‘บ้านบูรณ์’ ไม้กวาดหน้าตาดี ไม่ต้องหลบ ไม่ต้องอาย ต่อยอดจากเชียงรายและครองใจคนทั่วโลก

Highlights

  • บ้านบูรณ์ คือแบรนด์ไม้กวาดที่ต่อยอดมาจากธุรกิจไม้กวาดสไตล์ญี่ปุ่นอายุกว่า 30 ปี ภายใต้ชื่อ 'สมบูรณ์ผล'
  • หลัง สมบูรณ์ วิวัฒนานุกูล ส่งออกไม้กวาดในตลาดต่างประเทศมาตั้งแต่แรกเริ่ม จนตีตลาดไปไกล ครองใจคนทั่วโลก ตูน–บูรณิตา วิวัฒนานุกูล จึงคิดหันกลับมาพัฒนาตลาดในประเทศ
  • เพียงเริ่มเปิดตัวและวางขายในอินสตาแกรม baanboon.brooms และหน้าร้าน Woot Woot Store ที่ Warehouse 30 ไม่นาน ตอนนี้สินค้าก็ทยอย sold out ไปแล้วหลายชิ้น
  • ชวนติดตามเคล็ดลับวิธีทำงานของรุ่นใหญ่-รุ่นเล็ก ฟังวิธีสร้างแบรนด์ให้ประสบความสำเร็จของสองพ่อลูก

‘ไม่มีเกสร ไม่มีฝุ่นละออง ใช้งานคงทน ทั้งในและนอกสถานที่ และที่สำคัญคือหน้าตาดีแบบไม่ต้องซ่อน’ คือคุณสมบัติของไม้กวาดหน้าตาเก๋ไก๋ ที่เราไม่ค่อยคุ้นเคย อย่าง ‘บ้านบูรณ์’ 

แบรนด์ไม้กวาดน้องใหม่ ที่ความจริงแล้วขยายตัวมาจาก ‘สมบูรณ์ผล คราฟท์’ แบรนด์ไม้กวาดส่งออกออร์เดอร์แน่น

หลังเปิดตัววางขายในอินสตาแกรม Baanboon.brooms และหน้าร้าน Woot Woot Store ที่ Warehouse 30 ไปไม่ทันไร ก็ sold out จนเจ้าของแบรนด์อย่าง ตูน–บูรณิตา วิวัฒนานุกูล ไม่ทันตั้งตัว

เพราะหลงเสน่ห์ในรูปลักษณ์ของไม้กวาดเข้าเต็มเปา เราจึงถือโอกาสนัดวันที่หญิงสาวเข้ามาเติมสต็อก แวะพูดคุยกับเธอ

จากที่หวังว่าจะมาทำความรู้จักบ้านบูรณ์ให้มากกว่าที่เคย กลายเป็นว่าคุณพ่อสมบูรณ์ วิวัฒนานุกูล เจ้าของวิชาการสร้างแบรนด์ไม้กวาดถ่ายทอดวิชาการทำงาน การบริหารธุรกิจให้เราเพียบ

เมื่อเห็นออร์เดอร์ที่สวีเดน ญี่ปุ่น เกาหลี เพียบขนาดนี้ ใครจะคิดว่าธุรกิจส่งออกไม้กวาดสไตล์ญี่ปุ่น หรือ sorghum broom จะมีจุดเริ่มต้นอยู่ที่ริมถนน เกิดขึ้นที่ข้างทาง ในจังหวัดเชียงราย 

ปัดกวาดเก้าอี้ไว้ให้เรี่ยมแล้วนั่งลงฟังสองพ่อลูกเล่าให้ฟัง

 

จากตั้งต้น จนชำนาญ เป็นสมบูรณ์ผล

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2529 ช่วงที่ไต้หวันเริ่มเข้ามาหาแรงงานในประเทศไทยเป็นฐานกำลังผลิตให้ธุรกิจของตัวเอง สมบูรณ์ ซึ่งกำลังทำธุรกิจเกี่ยวกับสิ่งทอ เริ่มหันมาเข้าแวดวงการทำไม้กวาดแบบ sorghum โดยได้รับคำแนะนำจากคู่ค้าของตัวเองที่ ณ ตอนนั้นมีคนรู้จักกำลังหาคนปลูกวัตถุดิบสำหรับทำไม้กวาดส่งกลับไปยังประเทศให้ สมบูรณ์ที่มีพื้นที่ทำพืชไร่อยู่แล้วที่เชียงรายจึงเริ่มลองผิดลองถูก รับมาทำเสริม แทนการปลูกข้าวโพดที่ไม่ค่อยได้ผล 

