การเดินทางในปีที่ 7 ของ Asia 7 วงดนตรีฟิวชั่นที่อยากผลักดันดนตรีไทยให้ป๊อปมากขึ้น

รู้แหละว่าวงดนตรีทุกวงมีความโดดเด่นเฉพาะตัว แต่ถ้าโดนโยนโจทย์ให้นึกถึงถึงวงดนตรีไทยที่มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใครสักวง ชื่อแรกๆ ที่ผุดขึ้นมาในความคิดของเราต้องมี ASIA 7 เสมอ

เพลงแนวฟิวชั่นที่ผสมผสานดนตรีกลิ่นไทยๆ เข้ากับดนตรีเวิร์ล แจ๊ส ป๊อป จนคนฟังนึกภาพตามไม่ออก ต้องฟังอย่างเดียว นั่นก็เหตุผลหนึ่ง หรือการมีทั้งเครื่องดนตรีพื้นบ้านอย่างซอ พิณ แคน ขับประสานไปพร้อมกับเครื่องดนตรีสากลอย่างแซ็กโซโฟน กลองชุด กีต้าร์ เบส บวกกับเสียงนักร้องสายโอเปร่ามาอยู่ในวงเดียวกัน นั่นก็เหตุผลอีกข้อ

นับตั้งแต่ได้รู้จักกันที่คณะดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ออย-อมรภัทร เสริมทรัพย์ (ร้องนำ), โยเย-นริศรา ศักดิ์ปัญจโชติ (ซอ), โอม-กฤตเมธ กิตติบุญญาทิวากร (แซกโซโฟน), สุนทร-สุนทร ด้วงแดง (กีตาร์), บูม-ปรีดา เกศดี (คีย์บอร์ด), ดิว-ภูวิช ทวาสินชนเดช (เบส), โน้ต-ฐิติรัฐ ดิลกหัตถการ (กลองชุด) และ ต้น-ต้นตระกูล แก้วหย่อง (เครื่องดนตรีอีสาน) ผู้ชักชวนมาอยู่ด้วยกันแบบเต็มวงแบบนี้มา 7 ปี เป้าหมายแรกคืออยากผลักดันดนตรีไทยไปสู่เขตแดนใหม่ๆ ที่คนในอุตสาหกรรมเพลงอาจไม่เคยไปถึง จนได้เดบิวต์บนเวที Thailand International Jazz Conference ในปี 2016 และต่อยอดให้พวกเขาไปโลดแล่นบนเวทีมิวสิกเฟสติวัลต่างแดน ทั้งในอินเดีย นอร์เวย์ เกาหลี และอีกหลายประเทศ

ในปี 2019 Asia 7 มีอัลบั้มแรกชื่อ ‘EIGHT’ ที่มีซิงเกิลอย่าง ‘สั่งสาว’ และ ‘ขวัญเจ้าเอย’ ซึ่งว่าตามตรงอาจจะไม่ได้แมสในไทยสักเท่าไหร่ แต่ด้วยความเป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนใครนี่แหละ มันก็ไปสะดุดหูของ โอม-ปัณฑพล ประสารราชกิจ นักร้องนำวง Cocktail และผู้บริหารค่าย Gene Lab เข้า

กระพริบตาแป๊บเดียว Asia 7 ก็กลายมาเป็นศิลปินเจนใหม่ฯ ของค่าย และกำลังจะออกอัลบั้มใหม่แนว Asian Pop ที่พิจารณาจากเนื้อหาและทำนองแล้วดูเอาใจตลาดมากขึ้น แต่ยังไม่ทิ้งลายเซ็นที่พวกเขามีตั้งแต่ Day 1 นั่นคือเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ไม่เหมือนใครในเครื่องดนตรีที่ตัวเองถนัด

พวกเขาคาดหวังอะไรจากการเดินทางครั้งใหม่ภายใต้ร่มเงาของค่ายใหญ่ บ่ายวันหนึ่งบนตึกสูงย่านอโศก Asia 7 ทั้ง 8 คนรอเราอยู่ตรงนั้นพร้อมคำตอบ

Asia 7 ก้าวเข้าสู่ปีที่ 7 ของการทำเพลงด้วยกันแล้ว อะไรทำให้วงเดินทางมาได้ไกลขนาดนี้

