“อ่านหนังสือไปทำไม” ใคร่ครวญตัวเองไปกับเด็กหนุ่มและเจ้าแมวใน ปาฏิหาริย์แมวลายส้มผู้พิทักษ์หนังสือ

Highlights

  • ปาฏิหาริย์แมวลายส้มผู้พิทักษ์หนังสือ คือผลงานแฟนตาซีจากนักเขียนชื่อดัง Sosuke Natsukawa ได้รับการแปลไปแล้วกว่า 15 ภาษาทั่วโลก ทั้งยังได้รับรางวัลรองชนะเลิศ Japanese Booksellers Award ที่มอบให้นิยายญี่ปุ่นร่วมสมัย ซึ่งได้รับการยกย่องในระดับสากลว่าเป็นผลงานชั้นยอด
  • ว่าด้วยเรื่องราวของนัตสึกิ รินทาโร่ นักเรียนหนุ่มมัธยมปลาย อาศัยอยู่กับปู่ที่เป็นเจ้าของร้านหนังสือเก่าแห่งหนึ่ง เมื่อปู่เสียชีวิตกะทันหัน เด็กหนุ่มได้สืบทอดกิจการต่อแต่ตัวเขากลับไม่มั่นใจว่าจะทำได้ ในตอนนั้นเองแมวลายส้มพูดได้ที่แอบอยู่ในร้านก็ปรากฏตัว และขอให้รินทาโร่ร่วมเดินทางไปปกป้องหนังสือให้พ้นจากเงื้อมมือของศัตรู
  • นอกจากความสนุกสนานที่จะได้รับจากการเดินทางของคู่หูคนกับแมวคู่นี้แล้ว สิ่งที่รินทาโร่พบเจอจะช่วยทบทวนความรักของเขาที่มีต่อหนังสือ ซึ่งในขณะเดียวกันเราที่เป็นผู้อ่านก็ได้ทบทวนพฤติกรรมและมุมมองต่อการอ่านของตัวเองไปด้วย

ในช่วงหลังๆ มานี้ ฉันพบว่าสำนักพิมพ์ไทยพิมพ์หนังสือแปลที่เกี่ยวกับแมวออกมาเป็นจำนวนมาก (และตัวฉันเองก็เสียเงินซื้ออ่านไปหลายเล่ม) ส่วนใหญ่เจ้าแมวในเรื่องมักเป็นตัวละครสำคัญที่เคียงข้างตัวเอกเกือบทุกเล่ม ทั้งยังมีบทบาทหลักในการเป็นจุดเปลี่ยนของเรื่อง ถือว่าเป็นสัตว์เด่นๆ ที่ปรากฏตัวในหนังสืออยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะฝั่งงานเขียนญี่ปุ่น จนทำให้รู้สึกว่าแมวดูเป็นสัตว์ประจำตัวนักเขียนนักอ่านไปแล้ว

ล่าสุดฉันได้อ่านนิยายร่วมสมัยแนวแฟนตาซีที่มีชื่อว่า ปาฏิหาริย์แมวลายส้มผู้พิทักษ์หนังสือ ของนักเขียนชื่อดัง Sosuke Natsukawa แปลไปแล้วกว่า 15 ภาษาทั่วโลก แถมยังได้รับรางวัลรองชนะเลิศ Japanese Booksellers Award ที่มอบให้นิยายญี่ปุ่นร่วมสมัย ซึ่งได้รับการยกย่องในระดับสากลว่าเป็นผลงานชั้นยอด

สำนักพิมพ์ Bibli เลือกหยิบเล่มนี้มาแปลโดยคงภาพประกอบเดิมที่วาดโดย Hikari Miyazaki เอาไว้ แน่นอนว่าใครเห็นหน้าปกต้องหยิบมาพลิกดูแน่ๆ แต่ที่ทวีความน่ารักไปอีกคือ ใครที่สั่งหนังสือช่วงพรีออร์เดอร์จะได้สติกเกอร์ลายภาพประกอบแถมมาด้วย เรียกว่าล่อลวงนักอ่านกันสุดๆ นี่ยังไม่นับแพ็กเกจจิ้งสวยๆ ที่จะได้รับหากคุณสั่งกับสำนักพิมพ์อีกนะ

