Dune : ความก้าวหน้าอันเสื่อมถอย หนอนยักษ์ทะเลทราย ศรัทธาในเด็กชายแห่งคำทำนาย และความหลงตัวเองของมนุษย์

Dune : ความก้าวหน้าอันเสื่อมถอย หนอนยักษ์ทะเลทราย ศรัทธาในเด็กชายแห่งคำทำนาย และความหลงตัวเองของมนุษย์

หนังสือ Dune ถูกตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 1965 แต่นิยายมหากาพย์ไซ-ไฟสุดคลาสสิกของ แฟรงค์ เฮอร์เบิร์ต ยังคงเป็นที่พูดถึง เป็นแรงบันดาลใจให้ภาพยนตร์และงานเขียนจนถึงทุกวันนี้ ต้องมีเหตุผลว่าทำไม Dune ถึงเป็นหนึ่งในการดัดแปลงที่ผู้คนรอคอยมากที่สุด รวมถึงทำไมจึงมีความพยายามดัดแปลงเรื่องนี้สู่จอภาพยนตร์และโทรทัศน์ในหลายยุคหลายสมัย

คำถามเหล่านี้เกิดขึ้นเมื่อได้ยินว่า Dune จะถูกดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ไตรภาคโดยผู้กำกับมากวิสัยทัศน์อย่าง เดอนีส์ วีลเนิฟ  คำตอบชัดเจนที่ได้รับหลังดูจบคือ Dune เป็นภาพยนตร์ที่เต็มไปด้วยประเด็นร่วมสมัย ที่เหนือกาลเวลา (timeless) ทั้งเรื่องของการเป็นเจ้าข้าวเจ้าของทรัพยากร ระบบนิเวศ สังคม การเมือง อำนาจ สงคราม ผู้นำ และศาสนา กับการใช้ศรัทธาชี้นำ

ประเด็นต่างๆ ที่กล่าวไปถูกสอดแทรกอยู่ในทุกรูขุมขน ในแบบที่เรียกได้ว่า ร่วมสมัยตั้งแต่สมัยนั้นจนถึงสมัยนี้ และจะยังคงร่วมสมัยต่อไป ตราบใดที่โลกยังคงหมุน อารยธรรมยังคงเดินคู่ไปพร้อมกับกาลเวลา สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่ามนุษย์ยังคงมีบทบาทสำคัญในการกำหนดชะตากรรมชีวิตตนเอง ผู้อื่น และสิ่งต่างๆ ได้

Dune

แฟรงค์ เฮอร์เบิร์ต ผู้เขียนเรื่องนี้เป็นทั้งนักข่าว ช่างภาพ และนักเขียน ผู้สนใจในชีววิทยา เขามีโอกาสได้ทำข่าวเกี่ยวกับทะเลทรายและเนินทราย (ภาษาอังกฤษเรียกว่า dune) ได้พบเจอชนเผ่าทะเลทรายที่อาศัยอยู่ได้ในสภาวะที่แห้งแล้งและขาดแคลนน้ำ ได้ลองเห็ดเมา ศึกษาเกี่ยวกับชาวมุสลิมและศาสนาอิสลาม และมีชีวิตในยุคที่มีสงครามแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติอันล้ำค่าอย่าง ‘น้ำมัน’ ในแถบตะวันออกกลางอันเดือดระอุ

ทั้งหมดจึงเป็นแรงบันดาลใจสำคัญในการเกิดเป็นมหากาพย์ไซ-ไฟ Dune ที่ดูจะเป็นการชวนให้ผู้อ่านทั่วโลกได้ฉุกคิดถึงสิ่งต่างๆ เหล่านี้ผ่านเรื่องเล่าสมมติ ที่แม้จะดูห่างไกลความเป็นจริง แต่มีความคลับคล้ายคลับคลากับโลกมนุษย์เราอย่างบอกไม่ถูก

ใน Dune (2021) ของผู้กำกับ เดอนีส์ วีลเนิฟ นำเนื้อหาในหนังสือเล่มแรกชื่อว่า ‘Dune’ มาแบ่งเป็นหนัง 2 ภาค หลังจากนั้นจะต่อด้วยการนำเล่ม 2 ที่มีชื่อว่า Dune : Messiah มาดัดแปลงเป็นหนังภาค 3 เพื่อปิดไตรภาค Dune ในแบบฉบับของเขา

