เบื้องหลังเดบิวต์วง PRETZELLE กับค่ายเพลงเล็กๆ ที่คราฟต์คุณภาพไม่เล็กเท่าขนาด

ค่ายของเด็กขนม PRETZELLE ทำเพลงเองตั้งแต่สากกระเบือยันเรือรบ! แสกนเด็กเอง มีฟีดแบ็กมาปุ๊บ ปรับปรุงปั๊บ แม้จะเป็นค่ายตัวเล็กๆ แต่งานไม่เล็กตามตัวแน่! 

นี่คือสิ่งที่เราสัมผัสได้หลังจากได้คุยกับค่ายเพลงเล็กๆ ที่ทำผลงานไม่เล็กตามขนาดอย่าง ‘54 Entertainment (ไฟว์ โฟร์ เอนเตอร์เทนเมนต์)’ คือค่ายเพลงไทยที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการเพลงมาหลายปี โดยก่อนหน้านี้ใช้ชื่อว่า Studio 54 Records เกิดจากคนรุ่นใหม่ที่มารวมตัวกันทำค่ายเพลงเพื่อความฝันและสร้างสรรค์ผลงานเพลงคุณภาพส่งออกไปยังต่างประเทศมากมาย จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่อยากลองทำศิลปิน T-POP เพื่อส่งออกดูบ้าง

ผลงานของค่ายนี้ที่ใครหลายคนน่าจะเคยรู้จักหรือร้องตามได้อย่างเกิร์ลกรุ๊ปสาวสวยวง PRETZELLE ศิลปินวงแรกของค่ายที่มีเพลงฮิตติดกระแสไม่ว่าจะเป็นเพลง ‘ไม่รับความเห็นต่าง (U R Mine)’ และ ‘ต้องชอบแค่ไหน (First Love)’ ล่าสุดปีนี้ทางค่ายยังเปิดตัววงบอยแบนด์ดาวรุ่งหน้าใหม่อย่าง ‘PRIMETIME’ ที่แม้เพิ่งปล่อยซิงเกิลเดบิวต์ไปเมื่อกลางปี แต่กลับมีผู้ติดตามเติบโตในเวลาอันรวดเร็ว

ในยุคที่ใครๆ ก็สามารถสร้างคอนเทนต์หรือแม้กระทั่งเป็นศิลปินได้ด้วยตัวเอง 54 Entertainment มีกลยุทธ์และการบริหารในการทำธุรกิจค่ายเพลงเล็กๆ แห่งนี้อย่างไร ที่ทำให้ PRETZELLE ประสบความสำเร็จอย่างทุกวันนี้ เราจะพาไปเปิดประตูเบื้องหลังความสำเร็จนี้กับ ‘สัว-ศุภชัย กาญจนศักดิ์ชัย’ ตำแหน่ง Company Director และ ‘เบนซ์-กัณฑ์กณัฐ อังคณาจีรธิติ’ ตำแหน่ง Music Producer และ Company Director อยู่ตรงนี้กับเรา พร้อมเล่าทั้งหมดอย่างไม่มีกั๊ก

ก้าวที่ 1: ค่ายที่เต็มไปด้วยความจริงใจและใส่ใจกับทุกคอมเมนต์

ทำไมถึงเปลี่ยนชื่อจาก Studio 54 มาเป็น 54 Entertainment

สัว: สมัยก่อนเราทำวงอินดี้กันใช้ชื่อว่า Studio 54 Records พวกเราอยากจะลองทำเพลงดูเล่นๆ คิดว่าช่วงประมาณปี 2015 ยุคนั้นตลาดเพลงดูเหมือนจะเปิดมากขึ้น การทำเพลงก็ง่ายมากขึ้น ซึ่งตัวเลข 54 มาจากเลขห้องของเพื่อนที่เราไปอัดเพลงกัน ทำไปทำมาธุรกิจก็เริ่มใหญ่ขึ้น ตอนนั้นเราจัดคอนเสิร์ตแล้วเราใช้เงินเยอะมากในการจ้างศิลปิน เราก็เลยมองว่าทำไมถึงไม่ทำศิลปินของเราแล้วให้คนอื่นจ้างเราแทนล่ะ เราคิดง่ายๆ แค่นั้นเลย เพราะเราอยากจะส่งออก อยากจะสนับสนุนคนของเราให้มีงานจ้างต่างประเทศบ้าง