โยเย: น่าจะเป็นเพราะ Asia 7 เป็นพื้นที่ที่ให้เราได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ ได้ออกไอเดีย มันเลยทำให้วงยังอยู่ด้วยกันมาจนถึงตอนนี้ ต้องเท้าความว่าแต่ละคนในวง Asia 7 มีงานประจำของตัวเอง บางคนเป็นอาจารย์ หลายคนเป็นศิลปินแบ็กอัพให้ศิลปินคนอื่น เช่น อะตอม (ชนกันต์), นิว-จิ๋ว, วัชราวลี, Three Man Down แต่ Asia 7 เป็นจุดที่ให้ทุกคนได้มาปลดปล่อยความเป็นตัวเอง เป็นที่ระบายอารมณ์ของเรา 

ต้น: เหมือนคนประหลาดมาเจอกัน เราเป็นพี่น้องที่มหิดลก็จริง แต่ความหลากหลายของวงเรามีทั้งฝั่งดนตรีสากล กลอง เบส กีตาร์ คีย์บอร์ด แซ็กโซโฟน ทำงานดนตรีแจ๊สและป๊อปในทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังของวงการ แต่ผมกับโยเยเราเรียนจบดนตรีไทย ดนตรีพื้นบ้าน ส่วนออยเรียนจบขับร้องคลาสสิก โอเปร่า ความหลากหลายตรงนี้ทำให้แต่ละคนเนิร์ดในเรื่องของตัวเอง พอเรามาอยู่รวมกันเราก็หยิบความเนิร์ดของแต่ละคนมาเบลนด์เข้าด้วยกัน เช่น วิธีการร้องแบบนี้มันอาจถูกใช้ในเพลงคลาสสิก แต่เราใช้เมโลดี้ป๊อปแบบไทยๆ ซึ่งคนที่เรียนป๊อปมาอาจร้องแบบออยไม่ได้ หรือการเล่นดนตรีไทยให้ได้สำเนียงโมเดิร์นมากขึ้น มันเลยทำให้รู้สึกว่าวงนี้มันเป็นเหมือนที่ปล่อยของ เป็นห้องทดลอง เป็นแล็บที่เราได้ทำงานร่วมกัน

ความตั้งใจในการทำเพลงของวันแรกกับวันนี้เปลี่ยนไปบ้างไหม

ต้น: เปลี่ยนอยู่แล้วครับ มันเหมือนแฟชั่น วันนั้นเราชอบกินหวาน วันนี้เราชอบกินเปรี้ยว อีกวันหนึ่งเราอยากกินเผ็ด ก็เปลี่ยนไปตามวัยวุฒิของพวกเรา

โยเย: เปลี่ยนไปตามสิ่งที่เราเจอ ประสบการณ์ การเดินทางที่ผ่านมาทำให้เราอัพเดตความคิดใหม่ๆ ไอเดียใหม่ๆ พบเจออะไรแล้วก็รู้สึกว่ามันน่าลองแบบนี้นะ มันดูน่าสนุก แล้วเราเองก็ชอบกันทั้งหมด เราไม่ได้บังคับใครว่าต้องทำแบบนี้นะ มันคือการตกลงร่วมกัน 

สุนทร: เราไม่ได้มีแนวทางตายตัวว่าเราเป็นแนวไหน แต่เรามีความถนัดในเครื่องดนตรีที่เล่นเป็นพื้นฐาน สมมติช่วงหนึ่งเราสนใจเพลงแนวหนึ่ง เราก็ลองทำเพลงแบบนั้นโดยใช้องค์ประกอบของเครื่องดนตรีที่ถนัดใส่ลงไป 

ออย: อย่างเพลงล่าสุดคือเพลง ‘ลืม’ จะมีท่อนที่เป็นกึ่งๆ แรปและมีกลิ่นความเป็นร็อกหน่อยๆ เพราะช่วงนี้เทรนด์แรป ฮิปฮอปกำลังมาแรง และเรารู้สึกว่าดนตรีร็อกกำลังกลับมา 

ก่อนหน้านี้คุณไปเข้าร่วมเฟสติวัลมาแล้วหลายประเทศ การไปเล่นบนเวทีที่ต่างแดนสอนอะไรคุณบ้าง

