บ่อยครั้งเราใช้คำแทน ‘ความลวง’ ว่า ‘ความดี’ | จิรเดช โอภาสพันธ์วงศ์

ข้อดีอย่างหนึ่งของการงานที่ผมทำอยู่คือมันบังคับให้เราสบตากับความจริง

ที่ใช้คำว่าบังคับ ใช่ว่ามีใครเอาอาวุธมาจ่อหัวหรืออะไร แค่มันเป็นเรื่องที่เลี่ยงไม่ได้ หนีไม่พ้น ไม่ว่าโดยเนื้อแท้จะเป็นคนขี้ขลาดหรืออาจหาญก็ตามที การจะเล่าบางเรื่องอย่างลงลึกไม่มีหนทางอื่นนอกจากเพ่งมองความจริงตรงหน้าแล้วใช้สมองกับหัวใจพิจารณาอย่างถ้วนถี่

และที่ใช้คำว่าบังคับ เพราะความจริงส่วนใหญ่ที่พบเจอในการงานเราแทบไม่มีโอกาสได้ทบทวนมันในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม

ซึ่งในช่วงเวลาที่เราได้ทบทวนความจริง มันทำให้เราได้ทบทวนความลวงไปด้วย

และโดยส่วนตัว ผมคิดว่าเรื่องที่เป็นปัญหาที่สุดเรื่องหนึ่งในสังคมคือ บ่อยครั้งเราใช้คำแทน ‘ความลวง’ ว่า ‘ความดี’

หลักการใดที่อธิบายด้วยเหตุผลไม่กระจ่างเพราะผิดเพี้ยนในเชิงตรรกะตั้งแต่ต้น เราก็เอาคำว่าความดีทั้งในรูปของค่านิยมหรือศีลธรรมมากำกับ ซึ่งการใช้คำที่มีความละเอียดอ่อนสูงและผูกโยงกับศรัทธา ทำให้เมื่อมีผู้ท้าทายหลักคิดนั้นด้วยเหตุผลจึงถูกมองเป็นพวกนอกรีต ต้องกำจัด

เมื่อไม่กี่วันก่อนผมเพิ่งได้ย้อนฟัง Yuval Noah Harari ผู้เขียนหนังสือระดับปรากฏการณ์อย่าง Sapiens: A Brief History of Humankind ให้สัมภาษณ์ในรายการ Talks at Google และผมชอบช่วงที่เขาตอบพิธีกรถึงมุมมองที่มีต่อพระเจ้า

แฮรารีบอกว่าพระเจ้ามีหลายรูปแบบ เราต่างมองและเข้าใจศาสนาแตกต่างกันไป แต่โดยหลักๆ แล้วในหัวของแต่ละคนจะมีพระเจ้าสองรูปแบบ

หนึ่งคือพระเจ้าที่เป็นภาพแทนความลี้ลับของจักรวาล แทนความไม่รู้ถึงการก่อกำเนิดของสรรพสิ่ง แทนความไม่เข้าใจในเรื่องลี้ลับต่างๆ ในบทบาทนี้พระเจ้าเป็นเหมือนผู้สร้าง ทำให้สรรพสิ่งก่อกำเนิด ซึ่งมนุษย์อย่างเราแทบไม่รู้อะไรเกี่ยวกับพระเจ้าในความหมายนี้เลย

นี่คือพระเจ้าที่มนุษย์นึกถึงยามค่ำคืนตอนนั่งล้อมวงรอบกองไฟกลางทะเลทรายและใคร่ครวญถึงความหมายของชีวิต

“ผมไม่มีปัญหาอะไรกับพระเจ้าพระองค์นี้ ผมชอบมาก” แฮรารีสรุปด้วยรอยยิ้ม

อีกหนึ่งคือพระเจ้าที่เขาใช้คำว่า ‘petty lawgiver’ ซึ่งตรงกันข้ามกับพระเจ้าในความหมายแรกที่เราไม่รู้อะไรเกี่ยวกับพระองค์เลย สิ่งที่เป็นลักษณะสำคัญของพระเจ้าในรูปแบบหลังคือเรารู้เกี่ยวกับพระองค์ละเอียดมาก

เรารู้ว่าพระองค์คิดยังไงกับการแต่งตัวของผู้หญิง รู้ถึงชุดที่พระองค์ชอบให้ผู้หญิงใส่ รู้ว่าพระองค์คิดยังไงเกี่ยวกับรสนิยมทางเพศ อาหาร และการเมือง