“ช่วงเดียวกันที่มีคนมาหาผม ก็มีอีกกลุ่มไปหาคนอื่นเหมือนกัน มีการปลูกกันหลายจุด ประจวบคีรีขันธ์บ้าง อีสานบ้าง แต่เพราะเขาไม่ได้มีฮาวทูมาให้ คนก็ไม่รู้ว่าจะปลูกจะดูแลยังไง ส่วนใหญ่ก็เสียหายกันเยอะ ของเรานี่กว่าจะเข้าที่รู้ว่าพืชตัวนี้ต้องอยู่ในสภาพอากาศยังไงก็ไม่ง่าย” เจ้าของธุรกิจอย่างเขาค่อยๆ เล่าถึงอดีตให้เราฟังด้วยน้ำเสียงเนิบช้า พลางหัวเราะให้ความผิดพลาดในคืนวันเก่าๆ อย่างอารมณ์ดี เพราะหลังลองผิดลองถูกมาเรื่อยๆ ทำวัตถุดิบส่งไปไต้หวันจนเริ่มชำนาญ วันหนึ่งก็เกิดเรื่องตลกขึ้นที่หน้าโรงงาน 

“มาเริ่มทำไม้กวาดได้เพราะโรงงานผมอยู่ริมถนน วันหนึ่งมีคนญี่ปุ่นคนหนึ่งขับรถผ่านมาเห็นต้นไม้กวาดตากอยู่ เขาเลยย้อนกลับมาหา เริ่มเอาแบบไม้กวาดมาให้เราทำ ตอนนั้นเรายังไม่รู้วิธีการทำที่ชัดเจนเลย ส่วนประกอบอย่างด้ามไม้ไผ่ก็ใช้ไม้ไผ่เมืองไทยมาทำ เก็บไว้ 3-4 เดือนมอดก็เริ่มกิน รูปแบบของไม้กวาดก็ไม่ได้มาตรฐานตามที่เขาต้องการ ส่งไป 5-6 ตู้คอนเทนเนอร์ เสียหายหมดเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์” เถ้าแก่วัย 70 หัวเราะระรื่น แม้สิ่งที่เล่ามาทั้งหมดคือความลำบากที่เขาต้องเผชิญในช่วงแรก

แม้จะมีอุปสรรคมาตั้งแต่ต้น แต่สมบูรณ์ก็ยังไม่ล้มเลิก เขามุ่งพัฒนาทำต่อด้วยเพราะเล็งเห็นว่าธุรกิจนี้น่าจะมีคู่แข่งไม่มาก และหลังแก้ปัญหาเรื่องวัสดุ อุปกรณ์การทำต่างๆ แล้ว ความเสียหายที่ต้องแบกรับก็ถือว่ามีน้อยมาก 

“ส่วนหนึ่งคือความชอบส่วนตัวด้วย เราคิดว่าเราน่าจะทำธุรกิจหัตถกรรมพวกนี้ได้ คนงานทางเหนือก็ทำงานพวกนี้ได้ดี อารมณ์เย็น แต่อาจจะไม่ค่อยได้ในเรื่องของปริมาณ ทำถึงจุดหนึ่ง รัฐบาลเขาก็เน้นเรื่องการส่งออก เราไปออกงานเลยมีลูกค้าเพิ่มเข้ามา ช่วงนั้นมีกลุ่มพ่อค้าจากประเทศนู้นประเทศนี้มาดูงาน สั่งของ ให้ไอเดียว่าควรทำแบบไหน ลูกค้าญี่ปุ่นก็เริ่มมีหลากหลายเจ้า จากคนที่เจอครั้งแรกเขาเป็นแค่พ่อค้า ไม่ใช่ผู้ชำนาญการ หลังๆ ก็มีเจ้าของโรงงานไม้กวาดมาสอนเทคนิคนู่นนี่ให้เรา”

