ความยั่งยืนไม่ใช่แค่การทำอะไรและทำไปทำไม แต่คือทำอย่างไรและจะเริ่มทำเมื่อไหร่?​

ความยั่งยืนไม่ใช่แค่การทำอะไรและทำไปทำไม แต่คือทำอย่างไรและจะเริ่มทำเมื่อไหร่?​

วันนี้ประเด็นเรื่องความยั่งยืน เป็นเรื่องที่ใครๆ ก็พูดถึง เหตุผลส่วนหนึ่ง นอกจากเพราะว่านี่คือประเด็นใหญ่ระดับโลกที่ผู้นำประเทศทั่วโลกต้องกำหนดทิศทางตามแนวทางของ องค์การสหประชาชาติ ที่เรารู้จักกันดีในชื่อ Sustainable Development Goals-SDG’s Goals

อีกเหตุผลหนึ่งก็เป็นเพราะว่า การไม่พูดเรื่องความยั่งยืนดูจะเป็นเรื่องไม่ยั่งยืนเอาเสียเลย เพราะองค์กรหรือในภาคประชาชน จะอยู่กันไปอย่างไรในสภาพสังคมที่เน้นแต่การทำกำไรทางธุรกิจ จนลืมที่จะมองภาพรวมในระยะยาว 

ความยั่งยืนจึงไม่ใช่แค่สิ่งที่เราทำแล้วจบในวันนี้ แต่คือสิ่งที่ส่งผลต่อเนื่องในอนาคตเพื่อให้ People Profit Planet หรือ Tripple Bottom Line อยู่ร่วมกันได้เป็นอย่างดีแบบไม่ทิ้งขาใดขาหนึ่งให้ล้มลง

ขณะเดียวกัน ประเด็นเรื่องความยั่งยืนหรือการพัฒนาอย่างยั่งยืน ก็มีหลากหลายมิติที่ทำให้หลายคนสับสนหรือเข้าขั้นมึนงงว่า อะไรที่ต้องรู้ อะไรที่ต้องเข้าใจ หรือแม้แต่อะไรที่เข้าใจผิดกันมาบ้าง?​ ยกตัวอย่างเช่น BCG (Bio Circular Green Economy) คืออะไร ESG (Environment Social Governance) คืออะไร Circular Economy คือแบบไหน และเราจะปรับตัวไปบนเส้นทางนี้ได้อย่างไร?

และเนื่องในโอกาสที่ a day กำลังเดินเข้าสู่ทิศทางเรื่องการสื่อสารเรื่องความยั่งยืนอย่างจริงจัง พร้อมทั้งประกาศตัวเป็นสื่อพันธมิตรอย่างเป็นทางการรายแรกกับ สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (UN Global Compact Network Thailand หรือ UNGCNT) นี่จึงเป็นโอกาสอันดีที่เราจะได้พูดคุยเรื่องความยั่งยืนในมุมที่พอดี หรือมีรสชาติกลมกล่อมตามแบบฉบับ a day 

และคนที่มานั่งคุยกับเราวันนี้ก็คือ คุณปุ๋ย-ธันยพร กริชติทายาวุธ​ ผู้อำนวยการบริหารของ UNGCNT นั่นเอง 

ความยั่งยืนไม่ใช่เรื่องย่อยง่าย แต่เป็นเรื่องที่เราต้องเปิดใจและมองว่ามันคือหนทางรอดสำหรับทุกภาคส่วน แล้วเมื่อเราใช้ชีวิตบนหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืนจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตแล้ว 

หลังจากนี้ มันก็ไม่มีอะไรยาก

“UN Global Compact คือเครือข่ายพันธมิตรด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน จัดตั้งโดยองค์การสหประชาชาติ แต่ในหลายๆ ประเทศ ก็จะมีเครือข่ายที่เรียกว่า Local Network ด้วย พูดง่ายๆ คือ เป็นการรวมตัวกันของภาคธุรกิจที่อยากจะมีเครือข่ายของคนทำธุรกิจที่คิดเหมือนกัน เหมือนเราก็อยากคบหากับคนที่เขาทำงานยากๆ แบบที่เราต้องเจอ นั่นก็คือเรื่องเกี่ยวกับการพัฒนาที่ยั่งยืน จริงๆ องค์กรธุรกิจที่เขาทำงานด้านนี้ เขามีจุดแข็งของเขาอยู่แล้วว่าเขามีความสนใจด้านใดเป็นพิเศษ แต่บางครั้งการทำงานคนเดียวมันก็ลำบาก จึงอยากจะให้มีองค์กรตรงกลาง นั่นก็คือมีสมาคมเพื่อไปรวมเอาองค์กรอื่นๆ ที่ทำงานด้านความยั่งยืนมาเจอกัน หาสิ่งที่อยากจะทำไปด้วยกัน เพื่อเป้าหมายเดียวกัน” 

