ความโอหังของวิทยาศาสตร์ใน GHOST LAB – Netflix Original เรื่องแรกของ GDH

ในบรรดาหนังทั้ง 5 เรื่องจากโปรเจกต์ GDH Xtraordinary 2021 LINEUP จากค่าย GDH ‘GHOST LAB ฉีกกฎทดลองผี’ (2021) คือหนังที่ปักหมุดหมายใหม่ได้อย่างน่าจับตา โดยเฉพาะในแง่ที่ว่ามันคือหนังเรื่องแรกในเครือ GDH ที่อยู่ภายใต้การผลิตของเน็ตฟลิกซ์ แถมยังเป็นผลงานกำกับหนังยาวลำดับที่ 2 ถัดจาก บอดี้..ศพ#19 (2007) ของ กอล์ฟ–ปวีณ ภูริจิตปัญญา ที่เอาเข้าจริงๆ ช่วงเว้นระยะห่างไปนานนับสิบปีนี้เขาก็ไม่ได้หายไปไหน แต่ร่วมกำกับหนังเป็นตอนสั้นๆ ใน สี่แพร่ง (2008), ห้าแพร่ง (2009) และ รัก 7 ปี ดี 7 หน (2012)

ความแพรวพราวและลูกล่อลูกชนที่เคยปรากฏในสมัยที่เขาทำ บอดี้..ศพ#19 หรือกระทั่งความเฮี้ยนหลอนหลอกในหนังสั้นจากตระกูล ‘แพร่ง’ ทำให้เราตั้งความหวังไว้กับ GHOST LAB มากพอสมควร บวกกับทีมเขียนบทอย่างวสุธร ปิยารมณ์ (ฉลาดเกมส์โกง) และทศพร เหรียญทอง (เลือดข้นคนจาง) ก็ยิ่งทำให้เราตั้งตารอเข้าไปใหญ่

ภาพยนตร์เรื่องนี้บอกเล่าเรื่องราวของการปะทะกันระหว่างวิทยาศาสตร์และโลกหลังความตายผ่าน ‘กล้า’ (ไอซ์–พาริส อินทรโกมาลย์สุต) นายแพทย์หนุ่มที่เคยเจอวิญญาณของพ่อที่ตายจากไปสมัยยังเด็กและฝังใจจนกลายเป็นคนหมกมุ่นทำวิจัยเพื่อหาคำตอบเรื่องโลกหลังความตาย ในค่ำคืนหนึ่งของการอยู่เวรอันยาวนาน เขากับ ‘วี’ (ต่อ–ธนภพ ลีรัตนขจร) เพื่อนหมอที่อยู่เวรร่วมกันก็ได้ร่วมเป็นประจักษ์พยานการเห็น ‘ผี’ ในโรงพยาบาล นำมาสู่การร่วมมือกันทำวิจัยเพื่อขุดคุ้ยไปยังปรโลก โดยไม่อาจรู้เลยว่านั่นหมายถึงการย่างกรายเข้าไปสู่โลกอันลี้ลับและความเดือดดาลทั้งในนามของคนเป็นและคนตายในท้ายที่สุด

อันที่จริง หนังที่พูดถึงการใช้วิทยาศาสตร์เพื่อคลี่คลายหาคำตอบให้โลกลี้ลับทั้งไสยศาสตร์หรือความตายนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ เราเคยมี Flatliners (1990) ที่พูดเรื่องนักศึกษา 5 คนทำการทดลองเพี้ยนประหลาดเพื่อให้ตัวเองหลุดไปยังโลกแห่งความตาย หรือแม้แต่ 15 ค่ำ เดือน 11 (2002) ที่ชวนหาคำตอบระหว่างความเชื่อและวิทยาศาสตร์ได้อย่างแยบยลและมีหัวใจ กระนั้นการจะเล่าเรื่องของวิธีคิดที่ว่าด้วยการหาหลักฐานมารองรับความเชื่อและสิ่งที่ไม่อาจพิสูจน์ได้ ก็ยังนับเป็นโจทย์ที่ท้าทายและน่าตื่นเต้นในอุตสาหกรรมภาพยนตร์เสมอ 

