Can I Talk About Politics? คุยกับ แคน นายิกา ในวันที่เริ่มต้นทำงานการเมืองเต็มตัว

Highlights

  • ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา อดีตไอดอลและศิลปินอิสระอย่าง แคน นายิกา ได้เริ่มต้นบทบาทใหม่ในชีวิตโดยการทำงานในสนามการเมือง
  • ด้วยหน้าที่ใหม่นี้ แคนต้องลงไปรับฟังปัญหาจากชาวบ้านในชุมชนเขตที่เธอรับผิดชอบ แม้จะเจออุปสรรคบ้าง แต่เธอก็แปรเปลี่ยนสิ่งเหล่านั้นเป็นไฟในการพัฒนาสังคมให้ดีขึ้นอย่างที่เธออยากเห็น
  • สุดท้ายเธอลงความเห็นว่าประเทศเรายังมีความหวังอยู่เต็มเปี่ยม แม้ความเปลี่ยนแปลงอาจไม่ได้เกิดขึ้นในเร็ววัน แต่ในท้ายที่สุด แคนเชื่อว่าคนรุ่นใหม่จะพาประเทศนี้ไปข้างหน้าได้แน่ๆ

จุดแรกเริ่มของบทสัมภาษณ์นี้เกิดจากการที่ผมเห็น แคน–นายิกา ศรีเนียน ไปชุมนุมทางการเมืองหลายครั้ง และครั้งล่าสุด แคน ก็เป็นหนึ่งในผู้ที่ต้องแสบตาแสบจมูกจากแก๊สน้ำตาที่แยกเกียกกายเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน

หลังจากเห็นภาพดังกล่าว ผมไม่รอช้าติดต่อขอสัมภาษณ์เธอทันที เพราะในฐานะคนรุ่นใหม่ที่เป็นอดีตสมาชิกวงไอดอล BNK48 และศิลปินอิสระ ผมอยากรู้ว่าอะไรที่ผลักดันให้คนในสปอตไลต์อย่าง แคน ออกมาแสดงจุดยืนทางการเมืองชัดเจนขนาดนี้

เมื่อยกหูโทรศัพท์นัดหมาย ปลายสายที่ตอบรับผมในวันนั้นกลับไม่ใช่แคน แต่เป็นพ่อของเธอที่อาสาเช็กคิวและนัดแนะสถานที่การสัมภาษณ์ให้ลูกสาว

และเป็นพ่อของแคนนี่เองที่แนะนำกับผมว่าลองคุยกับแคนเรื่องบทบาทใหม่ในชีวิตของเธอดู

“เดือนหน้าแคนจะเรียนจบแล้วครับ และแคนจะหันมาทำงานการเมือง”

แคน นายิกา

“ตัวแทนพรรคการเมืองประจำเขต”

เมื่อถึงวันนัดหมาย หลังจากกล่าวทักทายกันผมเกริ่นถามแคนถึงบทบาทใหม่ที่ได้ยินมาจากพ่อของเธอ แคนอธิบายกับผมด้วยคำข้างต้นว่านี่คือชื่อตำแหน่งงานอย่างเป็นทางการในตอนนี้ เธอเล่าให้ผมฟังเพิ่มว่าในความเป็นจริงเธอลงมาทำงานตรงนี้ได้ 2-3 เดือนแล้ว โดยหน้าที่หลักในช่วงแรกคือการลงพื้นที่ในเขตที่รับผิดชอบเพื่อรับฟังปัญหาและอาสาแก้ไขให้ชาวบ้านเท่าที่พอจะทำได้

“ช่วงนี้เสียงแหบไปเยอะเลย ขอโทษล่วงหน้านะคะ” เธอบอกผมพร้อมรอยยิ้มน้อยๆ ก่อนเริ่มต้นบันทึกเสียงการสัมภาษณ์ ซึ่งถ้าฟังจากเสียงและดูจากความเหนื่อยอ่อน ผมคาดเดาว่าช่วงนี้เธอคงกำลังเริ่มต้นงานใหม่อย่างหนักหน่วง แต่นั่นเองคือเรื่องสำคัญที่ผมอยากชวนเธอสนทนา

อะไรที่เปลี่ยนให้อดีตไอดอลและศิลปินอิสระอย่าง แคน ลงสนามทางการเมืองแบบทุกวันนี้

ไปฟังคำตอบของเธอกัน

จากการไปร่วมม็อบทางการเมืองในช่วงที่ผ่านมา คุณมีความเห็นต่อการชุมนุมช่วงนี้ยังไงบ้าง