ย้อนไปเมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2559 หรือเมื่อ 4 ปีมาแล้ว จึงได้มีการก่อตั้ง UNGCNT ขึ้นมา โดยตอนนั้นมีสมาชิกผู้ก่อตั้งในไทยประมาณ 15 บริษัท (ปัจจุบันมีบริษัทเข้าร่วมสมาคมแล้วกว่า 118 องค์กร)​ โดย UNGCNT ถือเป็นหนึ่งในเครือข่ายท้องถิ่น (Local Network) ลำดับที่ 70 ของ UN Global Compact ซึ่งถือว่าเป็นเครือข่ายการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนที่ใหญ่ที่สุดในโลกขณะนี้

“บทบาทของเราอันดับแรกคือเป็น Think Tank หรือเป็นคลังสมอง เป็นองค์ความรู้ใหม่ให้กับนักธุรกิจหรือภาคธุรกิจในเรื่องของการขับเคลื่อนด้านความยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นแนวทางแบบ ESG ที่ทำกันมานาน หรือบางคนอยากจะทำเรื่องเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนหรือ Sustainable Development Goals ที่ตอนนี้ถือว่าเป็นภาษาสากล ที่ 193 ประเทศทั่วโลกเขาพูดกันเข้าใจตรงกัน การเป็นคลังสมองให้เครือข่ายสมาชิกจึงหมายความว่า เราจะมาช่วยกันหาทางออกในเรื่องที่อยากทำด้วยกัน เขาอาจจะต้องการรู้ว่า เรื่องนี้คืออะไร เขาทำได้ไหม หรือทำไปตั้งนานแล้วมีอะไรใหม่หรือเปล่า ดังนั้นต้องมาดูเรื่องบริบทสังคมและเศรษฐกิจของบ้านเราด้วยว่ามีปัญหาอะไรที่เป็น Pain Point และจะช่วยกันแก้ไขยังไง

และองค์ความรู้ที่ว่าก็ไม่ใช่แค่เลกเชอร์ว่า ESG คือ What and Why หรืออะไร และทำไมต้องทำ แต่เราจะพูดเรื่อง How and When คุณจะทำอย่างไร และจะเริ่มทำเมื่อไหร่ ในเมื่อคุณทำธุรกิจใน Sector นี้ ทั่วโลกเขามีเกณฑ์มาแล้วว่าคนทำงานใน Sector นี้เขาทำอะไรกันบ้าง เช่น ถ้าพูดถึง SDG’s Goals มันมีเป้าหมายตั้ง 17 ข้อ คุณไม่ต้องลงไปทำทุกเรื่องหรอก คุณเป็นบริษัทที่มีความสามารถก็จริง แต่ถ้าคุณเป็นสายพลังงาน คุณเอาเป้าหมายแค่ 5 เรื่องก่อนไหม ไม่ใช่ไปดูทุกเรื่อง ซึ่งทางฝั่งเราจะมีการรายงานเลยว่าธุรกิจในแต่ละ Sector ในโลกนี้ เขาเน้นเรื่องอะไรที่เป็นเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เช่น เน้นเรื่องการจ้างงานอย่างเป็นธรรม เพื่อทำให้เกิดงานใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์ด้านการพัฒนาทางเศรษฐกิจ เป็นต้น

จากคลังสมองที่ช่วยด้านองค์ความรู้ เราก็มาทำบทบาทที่สอง คือ เป็น Developer นั่นคือเพิ่มความสามารถของเครือข่ายสมาชิกด้วยการเอาองค์ความรู้ที่เรามีมาอบรม ทำเป็น Design Workshop ใครมีปัญหาอะไรเอามาวางบนโต๊ะ แก้โจทย์กัน เรียกว่าเป็นเวิร์กชอปเพื่อแก้ปัญหา เช่น กลยุทธ์ของธุรกิจไม่สอดคล้องกันเลย CSR ก็ทำแบบหนึ่ง ปลูกป่า แจกผ้าห่มไป แต่ธุรกิจก็ยังสร้าง Pollution อยู่ ซึ่งมันเป็นคนละเรื่องกันเลย ถ้าอย่างนั้นเอาใหม่ เราจะหากลยุทธ์ที่เกิดการพัฒนา คุณไม่ต้องไปทำของแจกแล้ว แต่จะทำยังไงให้ธุรกิจของคุณรับผิดชอบสังคมมากขึ้น

หลังจากเป็น Developer แล้ว ขั้นสุดท้ายก็คือ เป็น Network หรือเครือข่ายที่จะช่วยพัฒนาจริงๆ โดยแบ่งการทำเป็นสองขา ขาของภาคธุรกิจก็ต้องมาคุยกันว่าอยากนำเสนอเรื่องอะไร อยากประกาศเจตนารมณ์อะไรให้คนรู้จัก เครือข่ายเราต้องพูดให้ชัด ต้องมี Agenda ว่าแต่ละปีเราจะพูดอะไร ต้องไม่ใช่แค่คุยกันเองในภาคธุรกิจ แต่เมื่อคุยแล้วต้องไปเชื่อมกับอีกขาหนึ่ง คือ การเป็นพันธมิตรของฝั่งรัฐบาล เราจะเป็นคณะทำงานในการกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศด้วย คำว่ารัฐบาลในที่นี้ก็คือ สภาพัฒน์ หรือสำนักงานการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อทำแผน กพย. หรือ การขับเคลื่อนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย เหมือนเราเป็นผู้แทนของภาคเอกชนที่เข้าไปอยู่ในคณะทำงานในการกำหนดแผนต่างๆ เช่น ถ้าเราไปทำงานกับกระทรวงยุติธรรม เราก็ต้องเข้าไปร่วมประชุมเรื่องการกำหนดแผนชาติด้านสิทธิมนุษยชน แล้วเมื่อเรามาคุยกันในเครือข่าย เราก็จะรู้ว่าบริษัทไหนที่อยากทำเรื่องสิทธิมนุษยชน เรื่องแรงงาน ก็จะต้องมาหากระบวนการกันว่าแล้วจะทำยังไง ทำแผนร่วมกัน จะปลดล็อคเรื่องพวกนี้ยังไง บางครั้งถึงขั้นต้องกำหนดเป็นมาตรการใหม่ขึ้นมาเลย เพื่อให้เข้าใจตรงกัน ไม่อย่างนั้นคนทำดีก็ทำไป คนทำไม่ดี ก็ไม่ได้รับการลงโทษ สังคมมันก็จะมีความเหลื่อมล้ำไปอีก เพราะภาคธุรกิจก็ต้องอยากให้เกิดการแข่งขัน เช่น ถ้าเราทำดีแล้วคู่แข่งไม่ทำ เราจะทำไปได้นานแค่ไหนกันเชียว เขาก็จะกลับไปทำ CSR เหมือนเดิม แต่สิ่งที่เราต้องการคือเราต้องยกระดับภาคธุรกิจไปด้วยกัน ถ้ามาตรฐานนี้ คุณต้องไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน เราต้องทำออกมาเป็นแผนว่าจะทำยังไง” 

มาถึงตรงนี้ จะเห็นได้ว่าเมื่อพูดเรื่องความยั่งยืนจึงไม่ได้มีแค่เรื่องสิ่งแวดล้อมหรือแค่เรื่องเขียวๆ เพราะใน SDG’s Goals มีหลายเป้าหมายอย่างที่บอกไปข้างต้น และแต่ละเป้าหมายก็จะตอบโจทย์ด้านความยั่งยืนที่ต่างกัน ขึ้นอยู่กับองค์กรเอกชนนั้นๆ สนใจจะขับเคลื่อนในเรื่องใด 

ที่สำคัญ ไม่เพียงแต่องค์กรใหญ่จะกำหนดแผนงานอย่างมีทิศทางและมีประโยชน์สูงสุดกับสังคมแล้ว ยังส่งผลให้คนทำธุรกิจที่เป็น SME หรือคนรุ่นใหม่ที่สนใจเรื่องความยั่งยืน ได้ประโยชน์จากการลงมือทำเรื่องความยั่งยืนอย่างจริงจังด้วย

“ต้องบอกว่าเราเป็นเพื่อนพันธมิตรกับธุรกิจนะ อย่าเห็นว่าเราเป็นประชาสังคม เราไม่ได้เป็น NGO แบบประชาสังคม เราเป็น NGO แบบสมาคมธุรกิจ ถึงแม้ว่าเราเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร แต่เราต้องทำให้เพื่อนธุรกิจมีกำไรด้วย ยกตัวอย่าง เราเป็นที่แรกที่ประกาศว่าจะทำเรื่อง BCG ในปี 2020 ที่ผ่านมา เพราะเราเชื่อว่าต้องทำเรื่องในบริบทโลกให้ไทยเข้าใจได้และขายได้ หลังจากนั้น เราก็ต้องมาดูว่าแล้วคนที่เกี่ยวข้อง ถ้าจะเปลี่ยนผ่านตัวเองให้เป็น Bio Circular Green เขาจะทำยังไงได้บ้าง ดังนั้นคนที่จะได้ประโยชน์จากเรื่องนี้ ก็คือธุรกิจที่เป็น Supply Chain ขององค์กรใหญ่ ก็คือองค์กรธุรกิจที่เล็กลงมา เขาก็จะต้อง Bio Circular Green ไปด้วย เพื่อให้เขายังขายของกับธุรกิจใหญ่ได้ เช่น พวกที่ทำ B2B ทั้งหลาย เช่น ทำ Material หรือ Packaging ต่างๆ รวมไปถึงคนที่ทำธุรกิจกับบริษัทต่างชาติ เช่น ญี่ปุ่น เพราะเขาก็จะมีเกณฑ์ของเขาว่า ถ้าจะซื้อสินค้าและบริการที่มีในไทย เขาต้องซื้อกับบริษัทไหน คุณต้องทำเรื่องใดบ้างในเรื่องของสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน การเป็น Supply Chain ของบริษัทขนาดใหญ่นั่นคือการต่อยอดพันธมิตรในระยะยาว เพราะเราไม่อยากแค่ทำธุรกิจระยะสั้นแบบขายกันเองในประเทศ แล้วพอเจอ Crisis อะไรก็ตาม ก็ขายของไม่ออก 

เราก็ต้องกลับไปทบทวนว่าวิธีการที่เราคิดขึ้นมา ต้องทำให้เขาอยู่ได้อย่างยั่งยืนนะ เพราะเวลาบอกว่า Sustainability ของภาคธุรกิจ มันคือตัวธุรกิจด้วย เพราะความยั่งยืนแปลว่าคุณต้องทำธุรกิจเพื่อจะได้กำไรยาวๆ เราจะไม่สอนให้คิดกำไรแบบปีต่อปี แต่จะทำให้เขาทำธุรกิจที่อยู่ได้นานขึ้น อยู่แบบนานๆ ทำกำไรได้เรื่อยๆ แต่ท้ายที่สุดเราต้องทำให้ผลประโยชน์มันสมดุลกับทุกฝ่าย ทั้งตัวธุรกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมด้วย ซึ่งสิ่งที่ยากคือต้องเอาความหมายที่แท้จริงที่เขาทำมาพูด ไม่ใช่แค่ทำ CSR ไม่ใช่ฟอกขาว เช่น ฉันเป็นบริษัททำดีเพื่อให้คนมาซื้อของ แต่ถ้าทำไม่ดีคนก็ไม่ต้องไปซื้อก็ได้ ดังนั้น การฟอกขาวนี่อันตรายมาก เพราะมันเป็นแค่การโปรโมตทางการตลาดก็ได้ แต่จริงๆ องค์กรนั้นต้องทำดีจริงๆ ซึ่งในแง่ของเรา เราจะมีการสกรีน มีการตรวจสอบรายงานอย่างเข้มข้น มี Integrity Check ไปจนถึงให้ส่งรายงานข้อมูลหลังบ้านตลอด เพื่อจะได้ตรวจสอบการทำงานได้ทุกฝ่าย” 

สื่อก็เป็นอีกภาคส่วนหนึ่งที่มีส่วนช่วยให้เกิดการตรวจสอบและสื่อสารเรื่องความยั่งยืนให้ถูกต้อง ซึ่งแน่นอนว่าต้องเริ่มจากการรู้ให้เท่า และรู้ให้ทัน 

“สื่อนี่สำคัญมากนะคะ ต้องรู้ว่าไม่ควรไปสื่อสารให้บริษัทที่ทำดีไม่จริง สื่อต้องรู้ก่อนว่า คนไหนทำจริง คนไหนทำไม่จริง ไม่อย่างนั้นเราก็จะไปสื่อสารอย่างคนที่รู้ไม่ทันองค์กรที่มีเงินมาซื้อสื่อ มันต้องไปให้เท่า และการที่เราจะเป็นสื่อที่มีองค์ความรู้ ก็ต้องไปทำความเข้าใจก่อนว่า ในแวดวงนี้เขาคุยอะไรกัน เรื่องนี้ต้องมีความรู้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งอย่าง UNGCNT ก็จะให้ความรู้ที่เป็น องค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เพื่อให้เช็คว่าแต่ละบริษัทเขาไปถึงเป้าหมายที่จับต้องได้ไหม เรื่องพวกนี้ต้องมีการ Submit Target และ Validate ให้ได้ คุณมีแผนแล้ว คุณจะทำอย่างไร ทำตอนไหน เพื่อให้มั่นใจว่าบริษัทนั้นๆ ไม่ได้มาขายฝัน แต่แผนของบริษัทนั้นจะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้จริงๆ สื่อถึงจะทำหน้าที่ขยายผลให้ แต่ขั้นตอนแรก สื่อต้องมีหลักว่าเราจะพูดความจริงต่อเมื่อเราเห็นแผนที่ชัดเจนของธุรกิจด้วย ไม่อย่างนั้นสื่อจะพูดอะไรไม่ได้เพราะไปรับเงินเขามาแล้ว เขาก็ให้ข้อมูลที่อยากจะให้สื่อแต่สื่อไม่สามารถให้ข้อมูลที่เขาไม่ได้อยากจะสื่อได้ ถูกไหม 

อีกอย่าง ต้องเข้าใจก่อนว่าองค์กรส่วนใหญ่จะสร้างความไว้ใจผ่านการทำการตลาด ดังนั้นเวลาที่สื่ออยากจะสัมภาษณ์ ต้องไม่ไปมุมเรื่องการตลาด ต้องสัมภาษณ์เชิงเป้าหมาย แผนงาน เราต้องรู้ทันว่า บริษัทเขากำลังขายฝันหรือเปล่า ที่เมื่อกี้บอกเรื่อง Science Based เช่น เวลาคุยเรื่องสิ่งแวดล้อม ก็ต้องคุยเรื่องเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ไม่ใช่มุ่งไปแค่เรื่องทำคาร์บอนเครดิตอย่างเดียว การบอกว่าปลูกต้นไม้กี่ต้นได้คาร์บอนเครดิตเท่าไหร่ สำหรับเรามันจับต้องไม่ได้มากเท่ากับปริมาณคาร์บอนหรือออกซิเจน ที่อยู่ตรงนี้ คุณมีเป้าหมายว่าจะทำคาร์บอนเครดิตเท่านั้นเท่านี้ก็เรื่องหนึ่ง แต่คาร์บอนมันยังอยู่ตรงนี้อยู่เลย คุณยังคงปล่อยมลพิษทุกวันอยู่เลย ยังไม่มีการกักเก็บหรือดูดซับคาร์บอน ตรงนี้ต่างหากที่เราอยากรู้ว่ามีแผนยังไง

แต่สื่อก็ได้แต่ไปโฆษณาให้เขาว่าภายในปีนั้นๆ จะมีคาร์บอนเป็นศูนย์ ทุกคนก็พูดแบบนั้น แต่เขาจะทำด้วยวิธีการอะไรก็ไม่รู้ สื่อต้องถามเลยว่า จะไปถึงจุดนั้นด้วยวิธีการยังไง นี่แหละคือ How and When แต่ผู้บริหารองค์กรส่วนใหญ่จะพูดแค่ What and Why เพราะเขาพูดเป็นการตลาด แต่พอไปถามว่า ทำอย่างไรและเริ่มเมื่อไหร่ หลายคนก็อาจจะยังไม่ได้ทำ แต่มีเป้าว่าถึงปี 2030 จะลดคาร์บอนนะ แต่เมื่อไหร่จะเริ่ม ถ้าบอกอีก 5 ปี แล้วมันจะทันไหม เราต้องถามว่า เริ่มเมื่อไหร่ เสร็จเมื่อไหร่ เพราะถ้าไม่เริ่มแล้วเมื่อไหร่จะเสร็จ” 

อย่างที่เกริ่นไว้ตอนต้นว่า เรื่องของความยั่งยืนนั้นมีหลายมิติ และมีหลายองค์ประกอบที่ต้องทำความเข้าใจ ปัญหาหนึ่งที่มักจะเกิดขึ้นก็คือ ตัวองค์กรเองไปทุ่มเทในสิ่งที่ไม่เกี่ยวข้องกับ Supply Chain ตัวเอง และในที่สุดก็ไม่ได้ทำให้ปัญหานั้นได้รับการแก้ไขอย่างยั่งยืน 

