Ticket to Ride นิทรรศการตั๋วเดินทางฉลุลายที่ทำให้เส้นทางที่จำเจน่าจดจำ

Highlights

  • Ticket to Ride คือนิทรรศการศิลปะการตัดกระดาษของ บัว–วรรณประภา ตุงคะสมิต ที่เล่าเรื่องราวความทรงจำ ประสบการณ์ และความรู้สึกนึกคิดจากการเดินทางผ่านการกรีด ตัด และคอลลาจตั๋วเดินทางที่เก็บสะสม
  • แม้บัวจะเป็นคนติดบ้านสุดๆ แต่เธอเชื่อว่าทุกคนย่อมต้องเคลื่อนย้าย และแม้การเดินทางในชีวิตประจำวันอย่างการไปมหาวิทยาลัย โรงพยาบาล หรือไปทำงานอาจเป็นเรื่องอันแสนธรรมดาของใครหลายคน แต่บัวอยากชวนมองว่าในความธรรมดาเหล่านั้นกลับเต็มไปด้วยความพิเศษ
  • นิทรรศการครั้งนี้จัดขึ้นที่ VS Gallery ตั้งแต่วันที่ 17 ธันวาคม 2563 - 13 กุมภาพันธ์ 2564 

สำหรับคนติดห้องอย่างเรา แค่ก้าวเท้าออกจากบ้านก็ถือเป็นการเดินทางที่น่าจดจำ เราจึงขอเรียกการเดินทางด้วย MRT ต่อ BTS แล้วจบที่ BRT เพื่อเดินเท้าไปยัง VS Gallery ครั้งนี้ว่าเป็นทริปศิลปะสั้นๆ ทริปหนึ่ง

จุดหมายปลายทางคือการพบปะพูดคุยกับ บัว–วรรณประภา ตุงคะสมิต หรือ Collagecanto ศิลปินผู้สร้างสรรค์ศิลปะด้วยการตัดและกรีดกระดาษให้เป็นลวดลายอันวิจิตรบรรจงจนเราต้องทึ่ง

ทั้งทึ่งในความสามารถและทึ่งในความอดทนของเธอ

นิทรรศการอันเป็นเหตุให้เราเดินทางมาพบเธอในครั้งนี้คือ Ticket to Ride ที่บัวหยิบจับเรื่องราวการเดินทางในชีวิตประจำวันอันธรรมดามากรีดเป็นลายต่างๆ บนตั๋วโดยสารสาธารณะ ตั้งแต่ตั๋วรถเมล์ เรือด่วน รถแท็กซี่ รถไฟ ไปจนถึงเครื่องบิน เพื่อเก็บบันทึกความทรงจำในช่วงเวลานั้นและเพื่อบอกว่าภายใต้ความธรรมดาสามัญเต็มไปด้วยแง่คิดและความรู้สึกอันมีค่า

ตั๋วเหล่านี้เป็นตั๋วเดินทางที่ใครๆ ก็ได้รับจนล้นกระเป๋าสตางค์อยู่บ่อยครั้ง แต่มันกลับเป็นตั๋วไม่กี่ใบที่ศิลปินผู้รักการอยู่บ้านจะมี ความสนุกของนิทรรศการครั้งนี้จึงเป็นการนำเรื่องราวของตั๋วแต่ละใบมาตีความเป็นลวดลาย และเชื่อมตั๋วที่อยู่ในช่วงเวลาใกล้เคียงกันให้ผู้ชมอย่างเราร่วมค้นหา

ย้อนกลับไปก่อนบัวจะกลายเป็นศิลปินนักตัดกระดาษมือฉมัง เธอคืออดีตกองบรรณาธิการ a team junior รุ่น 2 และนักวาดภาพประกอบ เมื่อมีเวลาเหลือจากงาน เธอลองวางดินสอและหันมาจับกรรไกรทำภาพคอลลาจโพสต์ลงในบล็อกส่วนตัวประกอบคำบรรยายสั้นๆ 3 บรรทัด (รูปแบบคล้ายๆ คอลัมน์กลอนเปล่าชื่อ Canto ที่เคยอยู่ในนิตยสาร a day)

