อ่านประวัติศาตร์ผ่านไข่ฟาแบร์เช : ความทรงจำสุดท้ายของราชวงศ์โรมานอฟ 

Highlights

  • ปีเตอร์ คาร์ล ฟาแบร์เช คือนักออกแบบเครื่องประดับชื่อดังผู้ออกแบบไข่อีสเตอร์ให้ราชสำนักโรมานอฟ ตลอดระยะเวลาการทำงานให้ราชวงศ์โรมานอฟ ฟาแบร์เชออกแบบไข่อีสเตอร์ทั้งหมด 50 ใบ ในระหว่างปี 1885-1916
  • ของขวัญอีสเตอร์ในแต่ละปีจึงเปรียบเสมือนพื้นที่บรรจุความทรงจำของราชวงศ์โรมานอฟตั้งแต่ปี 1885 จนมาจบที่การปฏิวัติ
  • หลังการปฏิวัติปี 1917 ครอบครัวของพระเจ้าซาร์ถูกสังหาร ซารีน่ามาเรีย–มารดาของนิโคลัส รอดชีวิตจากการตามล่าและนำความทรงจำของครอบครัวที่แตกสลายติดตัวมายังยุโรป ในบรรดาของมีค่ามากมายที่ทรงนำมา หนึ่งในนั้นคือ ‘The Order of St. George Egg’ ไข่ที่แสดงถึงเกียรติยศทางการทหารของจักรวรรดิรัสเซียที่กำลังต่อสู้ในสงครามโลกครั้งที่ 1

อีสเตอร์เป็นเทศกาลสำคัญของรัสเซีย ในขณะที่คนทั่วไปต้มไข่ไก่ ทาสีสวยงาม และมอบให้แก่กันเพื่อเป็นของขวัญระลึกถึงการเสด็จขึ้นจากหลุมศพของพระเยซู ราชวงศ์โรมานอฟคิดอะไรใหญ่กว่าด้วยการสร้างไข่ธรรมดาให้กลายความทรงจำที่ทั้งสวยงาม ล้ำค่า และเจ็บปวดหัวใจไปพร้อมๆ กัน 

ย้อนกลับไปในปี 1885 ซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 3 กำลังกลุ้มใจว่าจะมอบอะไรเป็นของขวัญให้พระชายา–ซารีน่ามาเรีย อีสเตอร์ปีนี้พิเศษกว่าครั้งไหนเพราะเป็นปีครบรอบการแต่งงาน 20 ปีของทั้งสอง

อเล็กซานเดอร์จำได้ว่าภรรยาเคยกล่าวชมเครื่องเพชรของปีเตอร์ คาร์ล ฟาแบร์เช นักออกแบบเครื่องประดับชื่อดัง จึงมีรับสั่งให้นายฟาแบร์เชลองออกแบบไข่อีสเตอร์ให้ราชสำนัก 

ฟาแบร์เชรับคำสั่งและกลับมาอีกครั้งพร้อมเครื่องประดับลักษณะคล้ายไข่เปลือกขาว เมื่อเปิดไข่ชั้นแรกออกจะเจอไข่แดงทำจากทองคำ เมื่อเปิดไข่แดงออกจะพบไก่ทองคำมีตาสองข้างประดับด้วยเม็ดทับทิม และเมื่อเปิดตัวไก่ออกจะเจอเซอร์ไพรส์สุดท้ายเป็นเพชรเม็ดเล็กที่ย่อขนาดเพชรยอดมงกุฎของรัสเซียและไข่ไก่อีกใบที่ทำจากทับทิมซ่อนอยู่ข้างใน 

ซารีน่ามาเรียประทับใจของขวัญสุดเซอร์ไพรส์ชิ้นนี้มาก จนซาร์อเล็กซานเดอร์มีรับสั่งให้ฟาแบร์เชรับผิดชอบออกแบบไข่อีสเตอร์ทุกๆ ปี 

“ออกแบบไข่แต่ละปีให้ต่างไปและซ่อนเซอร์ไพรส์ที่ไม่มีใครเดาได้” 

 

ในปี 1894 หลังการจากไปอย่างไม่ทันตั้งตัวของซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 3 ลูกชายของเขา–นิโคลัส กลายมาเป็นซาร์องค์ใหม่ เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาด ซาร์นิโคลัสที่ 2 มีรับสั่งให้ “อะไรๆ ที่เริ่มต้นและมีอยู่ในสมัยพระบิดาจงดำเนินไปเช่นเดิม” หนึ่งในนั้นหมายถึงประเพณีการออกแบบไข่อีสเตอร์ของฟาแบร์เช

