ฮายาโอะ มิยาซากิ ก่อนจะกลายเป็นสายลม

นับตั้งแต่ ‘Ponyo: On the Cliff By the Sea’ เมื่อ 13 ปีก่อน หลังจากนั้นหนังการ์ตูนของสตูดิโอจิบลิก็มีเข้ามาฉายในโรงฯ บ้านเราทุกเรื่อง และการมีภาพหรือตุ๊กตุ่น-ตุ๊กตา ‘โตโตโระ’ โลโก้จิบลิจาก ‘My Neighbor Totoro’ (2531) ให้เห็นอยู่ทั่วไปตามตลาดนัดหรือห้างสรรพสินค้าในวันนี้ คงพอบอกได้ว่าหนังการ์ตูนของจิบลิ น่าจะเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายในบ้านเรา ไม่ต่างจากการ์ตูนของฟูจิโอะ ฟูจิโกะ หรือวอลต์ ดิสนีย์     

แต่หากย้อนไปเมื่อประมาณ 30 ปีก่อนหรือช่วงที่จิบลิเพิ่งสร้างหนังกันมาไม่กี่เรื่อง ใครเอ่ยชื่อนี้ หรือ ฮายาโอะ มิยาซากิ ผู้ก่อตั้งสตูดิโอ คงมีน้อยคนจะรู้จัก เพราะในเวลานั้นหนังการ์ตูนญี่ปุ่นตามโรงฯ นอกจาก ‘โดราเอมอน’, ‘อิคิวซัง’ กับ ‘ดร.สลัมป์’ เมื่อกลางทศวรรษที่ 2520 และ ‘Akira’ ในปี 2533 ก็ไม่มีใครสั่งเข้ามาฉาย ชื่อเสียงของจิบลิจึงมีให้รับรู้กันเฉพาะในหมู่คนนิยมอะนิเมะซึ่งก็มีแค่กลุ่มหนึ่งเท่านั้น 

และถึงจะเป็นยุคหนังสือการ์ตูนละเมิดลิขสิทธิ์ยังมีพิมพ์กันอยู่ แต่ผลงานอย่าง ‘Nausicaa of the Valley of the Wind’ (2527) หนังการ์ตูนเรื่องยาวแท้ๆ เรื่องแรกของมิยาซากิที่ดัดแปลงมาจากมังงะของตัวเอง ตั้งแต่นั้นจนป่านนี้ยังไม่เคยมีใครแปล เรื่องจะได้ดูหนังการ์ตูนของจิบลิจึงมีแต่ต้องไปหิ้ววิดีโอมาจากญี่ปุ่นเท่านั้น แต่ก็ไม่มีแม้แต่ซับอังกฤษ     

กระทั่งกระแส ‘หนังอินดี้’ เริ่มระบาดเมื่อราว 20 ปีก่อน หนังการ์ตูนของจิบลิก็ถูกจัดไว้ในหมวดหมู่นี้ บางเรื่องจึงเริ่มมีฉบับซับไทย-ไร้ลิขสิทธิ์มาให้ดู โดยจุดเริ่มต้นมาจากความสำเร็จในระดับปรากฏการณ์ของ Princess Mononoke (2540) จนชื่อเสียงทะลักออกมานอกเกาะญี่ปุ่น กับก่อนหน้านั้น ด้วย ‘Graves of the Fireflies’ (2531) ของ อิซาโอะ ทาคาฮาตะ ผู้กำกับรุ่นพี่ของมิยาซากิและผู้ร่วมก่อตั้งจิบลิ ก็มีผู้คนกล่าวขานกันอยู่ตามเทศกาลหนังโลกรวมทั้งไทย สองเรื่องนี้จึงมีส่วนสำคัญกระตุ้นให้คอหนังในบ้านเราสนใจอยากดูอะนิเมะขึ้นมา 

และเมื่อ ‘Spirited Away’ (2544) ไปได้ออสการ์ หนังการ์ตูนของจิบลิก็กลายเป็นหนังในกระแสหลัก มาถึงวันนี้สามารถหาดูได้แทบทุกเรื่อง เช่นเดียวกับข่าวคราว ความเป็นมา หรือความคิดของผู้สร้างสตูดิโอนี้อย่าง ฮายาโอะ มิยาซากิ เช่น ลองค้นดูในลิสต์ผลงานสมัยยังทำหนังทีวี ก็พบว่าหนึ่งในนั้นอย่าง ‘จอมโจรลูแปง’ (Lupin III Part II) เมื่อปี 2523 ที่เด็กไทยเคยดูทางช่อง 9 การ์ตูนเมื่อปลายทศวรรษที่ 2520 ก็คือหนึ่งในผลงานของเขา และเรื่องนี้ก็เหมือนเป็นต้นกำเนิดอีกเรื่องของสตูดิโอจิบลิก็ว่าได้ เพราะมิยาซากิร่วมกันทำกับ อิซาโอะ ทาคาฮาตะ 

ผลงานของมิยาซากิมักโดดเด่นตรงแนวคิดอนุรักษ์จนถึงเคารพธรรมชาติ ต่อต้านสงครามหรือความขัดแย้งใด บางครั้งนำสมบัติทางวัฒนธรรมของญี่ปุ่นหรือโลกมาปรับใช้ในการสื่อสาร แต่ในการ์ตูนแฟนตาซีเหล่านั้นก็มีความหมายมากกว่าดูเอาสนุกหรือชื่นชมความงามจากภาพเคลื่อนไหวของแอนิเมชั่นแบบดั้งเดิม และสิ่งนั้นก็น่าจะมาจากตัวตนของมิยาซากิซึ่งปีนี้อายุ 82 ปีเข้าไปแล้ว 

‘Never Ending Man: Hayao Miyazaki’ เมื่อปี 2559 ความยาว 69 นาที คือสารคดีของเอ็นเอชเคที่กำกับโดย คากุ อารากาวะ (ออกอากาศทางช่อง 7 ตอนตี 4 เมื่อ 3 ปีก่อน) แต่จากสารคดีเรื่องนี้ ต่อมาได้กลายเป็น ‘10 Years With Hayao Miyazaki’ (2562) ที่มี 4 ตอน ความยาวเกือบ 4 ชั่วโมง เป็นบันทึกการทำงานของมิยาซากิผ่านช่วงเวลาการทำหนัง 2 เรื่องคือ Ponyo กับ The Wind Rises (2556) ผลงานล่าสุดที่ออกฉาย รวมทั้งเคยประกาศว่าจะเป็นเรื่องสุดท้ายแต่ก็ไม่ใช่ เหมือนตั้งแต่สมัยก่อนจะทำ Spirited Away และในช่วงหนึ่งของสารคดีเรื่องนี้ก็มีกล่าวถึง มิยาซากิได้แต่ขำตัวเองที่บอกแบบนั้นครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ยังทำไม่ได้เสียที 

เอ็นเอชเคสร้างสารคดีทั้ง 2 เรื่องตามข้อตกลงกับสตูดิโอ คือจิบลิอนุญาตให้เฉพาะอารากาวะกับกล้องตัวเดียวตามบันทึกมิยาซากิได้แค่เรื่องงานเท่านั้น เราจึงได้เห็นวิธีการสร้างหนังการ์ตูนของเขาผ่านคำบรรยายของอารากาวะ ตั้งแต่เริ่มจากสเกตช์ของมิยาซากิเพียงหนึ่งภาพ แล้วขยายเป็นสตอรี่บอร์ด ก่อนเป็นภาพร่างแต่ละเฟรมจนเป็นช็อต โดยระหว่างนั้น มิยาซากิก็นั่งตรวจทานทุกภาพ รวมทั้งลงมือแก้ไขด้วยตัวเองเหมือนตลอดทุกขั้นตอน 

มันจึงไม่ใช่เรื่องประหลาดหากหนังของเขาจะไม่มีบทหนัง แต่ให้ตัวละครกับความคิดแตกออกมาทีละภาพแล้วพาเรื่องราวให้ดำเนินไป โดยเฉพาะใน Ponyo ที่มิยาซากิตั้งใจเขียนทุกเฟรมด้วยมือล้วน ไม่ต้องพึ่งซีจี 

‘เราต้องเป็นพวกมองโลกตามความเป็นจริงในอุดมคติ พวกยึดหลักความจริงอย่างเดียวโดยไร้ความฝันมีเยอะแล้ว พวกยึดหลักความจริงอย่างเดียวนั้นแย่ที่สุด ผมไม่อยากให้ทีมของเราเป็นแบบนั้น’ มิยาซากิเขียนโน้ตแปะข้างฝาบอกกับทีมแอนิเมเตอร์ก่อนจะลงมือทำ Ponyo เป็นอีกแนวคิดที่ถูกบันทึกไว้ในสารคดี เพราะมันคือส่วนหนึ่งของงาน 