แต่พอกำลังจะไปได้ดีก็เกิดอุปสรรคขึ้นมาอีกอย่าง ประเทศจีนเริ่มเปิดประเทศ คนไต้หวันที่เคยมาลงทุนที่ไทยจึงย้อนกลับไปเมืองจีนกันหมด เพราะมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่า 

“พอไต้หวันไปพัฒนาที่จีน จีนเขาทำได้ปริมาณมาก ทุกคนก็ไปซื้อที่นั่นเพราะเขาขายราคาต่ำกว่าเราตั้งครึ่งหนึ่ง เรากลายเป็นสินค้าราคาแพง คนไม่ค่อยมาซื้อ จากที่เคยมียอดสั่งประมาณ 5 ตู้คอนเทนเนอร์ก็เหลือแค่ตู้เดียว” เมื่อรู้สึกว่าตลาดเดิมเริ่มไม่ใช่ สมบูรณ์จึงหันมาคิดว่าจะพัฒนายังไงให้ธุรกิจนี้ยังไปได้ต่อ เริ่มทำไม้กวาดแบบอื่นๆ เพิ่มขึ้นมา จากที่ปกติต้องทำรูปแบบตามประเทศญี่ปุ่นเป๊ะๆ ต้องมีน้ำหนัก ต้องทำสีตามที่เขาบอก เขาเลยเริ่มออกไอเดีย จากที่ต้องถักมาตรงๆ ก็เริ่มคิดบิดให้เบี้ยวไปทางอื่น เริ่มเพิ่มขนาด เพิ่มสี พัฒนาทำเป็นแปรง 

“เราใช้ประสบการณ์จากตอนที่ขายงาน BIG&BIH นี่แหละ สั่งสม สังเกตดูว่าลูกค้าชอบงานประมาณไหน พอมาพัฒนาเป็นแบบของเราเอง ออกงานโชว์ทุกปี จากที่เคยขายแค่ญี่ปุ่น ไต้หวัน กลายเป็นเราขายทั่วโลกเลยทีนี้ ออสเตรเลีย ยุโรป ยันอเมริกา” สมบูรณ์เล่า ใบหน้าแต่งแต้มไปด้วยรอยยิ้ม 

 

ส่งต่อ และสืบทอด ในชื่อบ้านบูรณ์

หลังดำเนินงานภายใต้ชื่อสมบูรณ์ผลมากว่า 30 ปี ปีนี้แหละที่ ‘บ้านบูรณ์’ หรือสมบูรณ์ผลเวอร์ชั่นมุ่งเน้นตลาดในประเทศได้ถือกำเนิดขึ้น ภายใต้การดูแลของตูน ลูกสาวคนโตของสมบูรณ์ที่เพิ่งกลับมาไทยหลังจากไปใช้ชีวิตอยู่ที่ประเทศออสเตรเลีย

“จริงๆ บ้านบูรณ์ป๊าก็เป็นคนเริ่มคิดก่อน เขาเป็นคนที่มีอะไรในหัวเยอะ มีไอเดียมาบอกทุกอาทิตย์ บ้านบูรณ์ก็เป็นหนึ่งในไอเดียตอนเขาหัวแล่นที่คิดจะทำมาตั้งแต่ 3-4 ปีที่แล้ว เขาอยากเปิดตลาดใหม่ เพราะเริ่มเล็งเห็นว่ากำลังซื้อของคนในประเทศน่าจะเริ่มเปลี่ยนแปลง เริ่มมีกำลังซื้อมากขึ้น และมันก็มีปัญหาจากปัจจัยภายนอกจากตลาดต่างชาติมาประกอบกันด้วย อย่างปีที่แล้วเงินบาทแข็ง หรืออย่างตอนนี้ก็มีโควิด เราเลยเหมือนกลับมาสานต่อสิ่งที่พ่อคิดไว้มากกว่า 

