ข้าวสารัช : เมื่อข้าวออร์แกนิกช่วยให้สัตว์สูญพันธุ์จากธรรมชาติกลับมา

‘ข้าวสารัช’ คือข้าวจากนาออร์แกนิกของจังหวัดบุรีรัมย์ที่ไม่ใช่แค่ข้าวธรรมดา แต่คือข้าวที่ช่วยให้ ‘นกกระเรียนพันธุ์ไทย (Eastern Sarus Crane)’ สัตว์ป่าที่เคยสูญพันธุ์จากธรรมชาติกลับสู่ท้องทุ่งของไทยอีกครั้ง

ในอดีต นกกระเรียนพันธุ์ไทยคือหนึ่งในสัตว์ป่าสงวนของไทยที่เคยมีอยู่ชุกชุมตามพื้นที่ชุ่มน้ำที่สะอาด เช่น หนองน้ำ บึงน้ำ และท้องนา เป็นตัววัดความสมบูรณ์ของระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำ ไม่ต่างจากเสือหรือนกเงือกที่เป็นตัววัดความสมบูรณ์ของผืนป่า แต่หลายสิบปีก่อน นกบินได้ขนาดใหญ่ที่สุดในโลกชนิดนี้สูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติของเมืองไทย สันนิษฐานว่ามันอาจถูกคนล่ามาตั้งแต่ช่วงสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 รวมถึงไม่อาจอยู่รอดเมื่อการเกษตรสมัยใหม่ที่ใช้สารเคมีกลายเป็นที่นิยม มีรายงานการพบนกกระเรียนในธรรมชาติครั้งสุดท้ายเมื่อประมาณ พ.ศ. 2511

เป็นเวลา 40 กว่าปีที่ภาพนกกระเรียนเดินอยู่ตามบึงน้ำ หรือโผบินเต็มฟ้าไม่ปรากฏให้เราเห็นอีก แม้มีความพยายามนำนกกระเรียนพันธุ์ไทยที่ยังหลงเหลือในที่เพาะเลี้ยงปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ จนเมื่อไม่ถึงสิบปีมานี้ องค์การสวนสัตว์และกรมอุทยานแห่งชาติได้ก่อตั้งโครงการ ‘นกกระเรียนพันธุ์ไทยคืนถิ่น’ หรือ Sarus Crane Reintroduction Project ขึ้น เพื่อนำนกกระเรียนปล่อยคืนสู่ธรรมชาติอีกครั้ง บริเวณอ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มาก จังหวัดบุรีรัมย์ หลังกระบวนการเตรียมการอันยาวนาน ในที่สุด โครงการครั้งนี้ก็ประสบผลสำเร็จ นกกระเรียนไทยพ้นจากสถานะสูญพันธุ์จากธรรมชาติของไทย และเมื่อปลายปี 2559 ที่ผ่านมาก็มีเรื่องน่าชื่นใจคือ มีลูกนกกระเรียนไทยเกิดขึ้นในธรรมชาติได้เป็นครั้งแรก เป็นเครื่องยืนยันความสำเร็จอีกขั้น

การคืนถิ่นของนกกระเรียนพันธุ์ไทยถือเป็นข่าวดีและความหวังของคนไทย แต่เรื่องดีๆ นี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ หากปราศจากความพยายามและความร่วมมือของหลายภาคส่วน ตั้งแต่ทีมงานโครงการจนถึงชาวบ้านจังหวัดบุรีรัมย์ เจ้าของผืนนาออร์แกนิกที่มาของข้าวสารัชซึ่งนกกระเรียนพันธุ์ไทยได้อาศัย

กว่านกกระเรียนจะได้กลับไปอยู่ในธรรมชาติมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง ดร.บริพัตร ศิริอรุณรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์และวิจัย องค์การสวนสัตว์ฯ จะมาเล่าให้เราฟัง

ความสำเร็จที่ไม่ได้เกิดขึ้นชั่วข้ามคืน

ผลลัพธ์น่าภาคภูมิใจของโครงการนกกระเรียนพันธุ์ไทยคืนถิ่นเกิดขึ้นได้เพราะมีการทำงานอย่างเชี่ยวชาญ เป็นระบบ ใช้กำลังคน เวลา และงบประมาณมหาศาล ดร.บริพัตรย้อนเล่าว่า หลังนกกระเรียนพันธุ์ไทยสูญพันธุ์จากธรรมชาติ เรายังโชคดีที่มีการเพาะเลี้ยงนกชนิดนี้ไว้ที่สวนสัตว์นครราชสีมาและสถานีเพาะเลี้ยงนกน้ำบางพระ ทำให้มีต้นพันธุ์ที่เป็นความหวังของการปล่อยนกกระเรียนพันธุ์ไทยสู่ธรรมชาติโดยไม่ต้องไปหาจากต่างประเทศ นอกจากนั้น นกกระเรียนที่มีอยู่ยังแข็งแรงสมบูรณ์ และมีจำนวนมากพอ หากินในธรรมชาติเองได้ จึงมีความพยายามทำโครงการปล่อยนกกระเรียนที่ทุ่งกะมัง ภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ

หลังจากนั้น มีการสะสมองค์ความรู้นกกระเรียนพันธุ์ไทยที่สวนสัตว์นครราชสีมาหลายสิบปีจนเริ่มเชี่ยวชาญ มีจำนวนนกมากพอ จึงเกิดโครงการนกกระเรียนพันธุ์ไทยคืนถิ่นที่ถอดบทเรียนจากความพยายามครั้งก่อน และเกิดจากความร่วมมือของหลายฝ่ายทั้งในและนอกประเทศ รวมถึงมูลนิธินกกระเรียนสากล (International Crane Foundation) ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านนกกระเรียนอันดับหนึ่งของโลก ตัวโครงการเริ่มด้วยการค้นประวัติศาสตร์จนพบว่า นกกระเรียนเคยมีอยู่ในไทยจริง คนกับนกเคยอยู่ร่วมกันได้ จากนั้นก็ทำการวิจัยโดยตั้งคำถามว่า ทำไมนกถึงหายไปจากประเทศไทยและไม่ย้ายถิ่นกลับมา ทั้งที่นกยังมีอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น พม่า ลาว และกัมพูชา ดร.บริพัตรบอกว่าสิ่งเหล่านี้คือคำถามที่ต้องตอบให้ได้ ไม่อย่างนั้นการปล่อยนกก็จะเป็นการปล่อยโดยไม่ใส่ใจเปอร์เซ็นต์การรอดหรือตาย

หลังวิจัยจนเข้าใจ ทีมงานก็ค้นหาพื้นที่เหมาะสมเพื่อปล่อยนกกระเรียน ปกติแล้วนกชนิดนี้อาศัยในพื้นที่ชุ่มน้ำที่สะอาด มีอาหารอุดมสมบูรณ์ตลอดปี ทีมงานจึงต้องคัดเลือกพื้นที่กันอย่างเข้มข้น จนในที่สุดก็ได้พื้นที่เหมาะสมที่สุดคือ อ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มาก จังหวัดบุรีรัมย์ จากนั้นจึงคัดเลือกลูกนกที่ปราดเปรียว กลัวคน ทั้งที่เลี้ยงโดยพ่อแม่นกและทีมงานพี่เลี้ยง (อย่างหลังนั้นทางทีมงานต้องใส่ชุดนกกระเรียนในการดูแล ป้อนอาหารลูกนก เพื่อลูกนกไม่ให้ผูกพันกับคน) นำมาปล่อยในกรงบริเวณพื้นที่จริงเพื่อให้ลูกนกปรับตัว ติดวิทยุดาวเทียมติดตามผล แล้วจึงปล่อยนกกระเรียนสู่ธรรมชาติ

ปัจจุบันนี้มีนกกระเรียนพันธุ์ไทยคืนถิ่นแล้วราว 80 ตัว อัตราความสูญเสียหลังการปล่อยอยู่ที่ประมาณ 30 – 40 เปอร์เซ็นต์ซึ่งถือว่ารับได้ นกที่ยังอยู่รอดเติบโต จับคู่ผสมพันธุ์ จนมีลูกนกที่เกิดในธรรมชาติเป็นครั้งแรกเมื่อปลายปีที่ผ่านมา หลังไม่มีเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นมาเกือบ 50 ปี นับได้ว่าโครงการนกกระเรียนพันธุ์ไทยคืนถิ่นประสบความสำเร็จอย่างงดงาม โครงการนี้จึงถือเป็นความหวังของการอนุรักษ์สัตว์ป่าให้อยู่คู่คนไทย

