Drive My Car ในพื้นที่ปลอดภัยที่เราจะโอบกอดความพังทลายในชีวิตของกันและกัน

หากพอจะมีข้อมูลที่คุณจำเป็นต้องรู้เกี่ยวกับ Yusuke อยู่บ้าง คือเขาเป็นชายญี่ปุ่นวัยกลางคนที่ประกอบอาชีพเป็นนักแสดงละครเวที เขาแต่งงานกับหญิงสาวคนหนึ่งและอยู่ร่วมชายคาเดียวกันมาเป็นเวลาหลายปี แล้วเขาก็ขับรถยนต์สัญชาติสวีดิชยี่ห้อ Saab สีแดงแปร๊ดที่คล้ายว่าจะกลายเป็นสัญลักษณ์ประจำตัวของเขาไปแล้ว

และหากพอจะมีข้อมูลที่คุณจำเป็นต้องรู้เกี่ยวกับชีวิตประจำวันของยูสึเกะอยู่บ้าง ก็เห็นจะเป็นคำอธิบายง่ายๆ ทำนองว่า เดิมๆ ซ้ำๆ วนเวียนอยู่กับการท่องจำบทละครเรื่องเดียวที่คล้ายว่าเศษเสี้ยวชีวิตของเขาจะพันธนาการอยู่กับมันอย่างแยกกันไม่ขาด ในระหว่างขับรถยนต์คันเดียวที่มีไปตามจุดหมายปลายทาง ยูสึเกะจะเปิดเทปซึ่งบันทึกคำพูดของตัวละครต่างๆ ที่อ่านออกเสียงโดยภรรยาสาว เทปที่จงใจเว้นว่างอย่างเฉพาะเจาะจงในช่วงจังหวะที่ตัวละครที่รับบทโดยยูสึเกะจะเอ่ยคำพูดขึ้นมา ซึ่งนักแสดงหนุ่มใหญ่ก็จะเปล่งเสียงเพื่อถมช่องว่างให้กับบทละครเรื่องเดิมไปเรื่อยๆ เช่นนี้ ฝึกฝนและจดจำจนกลายเป็นกิจวัตรประจำวัน – ประหนึ่งพิธีกรรม – ที่ยูสึเกะจะต้องปฏิบัติซ้ำๆ ทุกครั้งในระหว่างที่ขับรถยนต์

อาจกล่าวได้ว่า ข้อมูลคร่าวๆ เหล่านี้เพียงพอที่จะช่วยให้คุณรู้จักยูสึเกะขึ้นมาบ้าง ถึงอย่างนั้นมันก็เป็นเพียง ‘ข้อมูลภายนอก’ ที่ตัวละครยินดีจะให้คุณได้รับรู้ เพราะหากได้ลองแหวกหลังม่านการละครไปจ้องมองอีกฉากชีวิตที่หลบซ่อนอยู่ของยูสึเกะ คุณจะได้พบเรื่องเล่าอีกเรื่องหนึ่งที่แตกต่างออกไปจากเรื่องราวในหน้าฉาก เช่นว่า  ยูสึเกะและภรรยาได้สูญเสียลูกสาวเพียงคนเดียวไปเมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน ซึ่งความเศร้านี้ก็คล้ายจะปกคลุมความสัมพันธ์ของทั้งสองเรื่อยมานับแต่นั้น หรือการที่ยูสึเกะเองก็รับรู้ดีว่า พ้นไปจากการร่วมรักกับเขาแล้ว ภรรยาของเขายังร่วมหลับนอนกับชายอื่นอยู่บ่อยๆ ถึงขนาดที่ว่า ยูสึเกะเองก็เคยเห็นภาพที่คนรักกำลังมีเซ็กซ์อย่างเร่าร้อนกับนักแสดงหนุ่มอีกคนหนึ่ง มันอาจเป็นความลับดำมืดของภรรยาที่สามีบังเอิญไปรับรู้อย่างช่วยไม่ได้ หรือมันอาจเป็นความจริงที่ปรากฏตรงหน้าอย่างทนโท่หากนักแสดงหนุ่มกลับยืนยันจะเบือนหน้าหนีอยู่เสมอ จะด้วยเหตุผลกลใดก็สุดแล้วที่ใครจะรู้ได้ แต่นั่นแหละ นี่คือชีวิตประจำวันที่ดำเนินไปของยูสึเกะ มันมีหน้าฉากที่คล้ายจะปลอดโปร่งโล่งสว่าง แล้วมันก็มีหลังฉากที่คล้ายจะอึดอัดและดำสนิท มันมีเสียงของบทละครที่ถูกเปิดเล่นซ้ำๆ แล้วมันก็มีรถยนต์สีแดงหนึ่งคันที่จะขับวนไปอย่างเรื่อยเปื่อยบนท้องถนนในโตเกียว