“เรารู้มาตลอดว่าที่บ้านมีของดีอยู่ในมือ และป๊าก็ย้ำเสมอว่ารอให้ลูกๆ กลับมาช่วยงาน ถ้ามองในเชิงคุณค่าของธุรกิจ คุณค่าของผลิตภัณฑ์ ตอนแรกเป็นความคิดว่าเราควรกลับมาช่วยมากกว่า เราไปใช้ชีวิตมาเยอะ เห็นคนที่ทำธุรกิจประเภทอื่นมามาก เราก็คิดว่า เฮ้ย ของเรามันก็ไม่น่าอายนะ เลยเริ่มหันกลับมามองธุรกิจที่มีอยู่ รู้สึกอยากจะกลับมาช่วยเขา” ตูนรับไม้ต่อจากพ่อ เริ่มต้นเล่าให้เราฟังถึงที่มาของบ้านบูรณ์ พร้อมเสริมว่าตอนนี้เป็นจังหวะเวลาที่เธอคิดว่าน่าจะเหมาะสม เหมือนเป็นการพลิกวิกฤตเป็นโอกาส เพราะสาเหตุจริงๆ ที่ไม้กวาดจากสมบูรณ์ผลไม่ได้ขยายตลาดมาในประเทศสักทีก็เป็นเพราะไม่มีกำลังผลิตที่พร้อมด้วย 

“พอช่วงนี้มีช่องให้เราเริ่มทำอะไรได้ ก็คิดว่าตอนนี้แหละ เป็นจังหวะที่เหมาะสมที่จะเริ่มทำแบบจริงจัง” เธอว่าพลางหัวเราะสดใส อธิบายว่าไม่ได้เตรียมตัวอะไรมากมายนักก่อนเปิดแบรนด์ เพราะเป็นการจับเอาหลายๆ สิ่งที่เคยทำเคยเตรียมไว้อยู่แล้ว มาเชื่อมโยง หลอมรวมกันให้เป็นแบรนด์จริงๆ

 

“อย่างโลโก้บ้านบูรณ์ จริงๆ น้องสาวที่เรียนสถาปัตย์ก็เคยออกแบบให้ตั้งแต่ช่วงแรกที่ป๊ามีไอเดียแล้ว แต่เรามาเปลี่ยนให้เป็นโลโก้ปัจจุบันอีกที เป็นลายมือชื่อของป๊า หรืออย่างตอนเริ่มออกงานใหม่ๆ ป๊ากับแม่จะมีสโลแกนว่า ‘best for use, good for decor’ คือให้ความสำคัญทั้งเรื่องดีไซน์ ความสวยงาม ควบคู่ไปกับการใช้งาน ไม้กวาดของเราไม่ใช่แค่ใช้ทนเป็นหลักปี แต่ยังสวยด้วย จึงเกิดเป็นไอเดียที่เราใช้ขายตั้งแต่ตอนนั้นแล้วว่าไม้กวาดของเราไม่จำเป็นต้องซ่อนหลบมุมไว้เหมือนไม้กวาดทั่วไป  

“สิ่งที่เอามาโปรโมตก็เป็นสิ่งที่เราเคยได้มาอยู่แล้ว เช่น รางวัล the Seal of Excellence for Handicrafts (South East Asia) ที่ได้มาจาก UNESCO และ AHPADA ในปี 2550 ก็ช่วยสร้างความมั่นใจให้ลูกค้ามากขึ้น และเราก็กล้ายืนยันว่าตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้ ขั้นตอน วัตถุดิบที่เราเลือกใช้ก็ยังเหมือนเดิม” 

“เราพยายามเข้ามาช่วยในส่วนที่คิดว่าจะสามารถช่วยเติมเต็มให้ได้ อย่างออนไลน์เป็นสิ่งที่ไกลตัวสำหรับคนวัยเขา บางทีเราพูด เราบอก เขาก็อาจจะยังไม่เห็นภาพ เราเลยต้องทำให้เห็น เขาจึงเข้าใจว่าสิ่งที่เราพยายามพูดมันเป็นแบบนี้ โชคดีที่ป๊าเป็นคนที่ค่อนข้างเปิดใจ เขาให้เราลองทำ ถ้าไม่เวิร์กก็เปลี่ยน การทำงานมันเลยเป็นไปในเชิงที่เราใช้ประสบการณ์ ใช้การสังเกตที่เขาสั่งสมมา แล้วเราก็มาดูเทรนด์ของคนรุ่นใหม่ ดูโพเทนเชียลของคนในยุคปัจจุบันอีกที 