“นกกระเรียนคือความหวัง มันคือความสำเร็จในการอนุรักษ์สัตว์ป่าแบบบูรณาการร่วมกัน ทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาชน ภาคธุรกิจ ทำให้เห็นว่าเราต่อสู้เรื่องการสูญพันธุ์ของสัตว์ป่าได้ในระดับหนึ่ง ถ้าเราตั้งใจจริง ลงทุน มีความมุ่งมั่น ผมว่ามันยิ่งใหญ่มาก คือเราจะนั่งดูมันตายไปโดยที่ไม่ทำอะไรก็ได้ หรือลุกขึ้นมาโวยวายแต่ผลเหมือนเดิมคือสัตว์สูญพันธุ์ไปแล้ว หรือเราจะลงทุนจริงๆ ทำจริงๆ แล้วมีโอกาสสำเร็จ ผมว่าสิ่งนี้คือขั้นสุดยอด เราได้ใช้คน วิชาการ ทรัพยากร องค์ความรู้ อย่างมีประโยชน์ แล้วทำให้มันเกิดผลลัพธ์ได้จริงๆ ให้สัตว์ชนิดหนึ่งรอดจากภาวะวิกฤตการณ์สูญพันธุ์ ได้ทำหน้าที่ตามธรรมชาติ อยู่ให้ลูกหลานเราได้ดู นี่เป็นสิ่งที่ทำให้เราอุ่นใจที่สุด ภูมิใจที่สุด ซึ่งความสำเร็จตรงนี้ยังเป็นแค่เบื้องต้นนะ เราต้องว่ากันอีก 5 – 10 ปีเป็นอย่างน้อย นกกระเรียนต้องมีเป็นร้อยตัวในธรรมชาติ แต่ก็อยากให้คนไทยได้เห็นว่าลูกนกกระเรียน 2 ตัวแรกที่ยังรอดชีวิตอยู่เหมือนแสงสว่างที่เราเห็น ณ ปลายอุโมงค์” ดร.บริพัตรกล่าว

นกไม่รอด ถ้าคนไม่ช่วย

นกกระเรียนพันธุ์ไทยได้รับการปล่อยสู่พื้นที่ที่เหมาะสม แต่เนื่องจากมันไม่ใช่สัตว์ที่อยู่ในป่า พื้นที่ที่ว่าจึงไม่ใช่สถานที่อย่างอุทยานแห่งชาติ แต่เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำสาธารณะซึ่งโดยรอบคือนาข้าวของชาวบ้านจังหวัดบุรีรัมย์ เมื่อนกชนิดนี้บินได้สูงและไกล พื้นที่ของสัตว์ป่าและมนุษย์จึงซ้อนทับกันอย่างเลี่ยงไม่ได้ และนั่นแปลว่าหากชาวบ้านไม่ยินยอม เลือกที่จะกำจัดนกชนิดนี้ (ซึ่งทำได้ง่ายมากเพราะไม่ได้อยู่ในเขตห้ามล่าสัตว์ป่า) นกกระเรียนพันธุ์ไทยที่โครงการฟูมฟักมาย่อมไม่อาจอยู่รอดได้จริงในธรรมชาติ

ทำอย่างไรคนและสัตว์ป่าจึงจะอยู่ร่วมกันได้ คำตอบของ ดร.บริพัตรคือต้องมองหามุมมองเชิงบวกในการอยู่ร่วมกัน สำหรับกรณีนกกระเรียน สิ่งที่ต้องทำคือเปลี่ยนให้นกกลายเป็นที่มาของรายได้และความอุดมสมบูรณ์

เนื่องจากนกกระเรียนจะอยู่รอดได้ในสภาพแวดล้อมที่ไม่มีสารเคมีเท่านั้น ทีมงานโครงการฯ จึงร่วมมือกับอีกหลายภาคส่วนสร้างความเข้าใจกับชาวบ้าน และส่งเสริมให้ชาวนาในพื้นที่รัศมี 1 กิโลเมตรจากพื้นที่ชุ่มน้ำจุดปล่อยนกเรียนทำนาด้วยระบบอินทรีย์ ผลคือถึงนกจะทำลายข้าวบ้างเล็กน้อย แต่ระบบนิเวศฟื้นตัวเพราะปลอดสารเคมี ขณะที่ข้าวจากนาก็มีทีมงานช่วยสร้างแบรนด์กลายเป็น ‘ข้าวสารัช’ ข้าวออร์แกนิกที่มีเรื่องราวการอนุรักษ์นกกระเรียนพันธุ์ไทยอยู่เต็มถุง ยิ่งกว่านั้น เมื่อนกกระเรียนอยู่ได้ นักดูนกก็จะมุ่งหน้ามาที่บุรีรัมย์ สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวให้ชาวบ้านอีกทาง การมาถึงของนกกระเรียนจึงเป็นเรื่องดีของชาวบุรีรัมย์ ไม่ใช่สิ่งรบกวนที่ควรกำจัดทิ้ง

“เราต้องช่วยกันทั้งระบบ ให้คนที่ลงทุนช่วยอนุรักษ์นกอยู่ได้ด้วย ไม่อย่างนั้นชาวนากับชาวบุรีรัมย์ก็มีหน้าที่เฝ้าดูนกกระเรียนแทนคนทั้ง 76 จังหวัด ขณะที่เขาก็ต้องอยู่รอดทางเศรษฐกิจ มันก็ไม่ยุติธรรมกับเขาเหมือนกัน ตรงนี้เป็นสิ่งที่ผมคิดว่ามันสำคัญมาก คนกับสัตว์ป่าจะอยู่ด้วยกันได้อย่างมีความสุข แบบวิน-วิน มันทำได้จริงถ้าเกิดเราตั้งใจทำ” ดร.บริพัตรเล่า