นิโคลัสมีรับสั่งให้ฟาแบร์เซออกแบบไข่ปีละ 2 ใบ ใบแรกให้พระมารดา อีกใบให้ซารีน่าองค์ใหม่คือซารีน่าอเล็กซานดรา ภรรยาผู้เป็นที่รัก

ในทุกปี ฟาแบร์เชจะใช้เวลาออกแบบทั้งตัวไข่และ ‘เซอร์ไพรส์’ ที่ซ่อนอยู่ข้างในโดยอิงจากเหตุการณ์สำคัญในปีนั้นๆ ทำให้ของขวัญอีสเตอร์ในแต่ละปีเปรียบเสมือนพื้นที่บรรจุความทรงจำของราชวงศ์โรมานอฟตั้งแต่ปี 1885 จนมาจบที่การปฏิวัติ 

‘เซอร์ไพรส์’ ในไข่เป็นความลับสุดยอดที่ฟาแบร์เชไม่เคยบอกใคร แม้กระทั่งผู้ช่วยของเขาหรือพระเจ้าซาร์ก็ไม่อาจล่วงรู้ได้

ตลอดระยะเวลาการทำงานให้ราชวงศ์โรมานอฟ ฟาแบร์เชออกแบบไข่อีสเตอร์ทั้งหมด 50 ใบ ในระหว่างปี 1885-1916 

ไข่ใบเกือบสุดท้ายที่ซาร์อเล็กซานเดอร์มอบให้ซารีน่ามาเรียก่อนสิ้นพระชนม์คือ ‘The Caucasus Egg’ ของขวัญวันอีสเตอร์ปี 1893 ไอเดียของไข่ใบนี้ทำขึ้นเพื่อระลึกถึงแกรนด์ดยุกจอร์จ ลูกชายคนที่ 3 ของทั้งสอง ตัวไข่ประดับภาพเมือง Abastumani (ปัจจุบันอยู่ในประเทศจอร์เจีย) เมืองเล็กๆ น่ารักที่แกรนด์ดยุกจอร์จเสด็จไปประทับเพื่อรักษาอาการป่วยจากวัณโรค ด้านบนสุดของไข่ประดับภาพของแกรนด์ดยุกจอร์จสวมเครื่องแบบทหาร ส่วนเซอร์ไพรส์คือหน้าต่างบานเล็กๆ 4 บานที่สามารถเปิดไปเห็นวิวภาพวาดทิวเขาคอเคซัส แบบเดียวกับที่ลูกชายของทั้งสองมองเห็นจากหน้าต่างระหว่างการพักฟื้น (แกรนด์ดยุกจอร์จสิ้นพระชนม์ในอีก 6 ปีต่อมา พระชันษา 28 ปี) 

ความน่าสนใจของไข่ใบนี้คือเป็นไข่ฟาแบร์เชเพียงใบเดียวที่ทาด้วยสีแดง สีที่ว่ากลายเป็นสีต้องห้ามหลังซาเรวิชอเล็กเซย์ ลูกชายคนเดียวของซาร์นิโคลัสถูกวินิจฉัยว่าป่วยเป็นโรคฮีโมฟีเลีย (โรคเลือดไหลไม่หยุด)

 

ไข่ที่ถือว่ามีมูลค่ามากที่สุดคือของขวัญสำหรับซารีน่าอเล็กซานดราในปี 1897 ทำขึ้นเพื่อรำลึกถึงการขึ้นครองราชย์ของพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 เมื่อปี 1896 ‘The Imperial Coronation Egg’ ประเมินราคาอยู่ที่ 24 ล้านดอลลาร์ ไข่ใบนี้ทำมาจากทองคำและแพลทินัมถอดลวดลายมาจากเสื้อคลุมทองคำที่ซารีน่าทรงสวมใส่ในพิธีราชาภิเษก เซอร์ไพรส์ของไข่ใบนี้คือรถม้าจำลองที่ซารีน่าทรงใช้เสด็จในงานพิธี ภายในประดับผ้ากำมะหยี่เหมือนจริง ประตูสามารถเปิด-ปิดได้ และมีบันไดพับขนาดเล็กเลื่อนลงมาได้ตามระบบกลไกภายใน 