“ยกตัวอย่างง่ายๆ ถ้าบริษัทบอกว่าตัวเองดูแลเรื่องการศึกษา ทำมาเป็นสิบปีแล้ว แต่การดูแลพนักงานของเขาเป็นยังไง ยังมีปัญหาเรื่องการจ้างงานไม่เป็นธรรมหรือเปล่า ​สินค้าที่เขาทำมีผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมอยู่ไหม การรับผิดชอบสังคมในภาคธุรกิจ ต้องรับทั้งผิดทั้งชอบ แต่ตัวเองยังไม่รับผิดเลย จะรับแต่ชอบอย่างเดียวมันก็ไม่น่าจะดี

หลายบริษัทมาถามว่า ถ้าเขาจะทำแบบนี้ถูกไหม เราก็รู้สึกว่ามันไม่ได้ผิดหรอกถ้าจะทำ แต่ถ้าทำอย่างอื่นได้ก็ทำเถอะ ทำเพิ่มไปจากที่เคยทำก็ได้​ เช่น ห้างใหญ่ๆ มารณรงค์ให้แยกขยะ เรื่องนี้เราก็รู้สึกนะ เพราะจริงๆ แล้วการแยกขยะนั้นเป็นความรับผิดชอบของทุกคน ไม่ใช่แค่บริษัทใหญ่ๆ แล้วบริษัทมารับผิดชอบแทนประชาชนในการเก็บขยะทำไม คนทั่วไปเขาควรต้องแยกมาจากบ้านแล้ว ไม่ใช่ให้บริษัทขนาดใหญ่มาเปิดศูนย์รับแยกขยะอีก แล้วให้บริษัทนั้นมาลงทุนในการจัดการเรื่องขยะ โอเคละ มันเป็นการสร้างความตระหนักรู้ในเรื่องนี้ แต่มันไม่ใช่หน้าที่โดยตรง บริษัทของคุณต้องไม่สร้างขยะต่างหาก นั่นแหละหน้าที่โดยตรง คุณต้องลงทุนเรื่องการลดขยะจากแพ็กเกจจิ้ง ไม่ใช่ไปสร้างขยะมาเยอะแยะแล้วมาบอกให้คนแยกขยะอีก แล้วจะสร้างทำไมตั้งแต่แรก คุณต้องคิดนวัตกรรมให้มันไม่มีขยะ ลด Waste มันไม่ผิดที่จะรับผิดชอบตรงปลายทาง แต่รู้สึกว่า เขาสร้างต้นทางที่มันไปในทางที่ผิด แล้วมาจัดการปลายทาง ปัญหามันก็ไม่มีทางจบ” 

ก่อนที่จะหาพื้นที่สีเขียวชอุ่มเพื่อถ่ายรูปประกอบคอลัมน์ในวันนี้ เราปิดท้ายคำถามกับคุณปุ๋ยว่า ประเด็นการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนในเรื่องใดที่คิดว่าเป็นปัญหาที่เร่งด่วนที่สุดที่ทุกฝ่ายควรทำ

“เรื่องสิ่งแวดล้อมนี่แหละค่ะ เรื่องป่า เรื่องแหล่งน้ำสะอาด เพราะสิ่งแวดล้อมพูดให้เรารู้ไม่ได้  แล้วถ้าเราไม่ตระหนักและไปกระทำย่ำยีกับสิ่งแวดล้อมมากๆ เข้า จะเห็นว่ามันฟื้นตัวได้ยากมาก เราคิดว่าประเทศไทยเราด้อยค่าสิ่งแวดล้อมมากๆ ลำพังถ้าอะไรเกิดขึ้นกับมนุษย์ คนเราเดือดร้อนก็ต้องโวยวายอยู่แล้วเพราะสิทธิเขาถูกละเมิด แต่สิ่งแวดล้อมที่ถูกย่ำยี เขาไม่เคยส่งเสียงออกมาให้เรารู้ แต่รู้อีกทีเราก็จะอยู่กันไม่ได้แล้ว ซึ่งผลมันก็มาจากสิ่งที่เราทำนั่นแหละ” 


เรื่อง: วิไลรัตน์ เอมเอี่ยม ภาพ: สันติพงษ์ จูเจริญ

AUTHOR