BENXBLUES เจ้าของผลงานบนกระป๋องคราฟต์เบียร์ที่จะกระตุ้นความกระหายแม้ไม่เคยลิ้มลองรสชาติ

ถ้าคุณเป็นทาสแมวและรักการดื่มคราฟต์เบียร์ คุณก็อาจจะรักงานของ ‘เบนซ์-มยาวี ทองสงฆ์’ หรือในวงการรู้จักกันในชื่อ ‘BENXBLUES’ (เบนซ์บลูส์) หนึ่งในศิลปินของซีรีส์ Illustation นักวาดภาพประกอบที่ใช้ลายเส้นแบบไทยสวมใส่ความร่วมสมัย จนทำให้เราไม่กล้าทิ้งกระป๋องเบียร์ที่กระดกดื่มจนหมด

จากกราฟิกดีไซน์เนอร์สาวที่ค้นหาความชอบจนเจอ เมื่อมาจับงานด้าน Illustration ที่ทำให้ได้ปลดปล่อยไอเดียในโปรเจกต์ส่วนตัวและเคาะประตูหาโอกาสให้กับตัวเอง จนมีฐานผู้ติดตามผลงานทางโซเชียลมีเดีย ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือทีมเบื้องหลังผู้ปั้น The Brewing Project นั่นเอง 

เมื่อโอกาสที่ใช่มาเจอกับศิลปินที่ชอบ จึงได้ผลลัพธ์ออกมาเป็นกระป๋องคราฟต์เบียร์ ที่ซุกซ่อนความขี้เล่นแต่ยังได้กลิ่นอายความเป็นไทยที่มีความเป็นสากล และเชิญชวนให้เรากระหายเครื่องดื่มแม้เพียงแรกเห็น วันนี้ในคอลัมน์ Draft Till Done จึงขอดอดมาพบเพื่อพูดคุยกับศิลปินกันถึงในงานแสดงผลงานอีกครั้งหนึ่งของเธอ จุดหมายปลายทางของการสัมภาษณ์ในครั้งนี้ ส่วนหนึ่งคือเพื่อต้องการช่วยผลักดันศิลปินหน้าใหม่ของวงการนักวาดภาพประกอบของไทย รวมถึงการชี้ช่องทางให้น้องๆ ที่กำลังเรียนศิลปะได้เห็นถึงความเป็นไปได้ในการนำพาผลงานของตัวเองเดินทางไปสู่มือผู้บริโภคจำนวนมากผ่านผลิตภัณฑ์ได้เช่นกัน

คุณเรียนจบศิลปะโดยตรงเลยหรือเปล่า

เราเรียนจบสาขากราฟิกดีไซน์จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เริ่มต้นด้วยงานสายกราฟิกดีไซน์เนอร์ แต่รู้ตัวเองว่าเป็นคนไม่ชอบการวางเลย์เอาต์และแพตเทิร์น เมื่อถึงเวลาฝึกงานจึงเลือกฝึกงานที่เกี่ยวกับนักวาดภาพประกอบแทน พอเรียนจบก็รู้ตัวเองแล้วว่าไม่อยากทำงานกราฟิกแต่อยากเบนมาสายงานนักวาดภาพประกอบ จึงทำให้ต้องเรียนรู้การเป็นนักวาดภาพประกอบ พอเรารู้แล้วว่าอยากทำอะไรก็เลยพยายามเข้าหาสิ่งที่ชอบและหนีจากสิ่งที่ไม่ชอบ รวมถึงการพยายามสร้างผลงานของตัวเอง มันไม่มีหรอกว่าอยู่ดีๆ แล้วจะมีคนติดต่อเข้ามาจ้างถ้าเขาไม่เคยเห็นฝีมือเรามาก่อนและรู้ว่าสามารถทำงานอะไรได้บ้าง 