ต้องอธิบายก่อนว่าเราโตมากับม็อบ ตอนเด็กๆ เราไปทั้งม็อบเสื้อแดงและเสื้อเหลือง ดังนั้นเราเลยเห็นความแตกต่างกับม็อบในปัจจุบันนี้อยู่พอสมควร

สมัยก่อนม็อบจะเป็นแบบปักหลักนอนและไม่มีวัยรุ่นเท่าไหร่นัก แต่ตอนนี้คือตรงกันข้าม ซึ่งเราว่าความเปลี่ยนแปลงนี้เป็นเพราะโซเชียลมีเดีย พอวัยรุ่นเลือกเสพสื่อได้มากขึ้น พวกเขาจึงรับข้อมูลข่าวสารที่หลากหลาย ไม่ได้รับด้านเดียวเหมือนแต่ก่อน นี่เลยทำให้วัยรุ่นยุคนี้มีความคิดเป็นของตัวเองและกล้าแสดงความคิดเห็นทางการเมืองมากขึ้น เราเลยไม่แปลกใจที่วัยรุ่นออกมาร่วมม็อบมากขนาดนี้

 

แล้วคุณคิดยังไงกับคำพูดจากผู้ใหญ่บางคนที่บอกว่า ‘ก่อนออกมาเรียกร้อง ให้ไปช่วยแม่ซักผ้าก่อน’

(หัวเราะแห้ง) ถ้าอัพเดตข้อมูลสักหน่อย เราว่าหลายคนก็น่าจะรู้ว่าตอนนี้มีเครื่องซักผ้าแล้วนะ แค่โยนผ้าเข้าเครื่องและรอปั่นแห้งเท่านั้นเอง ระหว่างนั้นก็เอาเวลามาศึกษาการเมืองหรือไปร่วมม็อบก็สามารถทำได้ ผ้าเสร็จก็เอาไปตาก (ยิ้ม)

แคน นายิกา

รู้สึกยังไงเวลาผู้ใหญ่ตำหนิเด็กแบบนี้ เพราะอย่างเวลาคุณออกมาแสดงความเห็น คุณก็เคยโดนเหมือนกัน

เราเข้าใจพวกเขานะ เราเคยโดนทักว่าการไปม็อบคือการออกไปถูกฆ่าด้วยซ้ำ แต่เราก็เข้าใจว่าทำไมเขาถึงคิดและมองแบบนั้น โดยส่วนตัวเราว่ามันเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างมากกว่า เราโทษระบบที่หล่อหลอมผู้ใหญ่ให้มาว่าเรา 

 

โครงสร้างหรือระบบที่ว่าคืออะไร

ทุกอย่างเลย สังคม การเลี้ยงดู การศึกษา การเสพสื่อ ยุคก่อนเขาไม่มีโอกาสเห็นวัฒนธรรมที่หลากหลาย จึงไม่แปลกที่เขาจะคิดว่าสิ่งที่ตัวเองมีคือสิ่งที่ดีที่สุด แต่ปัจจุบันโลกไปข้างหน้ามากกว่านั้นแล้ว คนรุ่นใหม่ได้เห็นแล้วว่าในขณะที่ต่างประเทศไปที่ 5 เรายังอยู่ที่ 2 จึงไม่แปลกที่เขาจะออกมาเรียกร้อง และไม่แปลกที่คนรุ่นก่อนจะบอกว่า 2 ก็ดีอยู่แล้ว แต่ถ้าคิดกันดีๆ นี่เป็นความคิดที่อยู่แค่ในบริบทของตัวเอง ไม่ใช่เพื่อรุ่นลูกรุ่นหลาน มันจึงเป็น generation gap อย่างที่เห็น

 

เวลาได้ยินแบบนี้แล้วคุณโมโหบ้างไหม

ไม่เลย อาจมีเซ็งบ้างตรงที่เราพยายามเข้าใจคุณแต่คุณไม่พยายามเข้าใจเรา เราเปิดรับแต่คุณไม่เปิดรับ เซ็งตรงนั้นมากกว่า

แคน นายิกา

ได้ฟังจากคุณพ่อมาว่าคุณกำลังเริ่มต้นงานการเมือง จากการเป็นไอดอลคุณมาสู่สายงานนี้ได้ยังไง