เบนซ์: ตอนที่คิดเราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าอยู่ดีๆ วง T-POP มันจะเยอะขนาดนี้ สมัยก่อนที่ผู้เล่นไม่ได้เยอะเพราะทุกคนรู้ว่าต้องลงทุนเยอะมากๆ โดยที่ไม่รู้ว่าจะได้รีเทิร์นหรือเปล่า แต่ตอนนั้นพวกเราก็พอจะมีทุนผลิตงาน มีสายป่านที่พอจะเสี่ยงได้ เพื่อนๆ อีกสองคน (พี่สัวและพาร์ตเนอร์อีกคน) ก็มองเห็นภาพเดียวกัน เมื่อก่อนเราทำเพลงอย่างเดียว แต่ตอนนี้ทำทั้งคอนเสิร์ต ทำ Education ทำเพลงประกอบหนัง มีศิลปินของตัวเอง ก็เลยรีแบรนด์ใช้ชื่อว่า 54 Entertainment 

ด้วยความสนุกที่อยากลองทำเพลงเล่นๆ และต่อยอดหันมาทำเป็นค่ายเพลงเล็กๆ ของตัวเองจริงจัง 54 Entertainment แม้จะเป็นค่ายที่ไม่ได้มีอะไรเป็นพิเศษเลยนะ อะไรที่เรามีค่ายอื่นก็มีหมดทั้งนั่นแหละ (หัวเราะ) แต่ผมคิดว่าจุดที่ทำให้แฟนๆ ซัพพอร์ตค่ายน่าจะเป็นเรื่องของการรับฟังฟีดแบ็กอย่างจริงใจมากกว่า เพราะต่อให้ไม่ได้เป็นดราม่าหรือเป็นประเด็นอะไรขึ้นมาก็ตาม ถ้ามีคอมเมนต์ไหนเป็นประโยชน์เราก็จะเอามาคุยกันเสมอ บางทีเราไม่ได้ไปรีแอ็กต์กับคอมเมนต์นั้น ไม่ได้เข้าไปตอบว่ารับทราบ แต่เราอ่านแฮชแท็กกันอยู่ตลอด อันไหนแก้ไขทำให้ดีขึ้นได้เราก็จะพยายามทำ 

เราอยากทำให้เต็มที่ในส่วนที่เราทำได้ ด้วยความที่แฟนคลับก็ยังไม่ได้เป็นกลุ่มที่ใหญ่มาก เรารู้สึกขอบคุณเขาเสมอที่คอยซัพพอร์ตกันมาตลอด เพราะค่ายเราก็ไม่ได้เป็นที่รู้จักขนาดนั้น เรายังเป็นค่ายเล็กๆ ที่มีศิลปินวงเล็กๆ อยู่แค่สองวง ผมว่ามันยังอีกไกลมากที่จะพูดว่าค่ายเรามีจุดแข็งที่เจ๋งกว่าค่ายอื่น เรามีแค่ความจริงใจที่เราพอจะทำให้ได้ในฐานะค่ายเล็กๆ

ก้าวที่ 2: ไม่มีสื่อก็ไถไอจี scout เด็กเองซะเลย

ในยุคที่มีคนเก่งมากมาย คุณมีวิธีคัดเลือกศิลปินยังไง

เบนซ์: ด้วยความที่เราค่ายเล็กมากๆ แล้วก็ไม่ได้มีสื่อ เราก็เลยต้อง scout เด็กเอง ตอนนั้นวงอินดี้ที่ทำอยู่ก็ต้องหยุดทำ เพราะรู้สึกว่ามันไม่ค่อยใช่ตัวเราเท่าไหร่ ประกอบกับว่าตอนนั้นคิดอยู่แล้วว่าอยากลองทำวงเกิร์ลกรุ๊ป แต่มันมาได้ไกลกว่าที่คิดก็เลยต้องวางแผนว่าอาจจะต้องทำเป็นค่าย

