อาหาร ผู้คน กาแฟ Bitcoin และเอกลักษณ์ของ El Salvador ที่สื่อไม่ค่อยพูดถึง

Travel is rich with learning opportunities, and the ultimate souvenir is a broader perspective. (Rick Steves)

ภาพจำในสายตาชาวโลกต่อเอลซัลวาดอร์ (El Salvador) ซึ่งเป็นประเทศขนาดเล็กสุดในดินแดนอเมริกากลาง ประชากรแค่ราวหกล้านห้าแสนคน คือสงครามกลางเมือง ความยากจน แก๊งค้ายาข้ามชาติกับอันธพาลครองเมือง ส่งผลทำให้ไม่ค่อยมีนักท่องเที่ยวไปเยือนกันเท่าไหร่

ชาวแบ็คแพ็กเกอร์กับนักปั่นจักรยานท่องโลกทั้งหลายมักจะรีบเดินทางผ่านให้เร็วที่สุด เพื่อข้ามไปสู่ประเทศข้างเคียงอย่างกัวเตมาลา (Guatemala) หรือนิคารากัว (Nicaragua) ส่วนพวกที่ตัดสินใจอยู่เที่ยวก็มักไม่ได้อยู่กันนาน โดยบอกเหตุผลว่าเป็นประเทศเล็กนิดเดียวและไม่มีอะไรน่าสนใจเท่าไหร่

ประเทศนี้เต็มไปด้วยรอยรั่วและปัญหาตามบริบททางสังคม การเมือง ประวัติศาสตร์ และสภาพแวดล้อมของตนเอง ไม่ต่างจากทุกประเทศบนโลกใบนี้ สื่อนานาชาติก็มักจะขยันนำเสนอข้อมูลเหล่านี้ เช่น ข่าวเกี่ยวกับคนคุกที่นิยมสักลายลงไปตามหน้าตาและผิวหนัง ข่าวแก๊งลักพาตัว ข่าวเด็กและผู้หญิงสูญหายหรือโดนทำร้ายร่างกาย เป็นต้น

แน่นอน มันมีมูลความจริง นักข่าวทั้งหลายนำเอาข้อเท็จจริงมาตีแผ่ แต่นั่นเป็นด้านเดียว หากอยากได้ข้อมูลเชิงบวกเกี่ยวกับประเทศนี้ ต้องเข้าไปหาดูตามช่อง youtube ของ vlogger ทั้งหลายที่เข้าไปท่องเที่ยวแล้วนำเสนอเรื่องราวซึ่งแตกต่างจากข่าวกระแสหลักแทบจะโดยสิ้นเชิง

ผมพยายามศึกษาข้อมูลพอสมควรก่อนไปเยือนเอลซัลวาดอร์ ทั้งในเรื่องความปลอดภัยกับสถานที่ท่องเที่ยวน่าสนใจต่าง ๆ เพราะเชื่อว่าเตรียมตัวดีย่อมนำพาให้การเดินทางราบรื่นมีชัยเกินครึ่ง เมื่อถึงเวลาก็จับรถบัสจากกัวเตมาลาซิตี้ (Guatemala City) ไปยังชายแดน รถบัสจอดตรงด่านพอดี จึงไม่ต้องเสียเวลาเดินไกล เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองกัวเตมาลาประทับตราลงบนพาสปอร์ต เสร็จก็เดินข้ามสะพานซึ่งมีแม่น้ำเป็นพรมแดนธรรมชาติกั้น อีกด้านคือเอลซัลวาดอร์

