Window Magazine นิตยสาร ‘บ้านศิลปิน’ ที่ทำแบบบ้านๆ โดยคนที่ความรู้เรื่องการทำนิตยสารเป็นศูนย์

Highlights

  • Window Magazine คือนิตยสารที่พาไปคุยกับศิลปิน 13 คน เรื่องชีวิตและบ้านถึงบ้านของพวกเขา
  • บทสัมภาษณ์ทั้ง 13 บททำแบบง่ายๆ เหมือนเปิดประตูไปนั่งคุยกับเพื่อนและทำความรู้จักกันอย่างเป็นธรรมชาติ ประกอบกับภาพถ่ายที่ให้อารมณ์เหมือนไปอยู่ในบ้านของศิลปินจริงๆ
  • เจ้าของไอเดียนิตยสารเล่มนี้คือ กึกก้อง ถิรธํารงเกียรติ และวสุธรา นาราคาม ผู้ที่หลงใหลในบ้านที่มีชีวิตชีวา ศิลปะ และการถ่ายภาพเป็นชีวิตจิตใจ และไม่เคยทำนิตยสารมาก่อนสักเล่ม

แวบแรกที่ค่อยๆ เปิด Window Magazine ใจเราก็เต้นตึกตัก

Window Magazine

อาจเพราะนิตยสารเล่มหนา 300 หน้านี้ว่าด้วยเรื่องเดียว คือการไปนั่งคุยกับศิลปิน 13 คนถึงบ้าน จนทุกครั้งที่ได้พลิกหน้ากระดาษเพื่อเริ่มบทสนทนาในบ้านหลังใหม่ ใจเราก็เต้นเป็นจังหวะ แถมยังเป็นจังหวะไม่เหมือนกันเสียด้วย

บทสนทนาในบ้านสีสันอบอุ่นของครอบครัวป่าน Juli Baker and Summer ทำให้ใจเราเต้นรัวตามจังหวะเพลงของ The Beatles ใจสั่นเป็นจังหวะแบบเพลงประกอบหนังบอลลีวูดเมื่อเห็นบ้านที่เก็บสิ่งละอันพันละน้อยจากอินเดียของ พัทริกา ลิปตพัลลภ ก่อนจะค่อยๆ เต้นเป็นจังหวะเรียบและหนักแน่น หลังอ่านบทสนทนาในบ้านของศิลปินผู้ผ่านโลกมาโชกโชนอย่างชาติชาย ปุยเปีย 

แต่ที่ทำให้เราตื่นเต้นกว่า คือเรื่องที่ว่าเจ้าของไอเดีย Window Magazine คือชาย-หญิงผู้มีความรู้เรื่องการทำนิตยสารเป็นศูนย์

Window Magazine

“ออกตัวก่อนว่าเราไม่ใช่มืออาชีพ เพราะฉะนั้นในเล่มแรกก็อาจมีความไม่สมบูรณ์อยู่เยอะเหมือนกัน” เอ็กซ์–กึกก้อง ถิรธํารงเกียรติ สถาปนิกหนุ่มรีบบอกตั้งแต่เรากดเครื่องอัดเสียง ตามมาด้วยเสียงหัวเราะและคำยืนยันของ มิ่ง–วสุธรา นาราคาม ที่อยู่ด้วยกันมาตั้งแต่ต้น

ในเวลางาน เอ็กซ์เป็นสถาปนิกฟรีแลนซ์ ส่วนมิ่งเป็นพนักงานบริษัทประกันภัย แต่เวลาอยู่บ้าน พวกเขาคือคนที่มีใจรักในบ้าน ศิลปะ และการถ่ายภาพเป็นที่สุด ถึงขั้นที่เอ็กซ์มีโฟโต้บุ๊กออกมาแล้วหลายเล่ม มีงานแสดงภาพถ่าย และทั้งสองยังร่วมกันเปิด Window gallery and cafe แกลเลอรีภาพถ่ายเล็กๆ ย่านอินทามระด้วย

เร็วๆ นี้ หลังจากตัดสินใจอย่างรวดเร็ว ความหลงใหลของพวกเขาก็แปรสภาพเป็น Window Magazine ที่ทั้งคู่ลองผิดลองถูกในทุกขั้นตอนจนออกมาเป็นอย่างที่เห็น

