60+ Plus Bakery & Chocolate Cafe คาเฟ่แห่งโอกาสและความยั่งยืนของผู้พิการไทย

Highlights

  • 60+ Plus Bakery & Chocolate Cafe คือคาเฟ่ในความดูแลของมูลนิธิศูนย์พัฒนาและฝึกอบรมคนพิการแห่งเอเชียและแปซิฟิก หรือ APCD ผู้เชื่อมั่นในศักยภาพของผู้พิการไทย และตระหนักว่าสิ่งที่ผู้พิการไทยขาดคือการส่งเสริมพัฒนาทักษะ รวมทั้งโอกาสในการแสดงฝีมือ
  • คาเฟ่แห่งนี้จึงเป็นทั้งโรงเรียนฝึกอาชีพและที่ทำงานจริงของผู้พิการ ซึ่งสิ่งที่ตามมาจากการได้รับโอกาสในการทำงานก็คือความภาคภูมิใจในตัวเองและการเลี้ยงดูตัวเองได้อย่างยั่งยืน
  • นอกจากเมนูพื้นฐานอย่างขนมปังและกาแฟ ล่าสุด 60+ Plus Bakery & Chocolate Cafe ได้เพิ่มเมนูช็อกโกแลตเข้ามา โดยได้ MarkRin Chocolate แบรนด์ช็อกโกแลตสัญชาติไทยแท้เข้ามาช่วยฝึกสอน ซึ่งพวกเขาทำได้ดีจนช็อกโกแลตของผู้พิการได้ไปเฉิดฉายเป็นหนึ่งในของที่ระลึกให้กับเหล่าผู้นำอาเซียนในงาน ASEAN Summit 2019 ที่ผ่านมา

มองดูเผินๆ จากภายนอก 60+ Plus Bakery & Chocolate Cafe ที่ตั้งอยู่บนถนนราชวิถีอาจดูเหมือนร้านกาแฟพ่วงขนมอบตามแบบฉบับคาเฟ่ใจกลางเมืองทั่วไป

แต่ช้าก่อน ถ้าคุณได้ลองก้าวพ้นประตูเข้าไป จะสังเกตเห็นว่าคาเฟ่แห่งนี้แปลกกว่าที่อื่นอยู่สักหน่อย เพราะพนักงานหลายคนกำลังสื่อสารกันด้วยภาษามือ บางคนกุลีกุจอนั่งวีลแชร์ออกมาต้อนรับลูกค้า บางคนตาบอดแต่กำลังทำหน้าที่แคชเชียร์อย่างแข็งขัน

ใช่แล้ว พนักงานทุกคนในร้านนี้เป็นคนพิการ และนี่เองที่ทำให้คาเฟ่แห่งนี้มีความพิเศษกว่าใคร

เบื้องหลังกลิ่นหอมๆ ของขนมปังอบใหม่ กาแฟสด และช็อกโกแลต ที่วางจำหน่ายอยู่ในร้าน 60+ Plus Bakery & Chocolate Cafe คือผู้พิการในความดูแลของ มูลนิธิศูนย์พัฒนาและฝึกอบรมคนพิการแห่งเอเชียและแปซิฟิก หรือ APCD ซึ่งจัดตั้งโครงการพัฒนาทักษะคนพิการภาคธุรกิจอาหาร และได้ผลักดัน ‘ธุรกิจที่มีส่วนร่วมของคนพิการเพื่อคนทั้งมวล’ (disability-inclusive business) ให้คนพิการทุกประเภทสามารถพึ่งพาตัวเองได้

60 Plus+ Bakery & Chocolate Cafe

APCD แปลคำว่า ‘โอกาส’ ให้ออกมาเป็นโครงการอบรมวิชาชีพเพื่อรองรับการจ้างงานจริงในร้าน 60+ Plus Bakery & Chocolate Cafe โดยมีอาคารฝึกอาชีพที่เปิดสอนทั้งหลักสูตรบาริสต้า การทำเบเกอรี และการทำช็อกโกแลต เพื่อให้เกิดความช่วยเหลือที่จับต้องและมองเห็นได้ โดยส่งเสริมให้ผู้พิการมีความรู้ติดตัวเพื่อสร้างงาน สร้างรายได้ ทั้งยังสามารถสานต่อไปเป็นอาชีพส่วนตัวในภาคธุรกิจอาหารต่อไป