แต่ด้วยงานของมิยาซากิคือการสร้างจินตนาการให้เกิดเป็นเรื่องราวด้วยภาพวาด และแนวคิดของคนเราซึ่งส่วนใหญ่ก็มาจากชีวิตกับประสบการณ์ ในสารคดีที่หวังจะเล่าวิธีการทำงาน จึงมีชีวิตบางส่วนของชายชราคนนี้รวมอยู่ด้วย  

ตอนที่สารคดีเรื่องนี้เริ่มต้น มิยาซากิมีอายุเลยวัยเกษียณไปแล้วหลายปี ผมและหนวดเคราขาวโพลน แต่ยังดูแข็งแรง คุณลุงมักสวมผ้ากันเปื้อนเดินไปมาในออฟฟิศ ที่มือมีบุหรี่ติดอยู่ตลอดแม้แต่ตอนเขียนรูป แกมีรอยยิ้มอยู่เสมอแต่ไม่พร่ำเพรื่อ หรือบางครั้งอาจเอ็ดทีมงานหากไม่ได้ภาพดังใจ หรือแม้แต่ผู้กำกับสารคดีเองยังโดนลุงคนนี้ตะเพิด เมื่อมาตามถ่ายตอนหนีไปปลีกวิเวกริมทะเล ซึ่งต่อมามิยาซากิสารภาพว่าที่อารมณ์เสีย เป็นเพราะอยากอยู่กับตัวเอง แกขี้เกียจ ‘ปั้นยิ้ม’            

“ตอนเป็นแบบนั้นแล้วผมจะฝืนยิ้มไปทำไม หนังสร้างขึ้นในช่วงเวลาแบบนี้ ยิ่งเข้าสู่ขั้นตอนท้ายๆ ผมก็ยิ่งหงุดหงิด” มิยาซากิบอกแบบนั้น และเมื่ออารากาวะไปพบทาคาฮาตะ ที่กำลังเตรียมสร้าง ‘Tale of Princess Kaguya’ (2556) หนังเรื่องสุดท้ายในชีวิต มิยาซากิก็ไม่อยากให้อารากาวะสัมภาษณ์รุ่นพี่ของเขา โดยเขียนโน้ตบอกให้อารากาวะทำเพียงบันทึก ‘การจมสู่เบื้องลึกของความสิ้นหวังที่ซ่อนเอาไว้’

มิยาซากิอธิบายว่ามันหมายถึงภาวะของการทำหนังการ์ตูนสักเรื่อง เพราะถ้าดูจากวิธีที่ต้องลงมือด้วยตัวเองทุกขั้นตอน แถมยังกินความนานนับปี กับภาระหนักอึ้งที่วางลงได้อย่างเชื่องช้าจนเหมือนจะไม่มีหวัง แม้สุดท้ายจะไม่เคยเป็นแบบนั้นจริง เขาหรือทาคาฮาตะต่างก็ทำมันจนสำเร็จออกมาให้ผู้คนได้ชื่นชมจนถึงตื่นตะลึง  

ด้วยฝูงชนที่มาเข้าคิวยาวเหยียดเพื่อรอดูหนังใหม่ของจิบลิ เด็กหญิงตัวน้อยวัยไม่เกิน 5 ขวบแถวสตูดิโอมาโค้งขอบคุณสำหรับคุณตาที่ทำ ‘โตโตโระ’ ให้ดู รอยยิ้มของผู้ประสบภัยสึนามิเมื่อได้รับรูปวาดพร้อมลายเซ็นจากคุณลุง ฯลฯ อาจทำให้มิยาซากิผิดคำพูดอยู่แบบนั้น และกับช่วงเวลาที่เหลือน้อยลงทุกวัน แกจึงยังคงหลังขดหลังแข็งทำ ‘How Do You Live?’ หนังเรื่องใหม่ ด้วยเหตุผลง่ายๆ ว่าทำไว้ให้หลานของแกเก็บไว้ดูยามที่คุณปู่ไม่อยู่แล้ว     

“ระหว่างนี้ฉันขอเดินอีกนิด ฉันอยากจะเต้นรำอีกสักครั้ง แล้วกลายเป็นสายลม” คือท่อนหนึ่งจากเนื้อเพลงประกอบ Ponyo โดย โจ ฮิซาอิชิ เป็นท่วงทำนองที่ใช้บรรยายความคิดตัวละครหญิงชราในบ้านพักคนชรา คุณลุงได้รับแผ่นซีดีมาแล้วก็เปิดฟังซ้ำแล้วซ้ำเล่า 

เพราะครั้งแรกที่ได้ยิน มันทำให้แกมีทั้งรอยยิ้มและน้ำตา

AUTHOR