แฮร์รี่ พอตเตอร์ ตอกย้ำความเชื่อที่ว่า สิ่งที่อ่านในวัยเด็กนั้นเปลี่ยนชีวิตคนได้ | จิรเดช โอภาสพันธ์วงศ์

หลายปีก่อนตอนที่ไปเยือนเมืองโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น ระหว่างแวะร้านหนังสือก่อนเดินทางกลับที่พักผมบังเอิญไปเจอนิตยสารเล่มหนึ่งท่ามกลางกองสิ่งพิมพ์มากมายคล้ายมันมีแรงดึงดูด

เมื่อดูจากหน้าปกผมพอเดาได้ว่าสกู๊ปหลักของนิตยสารเล่มนั้นคือเรื่องการ์ตูนญี่ปุ่นที่ผู้คนในแดนอาทิตย์อุทัยใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างชาติ

ก่อนพลิกดูเนื้อหาในเล่มผมเดาล่วงหน้าว่าข้างในคงเต็มไปด้วยปกการ์ตูนญี่ปุ่นที่โด่งดังและบทสัมภาษณ์อาจารย์ผู้วาดพร้อมภาพต้นฉบับการ์ตูนเรื่องต่างๆ ตามสูตร แต่เมื่อพลิกไปด้านในผมกลับเจอภาพที่ชวนประหลาดใจไม่น้อย

ผมเห็นภาพถ่ายชาวญี่ปุ่นหลายๆ คนยืนถือการ์ตูนคนละเล่ม

ผมเห็นภาพชุนซูเกะ นากามูระ นักฟุตบอลทีมชาติญี่ปุ่นที่เคยโด่งดังในยุโรปยืนถือการ์ตูนเรื่อง กัปตันซึบาสะ การ์ตูนที่เป็นแรงบันดาลใจสำคัญให้เด็กๆ ที่รักฟุตบอลทั่วโลก ผมเห็นภาพนักดับเพลิงคนหนึ่งยืนถือการ์ตูนเรื่อง สิงห์ผจญเพลิง การ์ตูนที่ว่าด้วยเรื่องราวของชายหนุ่มที่ใฝ่ฝันจะเป็นนักดับเพลิง ผมเห็นภาพถ่ายนักมวยคนหนึ่งยืนถือการ์ตูนเรื่อง ก้าวแรกสู่สังเวียน การ์ตูนที่ว่าด้วยเรื่องราวชีวิตของตัวเอกชื่ออิปโป ที่ในวัยเด็กเป็นคนอ่อนแอ ไม่สู้คน จนวันหนึ่งกลายเป็นนักมวย และผมเห็นภาพอีกหลายๆ คนยืนถือการ์ตูนที่บางเรื่องผมก็ไม่รู้จัก

แม้จะแปลไม่ออกสักตัวอักษร แต่ผมก็พอเดาออกว่านิตยสารตรงหน้ากำลังบอกว่าการ์ตูนเรื่องใดอยู่เบื้องหลังชีวิตของใครบ้าง ฉายให้เห็นภาพว่าสิ่งที่อ่านในวัยเด็กมีอิทธิพลต่อคนคนหนึ่งขนาดไหน บางครั้งมันเปลี่ยนชีวิตของเด็กไร้ตัวตนไร้ความฝันให้กลับมาเห็นสิ่งสำคัญในตัวเองและมีตัวตนในสังคม

ทริปเดียวกันนั้นผมยังได้ไปเยือน Universal Studios Japan สวนสนุกยอดนิยมในโอซาก้า โซนที่ผมสังเกตเห็นว่าผู้คนหนาตาที่สุด คึกคักที่สุด และมีชีวิตชีวาที่สุดคือ The Wizarding World of Harry Potter ที่ต่อยอดมาจากวรรณกรรมเยาวชนเรื่อง Harry Potter

แววตาของเหล่ามักเกิ้ลที่เดินอยู่ในดินแดนแห่งนั้นคล้ายถูกมนตร์สะกด ผมเห็นคนหนุ่มสาวบางคนสวมชุดเป็นพ่อมดแม่มด บางคนเดินผ่านบางจุดแล้วชี้ชวนกันหยุดถ่ายรูปด้วยรู้สึกผูกพันกับฉากที่ปรากฏตรงหน้า ทั้งที่อาจมาเยือนสถานที่แห่งนี้เป็นครั้งแรก

ตอนนั้นเองที่ผมรับรู้ถึงพลังของวรรณกรรมเรื่องหนึ่งที่แตกต่างจากเรื่องอื่นๆ ที่ผมเคยรู้จัก

ยิ่งรับรู้เรื่องเล่าของเหล่าแฟนๆ จากการอ่านต้นฉบับ a day ฉบับนี้มากขึ้นเท่าไหร่ ผมยิ่งรับรู้ถึงความพิเศษของวรรณกรรมเรื่องนี้มากขึ้นเท่านั้น

ผมเพิ่งรู้ว่าอากิระ อัครคีตาพิสุทธิ์ คนไทยคนหนึ่งเคยมีส่วนร่วมเล็กๆ ในโซน The Wizarding World of Harry Potter ในฐานะผู้ฝึกอบรมด้านการบริการให้กับพนักงานใน Universal Studios Japan ซึ่งแน่นอนว่าเขาเติบโตมากับวรรณกรรมเยาวชนเรื่องนี้ และนอกจากอ่านเพราะความรักเขายังอ่านเพื่อความรู้ โดยเขาไปไล่อ่านต้นฉบับภาษาต่างๆ ทั้งภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส และญี่ปุ่น เพื่อเรียนภาษาไปด้วย จนวันหนึ่งมีโอกาสไปทำงานในดินแดนที่เขาไม่เคยนึกฝัน

ผมเพิ่งรู้ว่ามีนักเขียนไทยหลายคนลุกขึ้นมาเขียนหนังสือโดยมีวรรณกรรมเรื่องนี้เป็นแรงบันดาลใจ ทั้งที่โดยพื้นเพอาจไม่เคยคิดอยากเป็นนักเขียนมาก่อน

และผมเพิ่งรู้ว่าวรรณกรรมเรื่องนี้มีอิทธิพลต่อชีวิตของใครหลายคนระดับที่กำหนดเส้นทางชีวิต

หนึ่งในนั้นคืออาชว์–อรุษ เอ่งฉ้วน ผู้เป็นแฟน แฮร์รี่ พอตเตอร์ โดยเริ่มจากการที่พ่อของเขาอ่านให้ฟังตั้งแต่เด็ก ด้วยความชื่นชอบงานศิลปะในเล่มเขาจึงใฝ่ฝันว่าวันหนึ่งอยากจะเป็นผู้วาดปก แฮร์รี่ พอตเตอร์ บ้าง ซึ่งแน่นอนว่าใครได้ยินความฝันนี้คงคิดว่าเขาเพ้อฝัน จนเมื่อเติบใหญ่อาชว์ตัดสินใจบินไปศึกษาต่อปริญญาโทด้าน visual development ที่สหรัฐอเมริกา ก่อนที่วันนี้หลายคนจะรู้จักเขาในนาม Arch Apolar ศิลปินไทยคนแรกที่ได้วาดปก แฮร์รี่ พอตเตอร์ รวมถึงเป็นผู้วาดหน้าปก a day ฉบับนี้ด้วย

แม้ แฮร์รี่ พอตเตอร์ จะมีอิทธิพลต่อโลกของเราในหลายมิติ แต่ผมสนใจวรรณกรรมเรื่องนี้ในมิติที่มันส่งผลต่อชีวิตผู้อ่าน

แฮร์รี่ พอตเตอร์ ตอกย้ำความเชื่อที่ว่า สิ่งที่อ่านในวัยเด็กนั้นเปลี่ยนชีวิตคนได้ บางครั้งมันเปลี่ยนชีวิตของเด็กไร้ตัวตนไร้ความฝันให้กลับมาเห็นสิ่งสำคัญในตัวเองและมีตัวตนในสังคม ไม่ว่าสิ่งที่อ่านจะเป็นการ์ตูน วรรณกรรมเยาวชน หรือหนังสือเล่มใดก็ตาม

บางทีนี่อาจเป็นเวทมนตร์ที่แท้จริงของหนังสือเล่มหนึ่ง

วันนี้ผมนึกถึงนิตยสารญี่ปุ่นเล่มนั้นที่ชักชวนผู้คนมาถือการ์ตูนที่มีอิทธิพลต่อชีวิตของพวกเขาอีกครั้ง และคิดว่าหากเราชักชวนผู้คนต่างๆ ใน a day เล่มนี้มาทำอะไรแบบนั้นบ้างโดยไม่เฉพาะเจาะจงว่าต้องเป็นหนังสือการ์ตูน ผมเชื่อว่าทุกคนคงเลือกถือหนังสือเล่มเดียวกัน

โดยมีชายหนุ่มคนหนึ่งยืนถือหนังสือที่วันนี้เขากลายเป็นผู้วาดภาพบนหน้าปก

AUTHOR