(เนื้อหาต่อไปนี้เปิดเผยเนื้อเรื่องสำคัญ)
dune

การเดินหน้าที่ถอยหลังของมนุษยชาติ กับความหลงตัวเองของมนุษย์

Dune เริ่มต้นที่ยุคสมัย 10191 AG (ที่ย่อมาจาก After Guild) หรือตรงกับยุคสมัย 23352 A.D. (คริสต์ศักราช) ซึ่งหมายความว่าเรื่องราวในหนังห่างกับระยะเวลาในความเป็นจริงสองหมื่นกว่าปี ก่อนหน้าเหตุการณ์ในหนัง มนุษย์เคยสู้รบกับเหล่า AI และจักรกลที่ทรงพลังคล้ายกับองค์กรสกายเน็ตในแฟรนไชส์ คนเหล็ก (The Terminator) มาแล้ว สงครามนี้เรียกว่า ‘บัตเลเรียน จิฮัด (Butlerian Jihad)’ ผลลัพธ์คือมนุษย์รบชนะจักรกลจากบทเรียนที่ได้รับ ทำให้มนุษย์ตระหนักว่าไม่มีสิ่งใดที่สามารถไว้เนื้อเชื่อใจได้เท่ากับมนุษย์ด้วยกันเองอีกแล้ว

สงครามนี้ทำให้เกิดการแบ่งขั้วอำนาจมนุษย์เน้นการวิวัฒน์ที่ร่างกายและสติปัญญาแทนที่จะใช้เทคโนโลยีและเครื่องจักรซึ่งสามารถคิดเองได้ หลังจากยุคนั้นเกิดสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า แมนแทต (Mantats-มนุษย์ที่เปรียบเหมือนคอมพิวเตอร์เดินได้) เกิดการควบคุมเอกสิทธิ์การเดินทางและขนส่งในอวกาศโดย สเปซซิ่ง กิลด์ (Spacing Guild) หรือ กิลด์ เนวิเกเตอร์ (Guild Navigator) เกิดสิ่งที่เรียกว่า เบเน เจสเซริต (Bene Gesserit) สำนักแม่ชีพลังจิต, องค์จักรพรรดิ, ตระกูลขุนนางบ้านต่างๆ แร่ธาตุหรือเครื่องเทศชนิดหนึ่งที่มีชื่อว่า สไปซ์ (Spice Melange) บนดาวอาร์ราคิส (Arrakis) ซึ่งกลายเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในจักรวาล

Dune

ด้วยความที่แทบไม่มีสิ่งมีชีวิตอื่นเลยที่มีศักดิ์เท่ากันในแง่สติปัญญาและการสร้างอารยธรรม Dune จึงเป็นหนังไซ-ไฟอวกาศที่มีแต่มนุษย์ มนุษย์ และก็มนุษย์ (เป็นเหตุผลว่าทำไมตัวละครถึงมีชื่ออันดูเป็นมนุษย์ซะเหลือเกิน เช่น พอล เจสซิก้า หรือคนนามสกุลไอดาโฮ)

ในครั้งนี้จึงไม่ใช่มนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐหรือสิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญาที่สุด ‘ในโลก’ แต่เป็น ‘ในจักรวาล’ เลยทีเดียว แล้วการมีแต่มนุษย์นำมาซึ่งอะไร? ด้วยความเป็นสิ่งมีชีวิตชนิดเดียวที่ไม่เพียงมีความสามารถในการสำรวจอวกาศเท่านั้น มนุษย์ที่ขยายอาณาเขตในการใช้ชีวิตได้กว้างขึ้น จึงทำการยึด ดูดกลืนจับจ่ายใช้สอยทรัพยากร ปักหลัก ตั้งถิ่นฐาน และสร้างอาณานิคมไปทั่วดาวในผ้าใบสีดำอันกว้างใหญ่นี้

กิจกรรมทั้งหมดควบคุมโดยสเปซซิ่งกิลด์เพื่อไม่ให้มนุษย์ทำสงครามกันบนอวกาศ แม้แต่การยิงปืนด้วยกระสุนหรือปืนบลาสเตอร์ก็ไม่อาจทำได้เพราะมีโล่สนามพลังป้องกันวัตถุเคลื่อนที่เร็วและอาจทำให้เกิดระเบิดจากปฏิกิริยานิวเคลียร์ โล่นี้เป็นส่วนหนึ่งของเทคโนโลยีที่เรียกว่า ‘โฮลทซ์แมน เอฟเฟ็คต์ (Holtzman Effeft)’ การค้นพบที่ช่วยให้มนุษย์เดินทางจากดวงดาวสู่ดวงดาวได้ในชั่วพริบตา ทำให้มนุษย์และวัตถุลอยได้ เพิ่มขีดความสามารถและทลายขีดจำกัดของมนุษย์ จึงทำให้หากจะเปิดฉากสู้กัน ก็ต้องสู้กันบนดาว และสู้กันโดยใช้มีดใช้หมัดแบบดั้งเดิมเท่านั้น

