บันทึกถวายในหลวงรัชกาลที่ 9 : โครงการเขียนบันทึกถวายในหลวงจากสำนักพิมพ์ผีเสื้อ

สำนักพิมพ์ผีเสื้อ
คือสำนักพิมพ์วรรณกรรมที่บรรจงผลิตหนังสือดีออกสู่วงการหนังสือไทยอย่างสม่ำเสมอ
เช่น บันทึกลับ ของ แอนน์ แฟร้งค์ และโรงงานช็อคโกแลต ที่คงอยู่ในความทรงจำใครหลายคน

หลังพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชเสด็จสวรรคต
เราทราบมาว่าสำนักพิมพ์ผีเสื้อกำลังริเริ่มโครงการดีๆ เกี่ยวกับในหลวงรัชกาลที่ 9
มีทั้งการชวนอ่านหนังสือพระราชนิพนธ์ริมทะเล และการชวนคนมาเขียนบันทึกถวายในหลวง เราจึงเดินทางไปพูดคุยกับมกุฏ
อรฤดี
เจ้าสำนักพิมพ์ผีเสื้อถึงโครงการดีๆ
ที่สำนักพิมพ์คุณภาพแห่งนี้กำลังริเริ่มทำ

มกุฏเริ่มต้นเล่าว่า จุดกำเนิดโครงการชวนอ่านหนังสือพระราชนิพนธ์ริมทะเล
เริ่มต้นจากการอยากปลูกฝังวัฒนธรรมการอ่านในเมืองชายทะเลของไทย

“เรามีโครงการ ‘อ่านหนังสือริมทะเลที่พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน’ จุดเริ่มต้นคือ เราคิดว่าจะทำโครงการต้นแบบสำหรับเมืองชายทะเลที่ประเทศไทยมีอยู่เยอะ
แต่เราไม่เคยเห็นว่าเมืองชายทะเลที่ไหนทำกิจกรรมชนิดที่เห็นคนมานั่งอ่านหนังสือ
นอนอ่านหนังสือ หรือมาทำอะไรที่เกี่ยวกับหนังสือ เพราะฉะนั้น เราเลยคิดว่าน่าจะทำที่พระราชนิเวศน์มฤคทายวันให้เป็นต้นแบบ
สถานที่ดีอยู่แล้ว เพียงแต่เอาซุ้มไปวางไว้ มีโครงการที่ดีให้คนมายืมหนังสืออ่าน
มีเวทีเสวนา สนทนาตรงใต้ถุน คุณไม่ต้องมีประสงค์ที่จะมาอ่านหนังสือก็ได้
แต่ถ้ามาเที่ยวชายทะเล แล้วก็มีหนังสืออยู่ตามที่ต่างๆ ที่ให้ยืมกลับบ้านได้
หรือนั่งอ่านตรงนั้นก็ได้ ไม่มีใครว่า ถ้าทำให้กิจกรรมอย่างนี้เกิดขึ้นเรื่อยๆ
ตามที่ต่างๆ ท้ายที่สุด แทนที่จะมานั่งคุยกันเฉยๆ
ก็ลองมานั่งอ่านหนังสือและถกเถียงกัน พูดคุยกัน หรือวงเสวนา
แทนที่จะพูดถึงเรื่องอื่นก็พูดถึงเรื่องหนังสือสิ ทำได้มั้ย”

แต่หลังตระเตรียมโครงการเรียบร้อย ก็เกิดเหตุการณ์สวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งทำให้ทั้งประเทศตกอยู่ในความโศกเศร้า สำนักพิมพ์ผีเสื้อจึงเปลี่ยนแผนจากโครงการเดิมที่ตั้งใจไว้

“เราเปลี่ยนโครงการเดิมให้เป็นโครงการ ‘อ่านหนังสือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชที่พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน’” มกุฏเล่า “โครงการนี้จะเริ่มเดือนมกราคม
ปี 2560 เพียงแต่ยังไม่ทราบวันที่แน่นอน เราจะมีโครงการเดือนละครั้ง ตั้งแต่มกราคมจนถึงกันยายน
รวมทั้งหมด 9 ครั้ง ในแต่ละครั้งก็เป็นแต่ละหัวข้อไป อาจเป็นหนังสือเล่มหนึ่งหรือหลายเล่มก็ได้
อย่างเมื่อวานนี้เราไปคุยกับคณะอักษรศาสตร์
มีนักวิชาการจำนวนไม่น้อยที่ทำวิทยานิพนธ์
วิจัยเรื่องเกี่ยวกับหนังสือของในหลวงรัชกาลที่ 9 ในด้านต่างๆ
แล้วก็มีคนที่เกี่ยวข้องกับหนังสือของในหลวงรัชกาลที่ 9 ด้านต่างๆ เราก็อาจเชิญคนเหล่านี้มาพูดคุยกัน
ส่วนวิธีการก็ยังทำเหมือนเดิมคือให้เป็นที่อ่านหนังสือที่คนอยากเข้ามานั่งใช้เวลา
แล้วก็ยืมหนังสือกลับบ้านได้”

ต้นปีหน้า ใครที่แวะเวียนไปหัวหินจึงไปร่วมอ่านและเรียนรู้หนังสือพระราชนิพนธ์ของในหลวงรัชกาลที่
9 ได้ในสถานที่งดงามใกล้ทะเลอย่างพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน แต่นอกจากนี้ สำนักพิมพ์ผีเสื้อยังมีโครงการดีๆ ชักชวนคนไทยมาถ่ายทอด
เรียบเรียงความคิด ความรู้สึก เป็นบันทึกถวายในหลวงรัชกาลที่ 9