ออย: ทุกประเทศที่เราไปเล่นไม่มีใครตัดสินดนตรีจากภาษาเลย ทุกคนไม่สนใจเลยว่าเราจะร้องเพลงภาษาอะไร เขาแค่มีความสุขกับดนตรีที่เราไปเล่น  ตื่นตาตื่นใจกับโชว์ที่เราทำ ทุกที่เอนจอยกับโชว์ของเรามาก ซึ่งออยรู้สึกว่าจริงๆ ในไทยน่าจะมีแบบนี้บ้าง บางทีคนจะคาดหวังว่างานแบบนี้ต้องเล่นควรจะเล่นโชว์แบบนี้ ลิสต์เพลงควรจะเป็นแบบนี้ แต่เรารู้สึกว่าจริงๆ ดนตรีมันคือศิลปะ คือภาษาสากล 

ต้น: ด้วยความเป็น Asia 7 เรามั่นใจในตัวเองอยู่แล้ว ยิ่งไปเล่นต่างถิ่นเราคือของแปลก มันจะรู้สึกว่าต้องโชว์ ต้องเต็มที่ มันเลยเป็นจุดที่ทำให้เราได้เรียนรู้ว่าภาษามันไม่ใช่กำแพงทางดนตรีอีกต่อไป

หลังจากนั้นเราก็ตกตะกอนว่าเราอยากมั่นใจกับการทำเพลงไทยนี่แหละ อยากทำไอ้สิ่งที่เราทำได้ดีอยู่แล้วให้มันถึง แค่มันถึง มันก็ขายได้ อันนี้คือสิ่งที่เราได้เรียนรู้จากการไปต่างประเทศ 

ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ก็ออกอัลบั้มเองได้ ไปเล่นคอนเสิร์ตที่ต่างประเทศมาแล้ว อะไรทำให้พวกคุณเลือกมาอยู่ในสังกัดของ Gene Lab

ต้น: ตอนเราปล่อย ‘ขวัญเจ้าเอย’ ซิงเกิลแรกๆ ราว 6-7 ปีที่แล้ว พี่โอมก็ตามตั้งแต่ซิงเกิลนั้น จนเราได้ออกอัลบั้ม พี่โอมก็ได้ทำค่าย Gene Lab และกำลังกำลังหาศิลปินเจน 2 ของค่าย เขาก็ทักมาก็เป็นจังหวะพอดีกัน วงเราไปทัวร์มาเยอะ มีซิงเกิ้ลมาก แต่เรารู้สึกว่าเรายังตันในตลาดบ้านเรา เพราะถ้าเราไม่ได้ไปเล่นงานเฟสติวัลคนฟังจะไม่ได้เห็น Asia 7 เลย อุตสาหกรรมเพลงป๊อปมันก็เป็นจุดที่เราต้องการไปเหมือนกัน

โยเย: จริงๆ ก่อนหน้านี้ก็มีหลายค่ายติดต่อเข้ามา แต่ด้วยไดเรกชั่นที่เขาวางไว้มันก็ไม่ตรงกับเรา แต่พอมาเป็น Gene Lab ด้วยความที่เป็นพี่โอมด้วย และเราเห็นว่าศิลปินในค่ายมีความหลากหลาย Tilly Birds เป็นแนวหนึ่ง Three Man Down เป็นแนวหนึ่ง The Darkest Romance เป็นอีกแนว เราก็คิดว่าถ้า Asia 7 ไปเป็นส่วนหนึ่งตรงนั้นมันก็ดูไม่ประหลาด มันดูมีแสงสว่างที่เราจะไปต่อได้ เราก็เลยคิดว่าเฮ้ย Gene Lab ก็ดูเป็นบ้านที่เหมาะกับเรา

ต้น: อีกย่างคือร่องของ Asia 7 ยังไม่มีคนใน Gene Lab ทำ และพี่โอมก็มองเห็นว่ามันจะเป็นยังไง  การเข้าค่ายมาคือเขาไม่ได้ต้องการจะเปลี่ยนแปลง Asia 7 ไปในทิศทางที่ไม่ใช่ Asia 7 

