“ถ้าจะทำให้เกมเป็นอาชีพ คุณต้องบาลานซ์โลกของเกมและความเป็นจริง” ยีน GamingDose

Highlights

  • GamingDose คือสื่อเกมที่เล่าเรื่องและเลือกเรื่องเล่าอย่างมีเอกลักษณ์ และ ยีน–เศรษฐศิลป พูนบำเพ็ญ คือหนึ่งในผู้ก่อตั้งสื่อนี้
  • ปัจจัยหลักที่ทำให้ GamingDose ได้รับความนิยมแบบทุกวันนี้คือการหาบาลานซ์ระหว่างโลกแห่งความเป็นจริงและโลกของเกมโดยเลือกเล่าในน้ำเสียงของตัวเอง
  • ยีนมีความเห็นต่อวงการเกมไทยตอนนี้ว่ากำลังไปในทิศทางที่ดีแต่ยังสะเปะสะปะอยู่บ้าง แต่อนาคตก็น่าจะดีกว่านี้เพราะเม็ดเงินที่เข้ามาจะพามาตรฐานเข้ามาด้วย

คำแนะนำสำหรับการเล่นเกมในช่วงปิดเทอม

ทีมโปรฯ Overwatch ร่วมไว้อาลัย หลังเหตุการณ์สังหารหมู่ในประเทศบราซิล

Snoop Dogg จัดงานอีสปอร์ตของตัวเอง พร้อมอนุญาตให้ใช้กัญชาได้อย่างเสรี

ส่องนโยบายเอาใจเหล่าเกมเมอร์ของพรรคอนาคตใหม่

ทั้ง 4 ประโยคนี้คือชื่อบทความของเว็บไซต์ GamingDose และชายที่นั่งอยู่ตรงหน้าเราคือ ยีน–เศรษฐศิลป พูนบำเพ็ญ หนึ่งในผู้ก่อตั้งและผู้ดูแลสื่อเกมนี้

สำหรับคอเกมไทย GamingDose คือสื่อเกมที่ได้รับความนิยมในลำดับต้นๆ หลายเสียงยกย่องพวกเขาในแง่ของเนื้อหาที่บอกเล่าเรื่องเกมด้วยหัวข้อและวิธีการใหม่ๆ ที่ไม่จำกัดอยู่แค่ข้อมูลภายในตัวเกมอย่างเดียว (เช่นตัวอย่างที่เรายกมาข้างต้น) น้ำเสียงกวนๆ แต่แฝงความจริงจังคือลายเซ็นที่เกมเมอร์ต่างรู้กันว่าคอนเทนต์แบบนี้แหละที่จะแปะป้าย GamingDose ไว้ รวมถึงการบอกเล่าเรื่องเกมในหลายแพลตฟอร์มที่พวกเขาสามารถสร้างจุดเด่นจนมีคนติดตามได้ในทุกช่องทาง เหล่านี้เองคือหลักฐานของความสำเร็จและเหตุผลที่พาเรามาสนทนากับยีนในวันนี้

อะไรคือเคล็ดลับ และความในใจที่คนทำสื่อเกมยุคนี้อยากจะบอก–นั่นคือสิ่งที่เราสงสัย

บ่ายวันหนึ่งเราพบกับยีนที่ออฟฟิศของ GamingDose ย่านอารีย์ ที่นี่เป็นเพียงออฟฟิศเล็กๆ แต่ในความเล็กนั้นบรรจุอุปกรณ์ครบครันสำหรับคนทำสื่อเกมและพนักงานกว่าสิบชีวิตที่ใช้ชีวิตและขับเคลื่อนเนื้อหาในโลกของเกมสู่สายตาคนอ่าน

“เพิ่งมีออฟฟิศเมื่อปลายปีที่แล้วนี่เอง” ยีนแนะนำเราอย่างคร่าวๆ ความจริงข้อนี้ทำเราตกใจเล็กน้อยเพราะถ้าวัดอายุของ GamingDose ปีนี้พวกเขาก้าวเข้าสู่ปีที่ 6 แล้ว แต่ก่อนที่เราจะสงสัยอะไรมากกว่านี้ ยีนก็ชวนเราเข้าไปในห้องประชุมที่ทำหน้าที่เป็นห้องสำหรับเล่นเกม Console ด้วย จากนั้นคำถามทั้งหมดจึงค่อยๆ ถูกเฉลยเมื่อยีนและเราเริ่มสนทนากัน