“นี่คือพระเจ้าที่ผู้คนพูดถึงเมื่อพวกเขายืนอยู่รอบๆ เวลาเผาคนนอกรีต

“เพราะพระองค์ไม่ทรงโปรดสิ่งที่คุณทำ เราจึงเผาคุณ”

ด้วยนิยามของพระเจ้าสองรูปแบบ แฮรารีบอกว่าการพูดถึงพระเจ้าบางทีจึงเหมือนการใช้เล่ห์กล เมื่อถามว่าทำไมคิดว่าพระเจ้ามีอยู่จริง ผู้คนก็จะตอบว่าเพราะเราไม่รู้เกี่ยวกับการเกิดขึ้นของบิ๊กแบง ไม่รู้เกี่ยวกับจิตสำนึกของมนุษย์ วิทยาศาสตร์ไม่สามารถอธิบายสิ่งเหล่านี้ได้ ซึ่งนั่นเป็นเรื่องจริง 

แล้วจังหวะนั้นก็เหมือนนักมายากลที่แอบเปลี่ยนไพ่เป็นอีกใบ พระเจ้าที่เป็นตัวแทนของความลี้ลับถูกสลับออกไป แล้วแทนที่ด้วยพระเจ้าผู้สร้างกฎต่างๆ อันไม่เหมาะสม

“สุดท้ายก็จบลงด้วยข้อสรุปแปลกๆ อย่างเช่น เพราะเราไม่เข้าใจบิ๊กแบง ผู้หญิงจึงต้องใส่เสื้อแขนยาว และผู้ชายไม่ควรมีเซ็กซ์กับผู้ชายด้วยกัน

“อะไรคือความเชื่อมโยง” แฮรารีตั้งคำถามโดยที่ผู้ชมข้างล่างเวทีได้แต่หัวเราะไปกับเรื่องตลกร้ายที่ได้ฟัง

ผมคิดว่าหลายๆ เรื่องในสังคมไทยยามนี้ช่างทาบทับพอดีกับสิ่งที่แฮรารีว่าไว้

ในยุคสมัยนี้ที่สิ่งต่างๆ ก้าวหน้ามาไกล แทนที่เราจะใช้หลักเหตุผลมาพูดคุยกัน หลายครั้งเรากลับใช้เรื่องนามธรรมอย่างความดีมาสร้างข้อสรุปแปลกๆ บางคนใช้คำว่าความดีเป็นอาวุธ สวมบทบาทคนดีในการพิพากษาคนอื่น ลากคนที่ไม่เห็นด้วยหรือฝ่าฝืนค่านิยมที่ว่าดีงามมาเผาทั้งเป็นบนโลกสมมติ เพื่อสำเร็จความใคร่ทางศีลธรรม

การได้อ่านต้นฉบับ a day ฉบับ sex is more ทำให้ผมมีโอกาสสบตากับความจริงเรื่องเซ็กซ์ในสังคมไทย และพบว่าเรื่องเซ็กซ์ก็เป็นเรื่องหนึ่งในสังคมที่ถูกคำว่าศีลธรรม ความดีกดไว้จนผู้คนมองมันเป็น ‘เรื่องสกปรก’

ทัศนคติที่ว่านำมาซึ่งมุมมองผิดเพี้ยนต่อเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นมุมมองต่อเพศสภาพ ผู้ขายบริการทางเพศ เซ็กซ์ทอย การเซนเซอร์ และอีกหลายๆ เรื่อง

เราปิดหูปิดตาผู้คนในสังคม ทั้งที่ทุกคนต่างก็รู้ว่ามันเป็นกิจกรรมที่ดำรงอยู่เป็นปกติ จนหลายเรื่องที่ควรจะเข้าใจตั้งแต่วัยเยาว์เรากลับต้องมาลองผิดลองถูกเอาตอนโต และความเข้าใจผิดหลายเรื่องก็ทำให้เราทำร้ายใครต่อใครโดยไม่รู้ตัว

เราควรยอมรับได้นานแล้วหรือเปล่าว่าในความเป็นจริงเซ็กซ์ไม่ใช่เรื่องสกปรกอย่างที่ใครเขาว่ากัน

แต่มันเป็นทั้งเรื่องธรรมชาติ เป็นทั้งเรื่องน่าค้นหา เป็นทั้งเรื่องที่จรรโลง บรรเทา 

และถึงที่สุดถ้าเราถูกปลูกฝังให้เข้าใจกิจกรรมนี้มากพอ

มันพัฒนาเป็นเรื่องที่งดงามของชีวิตได้

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

สรรพัชญ์ วัฒนสิงห์

ชีวิตต้องมีสีสัน