ความท้าทายของการทำเพลงในวันนี้คืออะไร

ต้น: พอมาอยู่ค่าย จากวงที่เคยอยากทำอะไรก็ทำ เรามีเป้าหมายมากขึ้น เพลงก็ต้องเข้าถึงคนทำมากขึ้น เอาใจตลาดมากขึ้น ไม่ใช่ทำเพลงเป็นศิลปะเพียวๆ เลย นี่ก็เป็นความท้าทายสำหรับวงเรา 

แต่ความเป็น Asia 7 มันยากตรงที่เรามีเครื่องดนตรีที่มันอาจจะดูประหลาดอยู่ด้วย บางทีเราก็มีกำแพงกับตัวเองว่ามันจะเวิร์กปะวะ มันดูเชยไหม มันจะไปอยู่ในซีนไหน ไปอยู่ในซีนป๊อปเขาก็รู้สึกว่าวงนี้มันประหลาด จะไปอยู่ในซีนพื้นบ้านไอ้วงนี้มันก็ดูโมเดิร์นไป ไปอยู่งานไหนมันก็เหมือนจะเป็นส่วนเกินของเขา มันเลยเป็นความท้าทายของเราที่จะทำให้ดนตรีแบบนี้เข้าไปสู่ในอุตสาหกรรมเพลง 

วันที่เราทำกันเอง เราไม่ได้คาดหวังนะครับว่าเราจะโด่งดัง แค่เราชอบมันและน่าจะมีคนชอบกับเรานะ แต่พอมันเปลี่ยนมาอยู่ในค่าย ความคาดหวังของคนรอบข้างเยอะมากขึ้น ความคาดหวังในตัวเอง ในวงเราก็เปลี่ยนไปมากขึ้น ความยากคือมันไม่เคยมีฟอร์แมตแบบนี้มาก่อน เราอาจจะเคยเห็นมือกีต้าร์ มือคีย์บอร์ด เป็นศิลปินในวงป๊อปทั่วไป แต่เรายังไม่เคยเห็นคนเล่นพิณหรือซอที่เป็นศิลปินในค่ายเพลงใหญ่ มันก็ท้าทายมากขึ้น

พวกคุณหาสมดุลระหว่างตัวตนของ Asia 7 และการทำเพลงเอาใจตลาดได้อย่างไร

ต้น: สำหรับผม มันไม่มีอะไรที่เป็น Asia 7 จริงๆ และมันก็ไม่มีอะไรที่เป็นตลาดจริงๆ หรอก ผมมองว่ามันแค่อัตตาของเรา เรายึดมั่นถือมั่นเรื่องนั้นไหม

ตอนนี้ Asia 7 กำลังจะปล่อยอัลบั้มเต็มอีกไม่กี่วัน ผมว่าอัตตานั้นมันลดลงและเปลี่ยนไปเยอะแล้ว เราทำเพลงที่เราทั้ง 8 คนชอบและลงมติว่ามันจะเป็นเพลงที่มีน้ำหนัก ความซับซ้อน และสีสันประมาณนี้ เราบาลานซ์แค่ตรงนั้นเองครับ ยังไงสุดท้ายถึงเราเล่นสิ่งที่มันแมสโคตรๆ แต่ให้คนอื่นมาตีกลองให้มีสำเนียงแบบพี่โน้ต (มือกลองของวง) มันก็ไม่ได้ 

ดิว: ไม่ว่าขั้นตอนการทำเพลงมันจะประกอบไปด้วยอะไรก็แล้วแต่ ผมว่าการทำศิลปะออกมาในรูปแบบดนตรีที่ทำให้คนฟังรู้สึกอิน มันสนุกกว่าการที่ทำแล้วเต็มไปด้วยอัตตา มันเหมือนเราสร้างงานศิลปะที่เราแคร์คนรับสาร เราจะไม่แยกว่าเพลงของเราคือศิลปะ ไม่แคร์เรื่องธุรกิจเลย จริงๆ พอเข้ามาอยู่กับค่าย เราได้มันสมองของค่ายด้วยซ้ำ พอเขามาช่วยเราคิดเราก็จะได้วัตถุดิบใหม่ๆ มาลองด้วย ผมว่ามันสนุกกว่าที่จะทำให้ศิลปะกับ business ไปด้วยกันได้