เราจะพาคุณย้อนกลับไปที่เลเวลแรก เฝ้ามองยีนและ GamingDose ตั้งแต่ขั้น Tutorial และดูว่าเส้นทางก่อนจะกลายเป็น ‘inw’ สื่อเกมแบบทุกวันนี้ พวกเขาต้องผ่านอะไรมาบ้าง

จุดแรกเริ่มของ GamingDose คืออะไร

ผมกับพี่โน้ต (ณัฐวุฒิ อภิรัตน์วรากุล) เรารู้จักกันเพราะเคยทำคอนเทนต์ให้เว็บไซต์เกมด้วยกัน แต่ก็แยกย้ายกันไป ทีนี้เมื่อ 6 ปีก่อน วงการสื่อเกมส่วนใหญ่เป็นคอนเทนต์แบบข่าว รีวิว ไม่ก็สนุกๆ หรือตลกไปเลย ผมเลยคุยกับพี่โน้ตว่าเราอยากมีอะไรที่จริงจังบ้าง คือนำเสนอแบบสนุกแต่ยังมีความจริงจังอยู่ เป็นสื่อเกมที่ดูเป็นผู้ใหญ่หน่อย ไม่ตลกโปกฮาอย่างเดียว เราคิดว่ามันน่าจะไปรอด จึงร่วมกันทำ GamingDose ขึ้นมา

ทำไมถึงคิดว่าแบบที่เราชอบจะไปรอด

ตอนนั้นอีสปอร์ตเริ่มเข้ามาในไทยแล้ว กระแสเริ่มมาทางนั้น ทุกเว็บไซต์มีแต่ข่าวเกม Dota หรือ Counter-Strike แต่ผมอยากให้มีเว็บที่พูดถึงเกม PC และ Console จริงๆ บ้าง เรารู้แน่ๆ ว่าตอนนั้นมีคนเล่นเกมเหล่านี้แต่ไม่ค่อยมีที่ไหนนำเสนอแบบเต็มๆ บวกกับเราอยากมีเว็บไซต์เป็นของตัวเอง เว็บที่พูดแบบเรา นำเสนอสไตล์เรา ภาพแบบเรา และวิดีโอแบบเรา เราเลยอยากเห็นมันเกิดขึ้น

แบบเราที่ว่าคืออะไร

ผมคุยกับพี่โน้ตตั้งแต่แรกเลยว่าอยากได้เว็บที่เป็นประโยชน์ต่อเกมเมอร์ ถ้ามันสามารถบิดค่านิยมของคนได้ก็ดี ยกตัวอย่างเช่น เราอยากเป็นเว็บที่ด่าคนเล่นเกมก๊อบปี้ แต่ในขณะเดียวกัน เราก็ต้องบอกได้ด้วยว่าทำไมเขาถึงเล่นก๊อป เพราะเราอยากเป็นสื่อเกมที่ให้ทั้งข้อมูล ความรู้ และทัศนคติ มากกว่าความตลก

ผลตอบรับเป็นอย่างไรบ้าง

ช่วงแรกผมคาดหวังเยอะเลยนะว่าภายใน 6 เดือน ลูกค้าต้องซื้อแบนเนอร์ติดเต็มเว็บเราแน่ๆ แต่พอเริ่มทำจริงๆ กลายเป็นว่าคนไม่ได้รู้จักเราเยอะ เว็บไม่ดัง คนอ่านต่อเดือนไม่ถึงหนึ่งแสน มันเป็นการต่อสู้กับเรื่องยอด เราได้ค้นพบว่าการเป็นสื่อเกม เราไม่สามารถจะทำเอาเท่อย่างเดียวได้ มันต้องมีอะไรอีกหลายอย่างเข้าไปหล่อเลี้ยง เราเคยคิดว่าเว็บเราไม่อยากมีคอนเทนต์ประเภท ‘5 ข้อที่ …’ หรือ ‘6 คนประเภท…’ เพราะมันค่อนข้างเดิมๆ แต่กลายเป็นว่าพวกนี้คือสิ่งที่คนอยากอ่าน บทความยาวๆ ลึกๆ คนไม่ค่อยอ่าน

ดูค้านกับความเชื่อของเราในตอนแรกเหมือนกันนะ

ใช่เลย พอเป็นคนทำ เราเริ่มเข้าใจว่าทำไมเว็บถึงต้องตลก จากคนที่เชื่อว่าคนอ่านอยากได้อะไรลึกๆ แต่ไม่ใช่ เกมเมอร์ก็เป็นธรรมดาที่เรียนหรือทำงานมาทั้งวัน เขาอาจมีเวลาอ่านเว็บเราแค่ชั่วโมงเดียว ดังนั้นโอกาสน้อยมากที่เขาจะอยากอ่านอะไรยากๆ มันค้านกับสิ่งที่เราคิดไว้ แต่สุดท้ายมันคือการบาลานซ์ระหว่างสิ่งที่เราเชื่อกับความเป็นจริงมากกว่า

บาลานซ์อย่างไร

คอนเทนต์ที่เราเชื่อก็ยังคงมี แต่เราต้องมีข่าวเกมที่ได้รับความนิยมไปหล่อเลี้ยงบ้าง ต้องมีความตลกบ้าง แต่เราก็ทำให้มันเป็นตลกแบบที่เราโอเค อย่างเช่นการแซะ สมัยนี้อาจเป็นเรื่องปกติ แต่สมัยก่อน GamingDose แซะหลายเรื่อง ยกตัวอย่างเดิมว่าถ้าเราเห็นคนเล่นเกมแท้กับเกมก๊อปเถียงกัน คนอื่นอาจจะพูดถึงแค่ขาวกับดำ ขาวคือเกมแท้ ดำคือเกมก๊อป แต่เราจะแซะเลยว่าการที่คุณเล่นเกมแท้ก็ไม่ได้ทำให้คุณวิเศษวิโสกว่าใครนะ คุณแค่ทำสิ่งที่ถูก มันไม่ได้แปลว่าคุณสามารถมานั่งสั่งสอนชาวบ้านตลอดเวลาได้ เราก็จะกล้าโพล่งไปแบบนี้ไปเลย ซึ่งส่วนมากมันก็มาจากคำถามในใจของเราต่อสังคม เพียงแค่เราแซะมันผ่านโลกเกมเฉยๆ

ยิ่งพอถึงจุดหนึ่งที่คนไทยแห่กันไปใช้โซเชียล ผมก็คุยกับพี่โน้ตว่าต่อจากนี้เราต้องหาจุดที่แตกต่างแล้ว ต่อจากนี้คงไม่ใช่การทำคอนเทนต์ขึ้นเว็บอย่างเดียว ผมลองไปดูเว็บไซต์ต่างประเทศของสื่อที่เป็นเอนเตอร์เทนเมนต์หลายหัว เพื่อดึงรูปแบบการนำเสนอคอนเทนต์มาใช้ ทุกอย่างที่ทำได้เราก็ทำ พี่โน้ตจะดูแลในส่วนเนื้อหา ส่วนผมดูแลในแง่การปรับแต่งเว็บและ SEO ประกอบกับช่องยูทูบที่ได้เน็กซ์ (XTER VENDETTA) มาช่วยแล้วมันดีระดับหนึ่ง มันเลยพยุงให้เว็บรันไปได้ จนปลายปีที่แล้วมีนายทุนเข้ามาติดต่อ เพราะเขาอยากลงทุนเกี่ยวกับสื่อเกมในภูมิภาคนี้ และอยากให้เราป็นหนึ่งในนั้น เราเลยได้เงินทุนมา และเพิ่งย้ายออฟฟิศมาอยู่ตรงนี้เมื่อปลายปีที่แล้วนี่เอง

การที่เราเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เราอยากทำ มันทำให้สิ่งที่เราเชื่อเปลี่ยนไปไหม

เอาจริงๆ กลายเป็นว่าเราค้นพบว่ามันมีคนที่อยากอ่านอะไรแบบที่เราเชื่ออยู่นะ เราทำมา 6 ปีแล้ว จากคนอ่านอายุ 15 ก็กลายเป็น 21 แล้ว เขาก็เริ่มอยากอ่านอะไรมากกว่าท่าฟัน Dante (จากเกม Devil May Cry) มีท่าอะไรบ้าง เขาเริ่มอยากอ่านสิ่งที่อยู่เหนือจากที่ตัวเองชอบแต่สามารถคิดตามได้ คนอ่านเราโตขึ้นและเราก็ยังคงมีคอนเทนต์เหล่านี้รองรับพวกเขาอยู่ แล้ววันหนึ่งก็กลายเป็นจุดขาย