นั่นสิ (หัวเราะ) ก็ถือว่ามาแบบงงๆ นะ เพราะตอนแรกยังไม่รู้เลยว่าตัวเองอยากทำงานอะไร แต่ด้วยพื้นฐานเราเป็นคนชอบทำกิจกรรมอยู่แล้ว เราชอบออกค่ายอาสาและชอบช่วยเหลือคน ทีนี้มีอยู่วันหนึ่งเราได้เจอและพูดคุยกับพี่หมอออย (นพ. เฉลิมชัย กุลาเลิศ) เขามีใจอยากเล่นการเมืองและอยากพัฒนาพื้นที่แถวที่เราอยู่ แต่ด้วยความที่เขาอาจไม่มีบุคลิกเหมาะกับการลงชุมชน และเราก็มีประสบการณ์ตรงนี้ เราเลยรู้สึกว่าน่าจะช่วยเขาได้ เพราะแถวบึงกุ่ม-คันนายาวก็เป็นพื้นที่ที่เราเกิดและเติบโตมา เราเห็นว่าที่นี่มีปัญหาอะไรบ้าง เราเลยตัดสินใจลงมาสร้างสิ่งนี้ร่วมกัน

เราเริ่มทำงานนี้มาได้ 2-3 เดือนแล้ว โดยหน้าที่เราคือการลงชุมชนไปแนะนำตัวว่าเราคือใคร มาจากไหน และอยากเข้ามาพัฒนาอะไรบ้าง เราอยากฟังข้อเรียกร้องจากคนในชุมชนว่าพวกเขามีปัญหาอะไรเพื่อที่ทีมเราจะได้เอาไปศึกษาเพื่อหาทางแก้ต่อ

 

ได้เจอปัญหาอย่างที่คิดไว้ไหม

(พยักหน้า) มีปัญหาหลายอย่างเลยที่ยังไม่ได้ถูกแก้ไข ยกตัวอย่างที่เจอล่าสุด เช่น ปัญหาหมู่บ้านเก่าไม่มีนิติบุคคล

ในเขตบึงกุ่ม หมู่บ้านเก่าที่ไม่มีนิติบุคคลนั้นมีอยู่เยอะมาก และในอดีตถนนในหมู่บ้านเหล่านี้จะได้รับการดูแลโดยเขต แต่เมื่อไม่นานมานี้กลับมีกฎหมายใหม่ของรัฐที่ออกมาว่าถนนในหมู่บ้านจัดสรรต้องให้นิติบุคคลของหมู่บ้านดูแล ไม่ใช่หน้าที่เขตที่ต้องแบ่งงบมาทำ นี่จึงเป็นปัญหากับหมู่บ้านที่ไม่มีนิติบุคคล ทั้งหมู่บ้านจะถูกละเลยมองข้าม ถนนไม่มีทางได้ซ่อม ถึงไปคุยกับเขตตอนนี้ก็ไม่สามารถทำให้ได้เพราะไม่มีอำนาจ กลายเป็นพื้นที่ตรงกลางที่ต่างคนต่างงงว่าใครต้องแก้ ซึ่งนี่เป็นแค่ตัวอย่างของปัญหาเท่านั้น จริงๆ ยังมีจิปาถะอีกมากมาย

แคน นายิกา

ความตั้งใจอยากช่วยเหลือของเราเป็นไปดั่งหวังไหม ในความเป็นจริงคุณเจออุปสรรคอะไรบ้างหรือเปล่า

คำดูถูก (ตอบทันที) เราโดนหนักมากๆ อาจเพราะในเขตนั้นคนที่รุ่นราวคราวเดียวกับเราน้อยด้วย ส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่จะเป็นผู้ใหญ่ที่เขาอาจมีความไม่พอใจในวัยเราอยู่ พอเราลงชุมชนไปเจอเขา เราและพรรคเลยถูกเหมารวม ถูกมองว่าเป็นพวกหัวรุนแรงตั้งแต่ต้น พูดจาแข็งกระด้าง บางครั้งก็โดนดูถูกว่าความตั้งใจของเรามันใช้ไม่ได้กับพื้นที่ตรงนี้หรอก เรายังต้องฝึกอีกเยอะ หรือที่มากกว่านั้นคือโดนบอกว่า “หนูรู้ไหมว่าแถวนี้เขตใคร หนูทำอะไรไม่ได้หรอก” เหล่านี้ส่งผลต่อจิตใจเราเหมือนกัน เพราะเราตั้งใจอยากเข้าไปคุยและช่วยเหลือพวกเขาจริงๆ