หนังสือปกน่ารักเล่มนี้ว่าด้วยเรื่องราวของ นัตสึกิ รินทาโร่ นักเรียนหนุ่มมัธยมปลาย อาศัยอยู่กับปู่ที่เป็นเจ้าของร้านหนังสือเก่าแห่งหนึ่ง เมื่อปู่เสียชีวิตกะทันหัน เด็กหนุ่มได้สืบทอดกิจการต่อแต่ตัวเขากลับไม่มั่นใจว่าจะทำได้ ในตอนนั้นเองแมวลายส้มพูดได้ที่แอบอยู่ในร้านก็ปรากฏตัว และขอให้รินทาโร่ร่วมเดินทางไปปกป้อง ‘หนังสือ’ ให้พ้นจากเงื้อมมือของ ‘ศัตรู’ ที่เกลียดชังหนังสือ การผจญภัยในเขาวงกตของคนกับแมวจึงเริ่มต้นขึ้น

อ่านเรื่องย่อแล้วดูเป็นงานเขียนแนวฟีลกู้ดอบอุ่นๆ ใช่ไหม แต่แท้จริงแล้วฉันคิดว่ามันคือหนังสือที่วิพากษ์วิจารณ์การอ่าน จิกกัดคนอ่านและคนทำงานด้านหนังสือประมาณหนึ่งเลย โดยถ่ายทอดออกมาในรูปแบบแฟนตาซีๆ คล้ายว่าอ่านไลต์โนเวลอยู่

“ข้าต้องการพลังของเจ้า รุ่นที่สอง” เจ้าเเมวลายส้มได้กล่าวไว้ และนั่นได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการเดินทางครั้งนี้

แรกเริ่มรินทาโร่เป็นเด็กหนุ่มธรรมดาผู้ใช้ชีวิตแบบเรื่อยเปื่อยเอื่อยเฉื่อย ไม่ค่อยสนใจอะไรหรือใครนัก ออกจะพูดน้อยและเก็บตัวเสียด้วยซ้ำ สิ่งที่เขาพอผูกพันได้มากที่สุดคงหนีไม่พ้นปู่ที่ทิ้งร้านหนังสือมือสองไว้ให้เขาดูแลต่อ และเหล่าหนังสือเก่าใหม่ที่อัดแน่นตามชั้นวาง ส่วนใหญ่เป็นวรรณกรรมคลาสสิกของนักเขียนผู้ยิ่งใหญ่ อาทิ อองตวน เดอ แซงเตก-ซูเปรี, กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ, ฟรานซ์ คาฟคา, ฟีโอดอร์ ดอสโตเยฟสกี เป็นต้น

ทว่าเมื่อปู่ตายอย่างกะทันหัน เขาพบกับเจ้าแมววิเศษพูดได้ ทุกอย่างที่เคยดำรงมาอย่างสามัญก็พลันเปลี่ยนไป ใครจะไปคิดว่าหลังร้านหนังสือเก่าอันมืดสลัวจะกลายเป็นประตูสู่อีกมิติ ที่เด็กหนุ่มต้องออกเดินทางไปพร้อมกับแมวลายส้มผู้พิทักษ์หนังสือ เพื่อปลดปล่อยเหล่าหนังสือที่ถูกจองจำ

นอกจากความสนุกสนานที่ผู้อ่านจะได้รับจากการเดินทางของคู่หูคู่นี้แล้ว สิ่งที่รินทาโร่พบเจอจะช่วยทบทวนความรักของเขาที่มีต่อหนังสือ ซึ่งในขณะเดียวกันเราที่เป็นผู้อ่านก็ได้ทบทวนพฤติกรรมและมุมมองต่อการอ่านของตัวเองไปด้วย

คุณลองจินตนาการถึงการ์ตูนที่ฝั่งตัวเอกต้องออกเดินทางไปต่อสู้กับฝั่งตัวร้ายดู ฉันว่าปาฏิหาริย์แมวลายส้มผู้พิทักษ์หนังสือ ให้เซนส์แบบนั้นเช่นกัน เพราะด้วยพล็อตที่แสนแฟนตาซีและการบรรยายถึงฉากต่างๆ ทำให้เหมือนว่ากำลังอยู่ในโลกแห่งจินตนาการ เพียงอีกฝั่งแค่ไม่ใช่ปีศาจร้ายหน้าตาน่ากลัว แต่เป็นเหล่าบอสในเขาวงกตที่กักเก็บหนังสือไว้ โดยมีปมเกี่ยวกับหนังสือที่รอให้รินทาโร่มาคลี่คลาย

เขาวงกตทั้งสี่ที่เด็กหนุ่มต้องไปพิชิตภารกิจ ได้แก่

เขาวงกตแห่งที่หนึ่ง : ผู้กักขัง ตัวแทนของนักอ่านผู้เน้นปริมาณ ตะบี้ตะบันอ่านเพราะกลัวว่ามีหนังสืออีกมากที่ยังไม่ได้อ่าน

เขาวงกตแห่งที่สอง : ผู้ตัดฉับๆ ตัวแทนของผู้พยายามหาวิธีอ่านให้รวดเร็วที่สุด ด้วยการย่อหรือตัดตอนให้สั้นลงจนอ่านจบภายในเวลาไม่นาน

เขาวงกตแห่งที่สาม : ผู้ขายดี ตัวแทนของผู้ที่เชื่อว่าหนังสือที่ดีคือหนังสือที่ขายดี (ฉันคิดว่าผู้เขียนตั้งใจสื่อสารถึงคนทำหนังสือหรือสำนักพิมพ์)

เขาวงกตแห่งสุดท้าย : ลาสต์บอสที่จัดการได้ยากที่สุด

แม้ฉันจะสรุปมาสั้นๆ จนดูเหมือนอีกฝั่งเป็นผู้ร้ายไป แต่ที่จริงแล้วการปะทะของรินทาโร่กับเหล่าบอสทั้งหลายจะมีการถกเถียง โดยต่างคนต่างยกเอาเหตุผลของตนมาประกอบอย่างค่อนข้างรับฟังได้ โดยเฉพาะถ้าผู้อ่านเป็นหนอนหนังสืออยู่แล้วอาจเคยมีความคิดหรือทำแบบเดียวกับพวกเขาเลยด้วยซ้ำ (สารภาพว่าฉันเองก็เคยคิดแบบบอสคนแรก)

แต่จากมุมมองของฉัน ถึงแม้สุดท้ายแล้วผู้เขียนจะพยายามรังสรรค์ให้คำพูดของรินทาโร่เหมือนคำแนะนำที่ทำหน้าที่กระตุกใจให้คนคิดตาม ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีน้ำเสียงของการตัดสินว่าอะไรผิดอะไรถูกอยู่ดี หรือถ้าพูดแบบเข้าใจง่ายคือ ผู้เขียนเขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาเพื่อเป็นภาชนะสื่อสารความเชื่อหรือทัศนะของตนที่มีต่อการอ่าน จึงไม่แปลกใจที่จะมีผู้อ่านบางคนไม่ชอบเลย เพราะเป็นการสื่อสารแบบปลายปิด

ขณะเดียวกันฉันมองว่าสิ่งนี้ก็ไม่ผิดอะไร เพราะยอมรับว่าตัวฉันหรือกระทั่งนักอ่านคนอื่นๆ ย่อมมีทัศนะต่อการอ่านหนังสือที่ทั้งชอบและไม่ชอบเช่นเดียวกัน ซึ่งจากที่ผู้เขียนฟันธงการกระทำของนักอ่านในเขาวงกตไปแบบนั้น ทำให้ฉันหันมาพิจารณาพฤติกรรมการอ่านของตัวเองในอดีตและปัจจุบันอย่างตรงไปตรงมามากขึ้น และในการปะทะของรินทาโร่กับบอสแต่ละคน ฉันเชื่อว่าผู้อ่านคงยกเหตุผลของตนมาโต้แย้งหรือสนับสนุนไม่ฝั่งใดก็ฝั่งหนึ่งไปด้วยโดยไม่รู้ตัว โดยทั้งหมดนี้อาจเป็นความตั้งใจของผู้เขียนก็เป็นได้ หรืออย่างน้อยที่สุดฉันก็นำประเด็นเหล่านี้ไปพูดคุยกับเพื่อนผู้ชอบอ่านหนังสือเหมือนกันได้เป็นชั่วโมงๆ เชียว

ทั้งนี้ จากหนังสือความหนา 200 กว่าหน้าที่เล่าถึงการพิชิตภารกิจปลดปล่อยหนังสือและการเติบโตของตัวละคร ฉันพบว่ามีหลายคำพูดเกี่ยวกับการอ่านหนังสือที่น่าสนใจ ซึ่งหากคุณเป็นคนที่อ่านหนังสือมาตลอดหลายปี ยังไงก็น่าจะเห็นด้วยกับถ้อยคำเหล่านี้

“การอ่านหนังสือก็คล้ายกับการปีนเขา การอ่านหนังสือไม่ควรหวังแค่ความสำราญหรือความน่าตื่นเต้น บางครั้งเราต้องดื่มด่ำลงไปทีละประโยค อ่านเนื้อหาเดิมซ้ำไปซ้ำมา หรืออ่านช้าๆ พร้อมกับกุมขมับไปด้วย งานที่ยากลำบากนั้นช่วยเปิดโลกทัศน์ให้เราแบบไม่ทันตั้งตัว เหมือนเวลาปีนถึงยอดเขาแล้วเห็นทิวทัศน์กว้างไกล” หน้า 98

“หนังสือเล่าความคิดของคนมากมาย คนที่กำลังทุกข์ทรมาน คนที่กำลังเศร้า คนที่กำลังยินดี คนที่กำลังยิ้ม…พวกผมได้รู้จักจิตใจของคนอื่นนอกจากตัวเองด้วยการสัมผัสเรื่องราวของคนเหล่านั้นและร่วมรู้สึกไปกับพวกเขา ไม่ใช่แค่คนใกล้ตัว กระทั่งจิตใจของคนที่อาศัยในโลกซึ่งแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง พวกผมก็รับรู้ผ่านหนังสือ” หน้า 204

ใช่–ฉันคิดว่าการอ่านคือวิธีการหนึ่งที่ช่วยให้เราได้เรียนรู้เรื่องราวและประสบการณ์ของคนอื่นได้โดยที่ไม่ต้องไปประสบพบเจอเอง เราสามารถรับรู้ถึงความเจ็บปวดของคนที่สูญเสียคนรัก ห้วงเวลาสุดท้ายก่อนจากโลกนี้ไป หรือกระทั่งความนึกคิดของคนที่ตายไปแล้วเมื่อร้อยปีก่อน แต่ขณะเดียวกันฉันก็ไม่ได้อยากยกย่องการอ่านให้ดูสูงส่งหรือเฉพาะกลุ่มจนเกินไปนัก มีโอกาสอ่านได้ก็อ่าน ไม่อยากอ่านหรืออ่านไม่ได้ก็เรียนรู้แบบอื่นเอาตามที่ถนัดและชีวิตจะเอื้ออำนวย

เพราะสุดท้ายแล้ว ต่อให้คุณอ่านหนังสือมากแค่ไหน ฟังจากใครมาสักเท่าไหร่ ดูหนังมาสักกี่พันเรื่อง ก็สู้ใช้ชีวิตจริงๆ เองไม่ได้ ดังที่ปู่เจ้าของร้านหนังสือได้สอนรินทาโร่ก่อนตายไว้ว่า

ถึงจะอ่านหนังสือเป็นบ้าเป็นหลัง โลกที่เรามองเห็นก็ไม่ได้กว้างขึ้นตามไปด้วยหรอก ต่อให้หาความรู้ใส่ตัวมากสักแค่ไหน แต่ถ้าไม่คิดด้วยสมองตัวเองและเดินด้วยขาตัวเอง ทุกสิ่งทุกอย่างก็จะเป็นเพียงของที่หยิบยืมคนอื่นมาโดยไม่มีแก่นสาร

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ

ช่างภาพนิตยสาร a day ที่เพิ่งมีพ็อกเก็ตบุ๊กเล่มใหม่ชื่อ view • finder ออกไปเจอบอลติก ซื้อสิ ไปซื้อ เฮ่!