หากแต่เป็นจุดนี้เองที่ GHOST LAB กลับต้องเผชิญหน้ากับสภาวะ ‘กลับไม่ได้ ไปไม่ถึง’ อย่างน่าเสียดาย

ตัวละครที่แบนราบ

หนังออกตัวมาดีมากๆ จากการสร้างเส้นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างหมอหนุ่มทั้งสองคน ซึ่งล้วนมีประสบการณ์ร่วมกันอย่างที่ไม่อาจมีใครในโลกนี้ได้สัมผัส ในคืนสงัดเงียบคืนหนึ่งของโรงพยาบาล ท่ามกลางข่าวลือจากพยาบาลสาวสวยที่ว่ามีคนไข้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ไฟไหม้ทั่วทั้งตัว นายแพทย์ทั้งสองออกมาต่อสู้กับความง่วงด้วยกาแฟและขนมถุงใหญ่ เพื่อจะหันไปพบว่าในห้องโถงแห่งนั้นไม่ได้มีแค่พวกเขา หากแต่มีร่างกะรุ่งกะริ่งและไหม้เกรียมของ ‘สิ่งหนึ่ง’ ยืนประจัญหน้าอยู่ 

หนังขับเน้นบรรยากาศแห่งความหลอนหลอกด้วยการเคลื่อนไหวและสภาพชวนสยองของวิญญาณ จนชวนให้เชื่อว่านับจากนี้ แม้กระทั่งหลับตาลงในอีกหลายต่อหลายคืนให้หลัง ทั้งกล้าและวีจะยังคงไม่อาจลืมภาพติดตาของร่างที่พวกเขา ‘มองเห็นร่วมกัน’ ได้ลง ซึ่งในอีกด้านหนึ่งมันก็ผูกโยงพวกเขาให้แนบแน่นเข้าหากันด้วยประสบการณ์ที่ไม่อาจมีใครร่วมรับรู้ด้วยได้อีก เมื่อพวกเขาพบว่าโทรศัพท์ของวีถ่ายภาพวิญญาณไม่ติด มากไปกว่านั้นคือกล้องวงจรปิดของโรงพยาบาลเองก็บันทึกได้แค่ภาพพวกเขาขวัญผวาต่อหน้าอากาศอันว่างเปล่าของยามค่ำคืนเท่านั้น

ดังนั้น สิ่งที่หนังปักธงไว้ตั้งแต่ครึ่งชั่วโมงแรกจึงไม่ใช่การตั้งคำถามว่าผีมีจริงหรือไม่ เพราะมันพิสูจน์ด้วยสายตาตัวละครแล้วว่า ‘ผีมีจริง’ แต่จะทำยังไงให้ผีมาปรากฏตัวต่อหน้าตัวละครอื่นๆ ให้ได้ต่างหาก เพื่อที่จะหาคำตอบ กล้าจึงชวนวีเข้าร่วมงานวิจัยลับๆ ของเขา

ในระหว่างนั้น วีต้องกัดฟันให้แม่ตัวเอง (สู่ขวัญ บูลกุล) ที่ป่วยติดเตียงมานาน 7 ปีได้จากไปอย่างสงบ ท่ามกลางสายตาเป็นห่วงเป็นใยของกล้าและ ‘ใหม่’ (ณิชา–ณัฏฐณิชา ดังวัธนาวณิชย์) แฟนสาวของกล้าที่วนเวียนมาหาคนรักที่โรงพยาบาลอยู่เสมอ การจากไปของแม่กับภาพวิญญาณที่เขาเห็นแม่กระซิบคำบางคำด้วยแววตาแตกสลายนั้นกลายเป็นแรงขับสำคัญให้วีถลำลึกไปในงานวิจัยของกล้าด้วยหวังจะสื่อสารกับแม่ผ่านโลกหลังความตาย นำมาสู่การทุ่มทั้งชีวิตเพื่อที่จะ ‘ออกเดินทาง’ ไปยังโลกอีกใบ ท่ามกลางสายตาขุ่นเคืองของกล้าซึ่งเป็นคนเริ่มงานวิจัย และความหมกมุ่นส่วนตัวนั้นก็ผลักให้กล้ารู้สึกว่าจำต้อง ‘หาคำตอบ’ ด้วยตัวเองมากกว่าจะเป็นวี

