“เป้าหมายของประชาชนกับสื่อควรเป็นเป้าหมายเดียวกัน” DemAll สมาพันธ์สื่อไทยเพื่อประชาธิปไตย

“นี่คือแถลงการณ์สมาพันธ์สื่อไทยเพื่อประชาธิปไตย…”

เมื่อช่วงต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาในระหว่างที่รัฐที่ใช้อำนาจโดยมิชอบ เดินหน้าจับกุมคุมขังประชาชนในคดีการชุมนุมแสดงออกทางการเมือง ทั้งยังมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวผู้ต้องหา เราได้เห็นคนกลุ่มหนึ่งรวมตัวกันออกมาเคลื่อนไหวในนาม ‘สมาพันธ์สื่อไทยเพื่อประชาธิปไตย’ (DemAll) ผ่านแถลงการณ์แสดงวัตถุประสงค์การเกิดขึ้นของสมาพันธ์ฯ ดังต่อไปนี้

หนึ่ง–เพื่อใช้วิชาชีพร่วมผลักดันกิจกรรมส่งเสริมสนับสนุนการปกครองระบอบประชาธิปไตย สอดคล้องกับหลักอารยะสากลให้คุณค่าหลักสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค ไม่มีใครได้รับข้อยกเว้นอยู่เหนือกฎหมาย

สอง–เพื่อยืนยันว่าอาชีพด้านการเขียน ศิลปวัฒนธรรม งานข่าว งานสร้างสรรค์และงานสื่อสารมวลชนทุกแขนง เป็นวิชาชีพจำเป็นต้องทำงานภายใต้บรรยากาศสังคมที่มีเสรีภาพ ทั้งนี้เพราะเสรีภาพเท่านั้นที่จะเปิดประตูให้เกิดผลงานความคิดสร้างสรรค์ ขณะเดียวกันก็เป็นช่องทางในการตรวจสอบซึ่งกันและกัน

สาม–เพื่อให้เกิดการผนึกกำลังกันอย่างกว้างขวางและแข็งแรงในวิชาชีพ สนับสนุนช่วยเหลือและปกป้องความปลอดภัยในการทำหน้าที่ของสื่อทุกแขนง จากการลิดรอนคุกคามของทั้งรัฐและทุน ทั้งด้านสิทธิเสรีภาพและสวัสดิภาพในการดำรงชีวิตที่ดี

ถ้อยคำเหล่านี้คือประกาศแถลงการณ์ที่เราได้ยินอย่างชัดถ้อยชัดคำทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษจากตัวแทน DemAll ที่ตั้งใจจะเป็นพื้นที่ปลอดภัยของสื่อมวลชนและคนทำงานสร้างสรรค์ที่ยืดหยัดข้างประชาธิปไตย

เพราะสื่อในปัจจุบันไม่ใช่แค่นักข่าวอีกต่อไป และการขับเคลื่อนสังคมก็ไม่จำเป็นต้องเป็นชนชั้นนำของสังคมอีกแล้ว ไม่ว่าใครก็สามารถใช้ช่องทางที่ตัวเองมีสื่อสาร เห็นค้าน สนับสนุนอะไรสักอย่างได้  DemAll จึงเกิดขึ้นเพราะความตั้งใจจะเป็นพื้นที่ปลอดภัยของสื่อมวลชนและคนทำงานสร้างสรรค์

และก็เหมือนปัญหาอื่นๆ ของสังคมไทยที่หาใช่แค่ตัวบุคคล แต่ต้นเหตุคือระบบโครงสร้างและชนชั้นที่กดทับผู้น้อยให้ขยับตัวทำอะไรลำบาก แวดวงสื่อมวลชนก็ไม่ต่างกัน ดังนั้นการจะแก้ไขปัญหานี้อย่างยั่งยืนคือการค่อยๆ เปลี่ยนโครงสร้างที่เก่าคร่ำครึให้ตอบรับกับยุคสมัย

