a day experience: The Reader’s Secret ใจความง่ายๆ ของหนังสือ คือมีไว้ให้อ่าน

ท่ามกลางบรรยากาศอันสงบเงียบในยามบ่ายวันอาทิตย์ สถานที่ใดจะควรคู่กับการพูดคุยเรื่องหนังสือได้เท่ากับร้านหนังสืออีกเล่า ในวันอาทิตย์ที่ 28 เมษายนที่ผ่านมา a day จึงจัดกิจกรรมชวนผู้อ่านมาล้อมวงสนทนาไขความลับของนักอ่านในงาน ‘The Reader’s Secret’ ณ ร้านหนังสือ Bookmoby  ซึ่งเป็นร้านหนังสือที่ให้บรรยากาศเหมือนเดินเข้าไปสำรวจห้องหนังสือลับในท้องปลาวาฬ

หนังสือที่อัดอ้วนเรียงรายอยู่เต็มชั้นคล้ายกับกำลังอ้าแขนต้อนรับพวกเราทุกคนให้เข้ามาสำรวจน่านฟ้าอันกว้างใหญ่ที่เรียกว่าการอ่านและจักรวาลของหนังสือ

พวกเรานั่งกระชับวงเข้าหากัน เริ่มต้นแนะนำตัว และพูดคุยกันสบายๆ ก่อนจะเริ่มเสวนาและแนะนำหนังสือของแต่ละคน นักอ่านสองคนที่มาร่วมสนทนาและร่วมแบ่งปันประสบการณ์ในฐานะ ‘นักอ่าน’ คนแรกคือ วีรพร นิติประภา นักเขียนเจ้าของรางวัลซีไรต์ 2 สมัย ผู้เขียน ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต และ พุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำ และ คาลิล พิศสุวรรณ นักเขียน นักวิจารณ์ และคอลัมนิสต์คลื่นลูกใหม่ ที่จะมาร่วมชงบทสนทนาให้ข้นจนตกตะกอน

หนังสือคือสื่อสะท้อน

“เราจะรู้จักใครสักคนก็จากหนังสือที่เขาอ่าน”

หนังสือคือส่วนสำคัญที่หลอมและสร้างความเป็นคนคนหนึ่ง ถึงขนาดที่มีคนพูดว่าหากอยากรู้จักใครสักคนให้ลึกซึ้งแล้ว ให้ลองทำความรู้จักหนังสือที่เขาอ่านด้วย หนังสือและเจ้าของหนังสือจึงไม่ต่างกับกระจกฝ้าที่สะท้อนกันอยู่ หนังสือแต่ละเล่มรีเฟลกซ์ชีวิตและสะท้อนความคิดของคนคนนั้นได้ อาจจะไม่ใช่ทั้งหมด แต่อย่างน้อยหนังสือที่ถืออยู่ในมือก็สามารถสะท้อนมุมมองต่อตัวเองและโลกของคนคนหนึ่งไม่มากก็น้อย

วงสนทนาของเราจึงเริ่มต้นด้วยการแนะนำตัว การศึกษา อาชีพ และหนังสือที่เลือกมาแชร์เรื่องราวกัน เพราะแบ็กกราวนด์ชีวิตเป็นตัวแปรที่สามารถบอกได้ว่าคนคนหนึ่งจะมองหนังสือหนึ่งเล่มด้วยมุมมองแบบไหน

นักอ่านที่มาร่วมวงสนทนากับเราในครั้งนี้มีหลากช่วงวัยและหลายอาชีพ ทั้งนักศึกษา วิศวกร นักเขียน นักวาดภาพประกอบ ข้าราชการ บรรณาธิการ กราฟิกดีไซเนอร์ ฯลฯ ซึ่งกว่าครึ่งเป็นคนที่ทำอาชีพคลุกคลีอยู่กับหนังสือและเป็นหนอนหนังสือตัวยง จุดร่วมหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับวงสนทนาในครั้งนี้คือ หนังสือที่แต่ละคนเลือกมาล้วนเกี่ยวกับ ‘ความฝัน’ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นหนังสือบันทึกการเดินทาง การ์ตูน นวนิยาย กราฟิกโนเวล และหนังสือปรัชญาการใช้ชีวิต แต่ละเล่มล้วนยึดโยงกันด้วยธีมความฝันและการค้นหา