ปัญหาหลักๆ ของคนทำสื่อเกมคืออะไร

เยอะนะ อย่างที่บอกไปว่าเราตั้งใจที่จะทำเว็บให้มีคอนเทนต์ของเกม PC และ Console แต่เราก็อยากได้ยอดคนอ่าน เราก็จำเป็นต้องไปจับเกมในกระแสอย่าง PUBG หรือเกม MOBA แต่ก็ต้องหาวิธียัดลงไปให้อยู่ได้ สิ่งที่ผมทำคือแตกเพจออกไปและหาเลย์เอาต์มารองรับสิ่งนี้ มันก็นำมาสู่ปัญหาต่อไปคือปริมาณงาน ทุกวันนี้นักเขียนทุกคนต้องเขียนข่าวช่วงเช้า ช่วงบ่ายต้องคิด และทำคอนเทนต์เอง ยิ่งเป็นคอนเทนต์รีวิวเกม เราไม่สามารถนั่งเล่นเกม 20 ชั่วโมงแล้วมารีวิวได้หรอก เราต้องหาตั้งไทม์ไลน์เพื่อให้เสร็จทันและแข่งกับคนอื่นได้ เหมือนเราพยายามหาบาลานซ์ระหว่างโลกของเกมและความเป็นจริง น้องในออฟฟิศทุกวันนี้ยังบอกผมอยู่เลยว่าเริ่มเล่นเกมไม่สนุกแล้ว ถึงเวลากลับบ้านก็อยากนอน เราต้องปรับตัวกัน เล่นเกมเป็นงานกับเล่นเกมเล่นๆ ไม่เหมือนกัน

มีบ้างไหมที่เราบาลานซ์บางอย่างไม่ได้

มีนะ สมมติการรีวิวเกมต่อสู้ ในเกมต่อสู้มีสิ่งที่ต้องดูเป็น 10 อย่าง เราไม่สามารถครอบคลุมได้ทุกอย่างอยู่แล้ว สุดท้ายพอรีวิวออกไปก็จะโดนโจมตีว่า เฮ้ย พวกมึงแม่งไม่รู้จักเกมดีพอ ส่วนมากจะโดนแฟนบอยของเกมนั้นๆ มาตบ ซึ่งเราฟังและปรับนะ เราพยายามกำหนดมาตรฐานของการรีวิว ทั้งในเรื่องของความเร็ว คุณภาพ และปริมาณ เราพยายามหาบาลานซ์ให้ทุกจุด

เจอ ‘เกรียน’ เยอะไหม

เยอะ แต่เว็บผมโชคดีตรงที่เหมือนเรามี Guardian of the Galaxy จากไหนไม่รู้คอยมาปกป้อง เวลามีคอมเมนต์แปลกๆ โผล่ขึ้นมาก็จะมีคนเหล่านี้มาช่วย ซึ่งผมว่ามันเป็นเรื่องของคนที่เหมือนกันและดึงดูดกันเข้ามานะ เขาจะตอบเหมือนที่เราอยากตอบเลย ดังนั้นเราเลยไม่ค่อยปวดหัวเท่าไหร่กับเรื่องนี้

การเป็นสื่อเกมจำเป็นต้องเป็นกลางไหม

ในความคิดผม สื่อต้องรายงานข่าวเป็นกลาง คือต้องถูกต้อง แต่พอเรามีเว็บ มีพื้นที่ของเรา เราสามารถใส่ความเห็นเราลงไปได้แต่ต้องเขียนว่านี่คือความเห็นของเรา เหมือนเราต้องเป็นกลางระดับหนึ่งแต่ก็ไม่ใช่แค่ทางผ่านของคอนเทนต์ เราเติมตัวเราเข้าไปได้ อย่างน้อยเพื่อให้คนจำได้ว่าเราเป็นคนแบบไหน อย่าง GamingDose อาจจะเป็นคนที่มีความเกรียน ชอบแซะ แต่เราก็มีจุดยืนเป็นของตัวเอง สิ่งที่เรานำเสนอไป ถ้าผิดเราขอโทษ แต่จะไม่คืนคำแน่นอน

คิดเห็นอย่างไรกับสถานการณ์สื่อเกมไทยตอนนี้บ้าง

มันดีขึ้นนะ แต่โดยส่วนตัวผมคิดว่าสิ่งที่เราขาดคือการร่วมมือกันขับเคลื่อนประเด็นใดประเด็นหนึ่งพร้อมกัน เหมือนเราต่างคนต่างไป อย่างข่าวเกมเมอร์ไทยโดนโกงเงินจากการแข่ง เราก็ไม่สามารถร่วมใจผลักดันเรื่องนี้ไปพร้อมกันได้ มันติดเรื่องค่าความเกรงใจ วนกลับมาเรื่องเงินๆ ทองๆ เพราะถึงวงการเกมจะโต แต่ถ้าว่ากันตามตรงรายได้จากการเป็นสื่อเกมมันไม่ได้เยอะ เรายังไม่ได้อยู่ในจุดที่สามารถพูดได้เต็มปากว่าอาชีพนี้สามารถอยู่ได้ด้วยตัวเอง ไม่ใช่ว่าทุกคนจะรอด

