THINGG : เฟอร์นิเจอร์ที่มีกลิ่นอายของงานคราฟต์แบบไทยๆ

หนึ่งในแบรนด์งานออกแบบที่หยิบความเป็นไทยเข้าไปใส่แล้วสะดุดตาเรามากๆ คือแบรนด์ THINGG ซึ่งมีสินค้าที่ทำจากวัสดุไทยๆ รูปทรงแบบไทยๆ หรือของใช้แบบไทยๆ ที่หยิบจุดเด่นบางอย่างมาปั้นต่อให้กลายเป็นเฟอร์นิเจอร์และของใช้ที่ดูสนุกและร่วมสมัยอย่างประหลาด ไอเดียเหล่านั้นเกิดจากนักออกแบบสองคน เดชา อรรจนานันท์ และ พลอยพรรณ ธีรชัย จาก THINKK Studio ที่ช่วยกันสร้างแบรนด์นี้ขึ้นมาโดยใส่เอกลักษณ์ของความเป็นไทยเข้าไป ตั้งแต่การตั้งชื่อผลิตภัณฑ์ วัสดุที่ใช้ รูปทรงของสินค้าที่คุ้นตาเหมือนของในครัวคุณแม่

เขาและเธอรู้ว่า ความเป็นไทยนั้นเท่เกินกว่าจะอยู่แค่ในเมืองไทย พวกเขาพัฒนาไอเดียนี้จนก่อร่างสร้างแบรนด์ได้อย่างไร ลองอ่านกันนะ

ไทยเท่

เดชา : “เราสองคนทำบริษัทออกแบบเฟอร์เจอร์หรือผลิตภัณฑ์ที่ชื่อ THINKK Studio แล้วก็มีโอกาสได้เข้าไปทำงานร่วมกับหน่วยงานของรัฐต่างๆ เช่น ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ ซึ่งโจทย์คือเขาอยากให้เราช่วยเข้าไปพัฒนางานฝีมือของชุมชนต่างๆ”

พลอยพรรณ : “เราได้เข้าไปออกแบบให้งานฝีมือเหล่านั้นมีราคามากขึ้น จากที่เคยขายได้ 50 – 100 บาท ก็ไปปรับเปลี่ยนดีไซน์ให้มันขายได้เยอะขึ้น เพราะเรามองเห็นว่างานฝีมือหรือภูมิปัญญาเหล่านี้มันน่าจะขายได้ในราคาดีและคุ้มค่ากว่าที่ชุมชนจะทำเพียงของที่ระลึกเพียงอย่างเดียว คนต่างชาติหรือชาวยุโรปก็จะให้ค่ากับงานฝีมือแบบนี้อยู่แล้ว ซึ่งเราและดีไซเนอร์หลายๆ คนก็เข้าไปช่วยออกแบบเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าให้เยอะขึ้น กลายเป็นงานที่ค่อนข้างร่วมสมัยแล้วก็ใช้ได้ในชีวิตประจำวัน แต่กลายเป็นว่าสินค้าที่เราทำก็เหมาะกับตลาดส่งออกหรือชาวต่างชาติมากกว่า ซึ่งชุมชนก็ไม่ได้มีช่องทางที่จะเข้าไปขายในตลาดนั้นได้ จึงทำให้เราเสียดายว่าสิ่งที่ออกแบบมา ชุมชนอาจไม่ได้เอาไปใช้ หรือชุมชนก็ไม่มีรายได้ที่เพิ่มมากขึ้นจากตรงนี้ เราจึงคิดว่าน่าจะทำแบรนด์ขึ้นมาเพื่อช่วยขายของให้ชุมชน คือเรามองว่า ถ้าเราขายได้ เราก็สร้างงานให้คนในชุมชนได้”

ประกอบฝัน

พลอยพรรณ : “การสร้างแบรนด์เป็นความฝันของเรามานานแล้ว คือเราเรียนจบด้านออกแบบผลิตภัณฑ์ ก็อยากจะสร้างแบรนด์เฟอร์นิเจอร์เป็นของตัวเอง แต่พอมีจุดหนึ่งที่เราทำงานจริงจัง เปิดสตูดิโอเป็นของตัวเอง ก็อยากจะทำงานของสตูดิโอให้มีคุณภาพ โฟกัสที่งานออกแบบเป็นหลัก แต่หลังจากได้มีโอกาสเข้าไปช่วยชุมชน เราก็เริ่มคิดถึงการทำแบรนด์สินค้าเป็นของตัวเอง เพราะเราอยากจะพิสูจน์ตัวเองว่าดีไซน์ที่เราคิดออกมา มันจะขายได้ เลยตัดสินใจทำแบรนด์ THINGG อย่างจริงจัง โดยจะเน้นการผลิตของชิ้นเล็กๆ ก่อน เป็นสินค้าที่เราสามารถดูแลการผลิตเองได้”

เรียบง่ายและใช้งานได้จริง

พลอยพรรณ : “ปกติแล้วงานที่เราทำจะเรียบง่ายและมีความเป็นไทยเข้าไปผสมอยู่แล้ว ตอนที่คิดทำแบรนด์ THINGG ก็เช่นเดียวกัน คือเรามองเห็นว่าเมืองไทย วัสดุไทยที่มีเยอะมาก งานคราฟต์ก็มีเยอะมาก มันมีวัตถุดิบที่เอามาทำอะไรได้อีกเยอะ ส่วนหนึ่งเราคิดว่าถ้าเราออกแบบงานด้วยวัสดุทั่วไป มันก็จะกลายเป็นของอีกชิ้นหนึ่งในตลาดที่ไม่ได้มีเอกลักษณ์ บวกกับเราเป็นดีไซเนอร์ไทยด้วย ถ้าเราเอาเรื่องหัตถกรรมชุมชนมาใช้ก็น่าจะดี งานที่เราทำก็ได้กลับไปช่วยชุมชนด้วย ให้กลายเป็นคาแรกเตอร์ของแบรนด์ เรามีทั้งผลิตภัณฑ์งานคราฟต์ และผลิตภัณฑ์ที่ใช้เทคโนโลยีอุตสาหกรรมเข้ามาช่วย เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ดีทั้งดีไซน์และคุณภาพ”