หากเสน่ห์ที่เรารู้สึกว่าหนังสร้างมาตั้งแต่แรกคือประสบการณ์สยองขวัญและการโดดเดี่ยวในโลกของวิทยาศาสตร์อย่างการเห็นผีในโรงพยาบาล เราก็พบว่าหนังหั่นมันทิ้งลงอย่างไร้เยื่อใยเมื่อจำเป็นต้องผลักให้ตัวละครใดตัวละครหนึ่งเป็นฝ่ายข้ามฝั่งไปยังอีกโลกหนึ่งเพื่อหาคำตอบให้การทดลอง ซ้ำร้าย มันยังส่งผลให้ตัวละครแบนราบอย่างน่าใจหาย (จนเกือบจะเรียกได้ว่าพิศวง) และทำให้ตัวละครมีหน้าที่เป็นฟันเฟืองหนึ่งในการทำให้เส้นเรื่องดำเนินต่อไปได้จนครบ 2 ชั่วโมงเท่านั้น

น่าเศร้าที่สภาวะการให้ตัวละครมีฟังก์ชั่นเพื่อผลักดันพล็อตนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับตัวละครหลักอย่างกล้าและวีเท่านั้น แต่เกิดขึ้นกับตัวละครสมทบทุกตัว โดยเฉพาะกับครอบครัวของกล้าที่มีแม่และน้องสาวผู้ห่วงหาและเข้าอกเข้าใจพี่ชาย ตลอดจนใหม่ แฟนสาวที่รู้สึกราวกับถูกคนรักทิ้งไว้ข้างหลัง ตัวละครเหล่านี้–ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นผู้หญิง กลับไม่มีบทบาทอะไรมากไปกว่าถูกหนังใช้มาเล่าเพื่อเป็นแรงส่งให้เส้นเรื่องดำเนินต่อไปได้

ความโอหังของวิทยาศาสตร์

อีกอย่างหนึ่งที่ครุ่นคิดขึ้นมาหลังจากดูหนังจบ คือสภาวะแล้งไร้บางอย่างของหนัง ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม GHOST LAB ได้ขับเน้นให้เห็นภาพความไร้หัวใจและความยโสบางอย่างของวิทยาศาสตร์ จากการที่ตัวละครตะบี้ตะบันเอาชีวิตโยนเข้าไปในการทดลองเพื่อเค้นเอาคำตอบจากสิ่งที่อาจจะหาคำตอบด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ไม่ได้ แต่เพราะตัวละครอย่างวี (หรืออาจจะแม้แต่กล้าเอง) เป็นคนที่อยู่ในสายวิทย์และเชื่อมั่นในกฎการทดลองพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์อย่างมาก กับความมุ่งมั่นอยากตีพิมพ์งานวิจัยซึ่งต้องวางอยู่บนการพิสูจน์ตามกระบวนการตั้งสมมติฐานและทดลองจนได้ข้อมูลต่างๆ ส่วนเสี้ยวหนึ่งมันจึงมีน้ำเสียงความโอหังของวิทยาศาสตร์ที่เชื่อว่าสิ่งที่เกิดขึ้นจริงนั้นจำเป็นต้องได้รับการพิสูจน์ตามกระบวนการทดลองเท่านั้น พ้นไปจากนี้คือสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง

ผู้เขียนนึกถึงบทความ มายาคติว่าด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสุขภาพ ของ ดร. นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ที่ตีพิมพ์ลงในหนังสือ ถอดรื้อมายาคติ มีช่วงหนึ่งที่อธิบายที่มาของความโอหังบางประการของวิทยาศาสตร์ภายหลังการปฏิวัติวิทยาศาสตร์ในยุโรป ที่ความเชื่อเก่าๆ ถูกการตั้งสมมติฐานและการหาเหตุผลทำลายลงอย่างราบคาบ แม้แต่พระเจ้าเองยังถูกตั้งข้อสงสัยในการมีอยู่ จนในที่สุดมันได้ตั้งหลักปักฐานตัวเองอยู่ในเนื้อตัวมนุษย์เทียบเท่ากับที่ศาสนาและความเชื่อโบราณเคยทำไว้ สิ่งใดที่ไม่เป็นวิทยาศาสตร์หรือยังพิสูจน์หาคำตอบไม่ได้จะถูกประทับตราว่างมงาย กระบวนการทางวิทยาศาสตร์นั้นเที่ยงตรงและดีที่สุดเสมอ สิ่งที่ไม่อาจใช้มาตรวัดได้ เช่น ความรู้สึกของมนุษย์ หลายครั้งหลายหนจึงถูกวิทยาศาสตร์ปัดตกและสร้างความ ‘ไร้หัวใจ’ ขึ้นมาแทน

ไม่ว่าจะโดยเจตนาหรือไม่ GHOST LAB ได้ขับเน้นความแล้งไร้เยือกเย็นของวิทยาศาสตร์ท่ามกลางความเดือดดาลคลุ้มคลั่งของตัวละคร โดยเฉพาะกับฉากท้ายๆ ที่ตัวละครมุ่งมั่นจะทำการทดลองตามระเบียบของวิทยาศาสตร์โดยล้ำเส้นความเป็นมนุษย์ไปโดยสิ้นเชิง หญิงสาวหรือบุคคลอื่นๆ ในเรื่องเป็นเพียงฟันเฟืองหนึ่งในการจะพิสูจน์ว่าตัวเราถูกต้องที่สุด (ซึ่งส่วนตัวคิดว่าน่าเสียดายมากๆ เพราะแทนที่หนังจะหันมาจับประเด็นการล้ำเส้นในเชิงศีลธรรมของวิทยาศาสตร์อันเข้มข้นและท้าทายกว่านี้ หากแต่สุดท้ายมันก็เป็นอีกประเด็นที่หลุดลอยอ้างว้างอยู่ในหนัง)

บทของคนรักสาวที่หายตัวไปในครึ่งเรื่องแรกและกลับมามีบทบาทอย่างมากในครึ่งเรื่องหลังชวนตั้งคำถามว่า บทบาทของเธอในเรื่องนี้คืออะไร ใช่หรือไม่ว่าเป็นเพียงหมากตัวหนึ่งที่ให้ตัวละครชายได้ใช้ห้ำหั่นกันและกัน (กับคำถามที่ชวนสงสัยมากว่า การที่เราไม่รู้พาสเวิร์ดคอมพิวเตอร์ของคนรักนั้นก็ไม่ได้แปลว่าเราเป็นคนรักที่ ‘ไม่ได้เรื่อง’ หรือเปล่า หากจะใช้ธงเรื่องพื้นที่ส่วนตัวขีดเส้นไว้) ซึ่งไม่เพียงแต่เธอเท่านั้น แม้แต่ตัวละครอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นพยาบาลหญิงผู้ส่งสายตาให้หมอหนุ่มเมื่อต้นเรื่อง คนในครอบครัวที่หัวใจสลายกับการจากไป ล้วนแล้วแต่ทำหน้าที่เป็นเพียงฉากหลังอันพร่าเลือนให้กล้าและวีได้ปะทะกันระหว่างโลกคนเป็นและโลกคนตายเพื่อรับใช้การทดลองทางวิทยาศาสตร์เท่านั้น ซึ่งในท้ายที่สุดแล้ว ความหมกมุ่นอันบ้าคลั่งของพวกเขาก็จืดจางหายไปเสียดื้อๆ ตลอดจนการเห็นแง่งามของชีวิตในนาทีที่สายเกินไปแล้ว

ส่วนตัวจึงพบว่า ประโยคแรกและประโยคเดียวของตัวละครแม่วีที่พูดขึ้นในเรื่องว่า “พวกหนูทำอะไรกันอยู่ลูก” ก็ได้กลายเป็นบทสรุปที่ชัดเจนที่สุดหลังผ่านพ้นไป 2 ชั่วโมงของตัวหนังนั่นเอง

AUTHOR