แม้เอ็กซ์จะออกตัวว่าพวกเขาไม่ใช่มืออาชีพและทำนิตยสารกันแบบบ้านๆ แต่ในฐานะคนที่ได้ไปเยือนบ้านหลังแล้วหลังเล่า และนั่งฟังบทสนทนากับศิลปินแบบง่ายๆ ผ่านนิตยสารเราพบว่ามันเป็นการเดินทางแสนรื่นรมย์ที่ชวนให้เราอยากรู้ที่มา

และบทสนทนาง่ายๆ ในแบบที่พวกเขาชื่นชอบและเราชื่นชมต่อไปนี้ คือเรื่องราวก่อนหน้าของหนังสือเล่มนี้ เรื่องราวที่ทำให้ใจเราตื่นเต้นไม่แพ้ตอนที่ได้เปิดแม็กกาซีนของเอ็กซ์และมิ่งครั้งแรกเลย

ทำไมสถาปนิกและพนักงานบริษัทประกันถึงอยากมีแม็กกาซีนเป็นของตัวเอง

เอ็กซ์ : ย้อนไปประมาณ 2 ปีที่แล้วเราได้รีโนเวตบ้านเพื่อนและบ้านของมิ่ง ซึ่งพอมันเป็นบ้านจัดสรรเราก็พยายามทำให้มีดีไซน์แต่ว่าลดบทบาทของสถาปัตยกรรมลงแต่ยังมีฟีลลิ่ง มีความรู้สึกบางอย่าง ช่วงนี้เองที่ความชอบในงานสถาปัตยกรรมเราเริ่มเปลี่ยนไป เราเริ่มไม่ได้ชอบงานที่เนี้ยบ กริบ เหมือนในแม็กกาซีน แต่ไปสนใจบ้านที่ดูมีชีวิต พอเริ่มสนใจ เราก็เริ่มดูหนังสือเมืองนอกที่ไปถ่ายบ้านศิลปิน บ้านคน เช่น Apartamento และ The Selby ซึ่งเรารู้สึกว่าเมืองไทยยังไม่มีหนังสือประเภทนี้

บังเอิญว่าเราได้เจอเมฆ (ปวรพล รุ่งรจนา–คอนเทนต์ครีเอเตอร์เพจ Echo) เมฆเป็นลูกค้าไม่กี่คนที่มากินกาแฟที่ร้านของเราบ่อยๆ (หัวเราะ) พอรู้ว่าเมฆเป็นนักเขียน สัมภาษณ์ได้ ส่วนเราก็ถ่ายรูปได้ เราก็เลยลองทำกัน บ้านแรกคือบ้านของน้องป่าน จูลี่

ก่อนหน้าที่จะเริ่มทำบ้านให้เพื่อนๆ คุณสนใจงานสถาปัตยกรรมแบบไหน

เอ็กซ์ : เราว่าทุกอย่างมันค่อยๆ ซึมไปนะ สมัยเราเรียน ทำทีสิส หรือจบใหม่ๆ งานก็จะมีความเป็นเต็ก (architect) ประมาณหนึ่ง แต่พอเราทำงาน ผ่านชีวิต โตขึ้น เห็นอะไรมากขึ้น เข้าใจสเปซมากขึ้น เราก็ค่อยๆ ชอบอะไรที่ไม่แข็งมาก ดูมีชีวิตมากขึ้น แล้วของพวกนี้ก็เริ่มซึมเข้ามาในชีวิต ที่พูดแบบนี้ไม่ใช่ว่างานเต็กไม่ดีนะ มันก็เหมาะกับคนบางคน

งานแบบเต็กที่พูดถึงคืองานแบบไหน

เอ็กซ์ : ความเป็นเต็กที่ว่าอาจจะใช้คำว่าสถาปัตยกรรมมีความโดดเด่น เป็นพระเอกของเรื่อง ซึ่งมันก็เป็นงานดีไซน์ที่ดีนะ เราเองเคยชอบงานแบบนี้ แต่พอโตขึ้นเรารู้สึกว่าสถาปัตยกรรมเป็นแค่ส่วนหนึ่ง บางทีมันเป็นเรื่องของสิ่งแวดล้อม ต้นไม้ต้นเดียวก็ทำให้สเปซเปลี่ยนได้ หรือแสงแดด ลม ฝน สิ่งที่มันมีชีวิตชีวามากกว่าที่จะให้สถาปัตยกรรมดูเด่นอย่างเดียว