เดชา : “ถ้าเราโฟกัสว่าอยากจะแข่งกับเวทีโลก เราก็ต้องสร้างเอกลักษณ์ที่แตกต่างจากงานออกแบบทั่วไปให้ได้ ซึ่งสำหรับงานฝีมือของชาวบ้าน บางทีมันคือการลดทอนงานแค่นิดเดียว ไม่ต้องเย็บหรือสานให้ซับซ้อนแบบที่ชุมชนเคยทำก็สวยแล้ว แล้วก็ออกแบบให้งานฝีมือเข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวันของคนมากขึ้น จากที่เคยเป็นแค่ของฝากหรือของชำร่วย เพราะจริงๆ แล้วคนสมัยก่อนจะใช้เครื่องใช้หัตถกรรมในชีวิตประจำวันกันจริงๆ ซึ่งเราก็จะพยายามออกแบบโดยเติมฟังก์ชันการใช้งานลงไป”

ทำงานร่วมกับชุมชน

พลอยพรรณ : “เราคุยกับคนในชุมชนเลยว่าเขามีสินค้าอะไรบ้าง เช่น เดิมทีเขาสานกระเป๋า สานตะกร้าอยู่ เราก็จะมาคิดว่าวัตถุดิบเหล่านั้นจะนำมาทำอะไรได้อีก ซึ่งก็แล้วแต่ชุมชนว่าปกติทำงานฝีมือแบบไหน เช่น บางบ้านที่เน้นเรื่องการทอผ้า เราก็ให้เขาทอผ้ามาส่ง เพื่อนำไปใช้เป็นวัตถุดิบตั้งต้นเพื่อประกอบกับส่วนประกอบอื่นๆ อย่างโคมไฟของเรา ที่เกิดจากการสานของใบลาน แต่เดิมของชุมชนทำเป็นรองเท้า เป็นกล่องทิชชู่ คือขายในปริมาณเยอะแต่ได้กำไรนิดเดียว”

เดชา : “หลักการคิดออกแบบหรือพัฒนาสินค้าของเราก็จะคิดว่า จะทำอย่างไรที่จะเพิ่มมูลค่าของสินค้าได้ บางทีให้เขาได้ทำงานน้อยลง เสียวัสดุน้อยลง แต่ได้กำไรมากขึ้นกว่าเดิม คือเราไม่ได้บอกว่าต้องปรับเปลี่ยนอะไร แต่การทำงานกับชุมชนก็ไม่ใช่เรื่องง่าย คือถ้าเราเข้าไปคุยกับ 10 ชุมชน อาจจะมีแค่หนึ่งชุมชนที่เราสามารถร่วมงานกันต่อได้ ทั้งในเชิงคุณภาพของการผลิตแล้วก็ความเชื่อใจซึ่งกันและกัน”

ไทยคิด ไทยดีไซน์

เดชา : “SARN lamp (โคมไฟสาน) เป็นสินค้าที่เราทำงานร่วมกับชุมชนบ้านทับลานที่จังหวัดปราจีนบุรี เขาจักสานหมวก กระเป๋า รองเท้า จากใบลานอยู่แล้ว ซึ่งใบลานของชุมชนนี้จะมีสีขาว ซึ่งทำให้เรานำไปย้อมสีได้สดกว่าพวกไม้ไผ่ แล้วก็ใช้การย้อมสีใบลานแล้วนำมาสานแบบเล่นสีตัดกัน เกิดเป็นลายแพตเทิร์นใหม่ขึ้นมา”

พลอยพรรณ : “ความเป็นไทยที่เราใส่เข้าไปในงาน เราไม่ได้ตะโกนออกไปว่าฉันเป็นดีไซเนอร์ไทยหรือฉันมาจากประเทศไทยนะ เราใส่กลิ่นอายเข้าไปเพื่อให้งานออกแบบนั้นมันสนุก ดูไม่เครียด ดูไม่เพอร์เฟกต์ ซึ่งเรามองว่านี่คือคาแรกเตอร์ที่ตรงกับงานออกแบบของเรา คือมันไม่ได้ดูเนี้ยบกริบหรือไทยจ๋า แต่มันมีดีไซน์ที่น่าสนใจ สนุก และก็น่าจะเซอร์ไพรส์ใครหลายคนเมื่อรู้ว่าไอเดียของสินค้าชิ้นนั้นคืออะไรหรือเอาวัสดุมาจากไหนมากกว่า”

meet the dream shop

location: Siam Discovery | 3rd Floor

ทุกความฝันเป็นจริงได้เมื่อลงมือทำ โดยวิธีทำของแต่ละคนก็แตกต่างกัน บางคนอาจจะลองผิดลองถูกลุยกับมันสักตั้ง แต่สุดท้ายแล้วไม่ว่าผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร อย่างน้อยความฝันก้อนนั้นก็ออกมาเป็นรูปเป็นร่างมากกว่าคนที่คิดฝันเพียงอย่างเดียว พบหลายความฝันที่จะเป็นแรงบันดาลใจให้คุณลงมือทำที่ Siam Discovery

ภาพ มณีนุช บุญเรือง

AUTHOR