ความแตกต่างของอัลบั้มใหม่กับอัลบั้มแรกของพวกคุณคืออะไร

ออย: เราได้ลองทุกอย่างเท่าที่จะลองได้ อัลบั้มใหม่นี้ชื่อ ‘นักแสวงโชค’ หรือ The Seeker ซึ่งก็เหมือนพวกเราทั้ง 8 คนที่เป็นนักแสวงโชคที่กำลังแสวงหาอะไรบางอย่าง ไม่ว่าจะในชีวิตหรือวงการดนตรีเองก็ตาม การเล่นดนตรีของพวกเรามันเหมือนการทดลองไปเรื่อยๆ เพื่อค้นหาบางสิ่ง และจริงๆ ก็เปรียบเหมือนคนฟังทุกคนด้วย เพราะพวกเราต่างเป็นนักแสวงโชคในการใช้ชีวิต ทุกคนเกิดมาแล้วดับไป แต่ระหว่างทางนั้นก็เจออะไรมากมาย 

เพลงในอัลบั้มนี้มันจะไม่เหมือนกันสักเพลงเลย จะมีทั้งเพลงที่ทุกคนเคยได้ยินมาอยู่บ้างและมีเพลงที่ยังไม่ได้ปล่อย มีทั้งเพลงที่สื่อถึงความเป็น Asia 7 สุดๆ และเพลงที่ย่อยง่าย เพราะฉะนั้นอัลบั้มนี้เป็นอะไรที่คาดเดาไม่ค่อยได้เท่าไหร่ 

ดิว: เสริมออยเรื่องคำว่านักแสวงโชค สำหรับผม วิถีชีวิตของวง Asia 7 ที่เติบโตขึ้นมากับการค้นหาแนวดนตรีของเราก็เหมือนนักแสวงโชคเหมือนกัน เพราะทางที่พวกเราจะไปไม่ค่อยมีใครถางไว้ให้เดินทางเท่าไหร่ ไม่ใช่ไม่เคยมีใครทำดนตรีผสมผสานนะ มี มีเยอะด้วย แต่ที่มีเครื่องดนตรีหลายๆ ประเภทที่แตกต่างกันมารวมกันแบบนี้เราไม่ค่อยเห็น เราไม่มีต้นแบบชัดเจนว่าเราอยากเหมือนใคร การเดินทางของเราจึงเหมือนการถางทางใหม่ไปตลอดเวลา

การถางทางใหม่มันทำให้พวกคุณกังวลบ้างไหม

ต้น: จะเหลือเหรอครับ

ดิว: ทั้งกลัวและกังวลเลยครับ แต่บางครั้งที่เราไปเล่นคอนเสิร์ต มันจะมีความรู้สึกว่ากูไม่มีอะไรจะเสียเหมือนกัน คนดูเขาไม่ชอบก็ไม่แปลกใจ แต่ถ้าเขาชอบก็ดีไป อะไรแบบนี้ แต่ถึงอย่างนั้น สุดท้ายเราก็ทำเต็มที่ของเราที่สุด

ต้น: เหมือนล่าสุดไปเล่นที่ Gene Lab Concert ก็เป็นสิ่งที่ท้าทายมากๆ เพราะว่าเราไม่เคยเล่นคอนเสิร์ตที่มีคนเยอะขนาดนั้นในไทยเลย แล้วสล็อตของเราข้างหน้าคือ Three Man Down ข้างหลังคือไททศมิตร มันก็ยิ่งทำให้เรารู้สึกท้าทาย รู้สึกว่าต้องทำอะไรสักอย่าง

ดิว: แต่พอมาอยู่ค่าย จะพูดว่าไม่มีอะไรเสียก็ไม่ได้ มันก็จะมีอะไรเสียแหละ เพราะมีคนคาดหวังกับเรา เราก็ต้องทำงานอยู่บนไทม์ไลน์และเงื่อนไขต่างๆ หรือความคาดหวังบางอย่างมากขึ้น 

ในขั้นตอนการทำเพลงเป็นอย่างไร มีวิธีทำเพลงยังไงให้ทั้ง 8 คนเห็นตรงกันว่าเป็นเพลงที่ ‘ใช่’