“APCD เชื่อว่าผู้พิการสามารถพึ่งพาตัวเองได้ และต้องการแสดงให้สังคมเห็นว่าผู้พิการก็คือแรงงานที่มีคุณภาพและเป็นฟันเฟืองหนึ่งในการขับเคลื่อนสังคมเหมือนๆ กันกับคนทั่วไป”

นี่คือสิ่งที่ พิรุณ ลายสมิต ผู้อำนวยการบริหาร APCD (อดีตอธิบดีสำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ (TICA) และอดีตเอกอัครราชทูต ณ กรุงโดฮา รัฐกาตาร์) เชื่อมั่นและย้ำให้เราฟังถึงภารกิจหลักของ APCD ที่ต้องการให้โอกาสคนพิการ ตั้งแต่กระบวนการฝึกอบรมไปจนถึงการจ้างงาน และ APCD เชื่อว่าประตูแห่งโอกาสควรมีอยู่ในทุกที่และต้องเปิดกว้างให้ผู้พิการได้แสดงศักยภาพอย่างเต็มที่ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง อีกทั้งควรได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานตามหลักสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติ

60 Plus+ Bakery & Chocolate Cafe

ตอนนี้พิรุณนั่งอยู่กับเราและยินดีมาเล่าให้ฟังถึงเบื้องหลังความหอมกรุ่นของกาแฟ ช็อกโกแลต และขนมปังก้อนแล้วก้อนเล่า ที่ผลิตโดยฝีมือคนพิการ รับรองว่านอกจากความอร่อยและความประทับใจที่ผู้มาเยือนจะได้รับกลับไป นี่ยังเป็นก้าวสำคัญของการทลายกำแพงอคติที่ขวางกั้นเรื่องความบกพร่องทางร่างกาย และทำให้ทุกคนมองเห็นความสามารถของผู้พิการได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

หากคุณไม่รีบร้อน เราขอชวนไปทำความรู้จักกับคาเฟ่ของผู้พิการให้มากขึ้นอีกนิด แวะพักจิบกาแฟร้อนๆ ชิมช็อกโกแลตรสเข้มสัญชาติไทยแท้ และสัมผัสความหอมนุ่มของขนมปังรสชาติเยี่ยมที่ร้าน 60+ Plus Bakery & Chocolate Cafe ก่อนสักครู่

60 Plus+ Bakery & Chocolate Cafe

สะพานช่วยสานต่อความยั่งยืนสู่ผู้พิการ

พิรุณเกริ่นที่มาที่ไปของ APCD ให้ฟังว่า เดิมทีศูนย์นี้ตั้งขึ้นมาในทศวรรษคนพิการเมื่อราว 20 ปีก่อน ในช่วงนั้นมีการร่างอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ และมีการรณรงค์ให้หน่วยงานต่างๆ จัดโครงการเพื่อส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ

รัฐบาลไทยในสมัยนั้นโดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จึงร่วมกับรัฐบาลญี่ปุ่นโดยองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JICA) ตั้งศูนย์ฝึกอบรมเพื่อพัฒนาทักษะคนพิการขึ้นในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก โดยรัฐบาลญี่ปุ่นสนับสนุนเรื่ององค์ความรู้ การออกแบบอาคาร พร้อมทั้งค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการสร้างสำนักงานสำหรับฝึกอบรมตามแนวคิด universal design ที่ผู้พิการรวมถึงทุกคนสามารถใช้ได้ เช่น มีทางลาด มีราวจับ มีอักษรเบรลล์กำกับตามที่ต่างๆ โดยศูนย์ที่ว่านี้มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงเทพฯ ซึ่งก็คือที่ทำการของ APCD ในปัจจุบัน