ใช่แล้ว นี่คือเป้าหมายสำคัญของ DemAll

และในฐานะที่ กัน–ณรรธราวุธ เมืองสุข และ ลูกแก้ว–โชติรส นาคสุทธิ์ คือตัวแทนคนในสมาพันธ์กว่าสองร้อยชีวิตที่ออกมาแถลงการณ์ เราจึงชวนเขาและเธอมาพูดคุยกันถึงสิ่งที่กำลังทำและหวังอยากจะเห็น

นอกจากถ้อยคำในแถลงการณ์ อะไรคือเหตุผลที่ทำให้เกิด DemAll ขึ้น

กัน : เราต้องเท้าความกลับไปก่อนว่าในช่วงหนึ่งปีที่เกิดกลุ่มม็อบต่างๆ เรามีปัญหากับองค์กรวิชาชีพสื่อมากๆ ในแง่ของการนำเสนอความเข้าใจเรื่องปรากฏการณ์การชุมนุมของประชาชนต่อสังคม 

ตอนนั้นเราต้องยอมรับปัญหาว่าสื่อสามารถไม่ตอบสนองความต้องการอยากรู้ของสังคมได้ อย่างช่วงแรกๆ สื่อจะมีปัญหาในการเอ่ยคำว่าสถาบันพระมหากษัตริย์มาก แต่ในมุมมองของสื่อที่ยืนเคียงข้างกับจุดยืนด้านประชาธิปไตย เราข้องใจว่าทำไมไม่พูด ซึ่งพื้นที่ตรงนี้นี่แหละที่องค์กรวิชาชีพสื่อไม่เคยออกมาทำอะไรเลย ทั้งที่เป็นเรื่องสำคัญ คุณเป็นถึงองค์กรวิชาชีพแต่ไม่พูด ไม่มีการเสวนา หรืออย่างน้อยคุณต้องเปิดพื้นที่ให้มีการถกเถียงพูดคุยกันบ้าง แต่นี่ไม่เกิดขึ้นเลย

แล้วในความเป็นจริงองค์กรวิชาชีพสื่อทำอะไร คำตอบคือพวกเขาออกมากำหนดปลอกแขนนักข่าว ซึ่งเราคิดว่ามันไม่ใช่วิธีการที่ถูกต้อง เพราะไม่ว่าคุณจะมีหรือไม่มีปลอกแขน สิ่งที่องค์กรวิชาชีพควรทำคือการยืนหยัดว่าเรามีเสรีภาพในการรายงานข่าวโดยไม่ต้องมากำกับว่าใครคือนักข่าวที่ลงทะเบียนแล้ว มันเหมือนสัตว์ในคอกที่ต้องตีตรา แล้วคนที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนอย่างผู้รายงานข่าวฟรีแลนซ์ อินฟลูเอนเซอร์ คุณทำยังไง การทำแบบนี้มันเหมือนเป็นการบอกว่าคนเหล่านี้เป็นคนเถื่อนอยู่กลายๆ ทั้งที่บทบาทของคุณควรเป็นการยืนหยัดเรื่องสิทธิเสรีภาพสิ

อีกอย่างคุณออกมาเตือนสื่อถึงการใช้เสรีภาพ ต้องระมัดระวังเรื่องนั้นเรื่องนี้ ทั้งที่คุณควรจะตกผลึกเรื่องมาตรฐานอย่างชัดเจนได้แล้วว่าสื่อควรทำยังไง เพราะสังคมไทยเผชิญม็อบมาตั้งแต่ปี 2549 สื่อมวลชนต้องต่อสู้กับข้อจำกัดเรื่องสิทธิเสรีภาพมาตลอดแต่องค์กรวิชาชีพบ้านเรากลับไม่เคยตอบสนองเรื่องพวกนี้เลย

องค์กรวิชาชีพไม่ตอบโจทย์ พวกคุณเลยต้องมารวมตัวกัน

ลูกแก้ว : ใช่ เพราะมันอาจมีบางบทบาทที่องค์กรฯ ยังไปไม่ถึง หรือเขาอาจรู้สึกว่ามันไม่ใช่ทางที่อยากไปถึง แต่เราอยากเป็นทางหนึ่งที่อยากไปถึง การที่สื่อเป็นกระบอกเสียงที่ซื่อตรงต่อประชาชนได้จริงๆ ดังนั้นเราเลยพยายามเป็นอีกเสียงที่ยืนยันถึงหลักการแบบนี้ เพราะเรามองว่ากับปรากฏการณ์ทางสังคมที่เกิดขึ้นตอนนี้ ใครก็ตามที่มีช่องทางเป็นของตัวเอง เวลาไปม็อบเขาก็สามารถรายงานเหตุการณ์ตรงหน้าได้เรียลไทม์ ไม่จำเป็นต้องรอนักข่าว เพราะฉะนั้นคำถามคือคำว่า ‘สื่อ’ จะใช้แค่กับนักข่าวเหรอ มันไม่น่าจะใช่อีกต่อไปแล้ว 

อย่างบางคนไม่ใช่อินฟลูเอนเซอร์แต่พอทวีตติดแฮชแท็กคนรีทวิตเป็นหมื่นแสน นี่ก็ถือว่าเป็นการส่งสารที่อิมแพกต์เหมือนกัน ดังนั้นเราคิดว่าสื่อมีนิยามที่กว้างและหลากหลายกว่าเดิม และคนเหล่านี้นี่แหละที่ไม่ว่าเขาจะนิยามตัวเองเป็นนักข่าวพลเมือง ป้าเสื้อแดง หรือวัยรุ่นสักคนที่รายงานเหตุการณ์ในม็อบอยู่แล้วถูกกระสุนยางยิง องค์กรวิชาชีพสื่ออาจคิดว่าตนไม่เกี่ยว เพราะเขาไม่มีปลอกแขน ไม่นับเป็นสื่อ แต่เรารู้สึกว่าก็ในเมื่อเขาอยู่เพื่อรายงานความจริงตรงหน้า เราก็ควรซัพพอร์ต

มากไปกว่านั้น นึกถึงช่วงที่การเมืองคุกรุ่นมากๆ แล้วมีกลุ่มนักวาดประชาธิปไตย นักเขียนนิยายแชต คนทำงานสร้างสรรค์ที่ออกมายืนหยัดอยู่ข้างประชาธิปไตยและสื่อสารเพื่อมวลชน พลังเหล่านี้ก็อิมแพกต์มาก ดูอย่างไข่แมวที่วาดภาพเปรี้ยงเดียวส่งได้เป็นล้านความหมาย DemAll เกิดขึ้นเพื่อซัพพอร์ตคนเหล่านี้รวมถึงใครก็ตามที่รู้สึกว่าฉันเองก็เป็นหนึ่งในกระบอกเสียงเช่นกัน

DemAll

นอกจากประกาศแถลงการณ์แสดงจุดยืนของสมาพันธ์ฯ แล้ว มูฟต่อไปของ DemAll คืออะไร

ลูกแก้ว : บอกก่อนว่าเรามีหลายบทบาท แต่เราตั้งใจให้ที่นี่เป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยของคนทำงานสื่อและวงการสร้างสรรค์ เราอาจทำเป็นเวิร์กช็อปหรืออะไรก็ได้ แต่อย่างไรก็ตามด้วยความที่นิยามสื่อตอนนี้คือกลุ่มคนที่หลากหลาย มันคือการถกเถียงกัน บางทีรุ่นพี่ในกลุ่มพูดมาคนอายุน้อยกว่าอาจจะเถียงกลับมันก็ต้องอธิบายกัน เพราะพอคนยิ่งเยอะมันก็ยิ่งหลากหลาย แต่ในสมาพันธ์เราจะเป็นการฟังกันทั้งผู้ใหญ่และเด็ก