 

เสียใจไหมที่ความตั้งใจไม่เป็นไปอย่างที่หวัง

(ส่ายหน้าเร็ว) เราเก็บมาเป็นไฟให้เรามีไอเดียใหม่ๆ มากกว่า เหมือนพอได้เห็นว่าเขาคิดกันแบบนี้ เราก็ยิ่งอยากเข้าไปเปลี่ยนแปลงและพัฒนาเขตนี้ให้มากกว่าเดิม เราไม่ท้อเลยนะ เพราะมันเป็นทางที่เราอยากมาเองด้วย ในเมื่อเราเลือกแล้วว่าจะทำก็ต้องทำ หรือคิดอย่างง่ายที่สุด ที่นี่คือบ้านเรา ประเทศเรา ยังไงเราก็ต้องทำ ถึงเซ็งบ้างเวลาโดนแต่เราก็ต้องสู้ บางครั้งเราก็ถามผู้ใหญ่กลับไปด้วยซ้ำว่าแล้วเราควรทำยังไง ซึ่งก็มีผู้ใหญ่ที่ยินดีแนะนำเราอยู่

อย่างครั้งหนึ่งเราเคยโทรหาหัวหน้าชุมชนเพื่อติดต่อขอลงพื้นที่ หลังจากนั้นสักพักมีคุณป้าท่านหนึ่งโทรหาเราแล้วถามว่าทำไมเราโทรไปแบบนั้น ไม่มีใครสอนเหรอว่าหัวหน้าชุมชนเป็นเด็กใคร ถิ่นใคร ทำไมไม่ศึกษามาก่อน ซึ่งเราก็ถามป้ากลับไปตรงๆ ว่าแล้วเราควรทำยังไง สุดท้ายป้าคนนี้ก็พาเราไปเจอคนที่ควรคุยจริงๆ อะไรแบบนี้คือเหตุการณ์ที่เราโดนบ่อยมาก แต่ถ้าว่ากันตามตรง ที่เราเลือกติดต่อเข้าไปโดยตรงเพราะเราไม่อยากตั้งแง่กับใครด้วยแหละ เราอยากเข้าไปแบบโปร่งใสที่สุดอย่างที่ควรจะเป็น

 

คุณเคยโดนคำว่า ‘โลกสวย’ จากการลงพื้นที่ไหม

บ่อย (ยิ้ม) แต่เราเข้าใจนะ เพราะถ้าดูจากที่ผ่านมาคนในชุมชนผิดหวังจากการเมืองมาหลายรอบแล้ว ดังนั้นไม่แปลกที่เขาจะคิดแบบนั้น แต่เราเองก็พร้อมแก้ไขปัญหาที่เขาเคยเจอ

ว่ากันตามจริง คุณเข้ามาทำงานการเมืองในช่วงที่ละเอียดอ่อนเหมือนกัน มีการแบ่งขั้วกันอย่างชัดเจน ในความเห็นคนรุ่นใหม่อย่างคุณ คุณคิดยังไงกับสถานการณ์ตอนนี้ที่บางครั้งมีการใช้ความรุนแรงต่อกันด้วยวิธีต่างๆ คุณกลัวบ้างไหมว่าจะเกิดขึ้นกับตัวเอง

แปลกเหมือนกันนะ แต่เราไม่กลัวเลย อยากถามกลับเหมือนกันว่าเราทำอะไรผิดล่ะ ทำไมเราต้องกลัวด้วย ถึงต่อให้ได้รับผลกระทบขึ้นมาจริงๆ เราว่าก็ดี ทุกคนจะได้รู้ว่าอะไรในประเทศนี้ไม่โอเค ทุกคนจะได้กระจ่างว่าประเทศนี้ผิดเพี้ยนขนาดไหน และทุกคนจะได้รู้ถึงความไม่ปกติ

 