“พูดให้เข้าใจง่ายๆ คือ APCD ทำหน้าที่เป็นเหมือนสะพานเชื่อมองค์กรที่ทำงานเพื่อผู้พิการทั้งในและต่างประเทศให้มาเจอกับผู้พิการที่ต้องการความช่วยเหลือ เพื่อให้คนพิการในภูมิภาคได้เข้าถึงการฝึกอบรม การจัดประชุม และการฝึกทักษะ ที่จะช่วยให้คนพิการอยู่ในสังคมได้อย่างมั่นคงยั่งยืน มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เราทำหน้าที่เป็นเหมือนฝ่ายต่างประเทศของกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดนโยบายดูแลผู้พิการโดยเฉพาะ ปัจจุบันมีคนพิการในภูมิภาคมาฝึกอบรมที่นี่ราว 4,000 คนแล้ว และเรามีภาคีเครือข่ายกว่า 200 องค์กรทั่วภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก” พิรุณขยายให้เข้าใจง่ายถึงภารกิจหลักขององค์กร

60 Plus+ Bakery & Chocolate Cafe

ส่วนการฝึกอบรมครั้งที่ผ่านๆ มาก็มีทั้งกีฬาบำบัดสำหรับเด็กออทิสติก มีการจัดประชุมสหภาพคนหูหนวกในภูมิภาค และในปี 2558 มีการจัดอบรมโครงการต้นแบบในภาคธุรกิจอาหาร ทั้งขนมอบและกาแฟ ซึ่งเป็นที่มาของร้าน 60+ Plus Bakery & Chocolate Cafe ซึ่งเป็นโครงการเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงเจริญพระชนมายุครบ 60 พรรษา จึงเป็นที่มาของชื่อ 60+ Plus ซึ่งหมายถึงการถวายพระพรพระองค์ท่านให้ทรงพระเจริญ

และล่าสุดในปี 2561 มีโครงการอบรมการทำช็อกโกแลตในนาม 60+ Plus Chocolatier by MarkRin Chocolate ซึ่งเป็นโปรเจกต์ของหวานล่าสุดที่เข้ามาเติมรสชาติให้คาเฟ่แห่งนี้ยิ่งหวานหอมและกลมกล่อมไปด้วยขนมรสชาติหลากหลาย

60 Plus+ Bakery & Chocolate Cafe

คาเฟ่ที่ส่งเสริมให้ผู้พิการมีงานทำ

พิรุณขยายให้เราฟังถึงความพิเศษของคาเฟ่แห่งนี้ว่า ที่นี่เป็นที่รวมตัวของผู้พิการทุกประเภทอายุตั้งแต่ 17-65 ปี ทั้งผู้พิการทางร่างกาย ด้านการมองเห็น ด้านการได้ยิน ด้านความบกพร่องทางจิต ออทิสติก สติปัญญา และการเรียนรู้ โดยไม่จำกัดว่าจะเปิดรับผู้พิการประเภทใดประเภทหนึ่งเท่านั้น

ส่วนที่มาของโครงการอบรมทำขนมปัง พิรุณเล่าว่าแรงบันดาลใจมาจากกระบวนการบำบัดคนออทิสติกด้วยการปั้นและนวดดินน้ำมัน ซึ่งน่าจะต่อยอดไปเป็นการปั้นนวดแป้งขนมปังที่สามารถสร้างงานได้

“เริ่มมาจากเราเห็นว่าคนพิการและคนที่เป็นออทิสติกสามารถปั้นดินน้ำมันได้ เลยมาคิดว่าถ้าเปลี่ยนจากดินน้ำมันเป็นแป้งขนมปังล่ะ คนพิการก็น่าจะทำได้ เราเลยไปทาบทามบริษัทขนมปังยามาซากิ ซึ่งเป็นแบรนด์ขนมปังที่มีชื่อเสียงมากของญี่ปุ่น มาเป็นพาร์ตเนอร์ช่วยฝึกอบรมคนพิการในลักษณะโครงการ CSR