เราตั้งคอนเซ็ปต์ตั้งแต่แรกว่าอยากทำวงสไตล์น่ารัก เพราะเรามองแล้วว่าคนไทยชอบเพลงที่มีท่อนฮุกติดหู มีเมโลดี มีเนื้อร้องที่ร้องตามได้ พอตั้งคอนเซ็ปต์แล้วก็ค่อยๆ scout ไถไอจีหาคนที่เข้าคอนเซ็ปต์นี้ เพราะเรามีภาพในหัวชัดเจนอยู่แล้วว่าควรจะเป็นประมาณไหน ใช้เทสต์ของเราเลือกเองเลย ถ้าคนที่เราสนใจมีคลิปร้องหรือคลิปเต้นอยู่ในไอจีสักคลิปเดียว เราดูนิดหนึ่งก็พอรู้แล้วว่าคนนี้น่าจะได้ประมาณไหน ตอนนั้นก็มองว่าอยากจะมีเมนโวคอลสองคน วิชวลหนึ่งคน แรปเปอร์หนึ่งคน ซึ่งก็จะใช้เวลาเป็นปีเลยนะกว่าจะได้ PRETZELLE มา หลังจากนั้นก็นัดเข้ามาคุยว่าเรามีคอนเซ็ปต์นี้นะ ถ้ามองภาพเดียวกันก็มาลองเทรนกันดู

ก้าวที่ 3: PR ตัวเองบนโลกออนไลน์ให้เก่ง!

คุณมีวิธีเทรนเด็กให้เก่งขึ้นยังไงบ้าง ถ้ามาสายนี้แล้ว

เบนซ์: เราเทรนน้องๆ ด้วยการส่งเรียนร้องเพลง พอเรียนร้องแล้วก็มาอัดเพลงกับผม แล้วก็ทำ Cover เพราะผมค้นพบว่าการที่นักร้องจะเก่งได้ สำคัญเลยคือคุณต้องอัดแล้วฟังเสียงตัวเองบ่อยๆ ว่าเพอร์ฟอร์มตัวเองเป็นยังไง ข้อดีของการฝึกอัดเสียง หนึ่ง คือเขาจะได้พัฒนาการอัดเสียง ได้ฟังสิ่งที่ตัวเองร้องออกมา สอง คืออัดเสร็จแล้วผมก็เอามาทำเป็นคลิป Cover ด้วย ซึ่งก็สามารถเอามาใช้โปรโมตได้ ก็เลยกลายเป็นว่าเราได้อัดเสียงกันบ่อยๆ ทำ Cover กันบ่อยๆ ด้วยความที่ PRETZELLE จุดเด่นจะเป็นเรื่องร้อง ผมก็พัฒนาเขาจากตรงนี้ เราก็เห็นพัฒนาการเรื่องร้องว่าน้องร้องดีขึ้นเรื่อยๆ

นอกจากฝึกร้อง ฝึกเต้น มีทักษะอะไรที่ต้องพัฒนาเพิ่มเติมอีกบ้าง

เบนซ์: เรื่องแอ็กติ้งกับเรื่องการตอบคำถาม ผมมองว่าสมัยนี้สกิลมันสำคัญก็จริง แต่ว่าวิธีการที่เขาเลือกนำเสนอตัวเองบนโลกออนไลน์มันแทบจะสำคัญกว่าด้วยซ้ำ 

ช่วงแรกเรามีฝึกภาษาจีน เพราะจะส่งน้องไปเข้ารายการที่จีน ซึ่งทางรายการก็รับแล้วด้วย แต่ช่วงนั้นโควิดมันมาพอดีก็เลยต้องหยุด บวกกับว่าตอนนั้นน้องๆ ก็ยังเรียนหนังสือกันอยู่การตัดสินใจมันก็จะยากขึ้น ตั้งแต่มีโควิดมาเหมือนทางจีนก็ไม่ได้ง่ายเหมือนสมัยก่อน จะทำอะไรมันก็จะค่อนข้างยาก ช่วงหลังก็เลยไปโฟกัสกับฝั่งญี่ปุ่นมากกว่า ด้วย Vibe ของวง PRETZELLE ก็เหมาะกับญี่ปุ่นมากกว่า 