ในช่วงแรกเราเริ่มต้นด้วยการทำโปสเตอร์คอนเสิร์ตไปเยอะมาก มันเริ่มจากการที่เราไปขอเขาทำฟรีเพราะคิดว่างานโปสเตอร์มันไม่เหมือนงานอื่นๆ ตรงที่เมื่อเสร็จออกมาแล้วผลงานจะได้รับการโปรโมต เราก็จะยัดความเป็นเราด้วยการวาดทุกอย่างเขาไปเลยยกเว้นการทำงานกราฟิกในโปสเตอร์ พอคนมาเห็นก็จะถามหาศิลปินที่วาดโปสเตอร์นี้ หลังจากนั้นก็เริ่มมีงานวาดโปสเตอร์ติดต่อตามเข้ามาเรื่อยๆ ตั้งแต่นั้น

ยกตัวอย่างงานกระป๋องเบียร์พอผลิตภัณฑ์ขายออกไปมันก็กระจายออกไปทั่ว กระป๋องเบียร์มันได้อยู่ในมือใครที่ชอบงานเราก็อยากรู้ต่อไปว่าศิลปินที่วาดลายเส้นนี้คือใคร เราคิดแค่ว่าถ้าอยากให้คนรู้จักเรา เราก็ต้องรู้จักการโฆษณาตัวเอง อยู่ที่ว่าเราจะเลือกโฆษณาตัวเองด้วยวิธีใดเพราะศิลปินแต่ละคนก็อยากแสดงตัวตนของตัวเองออกมาให้คนได้รับรู้ แล้วจะทำด้วยวิธีไหนได้บ้างนะ นี่ก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นไอเดียให้คิดต่อจากตรงนั้น

Benxblues และ The Brewing Project มาร่วมงานกันได้อย่างไร

เริ่มประมาณปีที่แล้ว พี่ๆ The Brewing Project ที่ทำเรื่องคราฟต์เบียร์ไทยพวกเขาค่อยๆ ทำกันด้วยแพสชัน เริ่มต้นกันเพียงไม่กี่รสชาติโดยอยากใช้กระป๋องเรียบๆ สีพื้นดึงดูดด้วยลายเส้นของศิลปินที่มีเอกลักษณ์ ตอนที่ติดต่อเข้ามาพวกเขาส่งบรีฟคอนเซ็ปต์ภาพรวมเกี่ยวกับรสชาติเบียร์ให้กับศิลปินซึ่งจะมีการเน้นย้ำถึงเอกลักษณ์เฉพาะหรือคาแรกเตอร์ที่ต้องการแนบมากับชื่อที่คิดกันไว้แล้วส่งมาให้ด้วย 

สิ่งที่ทางแบรนด์ต้องการคือ วาดตามบรีฟที่ส่งให้ถ่ายทอดออกมาด้วยลายเส้นของศิลปินตามสไตล์ของตัวเอง โจทย์แรกที่เราได้ทำร่วมกับ The Brewing Project คือ คาแรกเตอร์คุณวิทูร (คริสปี้ บอย) ได้ไอเดียมาจากจิตรกรรมฝาผนังในวัดเป็นรูปคนลายเส้นแบบไทย ซึ่งในบรีฟต้องการให้คาแรกเตอร์นี้นั่งชิลอยู่บนเป็ดยางด้วย ต่อจากตัวนั้นก็ได้มาทำอีกคาแรกเตอร์ชื่อ คุณวิฬาร์ (น้องแมวตัวกลมอิงหมอนสามเหลี่ยม) ชิ้นนี้ ไอเดียได้มาจากความเป็นแมวเลิฟเวอร์ของทุกคน ด้วยคอนเซ็ปต์งานที่ลงตัวเมื่อได้ลายเส้นของเราถ่ายทอดออกมาตรงตามที่แบรนด์ต้องการทำให้ได้กระแสตอบรับดี ด้วยความน่ารักเข้าถึงง่าย คนที่ไม่ดื่มเบียร์พอได้เห็นกระป๋องที่น่ารักๆ ก็ทำให้อยากลองชิม คนที่ดื่มเบียร์อยู่แล้วเป็นประจำก็ชื่นชอบทั้งรสชาติและงานออกแบบที่ถูกปากและถูกใจ 