บ้านที่สวยมาก เต็กมาก เนี้ยบมากมีที่ทางในหนังสืออีกแบบอยู่แล้วและเรานำเสนอสู้เขาไม่ได้ เรามาทางที่เราถนัดดีกว่าคือบ้านที่ดูมีชีวิตชีวา เรารู้สึกว่าประเทศไทยยังไม่ค่อยมีแม็กกาซีนหรือหนังสือที่แนะนำตัวอย่างงานแบบนี้ก็เลยอยากลองทำเอง

ทำไมถึงเลือกไปบ้านศิลปิน

เอ็กซ์ : เราสนใจสเปซที่เจ้าของสเปซเป็นคนดีไซน์เอง มีความเป็นตัวเอง ฉันไม่ต้องให้ดีไซเนอร์ทำ เราเลยเลือกพูดถึงบ้านของศิลปิน จะว่าไปก็เหมือนทางลัด เพราะหนึ่ง ศิลปินเขามีความเป็นตัวของตัวเอง รู้ว่าตัวเองต้องการทำอะไร สอง คือในเชิงความงาม ด้วยความที่เขาเป็นศิลปิน ดีไซเนอร์ เขาสามารถครีเอตได้ดี ส่วนบ้านคนทั่วไปไม่ใช่ว่าเราไม่สนใจนะ แต่พอจะทำเป็นเล่มเรารู้สึกว่ามันกว้างมากเราก็เลยสโคปลงมาที่บ้านศิลปินก่อน

ศิลปินในเล่มมีตั้งแต่รุ่นเล็กไปถึงรุ่นใหญ่อย่างชาติชาย ปุยเปีย คุณมีเกณฑ์ในการเลือกยังไง

เอ็กซ์ : ส่วนใหญ่ก็เป็นคนรู้จัก คนใกล้ตัวของน้องๆ นักเขียน นอกจากเมฆ เราก็มีย้วย (นภศร ศรีวิลาส) กับนิ่ม (ณัฐนิช ชัยดี) ซึ่งเป็นนักเขียนมาช่วยสัมภาษณ์และแนะนำศิลปินด้วยเพราะเรากับมิ่งไม่รู้จักใครเลย

มิ่ง : น้องๆ นักเขียนนี่แหละที่เขามีคอนเนกชั่น เคยไปสัมภาษณ์คนนู้นคนนี้ เขาก็มาเสนอว่าคนนั้นคนนี้ดีไหม งานเขาดีนะ บ้านเขาก็น่าสนใจ 

เอ็กซ์ : แต่ช่วงหลังๆ เราต้องหาเองเหมือนกันนะ เรามีวิธีคิดว่าศิลปิน ดีไซเนอร์ก็ต้องดีไซน์บ้านของตัวเองอยู่แล้วประมาณหนึ่ง บางทีเขาอาจมีอาร์ตเวิร์กดีๆ หรือเวลาซื้อโซฟาก็ไม่ได้ซื้อตัวไหนก็ได้ที่ลดราคาแต่เลือกตัวที่ชอบ บางทีเราก็เชื่อใจเขา

แปลว่ามีบางคนที่คุณก็ไม่เคยเห็นบ้านของเขามาก่อน

เอ็กซ์ ​: มี อย่างพี่แพท (พัทริกา ลิปตพัลลภ) มิ่งอ่านหนังสือของพี่แพทแล้วชอบมาก พวกเราเลยติดต่อไป คิดแค่ว่าเขาไปอินเดียมา 30 กว่าครั้งบ้านเขาคงไม่ออกแนวญี่ปุ่น (หัวเราะ) แต่ถามว่ารีเสิร์ชไหม เราก็ไปเสิร์ชอินสตาแกรมเขาบ้างแต่ก็ไม่ได้เห็นบ้านเขาร้อยเปอร์เซ็นต์ หรืออย่างบ้านพี่โจ้ (เรืองศักดิ์ อนุวัตรวิมล) เราก็ไม่เคยเห็น แต่เราก็เชื่อว่าบ้านเขาจะต้องมีอะไร