นอกจากนี้แล้ว เวลาเป็นหมื่นปีที่ผ่านไปกลับกลายเป็นว่ามนุษย์กลับไปในยุคแรกเริ่มอีกครั้ง ยุคที่ศาสนา คำทำนาย เทพเจ้า และความเชื่อทรงพลังอำนาจมากที่สุด ความเชื่ออย่างแรงกล้าในคำทำนายและตัวผู้นำ กับการอยู่ภายใต้การปกครองของจักรพรรดิองค์เดียวทั้งจักรวาล จึงได้แปรเปลี่ยนให้ระบบ ‘เผด็จการอำนาจเบ็ดเสร็จ (totalitarian)’ กลับมาเฟื่องฟูอีกครั้งโดยมีแรงต้านที่ลดลง และการปฏิวัติทำได้ยากขึ้น

อำนาจล้นพ้นนี้ทำให้แทบไม่ต้องพูดถึงการปลดแอกเพราะหากมีใครสักคนลุกขึ้นมาโค่นจักรพรรดิ ไม่สามารถแน่ใจได้เลยว่าคนคนนั้นมาเพื่อปลดปล่อย หรือเพื่อเป็นเผด็จการอีกคนเท่านั้น

เด็กชายในคำทำนาย และการออกเดินทางที่ไม่อาจหวนกลับ

จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของจักรวาลภาพยนตร์ Dune เริ่มต้นที่ พอล อะเทรดีส (Paul Atreides) บุตรชาย ดยุค เลโต อะเทรดีส (Duke Leto Atreides) ผู้ปกครองดวงดาวคาลาแดน (Caladan) เด็กหนุ่มอายุ 15 ทายาทและความหวังตระกูลทรงอำนาจผู้นี้ ตามหลักโครงสร้างการเล่าเรื่องแบบ ‘การเดินทางของฮีโร่ (Hero’s Journey)’ ของ โจเซฟ แคมป์เบลล์ คือ เขาถูกเรียกให้ออกผจญภัยจากดินแดนอันอุดมสมบูรณ์ไปด้วยผืนน้ำและผืนป่าเขียวชอุ่ม สู่ดาวทะเลทรายอาร์ราคิส (Arrakis) อันร้อนระอุ

หลังจากที่ทูตแห่งจักรพรรดิมาเยือนดวงดาวและนำสารมาส่ง ใจความว่า ‘จงไปปกครองดาวอาร์ราคิส’ และตระกูลอะเทรดีส ‘ตอบรับคำขอ’

ทันทีที่ที่พอลมาถึงดาวเขาถูกชนเผ่าพื้นเมืองอย่าง เฟรเมน (Fremen) ต้อนรับขับสู้เป็นอย่างดีด้วยการเรียกเขาว่า ‘ลีซาน อัล-ไกอีบ (Lisan Al-Gaib)’ หรือ ‘เสียงจากนอกโลก’ อีกหนึ่งคำที่ได้รับอิทธิพลจากภาษาอาหรับที่แปลว่า ‘เมสสิยาห์ (Messiah)’ ผู้นำและผู้กอบกู้ตามคำทำนายว่าจะเป็นผู้นำสงครามจิฮัด (Jihad) หรือครูเสด (Crusade) และทำการปลดปล่อยชาวเฟรเมนให้เป็นอิสระ

Dune

ประโยคสนทนาระหว่างพอลกับเจสซิก้า แม่ของเขาต่อจากนั้นบนยานบินที่คล้ายแมลงปอ ชี้ถึงประเด็นนี้ได้อย่างชัดเจน

เจสซิก้า: มันแปลว่าเมสสิยาห์ หมายความว่าเบเน เจสเซริต ได้ทำการปูรากฐานกับที่นี่ไว้แล้ว

พอล: ปลูกฝังเรื่องเหลือเชื่อมากกว่า

เจสซิก้า: ปูทาง พอล ผู้คนเหล่านี้รอคอยลีซาน อัล-ไกอีบมาเป็นศตวรรษ และเมื่อพวกเขาเห็นลูก พวกเขาเห็นสัญญาณ

พอล: พวกเขาเห็นในสิ่งที่พวกเขาถูกสอนสั่งให้มองเห็น ท่านแม่

ดูเหมือนว่า เด็กชายพอล อะเทรดีส (ที่อยู่ในวัยประมาณ ม.3 ขึ้น ม.4 ของบ้านเรา) กำลังมีโชคชะตาอันยิ่งใหญ่รอคอยอยู่ การมาที่ดาวอาร์ราคิสคือจุดเริ่มต้นโดยมีชีวิตบนดาวคาลาแดนก่อนหน้าเป็นภาคปฐมบท ในช่วงเวลาที่เขาถูกยกยอให้เป็นผู้ถูกเลือก พอลมีท่าทีที่นิ่งเฉยและมีความสามารถในการคิดวิเคราะห์แยกแยะ (critical thinking) และไม่หลงระเริงไปกับคำเยินยอเหล่านั้น จากการมองเห็นสาเหตุที่แท้จริงว่าสิ่งเหล่านี้มีผู้ชักใยอยู่เบื้องหลัง