การทำซับหลายภาษามันทำให้แฟนเพลงต่างชาติรู้จัก PRETZELLE มากขึ้นยังไงบ้าง

เบนซ์: การที่เราทำซับหลายภาษาขึ้นมาเพื่อที่ว่าคนต่างชาติเข้ามาดูแล้วเขาจะได้เข้าใจ สามารถเข้ามาเสพเพลงได้ เราคิดแค่นั้นเลย เพราะตอนนี้เราเองยังไม่มีการทำตลาดกับประเทศหลายๆ ประเทศพร้อมกันขนาดนั้น หลักๆ ก็มีแค่ญี่ปุ่น, ไต้หวัน และเซาท์อีสต์เอเชียบางประเทศ 

สัว: เป้าหมายของเราคืออยากจะส่งออกศิลปินไปต่างประเทศ เวลาเราทำซับก็อยากทำหลายภาษา ที่ผ่านมาน้องก็มีไปโชว์เคสของตัวเองที่ญี่ปุ่นก็มีคนไปดูเยอะพอสมควร แล้วเขาร้องเพลงตามได้ทุกเพลงเลย หรือโชว์เคสที่สิงคโปร์คนก็มาดูกันเยอะมาก เราก็ดีใจ อย่างล่าสุดเราถูกเชิญไปเล่นที่มาเลเซียและไต้หวันด้วย

ก้าวที่ 4: รักเหมือนลูก อย่ายึดติดแบบแผน

ปกติเวลาทำงานคุณเป็นคนดุไหม เข้มงวดแค่ไหนกว่าจะเทรนศิลปินให้มีคุณภาพขนาดนี้ได้ 

เบนซ์: เรากับน้องๆ PRETZELLE อยู่ด้วยกันมานาน ความรู้สึกเราคือเขาเป็นเหมือนลูกสาวเรา โดยเฉพาะน้องบางคนนี่เห็นเขาตั้งแต่ยังใส่ชุดม.ปลายอยู่เลย ความผูกพันเกินกว่าโปรดิวเซอร์กับศิลปินไปเยอะมากๆ คือเหมือนเป็นคนในครอบครัวจริงๆ ด้วยความสนิทบางทีเราก็เหมือนพ่อลูกทะเลาะกันก็จะมีช่วงเวลาที่เราต้องดุเขาบ้าง แต่เด็กๆ ทุกคนจะรู้กันว่าเราเป็นคนที่ดุไม่จริง (หัวเราะ) เอาจริงๆ ผมว่าผมใจดีนะ แต่ว่าบางทีเราติดพูดเสียงดังแค่นั้นเอง 

ในเชิงการบริหารผมก็เริ่มจากศูนย์แล้วก็ค่อยๆ เรียนรู้มาจากการปั้นศิลปินหรือพนักงานที่ต้องดูแล แม้แต่สกิลการทำเพลงของผมก็พัฒนาไปพร้อมกับน้องๆ ด้วย สิ่งที่ชัดเจนที่สุดคือสูตรสำเร็จไม่มีจริง หลายๆ อย่างก็ไม่เป็นไปตามที่คิด สิ่งที่ได้เรียนรู้คืออย่าไปยึดติดกับแบบแผนขนาดนั้น ถ้าเกิดว่ามีอะไรต้องปรับเปลี่ยน ถ้ายังพอทำได้ก็รีบทำซะ 

สำหรับคุณ PRETZELLE ถือว่าประสบความสำเร็จไหม          

PRETZELLE ถือว่าเป็นหนึ่งในความภูมิใจในชีวิตผมเลยนะ เพราะว่าเราเห็นเขาตั้งแต่เริ่มต้น เราดูแลเขาทุกมิติทุกกระบวนการ จนตอนนี้เขาเริ่มมีเพลงฮิต มีแฟนคลับ มีพื้นที่ในวงการ ที่ผ่านมาผมได้ทำงานกับศิลปินเบอร์ใหญ่ๆ อยู่บ้าง ประสบความสำเร็จบ้าง ไม่ประสบความสำเร็จบ้างก็ว่ากันไป แต่ว่าที่ทำมาส่วนใหญ่บางคนก็ดังอยู่แล้ว เรามีหน้าที่แค่มารับช่วงต่อ แต่ PRETZELLE คือเริ่มต้นจากศูนย์เลย ผมจำได้ช่วงเริ่มต้นมีคนฟอลไอจีแค่คนละพันกว่าทุกคน ปล่อยเพลงมาแรกๆ ก็ยอดวิวไม่กี่พัน พอย้อนกลับมาดูวันนี้แล้วเราก็ภูมิใจกับเขาด้วย 