พอได้รับกระแสตอบรับที่ดีกลับเข้ามาทำให้ได้ร่วมงานกันอีกเรื่อยๆ มีการทำ Merchandise นอกเหนือจากลายเส้นบนกระป๋องเบียร์ เช่น เสื้อ แก้ว และอื่นๆ รวมถึงโปรเจกต์เฉพาะกิจระยะสั้นก็ติดต่อเข้ามาเรื่อยๆ เช่น กระป๋องเบียร์ผลไม้  

จนมาถึงโปรเจกต์พิเศษที่ทำร่วมกับเบียร์ของญี่ปุ่น FAR YEAST BREWING COMPANY ที่ได้มาคอลแลบกับ The Brewing Project และแบรนด์เบียร์ผลไม้ของไทย ทุกอย่างสอดคล้องลงตัวกันเลยทำให้เรามาทำงานนี้ โดยเหตุผลที่พวกเขาเลือกเราให้มาวาดภาพให้เพราะต้องการกลิ่นอายความเป็นไทยแต่ไม่อยากให้ออกมาแบบไทยจังเล้ยย (เน้นเสียง) จากผลงานของเราที่ทำร่วมกับแบรนด์มาทั้งหมดทำให้เขาเชื่อว่าเราสามารถตอบโจทย์ตรงนี้ได้ 

กระบวนการทำงานโปรเจกต์กระป๋องคราฟต์เบียร์เป็นอย่างไร 

โปรเจกต์พิเศษที่คอลแลบกับแบรนด์ญี่ปุ่น ต้องการชูทั้งความเป็นญี่ปุ่นและไทย เมื่อพูดถึงญี่ปุ่นภาพแรกๆ ที่พวกเราคุ้นเคยก็มักจะเป็นนักรบซามูไรหรือไม่ก็หญิงสาวในชุดกิโมโน ซึ่งทีมจะส่งลายเส้นในใจให้เราไปศึกษามา โดยตั้งโจทย์ไว้ว่าอยากได้คาแรกเตอร์ที่แต่งกายตามแบบญี่ปุ่น แต่ต้องการให้คาแรกเตอร์หน้าไทยแบบในจิตรกรรมฝาผนังของบ้านเรา

เมื่อเราได้รับโจทย์มาก็สเกตช์คร่าวๆ ส่งให้กลับไปแบรนด์ดู ด้วยการนำแพตเทิร์นมินิมอลของความเป็นญี่ปุ่นมาใช้เป็นลวดลายของชุด จากนั้นเราจะมาร์กจุดหรือไกด์การจัดวาง รวมไปถึงการกำหนดสีบนภาพประกอบที่จะใช้ลงกระป๋องเบียร์ ตัวอย่างเช่น เบียร์รสส้มยูซุ เราแอบวางผลส้มไว้ข้างหลัง ส่วนเบียร์นักรบซามูไร จำนวนดาบที่ถือมาจากจำนวนพันธุ์ไม้ที่ใช้ในการต้มเบียร์นั่นเอง ในรายละเอียดต่างๆ ถ้าถามตรงไหนก็จะสามารถอธิบายเหตุผลที่วาดได้หมด

ศิลปินต้องหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับญี่ปุ่นก่อนเริ่มงานด้วยหรือเปล่า

โปรเจกต์นี้เราแทบไม่ได้หาเพิ่มเติมเลย เพราะอ้างอิงจากสิ่งที่แบรนด์ส่งบรีฟมาให้จะมีรายละเอียดที่บอกถึงที่มาที่ไปและเรื่องราวที่อยากสื่อสารกับผู้บริโภคไว้อยู่แล้ว รวมถึงเหตุผลที่ต้องการใส่คาแรกเตอร์แต่ละตัวไปในโปรดักต์ ซึ่งศิลปินแบบเรามีหน้าที่สร้างสิ่งที่เขาคิดให้เกิดขึ้นจริง โดยการบ้านที่เราทำต่อจากบรีฟคือการเน้นในเรื่องรายละเอียดของชุดกิโมโน เพราะไม่ใช่สิ่งที่คุ้นเคย ก่อนที่จะลงมือวาดก็จะเลือกศึกษาสิ่งที่เรายังไม่รู้

จากดีไซน์บนกระดาษกลายมาเป็นภาพประกอบบนกระป๋องได้อย่างไร

จากประสบการณ์ที่เราเคยทำให้เบียร์แบรนด์หนึ่งมาก่อน หลังจากที่คุยบรีฟกันเรียบร้อยแล้วก็ทำงานส่งกลับไปให้ แต่เขาพูดกลับมาว่า กฎหมายกำหนดไว้ว่าห้ามวาดแบบนี้ เพราะมันเป็นการเชิญชวนให้คนมาดื่ม ภาพของเรามันสนุกเกินไป จากฟีดแบ็กนี้ทำให้เกิดความกลัวว่าเหตุการณ์นี้จะเกิดขึ้นอีก กลายเป็นว่าพอวาดภาพออกมาแล้วนำไปใช้งานต่อไม่ได้ถึงแม้สวยแค่ไหนก็ตาม ซึ่งใช้ไม่ได้ในที่นี้หมายถึงไม่ได้เป็นความเห็นเกี่ยวกับแบรนด์แต่เป็นเรื่องเกี่ยวกับกฎหมายของเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์ 

ต่างกันกับที่ The Brewing Project พี่ๆ เขายืนยันว่าจะดูแลเรื่องนี้เพื่อให้เราสามารถออกแบบได้อย่างเต็มที่ ทำให้เรารู้สึกว่าในฐานะคนสร้างแบรนด์เองก็ต้องมีข้อมูลหรือความรู้ในการผลิตสินค้าโดยเฉพาะเบียร์ ตั้งแต่นั้นมาก็เชื่อมั่นว่าแบรนด์นี้สามารถดูแลจัดการเรื่องนี้ที่เคยเกิดขึ้นให้กับศิลปินได้ ถ้าวาดสิ่งไหนไม่ได้ก็จะไม่ใส่มาในบรีฟตั้งแต่แรก

จริงๆ แล้วเราไม่ได้กลัวว่าจะไม่ได้ค่าจ้าง ถึงแม้เราทำงานออกมารับเงินมาแล้ว แต่ผลงานไม่ได้นำไปใช้จริงเป็นสิ่งที่เราเสียดาย สงสารทั้งแบรนด์และตัวเองด้วย โปรเจกต์ครั้งนี้ก็เลยถามตรงๆ ก่อนเลยถึงปัญหาที่เคยเจอมา ด้วยความที่ The Brewing Project พวกเขาทำงานกันด้วยไทม์ไลน์มีระบบชัดเจนทำให้ทำงานเร็ว วางกำหนดระยะเวลาในการต้มเบียร์ วางแผนการผลิตและรู้ช่วงเวลาเปิดตัวสินค้า ทุกกระบวนการมีแผนไว้หมดแล้ว 

ประกอบกับสไตล์ผลงานของเราตรงกับสิ่งที่แบรนด์ชื่นชอบอยู่แล้วจึงทำให้ทำงานด้วยกันราบรื่นมีการปรับแก้เพียงเล็กน้อย นอกจากนี้การที่คุยเข้าใจกันตั้งแต่แรกทำให้เห็นภาพเดียวกัน ศิลปินก็สามารถวาดได้ตรงกับไอเดียที่แบรนด์ต้องการและตามโจทย์ที่กำหนดไว้อย่างชัดเจน ซึ่งมันช่วยให้ทำงานเข้ากันได้ดีและง่ายขึ้น ที่สำคัญการที่เราไม่ได้เรียน Fine Art มาโดยตรง แต่มาทางนิเทศน์ศิลป์ซึ่งก็คือการทำสื่อ นั่นก็ทำให้ต้องคำนึงถึงการสื่อสารเพื่อถ่ายทอดออกมารู้เรื่องด้วยซึ่งจะต่างกับแนว Conceptual 

ส่วนตัวเรามองว่าความถนัดของตัวเองไม่ได้เน้นด้านใดด้านหนึ่ง อยู่ระหว่างกราฟิกดีไซน์และไฟน์อาร์ตมันทำให้เราสามารถทำงานอาร์ตเวิร์กให้เป็นไปตามโจทย์ได้และสามารถต่อยอดอาร์ตเวิร์กของเราไปอยู่บนโปรดักต์ต่างๆ เมื่อโปรดักต์ออกมาให้คนเห็น มันทำให้เริ่มมีคนถามหาศิลปินที่วาด และดึงดูดให้พวกเขาเข้าตามมาดูงานอื่นๆ รวมถึงงานส่วนตัวนอกเหนือจากงาน Commercial กลายมาเป็นคนที่ชื่นชอบผลงานและติดตามเราเพิ่มขึ้นไปด้วย นั่นทำให้เราแฮปปี้ทั้งในพาร์ตที่ทำงานแล้วได้เงินและได้ทำงานเพื่อความสุขของตัวเอง

สไตล์ที่ถนัดของตัวเองคืออะไร

เราเรียกมันว่าเป็น ‘สไตล์ซ่อน’ แล้วกัน เพราะทุกคนจะชอบพูดเหมือนๆ กันว่าผลงานเรามีดีเทลเยอะแต่ว่าทุกครั้งที่เราใส่ความเยอะเข้าไป เราอยากให้ผู้คนได้เพ่งดูจนเห็นดีเทล ที่เราต้องการใส่ลงไปเรื่องที่เราชอบ เรื่องที่อยากเล่าเราจะแอบเอาไว้ 

ยกตัวอย่างเช่น งานเสียดสีเกี่ยวกับการเมือง เมื่อโพสต์ลงไปแล้วมีคอนเมนต์ถกเถียงกันนำไปตีความกันต่อ เราโอเคนะ เพราะเมื่อเราเล่าเรื่องนี้ออกไป แต่ละคนเห็นมุมมองที่ได้รับจากรูปนี้ไม่เหมือนกัน ความสนุกมันอยู่ที่ได้เห็นทุกคนตีความจากมุมมองของตัวเองตามความเข้าใจ บางครั้งมีคนเข้ามาคุยกับเราเรื่องภาพๆ นี้ ก็ได้รับมุมมองที่เราไม่ได้คาดคิดมาก่อน 

ซึ่ง The Brewing Project ก็เป็นหนึ่งในผู้ติดตามผลงานของเรามาก่อนตั้งแต่สมัยที่เราทำเรื่องการเมือง ม็อบ และการประท้วง เราจะเล่ารูปแบบสะท้อนสังคมมาตลอดโดยไม่ได้หวังผลจากกระแสหรือยอดไลก์ ซึ่งมันไปตรงกับความชอบของพวกเขาที่สนใจงานเสียดสีอยู่แล้ว

พี่ๆ จากแบรนด์ The Brewing Project ติดตามผลงานและเห็นเราทำงานแบบนี้มาตลอดแต่ในตอนนั้นยังไม่รู้ว่า ถ้าเอาเราไปร่วมงานด้วยจะกลายมาเป็นรูปแบบไหน พอเขาติดต่อมาให้เราทำ ก็จะบอกคีย์เวิร์ดออกมาให้เราแอบซ่อนความเป็นตัวเองไว้ในงานได้เลยนะ ถ้าเราอยากเล่นอะไรเพิ่มเติมก็ให้มาคุยกันได้เลย เช่น คุณวิทูร (คริสปี้ บอย) เราเสนอให้ใส่แว่นด้วยดีมั้ยจะได้ทันสมัยขึ้น คงคาแรกเตอร์ทรงผมดั้งเดิมไว้ตามแบบงานจิตรกรรมไทย พอเขาชอบก็ซื้อไอเดียของเรานี่แหละเป็นความสนุกที่ได้ร่วมงานกัน สุดท้ายแล้วการออกแบบหรือการเลือกศิลปินคนใดมาร่วมออกแบบโปรดักต์สักชิ้น การให้เกียรติตัวตนของศิลปินมันเป็นสิ่งที่สวยงาม คนทำแฮปปี้ แบรนด์ก็แฮปปี้ เพราะสิ่งที่เขารักได้ถูกถ่ายทอดออกมาตรงใจทั้งสองฝั่ง

เอกลักษณ์ที่คุณแอบซ่อนใส่ในงานตัวเองคืออะไร

ในทุกงานอย่างแรกที่จะมีคือรูปหัวใจ คนมักจะพูดกันเยอะว่างานเราก้าวร้าว แต่ถ้าได้สังเกตในรายละเอียดดีๆ จะมีความน่ารักซ่อนอยู่ในทุกงาน มองดูก็จะรู้ว่านี่เป็นผลงานของผู้หญิงวาด ดูเผินๆ เหมือนเป็นงานผู้ชายสายดาร์กๆ บางครั้งผู้หญิงหวานๆ มาดูงานเราก็ยังออกปากชมว่าน่ารักเลยก็มี 

สิ่งที่เราชอบวาดอีกอย่างคือโครงกระดูกมนุษย์ เพราะถ้าต้องการบ่งบอกถึงคนโดยรวมพอวาดคนๆ หนึ่งขึ้นมามันจะไปเชื่อมโยงถึงคนนั้นคนนี้ แต่เมื่อเราเลือกใช้โครงกระดูกหรือหัวกะโหลกมาแทน มันเลยเป็นการบอกว่าสุดท้ายแล้วเราทุกคนเท่ากัน สิ่งที่อยู่ด้านในทุกคนนั้นเหมือนกันหมด ภายนอกต่างหากที่ต่างกัน โครงกระดูกหรือวาดหัวกะโหลกมันคือฉัน คุณ เธอ และทุกคน หรือการวาดคนไม่มีหน้าก็เพราะอยากให้ผู้ชมคิดทบทวนว่าจริงๆ แล้วคนๆ นี้คือใคร งานในเชิงสะท้อนสังคมของเราบางทีคนที่คุณมองเห็นว่ากำลังสร้างปัญหาชี้ความผิดไปที่คนอื่น แต่จริงๆ แล้วอาจจะเป็นคุณเองด้วยหรือเปล่า เหล่านี้แหละจะเป็นสิ่งที่ซ่อนอยู่ในผลงาน ถ้าถามเราก็จะมีคำตอบให้ทุกอย่างเลย

สุดท้ายนี้อะไรคือความยากของการเป็นนักวาดภาพประกอบในยุคนี้

ถ้าเราแข่งขันหรือเปรียบเทียบกับคนอื่นมันจะทำให้เราเหนื่อย อยากให้คิดถึงสิ่งที่ทำแล้วตัวเองชอบมันจะไม่ทำให้เราเหนื่อย แค่นี้เลยจริงๆ สุดท้ายแล้ว ความเครียด ความกดดัน มาจากที่เรานึกถึงคนอื่นมากไป กังวลว่าจะไม่ชอบผลงานของเราทำให้เครียด แค่เราชอบผลงานตัวเองก็สามารถภูมิใจกับงานที่ทำได้แล้วว่าฉันชอบสิ่งที่วาดในวันนี้โดยไม่ต้องนึกถึงใครเลย นั่นก็ทำให้เรานอนหลับได้แล้ว

พอเวลามามีรุ่นน้องมาปรึกษาว่า อยากเป็นเหมือนเราก็จะบอกกลับไปว่า ชอบแบบไหนก็ทำแบบนั้น แต่อย่าคิดว่าอยากเป็นคนนั้นคนนี้ต้องทำแบบเดียวกัน อยากให้มองความสำเร็จของคนอื่นแล้วไปยินดีกับเขา กลับมาตั้งใจกับตัวเองว่าฉันก็ต้องทำได้เหมือนกัน อย่าจมกับความคิดที่บั่นทอนเพราะวิธีคิดบวกก็จะสร้างพลังงานด้านบวกกลับมา ถ้าคิดด้อยค่าตัวเองก็จะเหนื่อยเพราะทำให้วิ่งตามอยู่เสมอ ทำสิ่งที่ชอบ ตอบสนองความต้องการของตัวเองเป็นอันดับแรก พอมีคนอื่นมาชอบด้วยนั้นแหละคือกำไร

ติดตามผลงานของ Benxblues ได้ในช่องทาง

Instagram: benxblues.studio

Facebook: Benxblues


ภาพ: สันติพงษ์ จูเจริญ

AUTHOR