กิจวัตรประจำวันของยูสึเกะเวียนวนไปอย่างเอื่อยเนือยเฉื่อยช้า จนกระทั่งค่ำวันหนึ่งที่เขากลับบ้านมาพบกับร่างไร้วิญญาณของภรรยานอนนิ่งอยู่กับพื้น เป็นพริบตานั้นเองที่ยูสึเกะพลันตระหนักว่าชีวิตเขาได้พังครืนลงมาอย่างที่ไม่อาจประกอบคืนได้อีกแล้ว

Drive My Car

2.

หลังจากที่ได้แจ้งเกิดให้กับตัวเองจาก Happy Hour (2015) และ Asako I & II (2018) ในปี 2021 นี้ Ryūsuke Hamaguchi ผู้กำกับหนุ่มวัย 42 ก็ได้กลับมาอีกครั้งพร้อมกับภาพยนตร์ใหม่สองเรื่องด้วยกัน ได้แก่ Wheel of Fortune and Fantasy (2021) และ Drive My Car (2021) โดยเรื่องแรกก็ได้พาฮามากูจิไปคว้ารางวัล Silver Berlin Bear ในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเบอร์ลิน ส่วนเรื่องที่สองนี้ก็ได้พาเขาไปคว้ารางวัลบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากเทศกาลหนังเมืองคานส์เมื่อช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

อย่างที่รู้กันดีว่า ฮามากูจิดัดแปลง Drive My Car มาจากเรื่องสั้นชื่อเดียวกันของ Haruki Murakami ซึ่งปรากฏอยู่ในหนังสือรวมเรื่องสั้น Men without Women ที่บอกเล่าเรื่องราวคล้ายๆ กันของนักแสดงวัยกลางคนผู้โดดเดี่ยวซึ่งหลังจากสูญเสียภรรยาผู้เป็นที่รักไปก็อยู่ตัวลำพังคนเดียว กระทั่งได้มาพบกับ Misaki โชเฟอร์สาวที่มารับหน้าที่ขับรถให้กับเขา แม้ว่าโครงเรื่องคร่าวๆ ของ Drive My Car ฉบับภาพยนตร์จะไม่ต่างไปจากฉบับเรื่องสั้นมากนัก นั่นคือหลังจากที่ยูสึเกะสูญเสียภรรยาไป เขาก็ได้พบกับโชเฟอร์สาวผู้มีชื่อเดียวกับในเรื่องสั้น ถึงอย่างนั้น ฮามากูจิก็ประสบความสำเร็จในการสอดแทรกเอกลักษณ์และความสนใจเฉพาะตัวลงไปในเรื่องราวของ Drive My Car ได้อย่างลงตัว โดยที่ยังคงรักษามวลอารมณ์หม่นหมองและความรู้สึกหลอกหลอนที่อยู่ๆ ก็เสียดแทงเข้ามาอย่างเฉียบพลันตามสไตล์มูราคามิไว้ได้อย่างแม่นยำ