แล้วถ้ามองภาพรวมใหญ่กว่านั้น คิดเห็นอย่างไรกับวงการเกมไทยตอนนี้บ้าง

เมื่อ 7 ปีที่แล้วผมไปงานเกมที่จีน จำได้ว่าตั้งแต่สนามบินไปจนถึงที่จัดงานเขาติดป้ายตลอดทางเลย รัฐบาลจีนก็ให้เงิน เวลานักแข่งมาที่สนาม ทหารกับตำรวจก็ต้องมาคุ้มกัน มีแฟนวิ่งตามรถตลอดทาง หันมามองประเทศไทยตอนนี้เราก็กำลังมีแบบนี้แล้วนะ สตรีมเมอร์บางคนแค่ประกาศว่าเขาจะไปงาน งานนั้นก็จะมีเด็กไปรอเป็นพัน พ่อแม่จูงเด็กไปงานเกม เห็นแล้วก็ชื่นใจที่ GamingDose อยู่มาจนได้เห็นสิ่งเหล่านี้ แต่มีหลายความรู้สึกนะ เรื่องที่รู้สึกแย่ก็มี วงการเกมไทยโตเร็วเกินไปหน่อย สะเปะสะปะแบบไม่กำหนดทิศทาง อีสปอร์ตโตขึ้นเป็นสิ่งดี แต่ผมก็เห็นเด็กที่วันๆ เอาแต่เล่นเกม คือเล่นเกมทั้งคืนไม่ได้ทำให้คุณตื่นมาเป็นนักกีฬาอีสปอร์ตนะ มันก็มีทั้งดีและเสีย

แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าเราคือนักกีฬาอีสปอร์ต ไม่ใช่แค่เด็กที่เล่นไปวันๆ

ผมว่ามันอยู่ที่ความพร้อมแต่ละคน อย่างผมก็เคยแข่งเกม แต่ผมรู้ว่าผมไม่พร้อม ผมต้องเลี้ยงพ่อแม่ และผมไม่เก่งพอจะเป็นแชมป์โลกแน่ๆ ดังนั้นผมไม่เล่นดีกว่า แต่บางคนที่พร้อม ถึงเขาไม่ประสบความสำเร็จแต่ปลายทางเขามีบ้านที่ไม่ต้องเช่า คุณก็เป็นไปเถอะ ยกตัวอย่างเพื่อนผมคนหนึ่งที่เป็นแชมป์เกม Special Force เขามาปรึกษาผมว่าจะไปต่อดีไหม ผมถามกลับไปว่าถ้าพรุ่งนี้เกมแม่งปิด มึงมีอะไรแดกเปล่า เขาบอกไม่มี อะ ได้คำตอบแล้ว มันขึ้นอยู่ที่ความพร้อมครับ

เหมือนสุดท้ายก็กลับมาที่การบาลานซ์ระหว่างเกมกับชีวิตจริง

ใช่เลย อย่างทุกวันนี้ผมทำ GamingDose รายได้มันก็น้อยกว่างานหลักที่ผมทำเป็นสิบเท่า ถ้าต้องเลือกจริงๆ ก็ต้องเลือกงานหลัก แต่ตอนนี้ผมเลือกทั้งสองอย่าง เพราะผมมีแพสชั่นกับ GamingDose จริงๆ  มันเป็นงานที่เราตื่นขึ้นมาแล้วอยากทำ เพราะถ้าจะมีชีวิตแค่รอเย็นวันศุกร์น่ะ ผมอยู่ไม่ได้หรอก หนึ่งวันมีตั้ง 24 ชั่วโมง ทำงานตั้ง 8-10 ชั่วโมง ถ้าทำงานที่ไม่ชอบแม่งเหี้ยแน่นอน แต่ถ้าไม่มีเงินก็จะมาพูดถึงแพสชั่นไม่ได้อีก ดังนั้นคุณบาลานซ์มันในแบบคุณดีกว่า

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

กฤต วิเศษเขตการณ์

ช่างภาพผู้ชื่นชอบการถ่ายภาพตามท้องถนนอย่างบ้าคลั่งพอๆ กับการกินกาแฟ และผู้คนมักเขียนชื่อเขาผิด