กัน : ซึ่งเราจะไม่ปรามกัน เพราะจริงๆ วิชาชีพสื่อมันมีลำดับชั้น ระบบอาวุโสเข้มข้นมาก มันกดคนทำงาน โดยเฉพาะคนทำงานรุ่นใหม่ ทำให้ไม่กล้าแสดงความคิดเห็น ผู้ใหญ่ว่าไงเราว่าตาม ทั้งที่นักข่าวรุ่นใหม่มีความต้องการมากมายแต่ไม่เคยถูกตอบสนอง เพราะฉะนั้นการเคลื่อนไหวในช่วงแรกนี้เราเลยคนอยากดึงนักข่าวรุ่นใหม่ๆ เข้ามา รวมถึงคนที่ทำงานสื่อหลากหลายแขนง พยายามไม่ชูแค่คนโตๆ รุ่นใหญ่ เพราะเราอยากสลายระบบแบบนี้ให้หมดไป 

ลูกแก้ว : และเราก็อยากซัพพอร์ตเสียงจากหลากหลายมุมมอง อย่างตอนนี้มีเสียงนักข่าวแล้ว แล้วเสียงของช่างภาพล่ะ เขาอยากบอกอะไรไหม หรือมีใครอยากบอกอะไรอีก เราเลยอยากชวนสื่ออื่นๆ ว่าอยากทำอะไรก็มาจอยได้เลย

กัน : เพราะข้อเสียหนึ่งของวิชาชีพสื่อคือ มันขาดการ educate กัน อย่างเรื่องเพศที่หลายสื่อยังไม่ค่อยระมัดระวัง คิดว่าทำมานานแล้ว สังคมคุ้นชิน ไม่เป็นไรหรอก แต่เราใช้ความคุ้นชินขับเคลื่อนสังคมไม่ได้ บางอย่างมันมีหลักการของมันอยู่ บางชุดความรู้มันพัฒนาตามยุคสมัยอยู่ตลอด เราก็ควรอัพเดตกันและกันในสมาพันธ์ฯ ซึ่งนี่เป็นสิ่งดีที่ขับเคลื่อนไปพร้อมกับเป้าหมายอื่นๆ ของเรา

DemAll

ตั้งแต่ทำงานมา คุณคิดว่าอะไรคือปัญหาใหญ่ของแวดวงสื่อไทย

กัน : เราว่ามันคือความกลัวของนักข่าวกระแสหลัก มีคนที่ติดต่อเรามาเยอะมากว่าเห็นด้วยกับจุดยืนสมาพันธ์ฯ นะ แต่กลัวผู้ใหญ่ในสังกัดเลยเข้ามาร่วมไม่ได้ อย่างเรามีเพื่อนอยู่สำนักข่าวยักษ์ใหญ่ เขาลงชื่อเห็นด้วยกับเราไม่ได้แต่ก็ซัพพอร์ตด้านอื่นๆ แทน ซึ่งเราโอเค ไม่ได้อยากจำกัดวิธีการอยู่แล้ว มันต้องค่อยๆ ขยับกันไป คงไม่ได้พลิกฟ้าเมื่อ DemAll มาถึง แต่เห็นไหมว่า DemAll ต้องเกิดขึ้นเพื่อค่อยๆ พูดสิ่งนี้ เพื่อบอกกับผู้ใหญ่ว่าเราต้องไปข้างหน้า มันไม่เปลี่ยนในทันทีหรอกแต่ต้องค่อยๆ พูดไป อย่างน้อยผู้ใหญ่จะได้คิดบ้าง

ลูกแก้ว : เราอยากช่วยตั้งคำถามต่อสื่อในฐานะองค์กรวิชาชีพ ต่อผู้ใหญ่ ต่อองค์กรที่แตะต้องไม่ได้ หรือกระทั่งตัวเราเอง ซึ่งพอในสมาพันธ์ฯ มันมีทั้งสื่อวิชาชีพและฟากคนที่เป็นนักวาดนักสร้างสรรค์ที่ดันเพดานไปไกลแล้ว การมาเจอมาแลกเปลี่ยนกันของสองกลุ่มนี้จะช่วยสร้างบรรยากาศใหม่ๆ ให้นักข่าว หรือนักข่าวเองก็ได้จะสร้างความเข้าใจต่อน้องๆ มากขึ้น ทำไมรายงานข่าวแบบนี้ไม่ได้ เพราะอะไร แล้วถ้าเป็นไปได้มันอาจนำไปสู่การคิดว่าแล้วพวกเราจะทำยังไงต่อไปดีก็ได้นะ

