‘เส้นอุดมสุข’ ไกด์บุ๊กนำเที่ยว กินก๋วยเตี๋ยวย่านอุดมสุข ถนนที่อุดมด้วยความสุข

พอร์ตโฟลิโอของชิตวัน เพชรรัตน์ (ฟ้าใส)

ชั้นปีที่ 2 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขาวิชานิเทศศิลป์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

ชื่อผลงาน เส้นอุดมสุข

เส้นอุดมสุข

เมื่อพูดถึงอุดมสุข คุณจะนึกถึงอะไร 

สำหรับเราที่มีความทรงจำกับย่านนี้แสนน้อยนิด ได้ยินชื่อ ‘อุดมสุข’ เมื่อไหร่ก็มีเพียงภาพของสถานีรถไฟฟ้าและจุดเชื่อมต่อรถไปช้อปปิ้งที่ IKEA บางนาผุดขึ้นมาเท่านั้น

แต่เมื่อถาม ‘ฟ้าใส–ชิตวัน เพชรรัตน์’ เด็กสาวเจ้าของ เส้นอุดมสุข ผลงานหนังสือทำมือสุดคราฟต์ที่บอกเล่าเรื่องราวเล็กๆ ที่น่ารักในย่านอุดมสุข พื้นที่นี้กลับเต็มไปด้วยความตื่นตาตื่นใจอย่างของอร่อยล้ำ ร้านรวงเก๋ไก๋ ไปจนถึงหมาเจ้าถิ่น จนเธอหยิบเอาอุดมสุขเป็นหัวข้อการบ้านวิชากราฟิกดีไซน์ 

แค่อ่านความทรงจำเกี่ยวกับอุดมสุขมากมายที่ฟ้าใสนำมาเล่าในหนังสือก็ทำเอาเราอยากทำความรู้จักย่านนี้ให้มากขึ้นทันที

ไม่รอช้า ฟ้าใสหยิบเอาผลงานที่ว่ามากางให้เห็น พร้อมพาเราออกเดินทางลัดเลาะไปในเส้นอุดมสุข

เส้นอุดมสุข

ก่อนออกเดินทางขอแนะนำไกด์

ก่อนจะเริ่มต้นทริปทัวร์อุดมสุข เราคงต้องแนะนำไกด์ฟ้าใสให้ทุกคนรู้จัก 

เธอคือนักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขาวิชานิเทศศิลป์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (ที่ตอนนี้กำลังบากบั่นอยู่กับการเรียนวิชาออกแบบในรูปแบบออนไลน์) หรือที่ฟ้าใสและเพื่อนร่วมชั้นเรียกแบบง่ายๆ ว่าสาขา communication design

ถึงวิชาเรียนหลักๆ ของเธอจะเน้นไปที่กราฟิกดีไซน์ แต่ฟ้าใสบอกเพิ่มเติมว่าจริงๆ แล้วสาขาของเธอคือการฝึกสื่อสารในรูปแบบอะไรก็ได้ ไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นผลงานดิจิทัลกราฟิกเท่านั้น

พร้อมแล้วไป เริ่มต้นเดินทาง

พอไม่ถูกจำกัดอยู่ในกรอบของหน้าจอคอมพิวเตอร์ ฟ้าใสเลยทำหนังสือทำมือเสียเลย

เส้นอุดมสุข คือผลงานไฟนอลโปรเจกต์ของวิชากราฟิกดีไซน์ที่เธอทำขึ้นในช่วงเทอมหนึ่ง ปี 2 โจทย์ของงานนี้คือการทำไกด์บุ๊กพาเที่ยวละแวกใกล้บ้าน 

ละแวกใกล้บ้านที่แรกที่ผุดขึ้นมาในใจของสาวบางนาอย่างเธอหนีไม่พ้นย่านอุดมสุข แต่ด้วยความที่มาบ่อยจนคุ้นเคย อะไรๆ ก็กลายเป็นสิ่งชินตา หนึ่งในความยากของการทำงานครั้งนี้จึงเป็นการที่เธอต้องออกเฟ้นหาจุดน่าสนใจของอุดมสุขสำหรับคนอื่นๆ ที่อาจยังไม่ได้รู้จักย่านนี้ดีเท่าเธอ

