YESTERTODAYMORROW เมื่อ Gongkan หยิบ Teleport มาตีความใหม่ให้ ‘เวลา’ เคลื่อนไปในหลุมดำ

Highlights

  • ก้อง–กันตภณ เมธีกุล หรือ Gongkan คือศิลปินที่แจ้งเกิดที่นิวยอร์กจากสตรีทอาร์ต ‘Teleport’ ซึ่งเป็นภาพคนในหลุมดำกำลังวาร์ปไปสู่อีกมิติ โดยเล่าเรื่องราวของอิสรภาพและความหวังเพื่อหลีกลี้หนีจากสังคมแห่งการดิ้นรนและความเกลียดชัง
  • จากงานชิ้นนั้น Gongkan ทำงานในคอนเซปต์หลุมดำและ ‘เวลา’ อีกหลายชิ้น เช่น นิทรรศการเดี่ยวครั้งล่าสุด ‘YESTERTODAYMORROW’ ที่พูดถึงการเดินทางสู่อดีต ปัจจุบัน และอนาคต ไปพร้อมๆ กัน
  • นอกจากเรื่องของเวลา วัตถุดิบในการทำนิทรรศการยังเป็นเรื่องราวในใจของเขาเอง เช่น ภาวะนอนไม่หลับ หรือความเครียดจากการทำงาน

เราเชื่อว่าใครหลายคนเคยเฝ้าฝันถึงการย้อนเวลาหรือการเดินทางไปอนาคต ไทม์แมชชีนของโดราเอมอนเลยกลายเป็นของวิเศษที่ติดตรึงใจคนทุกยุคสมัย เพราะไม่ว่าจะผ่านไปนานเท่าไหร่มนุษย์ก็ยังเอาชนะเวลาไม่ได้สักที

ว่ากันจากผลงาน ศิลปินหนุ่ม Gongkan หรือ ก้อง–กันตภณ เมธีกุล น่าจะเป็นคนหนึ่งที่หลงใหลในเรื่องเวลาอย่างที่สุด เพราะตั้งแต่ไหนแต่ไรเขาก็มักฉกฉวยเสน่ห์ของเวลามาใส่ในผลงานของตัวเองเสมอ เช่น งานสุดป๊อปชุด ‘Teleport’ ที่เป็นภาพคนในหลุมดำกำลังวาร์ปไปสู่อีกมิติ โดยเล่าเรื่องราวของอิสรภาพและความหวังเพื่อหลีกลี้หนีจากสังคมแห่งการดิ้นรนและความเกลียดชัง

YESTERTODAYMORROW

Gongkan แจ้งเกิดเป็นศิลปินที่นิวยอร์ก แต่งาน Teleport นี่เองที่ทำให้เขากลายเป็นที่รู้จักในเมืองไทยอย่างรวดเร็วและเปิดประตูมิติพาเขาวาร์ปไปทำงานศิลปะที่นั่นที่นี่อีกหลายแห่งทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นไทเป เซี่ยงไฮ้ ปักกิ่ง โตเกียว บรุกลิน และแมนแฮตตัน

งานศิลป์ในมิติเสมือนของ Gongkan ดูง่าย เสพง่าย มีความหมายเชิงบวก ลายเส้นเรียบๆ คมๆ สไตล์การ์ตูนญี่ปุ่นของเขาพาคนดูไปสู่โลกแห่งความหวังและโลกในอุดมคติผ่านทางหลุมดำที่ตัวการ์ตูนโผล่ออกมา บางงานก็แฝงไปด้วยความคิดเกี่ยวกับสันติภาพ เช่น ผลงานที่เขาวาดผู้นำอเมริกาและเกาหลีเหนืออย่างโดนัลด์ ทรัมป์ และคิม จองอึน ทะลุประตูมิติมาจูบกันท่ามกลางความขัดแย้งรุนแรงของสองประเทศ 

เวลายังเป็นที่มาของนิทรรศการเดี่ยวครั้งล่าสุดที่มีชื่อว่า ‘YESTERTODAYMORROW’ ที่อดีต ปัจจุบัน และอนาคต เกี่ยวพันไขว้คล้องกันจนรวมเป็นหนึ่งเดียว ซึ่งความไม่ชัดเจนนี่แหละที่ทำให้ศิลปินหนุ่มอยากให้กำลังใจให้ผู้คนต่อสู้กับอนาคตที่มองไม่เห็น

น่าแปลกที่ในงานนี้เราไม่ยักจะเห็นภาพหลุมดำอย่างเคย แต่ก่อนจะคุยกันถึงตรงนั้นเราขอชวนคุณย้อนอดีตไปสำรวจตัวตนและความคิดของเขาก่อนว่าอะไรคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้วาร์ปมาได้ไกลขนาดนี้

YESTERTODAYMORROW

กำเนิดหลุมดำในต่างแดน

ตั้งแต่สมัยจำความได้ เด็กชายกันตภณที่ใครๆ เห็นมักอยู่คู่กับดินสอและพู่กันเสมอเพราะการวาดรูปคือความสุขของเขา เมื่อรู้ตัวเช่นนี้เขาจึงเลือกเดินสู่เส้นทางศิลปะอย่างไม่ลังเลโดยเลือกเรียนคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร กระทั่งหลังเรียนจบเขากลับผันตัวไปทำงานโฆษณาอยู่ 3 ปีเต็ม

“เราทำงานเป็นอาร์ตไดเรกเตอร์ในเอเจนซีโฆษณาอยู่ประมาณ 3 ปี ตอนนั้นก็ดูจะประสบความสำเร็จในการงานเพราะได้รางวัลโฆษณาต่างๆ จากเวที Cannes Lions ตลอด ภายนอกดูเหมือนไปได้ดี แต่ลึกๆ ข้างในเราอยากเป็นศิลปิน ยิ่งพอทำงานครีเอทีฟไปสักพักแล้วไม่มีเวลาวาดรูปเลยเราก็ยิ่งอยากออกมาทำงานที่เป็นตัวเอง 

“ตอนนั้นวางแผนไปเรียนต่อที่นิวยอร์กเพราะรู้สึกว่าสังคมที่นั่นเปิดให้ศิลปินได้แสดงออก แต่ละคนดูมีพลังในการสร้างสรรค์และมีเป้าหมายของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นนักแสดง ช่างภาพ หรือใครก็ตามในแวดวงศิลปะ จะสู้ยิบตาเพื่อตามฝันตัวเอง ซึ่งเราคิดว่าสิ่งนี้น่าจะช่วยผลักดันให้เรามีพลังในการทำงานศิลปะไปด้วย

“ตอนอยู่นิวยอร์กงานแรกของเราคือ Teleport ที่เป็นภาพหลุมดำ มันเกิดจากความอึดอัดของเราที่อยากเป็นศิลปินแต่เป็นคนกลุ่มน้อย เราไม่ใช่คนอเมริกันเลยสร้างงานให้คนมาสนใจยาก เราพยายามอยู่หลายเดือนก็ไม่เกิดผล ตอนแรกวาดทุกอย่างเพื่อคิดว่าจะตอบสนองคนอื่น ลองวาดทั้งภาพประกอบ วาดคน ทำฮาวทู แต่ก็ยังไม่ใช่ เราเลยกลับมาคิดว่าควรวาดอะไรที่ตอบสนองตัวเองบ้างดีกว่า

“ระหว่างที่เครียดจิตตกอยู่นั้นเราเห็นเหมือนภาพหลุมดำผุดขึ้นมาในหัว เหมือนคนไม่มีทางออกแล้วเห็นทางออกเป็นประตูไปเจอทางที่ดีขึ้น เราเลยวาดหลุมดำขึ้นมาเพื่อเชื่อมเราไปที่อื่น ตอนนั้นไม่ได้แคร์แล้วว่างานจะเกิดหรือไม่เกิด แค่อยากลองทำเพราะนี่เหมือนเป็นการปลดปล่อยตัวเองจากความเครียด”

เมื่อได้ไอเดียหลุมดำแล้ว เขาลองคิดต่อว่าจะนำภาพ Teleport หรือหลุมดำไปจับกับสตรีทอาร์ตเพื่อให้ความรู้สึกเหมือนกำแพงที่วาดภาพประตูวิเศษของโดราเอมอนที่มีคนโผล่ออกมาจริงๆ

“เราเริ่มจากการทำสติกเกอร์บอมบ์หลุมดำ (นำสติกเกอร์ illustration หลุมดำไปติดตามที่ต่างๆ) จากนั้นก็ทำงานศิลปะแล้วส่งไปเสนอ NYC Street Art ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลเกี่ยวกับสตรีทอาร์ต ให้ช่วยหาที่เพนต์ให้ โชคดีที่เขาให้โอกาสไปทำสตรีทอาร์ตที่แมนแฮตตันเลย เป็นผนังใหญ่ประมาณ 5 เมตรใจกลางเมือง ตอนนั้นเรายังโนเนม ไม่มีอะไรจะเสีย เลยตกลงทำทันที