เมื่อได้เห็นงานตัดกระดาษจากศิลปินต่างชาติที่ช่างสวยงามและทำง่าย เพียงมีอุปกรณ์ไม่กี่ชิ้น บัวจึงเริ่มตัดกระดาษเป็นลวดลายและผันตัวเป็นศิลปินนักตัดกระดาษจนถึงวันนี้

งานของบัวแตกหน่อ ต่อยอดไปหลากหลาย ทั้งชิ้นงานชื่อ Artquarium ที่เธอตัดกระดาษเป็นลวดลายใต้บาดาลและนำไปติดตั้งใต้น้ำจริงๆ, งาน A Lacy Christmas ที่ทำตอนเป็นศิลปินในพำนักของโรงแรมเพนนินซูลา รวมถึงยังได้รับรางวัลการันตีความสร้างสรรค์อย่างรางวัล Gold จาก Cannes Lions 2016

และล่าสุดคือนิทรรศการ Ticket to Ride ที่เป็นเหมือนไดอารีการเดินทางของบัว

ทำไมเราถึงควรได้อ่านไดอารีแสนละเอียดลออเล่มนี้

หยิบของแทนใจหรือตั๋วโดยสารสักใบที่คุณมี แล้วเดินทางไปกับเธอกัน

เส้นทางสายธรรมดาที่พิเศษ

ก่อนก้าวเท้าเข้าสู่ห้องนิทรรศการสีขาวขนาดย่อม เราคิดภาพว่า ‘ตั๋ว’ ที่บัวนำมาสร้างงานจะต้องเป็นตั๋วเดินทางหลากร้อยหลายพันประเทศที่เธอเก็บสะสม

ผิดคาด

“เราไม่ใช่มนุษย์เดินทางแต่เป็นคนชอบอยู่บ้านจนเรียกว่าหมาเฝ้าบ้านก็ยังได้” บัวสารภาพ “เราอาจไปเที่ยวบ้างแต่ไม่ใช่ทริปใหญ่โต ส่วนใหญ่เป็นการเดินทางไปโรงพยาบาล ไปเรียน ไปทำงาน กลับบ้าน ถ้าเปรียบชีวิตเราเป็นซีรีส์ มันคงเป็น slice of life ที่ไม่ได้มีเรื่องราวพิเศษ

“เวลาไปไหนมาไหน เราจะเก็บสะสมของกระจุกกระจิกที่ชอบและเสียบไว้ในสมุด ตั๋วเดินทางเป็นหนึ่งสิ่งที่เราชอบเก็บโดยเฉพาะตั๋วจากรถแปลกๆ ที่ไม่ค่อยได้ขึ้น ตั๋วแต่ละใบทำให้เรานึกถึงช่วงเวลานั้นว่าเจออะไรมาบ้างซึ่งไม่ได้เป็นเรื่องพิเศษ ไม่หวือหวา แต่บางความทรงจำมันชัด บางความทรงจำสนุก และบางความทรงจำก็เฉยๆ”

บัวเกริ่นนำให้ผู้ร่วมทริปอย่างเราฟัง ก่อนพาไปที่แท่นสีขาวตรงหน้า บรรจงเปิดกล่องสีดำที่บรรจุตั๋วโดยสารชุดแรกที่เธอกรีดและตัด

“เราเริ่มตัดตั๋วเมื่อประมาณ 2-3 ปีที่แล้ว ตั๋วรถเมล์ชุดนี้เป็นชุดแรกที่นำมาตัดเพราะอยากทดลองตัดวัสดุอื่น บวกกับเราชอบตัดงานชิ้นเล็กๆ เลยคิดว่าถ้าเอาตั๋วมาตัดก็น่าจะดีนะ เผอิญคุณบี (วรวุฒิ สัจจะปรเมษฐ) เจ้าของ VS Gallery เห็นเข้าจึงคิดว่าน่าจะต่อยอดได้”

ตั๋วชุดนี้คือจุดเริ่มต้นของ Ticket to Ride ถึงอย่างนั้นบัวก็บอกว่าเพราะเป็นชุดทดลอง ตั๋วในกล่องใบนี้จึงอาจไม่มีเรื่องราวที่น่าจดจำนัก แต่ใต้คำว่า “ไม่มีอะไรน่าจดจำ” ก็ยังมีเรื่องราวบางอย่าง เห็นได้จากคำอธิบายใต้กล่องบรรจุตั๋วที่ระบุสายรถเมล์ที่บัวขึ้น กิจกรรมที่เธอทำตลอดเส้นทาง อย่างการแวะกินไอศครีมที่ตลาด วาร์ปไปที่หอสมุดแห่งชาติ ระหว่างไป-กลับไปรษณีย์และบ้านขณะกิจการขายของออนไลน์กำลังไปได้ดี

จากตั๋วใบแรก เธอพาเราขยับมาที่ใบที่สอง สาม และสี่ และจากที่ตัดโดยไม่มีเรื่องราว บัวก็เริ่มมีเรื่องเล่าให้เราฟัง เช่น ตั๋วรถเมล์ใบนี้ที่บัวได้มาสมัยเรียนมหาวิทยาลัย เป็นช่วงที่เธอต้องขึ้นรถสาธารณะหลังอาศัยรถของครอบครัวไปเรียนมาตลอด 

“ตอนแรกตั้งใจว่าจะตัดแค่ใบเดียวแต่รู้สึกว่ามันโล่งไปและเล่าเรื่องได้ไม่หมด เลยตัดลายใบไม้ที่เราเห็นเวลานั่งรถ ตัดพื้นหลังเป็นเส้นตรงๆ ที่ไม่ซับซ้อนเหมือนสายรถเมล์ที่ถ้าเปิดแผนที่ในมือถือก็จะเห็นว่าชีวิตก็วนเวียนแค่นี้ จากบ้านไปมหาวิทยาลัย”

ตั๋วบางใบเป็นใบที่ใครๆ ก็มี แต่เธอกลับเก็บและนำมาสร้างผลงานเพราะเป็นตั๋วจากการโดยสารที่เธอไม่ค่อยได้ใช้บริการ อย่างตั๋วเรือด่วนตรงหน้าที่บัวเล่าอย่างตื่นเต้นให้ฟังว่าไม่ค่อยได้นั่งทั้งที่ชอบเดินทางทางน้ำเอามากๆ เมื่อมีโอกาสเธอจึงไม่พลาดเก็บตั๋วใบนี้ลงสมุดบันทึก

“การอยู่ใกล้น้ำให้ความรู้สึกเหมือนได้บำบัด เราได้โดนลม เห็นน้ำ เห็นวิว ตั๋วใบนี้จึงออกมาเป็นลายน้ำ มีดอกไม้อะไรไม่รู้ที่ผุดขึ้นมา เรารู้สึกว่ามันคือตัวแทนชีวิต คล้ายเป็นบัวกลายพันธุ์ที่เรียนจากสาขาหนึ่งแต่ไปทำงานอีกอย่างหนึ่งซึ่งเราคิดได้ตอนมานั่งทำงานนี้แหละ”

ขณะที่บางใบเก็บความรู้สึกสนุกสนาน สุขใจ หรือสงบ บางใบก็ผสมปนเปด้วยความรู้สึกหลากหลายจนอธิบายไม่ได้ว่ารู้สึกยังไงกันแน่ อย่างตั๋วรถเมล์ตรงหน้าที่บัวเล่าว่าเป็นตั๋วที่เธอนั่งไปโรงพยาบาลเพื่อไปพบหมอเรื่องปัญหาเกี่ยวกับมดลูก

“เราว่าเราไม่ได้ป่วยหนักขนาดนั้นแต่บรรยากาศโรงพยาบาลที่ทุกคนป่วยกันหมดทำให้เรารู้สึกว่าฉันป่วยนะ ตอนกลับบ้านเลยนั่งรถเมล์เพราะมีลมพัดให้เราได้หายใจ ทำให้รู้สึกดีขึ้นบ้างหลังจากหาหมอ

“พอมองย้อนกลับไปเรากลับไม่รู้สึกว่ามันเศร้า แต่เป็นช่วงหนึ่งของชีวิตที่ อ๋อ ตอนนั้นร่างกายเราเป็นแบบนี้ มันส่งผลต่อจิตใจเราแบบนี้ และคิดว่าชีวิตไม่มีอะไรแน่นอน วันนี้เราแข็งแรงแต่พรุ่งนี้อาจป่วยก็ได้” บัวเล่าถึงเหตุการณ์ครั้งนั้นให้ฟังแล้วชวนให้ดูลายลูกไม้ที่หยิบมาใช้เพื่อให้เข้ากับความเป็นผู้หญิงและลายใบไม้ที่เธอเห็นจากการนั่งรถเมล์กลับบ้าน

ถ้าเห็นตั๋วหลายๆ ใบของบัวก็ต้องบอกได้ว่าเธอเป็นคนคลั่งไคล้ลายลูกไม้ เพราะแทบไม่มีใบใดที่ขาดลายนี้ไปเลย และความชอบลายลูกไม้ก็เป็นเรื่องที่เธอตกตะกอนได้จากนิทรรศการนี้ด้วย

เดินทางในประเทศได้สักพัก บัวพาเราลัดฟ้าไปประเทศญี่ปุ่นซึ่งไม่ใช่ประเทศแรกและประเทศเดียวที่เธอเดินทางแต่เป็นประเทศที่เธอชอบที่สุด 

“ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่เราไปแล้วได้เก็บของเยอะดี กระดาษก็สวย ศิลปะก็ดี อย่างตั๋วสีเขียวเป็นตั๋วรถไฟไปคิวชู ความพิเศษของรถไฟคือเป็นรถส่องนกกระเต็นแต่เรากลับสนใจแต่ลายไม้ในขบวน พยายามเอาตัวเองไปอยู่ทุกที่เพื่อนั่งดูลายไม้ เลยตัดตั๋วใบนี้เป็นลายไม้ที่เราเห็น ส่วนตั๋วสีชมพูคือตั๋วที่ไปฮาโกเนะเพื่อไปดูใบแปะก๊วยสีแดง ตอนที่ไปเที่ยวมันยังแดงแค่ข้างเดียว (หัวเราะ) แต่เราไม่ได้ใส่ใจเพราะชอบที่ได้กินขนม ดูนู่นดูนี่ รับอากาศเย็นไปเพลินๆ”

ตลอดทริปสั้นๆ ในการดูนิทรรศการ บัวย้ำหลายรอบว่าเรื่องราวของเธอช่างแสนธรรมดา แต่เพราะความธรรมดาที่ว่าเธอกลับตกหลุมรักซ้ำแล้วซ้ำเล่า

“เราเป็นคนชอบเรื่องธรรมดาๆ แต่ความธรรมดานั้นมันทำให้เรานึกถึงช่วงเวลาหรือรู้สึกอะไรบางอย่าง ตอนนี้เราอาจมีเรื่องไม่สบายใจ เรื่องน่าปวดหัว แต่พอนึกย้อนกลับไปก็ได้รู้ว่าตอนนั้นเราสนุก มีความสุข หรืออาจไม่มีความสุขแต่รู้แล้วว่ามันเคยมีสิ่งนี้เกิดขึ้น”

ตั๋วเดินทางไม่จำกัดแบบ

หลังเก็บตั๋วเดินทางของบัวครบทุกใบ เธอพาขึ้นไปยังส่วนที่สองของนิทรรศการที่มีพื้นที่ทำงานและพื้นที่เก็บของสะสมชนิดอื่นของเธอเรียงรายอยู่

บัวพาชมพื้นที่ทำงานขนาดย่อมที่จำลองขึ้น บนแท่นสีขาวบรรจุด้วยอุปกรณ์ทำงานต่างๆ ไม่ว่าจะใบมีดหลายสิบใบที่เธอใช้ในการทำงานครั้งหนึ่งๆ แผ่นรองตัด กระดาษที่ตัดพลาด ดราฟต์ที่หนึ่ง สอง สาม และสี่ รวมถึงดอกไม้แห้งช่อน้อยที่เพื่อนของเธอสั่งมาให้

ถัดมาที่แท่นของสะสมสารพัดแบบ บัวพาเราไปชม scrapbook บันทึกการเดินทางเล่มเหมาะมือ ในนั้นมีรูปฟิล์มสมัยเรียนมหาวิทยาลัย รูปภาพที่เพื่อนของเธอวาดให้ แก้วน้ำใส่เหล้าบ๊วยบนขบวนรถไฟที่เธอมองว่ามันช่างน่ารัก ตั๋วคอนเสิร์ตวงที่แสดงได้เหมือน The Beatles สุดๆ ใบเสร็จร้านขนมแสนอร่อย กระทั่งใบนัดคุณหมอที่โรงพยาบาล

ทุกสิ่งทุกอย่าง บัวบอกว่าไม่ต่างจากตั๋วเดินทางสู่ความทรงจำ

“สิ่งเหล่านี้ก็ไม่ต่างจากตั๋วนั่นแหละ หรือกระทั่งบล็อกที่เราเคยทำสมัยแรกๆ ที่เริ่มตัดกระดาษก็เหมือนตั๋วเดินทางทั้งสิ้น มันเป็นของสัพเพเหระที่เราเก็บไว้และชอบย้อนกลับไปดู ย้อนกลับไปอ่านใหม่ คล้ายเวลาถ่ายรูปแล้วนั่งดูว่ารูปนี้ถ่ายตอนไหน ใช้ฟิล์มอะไร ไปกับใคร ทำกล้องหายตอนไหน ทุกอย่างเป็นตั๋วได้หมด”

 

เพราะชีวิตคือการเดินทาง ไม่ใช่จุดหมาย

ทริปสั้นๆ ของเราใกล้จบลง แต่ทริปของบัวยังคงดำเนินต่อ

“เวลาเดินทางเราไม่ได้คิดถึงปลายทางมากนัก การไปถึงจุดหมายมันก็ดีแต่บางทีเราคิดว่าระหว่างทางมันสนุก สังเกตว่าเราจะจำเรื่องราวระหว่างทางได้มากกว่า แต่คนจะตีความยังไงก็ไม่สำคัญเพราะการเดินทางของแต่ละคนไม่เหมือนกัน 

“ต่อให้เราไม่ค่อยได้เดินทางแต่เราเชื่อว่ามนุษย์ต้องเคลื่อนย้าย ถึงเราจะเป็นคนติดบ้าน ขี้เกียจขนาดไหน ชอบอยู่ในห้องมากๆ ก็ต้องออกเดินทางเพื่อเจออะไรบางอย่าง

“การเดินทางที่เราหยิบมาในนิทรรศการครั้งนี้เป็นเพียงช่วงหนึ่งของชีวิตและมันยังไม่สิ้นสุดง่ายๆ เดี๋ยวเราก็ต้องไปนั่งรถเมล์อีก ถึงไม่ได้จัดนิทรรศการแบบนี้แต่เรายังสนุกกับการหยิบมาทำงาน เพราะเราไม่ใช่คนจดไดอารี ไม่พกกล้องถ่ายรูป พอกลับมาดูตั๋วและได้คิดว่าจะตัดยังไงเลยทำให้เราได้รีไรต์สิ่งที่เจออีกรอบ ได้กลับไปสร้างสิ่งใหม่จากสิ่งเดิมจนทำให้เรารู้สึกว่าเราเห็นภาพตอนนั้นชัดขึ้น

“ถ้าคนมาดูแล้วอยากเดินทางมันคงมหัศจรรย์มาก (หัวเราะ) นิทรรศการครั้งนี้จึงเหมือนเราได้แง้มชีวิตช่วงหนึ่งของเราให้คนชมแบบเงียบๆ มากกว่า ถ้าเขารู้สึกเชื่อมโยงกับตั๋วสักใบของเรา หรืออาจอยากลองเก็บของเล็กๆ น้อยๆ เราก็ดีใจแล้ว” บัวปิดท้ายทริปสั้นๆ ของเราลงเพียงเท่านี้แล้วอวยพรให้โชคดีเมื่อเดินทางกลับ

น่าเสียดายที่วันนี้ไม่มีตั๋วเดินทางจากรถเมล์หรือเรือด่วนให้เก็บ แต่อย่างน้อยรูปภาพนิทรรศการที่เราถ่ายเก็บไว้ก็คงเป็นตั๋วเดินทางสำหรับวันนี้ได้แล้ว


นิทรรศการ Ticket to Ride จัดขึ้นที่ VS Gallery ตั้งแต่วันที่ 17 ธันวาคม 2563 – 13 กุมภาพันธ์ 2564 

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรม และศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อย รวบรวมผลงานไว้ที่ pathipolr.myportfolio.com