“ก่อนที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 จะสวรรคตได้สักประมาณ
4 วัน ผมรู้สึกไม่สบายใจ ผมเลยโทรหาเด็กๆ ที่เขียนบันทึกอยู่กับผีเสื้อ
บอกว่าในหลวงรัชกาลที่ 9 ไม่สบายมากนะ ในฐานะที่เราเป็นนักบันทึก เราเขียนอะไรได้มั้ย พอเขาเขียนมา
ผมอ่านทีละคน บันทึกเหล่านั้นบอกผมทันทีเลยว่า
เด็กซึ่งมีอยู่อีกหลายสิบล้านคนในประเทศนี้
ถ้าเราปล่อยให้โอกาสนี้ของเด็กเหล่านั้นสูญไป มันน่าเสียดายมาก
ต้องมีใครสักคนเก็บความรู้สึกของเด็กในช่วงเวลานี้เอาไว้ให้เป็นที่เป็นทางและเก็บอย่างจริงจัง เพื่อว่าวันหนึ่งเขาจะย้อนกลับมาอ่านสิ่งซึ่งเขาคิดในขณะนั้น เป็นเรื่องสำคัญมาก

สิ่งที่เราประกาศไปคือขอเชิญชวนเด็กทุกคนในประเทศนี้
ไม่จำกัดอายุ ถ้าคุณรู้สึกว่าคุณเป็นเด็ก คุณมาร่วมโครงการนี้ เรียกว่า ‘บันทึกถวายในหลวงรัชกาลที่ 9’ เพราะเด็กมักจะเรียกในหลวงรัชกาลที่ 9 ว่าในหลวง เราจึงใช้คำนี้
เราต้องการบันทึกเพียง 1 หน้าของความรู้สึกทั้งหลาย จะวาดรูปด้วยก็ได้ เขียนข้อความก็ได้
แต่ให้อยู่ใน 1 หน้า A4 ส่วนใครที่รู้สึกว่าคุณเป็นผู้ใหญ่ มีอีกโครงการหนึ่ง เรียกว่า ‘บันทึกถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช’ เขียนอะไรก็ได้เหมือนกันใน 1
หน้า A4 โดยทั้งของเด็กและผู้ใหญ่ เราต้องการต้นฉบับของจริง
ต้องการกระดาษ ต้องการลายมือ ใส่กระดาษ A4 เว้นขอบด้านละ 4 เซนติเมตร” บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์ผีเสื้อกล่าว

เมื่อพูดถึงการเขียนบันทึกเกี่ยวกับในหลวงรัชกาลที่
9 หลายคนอาจนึกถึงการเล่าถึงสิ่งที่พระองค์เคยทรงสั่งสอนไว้ แต่สำนักพิมพ์ผีเสื้ออยากชวนให้คนไทยมาร่วมบันทึกเนื้อหาในอีกรูปแบบหนึ่ง

“เราไม่ได้ต้องการว่าคุณได้อะไรจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ไม่ได้ต้องการคำอธิบายว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชสอนอะไร” มกุฏอธิบาย “แต่สิ่งที่เราอยากได้คือ
คุณคิดอะไรบ้างในวาระนี้ ในขณะนี้ แล้วก็ในอนาคตที่เกิดขึ้นเนื่องจากเหตุที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชเสด็จสวรรคต
เมื่อกี้ผมคุยกับทีวีว่า ผมได้ยินมาเยอะว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชสอนอะไร
เพราะอย่างนั้นไม่ต้องพูดถึงอีกก็ได้
เพียงแต่ว่าที่ผ่านมาในช่วงสั้นและนับจากนี้ไป เราคิดอะไรกันบ้าง การที่พระเจ้าแผ่นดินของประเทศสวรรคตไป เราคิดอะไรได้บ้าง และไม่ใช่คิดสั้นๆ
คิดไปให้ไกล มันสำคัญนะ”

บันทึกทั้งในโครงการสำหรับเด็กและสำหรับผู้ใหญ่จะได้รับอ่าน
คัดกรอง แล้วนำมาจัดทำเป็นรูปเล่ม เรียงตามตัวอักษรตั้งแต่ ก-ฮ รวมทั้งหมดโครงการละ 9 เล่ม
ในแต่ละเล่มจะมีบันทึกของคนไทยประมาณ 1000 คน บรรจุอยู่
แต่ใครที่งานของตัวเองไม่ปรากฏเป็นรูปเล่มก็ไม่ต้องเสียใจ เพราะมกุฏบอกไว้ว่าแต่ละโครงการจะมีการรวมผลงานทั้งหมดมาจัดทำเป็นรูปแบบ
e-book ที่ค้นหางานแต่ละชิ้นได้ง่ายเพียงกรอกชื่อ-นามสกุลของผู้เขียนลงไป

นับเป็นอีกหนึ่งความคิดดีๆ ที่น่าชักชวนเด็กๆ
และผู้ใหญ่รอบตัวให้เข้าร่วม เพื่อทบทวนและจดจำเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญของไทยเอาไว้
ใครสนใจเป็นส่วนหนึ่งในโครงการสำคัญนี้ รอติดตามรายละเอียด เช่น ช่องทางการส่ง ได้ที่ facebook l Makut Onrudee

และลองอ่านตัวอย่างบันทึกใสสะอาด งดงามถึงในหลวงรัชกาลที่
9 ของเด็กๆ นักบันทึกได้ที่ด้านล่างนี้เลย

ภาพ: นวลตา วงศ์เจริญ และ อภิชัย วิจิตรปิยกุล

AUTHOR