แน่นอน ความสนใจเฉพาะตัวของฮามากูจิก็ไม่ใช่อะไรอื่นแต่คือ ‘การแสดง’ (perform) เพียงแต่ความหมายของการแสดงใน Drive My Car กลับไม่ได้หยุดนิ่งตายตัว แต่คล้ายว่าจะปรับเปลี่ยนหรือกระทั่งยักย้ายถ่ายเทอยู่ตลอดเวลา กล่าวได้ว่า ในระนาบหนึ่ง การแสดงที่ว่านี้คือ การแสดงละครเวที (stage performance) ที่หมายรวมถึงกระบวนการต่างๆ ที่ประกอบสร้างละครเวทีเรื่องหนึ่งขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นการอ่านบทละคร การซ้อมบทละคร ไปจนถึงการ ‘เป็นส่วนหนึ่ง’ กับตัวละคร ไม่ว่าจะในระหว่างการซักซ้อม หรือในระหว่างที่ยืนอยู่บนเวที โดยที่ขณะเดียวกัน ความหมายของการแสดงใน Drive My Car ก็ไม่ได้จะยึดโยงอยู่กับละครเวทีเพียงเท่านั้น หากยังกินความหมายที่ครอบคลุมไปถึงการแสดงในชีวิตประจำวันที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างการพบปะสังสรรค์ การกล่าวทักทายกัน ไปจนถึงสีหน้าโศกเศร้าไว้อาลัย 

ในช่วงหนึ่งของบทสัมภาษณ์กับเว็บไซต์ Indiewire ฮามากูจิได้กล่าวไว้ว่า “คนเราต่างก็แสดงอยู่ตลอดเวลา” ซึ่งก็เป็นประโยคสั้นๆ นี่เองที่อาจเรียกได้ว่าเป็นหัวใจสำคัญของภาพยนตร์เรื่องนี้

Drive My Car

3.

Erving Goffman คือนักสังคมวิทยาชาวแคเนเดียน – อเมริกันคนสำคัญ ผู้เขียนหนังสือเล่มดังอย่าง The Presentation of Self in Everyday Life ที่พาเราไปพิจารณาการปฏิสัมพันธ์ของผู้คนในสังคม (Social Interaction) ภายใต้การวิเคราะห์แบบ Dramaturgical Analysis หรือ ‘การวิเคราะห์เชิงละคร’

ในสายตาของกอฟฟ์แมน เขามองว่ามนุษย์ทุกคนต่างก็กำลังแสดงอยู่บนเวที (Stage) โดยที่องค์ประกอบของเวทีแห่งนี้ก็ถูกจัดแบ่งออกเป็นสองส่วนด้วยกัน นั่นคือ ‘หน้าฉาก’ (Front Stage) และ ‘หลังฉาก’ (Back Stage) ในส่วนของหน้าฉาก กอฟฟ์แมนเสนอว่า มนุษย์ทุกคนต่างก็ประกอบสร้างตัวตนและบทบาทหน้าฉากของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้าที่สวมใส่ มารยาท หรือการแสดงออกทางอารมณ์ความรู้สึก โดยที่การประกอบสร้างนี้ก็เป็นไปเพื่อจะนำเสนออัตลักษณ์ที่เฉพาะเจาะจงของตัวเราซึ่งอาจปรับเปลี่ยนไปตาม ‘เวที’ ที่เปลี่ยนไป ยกตัวอย่างเช่น หากคุณเป็นหมอที่อยู่ในโรงพยาบาล คุณก็อาจจำเป็นต้องสวมบทบาทของหมอผู้เชี่ยวชาญเพราะคุณต้องแสดงไปตามบทบาทที่ผู้คนในโรงพยาบาลคาดหวังว่าจะเห็นจากคุณ ในทางกลับกัน เมื่อเวทีของคุณเปลี่ยนจากโรงพยาบาลเป็นห้างสรรพสินค้า บทบาทของคุณก็อาจปรับเปลี่ยนไปเป็นลูกค้ามารยาทดีในห้างสรรพสินค้า ไม่แซงคิว ต่อราคา หรือแสดงอำนาจความเป็นหมอออกมา เพราะนี่คือกติกาทางสังคมของเวทีแห่งนี้ 

พูดให้ชัดขึ้นคือ มนุษย์สวมบทบาทหน้าฉากและมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนในสังคมอย่างระมัดระวังก็เพื่อที่เราจะ ‘ถูกนับรวม’ ว่าเป็นส่วนหนึ่งของสังคมภายใต้จุดประสงค์ที่แตกต่างกันออกไป เพียงแต่ในขณะที่ชีวิตส่วนหนึ่งของเราแสดงอยู่บนหน้าฉาก มนุษย์ทุกคนต่างก็มีหลังฉาก ที่เราจะสามารถปลดเปลื้องตัวเองจากความคาดหวัง ความกดดันต่างๆ ที่ดำเนินอยู่ในหน้าฉากของสังคมได้ เป็นพื้นที่หลังฉากนี่เองที่กอฟฟ์แมนมองว่า มนุษย์จะสามารถเข้าใกล้ตัวตนที่แท้จริง (true-selves) ของตัวเองได้มากที่สุด