Dune

พลังหญิงที่คอยชักใย และบทบาทผู้ควบคุมหุ่นเชิด

หนึ่งในกลุ่มคนที่อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์สำคัญในช่วงเวลาต่างๆ ของจักรวาล เบเน เจสเซริต เป็นองค์กรศาสนาหญิงล้วนหรือสำนักแม่ชีชุดแห่งเงามืดที่ทำหน้าที่แทรกแซงการเมืองและควบคุมสิ่งต่างๆ ให้มีความเป็นไปตามที่ต้องการ

แม่ชีแต่ละคนของเบเน เจสเซริต มีพลังแกร่งกล้ากว่าที่เห็น พวกเธอสามารถควบคุมโทนเสียงและควบคุมผู้คนด้วยความถี่ที่ถูกต้อง เสริมแกร่งร่างกายกับเพิ่มขีดจำกัดด้านการต่อสู้ สามารถควบคุมร่างกายได้ถึงระดับ DNA ชนิดที่เลือกเพศลูกหรือช่วงเวลามีลูกเมื่อไหร่ก็ได้ และมีความสามารถในการหยั่งรู้ถึงอดีตผ่านความทรงจำแห่งพันธุกรรมของบรรพบุรุษ (genetic memory) องค์กรนี้มีเป้าหมายสูงสุดคือผลิต ‘ควิซาตซ์ ฮาเดอร์ราค (Kwisatz Haderach)’ มนุษย์เพศชายผู้สามารถอยู่ได้ทุกช่วงเวลา ทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคต (เหมือนด็อกเตอร์แมนฮัตตัน ในหนังและซีรีส์ Watchmen) และมีพลังของสามเสาหลักอันได้แก่ เบเน เจสเซริต, แมนแทต, และสเปซซิ่ง กิลด์ ในตัวคนคนเดียว

แผนการนี้ดำเนินด้วยวิธีที่เรียกว่า ‘การจับคู่สร้างสายพันธุ์ (breeding program)’ ที่ดำเนินมาเป็นหมื่นปี พร้อมๆ กับการไล่เป่าหูผู้คนตามดวงดาวว่าวันหนึ่งจะมีผู้ปลดปล่อยมาจากต่างถิ่น ซึ่งตามหลักจะต้องจบลงด้วยการที่เจสซิก้าผลิตลูกสาวให้ดยุค เลโต เพื่อแต่งกับลูกชายตระกูลฮาร์คอนเนน (Harkonnen) แล้วยุติความขัดแย้งที่มีมาอย่างยาวนาน ถ้าหากว่าเจสซิก้าไม่หลงรักเลโตจนฝ่าฝืนคำสั่งและผลิตลูกชายออกมาเป็น พอล แทน

ถึงกระนั้น พอลก็เข้าข่ายคำทำนายทุกประการ และผ่านการทดสอบกอม จาบาร์ (Gom Jarbar, เข็มพิษและกล่องแห่งความเจ็บปวด) เบเน เจสเซริต จึงรอดูว่าจะใช่เขาหรือไม่ เด็กหนุ่มแห่งคำทำนาย โดยสาเหตุที่ต้องเป็นผู้ชายเพราะองค์กรแม่ชีนี้เป็นเพศหญิงที่มีโครโมโซม X กับ X จึงทำให้สามารถเข้าถึงความทรงจำผ่านโครโมโซม X ของเพศหญิงได้เท่านั้น (ชายก็ได้แต่ไม่ค่อยชัด) ในขณะที่เพศชายจะมีทั้งโครโมโซม X และ Y ที่จะได้อำนาจในการเข้าถึงแบบเต็มขั้นระดับ full access

การมีตัวตนและบทบาทของเบเน เจสเซริต ถือว่าสะท้อนบทบาททางเพศในสังคมหนึ่งได้เป็นอย่างดี แม้เนื้อหาจะดูเหมือนชูความเป็นใหญ่ในเพศชายผ่านความสามารถในการเข้าถึงความทรงจำนี้ (ตามสังคมชายเป็นใหญ่ในขณะนั้น) แฟรงค์ เฮอร์เบิร์ต ก็ได้เขียนให้อำนาจที่แท้จริงคืออำนาจของสตรี ที่สามารถใช้ทั้งวาจา กำลัง สติปัญญา การวางแผน และกุมความสามารถในการให้กำเนิดเพศใดก็ตามไว้ในกำมือ แสดงให้เห็นว่าทั้งสองเพศต่างก็สำคัญต่อกันและกัน และมีบทบาทสำคัญไม่มากไม่น้อยไปกว่ากัน