ตอนที่ทำไปสักพักแล้ววงยังไม่ประสบความสำเร็จ ผมมีห้วงความคิดหนึ่งว่า ถ้าเอาเขามาแล้วเราทำให้เขาประสบความสำเร็จไม่ได้ มันจะเป็นความผิดของเราหรือเปล่านะที่เราไปขโมยช่วงชีวิตวัยรุ่นของเขามา เพราะการที่เขามาทำตรงนี้ก็แลกมาด้วยชีวิตช่วงหนึ่งของเขา ผมมองว่ามันเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดช่วงหนึ่งของเขาด้วย แต่ว่าพอมาถึงตรงนี้น้องก็ได้สิ่งที่เขาควรจะได้ในระดับที่น่าพอใจเลย ส่วนน้องแต่ละคนเขาคิดยังไง เขาคุ้มหรือเปล่า อันนั้นก็เป็นมุมมองของเขาแล้ว แต่ก็คิดว่าต่อไปมันก็น่าจะดีขึ้นเรื่อยๆ

ก้าวที่ 5: ทุกอย่างรอจังหวะที่เหมาะสม

ในฐานะคนที่อยู่วงการเพลงมานาน มองเห็นความเปลี่ยนแปลงอะไรบ้างตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

เบนซ์: สมัยก่อนคนฟังก็จะโฟกัสกับเพลงๆ หนึ่งได้นาน แต่ทุกวันนี้เพลงไหนไม่ถูกใจก็ปัดผ่านไปเลย มีทางเลือกเยอะขึ้น คนฟังเปิดกว้างขึ้น คนส่วนใหญ่มักจะบอกว่ายุคนี้คือยุคทองของ T-POP แต่ผมมองว่ายุคทองของ T-POP จริงๆ คือยุคสมัย ’90s ที่ RS กับ Grammy แข่งกัน เพราะเป็นยุคที่ทำเงินได้มากที่สุด บริษัทสร้างเนื้อสร้างตัวรวยขึ้นมาจากยุคนั้น แล้วมันก็เป็น T-POP จริงๆ เพียงแค่ว่ายุคนี้มีคำว่า T-POP แต่ยุคนั้นไม่มี เพลงแดนซ์แบบนี้คือเราทำมานานแล้ว ยกตัวอย่างทางเกาหลี ยุคทองของ K-POP Gen 2 แมสขึ้นมาด้วยวง Girls’ Generation, Super Junior, BIGBANG หรือ 2NE1 ที่ทำให้เขาสร้างตึกใหญ่ขึ้นมาได้ สำหรับผมก็เลยมองว่ายุคสมัย ’90s ที่ RS กับ Grammy แข่งกันคือยุคทองของ T-POP

ถ้าไม่ใช่ยุคทอง T-POP ยุคนี้คือยุคอะไรในมุมมองของคุณ

ยุคนี้คือยุคที่ T-POP กลับมาเป็นกระแส อยู่ในช่วงที่มีวงเยอะขึ้นก็เลยถูกมองเห็นมากขึ้น ขนาดยุคนั้นไม่มี TikTok แต่เพลงป็อปแดนซ์มันสามารถเข้าถึงทุกคนได้ เพราะตัวเลือกมันไม่ได้เยอะขนาดนี้ ทุกคนก็ดูทีวีเหมือนกัน ฟังวิทยุเหมือนกัน อีกอย่างคือผมรู้สึกว่ายุคนี้การผลิตก็ง่ายกว่า คอมพิวเตอร์เครื่องเดียวจบ แต่ยุคนั้นถ้าคุณจะผลิตเพลงสักเพลงหนึ่งต้องมีห้องอัด อุปกรณ์ บอร์ดมิกเซอร์ คือมันซับซ้อนมาก 