ขั้นตอนการเข้าประเทศไม่ได้ยุ่งยาก เป็นด่านที่ไม่วุ่นวายเลยแม้แต่น้อย รับพาสปอร์ตคืนแล้วก็เดินไม่ไกลนักไปยังรถประจำทางซึ่งรอผู้โดยสารอยู่ริมถนน สักพักคนขับก็สตาร์ทเครื่องและขับออกจากจุดจอด เพื่อไปยังอะวาชาปาน (Ahuachapan) เป็นเมืองใกล้สุดซึ่งอยู่ห่างออกไปราวยี่สิบกิโลเมตร ค่าโดยสารจ่ายกับคนขับได้เลย สกุลเงินหลักที่ใช้ในประเทศนี้คือดอลล่าร์สหรัฐ ข้อสังเกตอย่างแรก คือมีทั้งสติ๊กเกอร์แปะด้านนอกรถและแผ่นกระดาษติดด้านในระบุค่าตั๋วชัดเจน จึงไม่ต้องงงหรือกลัวว่าคนต่างชาติจะโดนชาร์จเยอะกว่า อีกความแตกต่างจากกัวเตมาลา คือพลขับของประเทศนี้ไม่ได้เร่งเครื่องเต็มที่ชวนหวาดเสียว ตรงกันข้ามเขาขับช้า รู้สึกปลอดภัยและสบายใจกว่ากันเยอะ ประเทศนี้ยังมีรถโดยสารอีกประเภท คือรถกระบะมีหลังคาที่ไม่มีเบาะหรือเก้าอี้ ผู้โดยสารต้องยืนอย่างเดียว

จับรถบัสอีกต่อเพื่อไปยังหมู่บ้านบนเขาชื่ออะทาโก (Ataco) ตามที่คู่มือ Lonely Planet แนะนำ เป็นจุดเริ่มต้นของเส้นทางซึ่งทางการเอลซัลวาดอร์ระบุว่าเป็นถนนสายดอกไม้งามหรือ Ruta de las Flores บรรยากาศผ่อนคลาย เต็มไปด้วยนักท่องเที่ยวท้องถิ่นเพราะเป็นวันหยุดสุดสัปดาห์ ถนนปูด้วยก้อนหินขรุขระแต่สวย บ้านบางหลังเปิดให้แขกเข้าพักเพื่อเป็นรายได้เสริม โรงแรม ร้านและเพิงขายอาหารคึกคัก ร้านขายของที่ระลึกขายสินค้าคล้ายกัน เพลงเปิดผ่านลำโพงจากมุมโน้นนี้ดังคละเคล้ากัน รถเอทีวีจอดเรียงกันข้างลานกลางหมู่บ้าน พร้อมให้เช่าขับเล่น แรกสัมผัส ไม่ได้รู้สึกว่าประเทศนี้น่ากลัวเลยแม้แต่น้อย ผู้คนใช้ชีวิต ดิ้นรนขวนขวาย ทำงาน พักผ่อน และท่องเที่ยวกันตามปกติ

เมืองเล็กอื่นๆ อีกสองสามแห่งบนถนนสายดอกไม้งามก็น่าแวะด้วยเช่นกัน สูดอากาศบริสุทธิ์อุดมด้วยโอโซนทำให้สดชื่นมาก ป่าเขาเขียวขจี บ่อน้ำพุร้อนกระจายตัวตามดงดอยแถบนี้ นกนานาชนิดบินเล่นส่งเสียงไพเราะ พืชเศรษฐกิจที่มีปริมาณมากยิ่งกว่าดอกไม้หลากชนิดคือกาแฟ ถ้าเรียกว่าเป็นถนนสายกาแฟน่าจะเหมาะกว่า ไร่กาแฟขนาดใหญ่ทั้งหลายมักบริการที่พักและทัวร์ชมกระบวนการผลิตแก่นักท่องเที่ยวด้วย เอลซัลวาดอร์ส่งออกกาแฟเป็นล่ำเป็นสันมานานแล้ว ประวัติศาสตร์และความเป็นมาเกี่ยวกับกาแฟของที่นี่ก็น่าสนใจไม่แพ้กลิ่นและรสชาติกาแฟในถ้วยโปรดด้วย