สไปซ์ การทรยศ การช่วงชิงทรัพยากร และหนอนยักษ์

Dune ไม่เพียงแต่เป็นหนังสงครามการเมือง แต่ยังพูดถึงความแร้นแค้นและการช่วงชิงทรัพยากรกับศาสนาอย่างละเท่าๆ กัน

ทรัพยากรที่ว่าคือ สไปซ์ ตามคำกล่าวที่ว่า “ใครควบคุมสไปซ์ ควบคุมจักรวาลนี้” ทำให้เมื่อพูดถึงโลกอนาคตในอีกหมื่นปีแทนที่เราจะนึกถึงเทคโนโลยี แฟรนไชส์ Dune ทำให้เรานึกถึงหนังอย่าง Mad Max ที่น้ำมันมีค่ายิ่งกว่าทอง รวมไปถึงโลกแห่งความจริงที่น้ำมันเป็นตัวแปรสำคัญในการกำหนดทิศทางสภาวะเศรษฐกิจ ดังที่เป็นอยู่ตอนนี้ และใครผูกขาดมัน พวกเขาผูกขาดสิทธิในการใช้ชีวิต

นั่นก็เพราะสไปซ์เป็นเครื่องเทศหรือแร่ที่เพิ่มขีดความสามารถให้กับมนุษย์ทั้งในการรับรู้ การสื่อสาร รวมไปถึงการคำนวนแทนซูเปอร์คอมพิวเตอร์ในการเดินทางข้ามอวกาศ อีกทั้งยังส่งผลให้ผู้เสพมันมีดวงตาสีฟ้าที่เรียกว่า ดวงตาแห่งอิบัด (Eyes of Ibad) ซึ่งเป็นดวงตาที่พบเห็นได้ในชนเผ่าเฟรเมนที่คลุกคลีแทบจะตลอดเวลาเพราะเป็นผู้อยู่อาศัยท้องถิ่น

สิ่งที่ยิ่งใหญ่นี้แทรกอยู่อย่างย้อนแย้งในทะเลทรายแห่งดาวอาร์ราคิส และมันเป็นส่วนหนึ่งในวงจรชีวิตของหนอนยักษ์ทะเลทราย ‘ไช-ฮูลูด (Shai-Hulud)’ ที่เกิดจากของเสีย (หรือขี้) ของตัวอ่อนหนอนก่อนที่จะโตเต็มวัย  หรืออันที่จริงถ้าจะให้ถูก ต้องพูดว่าของเหลือของสัตว์ที่ไม่ได้มีสติปัญญาเท่าเรา กลับเป็นตัวกำหนดว่ามนุษย์คนใดที่ครอบครองมัน จะมีอำนาจเหนือผู้อื่นในทุกแง่

อำนาจที่จะสรรหาทรัพยากรและกำลังพลเพื่อมาหล่อเลี้ยงผู้มีอำนาจ และทอดทิ้งผู้ด้อยอำนาจที่ต้องการมัน อีกฉากที่พูดถึงประเด็นนี้ได้อย่างน่าสนใจคือฉากรดน้ำต้นอินทผลัมในองก์แรกของเรื่อง ที่พอลได้เดินไปเจอกับชายผู้หนึ่งที่กำลังนำน้ำซึ่งเป็นของหายากและล้ำค่ากว่าเพชรพลอยเงินทองที่นี่ รดให้กับต้นไม้

พอล: ใครจะไปนึกว่าต้นอินทผลัมจะหาเจอได้ที่นี่

ชายที่กำลังรดน้ำ: ไม่หรอก มันไม่ได้อยู่ได้เองตามธรรมชาติ ถ้าไม่มีข้ามันไม่รอดแน่ แต่ละต้นต้องดื่มน้ำเท่ากับคน 5 คน ทั้งหมดนี่มี 20 ต้น เท่ากับร้อยชีวิตเชียวล่ะ

พอล: ถ้างั้นเราไม่ควรถอนมันแล้วกักเก็บน้ำไว้ใช้หรือ?