“เพราะปกติเราทำงานกับต่างชาติ เราเลยไม่รู้ว่าคนไทยคิดยังไงกับไม้กวาดของเรา แต่ตอนนี้พอเริ่มมีโซเชียลมีเดียเข้ามา เราจึงเริ่มเห็นว่าพฤติกรรมการบริโภคของลูกค้าเป็นยังไง อย่างการฝากขายที่ Woot Woot ก็ดีมากๆ ทำให้บอกได้เลยว่าลูกค้าชอบแบบไหน อยากให้ทำอะไร การที่เราเริ่มใกล้กับกลุ่มลูกค้าจริงๆ มันทำให้เรารู้ความต้องการเขามากขึ้น ในหนึ่งเดือนที่เพิ่งเปิดตัว ป๊าก็ได้เข้าใจพฤติกรรมของผู้บริโภคในยุคใหม่มากขึ้นด้วย คอยถามตลอดว่าแบบไหนขายดี แบบไหนที่คนชอบ” 

 

พัฒนาต่อ โดยใช้วิธีบริหารแบบบ้านๆ แบบครอบครัว

เพราะเธอบอกถึงสิ่งที่มุ่งเน้นอยากพัฒนามาจนชัดเจน เราเลยอยากรู้ว่าในมุมกลับกัน อะไรคือสิ่งที่สมบูรณ์ผล จวบจนบ้านบูรณ์มีดีจนคนรุ่นใหม่อย่างเธอไม่ต้องเข้ามาเปลี่ยน

ตูนตอบรวดเร็ว “ด้านดีไซน์ต่างๆ ต้องยกความดีความชอบให้ป๊าเลย ป๊ามีไอเดียใหม่ๆ ตลอด มีแบบเยอะมากจริงๆ เพราะเขาไม่ได้มองว่าไม้กวาดเป็นสิ่งน่าเบื่อ เขายังอยากจะทำ อยากจะสร้างโพสิชันนิ่งของแบรนด์ที่เปลี่ยนจากการส่งออกมาเป็นในประเทศ เป็นแบรนด์ที่อยากพัฒนาตัวเองมาตลอดเวลาไม่อยู่นิ่ง

“อีกอย่างคือเราชอบที่ธุรกิจของเราได้มีปฏิสัมพันธ์กับชุมชน จริงๆ จะใช้คำว่าโรงงานก็ไม่ได้เหมาะสักทีเดียว เพราะบรรยากาศมันไม่ได้เป็นเหมือนคนตื๊ดบัตร ใส่ยูนิฟอร์ม อยากออกจากงานพรุ่งนี้ก็ลาออกได้เลย ไม่มีความผูกพันกัน แต่โรงงานของเราจะมีความเป็นครอบครัว ถ้อยทีถ้อยอาศัย เดี๋ยวป๊าเอาอาหารไปให้เขา เดี๋ยวเขาก็เอามะละกอเอาขนุนมาให้ เราคิดว่าป๊ารักษาความสัมพันธ์กับพนักงานได้ดี อย่างที่รู้ว่าปัญหาหนึ่งขององค์กรสมัยนี้คือคนเปลี่ยนงานกันตลอดเวลา แต่ป๊าสามารถใช้เทคนิคอะไรของเขาก็ไม่รู้ ทำให้คนงานยังอยู่กับเขา 30-40 ปี ทั้งๆ ที่ไม่ได้ศึกษา HRM หรือเรียนทฤษฎีการบริหารมาด้วยซ้ำ เขาใช้ธรรมชาติของเขาคุย ทำให้เราเห็นว่าบางทีการมีกฎเยอะเกินไปก็ไม่ได้มีความสำเร็จในการบริหารซะทีเดียว