หรือแม้กระทั่งวิธีการหาเงินก็เปลี่ยนไป สมัยก่อนถ้าแมสคือแมสเลย แต่ยุคนี้แมสสุดๆ คือไม่มีแล้ว เพราะทุกคนต่างสร้างฐานแฟนคลับของตัวเอง คุณไม่ต้องดังสุดๆ ก่อนก็ได้ อาจจะมีฐานแฟนคลับประมาณหนึ่งเป็นคอมมูนิตี้ของตัวเองแล้วได้รับการซัพพอร์ตจากคนกลุ่มนั้น คุณถึงจะสามารถทำวงต่อไปได้ สมัยก่อนรายได้ก็มาจาก Physical ก็คือ ซีดี เทป แต่สมัยนี้เปลี่ยนเป็นยอดสตรีมกับการจ้างออกไปเพอร์ฟอร์มงานต่างๆ ถ้าเป็นสายไอดอลก็จะมีงานรีวิว งานอินฟลูฯ งานสินค้า ก็จะต่างกันออกไปแต่ละวง

ที่สำคัญคือทุกวันนี้การอยู่ค่ายใหญ่มันไม่ได้การันตีเลยว่าจะดังหรือไม่ดัง ไม่เหมือนสมัยก่อนที่เพลงเพราะก็มีโอกาสจะดัง ยุคนี้เพลงเพราะก็คือเพลงเพราะ เพลงดังก็คือเพลงดัง ซึ่งเพลงดังก็อาจจะไม่ได้เพราะ เพลงที่เพราะก็อาจจะไม่ดังก็ได้ อยู่ที่จังหวะและโอกาสมากกว่าว่าวงที่คุณทำมันประสบความสำเร็จหรือเปล่า

ก้าวที่ 6: กล้าออกกรอบความเป็นไทย

หลายครั้งเรามักจะเจอคนแสดงความคิดเห็นว่า T-POP เดี๋ยวนี้ไม่มีความเป็นไทยเลย คุณมองประเด็นนี้อย่างไร

เบนซ์: สมัยก่อนผมทำเพลงให้กับวง G-TWENTY ค่าย Mono Music สมัยนั้นยังไม่มีคำว่า T-POP เลย ถ้าใครทำเพลงแนวนี้คือโดนมองว่าเลียนแบบเกาหลีหมดในยุคนั้น เพราะเกาหลีทำแล้วมันกลายเป็นกระแสขึ้นมา แต่จริงๆ แล้ววัฒนธรรมเกิร์ลกรุ๊ป บอยแบนด์ มันมีมาตั้งนานแล้ว อย่างของไทยก็คือวงสาวสาวสาว D2B หรือ Zaza 

อีกเรื่องหนึ่งคือความเป็นไทยไม่ควรถูกจำกัดแค่เครื่องดนตรีไทยอย่างเดียว มันอยู่ที่มุมมองของแต่ละคนว่าอยากจะนำเสนอความเป็นไทยยังไง เพราะเอาจริงๆ การที่เราไม่ได้นำเสนออะไรที่เป็นไทย Traditional ก็ไม่ได้แปลว่าเราไม่ใช่คนไทย (หัวเราะ) คำว่า T-POP มันก็บอกอยู่แล้วว่ามันต้องเป็นอะไรที่สมัยใหม่ ใหม่ในความรู้สึกของคนส่วนใหญ่ อย่างเกาหลีเขาก็เป็นผู้นำเทรนด์อยู่แล้ว เขาก็พยายามจะเอาอะไรที่มันเจ๋งๆ มานำเสนอ ผมก็รู้สึกว่ามันก็ไม่ได้เป็นเรื่องที่ผิดอะไรนะ โปรดิวเซอร์ T-POP เขาอยากนำเสนออะไรใหม่ๆ แบบที่ชาวโลกเขาฟังกันอยู่ ผมรู้สึกว่าถ้าจะจำกัดว่าต้องใส่อะไรที่เป็นองค์ประกอบ Traditional เข้าไปอย่างเดียวในเพลงถึงจะถูกมองว่าเป็น T-POP ผมว่ามันจำกัดเกินไปในเชิงครีเอทีฟ แอบโหดร้ายไปนิดหนึ่ง