เราเปิดวงสนทนาด้วยนวนิยายเชิงปรัชญาเรื่อง โจนาธานลิฟวิงสตัน: นางนวล หนุ่มนักอ่านผู้เป็นวิศวกรแชร์เรื่องราวอย่างย่นย่อของนกนางนวลชื่อโจนาธานผู้มีฝันอยากบินให้สวยงามและสมบูรณ์แบบที่สุด ไม่ได้สักแต่คิดเรื่องหากินและทำรังวางไข่อย่างนกตัวอื่นๆ จนนกตัวอื่นมองว่าโจนาธานเป็นนกประหลาด จนสุดท้ายความฝันและการฝึกบินทำให้โจนาธานค้นพบและเข้าสู่สัจจะของชีวิต

ส่วนนักอ่านอีกคนนำหนังสือการ์ตูนเรื่อง Space Brothers ซึ่งเป็นหนังสือการ์ตูนญี่ปุ่นเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของพี่น้องที่มีความฝันอยากไปดวงจันทร์ ระหว่างเรื่องก็สอดแทรกเกร็ดความรู้เรื่องการเป็นนักบินอวกาศไปด้วย แม้เรื่องราวจะเน้นไปที่การเดินทางตามความฝันแบบ ‘From Zero to Hero’  แต่ก็เล่าเรื่องความสัมพันธ์อกมาได้ดี เมื่ออ่านการ์ตูนเรื่องนี้แล้ว นักอ่านคนนี้เล่าว่าเหมือนเธอได้ปลดล็อกอะไรบางอย่าง เพราะในเรื่องนี้พยายามส่งสารสำคัญที่ว่า ถ้าเรามีประสบการณ์ในการทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งสำเร็จแล้ว เราจะไม่กลัวการทำสิ่งใหม่ๆ

ในวงสนทนามีนักอ่านอีกหลายคนที่เคยอ่านเล่มเดียวกันนี้ หลายคนจึงร่วมแชร์ประสบการณ์และความรู้สึกที่มีต่อเล่ม Space Brothers เช่น เหตุการณ์หลายตอนที่ทำให้ซาบซึ้ง การได้เห็นมิติ การพัฒนาของตัวละคร และความสัมพันธ์ของพี่น้องที่มีเลเยอร์ลึกลงไปอีก ซึ่งแต่ละคนอ่านหนังสือเล่มเดียวกันก็จริง แต่ตกตะกอนออกมาเป็นมุมมองและบทเรียนเฉพาะตัว ซึ่งทำให้วงสนทนาจุดติดไปได้เรื่อยๆ จากประเด็นที่แต่ละคนร่วมกันโยนเข้ามา

การอ่านจึงไม่ใช่กิจกรรมที่น่าโดดเดี่ยว เพราะเรากำลังร่วมผจญภัยในโลกเดียวกันกับคนอีกหลากหลาย การได้แชร์ประสบการณ์ต่อหนังสือเล่มหนึ่ง จึงเหมือนการเอาโลกของแต่ละคนมาแลกกัน

 

โยนไอเดียสลับ แล้วจับมาขมวด

รูปแบบของวงสนทนาของเราจึงดำเนินไปในรูปแบบที่มีการโยนสลับไปมา หนังสือเล่มไหนที่เชื่อมโยงกับเล่มอื่นของเพื่อนๆ นักอ่านก็จะร่วมกันถาม-ตอบจนแตกยอดไปสู่ประเด็นอื่นๆ การสนทนานี้จึงไม่ใช่การแชร์ไอเดียแค่หนังสือที่แต่ละคนนำมาเท่านั้น แต่กลายเป็นวงสนทนาที่มาโยนและรับไอเดียจากคนต่างมุมมอง ซึ่งการพูดคุยเรื่องหนังสือได้ขยายไปถึงพฤติกรรมการอ่านของแต่ละคน หนังสือที่อ่านในวัยเด็ก เรื่องแพลตฟอร์มการอ่านที่เปลี่ยนไป ทั้งการอ่านในออนไลน์และรูปแบบวรรณกรรมแบบห้องแชต รวมถึงประเด็นเวลาที่หายไปสำหรับการอ่านหนังสือ