เมื่อทีมงานและอีกหลายฝ่ายพยายามหาทางแก้ที่สร้างสรรค์ เมื่ชาวบ้านยินยอมรับฟังและเปิดใจ ความขัดแย้งของคนกับสัตว์ป่าก็คลี่คลาย นกกระเรียนพันธุ์ไทยมีแนวโน้มอยู่รอดอย่างยั่งยืน และไม่ใช่แค่ขจัดปัญหานี้ แต่ตัวอย่างของชาวบ้านบุรีรัมย์และนกกระเรียนยังอาจนำไปปรับใช้กับอีกหลายความขัดแย้งของคนและสัตว์ป่าได้ด้วย

ติดตามรายละเอียดของข้าวสารัชเพิ่มได้ที่นี่

บทเรียนราคาแพงที่ไม่ควรเกิดขึ้นอีก

เรื่องราวทั้งหมดด้านบนบอกเราว่า แม้เป็นข่าวดีและความหวัง แต่อีกมุมหนึ่ง เรื่องนกกระเรียนพันธุ์ไทยคือบทเรียนที่คนไทยควรจำและไม่ปล่อยให้เกิดซ้ำ เพราะการทำให้สัตว์ที่เคยสูญพันธุ์จากธรรมชาติกลับคืนมา (Reintroduction) ไม่ใช่เรื่องง่าย ตั้งแต่กระบวนการที่ซับซ้อน ระยะเวลาที่ยาวนานกว่าจะประสบผล รวมถึงงบประมาณมหาศาล

“การที่จะได้สัตว์ชนิดหนึ่งกลับมา เราต้องเหนื่อยกันเป็นสิบๆ ปี ใช้เงินกันไปเกือบร้อยล้านบาท แบบนี้มันคุ้มไหม เราควรจะให้สิ่งนี้เกิดขึ้นเรื่อยๆ ไหม” ดร.บริพัตรตั้งคำถาม “ผมคิดว่าการป้องกันดีกว่าการแก้ไข ผมอยากเห็นแนวคิดของคนไทยที่จะดูแลรักษาทรัพยากรประเทศในยุคตัวเองไว้ แล้วก็มองถึงยุคต่อไปด้วย เรื่องนี้เป็นสิ่งสำคัญที่สุด เพราะถ้าคนไทยไม่เห็นความสำคัญ ก็จะปล่อยทุกอย่างเป็นเหมือนเดิม แล้วก็จะมีสมันตัวที่สอง มีแรดตัวที่สอง สัตว์เหล่านี้จะกลายเป็นรูปที่เราเห็นในหนังสือ เป็นโครงกระดูกที่เราจะดูในพิพิธภัณฑ์ แต่ไม่รู้จะไปดูตัวจริงที่ไหน เพราะว่าสายเกินไปแล้ว”

นั่นแปลว่า งานอนุรักษ์ไม่ใช่เรื่องของใครเพียงคนเดียว แต่เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องร่วมมือกันดูแล

“เราอยากให้เยาวชนและประชาชนเรียนรู้ว่าเมืองไทยอุดมสมบูรณ์ขนาดไหน แต่ต้องดูแล ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ สัตว์จะอยู่กับเราไปร้อยปีพันปี อย่างน้อยที่สุดก็คือให้ช่วยกระจายข้อมูลความรู้ สร้างจิตสำนึกให้คนรักธรรมชาติ และเพราะทรัพยากรเมืองไทยเยอะ เราจึงต้องช่วยกันวัดชีพจรความสมบูรณ์ของธรรมชาติ ซึ่งก็ไม่ใช่แค่หน้าที่ภาครัฐ ทุกคนต้องมาช่วยดู เช่น ล่าสุดมูลนิธิโลกสีเขียวก็ไปจับชีพจรสวนลุมพินี ดูว่าไลเคนเป็นยังไง นกมีกี่ชนิด ต่างคนต่างช่วยสร้างฐานข้อมูลเพื่อเป็นดัชนีชี้วัดว่าสัตว์ที่เราสนใจจำนวนเพิ่มขึ้นหรือลดลง อะไรที่เป็นภัยคุกคาม ถึงจุดหนึ่งก็เตือนให้คนที่มีอำนาจรับผิดชอบเข้ามาดู จะไปหวังให้ผู้พิทักษ์ป่าถือปืนคอยนอนเฝ้าให้เราตลอดเวลามันก็เป็นไปไม่ได้ เราต้องช่วยกัน” ดร.บริพัตรเอ่ยทิ้งท้าย

Facebook l Sarus Crane Reintroduction Project

ภาพ Sarus Crane Reintroduction Project

AUTHOR