“ตอนเราเปิดฝึกอบรมแรกๆ ทางบริษัทขนมปังยามาซากิก็จัดหาเครื่องจักรและเครื่องอบขนมมือสองมาให้คนพิการใช้ รุ่นแรกเริ่มอบรมในปี 2558 ประมาณ 20 คน ตอนแรกโปรเจกต์ 60+ Plus มีแต่ขนมปัง ภายหลังก็ขยายมาเป็นคาเฟ่ มีกาแฟ มีช็อกโกแลต มีการอบรมบริการด้านโรงแรม และจะมีร้านอาหารในอนาคตด้วย การฝึกทั้งหมดของเราจะเป็นรูปแบบ on the job training คือฝึกจากของจริง ทำจริง ขายจริง”

ภาพ facebook.com/60PlusBakeryandCafe

ภาพ facebook.com/60PlusBakeryandCafe

พิรุณเสริมว่า APCD จัดโครงการอบรมด้านอาหารโดยมีเป้าหมาย 3 อย่างคือ สร้างงาน สร้างรายได้ และดึงคนพิการให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสังคม เพราะธุรกิจอาหารและงานภาคบริการเป็นสิ่งที่ซื้อง่ายขายคล่อง ซึ่งจะทำให้คนพิการคุ้นเคยกับสภาพจริงที่จะต้องเจอในการค้าขาย APCD จึงพยายามหาทางสร้างคาเฟ่ขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์ตรงนี้

พิรุณออกตัวว่าหลายๆ คนอาจจะมองว่าคาเฟ่นี้เหมือนกับร้านกาแฟทั่วไป แต่สำหรับเขา ที่นี่คือที่ฝึกงานของคนพิการ เพราะหลังจากการฝึกอาชีพแล้ว APCD จะส่งคนพิการให้ไปทำงานในภาคธุรกิจเอกชนด้านอาหารและเครื่องดื่ม รวมถึงธุรกิจภาคบริการอื่นๆ ที่ APCD มีเครือข่าย เพื่อให้เขามีอาชีพและดำรงชีวิตในสังคมได้

“คนพิการที่ผ่านการฝึกอบรมแล้ว เบื้องต้นจะได้มาลองทำลองขายหน้าร้านจริงๆ ที่สำคัญคือได้ฝึกจากของจริง เราไม่ได้แค่อยากให้คนพิการมีรายได้ แต่คนพิการจะได้มีโอกาสมีปฏิสัมพันธ์กับลูกค้า ซึ่งมันสำคัญมาก เพราะการฝึกงานในห้องสี่เหลี่ยมโดยไม่ได้ออกมาเจอผู้คนมันไม่ได้ช่วยเรื่องการปรับตัวเข้าสังคมเลย บางคนมาจากโรงพยาบาล บางคนเก็บตัวอยู่แต่ในบ้าน เขาไม่รู้จะคุยกับผู้คนยังไงด้วยซ้ำ เราเลยมีคาเฟ่เพื่อช่วยปรับโลกทัศน์ให้เขาและส่งเสริมอาชีพคนพิการในทุกมิติ

“โครงการนี้ช่วยเยียวยาคนพิการโดยที่เขาไม่รู้สึกตัว หลายๆ คนที่ได้มาฝึกงานที่คาเฟ่ทำงานอย่างมีความสุข ได้พบปะพูดคุยกับลูกค้า จนลืมไปเลยว่าตัวเองเป็นคนพิการหรือมีข้อบกพร่องทางกาย ซึ่งนี่แหละคือเป้าหมายอีกขั้นของเรา”

ภาพ facebook.com/60PlusBakeryandCafe

นอกจากโอกาสที่ถูกส่งต่อไปยังผู้พิการผ่านการฝึกอบรมและการลงมือทำจริงแล้ว การออกแบบคาเฟ่ให้เป็นมิตรกับผู้พิการก็เป็นเรื่องสำคัญ

