Plastic Plastic : วงพี่น้องสุดน่ารักกับอัลบั้มแรกใหม่สดจากบ้าน

ขอสารภาพว่าเราเป็นแฟนคลับตัวยงของ Plastic Plastic วงป๊อปแสนน่ารักที่แจ้งเกิดจากงานประกวดดนตรีของคลื่น Good FM มีสมาชิกเป็นคู่พี่น้องคือ ป้อง-ปกป้อง จิตดี และ เพลง-ต้องตา จิตดี เมื่อได้ข่าวว่าทั้งคู่เพิ่งออกจากค่าย Believe Records ที่เคยอยู่มาเป็นศิลปินอิสระ และจะมีอัลบั้มเต็มชุดแรกในชีวิตชื่อ STAY AT HOME เราเลยไม่รอช้ารีบโทรไปหาต้องตา (ซึ่งปีที่แล้วมาฝึกงานกับเราจนคุ้นเคยกันดี) เพื่อจองตัวเธอและพี่ชายมาคุยด้วย

ในวันสัมภาษณ์จริง ต้องตาเดินออกมารับเราที่หน้าบ้าน แล้วบทสนทนาของเรากับวง Plastic Plastic ว่าด้วยอัลบั้มที่ชื่อแปลว่าอยู่บ้านก็เริ่มขึ้น

 

เลือกเดินทางเส้นใหม่

ปกป้อง: “เราเลือกออกมาเป็นศิลปินอิสระ เพราะการสังกัดค่ายมันมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีคือเขาจัดการเรื่องต่างๆ ให้เรา แต่มันก็จะมีคนที่มาฟังเพลงของเราด้วยว่าแบบนี้ใช่หรือไม่ใช่ เพลงที่เราทำมันต้องมีแนวโน้มที่จะป๊อป จะขายได้”

เพลง: “แต่ทางค่ายเขาก็เข้าใจนะ พอเราออกมาเพราะอยากทำเพลงเอง พี่บอล สครับบ์ ก็ตามมาช่วย มาเป็นที่ปรึกษาให้”

 

เริ่มต้นที่บ้าน

เพลง: “อัลบั้มนี้มีคอนเซปต์ว่า STAY AT HOME เพราะเรามีความผูกพันกับบ้านเยอะ ทั้งเป็นพี่น้องที่อยู่บ้านหลังเดียวกัน แล้วเรื่องการทำเพลง เราก็เริ่มทำที่บ้าน แล้วก็ทำที่นี่มาเรื่อยๆ มันเหมือนพวกเราโตมากับบ้าน เล่นดนตรีมากับบ้านตลอด”

ปกป้อง: “ที่จริงก็เป็นเหมือนประชดนิดนึงด้วย คือเราเห็นคนชอบไปเที่ยวเหลือเกิน โพสต์เฟซบุ๊กบอกว่าไปเที่ยวประเทศนั้น ประเทศนี้ เราก็อยู่บ้านแม่งเลย (หัวเราะ) อีกอย่างคือการไปเที่ยวที่ไหน สรุปก็ต้องกลับมาที่บ้าน มันเป็น final destination”

เล่าเรื่องเล็กๆ เล่าเรื่องง่ายๆ

เพลง: “เพลงของ Plastic Plastic จะไม่พูดสิ่งที่คมคาย เพราะเราเป็นคนไม่ชอบอะไรยากๆ ชอบสิ่งที่ฟังแล้วเข้าใจเลย อย่างเพลง เปิดประตู ที่อยู่ในอัลบั้ม ก็พูดอยู่อย่างเดียวว่าเข้าบ้านไม่ได้ หรือเพลง หยิบแฮมเป็นแผ่นที่หก ก็เป็นเรื่องว่าเราหิว หยิบแฮมมากิน 6 แผ่น”

ปกป้อง: “ที่จริงมีเพลงญี่ปุ่นอยู่เพลงนึงพูดเรื่องตัดผมหน้าม้าแล้วสั้นไป แค่นี้เอง แต่เพลงก็ดังนะ”

 

หาไอเดียจากไดอารี่

เพลง: “แรงบันดาลใจในการแต่งเพลงส่วนใหญ่จะมาจากไดอารี่ เราชอบเขียนไดอารี่เวลาไปเที่ยวและส่วนใหญ่จะเขียนในวันที่มีความสุข มันเลยมีแต่เรื่องดีๆ บางทีเราหาเนื้อไม่ได้ พี่ป้องก็หยิบไดอารี่เรามาอ่านแล้วบอกว่าเอาอันนี้ แล้วก็มีหลายเพลงที่เราร้องตามไดอารี่ไปเลย เช่น เพลงชื่อ The Trip เราก็ร้องตามไดอารี่ที่เขียนลงใน WordPress.com”