เคยย้อนทบทวนไหมว่าตอนไหนที่ทำให้คุณเริ่มรู้สึกแบบนี้

(นิ่งคิด) มีอยู่ช่วงหนึ่งตอนเราอายุประมาณ 14 ปี เรามีโอกาสเข้าไปสัมภาษณ์ครอบครัวของนักโทษคดีทางการเมืองชื่อพี่คำหล้า ชมชื่น เขาโดนคดีข้อหาแย่งปืนทหารที่แยกดินแดงเพราะพี่เขากลัวว่าจะเกิดความรุนแรงกับประชาชน จากตรงนั้นเขาต้องติดคุก 6 ปี แต่เรื่องน่าเศร้าคือเขาเป็นหัวหน้าครอบครัว พอติดคุกภรรยาและลูกเขาจึงต้องอยู่โดยขาดเสาหลัก วันที่เราเข้าไปสัมภาษณ์ครอบครัวพี่คำหล้า เราได้คุยกับทั้งภรรยาและได้พาลูกเขาเดินเล่นในหมู่บ้าน 

นั่นคือครั้งแรกที่เราเริ่มรู้สึกว่าเรื่องทั้งหมดนี้ไม่ถูกต้อง จากที่คิดว่าประเทศไทยดี ฝรั่งมาเที่ยว เราภูมิใจ แต่เราได้เห็นว่าประเทศที่เราอยู่ไม่ปกติ ที่นี่มีปัญหาอยู่จริงๆ 

ก่อนหน้านั้นพ่อเราเป็นเสื้อแดง ส่วนเราเองไม่ได้เข้าข้างสีไหน แต่กลายเป็นว่าเรากลับแขยงพ่อที่ไปชุมนุม เราอาย เพราะเราเชื่อเพื่อนที่บอกว่าเสื้อแดงคือคนไม่ดี จนเราได้มาเจอครอบครัวพี่คำหล้า ประสบการณ์นั้นทำให้เรารู้ว่าชีวิตที่เราอยู่คือพริวิเลจ จากตรงนั้นเราเลยเหมือนค่อยๆ ได้เห็นมากขึ้นถึงความไม่โอเคต่างๆ ในประเทศนี้ เราเริ่มตั้งคำถามกับความเหลื่อมล้ำและความรุนแรงมากขึ้น 

สำหรับเรา เราว่าความรุนแรงในประเทศนี้คือวิธีการที่แต่ละคนใช้เมื่อมีอำนาจ ซึ่งหลายๆ ครั้งก็อยู่เหนือคำอธิบายในเชิงระบบ แต่ก็เพราะสิ่งเหล่านี้แหละที่ทำให้เรายิ่งรู้สึกว่าควรทำทุกอย่างเท่าที่ทำได้ เราควรใช้สิทธิและเสียงของเราเพื่อให้อำนาจไม่อยู่ในมือคนผิดอีก

เวลาผ่านมาเกือบ 10 ปีแล้วหลังจากวันนั้น คุณว่าประเทศไทยในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปบ้างไหม

เราเพิ่งมารู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลงช่วงนี้เอง การที่คนรุ่นใหม่ค่อยๆ สนใจการเมืองทำให้เราเริ่มมองเห็นความหวังที่จะเปลี่ยนแปลงได้ และเพราะเหตุนี้เองที่ทำให้เรารู้สึกว่าเวลาที่ผ่านมาไม่มีอะไรสูญเปล่า สิ่งเหล่านี้ค่อยๆ เติบโต คนค่อยๆ เปลี่ยน เพราะมีต้นกล้าที่หมั่นฝังลงไปอยู่เสมอ ซึ่งเราเชื่อว่าต่อจากนี้ต้นกล้าจะเบ่งบานแล้ว

 

กลัวรัฐจะมาไล่ถอนต้นกล้าไหม เช่น ทำรัฐประหารอีกครั้ง

แน่นอนว่าเราไม่โอเคกับการทำรัฐประหาร มันมีค่าเท่ากับเผด็จการ แต่ถ้าเกิดขึ้นจริงเราก็เชื่อว่าประชาชนในยุคสมัยใหม่ที่ไม่มีอาวุธจะหาทางหยุดยั้งสิ่งนี้ได้นะ เราอาจตอบได้ไม่แน่ชัดตอนนี้ว่าทำยังไง แต่เราเชื่อว่าต้องมีไอเดียบางอย่างที่เกิดขึ้นเพื่อให้คนออกมาสู้กับรัฐประหารได้แน่

 

แล้วคุณเคยคิดถึงกรณีร้ายแรงที่สุดไหม ถ้าสมมติว่าสิ่งที่คุณอยากให้เปลี่ยนแปลงไม่เกิดขึ้นจริง

