การสูญสิ้นความสามารถในการตั้งคำถามนั้นน่ากลัว | จิรเดช โอภาสพันธ์วงศ์

ด้วยวิชาชีพทำให้ผมเห็นความสำคัญของคำถาม

ในฐานะคนทำงานด้านสื่อสารมวลชน คำถามเป็นเครื่องมือหลักในการทำงาน เราใช้มันเป็นอาวุธในการขุดค้นเรื่องราวมาส่งต่อ เพียงสร้างคำถามขึ้นมาและเปิดใจรับฟัง บุคคลตรงหน้าก็พร้อมบอกเล่าสิ่งที่เราค้นหาหรือเรื่องราวที่อยู่ลึกที่สุดในหัวใจออกมา

ที่สำคัญคำถามคล้ายเป็นเข็มทิศกำหนดทางว่าเรื่องเล่าของเราจะเป็นยังไง

ช่วงระยะเวลาราว 3 เดือนที่ผ่านมาเป็นช่วงที่ผมได้รับคำถามและตั้งคำถามมากกว่าช่วงเวลาปกติ เนื่องจากมีเหล่า a team junior เข้ามาร่วมทำงานในออฟฟิศเดียวกัน

สำหรับคนที่ไม่รู้จัก–a team junior คือโครงการเสมือนทำงานจริงที่คัดเลือกคนรุ่นใหม่จากทั่วประเทศมาเรียนรู้การทำงานในฐานะสื่อทั้งในโลกออนไลน์และออฟไลน์ นิตยสาร a day ฉบับนี้ก็เป็นผลผลิตหนึ่งของโครงการ

ระหว่างที่เราทำงานร่วมกัน บ่อยครั้งเวลาน้องๆ a team junior เสนออะไร ผมมักเลือกสำรวจด้วยการถามแทนการตอบว่าได้หรือไม่ โอเคหรือเปล่า ด้วยเชื่อว่าวิธีคิดหรือหลักการอะไรก็ตามที่แข็งแรงจะทนทานต่อคำถาม

คำตอบจากการโดนสำรวจนั้นเองที่จะตอบว่าสิ่งที่เสนอนั้นสมเหตุสมผลและแข็งแรงดีไหม หรือควรเปลี่ยนแปลงส่วนใด เกือบทุกครั้งน้องๆ แทบจะได้คำตอบอยู่แล้วว่าไอเดียนั้นโอเคหรือไม่จากการอธิบายของตัวเอง แทนที่จะเป็นคำตอบจากผมซึ่งสุดท้ายกลายเป็นเพียงผู้ทำหน้าที่จับประเด็นและสรุป                                                                                                                        

เมื่อเราฝึกถาม-ตอบจนแข็งแรงสิ่งเหล่านี้จะติดเป็นนิสัย หลายครั้งไม่ต้องรอให้ใครมาถาม เราจะชิงตั้งคำถามสำรวจสิ่งที่คิดและเชื่อด้วยตัวเองก่อนจะเสนอหรือสรุปสิ่งใด และคำถามจะยิ่งมีคุณภาพขึ้นเรื่อยๆ แหลมคมขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเราได้ฝึกถามบ่อยๆ ซึ่งผมคิดว่านี่คือทักษะที่สำคัญ จำเป็น

ไม่ใช่แค่สำคัญกับการทำงาน แต่การถามยังจำเป็นกับชีวิต

หากเราย้อนสำรวจปัญหาต่างๆ ไล่ตั้งแต่ปัญหาเล็กๆ ในชีวิตประจำวัน ในที่ทำงาน ไปจนถึงปัญหาเชิงโครงสร้างในสังคม ปัญหาแทบทั้งหมดเกิดจากการขาดคำถามที่คอยตรวจสอบ เอาแค่คำถามง่ายๆ อย่าง ‘ทำไมต้องเป็นแบบนี้’ ‘ทำไมต้องทำแบบนี้’ ไม่ว่าจะถามตัวเองหรือสังคม คำตอบของมันก็อาจสร้างผลกระทบกระเทือนอันยิ่งใหญ่และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง

หากแต่สิ่งหนึ่งที่ต้องเตรียมใจไว้ล่วงหน้าคือ คำตอบของบางคำถามอาจเจ็บปวดสำหรับบางคนที่ยึดติดกับความเชื่อบางประการโดยไม่เคยตรวจสอบหรือพยายามหลบหนีความจริง คำถามที่แหลมคมและปราศจากอคติจะทิ่มแทงความลวง ทิ่มแทงคนลวง จึงไม่น่าแปลกใจที่ใครบางคนกลัวการถูกตั้งคำถามและเลือกตัดไฟแต่ต้นลมด้วยการห้ามถาม หรือตีความผู้ถามไปในอีกทาง

บ้างหาว่าจับผิด บ้างหาว่าท้าทาย บ้างหาว่าลบหลู่ และพยายามลิดรอนความสามารถในการถาม ซึ่งเป็นการลดทอนศักยภาพและความงามของมนุษย์

ทั้งที่หากมานั่งนึกตรึกตรองดูดีๆ เราย่อมเห็นตรงกันว่าการถามนั้นเป็นวิธีการสุดแสนอารยะ คิดเห็นเช่นไร ความจริงเป็นยังไง เอาข้อมูลมากองตรงหน้าแล้วว่ากันด้วยสัจจะและเหตุผล

โลกของเราพัฒนามาได้ด้วยคำถาม นวัตกรรมสำคัญๆ ในโลกก็ล้วนเกิดจากสิ่งนี้ เราไม่เดินถอยหลังหรือยืนย่ำอยู่กับที่ก็เพราะมีคำถามนำทาง

อย่างนิตยสาร a day ฉบับนี้เหล่า a team junior ก็ชวนให้เราตั้งคำถามกับเรื่องขนและผม ซึ่งเป็นสิ่งที่อยู่ใกล้ตัว-บนตัว แต่ที่ผ่านมาเราแทบจะไม่เคยตั้งคำถามถึงมัน คล้ายกับหลายๆ เรื่องในสังคม

และหากเหลียวมองสังคมยามนี้เราจะเห็นคนรุ่นใหม่จำนวนมากลุกขึ้นมาตั้งคำถามกับสิ่งรอบตัวในหลากมิติ ซึ่งที่ผ่านมาอาจไม่มีใครถามหรือกล้าถาม ขณะที่บางคนได้ยินได้ฟังคำถามเหล่านั้นแล้วอาจหวาดกลัว แต่สำหรับผมนี่ถือเป็นเรื่องน่ายินดีและชวนให้มีความหวัง

แม้จะเติบโตท่ามกลางบ้านเมืองและระบบการศึกษาที่คอยลิดรอนศักยภาพในการตั้งคำถามต่อสังคม ต่อโลก พวกเขาก็ยังไม่สูญเสียคุณสมบัติสำคัญเหล่านั้น–จะไม่ให้รู้สึกยินดีและมีความหวังได้ยังไง

อย่ากลัวการถามเลย อย่ากลัวคำถามเลย

การสูญสิ้นความสามารถในการตั้งคำถามและการถามไม่ได้ต่างหากที่น่ากลัว

AUTHOR