมือนกันนะ” ไอซ์แทรกขึ้นพร้อมน้ำเสียงตื่นเต้น “งานของเรามันก็มีเท่านี้ แต่สามารถพูดเรื่องเดิมให้ลูกค้าแต่ละคนฟังได้โดยไม่รู้สึกเบื่อเลย เราจะตื่นเต้นกันมาก พอคิดว่าคนนี้เขารู้จักสินค้าเราแล้ว หรือคนนั้นสนใจสินค้าชิ้นนี้ เราภูมิใจทุกครั้งที่ได้บอกเล่าถึงวิธีการทำงานในแต่ละชิ้น หรือแค่ได้ตอบคำถามสั้นๆ อย่างชิ้นนี้ใช้งานยังไง เราก็รู้สึกดีใจที่เขาสนใจสินค้าเราแล้ว

“ปูนเหมือนเป็นตัวเราไปแล้ว การที่ทุกคนเห็นปูน ก็เหมือนทุกคนได้เห็นเรา เสิร์ชคำว่า Grey Shade เจอตรงไหนก็ยังตื่นเต้นตลอด เวลาเสิร์ชในกูเกิลก็ยังตกใจที่มีโลโก้เรา มีงานของเราขึ้นมา มันว้าวทุกครั้งที่ได้เห็น เหมือนเราเป็นแฟนคลับของ Grey Shade เอง”

AUTHOR

Video Creator

ชาคริต นิลศาสตร์

อดีตตากล้องนิตยสาร HAMBURGER /ค้นพบว่าตัวเองมีความสุขและสนุกทุกครั้งที่ได้ทำงานภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว