ชีวิตต่อให้ต้องแตกสลายกี่ครั้งก็ยังรักการแสดง ของ ทราย-อินทิรา เจริญปุระ

เจ้าแม่หนังผี บทกะหรี่ และไอคอนิกยุค 90s คือภาพจำด้านการแสดงของทราย-อินทิรา เจริญปุระ ที่หลายคนรู้จัก

ย้อนกลับไปปี 2544 ทรายคือเด็กหญิงวัย 21 ปี ที่เพิ่งเข้ามาโลดแล่นในวงการได้เพียง 7 ปี แต่ระหว่างนั้นเธอก็ทำให้ใครหลายคนประหลาดใจได้เสมอ เพราะทุกครั้งที่ทรายปรากฏตัวมักมาพร้อมกับบทบาทที่คาดไม่ถึง 

นับตั้งแต่เด็กสาวที่ถูก 7 ทรชนรุมข่มเหงจนเสียสติ ก่อนหันมาจับไมค์เป็นนักร้องเพลงป็อปสดใส สลับกับนักร้องเพลงป็อปร็อกสุดเท่ ท้าทายตัวเองอีกครั้ง ด้วยบทผีตายทั้งกลมในหนังผีไทยระดับตำนาน จนถึงการแสดงในต่างประเทศ กะพริบตาอีกทีก็เห็นเธอเป็นนักเขียน หรือพิธีกรไปแล้ว 

ช่วงวัย 20 ของทรายที่ได้ลองทำอะไรหลายอย่างจึงถูกนิยามว่าเป็นเหมือนช่วงฮันนีมูน ทุกอย่างดูน่าสนุกด้วยพลังของคนหนุ่มสาว 

จากวันนั้นจนถึงวันนี้ทรายยังอยู่ในสายตาของหลายคนตลอด เรียกได้ว่าเราได้รู้จักหลายๆ ด้านในชีวิตของทรายทั้งเรื่องร้ายและดี ขวบปีที่ผ่านไป หลายเรื่องราวถาโถมเข้ามา ทั้งเรื่องครอบครัว ความสัมพันธ์รอบตัว และโรคซึมเศร้า ทำให้เธอไม่ใช่เด็กสาวที่ยอมให้คนอื่นมีความสำคัญเหนือตัวเองอีกต่อไปแล้ว

แม้ทรายในวัยที่โตขึ้นจะเปลี่ยนไปมากแค่ไหน แต่สิ่งหนึ่งที่ยังไม่เคยเปลี่ยน คือความรักในการแสดง

อย่างที่เธอยืนยันกับเราว่า “ไม่เคยไม่รักการแสดงเลย” แถมยังหลงรักบรรยากาศของการออกกอง อินกับหนังและหนังสืออย่างที่เคยเป็นมาตลอด

อะไรคือสิ่งที่ทรายได้เรียนรู้ในวัย 43 ช่วงชีวิตที่เธอบอกว่าได้เป็นตัวเองมากที่สุด เราชวนทรายมาพูดคุยตั้งแต่ความสำเร็จของบทนางนาก การอกหักในช่วงวัย 20 ที่เหมือนโลกถล่ม ช่วงเวลาเป็นซึมเศร้าที่โดนคนด่าเยอะที่สุด จนถึงชื่อเสียงที่ไม่ได้หอมหวานเหมือนช็อกโกแลตอย่างที่เคยเข้าใจ 

ทรายในวัย 20 ที่เหมือนได้ฮันนีมูน

“ช่วงปี 2001 ที่ได้ขึ้นปก a day นางนากเพิ่งฉายไปหมาดๆ และได้ไปฉายที่โตเกียวฟิล์มเฟส ซึ่งเป็นการไปญี่ปุ่นครั้งแรก ส่วนเพลงน่าจะมีอัลบั้ม 2 ไปแล้วเรียบร้อย ตอนนั้นน่าจะอยู่ปี 2 

ช่วงนั้นมันไม่มีอะไรให้เครียด ให้นอยด์ใดๆ ทั้งสิ้น หนังก็ประสบความสำเร็จ มันเป็นความสำเร็จที่เราไม่รู้สึกว่า ‘กูสวย’ ‘กูดัง’ แต่มันเป็นอารมณ์แบบกูรอดแล้ว อย่างน้อยก็ไม่มีใครมาด่าว่ากูทำหนังเจ๊ง แล้วก็เป็นจุดที่ทำให้เรารู้สึกว่าการแสดงมันเลิศอะ

ตอนนั้นพ่อป่วยแล้วละ แต่มันไม่ได้เป็นความกังวลมาก คนอายุ 20 อะ รู้ว่าพ่อป่วยนะ แต่มันยังมีแรงอยู่ ยังเบิกบานและสุขภาพดี เราก็ยังไม่รู้หรอกว่าการจัดการชีวิตตัวเองแบบไหน ตอนนั้นยังมีแม่เป็นผู้จัดการอยู่ มีงานก็ไปทำ คิดแค่ ‘ไม่เป็นไร ตามใจแม่ไปก่อน’ แต่มันก็เป็นช่วงเริ่มต้นสะสมเรื่องที่มันจะมาระเบิดในช่วง 30 กว่าอยู่ดี

เราว่าช่วง 20 ก่อนถึง 30 มันเป็นช่วงฮันนีมูน

ยังเป็นช่วงมีแรงจะทำงาน หมายถึงไปกองแล้ว โอ๊ย เหนื่อยๆ ไม่ไหวแล้ว แต่กลับมานอนสักคืนก็โอเคแล้ว ยังไม่ได้รับรู้ว่าสิ่งที่กำลังก่อตัวอยู่จะเป็นมรสุมในอีก 10 ปีข้างหน้า”

ชีวิตที่ไม่เคยไม่รักการแสดง

“จุดเปลี่ยนในการทำงานของเราคือช่วงคาบเกี่ยวระหว่างนเรศวรกับนาคปรก 

นางนากเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้คนรู้สึกว่า ‘คนนี้เล่นหนังได้’ เพราะว่ามันก็วัดใจเหมือนกันนะ ถ้ามันยังไม่มีนางนาก หรือหนังไม่ได้สำเร็จ มีเปอร์เซ็นต์สูงมากที่เราจะหายไปจากวงการ 

ช่วง 20 กลางๆ เป็นช่วงที่เราไปถ่ายนเรศวรเลยค่อนข้างหายหน้าหายตาไป เพราะต้องไปสิงอยู่ที่กอง งานมันหนักมากพอสมควร เรารู้สึกว่าถ่ายซีนรบทุกวันจนเอียนกับคิวบู๊ ตื่นมาแล้วก็ไปรบ แม่งเหนื่อยมาก มันทำเหมือนกันทุกวัน แล้วพาร์ตบู๊ของเรามันเยอะมากจริงๆ เราบู๊จนเหมือนจะลืมวิธีเล่นอย่างอื่นไปแล้ว 

พอดีมีนาคปรกเข้ามา ก็มีพี่ใหม่ (ภวัต พนังคศิริ) ผู้กำกับ เราเคยทำงานกับพี่ใหม่มาก่อน เรื่อง SIX (หกตายท้าตาย) พี่ใหม่ก็บอกว่ามีโปรเจกต์นาคปรก แต่บทผู้หญิงมีไม่เยอะนะ ตัวนำคือผู้ชาย 3 คน ก็เล่าให้ฟังคร่าวๆ แต่พี่ทรายต้องเล่นเป็นกะหรี่นะ ไหวไหม 

ในตอนนั้นถึงแม้ว่าโลกเราจะมีหนังเทพธิดาบาร์ 21 แต่มันไม่ใช่เรื่องที่รู้สึกว่าง่าย เราไม่ได้มีภาพลักษณ์ยั่วเพศ หรือเป็นสาวเซ็กซี่ทุกหน้าร้อนจะเจอ ฉันได้บนปกมาลัยไทยรัฐ (ยิ้ม) แต่เราก็บอกไปว่า อ๋อ ได้ เพราะว่าอยากออกไปจากตรงนี้ ฉันไม่ไหวแล้วกับการใส่ชุดหนังออกไปรบ จองคิวบู๊อย่างเดียว อันนี้เลยถือเป็นจุดเปลี่ยนที่รู้สึกว่าเรายังไปได้อีก

กลายเป็นคำล้อของคนใกล้ตัวเราว่า ‘บททรายนี่..ไม่ผีก็กะหรี่จริงๆ’ (หัวเราะ)

ในเส้นทางอาชีพทั้งหมดทำมาหลายอย่างมาก เราไม่เคยไม่รักการแสดงเลย เรารักการออกกองที่สุด ใช้คำนี้เลย บทจะเยอะ จะน้อย กองเล็ก กองใหญ่ ละคร หนัง ซีรีส์ อะไรก็ตาม เรารักมันที่สุดแล้ว มันเป็นพื้นที่ปลอดภัย เราสบายใจที่สุดๆ กับบรรยากาศของกองถ่าย ทั้งๆ ที่คนในรุ่นเดียวกัน หลายคนก็จะบอกว่าไปกองมันเหนื่อยมาก ขี้เกียจไปรอ นั่นแหละคือที่กูชอบ” (หัวเราะ)

อกหักหนักที่สุด

“จุดเปลี่ยนนอกจากเรื่องงาน คงเป็นเรื่องอกหัก มันสำคัญมากจริงๆ เพราะทำให้เรายิ่งแยกตัวออกไปอีก มันเป็นช่วงใกล้ๆ กับที่พ่อป่วยหนักแบบไม่สามารถฟังก์ชันได้จริงๆ ด้วย 

มันเป็นช่วงเดียวเลยที่เราได้ตระหนักว่า ‘ไอ้เหี้ย เนี่ยชีวิตจริง’ มันมาช่วง 27-28 ก่อนหน้านี้เราทำงานเป็นแกนหลักของครอบครัวอยู่แล้ว การทำงานของเรากับพ่อก็จะแปรผกผันกัน แล้วตอนที่พ่อติดเตียง มันคือความรู้สึกว่า ‘ต้องเป็นกูแล้ว’ สิ่งที่ทำอยู่เป็นอาชีพอย่างเดียวของเราแล้วนะ พออกหักขึ้นมา มันเหมือนต้องแยกชีวิตเราออกจากงานโดยสิ้นเชิง

ช่วงที่พ่อป่วยแถมอกหักอีก ละครเราก็ยังต้องไปถ่ายปกติ ต้นฉบับก็ต้องเขียน ดังนั้นมันมีความกูล้มไม่ได้ เข้าใจคำว่าเดอะแบกตั้งแต่วันนั้นเลย 

แถมปีนั้นเป็นปีที่มีหนังที่รู้สึกว่ามีหนังที่ไม่ได้อยากเล่นเข้ามา แล้วแม่ก็รับให้ เราก็รู้สึกซัฟเฟอร์ว่าทำไมต้องเล่นเรื่องนี้ แล้วแม่ก็ผายมือไปทางพ่อ เดี๋ยวต้องทำห้องให้พ่อใหม่ ต้องใช้เงินก้อนเดี๋ยวนี้ เชี่ย คำว่าเดี๋ยวนี้แม่งมีอยู่จริงวะ 

นี่คือสิ่งที่เราไม่เคยรับรู้ เมื่อก่อนแค่ไปเล่นหนัง รับบทตัวเองให้ดีก็จบแล้ว แต่อันนี้มันไม่ได้ ทำทุกอย่างแล้วยังต้องเขียนหนังสือ อกหักครั้งหนึ่งได้หนังสือมาเล่มนึง เพราะว่าเขียนเรื่องอื่นไม่ได้ไง แม่งเป็นเรื่องใหญ่เว้ย สำหรับคนแบบเราด้วย มันเป็นจุดที่เริ่มสะสมความตึงของชีวิตหลายๆ อย่าง เริ่มกินเหล้าด้วย ทุกอย่างมันจะปะทุในช่วง 30 ปลายๆ” 

วันที่ชื่อเสียง (ไม่ได้) ขมหวานเหมือนช็อกโกแลต

“แบ๊วเนอะ ช็อกโกแลต ว้าว (ยิ้ม) 

มันยังขมหวานเหมือนเดิมแหละ แต่เราคงไม่คิดว่ามันเป็นช็อกโกแลตแล้ว มันน่ารักไป แต่จนถึงวัย 40 ก็ยังไม่รู้ว่าจะนิยามว่าอะไร ตอนเห็นคำตอบนี้ก็รู้สึกว่าคน 20 นี่มัน 20 จริงๆ นะ ที่คิดอะไรแบบนี้ 

มันก็ขมหวานนั่นแหละ เพียงแต่เรารู้สึกว่ามันรับมือยากขึ้น ทั้งความขมและความหวาน 

เรารู้สึกว่ามันเป็นธรรมชาติอยู่แล้วของชีวิต ที่ต้องมีทั้งดีและไม่ดี แต่ถึงยังไงเราก็ยังรู้สึกขอบคุณกับงานหรือชื่อเสียงมากกว่า พาร์ตขมมันก็มีแหละ เช่น พอเห็นเป็นหน้าเรา บางคนก็ลุกขึ้นมาด่าได้เลยทันทีโดยไม่ต้องสนใจว่ามันคืองานอะไร  

แต่พาร์ตหวานมันก็มี เช่น หลายๆ ครั้งมีคนมาบอกว่าผมอ่านหนังสือพี่ หรือหนูได้คุยกับพี่วันนั้นแล้วมันสร้างความเปลี่ยนแปลงกับเขายังไงบ้าง มันเป็นเรื่องของชื่อเสียงที่ไม่ได้มาพร้อมกับงานแสดงอย่างเดียว 

หลายเหตุการณ์ใหญ่ในชีวิต มันก็มีข้อดี ในแง่ที่คนได้รู้เรื่องหลังจากนั้นมากขึ้น เช่น ตอนที่เราเป็นซึมเศร้าหรือต้องดูแลแม่ที่เป็นซึมเศร้า เราคิดมาตลอดว่าโรคเราก็ธรรมดานี่หว่า เราไปหาหมอกับแม่มาตลอด แต่พอออกมาพูด โห..แม่งน่ากลัวมาก 

ฟีดแบ็กจากคนประมาณ 70-80 เปอร์เซ็นต์ คือมาสาปซ้ำ หรือไม่ก็บอกว่าคิดไปเอง แต่ตอนนั้นรู้สึกเหมือนโลกจะถล่ม แล้วเราเป็นนักแสดงคนจำได้บวกกับคนหมั่นไส้เป็นการส่วนตัวด้วย แต่ 20 เปอร์เซ็นต์ที่เหลือ แอบทักกันมาหลังไมค์ว่า พี่หนูเจอมาเหมือนกัน หนูพูดกับใครไม่ได้เลย ข้อความนี้ที่มันช่วยทำให้เราไม่คลั่งไปซะก่อน 

ถ้าเราเป็นคนธรรมดาทั่วไป หรือคนที่ทำอยู่ในวงการที่พูดถึงสุขภาพจิต เขาก็จะไม่โดนขนาดนี้ แต่พอเราพูด โอเค คนได้ยินเยอะ แรงสะท้อนมันสาหัส ไม่ได้มีใครสนใจว่าคนที่อยู่ในภาวะที่พูดเรื่องนี้ มันเปราะบางมากๆ แล้วยิ่งนักแสดงที่คนรู้สึกง่ายมากที่จะกระทืบซ้ำ

เพราะงั้นเวลาที่ใครออกมาพูดเรื่องนี้เราจะเห็นใจเขามาก เราไม่ได้เห็นใจเฉพาะตัวโรคที่เขารับมืออยู่ แต่อะไรที่เขาต้องเจอรอบๆ มันสาหัสมากๆ ก็ยังคิดว่าเป็นความขมหวานอยู่ แต่ช็อกโกแลตมันดีเกินไปกับสิ่งที่ต้องเผชิญ

แต่เราก็ไม่ปฏิเสธการมีชื่อเสียง ไม่ใช่ว่าเราหมกมุ่นกับความดัง แต่เรารู้สึกว่าถ้าเราไม่มีชื่อเสียง เราจะไม่ได้เล่นหนังเว้ย แค่นั้นเลย เราเลยค่อนข้างยอมรับว่ามันเป็นแพ็กเกจที่มาพร้อมๆ กัน

เราไม่เคยคิดเลยว่า ชั้นอยากเป็นคนธรรมดา จริงๆ ชีวิตก็ธรรมดามากๆ อยู่แล้ว แค่คนจำได้เฉยๆ ไม่ได้คิดว่าพิเศษ ดังนั้นการมีชื่อเสียงจากการแสดงจะทำให้เราได้แสดงต่อ เราก็ยินดีกับมัน ขอให้มันมีมาเหอะ แล้วคนเรียกเราไปถ่ายหนังเรื่อยๆ เราจะแฮปปี้มากๆ 

ทุกวันนี้เวลาออกไปข้างนอก คนยังเรียกเราว่านางนากอยู่เลย แสดงว่าเขายังจำเราจากหนัง เขาไม่ได้สนใจว่าเราคือเรา ดังนั้นผลงานเรามันดังมันดีแล้ว”

ยังคงอินกับหนังสือ (แต่ไม่ใช่ทุกเรื่อง)

“ทุกวันนี้ถ้าถามว่ามีอะไรที่หายไปก็คือสกิลการอ่านและการเขียนที่หายไปเลยกับการหยุดยา กลายเป็นว่าเราระมัดระวังที่จะไม่กระโจนลงไปในหลุมแห่งอารมณ์ ความท่วมท้น ความฟูมฟายต่างๆ 