“สิ่งที่เราสังเกตได้คือที่นี่เป็นย่านที่มีเอกลักษณ์ มันมีส่วนที่มีบรรยากาศเป็นชานเมืองมากๆ แต่ก็มีส่วนที่เป็นเมืองแบบสุขุมวิทอยู่ด้วย เรารู้สึกว่าเป็นบาลานซ์ที่น่าสนใจ”

เธอจึงมีสองความคิดตีกันไปมา “หนึ่ง–จะพรีเซนต์อุดมสุขออกมาในมุมมองใหม่ไปเลยดีไหม พูดถึงสิ่งที่คนคิดว่าไม่มีในอุดมสุขเพราะแถวนี้ก็มีร้านเบเกอรี ร้านเปิดใหม่แทรกตัวอยู่เยอะเหมือนกัน และอีกหนึ่งไอเดียคือการเล่าถึงอุดมสุขในแบบออริจินอล พูดถึงร้านอาหารดั้งเดิม ร้านก๋วยเตี๋ยว ตลาด และวิถีชีวิตของคน”

สุดท้ายฟ้าใสตัดสินใจเลือกอย่างหลัง เธอให้เหตุผลว่าอยากให้งานชิ้นนี้เป็นงานที่เธอกลับมาดูอีกครั้งแล้วยังรู้สึกว่าเป็นงานที่มีคุณค่ากับตัวเอง ไม่ใช่แค่งานที่สวยแต่ไม่รู้สึกอะไรในกระบวนการทำ

เส้นอุดมสุข

เดินเดินเดิน ตั้งแต่ต้นยันท้ายซอย

วิธีการทำงานของฟ้าใสเริ่มต้นจากการเดินเท้า ออกเดินทางตั้งแต่บ้านที่อยู่ท้ายซอยช่วงอุดมสุขซอย 50 มายังต้นซอยอุดมสุข 1

เธอบอกกับเราว่าวันที่มาเก็บข้อมูลต้องใช้เวลาไปกับการสำรวจตั้งแต่บ่ายจรดเย็น แต่สิ่งที่ได้กลับมาก็คุ้มค่า เพราะทำให้เธอได้เห็นบรรยากาศที่แท้จริงของอุดมสุขและจับจุดได้ว่าควรเล่าอะไรในผลงานที่ว่านี้ดี

เส้นอุดมสุข

“มีช่วงหนึ่งของถนนอุดมสุขที่มี grab จอดรออยู่หน้าร้านอาหารดั้งเดิมของที่นี่เต็มไปหมด มีช่วงที่เต็มไปด้วยร้านรวงใหม่ๆ แต่อีกช่วงหนึ่งก็จะเจอแต่ร้านเก่าแก่ ร้านก๋วยเตี๋ยว ร้านอาหารริมฟุตพาท 

“พอเห็นแบบนี้เราเลยเลือกที่จะเล่าถึงอุดมสุขโดยใช้คำว่า ‘เส้นอุดมสุข’ ที่หมายถึงทั้งเส้นก๋วยเตี๋ยวเพราะมีร้านก๋วยเตี๋ยวซิกเนเจอร์เจ้าเก่าของอุดมสุขอยู่หลายร้าน และเส้นที่หมายถึงเส้นถนนที่บรรจุวิถีชีวิตของคนแถวนี้ ในงานก็จะแคปเจอร์ความเป็นอุดมสุขเอาไว้”

เส้นอุดมสุข

แวะ แวะ แวะ กินเส้นก๋วยเตี๋ยว

เมื่อออกเดิน ฟ้าใสพบว่าองค์ประกอบสำคัญของถนนอุดมสุขคือร้านก๋วยเตี๋ยว 

วิธีการเลือกร้านมาแนะนำภายในเล่มก็ไม่ยาก สาวบางนาอ้างอิงจากประสบการณ์ที่เคยกินมาทั้งชีวิต หยิบเอาความชอบส่วนตัวและสำรวจความเห็นจากคนใกล้ตัวมาผสมผสานกัน สุดท้ายจึงได้เป็น 5 ร้านก๋วยเตี๋ยวที่เธอสุดแสนจะภูมิใจนำเสนอ

“เราจะเขียนบอกข้อมูลพื้นฐานจำพวกเวลาเปิด-ปิดร้าน และแนะนำร้านรอบข้างเพิ่มเติมไปด้วยว่าหากกินร้านนี้เสร็จแล้ว เดินต่อไปจะเจอกับร้านอาหารทานเล่นอะไรอีกบ้าง เป็นหนังสือที่เน้นเรื่องกิน” เธอเล่าพร้อมหัวเราะ เปิดสมุดเล่มจิ๋วอีกเล่มให้เราดู

เส้นอุดมสุข

เพื่อให้คนอ่านได้สัมผัสกับประสบการณ์เที่ยวครั้งนี้อย่างเต็มรูปแบบ นอกจากกิมมิกหน้าแทรกให้คนได้พลิกเปิดดูวิถีชีวิตของชาวอุดมสุข ฟ้าใสยังคุมธีมความเป็นหนังสือแนะนำร้านก๋วยเตี๋ยว ผ่านองค์ประกอบอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกัน

หนึ่งในนั้นคือสมุดเล่มจิ๋วที่ว่า มันคือสมุดแนะนำเมนูอร่อยเด็ดประจำร้านที่ออกแบบมาให้ฉีกได้เหมือนเวลาเราจดเมนูสั่งอาหาร

คิดอะไรไม่ออกก็สั่งตามเมนูที่เธอจัดเซตมาให้ได้เลย

เจออะไรสะดุดตา รีบยกกล้องมา หนึ่ง สอง สาม แชะ!

สิ่งที่ฟ้าใสพบเจอตลอดเส้นทางเดินสำรวจถนนอุดมสุขนั้น เธอจะหยิบจับมาออกแบบเป็นกิมมิกเล็กๆ น้อยๆ ที่สร้างความพิเศษให้ชิ้นงาน 

เพราะอยากให้คนที่เปิดดูหนังสือสัมผัสได้ถึงช่วงเวลาเหล่านั้น เธอจึงออกแบบวิธีการเล่าเรื่องออกมาเป็นหน้าแทรกขนาดจิ๋ว ที่ภายในซุกซ่อนความน่ารักของอุดมสุขเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นวิธีการข้ามถนนอันพลุกพล่านหรือภาพน้องหมาเจ้าถิ่นก็ถูกบันทึกเอาไว้มาเล่าต่อกันฟังภายในหนังสือเล่มนี้

เส้นอุดมสุข

เที่ยวเดี๋ยวเดียวก็อุดมไปด้วยความสุข

เห็นมีหลากหลายองค์ประกอบขนาดนี้ แต่ฟ้าใสทำเองหมดทุกขั้น ตั้งแต่เขียน วางเลย์เอาต์ ทำกราฟิก ไปจนถึงเย็บกี่ เข้าเล่มหนังสือ

ระหว่างที่พลิกดูรายละเอียดแต่ละส่วน เราชักสงสัยว่าระหว่างที่ลงมือทำเธอคิดหวังอะไรจากคนที่จะได้พบเห็นผลงานนี้

ฟ้าใสยิ้มน้อยๆ เล่าถึงเป้าหมายในใจ “เราอยากจะพรีเซนต์อุดมสุขให้คนรู้สึกว่าถ้าเกิดผ่านมาทางนี้ อุดมสุขเป็นที่ที่จะแวะเข้ามาเที่ยวได้ เพราะในสายตาของหลายคน แถวนี้เป็นเหมือนย่านอยู่อาศัยไม่ใช่ที่ที่นักท่องเที่ยวตั้งเป้าหมายว่าจะมากินร้านอร่อยเหมือนเยาวราช ทั้งๆ ที่รสชาติและคุณภาพอาหารใกล้เคียงกันมาก แถมยังไม่ต้องรอคิวด้วย หลายๆ ร้านทำอาหารอร่อยมากเพียงแต่เขาไม่ได้โปรโมตตัวเอง บางร้านก็อยู่ในหลืบลึกแบบที่เราคงไม่ได้เห็นหรือรู้จักถ้าไม่ได้เดินเข้าไปสำรวจ เราเลยอยากให้คนเห็นเรื่องแบบนี้จากหนังสือของเรา”

หนังสือที่เล่าเรื่องออกมาอย่างเป็นธรรมชาติและจริงใจ คือสิ่งที่เธออยากแสดงให้เห็นผ่านหนังสือเล่มนี้ 

อุดมสุขใน เส้นอุดมสุข จึงเป็นสิ่งเล็กๆ น้อยๆ แต่น่ารักที่ฟ้าใสมองเห็น และนั่นคือสิ่งที่อุดมสุขเป็น

ติดตามผลงานของฟ้าใสได้ที่อินสตาแกรม marmalade_teatea

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย