เรื่องน่าสนใจจาก Modern Magazine Conference 2016 งานประชุมที่คนทำนิตยสารทั่วโลกอยากฟัง

“Independent from what? ” Jeremie Lessie พูดคำถามสั้นๆ
นี้ในบทเปิดประชุมประจำปีของนักทำนิตยสารอิสระ Modern Magazine Conference
2016 หรือ MODMAG 2016

เจเรมี่เป็นเหมือนครูใหญ่แห่งวงการนิตยสารอิสระ
เขาถามผู้เข้าร่วมประชุมต่อว่า “ผมเชื่อว่านิตยสารอิสระทั้งหลาย
ต่างมีความฝันว่าวันหนึ่งพวกเขาจะโตขึ้น เมื่อวันนั้นมาถึง คำถามคือเขายังเป็นนิตยสารอิสระ
หรือกลายเป็นนิตยสารกระแสหลักไปแล้ว ในทางกลับกัน นิตยสารกระแสหลักบางครั้งผมก็เชื่อว่าเขาอยากทำอะไรเล็กๆ
บ้าง แล้วอะไรคือคำจำกัดความหรือเส้นแบ่งระหว่างความเป็นกระแสหลัก หรืออิสระ”

เจเรมี่ชูเรื่อง
Creativity หรือ ความคิดสร้างสรรค์ เป็นประเด็นสำคัญของการทำนิตยสารยุคนี้
เขาพูดให้คิดว่าทำไมเราไม่หยิบยกเรื่องคุณภาพเป็นบริบทหลักของการพัฒนาและกำหนดแนวทางของนิตยสาร
เจเรมี่เชื่อว่าความคิดสร้างสรรค์ที่แท้จริงคือสิ่งที่คนอ่านรอคอย
การอยู่หรือไปของนิตยสารทั้งสองประเภทไม่ได้ถูกกำหนดว่าถ้าเป็นกระแสหลักเขาต้องรอวันล่มสลาย
หรือถ้าเป็นทางเลือกแล้วก็ใช่ว่าคุณจะอยู่รอด คุณภาพของนิตยสาร
และความคิดสร้างสรรค์ในการผสมผสานเครื่องมือต่างๆ เข้าหากันต่างหากคือคำตอบที่แท้จริงว่านิตยสารจะอยู่หรือไป

ความเห็นของเจเรมี่สอดรับกับบรรณาธิการของนิตยสาร
MacGuffin และ Empire ซึ่งขึ้นพูดในงานนี้เช่นเดียวกัน

Kristen Algera แห่ง MacGuffin
บอกว่าในวงการนิตยสารมีคำกล่าวว่า เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณทำนิตยสารได้ถึงเล่มที่สาม
เมื่อนั้นค่อยมาบอกว่า คุณตั้งใจจะทำนิตยสารจริงๆ สิ่งที่ทีมงาน MacGuffin คิดอยู่เสมอในการวางแผนแต่ละเล่ม คือการตั้งคำถามกันในทีมว่า
“เราสร้างสรรค์ได้ดีพอหรือยัง”

Terri White แห่งนิตยสารภาพยนตร์ Empire
ได้บอกว่า “ความคิดสร้างสรรค์ คือสิ่งที่ Empire ใช้เป็นโจทย์กับทุกๆ เรื่อง ทุกฉบับเราจะมองหาสิ่งใหม่ คุณภาพ
หรือทางเลือกที่สามารถหยิบขึ้นมาพัฒนาได้” เทอรรี่บอกต่อว่า ปัจจุบันนี้คือยุคทองของอุตสาหกรรมภาพยนตร์
ไม่เคยมียุคไหนที่อุตสาหกรรมนี้มีทางเลือกขยายตัวผ่านช่องทางมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์
Netflix, iflix และอื่นๆ อีกมากมาย

เคยมีคนถามเทอรี่ว่า
นิตยสารภาพยนตร์จะยังมีบทบาทได้หรือ เพราะสื่อต่างๆ ที่พูดถึงภาพยนตร์ดูจะน่าสนใจกว่ามาก
เธอตอบว่าเราต้องไม่หยุดแค่ความเป็นนิตยสาร แต่ Print Platform คือหัวใจของอุตสาหกรรมภาพยนตร์
เพราะนิตยสารเล่มคือรูปแบบที่คนจับต้องได้ และนิตยสารจะเป็นสื่อที่เข้าถึงคนได้ง่ายที่สุดเมื่อเราทำตัวเองให้อยู่ในทุกๆ ที่
กลมกลืนไปกับสิ่งรอบตัวของคนอ่าน

ไฮไลต์สำคัญของการขึ้นพูดของเทอร์รี่
คือการเล่าเรื่องการทำนิตยสาร Empire ฉบับพิเศษหน้าปก Fantastic Beasts
and Where to Find Them
ด้วยหนังเรื่องนี้อยู่ในโลกของ Harry
Porter
ทีมงานจึงออกแบบหน้าปก Empire ให้เหมือนกับ
The Daily Prophet (หนังสือพิมพ์ในเรื่องแฮรี่
ภาพบนหน้าปกเคลื่อนไหวได้) คนอ่านสามารถกด ‘ปุ่ม’ บนปกเพื่อดูตัวอย่างหนังซึ่งฉายบนจอที่แปะบนปกได้
(ตัวเครื่องใช้ถ่านซึ่งสามารถชาร์จผ่านสาย USB ที่ซ่อนอยู่ในหนังสือ)
นิตยสารพิมพ์จำนวนจำกัดวางขายเฉพาะซูเปอร์มาร์เก็ต Sainsbury ซึ่งร่วมกับ Empire เฉพาะเล่มนี้ หนังสือขายหมดตั้งแต่ 2 วันแรก
ยอดผู้สมัครสมาชิกของ Empire สูงกว่า 60,000 คน

เทอรรี่ทิ้งท้ายว่า เราต้องมั่นใจว่าสิ่งที่ทำคือ
“ความคิดสร้างสรรค์ที่ได้คิดออกมาอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะถ้าคุณแค่ทำเพราะเคยทำ
หรือทำแบบที่เคยทำมา ก็เลิกทำมันเสียเถอะ เพราะไม่มีทางที่คุณจะมีอนาคตต่อไปได้” แม้จะฟังดูอหังการ
แต่คำของเทอรี่ก็เป็นเรื่องจริง

อีกหนึ่งวิทยากรที่น่าสนใจ
คือทีมงานจากนิตยสาร Ladybeard ซึ่งเพิ่งทำนิตยสารเป็นปีที่ 2 พวกเธอได้รับรางวัลนิตยสารยอดเยี่ยมจากเว็บไซต์
The Stack เนื้อหาเล่มแรกพวกเธอพูดถึง sex ซึ่งนำเสนอว่าเรื่องเพศเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวใกล้ใจของเราที่สุด แม้หัวข้อจะดูธรรมดา แต่กระทั่งในสังคมตะวันตกที่ใครๆ
คิดว่าเรื่องเพศเป็นเรื่องธรรมดา ความจริงในสังคมก็มีมุมอับเกี่ยวกับเรื่องเพศสำหรับสุภาพสตรีเยอะมาก
เช่น เมื่อเราพูดถึงร้านแนว sex shop มักจะเป็นร้านที่มีภาพลักษณ์เหมาะสำหรับสุภาพบุรุษมากกว่าสตรี
ผู้ชายมักเป็นตัวแทนเรื่องเพศมากกว่าผู้หญิง ปกแรกของ Ladybeard จึงเอาอวัยวะเพศชายปลอมมาขึ้นปก เนื้อหาชูประเด็นเรื่องของความเท่าเทียมกันของเพศ
และความเป็นจริงต่างๆ ที่ถูกมองข้าม ส่วนเล่มต่อมาเนื้อหาพูดถึงสมอง
พวกเธอบอกว่าเพราะสมองคือจุดสั่งการและจุดเริ่มต้นของทุกเรื่องในชีวิต ทีมงานต้องการให้เนื้อหาเล่มสองต่อเนื่องจากเล่มแรกว่าเพศกับสมองเกี่ยวข้องและมีอิทธิพลต่อกันอย่างไร

ช่วงท้ายของงานดีไซเนอร์ชื่อ
Gail Bichler แห่ง New York Times
Magazine
ขึ้นมาตอกย้ำถึงความสำคัญของความคิดสร้างสรรค์อีกครั้ง
เธอบอกว่ามันคือหัวใจ และคุณไม่สามารถอยู่ได้ถ้าปราศจากความคิดสร้างสรรค์ สิ่งที่ทำให้
New York Times Magazine อยู่ได้เพราะทีมไม่เคยหยุดที่จะแปรความต้องการของคนทำไปสู่ความคิดสร้างสรรค์ที่ไร้พรมแดน
บทความในเล่มจึงผ่านการตรวจอย่างละเอียด ภาพถ่ายได้รับการใส่ใจในรายละเอียด
เนื้อหาที่สร้างสรรค์ขึ้นมาก็อยู่ในรูปแบบที่พวกเขามองหา

แนวคิดของบรรณาธิการแต่ละคนนั้นชัดเจน
แต่ทุกคนต่างมี Common Ground หรือความสนใจร่วมในทิศทางเดียวกันคือ อย่าหยุดคิด อย่าหยุดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ
และจงเปิดใจที่จะใช้ชีวิตร่วมกับ Platform อื่นๆ
เพราะในที่สุดทุกสื่อยังต้องการกันและกัน
ไม่มีใครตายไปตราบใดที่ลมหายใจแห่งความคิดสร้างสรรค์ยังไม่หยุด

ภาพ magculture.com, empireonline.com, paulgomanis.com, levineleavitt.com

AUTHOR