นักอ่านหลายคนยอมรับว่าไม่สามารถแบ่งเวลาให้กับการอ่านหนังสือแบบเมื่อก่อน สาเหตุหลักๆ ที่ยกขึ้นมาคือเวลางานที่พรากเวลาส่วนตัวไป และไม่สามารถมีสมาธิจดจ่อกับการอ่านได้อย่างเมื่อก่อน ทำให้นักอ่านสารภาพว่าชั่วโมงในการอ่านหนังสือลดลงอย่างมีนัยสำคัญ การอ่านเรียกร้องเวลาและพลังมากกว่าจะเป็นงานอดิเรก ในขณะเดียวกันก็มีนักอ่านบางคนแชร์ว่า ถ้าถึงขนาดจะจับคำว่าวินัยไปอยู่บรรทัดเดียวกับการอ่านก็คงจะไม่ใช่ เพราะอะไรที่ต้องทำโดยหน้าที่หรือเป็นระเบียบบังคับจะทำให้สูญเสียสุนทรีย์ไปอย่างน่าเสียดาย ซึ่งนักอ่านหลายคนก็ร่วมแลกเปลี่ยนเรื่องการทวงคืนเวลาอ่านหนังสือกลับมาในแบบของแต่ละคน บ้างพยายามพกหนังสือติดตัวไปอ่านในที่สาธารณะ บนรถโดยสาร หรือพวกไปอ่านในห้องน้ำ

วีรพรได้แชร์ความลับของการเป็นนักอ่านของเธอว่า เราน่าจะทำการอ่านให้เป็นเหมือนพิธีกรรมรูปแบบหนึ่ง นักอ่านต้องตั้งใจจดจ่อที่จะอยู่กับหนังสือเล่มหนึ่งและจะไม่ลุกไปไหนเหมือนให้คำมั่นสัญญาต่อกัน ในนวนิยายของเธอเองก็มีการใส่บทเพลงสำหรับฟังประกอบบทบทหนึ่ง เพื่ออยากให้นักอ่านนั่งลงนิ่งๆ จัดแจงเตรียมเปิดเพลงนั้นคลอไปกับการอ่านหนังสือ เพราะนักเขียนเขียนหนังสือขึ้นมาแรมปีเพื่อให้คนอ่าน คนอ่านก็น่าจะตั้งใจและจดจ่ออยู่กับเรื่องราวนั้นเพื่อดื่มด่ำอรรถรสด้วยเช่นกัน ในฐานะที่วีรพรเป็นทั้งนักเขียนและนักอ่าน เธอบอกว่าใจความง่ายๆ ของการหาเวลาอ่านหนังสือนั้นแสนเรียบง่ายคือการนั่งลงและอ่านมัน

นักอ่านหลายคนเสนอว่าการอ่านหนังสือเหมือนความสัมพันธ์ระยะยาวที่ต้องมีคำมั่นสัญญาต่อกัน เมื่อเลือกกันแล้วก็ควรจะเปิดอ่านและทำความรู้จักอย่างจริงจัง แต่สิ่งที่น่าจะทำให้เกิดขึ้นในสังคมการอ่านในเมืองไทยคือ การจัดกิจกรรมสนทนาเกี่ยวกับหนังสือให้มากขึ้น จัดบุ๊กคลับที่เปิดโอกาสให้คนอ่านคอเดียวกันมาร่วมแลกเปลี่ยนกัน การได้พบเพื่อนร่วมทางในถนนหนังสือน่าจะทำให้การอ่านไม่โดดเดี่ยวจนเกินไปนัก แถมยังได้เพื่อนร่วมทางที่จะคอยสนับสนุนเรื่องการอ่านต่อๆ ไปด้วย

ภาพถ่าย : ณัฐนิช ชนะฤทธิชัย

AUTHOR