ชายที่กำลังรดน้ำ: ไม่ ไม่ ไม่ นี่น่ะ มันศักดิ์สิทธิ์นะ ความฝันอันเก่าแก่เลยล่ะ

ชายผู้นั้นพูดอย่างภูมิใจราวกับกำลังทำหน้าที่อันยิ่งใหญ่อยู่ จริงอยู่ที่ต้นไม้เป็นสัญลักษณ์แห่งการมีชีวิตในทุกๆ บริบท แต่คุณค่าของมันถูกกำหนดโดยมนุษย์ด้วยกันเอง และมันส่งผลให้ลดจำนวนมนุษย์ด้วยกันเอง

นี่เป็นอีกตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าความเชื่อและการใช้ชีวิตโดยอิงความเชื่อเป็นหลักนั้นเกิดผลเสียมากกว่าผลดี คุณค่าของต้นไม้ 20 ต้นกลับมีคุณค่ากว่าชีวิตมนุษย์ 100 คนต่อวัน เพียงเพราะว่ามีคนบอกว่ามัน ‘ศักดิ์สิทธิ์’ อีกทั้งน่าเศร้าที่บางความเชื่อยังเป็นความเชื่อของผู้ปกครอง ที่ผู้ถูกปกครองได้แต่ต้องยอมรับและต้องก้มหน้าก้มตาอาศัยในระบบที่ไม่ได้เลือกอย่างเลี่ยงไม่ได้

ทำให้เห็นว่า แฟรงค์ เฮอร์เบิร์ต เป็นอัจฉริยะที่เขียนให้จักรวาลของเขามีแต่มนุษย์ล้วนๆ เพียวๆ เพื่อที่เราจะได้รู้ว่ามนุษย์สามารถไปได้ไกลแค่ไหน และไม่ว่าจะเป็นอย่างไร ก็ไม่สามารถโทษหรือชื่นชมสิ่งมีชีวิตอื่นได้นอกจากมนุษย์ด้วยกัน

Dune

อีกสิ่งนึงที่น่าสนใจคือ อารยธรรมที่เกิดจากหนอนยักษ์ วงจรชีวิตของหนอนยักษ์ ไช-ฮูลูดนี้มีส่วนในการแปรเปลี่ยนสภาพดาวอาร์ราคิสที่เคยมีน้ำจนกลายเป็นอย่างที่เห็น เป็นดาวแห้งแล้งจนอาศัยอยู่ตอนกลางวันแทบไม่ได้นอกจากใต้ดินและแถบขั้วโลกเหนือ

แทนที่จะนั่งด่าทุกวี่วัน คนพื้นถิ่นชาวเฟรเมนกลับนับถือมันว่าเป็นเทพเจ้า บูชามัน และมีมันเป็นส่วนหนึ่งของอารยธรรมและธรรมเนียม เหตุเพราะความดูอยู่ยงคงกระพัน ดุร้ายไม่เกรงกลัว ดูสูงและยิ่งใหญ่เหนือความเข้าใจ เหมือนโลกจริงของเราที่เทพเจ้าและเรื่องราวความเชื่อ การแต่งกาย ภาษาพูด ประเพณีวัฒนธรรม มักเกิดหรือถูกหล่อหลอมจากสภาพภูมิศาสตร์และสภาพอากาศอันใกล้ เช่นที่เห็นได้ชัดคือ ชาวไวกิ้ง ชาวอียิปต์ ชาวเอสกิโม กับชาวมุสลิม

แฟรงค์จงใจใช้ความอาหรับเป็นแรงบันดาลใจแบบเต็มๆ ในชื่อเรียกต่างๆ นอกจากนี้ยังแทรกในเนื้อเรื่องมากมาย เช่น การที่ชาวเฟรเมนต้องคลุมผ้าก็เพราะฝุ่นควัน (ซึ่งน่าเป็นเหตุผลให้ชาวมุสลิมแถบตะวันออกกลางมักมีผ้าบนหัวตั้งแต่แรก) ส่วนสิ่งที่ชาวเฟรเมนก่อร่างสร้างขึ้นจากสภาพแวดล้อมและสิ่งที่มีอยู่ ก็จะเป็นอาวุธคริสไนฟ์ที่ทำจากเขี้ยวของหนอน กับ สติลสูท ชุดที่กักเก็บน้ำ และรีไซเคิลของเสียในร่างกายให้กลายเป็นน้ำ

เผ่าเฟรเมนยังเรียนรู้วิธีใช้ไช-ฮูลูดเป็นพาหนะที่เดินทางระยะไกลได้เป็นชั่วโมงๆ ด้วยการใช้ตะขอเกี่ยวเพื่อยึด ใช้นวัตกรรมเครื่องตอกเป็นจังหวะที่เรียกว่า ทัมเปอร์ (Thumper) ปักลงพื้นราบเพื่อเรียกหนอนมาขี่ กับเรียนรู้ที่จะควบคุมมันด้วยการแงะเปิดข้อต่อของหนอนเพื่อให้เคลื่อนที่ไปในทางที่พวกเขาต้องการ กับคิดค้นท่าเดินประหลาดๆ เพื่อหลีกเลี่ยงการปะทะกับหนอนยักษ์ และทำให้การถ่มน้ำลายกลายเป็นการแสดงความเคารพขั้นสูง เนื่องจากเป็นการสละน้ำในร่างกายออกไป