ออย: เราใช้วิธีการต่างคนต่างทำ (หัวเราะ) 

โยเย: ด้วยความที่คนเยอะ และพอเราอยู่ค่ายเราเริ่มมีไทม์ไลน์การทำงานเข้ามาเอี่ยว เพราะฉะนั้นเราจะใช้วิธีว่าใครมีไอเดียแล้วทำเลย จากนั้นเราเอาไอเดียนั้นมาใส่ตะกร้าตรงกลาง แล้วก็มาช่วยกันดูว่า อันไหนจะหยิบมายำกันต่อ ไอเดียตั้งต้นอาจจะเกิดขึ้นที่ใครคนใดคนหนึ่ง แต่สุดท้ายแล้วเพลงมันจะถูกมายำด้วยมันสมองของคนแปดคน กลายเป็นเพลงหนึ่งเพลง

ต้น: แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับว่าเพลงนั้นมันต้องการไปทิศทางไหนด้วย เพราะทุกคนใส่ไอเดียมามันก็จะฟุ้งอยู่แล้ว ซึ่งโชคดีเรามีคนในวงและโปรดิวเซอร์ช่วย ‘ตัดขอบ’ เพลงนั้น หมายถึงว่าทำให้มันมีความพอดีระหว่างการร้อง อารมณ์ เครื่องดนตรี ไม่งั้นมันจะล้นแน่นอน 

เพราะพอเราเป็นนักเรียนดนตรีมันก็จะมีความเนิร์ด เราจะคุยเรื่องเทคนิคซะส่วนใหญ่ แต่ความกลมมันไม่ใช่เรื่องเทคนิค มันคือเรื่องความรู้สึกด้วยว่าเพลงแบบนี้ป้าที่เขาขายก๋วยเตี๋ยวข้างล่างเขาจะอินกับเราหรือเปล่า หรือลุงขายลูกชิ้นหน้ามอเขาจะฟังถึงท่อนฮุกไหม หรือไปอยู่ในร้านเหล้ามันจะเขินไหม หรืออยู่ในแจ๊สเฟสมันจะอยู่ได้ไหมถ้าเพลงแมสขนาดนี้ 

แต่ก็ไม่ได้เอาตรงนั้นมาเป็นหลักนะ สุดท้ายคือความชอบและประสบการณ์ของ 8 คนแหละที่ทำให้มันกลมขึ้น

อยู่ด้วยกันมาหลายปี สิ่งสำคัญของการเป็นทีมเวิร์กที่ดีคืออะไร

ออย: คุยค่ะ การสื่อสารเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะเราอยู่ด้วยกันหลายคน มันไม่ตีกันเลยมันเป็นไปไม่ได้ จริงๆ เราเคยมีประชุมครั้งใหญ่ที่คุยกันเรื่องอนาคตของวงเหมือนกัน จนสุดท้ายทุกคนก็เห็นพ้องต้องใจว่าทุกคนจะยึดสิ่งนี้เป็นหลัก ไม่ใช่อาชีพหลักนะ แต่เหมือนว่านี่คือบ้านสุดท้ายของเรา

8 คน 8 สมอง 8 ไอเดีย ทุกคนมีวิธีการเดินที่ไม่เหมือนกัน ทุกคนมีเป้าหมายที่ไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นเราจึงมานั่งคุยกันว่าเราจะมีทิศทางที่ชัดเจนที่ทุกคนเห็นพ้องต้องกันว่านี่คือสิ่งที่ทุกคนโอเคและอยากทำมันด้วยกัน นั่นคือการที่ Asia 7 เป็นที่รู้จักในประเทศ ให้เพลงของเราไปถึงคนฟังให้มากที่สุด ช่วยกันหาวิธีว่าจะทำยังไงที่จะทำให้สิ่งที่เรามีเป็นที่รู้จัก แต่ยังเป็นเราอยู่ 

รู้มาว่าอีกเป้าหมายหนึ่งของวงคือการผลักดันดนตรีไทยให้คนต่างชาติรู้จัก คุณมีวิธีการเบลนด์ดนตรีไทยลงไปในเพลงยังไงให้คนฟังไม่รู้สึกว่าถูกยัดเยียด