“สไตล์งานสตรีทอาร์ตของเราจะใช้สีอะคริลิกเพนต์ลงบนกำแพงโดยไม่ใช้สเปรย์พ่น เพราะพื้นฐานของเราคือการวาดรูป งานอาร์ตของเราเลยออกมาเรียบง่าย มีกลิ่นอายความเป็นเอเชีย ดูแล้วสบายตา พอวาดเสร็จก็มีคนมาถ่ายรูป มาเดินเล่นดูผลงานเรา เด็กๆ ก็ดูชอบตัวการ์ตูนของเราที่เข้าใจง่าย เราวาดแบบนี้เพราะต้องการให้เป็นป๊อปอาร์ตที่ทุกคนเข้าใจและสัมผัสได้”

ถึงจะเป็นศิลปินหน้าใหม่ในนิวยอร์ก แต่การทำงานโฆษณามาก่อนกลับเป็นข้อดีไม่น้อยสำหรับก้องในตอนนั้น

“การทำงานโฆษณามาก่อนเป็นข้อดีต่อการสร้างงานศิลปะของเรามากเพราะทำให้คิดเป็นระบบ งานโฆษณาจะเริ่มคิดจาก big idea, คอนเซปต์ และดีเทล ไล่ลงมา ประเด็นที่จะเล่าหรือวิธีการนำเสนอก็จะสอดคล้องกันหมด งานของเราอยู่ระหว่างงานเชิงพาณิชย์กับงานอาร์ต หลายๆ คนมาดูก็อาจได้กลิ่นความเป็นโฆษณาเยอะซึ่งเรามองว่าเป็นประโยชน์กับศิลปิน เพราะงานอาร์ตไม่จำเป็นต้องไม่แคร์โลกหรือปิดตัวเอง แต่ศิลปินต้องโฆษณาเป็น นำเสนองานให้เป็น ศิลปินไม่จำเป็นต้องนิ่งเงียบเก็บตัวอีกต่อไปแล้ว เราต้องเล่าเรื่องเป็น ทำให้คนดูเข้าใจเมสเซจของงานได้”

จับเวลามาไขว้กันเป็น YESTERTODAYMORROW

แม้นิทรรศการล่าสุดอย่าง YESTERTODAYMORROW จะไม่มีภาพหลุมดำที่เป็นซิกเนเจอร์ แต่ศิลปินหนุ่มเล่าว่างานครั้งนี้มีคอนเซปต์คือเรื่อง ‘เวลา’ ที่จะว่าไปก็เปรียบเหมือนหลุมดำในอีกรูปแบบ นั่นเพราะมันมักพาเราไปโผล่ตามที่ต่างๆ ตามแต่ความคิดจะนำพาไป

“YESTERTODAYMORROW เป็นการรวมคำว่า yesterday, today และ tomorrow เข้าด้วยกัน ซึ่งก็เหมือนกับกำลังเอาเวลาทั้งสามห้วงมารวมกัน เรามองว่ามนุษย์เป็นเหมือนเครื่องย้อนเวลาชั้นดี บางคนอาจย้อนคิดไปได้ไกลตั้งแต่ยังเป็นเด็กเล็กๆ หรือฝันเฟื่องถึงอนาคตที่ไกลออกไปสุดๆ ก็ได้ แต่ถ้าเราบาลานซ์เวลาไม่ดีก็จะเกิดปัญหา อย่างตัวเราเองรู้สึกว่าพอเริ่มโตขึ้น เริ่มมีงานเข้ามาเรื่อยๆ เริ่มประสบความสำเร็จ กลายเป็นว่าไม่สามารถปล่อยวาง คิดมาก เครียดเกินไป นอนไม่หลับเรื้อรัง และรู้สึกว่าจัดการเวลาไม่ได้ เหมือนอดีต ปัจจุบัน และอนาคต มันไขว้กันหมด