รวมไปถึงวิถีชีวิตที่ถูกฝึกฝนให้แข็งแกร่งทางร่างกายและจิตใจ ทั้งปัจจัยทางธรรมชาติที่ทำให้มีอัตราการเสียชีวิตก่อนโตสูง และการที่ต้องหาน้ำเท่าที่หาได้ (ถึงขั้นคนรู้จักไม่ว่าจะสนิทแค่ไหนตายก็จะเอาเลือดไปสกัดเป็นน้ำมาดื่มกินเพราะหายาก) เฟรเมนจึงไม่ต้องการอะไรไปมากกว่าการปลดแอก และรอวันที่จะมีคนปลดปล่อยพวกเขาจากความยากลำบากนี้

Dune

การตายของเด็กชาย การเกิดใหม่ของเด็กหนุ่ม

จักรพรรดิผู้ยังไม่โผล่มาให้เห็นหน้าในหนัง สัมผัสได้ถึงการสั่นคลอนบัลลังก์เมื่อตระกูลฮาร์คอนเนนกับอะเทรดีสทรงอำนาจมากขึ้นเรื่อยๆ จึงได้ทรยศด้วยการใช้ความแค้นอันยาวนานนี้มาห้ำหั่นสะบั้นกันเองโดยมอบหมายให้อะเทรดีสยึดครองอาร์ราคิส จากนั้นก็ส่งทัพเสริมคือกองทัพซาดูคาร์ ไปสมทบกับฮาร์คอนเนนเพื่อทำลายตระกูลอะเทรดีสให้สิ้นซาก และชีวิตของพอลกับตระกูลก็ได้แปรเปลี่ยนไปเป็นโศกนาฏกรรมโดยทันที ไม่ต่างจากตระกูล Stark ของ Game of Thrones แต่เป็นในเวอร์ชั่นอวกาศ

พอลเสียทั้งพ่อ เสียทั้งสถานะ คนติดตาม ความสุขสบาย จาก Home ใหญ่ เป็น Homeless ต้องระเหเร่ร่อนไปกับแม่ของตนในทะเลทรายบนดาวต่างถิ่นวันแล้ววันเล่า ตั้งแต่แรกเริ่ม เขาจะเห็นภาพนิมิตเสมอ โดยเฉพาะนิมิตของผู้หญิงชาวเฟรเมนที่ชื่อ ‘ชานี่ (Chani)’ และในช่วงเวลาที่รอบตัวของเขามีสไปซ์เข้มข้นในอณูอากาศ ความสามารถในการทำนายอนาคตก็ได้ตื่นขึ้น และเขาเกรงกลัวมันอย่างยิ่ง

“นั่นอนาคต มันกำลงจะมา สงครามศักดิ์สิทธิ์แผ่ไปทั่วทั้งจักรภพดั่งเปลวเพลิงที่ไม่อาจหยุดยั้งได้ นักรบกลุ่มศาสนาที่โบยโบกธงตระกูลอะเทรดีสในนามของพ่อข้า กองกำลังบ้าคลั่งที่กำลังบูชากระโหลกศีรษะพ่อของข้า สงครามในชื่อข้า ทุกคนกู่เรียกชื่อของข้า!” การพบหญิงสาวที่ชื่อชานี่ผู้มอบมีดคริสไนฟ์ให้เขา กำลังจะนำเขาไปสู่เส้นทางแห่งสงครามที่ไม่อาจหยุดยั้งได้

พอลตะโกนด้วยความเจ็บปวดและก่นด่า โทษแม่ของเขาที่ทำให้เขาเป็นแบบนี้

เรื่องราวก็ดำเนินมาสู่จุดไคลแม็กซ์ของปฐมบทแห่ง Dune เมื่อสองแม่ลูกอะเทรดีสหนีทหารซาดูคาร์มาได้ ฝ่าพายุทราย และรอดจากไช-ฮูลูดจนมาเจอกับกลุ่มเฟรเมนที่นำโดยสติลการ์ (Stilgar) เขาต้องเข้าต่อสู่กับ จามิส (Jamis) ในฐานะไฟเตอร์ให้กับแม่ตัวเอง โดยเขาเห็นนิมิตมาก่อนแล้วว่าในอนาคตตนจะเป็นพันธมิตรกับชาวเฟรเมนกลุ่มนี้ เพียงแต่ต้องสู้และต้องโดนแทงก่อน แม้กระทั่งจามิสที่เป็นคู่ต่อสู้เองก็จะเป็นผู้ฝึกสอนเขาในภายหลังเช่นกัน