ไข่ที่เล่าถึงความยิ่งใหญ่และความสำเร็จสูงสุดของรัสเซียคือ ‘The Trans-Siberian Railway Egg’ ไข่ประจำปี 1900 มอบให้ซารีน่าอเล็กซานดราเพื่อระลึกถึงการสร้างรถไฟสายทรานส์-ไซบีเรีย ทางรถไฟที่ยาวที่สุดในโลก ภายในบรรจุรถไฟทองคำความยาว 16 นิ้ว ชิ้นงานเลียนแบบตัวรถไฟอย่างละเอียด มีทั้งหน้าต่าง รถเสบียง โบกี้สูบบุหรี่ โบกี้เฟิร์สคลาส ประดับเฟอร์นิเจอร์ตามจริงทุกประการ

ส่วนไข่ที่มีค่าทางความทรงจำมากที่สุดคือ ‘The 15th Anniversary Egg’ ออกแบบเพื่อเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 15 ปีแห่งการครองราชย์ของพระเจ้าซาร์ (มอบให้ซารีน่าอเล็กซานดราในปี 1911) ตัวไข่ทำด้วยทองคำลงยา ประดับเพชร คริสตัล และงาช้าง ที่สำคัญกว่าคือไข่ใบนี้ไม่มีเซอร์ไพรส์ รอบๆ ตัวไข่มีรูปภาพของสมาชิกราชวงศ์ประดับอยู่ นักประวัติศาสตร์มองว่าไข่ใบนี้มีความสำคัญเพราะเป็นหลักฐานของความรักระหว่างสองสามี-ภรรยาและลูกๆ ทั้ง 5 โดยไม่ต้องพึ่งพาเครื่องประดับมีค่า แต่ใช้ภาพวาดของแต่ละพระองค์เป็นองค์ประกอบหลัก 

“พวกเขาดูมีความสุขมาก เป็นครอบครัวที่น่ารัก รอบกายของเด็กๆ รายล้อมไปด้วยสิ่งสวยงามที่สุด เลอค่าที่สุด และดีงามที่สุด ใครจะคิดว่าเรื่องราวที่สวยงามราวเทพนิยายจะจบลงด้วยฉากสุดท้ายที่เศร้าที่สุด”

 

มัลคอล์ม ฟอร์บส นักธุรกิจชาวอเมริกันและผู้ก่อตั้งนิตยสาร Forbes กล่าวถึงไข่ใบนี้ในบทสัมภาษณ์ ฟอร์บสซื้อไข่ใบที่ว่ามาในราคาราว 15 ล้านดอลลาร์ เพื่อนำมาสะสมในคอลเลกชั่นส่วนตัว ปัจจุบันไข่ใบนี้อยู่ในความครอบครองของวิกเตอร์ เวกเซลเบิร์ก นักธุรกิจชาวรัสเซียและจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์ Fabergé Museum ที่เมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก 

ไข่ 2 ใบสุดท้ายที่ฟาแบร์เชออกแบบทำขึ้นในปี 1917 เพื่อเป็นของขวัญวันอีสเตอร์ในเดือนเมษายน น่าเสียดายว่าเกิดการปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์ขึ้นเสียก่อน ตอนนั้นฟาแบร์เชทำไข่เสร็จแล้ว 1 ใบ เป็นไข่ที่ซาร์นิโคลัสสั่งทำให้พระมารดา 

ฟาแบร์เชทำตัวไม่ถูกจึงส่งใบเรียกเก็บเงินไปที่นิโคลัส แต่ลงชื่อว่า ‘มิสเตอร์ โรมานอฟ, นิโคลัส อเล็กซานโดรวิช’ แทนที่จะเป็น ‘ซาร์นิโคลัสที่ 2 แห่งรัสเซีย’ นิโคลัสจ่ายเงินจำนวน 12,500 รูเบิลกลับมา และขอให้ฟาแบร์เชจัดส่งไข่ไปให้พระอนุชา–แกรนด์ดยุกมิคาอิล อเล็กซานโดรวิช 

โชคร้ายที่แกรนด์ดยุกลี้ภัยไปก่อนทำให้ของขวัญชิ้นนี้ไม่เคยตกถึงมือพระมารดา แต่ถูกเก็บในวังของเจ้าชายและสูญหายไประหว่างการปฏิวัติเดือนตุลาคม 

ไข่ใบนี้มีชื่อว่า ‘The Karelian Birch’ ทำจากไม้ของต้นเบิร์ช ประดับทอง เพชร คริสตัล และเนไฟรต์ (nephrite) ภายนอกดูเรียบง่าย เพราะสร้างขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่ต้องประหยัดค่าใช้จ่าย จึงใช้ไม้ซึ่งเป็นของพื้นเมืองเป็นองค์ประกอบหลัก ‘เซอร์ไพรส์’ ของไข่ใบนี้คือช้างจำลองขนาดเล็กประดับเพชร (น่าเสียดายที่ไม่มีใครได้เห็นเพราะหายไประหว่างความวุ่นวายทางการเมือง)

 

The Karelian Birch ปรากฏสู่สาธารณะอีกครั้งในปี 2001 ปัจจุบันอยู่ในความครอบครองของอเล็กซานเดอร์ เคเรนสกี เศรษฐีชาวรัสเซียที่มีพิพิธภัณฑ์ของตัวเองอยู่ที่เมืองบาเดิน-บาเดิน ประเทศเยอรมนี

ส่วนไข่ใบสุดท้ายของฟาแบร์เชคือไข่ใบที่ทำไม่เสร็จ และกลายเป็นข้อถกเถียงที่ยังหาข้อสรุปไม่ได้จนถึงปัจจุบัน ไข่ใบนี้ทำขึ้นในปีเดียวกันเพื่อเป็นของขวัญให้ซารีน่าอเล็กซานดรา มีชื่อว่า ‘The Constellation Egg’

The Constellation Egg ตามบันทึกเป็นไข่สีฟ้า ทำจากแก้วตั้งบนฐานคริสตัล ตัวไข่แกะสลักเป็นภาพกลุ่มดาวสิงโต–ราศีของซาเรวิชอเล็กเซย์ ลูกชายคนเดียวของพระเจ้าซาร์ซึ่งเกิดในวันที่ 12 สิงหาคม 1904 เชื่อกันว่าข้างในมี ‘เซอร์ไพรส์’ ที่เป็นกลไกคล้ายนาฬิกา 

ปัจจุบัน The Constellation Egg มีอยู่ 2 ใบ โดยไม่รู้ว่าใบไหนเป็นของจริง ใบแรกจัดแสดงอยู่ที่ The Fersman Mineralogical Museum ในมอสโก เป็นไข่ใบที่สร้างไม่เสร็จเพราะยังไม่ได้ประดับเพชรแทนดาวนักษัตร ส่วนกลไกที่อยู่ภายในก็หายไป 

ใบที่ 2 อยู่ในความครอบครองของอเล็กซานเดอร์ เคเรนสกี เศรษฐีคนเดิมที่เป็นเจ้าของไข่ใบแรก ไข่ใบนี้สร้างเสร็จแล้ว ประดับเพชรแทนกลุ่มดาวเรียบร้อย เคเรนสกีอ้างว่าไข่ของเขาต่างหากเป็นของจริงเพราะได้รับการยืนยันจากผู้เชี่ยวชาญของ The Fersman Mineralogical Museum ด้วยตัวเอง 

อย่างไรก็ดี พิพิธภัณฑ์ดังกล่าวออกมาปฏิเสธเสียงแข็งว่า ‘ใช่ที่ไหน’ และไข่ที่จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์ต่างหากที่เป็นของจริง

ทุกวันนี้ข้อสรุปส่วนใหญ่มักเอนไปทางไข่ที่ไม่สมบูรณ์ของ The Fersman Mineralogical Museum มากกว่า หลายคนบอกว่าไข่ที่ไม่สมบูรณ์นี้เป็นตัวแทนการล่มสลายของราชวงศ์โรมานอฟและสะท้อนสภาพเศรฐกิจที่พังทะลายในช่วงปฏิวัติรัสเซีย

หลังการปฏิวัติปี 1917 ครอบครัวของพระเจ้าซาร์ถูกสังหาร ซารีน่ามาเรีย–มารดาของนิโคลัส รอดชีวิตจากการตามล่าและนำความทรงจำของครอบครัวที่แตกสลายติดตัวมายังยุโรป ในบรรดาของมีค่ามากมายที่ทรงนำมา หนึ่งในนั้นคือ ‘The Order of St. George Egg’ ไข่ที่แสดงถึงเกียรติยศทางการทหารของจักรวรรดิรัสเซียที่กำลังทำการต่อสู้ในสงครามโลกครั้งที่ 1 The Order of St. George คือเครื่องราชฯ ทางการทหารที่ทรงเกียรติที่สุดของจักรวรรดิและเป็นของขวัญชิ้นสุดท้ายที่ลูกชายมอบให้เธอในวันอีสเตอร์ปี 1916 

 

อ้างอิง

faberge.com

historyanswers.co.uk

pbs.org

swissstyle.com

AUTHOR

ILLUSTRATOR

ฟาน.ปีติ

ปีติชา คงฤทธิ์ นักออกแบบภาพประกอบประจำนิตยสาร a day งานอดิเรกคือการทำอาหารคลีน, วิ่ง และต่อกันพลา