 

พูดอังกฤษง่ายกว่า

ปกป้อง: “อัลบั้มนี้มีเพลงฝรั่งมากกว่าเพลงไทย เหตุผลข้อหนึ่งคือ เพลงภาษาอังกฤษพูดเรื่องอะไรก็ได้โดยฟังแล้วไม่เขิน ข้อสองคือ เมโลดี้มันเลื้อยไปเรื่อยๆ
ได้ ไม่ค่อยตายตัว จริงๆ แล้วจุดเปลี่ยนที่ทำให้เพลงเรากลายมาเป็นแบบนี้คือตอนที่เพลงไปเมืองนอก แล้วหลังจากนั้นก็ชอบเขียนไดอารี่เป็นภาษาอังกฤษ”

เพลง: “ตอนนั้นเราไปต่างประเทศ แล้วอยู่ดีๆ ก็อยากเขียนภาษาอังกฤษ เพราะภาษาไทยเราจะมีความรู้สึกเขินนิดๆ ไม่ค่อยเข้าใจเหมือนกัน (หัวเราะ) ทีนี้เวลามาแต่งเพลง มีบางเพลงที่คิดไว้แล้วว่าเดี๋ยวจะใส่เนื้อไทย พอลองใส่ดู มันตลก แต่พอใส่เนื้ออังกฤษกลับดี ทำไปทำมา เพลงเราก็เลยเป็นภาษาอังกฤษเยอะ”

ทำเพลงแบบ Plastic Plastic ยุคใหม่

ปกป้อง: “ตอนอยู่ในค่ายเพลงที่เราทำจะค่อนข้างเนี้ยบ แต่ในอัลบั้มนี้ เพลงมันจะมีเละๆ ไม่สมบูรณ์แบบอยู่เหมือนช่วงแรกๆ ที่พวกเราเคยเอาเพลงมาคัฟเวอร์กัน เพราะเราไม่ได้ชอบให้ทุกอย่างดีหมด แล้วมันจะมีช่วงที่ผมแยกไปทำวงชื่อ Gym and Swim สักพัก แล้วค่อยกลับมาทำ Plastic Plastic อีกรอบ ทำให้ผมได้เก็บประสบการณ์การสร้างสรรค์ดนตรีมาปล่อยในอัลบั้มนี้ เช่น การใช้ซาวนด์แปลกๆ การ arrange เพลงที่ดีขึ้น เท่ขึ้น อีกอย่างคือเราพยายามไม่มองว่าวงเป็นแบนด์ที่ต้องมีกลอง เบส เปียโน กีตาร์ เพลงทุกเพลงเป็นแบบนี้ แต่คิดว่าอันนี้คือจังหวะ อันนี้คือเสียงต่ำ เสียงสูง มากกว่า มันช่วยให้เราปลดล็อก ทำดนตรีแบบอื่นได้”

เพลง: “เรื่องของเนื้อเพลงก็เปลี่ยนเยอะ เหมือนแต่ก่อนเราคิดว่าเวลาแต่งเพลงก็ต้องแต่งให้เกี่ยวกับความรักคนถึงอยากฟัง แต่ตอนนี้รู้สึกว่าไม่เห็นจำเป็นเลย บางทีเราแค่อยาก express บางอย่าง ไม่เห็นจำเป็นต้องเป็นเรื่องความรัก บางทีอยากบ่นเรื่องนี้ ทำไมจะเอามาเป็นเพลงไม่ได้ แล้วเรื่องของสูตรการแต่งเพลง ปกติเพลงป๊อปทั่วไปจะมีแพตเทิร์นของคอร์ด ในอัลบั้มนี้ก็จะมีเพลงที่เราแต่งตามสูตร แต่บางเพลงก็จะลองแต่งแบบอื่นดูบ้าง”

ฟังแล้วขอให้มีความสุข

เพลง: “เราอยากให้คนฟังเพลง Plastic Plastic แล้วอารมณ์ดี คลายเครียด ไม่ต้องคิดอะไรมาก เพราะพวกเราไม่รู้จะสอนอะไร ไม่มีอะไรจะสอน (หัวเราะ) สำหรับอัลบั้มนี้ เราหวังแค่คนจำนวนนึงชอบเพลงของเรา แค่นี้พวกเราก็ดีใจแล้ว”

ภาพ ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ

 

AUTHOR