มันก็มีนะคนที่เราอยากสัมภาษณ์แล้วเขาบอกว่าถ่ายแค่สตูดิโอได้ไหมซึ่งเราก็ต้องบอกว่าไม่ได้เพราะศิลปินเขาลงสื่อมาเยอะแล้ว ถ่ายสตูดิโอสวยๆ มาหมดแล้ว ดังนั้นคอนเซปต์ของเราซึ่งเป็นข้อดีของเราด้วยคือเราได้ไปบ้านเขา ซึ่งบางคนสตูดิโอสวยมากเราก็โคตรเสียดาย บางทีก็แอบถามว่าพี่มีนอนที่นี่บ้างหรือเปล่าอะ (หัวเราะ)

เหมือนสมมติฐานคือถ้าศิลปินน่าสนใจ บ้านเขาก็น่าจะสะท้อนตัวตนเขาที่น่าสนใจด้วย

เอ็กซ์ : ใช่และไม่ต้องสวยขนาดนั้นก็ได้เพราะเราไม่ใช่หนังสือบ้านสวยอยู่แล้ว

เท่าที่อ่านมา สิ่งที่คุยในบทสัมภาษณ์ของ Window Magazine มีตั้งแต่เรื่องตัวเขา ผลงาน บ้าน หรือเรื่องอื่นๆ เยอะแยะ ตอนบรีฟนักเขียนคุณบรีฟว่ายังไง

มิ่ง : พูดง่ายๆ คือเราพูดเรื่องที่เป็นตัวเขา เป็นความสัมพันธ์กับบ้าน 

เอ็กซ์ : เราคิดว่าศิลปินแต่ละคนมีชื่อเสียงอยู่แล้ว สื่อต่างๆ ที่เคยสัมภาษณ์เขาก็สัมภาษณ์ไว้ดีมาก ถ้าอย่างนั้นเราลองมาคุยเรื่องง่ายๆ สบายๆ ดีกว่า เหมือนเราไปบ้านเพื่อน คุยกับเพื่อน เราอาจไม่ได้ไปเจาะเรื่องงานเยอะ ไม่ได้พูดถึงงานหรือแนวคิดอะไรมากมาย มันอาจเหมือนคุยเรื่อยเปื่อยแต่เราพยายามรู้จักเขาให้ดูเป็นธรรมชาติมากที่สุด

เราพยายามบาลานซ์เรื่องบ้านและตัวเขาด้วย คือถ้าบ้านน่าสนใจเยอะเราก็อาจจะเสนอเรื่องบ้านเยอะหน่อย บางคนบ้านอาจไม่ได้มีอะไรมากนะแต่เขาเป็นคนที่เราสนใจแนวคิดจริงๆ เราก็เน้นตัวเขา แค่ให้เห็นว่าเขาอยู่ยังไง นอนยังไงก็โอเคแล้ว

ดังนั้นเรื่องบรีฟ เราอยากให้หนังสือมันมีความหลากหลายเลยไม่ได้กำหนดว่าน้องๆ จะต้องสัมภาษณ์อะไร จริงๆ คนเหล่านี้ที่เราเลือกมาเขามีความคิดความอ่านเป็นของตัวเองสูง เขาน่าสนใจอยู่แล้ว เราไม่ต้องเอากรอบอะไรไปใส่ คนนี้ชอบเรื่องนี้ คนนั้นกำลังสนใจเรื่องนี้ บ้านเป็นอย่างนี้เดี๋ยวมันจะสะท้อนออกมาเอง มันสนุกด้วยเพราะเราไม่รู้เลยว่าเราจะไปเจออะไร

photo courtesy of Window Magazine

เราได้ยินคุณพูดถึงหนังสือภาพสถาปัตยกรรมแบบเนี้ยบๆ เลยรู้สึกว่าภาพใน Window Magazine ตรงกันข้ามกับหนังสือแบบนั้นเลย ตั้งใจหรือเปล่า

เอ็กซ์ : เราอยากนำเสนอภาพถ่ายให้เป็นธรรมชาติที่สุด เราคิดว่าถ้าภาพถ่ายสมบูรณ์มันให้อารมณ์เหมือนเรากำลังนั่งดูภาพถ่ายอยู่ สมมติเราเห็นภาพวิว ภาพเมือง ภาพตึกสวยๆ เราจะรู้สึกว่าเรากำลังดูภาพถ่าย แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่เราพยายามจะถ่ายภาพให้มีความไม่สมบูรณ์ ลบกฎเกณฑ์ภาพถ่ายออกแล้วใช้อารมณ์นำเขาจะดูก้อนความรู้สึกมากกว่าที่เขาจะดูภาพ คนจะรู้สึกกับมันมากกว่า สิ่งนี้เป็นคอนเซปต์ที่เราแอบคิดไว้ในใจ

หมายถึงไม่ได้ยึดกฎเกณฑ์ของภาพถ่ายที่สวยใช่ไหม

เอ็กซ์ : ใช่ๆ คือถ่ายยังไงก็ได้ให้ได้ฟีลลิ่ง เราเห็นความรกเราต้องถ่ายให้มันรู้สึกรกไม่ได้ถ่ายให้มันเป็นภาพที่สวย 

มิ่ง : หรือถ้ามันมีระเบียบอยู่แล้วก็ถ่ายให้มันมีระเบียบ

เอ็กซ์ : เราไม่ได้มองว่าภาพที่ดีคือภาพที่ชัด เห็นหน้าชัดๆ เราเลือกจากความรู้สึกไม่ได้ใช้เกณฑ์ความชัด ไม่ชัด มืด ไม่มืด สมมติว่าเราถ่ายภาพมุมนี้มาหลายช็อตมาก เราก็เลือกอันที่ให้ความรู้สึกตรงกับความรู้สึกของเราที่ยืนอยู่ตรงนั้นมากที่สุดโดยไม่ได้แคร์ว่ามันชัดไม่ชัดยังไง

photo courtesy of Window Magazine

ยกตัวอย่างพี่แกละ (สมบุญ กริ่งไกร) ที่เป็นนักจัดดอกไม้ บ้านเขามีของเยอะแล้วห้องก็จะมืดๆ แกบอกว่าแกชอบอยู่อย่างนี้เลยเพราะฉะนั้นนอกจากเราจะถ่ายภาพให้คนเห็นว่าห้องเป็นยังไง เราก็อยากให้คนเห็นด้วยว่าเขาอยู่ในห้องยังไง มันมืดยังไง ของเยอะยังไง อาจจะลดความสวยลงแต่ใช้เรื่องความรู้สึกให้มากที่สุด

เรามองว่าเราได้ไปบุกบ้านเขาเราก็ถ่ายทอดมันออกมา ยังไงทั้งหมดคือเราอยู่ในโลกของเขาแล้วเพราะฉะนั้นทุกอย่างมันเล่าเรื่องหมด ผ้าปูเตียง ผ้าห่ม ม่าน โต๊ะ เก้าอี้ที่เขาใช้ พวกนี้มีความหมายในตัว

คุณเป็นสถาปนิก ทำงานที่ต้องเจอกับคนเยอะ ได้รู้แนวคิด ความต้องการของคน มันต่างจากตอนไปบ้านศิลปินไหม

เอ็กซ์ : ต่างกันมากเลย ถ้าเป็นงานสถาปนิกปัญหาที่เจอบ่อยๆ คือบางทีเจ้าของบ้านก็ไม่รู้ว่าตัวเองต้องการอะไร อาจมีเรฟเฟอเรนซ์บ้างว่าชอบแบบนี้ สไตล์นี้ กลายเป็นเราต้องหาเหตุผลในการออกแบบมาให้เขาแทน แต่ศิลปินเขารู้ว่าเขาต้องการอะไร บ้านจึงเป็นบ้านของเขาจริงๆ ไม่สามารถมีบ้านแบบนี้หลังที่สองได้

มิ่ง : การทำหนังสือเป็นประสบการณ์ที่ดีมาก คือเรากับพี่เอ็กซ์ก็ไม่ค่อยรู้จักใครอยู่แล้วยิ่งศิลปินด้วย แต่นี่เราได้เข้าไปในบ้านเขา ได้ไปรู้จัก ไม่ได้ถามเรื่องงานจริงจังตลอด ได้ไปรู้ว่าเขาคิดยังไง ชีวิตส่วนตัว บางทีเขาก็เล่าให้เราฟัง

photo courtesy of Window Magazine

เอ็กซ์ : หลายอย่างก็โคตรมีประโยชน์กับชีวิตเราเลย อย่างเราคุยเรื่องความสำเร็จกับพี่ชาติชาย ปุยเปีย เขาเล่าว่าเขาเป็นคนชอบอยู่ตามขอบๆ มากกว่าจะอยู่ในจุดศูนย์กลางของโลก ของสังคม เดี๋ยวเราอ่านจากในเล่มให้ฟัง

คำถามของเราคือ “แล้วถ้ามีคนทักว่ามัวแต่อยู่ตามขอบของสิ่งที่ทำ เราจะไปถึงจุดสุดยอดของสิ่งนั้นได้ยังไง”

สิ่งที่แกตอบคือ “แล้วทำไมความหมายนั้นต้องสำคัญที่สุดด้วยล่ะ ผมคิดว่าโลกที่เป็นมา ไม่ใช่เพราะสิ่งนั้นเหรอที่สร้างสังคมที่ไม่ค่อยงดงามสักเท่าไหร่ เมื่อคุณโดดเด่นสำเร็จ ในโครงสร้างแบบนั้นจะมีคนที่สำเร็จน้อยกว่าและน้อยกว่าจนไม่สำเร็จ จนล้มเหลว แล้วคุณจะอยู่บนยอดของหลักหินที่จารึกชื่อคุณและคนที่รองลงมาจนกระทั่งเป็นปุ๋ยเป็นดินที่ทับถมใต้ชื่อคุณ และนั่นคือภาพที่คุณอยากจะมองย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์การดำรงอยู่ของมนุษย์เหรอ”

มันเป็นแนวคิดที่เราไม่ได้คาดคิด ดังนั้นการทำหนังสือจึงไม่ใช่แค่เรื่องหนังสือ แต่มันคือเรื่องชีวิต ปรัชญา หรือแม้กระทั่งพี่แพทเองซึ่งเป็นนักเขียนและทำหนังสือเอง ขายเอง แกก็ให้กำลังใจว่าเล่มแรกต้องตั้งใจทำให้สุด ให้เราไม่มีคำถาม เรื่องที่แฝงอยู่ระหว่างทางเหล่านี้มันมีค่ามาก ถ้าเราไม่เริ่มทำจะไม่มีทางได้ไปสัมผัสสิ่งเหล่านี้

ที่ว่าการทำนิตยสารเล่มนี้เป็นเรื่องชีวิตหมายถึงอะไร

เอ็กซ์ : ตอนนี้ที่หนังสือออกมาแล้วก็ถือว่าเรายังต้องเรียนรู้นะเพราะเราก็ยังมีข้อผิดพลาด แต่เราไม่ได้มองมันเป็นปัญหามาก คิดว่าเป็นเรื่องที่เลี่ยงไม่ได้ เราเตรียมใจไว้อยู่แล้วว่าจะเจอเรื่องที่เราไม่รู้ เจอความผิดพลาด ไม่ว่าจะเป็นหนังสือหรือชีวิตเองเราเลี่ยงไม่ได้หรอก ถ้าเกิดว่าเราพยายามจะเข้าใจมันเราก็จะไม่ทรมานกับมันมากแต่จะข้ามมันไปแล้วเริ่มใหม่ไม่อย่างนั้นก็ไม่ได้ทำ มันจะมีเงื่อนไขเยอะ หนังสือเล่มนี้อาจออกช้าไปอีก 6 เดือน ซึ่งมันก็ได้นะ ออกช้าอีก 6 เดือนได้ ออกช้าอีกปีก็ได้ ดังนั้นข้อผิดพลาดมันไม่ได้สำคัญมาก สิ่งสำคัญคือ Window Magazine เล่มหนึ่งที่เกิดขึ้นแล้ว

คุณกล้ามากที่ทำสิ่งพิมพ์ในช่วงที่ใครๆ ก็บอกว่าขายยาก

เอ็กซ์ : เราเข้าใจไง พอเราเข้าใจมัน ยอมรับสิ่งที่จะเกิดขึ้นได้ก็โอเค เพราะไม่อย่างนั้นมันก็จะไม่มีอะไรใหม่เกิดขึ้นเลย ถ้าเราเริ่มด้วยสมการที่เป็นแบบแผนมากๆ อย่าง ในยุคนี้จะขายได้ไหม จะขายได้กี่เล่ม นิตยสารก็คงไม่ได้เกิด แต่เราก็ต้องยอมรับผลลัพธ์ ต้องดีลกับตัวเองก่อนว่าเคสที่แย่ที่สุดจะเป็นยังไง ถ้าเรารับได้ โอเค ก็ทำ

ถามว่าเงินที่ใช้เยอะไหม จะตอบว่าเยอะก็ได้ น้อยก็ได้ แต่บางคนก็ใช้นาฬิกาเรือนละ 300 บางคนใช้เรือนละ 200,000 เราไม่ได้บอกว่าเรารวยนะ เราก็เหนื่อยกับมัน แต่เราแค่จัดการความรู้สึกได้ เราไม่ได้คิดว่าเราเอาเงินไปทำหนังสือแล้วต้องมาลุ้นว่าเจ๊งไม่เจ๊ง ขายได้หรือไม่ได้ แต่เราจ่ายเงินให้สิ่งที่เราอยากจะเป็น อยากจะทำ เรารู้สึกว่ามันคุ้มค่าและตอนนี้เราก็ยังรู้สึกอย่างนั้น

ตั้งแต่เริ่มขายมามีฟีดแบ็กอะไรที่ทำให้คุณแฮปปี้ที่สุด

เอ็กซ์ : เรื่องที่เราแฮปปี้มากคือมีคนอ่านบอกว่าอ่านหนังสือเราเสร็จแล้วอยากลุกขึ้นมาแต่งบ้าน มันเป็นความตั้งใจหนึ่งของเราเพราะที่ผ่านมาคนอาจจะคิดว่าการแต่งห้องสวยๆ ต้องจ้างดีไซเนอร์ ต้องใช้เงิน แต่ในเล่มนี้เราก็มีทั้งบ้านที่ดีไซเนอร์ช่วยออกแบบกับบ้านที่แต่งเอง เช่น หน่อไม้ (สุภัทรชัย เชื่อธรรมสอน) ก็เป็นคนรุ่นใหม่ที่แต่งบ้านเองไม่ได้ใช้อินทีเรียออกแบบ แค่ทำในสิ่งที่ชอบ จัดวาง มีอาร์ตเวิร์กบ้างนิดหน่อย มันก็น่าอยู่ได้

สมมติคุณดูสถาปนิกเนี้ยบๆ มากๆ บางทีจะรู้สึกว่า โห บ้านมันเป็นเรื่องไกลตัว บ้านต้องมีตู้เสื้อผ้าบิลด์อิน มีผนังแบบนี้ แต่พอเขามาเห็นสิ่งที่เรานำเสนอเขาอาจจะเห็นว่ามันไม่จำเป็นนะ บางทีมีกรอบรูปนิดหนึ่ง แจกันดอกไม้นิดหนึ่ง เปลี่ยนม่านหน่อย มันก็ดูดี น่าอยู่ ฉันก็สามารถมีห้องแบบนี้ได้ ไม่ใช่ว่าจะต้องมีเงินเยอะๆ ใช้ดีไซเนอร์เสมอไป

จำเป็นมั้ยที่คนจะได้รู้จักแม็กกาซีนที่บันทึกบ้านแบบนี้ บทสนทนาแบบนี้

เอ็กซ์ : เราไม่อยากใช้คำว่าความจำเป็นนะ มันอาจจะไม่จำเป็นก็ได้ เราแค่พยายามนำเสนอสิ่งที่เราชอบ สิ่งที่เราสนใจและจบที่ตรงนั้น พอหนังสือมันออกไปข้างนอกมันก็เป็นเรื่องของมันแล้วว่าจะไปสื่อสารกับคนยังไง เราไม่คาดหวังว่าหนังสือเราต้องดี ต้องมีคนชอบ หรือไม่มีคนด่าเลย มันเป็นเรื่องที่เราคอนโทรลไม่ได้ แต่สิ่งที่เราทำได้คือเราต้องเคลียร์ความรู้สึก ซึ่งเราว่ามันคุ้มค่า

เราคุยกับมิ่งว่าเราจะทำเล่มที่ 2 กันแน่ๆ ส่วนเล่ม 3 เล่ม 4 จะได้ทำหรือไม่ก็ให้หนังสือมันทำหน้าที่ของมัน ถ้าเกิดไม่ได้ทำต่อก็ไม่เป็นไร มันจบตั้งแต่เราเริ่มแล้ว พอคิดแบบนี้ก็แฮปปี้มากเลย ขายได้หรือไม่ได้ก็ไม่เป็นไร

Window Magazine

สั่งซื้อ Window Magazine ได้ที่ windowmagazinethailand.com

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

สรรพัชญ์ วัฒนสิงห์

ชีวิตต้องมีสีสัน