DemAll

แล้วในฐานะคนที่เห็นปัญหา คุณคิดว่าสื่อหลักยังจำเป็นต่อสังคมไหม 

ลูกแก้ว : ยังจำเป็นล้านเปอร์เซ็นต์ แต่อาจต้องมาตั้งคำถามว่าทำยังไงให้สื่อหลักอยู่ต่อไปได้โดยประชาชนอยากอ่าน หรือต่อให้ไม่อยากอ่าน เลิกอ่านไปแล้ว ก็ต้องทำยังไงก็ได้ให้สื่อเหล่านี้ยืนยันหลักการดันเพดานไปอยู่ข้างๆ ประชาชน

กัน : สื่อวิชาชีพยังสำคัญแน่นอน เห็นได้จากว่าทำไมอีกฝ่ายถึงพยายามควบคุมและหาพื้นที่เป็นเจ้าของ ต่อให้เรามองว่าเป็นสื่อที่พยายามปลุกปั่นให้คนขัดแย้งกัน แต่นั่นหมายถึงว่าความสำคัญของการสื่อสารยังมีอยู่

DemAll

ถ้าใครๆ ก็เป็นสื่อได้ แล้วคนที่มีอาชีพสื่อจริงๆ นั้นแตกต่างยังไง

กัน : เราเข้าใจว่าคนธรรมดาจะมีข้อจำกัดอย่างการ investigate ที่ทำไม่ได้ และอย่างน้อยที่สุดความเป็นสื่อจะมีเกราะที่คุณสามารถทำบางอย่างได้ เช่น การรายงานบางเรื่องที่คนทั่วไปไม่สามารถรายงาน หรือการเข้าถึงรัฐสภาเพื่อเอาไมค์ไปจ่อปากนายก อีกอย่างคือคนทั่วไปอาจไม่มีสกิลจัดเรียงความสำคัญของปัญหา เขาอยากจะพูดเรื่องนี้ก็พูดไป ไม่มีการจัดหมวดหมู่เพื่อสื่อสารอย่างทรงพลัง แต่สื่อมีทักษะในการสื่อสาร วิธีการและเครื่องมือให้คนรับสารจับเอาใจความสำคัญตรงนั้นได้

ลูกแก้ว : เรามองว่ามันต้องมีสื่อวิชาชีพคอยซัพพอร์ตบางพื้นที่ที่ประชาชนเข้าไม่ถึงแหละ เพราะฉะนั้นเราก็ต้องเติมเต็มตรงนี้ เพราะถึงแม้คนทั่วไปอาจได้เปรียบในแง่ความเร็ว อยากพูดอะไรก็ได้ แต่สื่อที่แท้จริงนั้นต้องเก่งเรื่องการจับประเด็น ขับเคลื่อนความต้องการของสังคมว่าควรฟังอะไร อาชีพนี้ทำให้คนที่ทำต้องแหลมคมไปเรื่อยๆ ดังนั้นเราว่าสื่อยังเป็นเรื่องที่จำเป็น

DemAll

ในขณะที่ประชาชนดันเพดานจนแตกไปหมดแล้ว แต่ปัจจุบันดูเหมือนสื่อวิชาชีพกลับยังไม่กล้าสื่อสารตรงไปตรงมา คุณมองเรื่องนี้ยังไง