ในแง่นี้ หากเราลองพิจารณา Drive My Car ผ่านทฤษฎีของกอฟฟ์แมนจะเห็นว่า ตัวละครต่างๆ ในเรื่องต่างก็ปฏิสัมพันธ์ภายใต้บทบาทที่ปรับเปลี่ยนไปตามหน้าฉากของเวทีที่เปลี่ยนไป เช่น ในเวทีหนึ่ง ยูสึเกะคือนักแสดงละครเวทีผู้โด่งดัง ที่ผู้ชมต่างก็คาดหวังจะได้เห็นการแสดงที่ทรงพลังจากเขา ขณะที่ในอีกเวที ยูสึเกะคือผู้กำกับละครเวทีผู้เก่งกิจ ที่บรรดานักแสดงที่มาแคสต์ต่างก็คาดหวังว่าจะได้รับประสบการณ์ที่ล้ำค่าและคำแนะนำที่คมคายจากเขา ส่วนในอีกเวทีหนึ่ง ยูสึเกะคือสามีแสนดีผู้รักภรรยาสุดหัวใจ แต่ก็อย่างที่กอฟฟ์แมนเสนอไว้ เวทีเหล่านี้ล้วนเป็นเพียงแค่หน้าฉากในชีวิตของชายวันกลางคนเท่านั้น แน่นอนว่ามันอาจบอกอะไรเกี่ยวกับยูสึเกะได้บ้าง ทว่ามันก็เป็นข้อมูลเพียงคร่าวๆ 

เราจำเป็นต้องแหวกไปหลังม่านเพื่อทำความเข้าใจกับเรื่องราวที่มากกว่านี้

Drive My Car

4.

หากพอจะมีอะไรสักอย่างที่เรียกได้ว่าเป็นพื้นที่หลังฉากของยูสึเกะ อะไรที่ว่านั้นคงหนีไม่พ้นรถยนต์ Saab สีแดงแปร๊ดที่เขาขับพาตัวเองไปไหนต่อไหน เพราะสำหรับยูสึเกะ บ้านไม่เคยเป็นพื้นที่ปลอดภัย ยิ่งเมื่อได้เห็นกับตาว่า ภรรยาของตัวเองได้พาผู้ชายคนอื่นมามีเซ็กซ์ถึงในบ้านด้วยแล้ว พื้นที่แคบๆ ในรถคันเก่าที่เขาจะสามารถนั่งอยู่เงียบๆ ได้อย่างลำพังคนเดียวจึงสร้างความรู้สึกปลอดภัยให้กับยูสึเกะเสมอมา

สอดคล้องไปด้วยกัน รถคันนี้ยังเป็นพื้นที่เพียงแห่งเดียวที่ยูสึเกะจะสามารถปลดเปลื้องความนึกคิดที่เขามีต่อภรรยาได้อย่างไม่ต้องสนใจใคร ผ่านการต่อบทกับเทปเสียงบทละครไปเรื่อยๆ แม้ว่ายูสึเกะจะกล่าวอ้างว่า การซักซ้อมนี้คือกิจวัตรประจำวันที่เขาชาชิน แต่หากเราลองสังเกตคำพูดที่ตัวละครของเขาโต้ตอบกลับไปยังเสียงของภรรยาที่บันทึกไว้ ไม่ว่าจะเป็น “ชีวิตของฉันช่างสูญเปล่า” หรือ “ผู้หญิงไม่ควรจะได้รับการอภัยจากการนอกใจของเธอ” เหล่านี้ล้วนเป็นคำพูดที่ – หากไม่ได้ยืมปากของตัวละครสมมติในละครเวทีพูดแล้ว – ยูสึเกะไม่เคยจะเอ่ยกับใครเลยด้วยซ้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับภรรยา ที่คล้ายว่า ภายใต้ฉากหน้าของสามีผู้แสนดี คำพูดเหล่านี้ต่างหากคือตัวตนจริงๆ ของยูสึเกะที่เขาไม่สามารถเปิดเผยออกมาให้ใครได้เห็นได้ จำเป็นต้องพร่ำพ่นซ้ำๆ กับตัวเองข้างหลังพวงมาลัยอยู่ร่ำไป

นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมยูสึเกะจึงปฏิเสธเป็นพัลวันเมื่อพบว่า มิซากิ หญิงสาวรุ่นราวคราวลูกจะมาเป็นโชเฟอร์คอยขับรถให้กับเขา มันไม่ใช่เพราะยูสึเกะไม่ไว้วางใจทักษะการขับรถของมิซากิ หรือมองว่าผู้หญิงขับรถได้แย่กว่าผู้ชายแต่อย่างใด แต่เป็นเพราะความคิดที่ว่า เขากำลังจะอนุญาตให้ใครสักคนหนึ่งที่เขาไม่รู้จักเข้ามาในพื้นที่หลังฉากของเขาต่างหาก เป็นความรู้สึกว่า เขากำลังจะสูญเสียพื้นที่ปลอดภัยเพียงแห่งเดียวไปต่างหากที่รบกวนจิตใจยูสึเกะอย่างที่สุด 

อย่างไรก็ตาม Drive My Car คือภาพยนตร์ที่แสดงให้เห็นว่า ไม่ว่าจะเรียกว่า ฉากหลัง หรือพื้นที่ปลอดภัย แต่เส้นแบ่งของอาณาเขตเหล่านี้สามารถที่จะยืดขยายออกได้ ไม่จำเป็นว่าฉากหลังจะต้องเป็นพื้นที่เฉพาะเจาะจงของปัจเจกเสมอไป นั่นเพราะปัจเจกก็สามารถที่จะอนุญาตให้ใครสักคนหนึ่งเข้ามาอยู่ในพื้นที่แห่งนี้ได้ ใน Drive My Car เราได้เห็นว่า ความไว้วางใจที่ค่อยๆ พัฒนาไประหว่างยูสึเกะและมิซากิไม่เพียงจะนำไปสู่ปลายทางที่ยูสึเกะอนุญาตให้มิซากิเข้ามาในฉากหลังของเขาเท่านั้น แต่มิซากิเองก็ได้อนุญาตให้ยูสึเกะรับรู้ถึงฉากหลังที่เด็กสาวคอยแต่จะกลบฝังอยู่ภายใต้ฉากหน้าที่เฉยชา แห้งแล้งไร้ปฏิสัมพันธ์

เป็นภายในรถยนต์ยี่ห้อ Saab บุโรทั่งคันนี้เองที่มนุษย์สองคนได้แบ่งปันฉากหลังของกันและกันอย่างบริสุทธิ์ใจ

5.

ในบทสัมภาษณ์กับสำนักข่าว The Guardian ฮามากูจิเล่าว่า ในช่วงปี 2011 ขณะที่เขากำลังถ่ายสารคดีเกี่ยวกับแผ่นดินไหวในญี่ปุ่น เขากับผู้กำกับร่วมอีกคนหนึ่งมักจะขับรถไปเรื่อยๆ วันละหลายชั่วโมง “โดยปกติแล้วเราสองคนไม่ค่อยจะคุยกันเท่าไหร่หรอกครับ แต่ผมกลับพบว่า พวกเราคุยกันมากขึ้นพอนั่งอยู่ในรถ”

ผมไม่รู้ว่าฮามากูจิกับผู้กำกับร่วมของเขาพูดคุยอะไรกันบ้างในระหว่างที่เส้นสายของทิวทัศน์สองข้างทางเคลื่อนผ่านไป จะเป็นเรื่องความปวดหัวที่พบเจอในกองถ่ายหรือเปล่า หรือจะเป็นการนั่งปรับทุกข์ต่อความเหน็ดเหนื่อยของชีวิตที่ไม่เคยจะมีอะไรง่าย

จะเกี่ยวข้องกับผู้คนรอบตัวพวกเขาทั้งคู่หรือเปล่า หรือจะเป็นอะไรที่ส่วนตัวกว่านั้น ก็สุดแล้วแต่ที่ผมจะรู้ได้

AUTHOR