คาเฟ่นี้มีสิ่งอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้พิการ ทั้งพนักงานและผู้ที่มาใช้บริการ เช่น มีทางลาดสำหรับเข็นวีลแชร์เข้าร้าน มีเบรลล์บล็อกติดตั้งที่พื้นเพื่อช่วยนำทางให้คนตาบอด มีสัญญาณไฟกะพริบพร้อมเสียงแจ้งเตือนสำหรับพนักงานที่พิการทางการได้ยินและการมองเห็นให้พวกเขารู้ว่ามีลูกค้าเข้า-ออกร้าน

60 Plus+ Bakery & Chocolate Cafe

60 Plus+ Bakery & Chocolate Cafe

ส่วนโต๊ะนั่งก็มีแกนตั้งยาวเพียงแกนเดียวในระดับโต๊ะที่ไม่ยกสูงเพื่อให้เข็นวีลแชร์เข้าไปนั่งได้ รวมถึงชั้นวางขนมและแคชเชียร์ที่โหลดต่ำลงมากว่าปกติ ให้คนแคระ คนหลังค่อม หรือคนพิการที่นั่งรถเข็น มองเห็นขนมได้ทุกชั้น รวมทั้งเอื้อมหยิบและจ่ายเงินได้สะดวก

ส่วนเรื่องความสะอาดก็ไม่ต้องเป็นกังวลไป เพราะที่นี่มีพาร์ตเนอร์มืออาชีพอย่าง PEERAPAT ที่เข้ามาช่วยสนับสนุนผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อ อุปกรณ์เช็ดถู เครื่องล้างและฆ่าเชื้อภาชนะ ไปจนถึงเครื่องเช็ดกระจกอัตโนมัติที่คนตาบอดสามารถใช้งานได้ จึงมั่นใจได้ว่าพื้นที่ในบริเวณคาเฟ่ รวมถึงอาหารทุกเมนูที่เสิร์ฟนั้นสะอาดได้มาตรฐาน

60 Plus+ Bakery & Chocolate Cafe

ช็อกโกแลตหอมหวานที่บรรจุโอกาสลงในทุกห่อ

60+ Plus Chocolatier by MarkRin Chocolate เป็นอีกหนึ่งในโครงการที่ APCD จัดขึ้นเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้พิการได้เข้ามาอบรมและพัฒนาทักษะการทำช็อกโกแลต ตั้งแต่การทำช็อกโกแลตบาร์ บราวนี่ ช็อกโกแลตเค้ก ไปจนถึงเครื่องดื่มจากช็อกโกแลตสด

“การฝึกอบรมทำช็อกโกแลตเพิ่งเริ่มทำปีนี้เป็นปีที่ 2 อบรมปีละ 20 คน เพราะฝึกยาก ทำยาก เลยต้องจำกัดคน ตอนไปดูงานที่ญี่ปุ่นเราพบว่าคนพิการญี่ปุ่นทำช็อกโกแลตวางขายได้ เราคิดว่าคนพิการไทยก็น่าจะทำได้เหมือนกัน

“เราเลยเริ่มหาพาร์ตเนอร์และได้แบรนด์ช็อกโกแลตไทย MarkRin Chocolate ที่เชียงใหม่มาช่วย ผู้ก่อตั้งคือ รศ. ดร.สัณห์ ละอองศรี อาจารย์ประจำสาขาวิชาไม้ผล ภาคพืชสวน คณะผลิตกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับพืชเครื่องดื่ม โกโก้ ชา กาเเฟ เเละเปิดวิชาเกี่ยวกับโกโก้เป็นเเห่งเเรกในประเทศไทย อาจารย์ใช้เวลาวิจัยสายพันธุ์โกโก้ถึง 30 ปี จนได้โกโก้สัญชาติไทยที่ให้ความหอมไม่แพ้พันธุ์นอก” พิรุณเท้าความถึงการริเริ่มโครงการฝึกทำช็อกโกแลต

ภาพ facebook.com/60PlusBakeryandCafe

60 Plus+ Bakery & Chocolate Cafe

ช็อกโกแลตที่ MarkRin ผลิตให้ 60+ Plus Chocolatier คือโกโก้หอมสายพันธุ์ไอ. เอ็ม. 1 ที่เกิดจากพันธุ์เปรูผสมกับฟิลิปปินส์ ซึ่งโกโก้ลูกผสมที่ได้จะให้กลิ่นหอมกว่าโกโกพันธุ์เนื้อ แม้จะให้ผลผลิตน้อยกว่าเมื่อเทียบฝักต่อฝัก แต่ความหอมนั้นมากกว่าพันธุ์เนื้อหลายเท่า

ที่สำคัญคือนี่เป็นช็อกโกแลตที่คนไทยผลิตเองตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ เริ่มตั้งแต่วิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ ปลูกและเก็บเกี่ยวโดยเกษตรกรไทย ไปจนถึงกระบวนการผลิตและการแปรรูปที่พรีเมียมเทียบเท่ามาตรฐานสากลโดยฝีมือของผู้พิการไทย โกโก้ไทยพันธุ์นี้จึงเป็นความภูมิใจของคนไทยทั้งประเทศ ซึ่งเราอาจไม่จำเป็นต้องนำเข้าอีกต่อไป

โครงการฝึกอาชีพภาคธุรกิจอาหารของ APCD ทั้งคาเฟ่และช็อกโกแลต ยังช่วยดึงจุดแข็งของผู้พิการออกมาใช้อย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นผู้พิการทางการมองเห็นที่เป็นเลิศด้านการสัมผัส ก็ช่วยห่อช็อกโกแลตบาร์ออกมาได้อย่างประณีตและสวยงามไม่แพ้คนตาดี ส่วนพนักงานออทิสติกที่มีความสามารถด้านการคำนวณและการจดจำเป็นเลิศ ก็ช่วยดูแลเรื่องการเงินและบัญชีของร้าน

ความหอมหวานของ 60+ Plus Chocolatier by MarkRin Chocolate หอมฟุ้งจนไปเตะจมูกกระทรวงการต่างประเทศ จนได้จับมือกันเป็นหุ้นส่วนเพื่อความยั่งยืนในการผลิตช็อกโกแลตที่ระลึกในงานประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ผ่านมา มีทั้งของว่างที่เป็นช็อกโกแลตชิ้นเล็กๆ วางตามโต๊ะประชุม เพื่อเติมความหวาน คลายความหิว และลดความเคร่งเครียดระหว่างการประชุม ให้ผู้นำและผู้ร่วมประชุมทุกคนรู้สึกผ่อนคลายไปกับขนมหวานเจือรสขมสุดกลมกล่อมที่คอยกระตุ้นให้ตื่นตัวตลอดการประชุม และมีช็อกโกแลตบาร์พิมพ์ตราสัญลักษณ์อาเซียนมอบเป็นของที่ระลึกแก่ผู้นำและผู้แทนประเทศอาเซียนที่เข้าร่วมประชุมอีกด้วย

60 Plus+ Bakery & Chocolate Cafe

“จุดเด่นคือช็อกโกแลตของเรามีรสชาติไม่หวานมาก มีทั้งดาร์กช็อกโกแลต ไวต์ช็อกโกแลต และช็อกโกแลตนม รสชาติจะกลมกล่อมและหอมกลิ่นช็อกโกแลตขึ้นมาเลย ในงานอาเซียนบูทของเรามีน้ำพุช็อกโกแลตที่ปั่นและกินร้อนๆ ได้เลย เป็นช็อกโกแลตน้ำพุที่ใส่ช็อกโกแลตวันละเกือบ 10 กิโลกรัม เปิดให้คนที่มาประชุมและนักข่าวทั่วโลกมาชิมได้ ส่วนช็อกโกแลตร้อนเราก็ใช้โกโก้สดทำ กลิ่นเลยหอมกว่าโกโก้ผง คนต่างชาติที่ได้ชิมก็ชมว่าช็อกโกแลตของเราหอมอร่อยมาก”