“งานนี้ที่พูดถึงเวลาเราต้องการจะสื่อว่าคนเราอาจคิดว่าอยู่เหนือทุกสิ่งบนโลก แต่อย่างน้อยเราอยู่ใต้เวลา เวลาคือสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้ เราได้แต่เฝ้ามองให้มันเป็นไป อดีตสอนเราให้รู้ว่าควรทำอะไรต่อ มันหล่อหลอมให้เราเป็นเรา ปัจจุบันสอนให้เราทำวินาทีนี้ให้ดีที่สุด ส่วนอนาคตคือความหวัง ทำให้มีพลังอยากที่จะเจอสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไป เราอยากให้คนดูได้ทบทวนชีวิตของตนเองด้วยทั้งอดีตที่ผ่านมา ปัจจุบัน และอนาคต”

ก้องสารภาพว่าตอนทำงานชุดนี้เขาเริ่มมีอาการซึมเศร้าเพราะต้องขุดปมในใจขึ้นมาเยอะมาก ส่งผลให้มีปัญหานอนไม่หลับเรื้อรังถึงขนาดต้องกินฮอร์โมนช่วยนอนหลับ เมื่อได้หนีจากความวุ่นวายและความสบายของบ้านอย่างกรุงเทพฯ ไปอยู่เงียบๆ คนเดียวที่ไต้หวันตอนกลางปีเพื่อซุ่มทำงานชุดนี้ นั่นจึงกลายเป็นช่วงเวลาทบทวนเรื่องราวที่ค้างคาใจ เจอเสียงข้างในตัวเอง และพรั่งพรูออกมาเป็นงานศิลปะที่เรากำลังเห็นอยู่

นอกจากการใช้เรื่องราวในใจ คราวนี้เขายังทดลองสร้างงานลงบนสื่อที่หลากหลายมากขึ้น หนึ่งในนั้นคือห้องต่างๆ ที่ให้คนดูเข้าไปเล่นกับชิ้นงานได้ แต่น้อยคนที่จะรู้ว่าห้องเหล่านั้นแอบซุกซ่อนปมในใจของศิลปินเอาไว้

“บรรยากาศในห้อง Insomnia Room เป็นการเล่าชีวิตของเราที่นอนไม่ค่อยหลับ เราไม่สามารถปล่อยวางความคิดเรื่องงานได้ และชอบเก็บมาคิดว่าคนอื่นจะมองเรายังไงแทนที่จะเอาเวลามาอยู่กับปัจจุบันและนอนพักผ่อนอย่างที่ควรจะเป็น กลายเป็นความเครียดสะสมจนนอนไม่หลับมานาน

“การนำเสนอเราใช้โปรเจกเตอร์ยิงวิดีโอไปที่หน้าต่างเพื่อฉายช่วงเวลาที่สว่าง เพราะต้องการจำลองภาพตอนกลางวันที่หัวสมองตื่นตัวและคิดโน่นนี่ตลอดเวลา ซึ่งไม่สอดคล้องกับบรรยากาศห้องนอนที่เป็นเวลาดึกมากแล้ว ห้องนี้คือตัวแทนของการอยู่กับปัจจุบันแต่ไปกังวลถึงเรื่องในอนาคต”

ศิลปินหนุ่มอธิบายต่อไปถึงห้อง Dining Room และห้อง Timeless Room ที่เป็นตัวแทนของเวลาอดีตและปัจจุบัน

“ห้องกินข้าวหรือ Dining Room ต้องการจะสื่อถึงบาดแผลในอดีตที่เกิดขึ้นบนโต๊ะกินข้าวที่คนในครอบครัวมีความเห็นไม่ลงรอยกัน เราอยากให้คนดูได้ย้อนคิดถึงคำพูดหรือการกระทำที่ปฏิบัติต่อคนใกล้ชิดซึ่งอาจสร้างบาดแผลในใจใครบางคนไปตลอด ห้องนี้เลยเป็นตัวแทนอดีตที่ส่งผลต่อมายังปัจจุบัน เราเล่าโดยกั้นโต๊ะเป็นสองฝั่ง ครึ่งหนึ่งเล่าถึงอดีตที่เป็นฝั่งผนังสีดำสื่อถึงความเศร้า การทะเลาะเบาะแว้ง การถกเถียงที่สร้างบาดแผล ส่วนโต๊ะอีกด้านหนึ่งเป็นตัวแทนปัจจุบัน เป็นโต๊ะว่างเปล่าโดดเดี่ยวเพราะที่บ้านไม่ค่อยได้กินข้าวพร้อมหน้ากันอีกแล้ว