“ป๊าไม่ไปเข้มงวดกับคนงานมากมาย เพราะรู้ว่าแต่ละคนไม่เหมือนกัน แต่ป๊าจะสังเกตเห็นว่าคนไหนทำอะไรเร็ว ถ้าคนนี้ทำช้ากว่าคนอื่นหน่อย เขาก็จะเอางานที่คนนั้นถนัดมาให้ทำ เข้าใจแต่ละคนจริงๆ ไม่ได้มองว่านี่คือพนักงานคนที่หนึ่ง คนที่สอง คนที่สาม ไม่ได้ใช้วิธีว่าทุกคนต้องทำให้ได้ยอดเท่านี้ คนนี้ต่ำกว่ามาตรฐานแล้วจะไปกดดันเขา” เธอบอกข้อดีของผู้เป็นพ่อด้วยความภาคภูมิใจ จนทำเอาชายที่ฟังอยู่ยิ้มเขิน รีบอธิบายเพิ่มเติมให้เราเข้าใจวิธีการทำงานของเขา

“เราได้ไอเดียนี้มาจากคนไต้หวัน ช่วงแรกที่ทำมีคนงานที่เขาทำงานช้า คนอื่นทำได้ 5 อัน แล้วเขาเพิ่งได้แค่ 1 อัน แต่คนไต้หวันก็สอนเราว่าคนนี้แหละ อีกหน่อยจะเก่ง แต่อย่าไปเปลี่ยนเขานะ ให้เขาทำอันนี้ทำอันเดียว ทำทุกวันๆ สุดท้ายเดี๋ยวเขาจะเร็วกว่าคนอื่น และมันก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ เราเลยรู้ว่าไม่ใช่ว่าเชื่องช้าแล้วเขาจะทำอะไรไม่ได้ เราต้องให้โอกาส ให้เวลาเขา เราอยากให้คนงานมีรายได้เท่ากัน แต่ความถนัดเขาไม่เหมือนกัน ให้มาทำอย่างเดียวกันมันก็ทรมานเขาเปล่าๆ ให้เขาเลือกทำในสิ่งที่เขาถนัด และได้เงินมากที่สุดดีกว่า เราเองก็ได้ผลงาน ทำแบบนี้มันต่างคนต่างได้” 

อย่างเวลาที่คนงานพาลูกหลานมาทำงานด้วยในวันเสาร์-อาทิตย์ สมบูรณ์ก็ไม่ได้มองว่าสิ่งเหล่านี้เป็นปัญหา 

“คนงานเขาบริหารจัดการเองได้ว่าจะให้ลูกหลานอยู่ตรงไหน อยู่กันยังไง ถ้าเรามองข้ามสิ่งเหล่านี้ไปมันก็ไม่มีอะไร เขาก็ทำงานกันปกติ ผมมาอยู่กรุงเทพฯ เป็นเดือน บางทีเวลาพวกเขาโทรมาถามถึงวัตถุดิบ เรารู้ว่ามันอยู่ตรงไหนด้วยซ้ำไป ตรงนี้แหละที่ทำให้คนงานรู้ว่าเรารู้จริง ไม่ใช่ว่าไปโรงงานแล้วเราไม่รู้อะไร พอเราสามารถชี้จุดได้ เขาก็รู้ว่าเรายังดูเขาอยู่ วัตถุดิบหรืออะไรที่เรามีอยู่ในโรงงานเราควรรู้เองก่อน มีอยู่ตรงไหนบ้าง เก็บอยู่ตรงไหน เพราะคนงานยังไงก็ไม่ใช่เจ้าของ เขาทำให้เราได้ 80 เปอร์เซ็นต์ก็ถือว่ายอดแล้ว จะหวังให้เขาได้ 99 เปอร์เซ็นต์มันเป็นไปไม่ได้”  

 

ปรับตัว เปิดใจ ธุรกิจก็ไปต่อได้อย่างยั่งยืน

เพราะฟังจากเรื่องราว ความล้มลุกคลุกคลาน และวิธีการแก้ปัญหาที่เขาเล่ามาต่างๆ นานา เราจึงอดไม่ได้ที่จะอยากรู้เคล็ดลับในการทำธุรกิจจากปากชายวัย 70 ที่บอกกับเราว่าเขาไม่มีความคิดจะเกษียณ