ต้น: เราไม่ตีกรอบตัวเอง คือก่อนหน้านี้เราหาคำตอบอยู่เหมือนกันว่าอะไรคือไทย อะไรคืออีสาน เพราะคนฟังบางคนยังงงอยู่เลยว่า Asia 7 เป็นวงอีสานร่วมสมัยเพราะมันมีพิณ อาจเพราะก่อนหน้านี้มันไม่เคยมีฟอร์แมตวงที่มีพินกับซอมาอยู่ด้วยกัน การทำวงของเราคือการทำลายฟอร์แมตที่มันเคยเกิดขึ้นมา 

การทำลายกรอบตรงนี้ลงทำให้เราไม่ต้องยึดติดว่าอะไรคือไทย หรืออะไรไม่ใช่ไทย สิ่งที่พวกเราทำขึ้นมามันเกิดจากความชอบของเราที่ถ่ายทอดผ่านเครื่องมือที่พวกเราถนัดเท่านั้นเอง ผมอาจจะชอบฟังเพลงที่ใช้กีต้าร์ ฟังเพลงร้อง แต่ผมใช้พิณเป็นเครื่องดนตรีที่ถ่ายทอดได้ดีที่สุด ผมเลยใช้มันถ่ายทอดออกมา 

ดิว: ผมรู้สึกว่าผลงานจะออกมายังไง มันก็ขึ้นอยู่กับว่าเพลย์ลิสต์ของแต่ละคนฟังอะไรด้วย เพราะฉะนั้นทุกอย่างที่เป็น Asia 7 มันกลั่นกรองมาจากประสบการณ์การฟังเพลงหรือเทสของคน 8 คนมารวมกัน คำว่ารวมกันไม่ใช่ว่าเอามาใส่ขวดแล้วเขย่าออกมา แต่ผลผลิตของ Asia 7 คือสิ่งที่ตกผลึกออกมาจากระบบขององค์กรองค์กรหนึ่งเหมือนกันที่มีการคุยกัน เป็นองค์กรที่ไม่ได้มี hierarchy (ลำดับขั้น) ว่าใครเป็นเฮด แต่ถ้าใครมีเหตุผลว่าเพลงนี้ต้องมีจังหวะแบบนี้ ต้องช้า ต้องเร็วเท่านี้ ใครที่เห็นภาพชัดเจนพอที่จะจูงใจเพื่อนๆ มันก็จะทำให้ไอเดียนั้นกลั่นกรองออกมาเป็นเพลงได้

สุนทร: อีกปัจจัยหนึ่งคือประสบการณ์ในการทำเพลงของพวกเรานี่แหละที่ทำให้ดูไม่ยัดเยียด แน่นอนว่าตอนแรกๆ มันก็เริ่มต้นจากวิธีการที่คล้ายๆ ยัดเยียด รู้สึกว่าเครื่องดนตรีไทยน่าจะใส่ตรงนี้ได้ ลองผิดลองถูก แต่พอเล่นมาเรื่อยๆ เราก็จะรู้ว่าเล่นให้มันสมูทต้องทำยังไง

ดิว: อีกวิธีหนึ่งคือเรากล้าเปลี่ยนฟังก์ชั่นของสิ่งที่เครื่องดนตรีนั้นเคยเป็นเพื่อครีเอตบางสิ่งขึ้น ปกติเครื่องดีด สี ตี เป่า บางชิ้นจะเล่นท่อนโซโล่ บางชิ้นเล่นเป็นแบ็กกราวนด์ แต่เรากล้าเปลี่ยนฟังก์ชั่นมัน ทดลองให้มันออกมาไม่ซ้ำซ้อนกับสิ่งที่เป็นฟอร์แมต ก็จะทำให้เกิดมิติใหม่ขึ้น แต่ยังไงก็ตามเพื่อนในวงก็ต้องช่วยกันฟังว่ามันจะล้นหรือเปล่าด้วย

แล้ววินาทีนี้ สิ่งที่เราต้องการจากการเล่นดนตรีคืออะไร

ออย: มีหลายอย่าง ถ้าให้ตอบจริงๆ มันก็อาจจะเป็นเงิน เพราะมันเป็นอาชีพของพวกเราทุกคน แต่นอกเหนือจากนั้น การมาเล่นให้ Asia 7 คือเรามาด้วยแพสชั่นล้วนๆ เลย มาเพื่อปลดปล่อย 

สำหรับออย ออยรู้สึกว่าเราอยากได้ความสุขจากคนดู การที่เราได้ฟีดแบ็กว่าโห วงนี้เจ๋งจัง มีความสุขมากที่ได้มาดูวงนี้ ออยว่านี่คือความสุขที่สุดในฐานะศิลปินคนหนึ่ง เพราะว่าดนตรีมันคือสิ่งบันเทิงถูกไหมคะ ถ้าเล่นไปแล้วมันไม่บันเทิงมันก็ยังไงอยู่ การที่ทุกคนเต้น ร้องเพลง อินกับสิ่งที่เราพยายามจะสื่อ นั่นคือสิ่งที่สำคัญที่สุด

โอม: น่าจะอยากให้เพลงเป็นที่รู้จัก เพลงไหนก็ได้ แต่ขอให้เป็นวงเรา ผมไม่รู้ว่าทุกคนจะรู้สึกเหมือนผมไหม คือต่อให้ผมไปเล่นแบ็กอัพให้วงดังเยอะแค่ไหน คนดูเยอะแค่ไหน แต่สุดท้ายการที่เราไปเล่นให้เขาเราก็ไม่ได้เล่นเพลงเราไง เราไม่ได้อยู่กับเขาใน Day 1 เหมือนทุกคนในวงนี้ แต่ในขณะเดียวกันถ้าวงเราคนดูไม่ถึงหลักพันก็ได้ แต่ถ้าเราได้ฟีดแบ็กกลับมาจากเพลงเราจริงๆ คนฟังร้องได้ รู้จักเรา แค่นั้นก็มีความสุขแล้ว

พวกคุณมองทางเดินข้างหน้าไว้ยังไง

บูม: จริงๆ ตั้งแต่ตั้งวงมา ผมไม่ได้มองอนาคตของวงขนาดนั้น แค่รู้สึกว่าได้เล่นด้วยกันมันก็สนุกแล้ว มันจะไปไกลขนาดไหนเราก็พร้อมไปด้วยกัน (ทุกคนปรบมือ)

สุนทร: อนาคตไม่ใช่สถานที่ แต่คือผู้คน (ทุกคน: นี่ คมกริ๊บ)

ต้น: ใช่ เราไม่ได้มองว่ามันต้องไปไกลขนาดไหน แค่ไปด้วยกัน และจริงๆ เป้าหมายของเราก็เปลี่ยนไปตามเวลา วันนี้เราอยากทำคอนเสิร์ตให้ดี วันถัดมาเราอยากทำเพลงแมส วันต่อมาก็คิดว่าจะไปต่างประเทศต้องทำเพลงยังไง มันมีสิ่งเหล่านี้มาหล่อเลี้ยงทำให้วงไปต่อ ทำให้เรามีไฟตลอดเวลา ถามว่าจะไปในทิศทางไหนผมยังไม่แน่ใจ แต่เป้าหมายของเราเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ใจหนึ่งผมยังอยากไปเล่นงานกาชาดเลย 

ออย: เรายังอยากเล่นงานแบบงานบวช

ต้น: ใช่ๆ คนอาจจะมองว่า Asia 7 คือวงที่เพลงยิ่งใหญ่อลังการ ต้องเล่นเฟสติวัลเท่านั้น แต่เพลงเหยดโด้เราก็เล่นนะ ออยร้องได้หมด พี่สุนทรเอนเตอร์เทนได้หมด มันไปได้ แต่เรายังไม่เคยเห็นมุมนั้นของ Asia 7 เท่านั้นเอง เราเองก็อยากทำสิ่งที่สนุก 

สุดท้ายแล้วมันคือการที่เราได้เล่นดนตรีด้วยกัน จะแนวไหนก็ได้ทั้งนั้น

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

พิชญุตม์ คชารักษ์

ชีวิตหลักๆ นอกจากถ่ายภาพ ชอบชกมวยเป็นชีวิตจิตใจ ฟังเพลงที่ดนตรีฉูดฉาดกับเบียร์เย็นๆ