ปกติเราเป็นคนเสพสื่อแล้วร้องไห้อยู่แล้ว ดูหนังก็ร้อง อ่านหนังสือก็ร้อง ตอนเด็กๆ เคยไปดูหนังกับพ่อแล้วพอจะร้องก็อาย พ่อก็บอกว่าจริงๆ ถ้าดูหรืออ่านแล้วอยากร้องไห้ร้องออกมาเลย มันเป็นการให้เกียรติคนทำหนัง คนทำหนังสือที่พาเราไปถึงจุดนั้นได้ ดังนั้นเราปล่อยอย่างสิ้นเชิง 

ตอนเด็กๆ เราทำแบบนั้นได้ เพราะเดี๋ยวเราจะฮีลตัวเองและกลับมาได้ ช่วงกินยาซึมเศร้าก็รู้สึกว่าเดี๋ยวก็ดีขึ้น จะไม่ดิ่งไปตลอดกาล แต่ในช่วงที่เราหยุดยา เราเลี่ยงทุกๆ การกระตุ้นทางอารมณ์ เราเก็บโฟกัสของเราไว้ที่เรื่องที่เราสนใจ คือเรื่องของการแสดงมันเป็นบ่อน้ำบ่อเดียวที่เราจะกระโดดลงไป แล้วก็ท่วมท้นไปกับมัน แต่เราจะไม่เปลืองไปกับการอ่านแล้วหม่น อ่านอันนี้แล้วนอยด์วะ เพราะมันไม่มีอะไรคุ้มค่ากว่าสติของตัวเองที่กว่าจะกู้คืนมาได้ 

เราก็เลยเลี่ยงที่จะไม่อ่าน ไม่เขียน หรือไม่สำรวจตัวเองขนาดในช่วงก่อนหน้านั้นอีกแล้ว แต่ถ้ายังมีบางจุดที่เราเปิดใจกับบางเรื่องหรือบางเล่ม โอ้ย ร้องยับ ไม่มีเหลือ

ล่าสุดไปทำงานนอกจากแสดงแล้วก็มาช่วยดูเป็นแอ็กติ้งโค้ชให้ด้วย หรือได้ดูนักแสดงเรื่อง Monster แล้วน้ำตาอาบ ยังเป็นคนแบบเดิมเลย แต่แค่ไม่โดดลงน้ำทุกบ่อแล้ว ไม่ต่อต้าน พร้อมเข้าร่วม” (หัวเราะ)

ทรายในวัย 43 ที่ได้กลับเป็นตัวเอง

“เราเรียนรู้ว่าอย่าเชื่อใจคน มันอันตรายมาก

เราโตขึ้นก็จริงด้วยวัย แต่เราไร้เดียงสามากๆ เหมือนกันนะ เพราะเรามีแม่เป็นกันชนมาตลอด เราไม่เคยรู้ว่าที่เขาพูด เขาตอแหลมึง หรือพอถึงเวลาที่คับขันจริงๆ ยากลำบากจริงๆ ทุกคนจะทิ้งมึงนะ เมื่อก่อนไม่รู้ เพราะยังไงแม่ก็ยังอยู่กับเรา งานในกองพอถ่ายเสร็จก็แยกย้ายกัน ไม่มีอะไรติดใจกัน อันนี้เรารู้ 

แต่พอโตขึ้นมาแล้วเราต้องรับเอง แล้ว อ๋อ ไม่ใช่วะ ไม่ใช่ทุกคนจะรับผิดชอบ หมายถึงในเรื่องการใช้ชีวิต คนที่เหมือนจะดีต่อกัน แต่บางทีเขาไม่ได้คิดแบบนั้น เราไม่ได้หมดหวังในมนุษย์หรอก แต่เป็นอารมณ์ อินทิราอย่าโง่ ต้องรู้นะ ต้องจำนะ อย่าไปโดนแบบเดิมอีก แล้วสุดท้ายพอเรื่องมันคับขันขึ้นมาจริงๆ ก็ไม่มีใครมาช่วยมึงหรอก ทุกคนพร้อมจะปล่อยมือ แล้วก็จะแบบ ‘อ๋อ พี่ทราย ก็เคยเจอ รู้จักผ่านๆ’ อะไรแบบนี้ เราแบบ โห.. แอ็กต์ติงดีกว่ากูอีกวะ 

แล้วแม่งเฮิร์ตนะ เพราะเราถือเป็นนักแสดง ทำไมมึงดูไม่ออกวะ ไม่ได้เฟลในฐานะมนุษย์อย่างเดียว แต่เฟลในฐานะอาชีพการงานด้วย กูว่ากูได้รางวัลแล้วนะ อีนี่ได้กว่า! มันเป็นสิ่งที่เราได้เรียนรู้และต้องระมัดระวัง 

แต่มันก็พาเรากลับไปสู่จุดเดิมว่าก็เป็นคนเงียบๆ ของเราไป เวลาทำงานก็ให้งานมันได้ทำหน้าที่ของมันไป ชีวิตเราไม่ต้องมารู้เยอะมากขนาดนั้นก็ได้ เรายังมีบางโมเมนต์ที่เรารู้สึกว่าอันนี้แชร์ได้ แต่เราไม่บอกทั้งหมด ถ้าเป็นเราสัก 10 กว่าปีที่แล้วเราบอกหมดทุกอย่าง เพราะมันไม่เจ็บปวดไง แต่ตอนนี้เรารู้แล้วว่ามันเป็น

ช่วง 40 เป็นต้นมา รู้สึกสบายๆ ขึ้นเยอะ ต้องบอกว่าเราเป็นคนเอาใจคนอื่น (People Pleaser) มากๆ ด้วยความเป็นลูกสาวคนโต และความที่ชิดกับแม่มากในหลายๆ เงื่อนไข ทำให้เราเป็นพยายามจะพลีสคน แม้เราจะเจ็บตัว หรือไม่สบายใจก็ตาม 

แต่พอมาอยู่ในวัยนี้ เรารู้สึกว่าก็ไม่ต้องก็ได้ แต่มันยังมีอยู่นะ มันออกไปทั้งหมดไม่ได้หรอก กึ่งหนึ่งเราโยกมันไปหมวดมารยาทสังคมที่จะมีการตอบรับและปฏิเสธอะไรในแบบที่น่ารัก (ยิ้ม) แต่ก็จะไม่ฝืน 

เมื่อก่อนเราจะให้แม่ตัดสินอย่างเดียว จะตัดสินยังไงก็ได้ อยากให้เราไปงานไหน ไม่อยากให้เราไปงานไหน อยากไปเจอใคร ไม่อยากไปเจอใคร เราขึ้นอยู่กับแม่หมดเลย ทั้งๆ ที่จริงๆ มันไม่เป็นธรรมชาติ 

แต่ 43 พอไม่มีแม่แล้ว มันต้องมาจัดการอะไรด้วยตัวเอง เราต้องมาหัดทักษะทางสังคมหลายๆ อย่าง เพราะด้วยความที่ทำงานเร็วมากตั้งแต่ 13-14 เราไม่มีทักษะทางสังคมอื่นๆ เลย เช่น เรื่องการพูดคุยกับคน เพราะเราไม่ได้มีกลุ่มเพื่อนสนิท ไปแฮงค์เอาต์กับเพื่อน ไม่เคยโดนเจ้านายสั่งงานโดยตรง ไม่เคยทำงานออฟฟิศเป็นหมู่คณะ ไม่เคยอะไรหลายๆ อย่างที่คนเขาเคยกัน 

ตอนนี้ก็สบายๆ ขึ้นเยอะ เพราะว่าทำงานเองแล้ว ได้ถือเงินเองแล้ว มันมาพร้อมความเครียดนิดหน่อย เชี่ย เดี๋ยวกูต้องจ่ายประกันแล้ว เพราะแต่ก่อนแม่ทำ แต่ ไอ้เหี้ย แต่มันก็ชีวิตกู กูควรทำเองมาตั้งนานแล้ว เพิ่งมาเรียนรู้ถือว่าช้ามากแต่ก็สบายตัวมากๆ ด้วย

แต่เราไม่เสียดายนะ ว่าแบบ รู้งี้ทำซะตั้งแต่ตอนนั้นก็ดี ไม่มี ชีวิตเป็นแบบนี้มันก็เป็นแบบนี้ ก็มันทำไม่ได้แล้วจะไปคิดทำไม คือเราเป็นคนแบบนี้ด้วยแหละ ก็ช่างแม่งดิ เรามีความกังวลในแบบอื่นๆ มากกว่าเรื่องพวกนี้”

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

กุลชนาฎ เสือม่วง

ปูนพร้อมก่อสุดหล่อพร้อมยัง IG: cozy_cream