เมืองใหญ่สุดของประเทศนี้คือ เมืองหลวงซานซัลวาดอร์ (San Salvador) บริเวณใจกลางและพื้นที่ปริมณฑลมีผู้คนอาศัยอยู่คิดเป็นสัดส่วนหนึ่งในสามของประเทศ ดังนั้น ทุกอย่างจึงกระจุกกันอยู่ที่นี่ นับเป็นศูนย์กลางทางการเมือง เศรษฐกิจ การเงิน การศึกษา และวัฒนธรรม หน้าตาคนออกไปทางลูกผสมกันเสียเป็นส่วนใหญ่ คนดำซึ่งถูกขนมาในยุคค้าทาสแต่งงานกับชนพื้นเมืองหรือไม่ก็กับคนขาวจากยุโรปสมัยล่าอาณานิคม เมื่อผสมสายเลือดกันผ่านหลายรุ่นเป็นเวลาหลายร้อยปี จึงได้คนเอลซัลวาดอร์หน้าตาผิวพรรณกึ่งๆกลางๆ เต็มบ้านเต็มเมือง ความเป็นชนเผ่าพื้นเมืองไม่ชัดเจน อย่างนายนายิบ บูเคเล (Nayib Bukele) ประธานาธิปดีคนปัจจุบันนั้นมีเชื้อสายปาเลสไตน์กับกรีก ซึ่งความคละเคล้าแบบนี้นี่เองที่นับเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของประเทศนี้

ซานซัลวาดอร์เป็นเมืองใหญ่ แบ่งออกเป็นหลายโซน มีความแตกต่างทางชนชั้นปรากฎชัดเจน ย่านบ้านคนรวยเต็มไปด้วยห้างร้านทันสมัย สินค้าแบรนด์เนมจากทั่วโลกมาเปิดสาขากัน โชว์รูมรถยนต์หรู อาหารฟาสต์ฟู้ตและซูเปอร์มาร์เก็ตใหญ่สัญชาติอเมริกันทุกยี่ห้อมีครบหมด แต่ห่างออกไปแค่ไม่กี่ช่วงตึกกลับเป็นย่านชุมชนแออัด บ้านเรือนสร้างด้วยสังกะสีและวัสดุรีไซเคิล ภาพคนเดินคุ้ยถังขยะเพื่อหาของกินอาจไม่ใช่ภาพแปลกเกินไปนัก สภาพสังคมและปัญหาความเหลื่อมล้ำต่างๆ มักถูกสะท้อนออกมาโดยกลุ่มคนหลากหลาย หนึ่งในนั้นคือบรรดาศิลปิน ตัวอย่างงานศิลปะ ไม่ว่าจะเป็นภาพถ่าย ภาพวาด การจัดวาง งานปั้น เหล่านี้สะสมและแสดงไว้ในพิพิธภัณฑ์ศิลปะประจำเมือง นอกจากได้ซึมซับความงาม กระตุ้นให้เกิดแรงบันดาลใจใหม่ๆ แล้ว ยังได้ทำความเข้าใจประเทศนี้มากขึ้นผ่านผลงานเหล่านั้นไปในขณะเดียวกันด้วย

อีกหนึ่งความธรรมดาของที่นี่ แต่แตกต่างจากประเทศอื่น คืออาหารประเภทหนึ่งที่น่าจะเรียกได้ว่าเป็นอาหารประจำชาติ ก็คือปูปูซาส (pupusas) นั่นเอง Pupuseria หรือร้านขายปูปูซาสนั้นมีอยู่ทั่วไป จะกินจริงเป็นมื้ออาหารหรือกินเล่นรองท้องก็ได้ เป็นแผ่นแป้งสอดไส้หลายอย่าง เลือกได้ตามความชอบของผู้กิน หลักๆ คือไส้ชีส ถั่วบด ชีสกับพริก ไก่ หมู เห็ด ชีสหรือถั่วกับฟัก หรือกับดอกประจำถิ่นอย่างโลโรโก (loroco) ก็ได้ เรียกว่าสามารถรังสรรค์ไส้ข้างในได้ตามความชอบ ส่วนแป้งนั้นมีให้เลือกว่าต้องการแป้งข้าวโพดหรือข้าวจ้าว แม่ค้าปั้นแป้งพร้อมใส่ไส้แล้วใช้มือบีบให้แบน จากนั้นนำไปวางลงบนเตาร้อน คอยใช้ตะหลิวแบนพลิกเป็นระยะๆ จนกระทั่งสุกดีจึงนำไปวางบนจานแล้วเสิร์ฟ บนโต๊ะมีซอสมะเขือเทศสดโฮมเม้ดปรุงรสกับผักหั่นดองสำหรับลูกค้าตักเติมตัดเลี่ยนได้ตามใจชอบ หรือจะกินเปล่าๆ โดยไม่เติมซอสหรือผักก็ได้ด้วยเช่นกัน กินขณะยังร้อน แป้งกรอบด้านนอก ไส้ในเค็มมัน ปูปูซาสเป็นเมนูอาหารที่มีความลงตัวมาก อร่อยและสนนราคาไม่แพงด้วย

อีกอย่างที่นับว่าต่างจากทุกประเทศในแถบนี้ ก็คือเอลซัลวาดอร์เป็นประเทศแรกในโลกที่ประกาศให้สกุลเงินดิจิตัลอย่างบิตคอยน์เป็นอีกสกุลเงินหลัก สามารถนำมาใช้ซื้อขายได้จริง ภาครัฐสนับสนุนให้ร้านค้าปกติ ร้านขายของชำ หรือแม้กระทั่งคนเดินเร่ขายของสามารถสมัครเข้าร่วมการรับจ่ายเงินสกุลนี้ อีกทั้งยังมีการพยายามส่งเสริมสนับสนุนให้ศิลปิน NFT art หรือ Crypto art ขายของในโลกดิจิตัลได้ด้วย

จะว่าเป็นประเทศทันสมัยก็ยังไม่ใช่ เพราะหลายอย่างยังอีเหละเขะขะ เรื่องง่ายๆ อย่างการปลูกฝังคนให้เกิดจิตสำนึกเรื่องการจัดการขยะ หรือการจัดการกับควันจากท่อไอเสียรถยนต์ยังไม่สามารถทำได้ การบูรณะอาคารบ้านเรือนในย่านเมืองเก่า กับการเก็บสายไฟระโยงระยางยังอยู่ระหว่างดำเนินการกันอยู่ ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมามีการปราบปรามจับกุมสมุนแก๊งอิทธิพลเข้าคุกมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ เป็นความพยายามปัดกวาดประเทศชาติให้สะอาด คล้ายกับว่าในขณะพยายามก้าวไปข้างหน้า มุ่งสู่อนาคตที่สดใสกว่าที่เคยเป็นมา ก็ยังคงต้องจัดการกับปัญหาสะสมต่อเนื่องในอดีตอีกมากมายด้วยเช่นกัน

ปฐมบทของการมาถึงเอลซัลวาดอร์สำหรับผม จึงยังไม่ใช่การพยายามดิ่งตรงไปตามแหล่งท่องเที่ยวสำคัญต่างๆ แต่เริ่มต้นด้วยการพยายามมองดูสิ่งธรรมดาสามัญอันมีเอกลักษณ์เฉพาะ แล้วหาความเชื่อมโยงของสิ่งเหล่านั้นกับบริบทของประเทศ ซึ่งโดยส่วนตัวแล้วเห็นว่าเป็นสิ่งสำคัญประการหนึ่งของการออกไปท่องโลกกว้าง เพราะนอกจากจะทำให้ซึมซับความประทับใจได้มากกว่าแล้ว ยังเป็นการสัมผัสความพิเศษในความ (ดูเหมือน) ไม่มีอะไรของสถานที่นั้นๆ ที่มีโอกาสไปเยือนอีกด้วย 

AUTHOR