คุณมองเห็นความแตกต่างอะไรในแฟนด้อมไทยช่วงอดีตกับปัจจุบัน

เบนซ์: ช่วงนี้กลุ่มแฟนเพลงก็เริ่มเข้าใจมากขึ้น มีมุมมองที่กว้างขึ้น เปิดรับมากขึ้น เริ่มมีแฟนคลับ T-POP ที่สนับสนุนจริงๆ อย่างเช่น ถ้ามีโอกาส มีจังหวะก็จะพยายามขายวงของเมนตัวเองทุกโอกาสที่เป็นไปได้ หรือการซัพพอร์ตน้องด้วยการไปกันเยอะๆ นะ เพราะอยากจะให้ลูกค้าเห็น วันหลังลูกค้าจะได้อยากจ้างน้อง อารมณ์เดียวกับการเชียร์กีฬาสีเหมือนกันนะ ด้อมแต่ละด้อมเวลาไปออกงานก็ไม่อยากให้ศิลปินของตัวเองน้อยหน้ากว่าด้อมอื่น ทุกคนก็จะพยายามเต็มที่

คิดว่ารัฐบาลเข้ามาซัพพอร์ตตรงไหนได้บ้างไหม

เบนซ์: ผมยังไม่กล้าหวังตรงนั้นเลยนะ เพราะผมรู้สึกว่าก่อนจะมาถึงเรื่องนี้มันมีเรื่องโครงสร้างพื้นฐานทางสังคมที่ต้องแก้ไขก่อนอีกเยอะมากๆ เลย ก่อนจะมาถึงธุรกิจบันเทิง ถ้าสังเกตดูเวลามีปัญหาอะไรธุรกิจที่กระทบก่อนคือธุรกิจบันเทิงเสมอ ถ้าจะได้รับการสนับสนุนอะไรสักอย่างธุรกิจบันเทิงก็อาจจะเป็นเรื่องสุดท้าย แต่การที่เราจะไปตีตลาดต่างประเทศให้ได้จริงๆ ก็ต้องได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล 

อย่าง K-POP นี่มันเป็นเรื่องของรัฐบาลกับรัฐบาลคุยกันเลย รัฐบาลเกาหลีเขาเตรียมตัวล่วงหน้ามา 20 ปี คนทั้งประเทศเขาช่วยกันผลักดัน สำหรับเขาคือ K-POP คือนัมเบอร์วัน ดีที่สุด แล้วเขาทำกันทั้งประเทศ ผลักดันกันทั้งประเทศ มันก็ไปได้ส่วนหนึ่งประเทศเขาก็เป็นประเทศพัฒนาแล้วด้วย ความเป็นอยู่พื้นฐาน คุณภาพชีวิตมันก็ดีกว่าเราในเวลานี้ อย่าว่าแต่สนับสนุนศิลปินเลย ตอนนี้เอาแค่ปากท้องตัวเองกินอิ่มนอนหลับให้ได้ก่อน ผมว่าก็ต้องใช้เวลากว่าที่ T-POP จะไปถึงจุดนั้น

สัว: ตอนนี้ขนาดของตลาดมันยังเล็กอยู่ การที่จะโปรดิวซ์วงหนึ่งก็ต้องใช้เงินเยอะ ถ้าจะให้โตได้แบบ K-POP ก็ต้องการความร่วมมือจากทุกฝ่าย เราควรจะเกาะกันเป็นกลุ่มช่วยๆ กัน ตอนนี้ทุกคนต่างออกไปต่างประเทศแบบแยกๆ กัน ถ้าเป็นไปได้ก็อยากจะให้ออกไปด้วยกันมันก็จะอิมแพ็กต์มากกว่า

ก้าวที่ 7: อย่าหยุดพยายาม สิ่งที่ทำทั้งหมดจะสูญเปล่า

ความท้าทายหรืออุปสรรคของการทำเพลงในยุคนี้คืออะไร

เบนซ์: ตอนนี้การแข่งขันมันสูงในตลาด มีผู้เล่นเข้ามาเล่นเยอะ เหมือนกับว่าแข่งกันสร้างมาตรฐานที่สูงขึ้นจนมาตรฐานมันสูงมากๆ ซึ่งมันดีต่อผู้บริโภคนะ แต่ว่าในเชิงของผู้ผลิตผมคิดว่าในอนาคตผู้เล่นรายเล็กๆ ก็อาจจะต้องหลุดออกไปจากตลาด ถ้าหากว่า T-POP ยังขายตลาดต่างประเทศไม่ได้ ต้องบอกว่าวงต่างประเทศที่เขาลงทุนได้ขนาดนั้นเพราะตลาดเขาใหญ่ เขาขายกันทั่วโลก ซึ่งของไทยตอนนี้คือเราพยายามจะทำให้ถึง Quality นั้น แต่ว่ากำลังซื้อเรามันไม่ได้เยอะขนาดนั้น 