กัน : มองในมุมของประชาชนที่ดันเพดานก่อน มูฟเมนต์ของพวกเขาดันเพดานให้ทะลุแล้ว เอาง่ายๆ ย้อนไปสองปีก่อนเรายังไม่กล้าพูดคำว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ในที่สาธารณะเลย แต่ปัจจุบันพูดได้มากมาย ถึงสื่อเองจะยังเงอะๆ งะๆ แต่ก็เริ่มพูดได้มากขึ้น เราคิดว่านี่คือคุณูปการที่สังคมและประชาชนหยิบยื่นให้เราและสื่อด้วยซ้ำไป 

แต่ถ้ามองในมุมสื่อ ต้องเข้าใจว่าปัจจุบันสื่อที่ยังอยู่และมีอิทธิพลมากๆ เป็นอนุรักษนิยมเสียส่วนใหญ่ เพราะสื่อเหล่านี้เติบโตไม่ทันการต่อสู้ทางการเมือง จึงไม่แปลกที่พวกเขาจะเกิดภาวะเงอะๆ งะๆ ตรงนี้เราเข้าใจ แต่ความเป็นจริงก็คือคนที่รับคำสั่งจากอนุรักษนิยมเหล่านั้นกลับเป็นสื่อรุ่นใหม่ที่เติบโตในช่วงรัฐประหารปี 2549-2557 พวกเขามีไฟอยากสื่อสารแต่ต้องอยู่ภายใต้อำนาจ ดังนั้นมันก็เกิดการงัดกันอย่างที่เห็นในตอนนี้ 

แต่เราคาดการณ์ว่าภายในระยะเวลา 3-5 ปีหลังจากนี้ แวดวงสื่อจะเกิดการเปลี่ยนแปลงแน่ๆ เพราะสื่อเก่าเริ่มหมดอำนาจ ทิศทางเสียงสื่อวิชาชีพจะเปลี่ยน อีกอย่างโดยธรรมชาติสื่อเปลี่ยนจากประชาชนอยู่แล้ว มันเป็นพลวัตกัน สังคมเปลี่ยนสื่อไม่เปลี่ยนได้ยังไง เพียงแต่ตอนนี้ยังอยู่ในภาวะดึงดันกันอยู่ แต่ในอนาคตคุณปฏิเสธการเปลี่ยนแปลงไม่ได้หรอก

DemAll

คุณว่าสื่อยังจำเป็นต้องเป็นกลางอยู่ไหม

กัน : เวลาพูดถึงหัวข้อสื่อกับความเป็นกลาง เราอยากทำความเข้าใจก่อนว่าพูดในสถานการณ์ที่แตกต่างกัน สถานการณ์ในโลกไม่ได้มีแค่สถานการณ์เดียว เราต้องเอาเครื่องมือสื่อสารที่แตกต่างกันไปใช้ บางสถานการณ์เราสามารถเป็นกลางได้ แต่บางสถานการณ์เราไม่สามารถดำรงความเป็นกลางได้ อย่างคนต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม จะเป็นกลางได้ยังไง คุณเป็นกลางไม่ได้ แต่ถ้าเป็นเรื่องความขัดแย้งของสองฝ่ายในเรื่องใดเรื่องหนึ่งคุณอาจเป็นกลางได้ ถ้าเป็นนักข่าวมันต้องรู้วิธีการปรับตัว ต้องแปรสภาพตัวเองไปทำงานเพื่อตอบสนองกับเหตุการณ์และสภาพแวดล้อม คุณจะมาเป็นกลางหมดไม่ได้ บ้าแล้ว มันไม่ใช่ เพราะนักข่าวก็คือคน มีจิตสำนึก จริยธรรม คุณธรรม

