ยิ่งทำงานที่บ้านนานๆ มันอาจทำให้ชีวิตเราแบนราบเหลือเพียงงานแค่มิติเดียว | จิรเดช โอภาสพันธ์วงศ์

จากวันแรกที่เริ่มมาตรการ work from home จนถึงวันที่ผมเขียนบทบรรณาธิการนี้ พวกเราชาว a team ทำงานที่บ้านมาแล้วหนึ่งเดือนเต็มๆ

ว่ากันด้วยระยะเวลาความจริงเดือนหนึ่งมันไม่นานหรอก แต่ก็ไม่ถึงกับสั้นจนไม่ได้เรียนรู้อะไร พวกเราพอจะเข้าใจความจริงบางประการเมื่อได้ซึมซับกับสุขทุกข์ของวิถีชีวิตเช่นนี้

ทุกวันพวกเราจะประชุมกันตอนสิบเอ็ดโมงก่อนจะแยกย้ายไปทำงาน ใครจำเป็นต้องคุยเรื่องไหนก็นัดหมายกันแล้วไปเจอในโปรแกรมสนทนาออนไลน์ตามเวลาที่กำหนด

หลายๆ ครั้งหลังประชุมผ่านหน้าจอ ผมก็แอบคิดถึงวิถีชีวิตที่พวกเราไปออฟฟิศคุยกันแบบเห็นหน้าตา

ไม่ได้คิดเพื่อเปรียบเทียบว่าอะไรดีกว่า เพราะแต่ละวิถีชีวิตนั้นมีข้อดี-ข้อเสียแตกต่างกันไปอยู่แล้ว ไม่มีประโยชน์จะมาฟูมฟาย ของแบบนี้มันมาเป็นแพ็กเกจ ผมเพียงอยากรู้ว่าการเปลี่ยนวิถีชีวิตหนนี้มันทำให้ผมมองสิ่งใดเปลี่ยนไปหรือเปล่า

แล้วผมก็พบว่าตัวเองมองคำว่า ‘เวลา’ เปลี่ยนไปจากเดิม

แม้โดยอาชีพที่ทำอยู่ เราต่างรู้กันว่าการงานที่พวกเราทำมันไม่มีวันหยุด งานสร้างสรรค์มันสลัดไม่หลุดแม้วันเสาร์-อาทิตย์ เห็นอะไรผ่านตาก็คิดโยงเข้างาน แต่ผมก็พยายามแยกวันเวลาในการทำงานให้ได้ เพราะไม่อยากให้มันไปเบียดบังชีวิตในมิติอื่นๆ ที่สำคัญไม่แพ้กัน–คนที่ความสัมพันธ์เคยเกือบพังเพราะงานคงเข้าใจ

แต่หลังจากพวกเราต่างแยกย้ายทำงานบ้านใครบ้านมัน ผมพบว่าเส้นแบ่งระหว่างเวลาที่เราเคยยึดถือมันกลับมาพร่าเลือนอีกครั้ง

เมื่อไม่มีเวลาตอกบัตรเข้างาน นั่นหมายความว่าหลังอาบน้ำแปรงฟันเราสามารถเปิดคอมพิวเตอร์เขียนงานได้ทันที เช่นเดียวกัน เมื่อไม่มีเวลาเลิกงานและไม่ต้องเดินทาง เราก็สามารถอยู่กับงานที่ยังคั่งค้างไปจนดึกดื่นเที่ยงคืนได้สบาย ไม่ต้องกลัวตกรถประจำทางคันสุดท้าย

ท่ามกลางวิถีเช่นนี้ที่ไร้กรอบไร้กฎมากำกับ ผมพบว่ามันยิ่งเรียกร้องการจัดการชีวิตอย่างประณีตยิ่งกว่าเดิม เพราะหากเราไม่จัดการให้ดี การทำงานที่บ้านแทนที่จะทำให้มิติในชีวิตเราสมบูรณ์ ได้ใช้เวลากับครอบครัวหรือคนรัก มันอาจให้ผลในทางตรงกันข้าม

มันอาจทำให้ชีวิตเราแบนราบเหลือเพียงงานแค่มิติเดียว

ผมนึกถึงบางประโยคใน a day เล่มนี้ของธนะ วงษ์มณี ผู้ร่วมก่อตั้งเว็บไซต์ Goal Thailand สำนักข่าวฟุตบอลอันดับต้นๆ ของประเทศ ผู้ไม่มีออฟฟิศและทำงานที่บ้านมาเนิ่นนานก่อนคำว่า work from home จะกลายเป็นกระแส

“พอมันไม่มีลูปเวลาแบบรายวันมาบังคับว่าเราควรทำอะไร เราเป็นคนออกแบบเอง เราก็ไม่ต้องทนนั่งอยู่เวลาที่รู้สึกว่าตอนนี้อยากลุกแล้ว แล้วก็ไม่ต้องรอจนกระทั่งเวลาเข้างานเมื่อรู้สึกว่าตอนนี้อยากทำงานแล้วเหมือนกัน สิ่งที่หายไปจากชีวิตคือการรอ เพราะเราเป็นคนกำหนดเองว่ากำหนดการคืออะไร มันมีแค่กำหนดไกลๆ ว่าสัปดาห์นี้ส่งอะไร สิ้นเดือนส่งอะไร โฟกัสเราจะอยู่ที่เป้าหมายว่าจริงๆ แล้วเราต้องการอะไร เรามีอะไรที่ต้องทำให้เสร็จ ไม่ใช่มีอะไรที่ต้องทำใน 1 ชั่วโมง หรือ 3 ชั่วโมง หมดเวลาแล้วก็จบ

“การยกกรอบเวลาออกเราจะโฟกัสเป้าหมายได้มากขึ้น ในขณะเดียวกันก็มีโอกาสหลุดโฟกัสเรื่องอื่นในชีวิตมากขึ้นเช่นกัน ที่ผมบอกว่าพอเราไม่ได้อยู่ในออฟฟิศ ไม่ได้อยู่ในลูปเวลานี้ การรอมันหายไป แต่ในทางกลับกันเราอาจจะทำให้คนอื่นรอเราแทน เช่น ลูกผมรอเล่นเกมด้วย เมียรอกินข้าว พอเราไปโกงลูปเวลาตรงนี้เท่ากับว่าบางครั้งมันไปกินเวลาอย่างอื่นด้วย

“สิ่งสำคัญคือเวลาที่เราทำงานอยู่ เรามักรู้สึกว่าตัวเองมีสาระมากเลย รู้สึกว่ากำลังทำเรื่องดี เรื่องที่ยิ่งใหญ่ ทุกคนในบ้านต้องเกรงใจเรา แต่ไม่หรอก ไม่มีใครเกรงใจแกหรอก เรื่องที่แกทำอยู่มันธรรมดามาก ไม่มีใครเขาสนใจหรอก เราต้องยกความรู้สึกนี้ออกไปก่อนว่าเรื่องที่เราทำสำคัญกว่าการไปเดินเล่น การไปคุยกับคนในบ้าน การให้อาหารแมว ไม่หรอก มันเป็นเรื่องที่ต้องทำในชีวิตทั้งนั้นแหละ มันสำคัญเท่าๆ กันหมด แล้วเมื่อเราไม่มีออฟฟิศมากำหนด priority ว่าต้องทำอะไรก่อนอะไรหลัง เราก็ต้องกำหนดให้ดี ไม่อย่างนั้นชีวิตมันก็รวน”

ผมเห็นด้วยกับเขา และยิ่งทำงานที่บ้านนานขึ้น ผมยิ่งเห็นค่าของเวลาที่ผ่านพ้น เพราะทุกวินาทีที่เคลื่อนผ่านมันมีฟังก์ชั่นชัดเจน

นาทีนี้ทำงาน นาทีนี้ประชุม นาทีนี้นั่งพัก นาทีนี้กินข้าวพร้อมหน้าพร้อมตากับที่บ้าน นาทีนี้อ่านหนังสือ นาทีนี้ออกไปเดินเล่น นาทีนี้ได้เวลานอน–ทุกนาทีเดินไปข้างหน้าอย่างมีความหมาย

มันทำให้ผมเรียนรู้ว่าไม่มีนาทีไหนที่ผ่านไปเปล่าๆ เพื่อรออีกช่วงเวลาหนึ่ง เราไม่ต้องรอบนรถสองชั่วโมงเพื่อไปทำงาน และเมื่อทำงานเสร็จก่อนเวลาเลิกงานเราก็ไม่ต้องรออีก 3-4 ชั่วโมงเพื่อกลับบ้านไปพักผ่อน

และผมคิดว่าบางทีการเรียนรู้บทเรียนนี้อาจส่งผลต่อวิธีคิดในการทำงานหลังวิกฤตโรคระบาดของใครหลายคน อย่างน้อยๆ เมื่อเราเห็นค่าเวลา วันหน้าเราคงคิดมากขึ้นเมื่อจะฆ่าเวลา

AUTHOR