นี่จึงเป็นช็อกโกแลตคุณภาพที่คนพิการไทยภาคภูมิใจ เพราะนอกจากจะหอมอร่อยและถูกปากทั้งคนไทยและต่างชาติแล้ว ยังเป็นช็อกโกแลตที่ช่วยสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างความภาคภูมิใจให้แก่ผู้พิการไทย และทำให้ความสามารถของพวกเขาถูกมองเห็นอย่างเด่นชัดในเวทีระดับนานาชาติอีกด้วย

“และต้องขอขอบคุณกระทรวงการต่างประเทศที่ให้โอกาสคนพิการไทยได้พิสูจน์และแสดงศักยภาพให้ผู้แทนต่างชาติเห็นเป็นตัวอย่าง เพื่อเป็นแรงจูงใจและนำแนวทางไปพัฒนาคนพิการในประเทศเขาต่อไป” พิรุณขอบคุณทิ้งท้าย

60 Plus+ Bakery & Chocolate Cafe

เสียงจากพนักงานคนสำคัญ

ต้อง–ปริษฐา ปัทมสิงห์ ณ อยุธยา คือตัวแทนผู้พิการที่สละเวลามาพูดคุยกับเรา ต้องเป็นบาริสต้าในคาเฟ่แห่งนี้ได้ประมาณ 5 เดือนแล้ว แรกเริ่มเดิมทีเธอฝึกอบรมกับ APCD ในภาคธุรกิจโรงแรม แต่เมื่อทราบว่าคาเฟ่ต้องการบาริสต้า เธอจึงไม่รอช้า ยกมือสมัครเข้าอบรมเป็นบาริสต้าต่อทันที

ก่อนหน้านี้เธอทำงานราชการและปกปิดเพื่อนร่วมงานมาตลอดเกี่ยวกับความบกพร่องที่เธอกำลังเผชิญ เพราะเนื้องานต้องการความน่าเชื่อถือ แต่พอมาอยู่ที่นี่เธอบอกว่าไม่จำเป็นต้องปกปิดแล้ว สามารถเป็นตัวเองได้เต็มที่ และทำงานด้วยความสบายใจกว่าทุกที่ที่เคยทำมา

60 Plus+ Bakery & Chocolate Cafe

ต้องเล่าให้เราฟังถึงการฝึกอบรมเป็นบาริสต้าที่ APCD ว่า “เราเข้ามาฝึกอบรมในช่วงที่กำลังตกงาน เพราะรู้ว่าอบรมที่นี่จะได้งานแน่นอน ตอนเรียนเป็นบาริสต้า มีครูจากแบรนด์กาแฟดอยตุงมาสอน เริ่มเรียนตั้งแต่กาแฟมีกี่ชนิด รสชาติแตกต่างกันยังไงจากระดับความสูงน้ำทะเลต่างกัน เรียนเรื่องส่วนผสมของกาแฟ ความเข้นข้นของน้ำเชื่อม ของนม หัวใจคือเราต้องทำกาแฟออกไปให้เป็นมาตรฐาน เราจึงต้องรู้พื้นฐานเพื่อปรุงกาแฟและช็อกโกแลต และจะได้ชงออกมาให้ได้ตามที่ลูกค้าต้องการ เพราะลูกค้าอุตส่าห์มาอุดหนุน

“เราต้องมอบสิ่งที่ดีที่สุดให้เขา เราอยากกินกาแฟและช็อกโกแลตแบบไหนก็ต้องชงให้ลูกค้าแบบนั้น เขาจึงจะกลับมาอีก เราขอบคุณ APCD ที่ให้โอกาสคนพิการอย่างเรา สำหรับเรา เราจะทำหน้าที่บาริสต้าให้ดีที่สุด เพราะที่นี่ให้โอกาส และเรารักที่นี่” ต้องยิ้มด้วยความอิ่มใจ

60 Plus+ Bakery & Chocolate Cafe

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ณัฐปคัลภ์ ทัศนวิริยกุล

นักเรียนฟิล์มที่มาฝึกงานช่างภาพ รักการถ่ายรูป ชอบกินของอร่อย และชอบใช้เวลากับครอบครัว เพื่อนสนิท คนรัก