“ส่วนห้องสุดท้ายคือ Timeless Room เราเอารูปที่วาดคนในหลุมดำออกมาแปะในห้องกระจกให้สะท้อนไปมาไม่รู้จบ ให้ความรู้สึกเหมือนอยู่ในจักรวาลที่เป็นอินฟินิตี้ ความไร้จุดจบที่มาซ้อนกันก็เหมือนเวลาที่ซ้อนกัน กระจกทำให้เห็นเงาสะท้อนตัวเองที่เป็นเหมือนอดีต แต่ถ้าลองยืนอยู่นิ่งๆ คนที่เข้ามาอาจจะได้พิจารณาความงามของชีวิต ณ ปัจจุบัน ไม่ต้องกังวลกับอดีต และไม่ระแวงสงสัยถึงอนาคต”

ทดลองวาร์ป Teleport ในหลุมแบบใหม่

นอกจาก 3 ห้องที่เป็นตัวแทนของอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ในงานนี้ Gongkan ยังทดลองทำงานในรูปแบบอื่นๆ อีกมาก ทั้งงานปั้น งานหล่อโลหะ และงานเพนต์ โดยตีโจทย์คำว่า Teleport ใหม่ให้กลายเป็นประตูมิติไร้ฟอร์มตายตัว และแอบหยอดหลุมดำในรูปนั้นรูปนี้อย่างเนียนๆ

“เราตีความงาน Teleport ใหม่ว่าไม่จำเป็นต้องเป็นแค่วงกลมหรือวงรีสีดำเท่านั้น แต่เราแทนวงเหล่านั้นด้วยรูปอื่นอย่างขอบโค้งของก้อนเมฆหรือบ่อน้ำ พูดง่ายๆ คือลองทำหลุมดำในรูปแบบอื่นๆ เช่น รูปเพนต์ที่มีบ่อน้ำอยู่กับภูเขา บ่อน้ำก็คือ Teleport เปรียบเหมือนคนเราที่อยู่ในสังคมแห้งแล้ง แต่ถ้ามีความชุ่มชื้นในจิตใจก็จะทำให้เราได้หลีกหนีไปจากที่นั้น

“เฟรมรูปภาพเองก็ไม่ใช่แค่สี่เหลี่ยม เราตัดเฟรมพิเศษเป็นฟอร์มต่างๆ มีทั้งทรงจั่วสามเหลี่ยมของหลังคาบ้าน ขอบมนของก้อนเมฆ ทรงรีของก้นแก้วน้ำ และทรงกรวยที่แทนลำแสงจากยานยูเอฟโอ รูปทรงเหล่านี้ก็คือ Teleport อย่างหนึ่งเหมือนกัน

“หรือรูปที่ตัวละครลงไปอยู่ในน้ำลายเส้นส่วนที่จมน้ำก็จะเป็นคลื่นพลิ้วไหวเพราะได้เปลี่ยนไปอยู่ในอีกสื่อหนึ่ง เมื่อไปอยู่ในน้ำที่มีความเยือกเย็นและผ่อนคลายลายเส้นก็จะเปลี่ยนไปตามนั้น ตัวเราที่แข็งกร้าวก็จะผ่อนคลายไปกับสายน้ำ เหมือนได้ไปอยู่ในอีกมิติ น้ำจึงเป็น Teleport ของรูปนี้”

ด้วยความที่ Gongkan ใช้เทคนิคเพิ่มขึ้นจากเดิมและแปลงคอนเซปต์ Teleport ให้แนบเนียนขึ้น นิทรรศการนี้จึงมีรสชาติแปลกไปจากงานครั้งก่อนๆ ของเขาอยู่ไม่น้อย และไม่แน่ว่าในผลงานต่อๆ ไปหลุมดำของเขาอาจเปลี่ยนฟอร์มไปอีกก็ได้

“ในอนาคตเราอยากให้หลุมดำไปป๊อปอัพในอีกหลายๆ ที่ทั่วโลก มันเป็นเป้าหมายของเรา เพราะเราเชื่อว่าศิลปะสามารถเยียวยาผู้คนได้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ศิลปะเป็นความสร้างสรรค์ อย่างน้อยในงานของเราก็พูดถึงหลุมดำในทางบวกที่ให้ความหวัง ให้กำลังใจคน” ศิลปินหนุ่มทิ้งท้าย


ใครสนใจอยากท่องมิติเวลาในหลุมดำนี้มาดูกันได้ที่ River City Bangkok จนถึง 9 มกราคม 2563

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

สรรพัชญ์ วัฒนสิงห์

ชีวิตต้องมีสีสัน