อย่าลืมว่าความสำเร็จของสื่อคือการสื่อสาร แล้วชื่อเต็มเราคือสื่อมวลชน เพราะฉะนั้นโดยธรรมชาติของคุณคือต้องทำงานเพื่อมวลชน มันต้องไม่มีผู้มีอำนาจอยู่ในนิยามของสื่อมวลชน ถ้าคุณทำเพื่อผลประโยชน์ของมวลชน มันไม่มีความเป็นกลางมาตั้งแต่แรก ต้องตระหนักว่าสิ่งนี้คือประโยชน์ของประชาชน มากกว่านั้น เรากำลังคุยถึงปัญหาเชิงโครงสร้างของสังคมที่มีหลากหลาย สาธยายยังไงก็ไม่หมด แต่เราต้องพยายาม educate ให้สังคมตระหนักว่าบ้านเรามีปัญหา ซึ่งถ้าไปคุยกับสลิ่มเขาจะมองไม่เห็นมุมนี้ เขาจะมองปัญหาว่าเกิดจากคน แต่คนเป็นสื่อต้องมองให้ออก และจำเป็นมากๆ เวลารายงานข่าวคุณต้องสะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างให้ได้ อันนี้คือสิ่งที่ติดมากับความเป็นสื่อวิชาชีพ

DemAll

แล้วในฐานะคนธรรมดาที่ออกมาสื่อสารเรื่องเหล่านี้ คุณว่าเราต้องรับผิดชอบกับสิ่งที่ตัวเองสื่อสารขนาดไหน

ลูกแก้ว : เรามองว่ามันถกเถียงกันได้ แล้วการมี DemAll ก็เป็นพื้นที่ที่เอื้อให้เกิดการถกเถียงสิ่งนี้แหละ ว่าถ้าคุณไม่ได้วางตัวเป็นสื่อวิชาชีพ แล้วคุณยังต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่พูดไหม แต่ถ้าถามเรา ในฐานะมนุษย์ต่อให้ไม่เป็นสื่อ ไม่มีช่องทาง ไม่มีใครติดตามเลย เราก็ควรรับผิดชอบในสิ่งที่พูดหรือให้ข้อมูลออกไป ยิ่งคุณมีคนติดตามเยอะเป็นอินฟลูเอนเซอร์ก็ยิ่งต้องรับผิดชอบ 

สุดท้าย คุณคาดหวังว่าอยากให้ DemAll สร้างการเปลี่ยนแปลงใดต่อสังคม

ลูกแก้ว : เราว่าอย่างหนึ่งที่ DemAll จะทำได้คือการเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้คนที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยเวลาเกิดอะไรขึ้นหรืออย่างน้อยก็ช่วยซัพพอร์ตกัน เขาจะได้รู้ว่าไม่ได้พูดสิ่งนี้อย่างโดดเดี่ยว ยังมีผู้ใหญ่หรือคนอื่นๆ ร่วมกับเขาด้วย 

กัน : สังคมเรากำลังเจอโจทย์ที่เรียกร้องความต้องการปฏิรูปและเปลี่ยนแปลงเพื่อให้ทุกคนมีอนาคต เช่นเดียวกัน เป้าหมายเราคือการเดินเคียงไปกับมวลชนที่เห็นปัญหา เราต้องออกมาทำหน้าที่ไปพร้อมกับเขา จะสิ้นสุดตรงไหนก็บอกไม่ได้ แต่มันต้องไปถึงจุดที่คนที่มีอำนาจในการเปลี่ยนแปลงหรือปฏิรูปอะไรบางอย่างที่ส่งผลต่ออนาคต ซึ่งพาร์ตของเราคือพาร์ตสื่อ ดังนั้นเสรีภาพสื่อคือเสรีภาพประชาชน 

ถ้าประชาชนไม่มีเสรีภาพสื่อจะมีเสรีภาพไม่ได้ ถ้าคิดว่าเราทำเป้าหมายไปถึงจุดหนึ่งแล้วพอ แต่ประชาชนยังเดินหน้าไปเจอกำแพงหรือทางตัน มันเป็นแบบนั้นไม่ได้ เพราะฉะนั้นเป้าหมายของประชาชนกับเป้าหมายของเราคือเป้าหมายเดียวกัน 

ประชาชนไปถึงไหนเราต้องไปถึงนั่น

DemAll

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ณัฐวัฒน์ ตั้งธนกิจโรจน์

ชื่อโทนี่ แต่พวกเขามักจะรู้จักผมในนาม Whereisone