โดยปกติแล้ว มันจะต้องจบลงด้วยการที่ทุกอย่างเป็นไปตามที่คาดหากต้องการให้ผลลัพธ์ออกมาดี เนื่องจากภาพอนาคตแน่นอนแล้วว่าเป็นไปในทางนั้น นี่เป็นอีกจุดที่ทำให้ Dune น่าสนใจขึ้นไปกว่าหนังที่มีตัวเอกเห็นภาพอนาคตแล้วหยุดอยู่แค่นั้น เมื่อตัวละครจามิสกลายเป็นคนแรกที่ถูกเด็กชายสังหารและตายไปซะก่อน เพราะพอลมีฝีมือจากการฝึกฝนตลอดเวลาทำให้หากจะสังหารก็สังหารจามิสได้ตลอด และเขาไม่ยอมถูกแทง

นั่นเท่ากับว่าไม่เพียงแต่พอลเห็นอนาคตแค่ไทม์ไลน์เดียว แต่ยังเห็นอนาคตความเป็นไปได้ของจักรวาลคู่ขนานอีกด้วย ทฤษฎีกาลเวลาในหนัง Dune จึงไม่เพียงแต่พูดถึงอดีต ปัจจุบัน อนาคต และยังออกข้าง และมอบทางเลือกกับโอกาสในการมีเจตจำนงเสรีให้กับพอล อะเทรดีส ด้วยการได้มีสิทธิ์เลือกเอง ซึ่งเมื่อเป็นอย่างนี้ ทั้งเขาและคนดูก็จะเดาไม่ออกเช่นกันว่าเมื่อเห็นอนาคตแบบนึงแล้ว มันจะลงเอยตามนั้นหรือไม่ รวมไปถึงการที่พอลเลือกเดินไปอีกทางจะทำให้เส้นเรื่องในอนาคตเปลี่ยนไปอย่างไร และจะลงเอยตามที่เขาเห็นหรือต้องการให้เป็นหรือเปล่า

Dune

“จักรพรรดิทำให้พ่อข้าต้องมาที่นี่ ไม่ใช่เพื่อคนรวย ไม่ใช้เพื่อสไปซ์ แต่เพื่อให้ความแข็งแกร่งแก่เหล่าชนเผ่าเฟรเมน เส้นทางของข้านำมาสู่ทะเลทรายแห่งนี้ ข้าเห็นมัน”

ในท้ายที่สุดกลายเป็นว่าเด็กชายได้สังหารคนและได้เติบโตขึ้นเป็นเด็กหนุ่มแล้วจริงๆ เขาทำในสิ่งที่ต้องทำ และพอล อะเทรดีส ไม่เลือกที่จะเดินทางไปกับกลุ่มเฟรเมนเพื่อกลับบ้าน แต่เพื่อหลอกใช้ศรัทธาอันแรงกล้าของเฟรเมนและนามแห่งลีซาน อัล-ไกอีบ กับความได้เปรียบที่ได้มาอยู่บนดวงดาวแห่งเดียวบนจักรวาลที่มีสไปซ์ ในการยึดที่นี่เป็นฐานที่มั่นและสนามรบเพื่อรอก่อสงคราม ช่วงเวลาในการสร้างกำลังพล และเพื่อล้างแค้นให้กับพ่อของเขา

น่าสนใจอย่างยิ่งว่าสุดท้ายความแค้นจะนำพอล อะเทรดีส ไปสู่เส้นทางใด และอนาคตจะมืดมนขนาดไหนเมื่อเขาเลือกจะเติมเต็มนิมิตที่ทำให้เขาถึงกับต้องร้องไห้ด้วยความหวาดหวั่น

นี่คือจุดประสงค์หลักในการแต่งนิยาย Dune ที่แฟรงค์ เฮอร์เบิร์ต เคยกล่าวไว้ว่า “Dune มีเป้าหมายถึงการเล็งไปที่ไอเดียของผู้นำที่ถูกมองว่าเลิศเลอเพอร์เฟ็กต์ เพราะในมุมมองของผมเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ มันบ่งชี้ว่าความผิดพลาดที่สร้างโดยผู้นำ (หรือสร้างในนามของผู้นำ) มักแย่ลงตามจำนวนของผู้ที่ติดตามเขาคนนั้นโดยที่ไม่ได้ตั้งคำถาม”

AUTHOR