ถ้ายังเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ถึงจุดหนึ่งก็อาจจะเหลืออยู่แค่ไม่กี่รายที่สามารถครองตลาดได้ สามารถ make money make profit ได้ แต่ว่าเบอร์ที่รองลงมาก็จะไม่มีที่เหลือให้เล่นเลย

สมัยนี้การที่คุณจะเดบิวต์วงใหม่ ความยากคือคุณต้องแข่งกับเบอร์ใหญ่ที่เขาครองตลาดอยู่แล้ว บางค่ายไม่ได้มีแค่เงินแต่เขาก็มีสื่อในมือ มีความพร้อมในการโปรโมตมากกว่า คุณจะต้องยืนระยะให้ได้ยาวๆ เพราะคุณไม่รู้เลยว่าเมื่อไหร่มันจะสำเร็จ ถ้าคุณหยุดเมื่อไหร่สิ่งที่ทำมาทั้งหมดก็จะสูญเปล่า เพราะฉะนั้นถ้าคุณเป็นผู้เล่นเบอร์เล็ก กระสุนคุณไม่เยอะพอ คุณก็ต้องโชคดีมากๆ เช่น ปล่อย 2-3 เพลงก็มาเลยคุณถึงจะไปต่อได้ แต่ถ้า 4-5 เพลงแล้วยังไม่มาก็ต้องมาดูว่าไปต่อไหวไหม ผมรู้สึกว่าด้วยความเป็นไปของตลาดมันจะบีบให้เหลือแต่รายใหญ่ที่พร้อมจะยิงไปได้เรื่อยๆ แต่ในขณะเดียวกันผู้เล่นรายใหญ่หลายๆ คนเองก็ไม่ใช่ว่าปั้นทุกวงแล้วจะประสบความสำเร็จ ต่อให้เป็นรายใหญ่เองยังลำบาก รายเล็กก็ไม่ต้องพูดถึงเพราะความเสี่ยง ความยากมันจะทวีคูณขึ้นหลายเท่า เพราะฉะนั้นเตรียมเงินไว้เยอะๆ ครับ (หัวเราะ)

ซึ่งผมมองว่าสุดท้ายแล้ว T-POP มันก็จะอยู่ของมันต่อไป แต่ว่าผู้เล่นจะล้มหายตายจากไปเรื่อยๆ เหมือนยุคหนึ่งที่ทุกคนก็อยากจะมีเว็บไซต์ดอตคอมของตัวเอง ทุกคนเชื่อว่าฉันทำเว็บไซต์แล้วฉันก็จะมีเว็บที่ประสบความสำเร็จ แต่สุดท้ายตอนนี้ก็เหลืออยู่แค่ไม่กี่เว็บ ผมมองเหมือนกันเลย ตอนนี้ผู้เล่นมันเยอะไปหมด ค่ายใหม่ๆ เกิดขึ้นมาเยอะไปหมด แต่สุดท้ายค่ายที่อยู่ได้จริงๆ มันจะเหลืออยู่ไม่กี่ค่าย คือตอนนี้เค้กมีอยู่ก้อนแค่นี้ แต่ว่าคนมาแบ่งกันเยอะ สุดท้ายมันก็จะมีคนที่อยู่ไม่ไหวแล้วจากไปก่อน จนมันถึงจุดที่ Stable เค้กก้อนนี้กับจำนวนผู้เล่นเท่านี้ คนทำอยู่ได้ คนซื้อแฮปปี้ แล้วจะอยู่อย่างนี้ไปเรื่อยๆ 

PHOTOGRAPHER

กุลชนาฎ เสือม่วง

ปูนพร้อมก่อสุดหล่อพร้อมยัง IG: cozy_cream