(นิ่งคิดนาน) เราไม่ได้คิดถึงเลย เพราะเราเชื่อว่ายังไงความเปลี่ยนแปลงก็จะเกิดขึ้น

มันเป็นไปได้ในเจเนอเรชั่นเราแน่ๆ อาจไม่สำเร็จใน 2-3 ปี แต่อย่างน้อยเราเชื่อว่าในระยะยาวที่วัยเรากลายเป็นผู้ใหญ่ ปัญหาในประเทศนี้จะถูกแก้ไข ซึ่งเราว่าความคิดแบบนี้เป็นสิ่งสำคัญนะ ถ้าเราไม่เชื่อมั่นแบบนี้หรือลังเลสงสัย เราคงใช้ชีวิตแบบหลงลืมและยอมรับทุกสิ่งที่เกิดขึ้นจนสุดท้ายทุกอย่างก็เป็นเหมือนเดิม

แล้วในอนาคตเราจะได้เห็น ส.ส.นายิกาไหม คุณวางแผนตัวเองไว้ยังไงบ้าง

เรามีความเชื่อมั่นว่าคนเราเปลี่ยนไปในทุกๆ 5-7 ปี แต่สำหรับ 5 ปีนี้ เราเห็นว่าตัวเองยังคงอยู่ที่นี่นะ เรายังอยากทำอะไรบางอย่างเพื่อประเทศและคนอื่น ถามว่าเหนื่อยไหม ก็เหนื่อยมาก แต่นี่เป็นความเหนื่อยที่เราไม่ทุกข์ (เงียบคิด) ถ้าให้เทียบ เราเคยมีหัวโขนที่ทำงานในวงการบันเทิง ตอนนั้นเราก็เหนื่อยและท้อ เราถามตัวเองอยู่ตลอดว่าทำไปทำไม เหนื่อยแล้วได้อะไร เราไม่เห็นว่าตัวเองจะไปอยู่ในจุดไหน แต่งานปัจจุบันนี้ทำให้เรารู้สึกอีกแบบ เราได้เข้าไปช่วยเหลือคนและแก้ไขปัญหา มันทำให้เรารู้สึกว่าตัวเองมีประโยชน์ ซึ่งอนาคตจะไปอยู่ตรงไหนเรายังไม่รู้หรอก แต่อย่างน้อยความรู้สึกนี้ก็หล่อเลี้ยงเราในตอนนี้ได้แล้ว

 

สุดท้าย คุณว่าตัวเองใน 5 ปีข้างหน้าจะโตไปเป็นผู้ใหญ่แบบไหน 

ไม่แน่ใจ แต่อย่างน้อยเราว่าตัวเองไม่โตไปเป็นผู้ใหญ่ที่หมดหวังแน่ๆ  

โลกเปลี่ยนไปมากแล้วจากยุคที่คนรุ่นเก่าเติบโตมา โลกกำลังไปข้างหน้า เราเชื่อว่าปัญหาแต่ละอย่างจะค่อยๆ ถูกแก้ไปเรื่อยๆ และสุดท้ายระบบจะทำงานอย่างถูกต้องของมัน ระบบจะเลือกคนที่เหมาะสมเข้ามาพัฒนาชุมชนเพื่อที่ลูกหลานจะได้ไม่เจอปัญหาแบบเดิม

เราคิดตั้งแต่เด็กจนโตว่าเราอยากมีลูกและเราก็อยากให้ลูกมีชีวิตที่ดี ในเมื่อถ้าคนเราเกิดมาเพื่อใช้ชีวิตและตายจากไป เราก็อยากให้ชีวิตในวัยผู้ใหญ่ของเราระหว่างนั้นได้ทำสิ่งดีๆ ให้กับสายเลือดตัวเองบ้าง อาจเพราะสิ่งเหล่านี้มั้งที่ทำให้เราไม่หมดหวัง เรายังอยากอยู่ตรงนี้เพื่อเห็นว่าประเทศดีขึ้นในวันที่เราจากไป

อย่างน้อยลูกเราจะได้ไม่ต้องเจอกับคำว่า ‘รู้ไหมแถวนี้ถิ่นใคร’ อีก

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ

ช่างภาพนิตยสาร a day ที่เพิ่งมีพ็อกเก็ตบุ๊กเล่มใหม่ชื่อ view • finder ออกไปเจอบอลติก ซื้อสิ ไปซื้อ เฮ่!