“30 ปีที่ทำมา ความชอบสำคัญมาก เราชอบ เราจึงพยายามทำให้มันดี ปัญหาทุกอย่างที่เกิดขึ้นถือว่านอกประเด็น ไม่สามารถทำให้เราเลิกได้ เราจะพยายามแก้ไข อดทน ต้องใช้ความอดทนถึงจะเดินไปได้

“ทุกวันนี้มีลูกมาช่วยดูแลเราก็ดีใจ สัมผัสได้ว่าลูกเราโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว เราก็คอยดูรายละเอียด คอยให้คำปรึกษาอยู่ใกล้ๆ ถ้าตรงไหนที่เห็นว่าน่าจะเกิดปัญหาแน่ก็จะบอกเขาไว้ว่าอันนี้ต้องระวัง อันนี้ต้องเตรียมตัวไว้ก่อน คล้ายๆ กับว่าบอกไกด์ให้ลูกเอาไปปรับใช้ สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ว่าเรารู้ปัญหาก่อน แต่เพราะปัญหามันเคยเกิดขึ้นมาแล้ว เราเคยผ่านมาแล้ว” 

ตูนพยักหน้ารับ พร้อมบอก “ปัญหามันมีมาตลอด แต่เราไม่ค่อยกลัวอะไรเท่าไหร่ เพราะป๊าทำให้เห็นเสมอว่าปัญหาทุกอย่างมีทางออก เขามีภูมิต้านทานสูงมาก เจอเหตุการณ์เครียดๆ มาหลายร้อยรอบ แต่จบวันก็คือจบวัน พรุ่งนี้ก็เริ่มใหม่ สำคัญคือต้องรู้จักปรับตัวและเปิดใจ ถ้ามีปัญหา อย่าแค่เก็บเอามาเป็นความกังวล ป๊าจะไม่ตระหนกและเครียดฟรีๆ แต่เขาจะคิดว่าเจอปัญหานี้แล้วต้องทำยังไง พื้นฐานความคิดเขามองว่าทุกอย่างมีทางออก และที่ผ่านมาเขาก็ชี้ให้เราเห็นว่ามันมีทางออกจริงๆ ทุกอย่างจะมีทางแก้ ฉะนั้นก็รอตั้งรับแล้วดูไป

“ถ้าให้ตอบว่าเรียนรู้อะไรจากการทำบ้านบูรณ์ จากการกลับมาช่วยธุรกิจของป๊าบ้างคงหมดไปครึ่งวัน เพราะเราเรียนรู้เยอะมาก มันเป็นงานที่เราต้องเรียนรู้จากป๊าก็จริง แต่มันก็ทำให้รู้จักตัวเองเยอะมากขึ้นด้วย และคนที่สอนงานเราเยอะไม่แพ้ป๊าก็คือพี่ที่โรงงาน 

“ตอนนี้เราสามารถตัดสินใจอะไรเล็กๆ น้อยๆ ด้วยตัวเองได้มากขึ้น ช่วยป๊าวางแผนงานได้มากขึ้น เตรียมรับมือกับปัญหาต่างๆ ได้เรียนรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ของเราเอง เรียนรู้เรื่องระบบ และเรียนรู้มากที่สุดก็คงเป็นเรื่องของการปรับทัศนคติ จากที่มองว่าปัญหานี้หนักมาก ตอนนี้ก็เริ่มเห็นทางออก เห็นทางแก้ 

“เราว่าบ้านบูรณ์จะยังไปได้เรื่อยๆ ตามโอกาสและจังหวะ ที่สำคัญคือเราต้องอย่าประมาท ต้องพัฒนาตัวเองอยู่ตลอด ต้องเรียนรู้และเปิดรับสิ่งใหม่ๆ อยู่เรื่อยๆ นอกจากนี้ก็ต้องคิดว่าจะทำยังไงให้คนรุ่นใหม่เห็นคุณค่าและอยากมาสืบต่ออาชีพนี้ คอยดูเรื่องการใช้วัตถุดิบให้เกิดประโยชน์สูงสุด ก็ต้องค่อยๆ พัฒนากันต่อไป”

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย