The Book of Homelessness หนังสือภาพเล่มแรกของโลกที่เด็กๆ ไร้บ้านวาดชีวิตของตัวเองด้วยตัวเอง

Highlights

  • แม้ว่าในชีวิตประจำวันเราจะพบเจอคนไร้บ้านอยู่ทุกหัวมุมถนน แต่มีใครเคยรู้บ้างว่าเรื่องราวชีวิตของพวกเขาเป็นยังไง
  • The Book of Homelessness คือหนังสือภาพเล่มแรกของโลกที่เด็กๆ ไร้บ้านช่วยกันวาดภาพถ่ายทอดเรื่องราวของตัวเองออกมา ทั้งเหตุการณ์สุข ทุกข์ และบาดแผลในชีวิต
  • โปรเจกต์หนังสือภาพนี้ต่อยอดจากโปรเจกต์ Accumulate–The Art School for The Homeless หรือโรงเรียนศิลปะเพื่อคนไร้บ้าน ที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อให้เด็กๆ ในลอนดอน ประเทศอังกฤษ มีทักษะศิลปะ ต่อยอดเป็นอาชีพได้ รวมไปถึงมีทุนการศึกษาด้านศิลปะให้เด็กๆ ด้วย

นานครั้งผมจะมีโอกาสผ่านไปย่านหัวลำโพงเพื่อต่อรถไฟใต้ดินกลับบ้าน พื้นที่ตรงนั้นเรียงรายไปด้วยคนที่อาศัยฟุตพาท ชายคาตึก หรือขั้นบันไดเป็นที่พัก บ้างกำลังนั่งตักแกงถุงเข้าปาก บ้างนอนบนเสื่อผืนหัวหนุนกระเป๋าใบใหญ่ ภาพที่เห็นไม่อาจบอกได้ชัดว่าแต่ละคนอยู่ตรงนี้มานานเท่าไหร่ บางคนอาจแค่นั่งพักชั่วคราวก่อนเดินทางต่อ แต่กับบางคน หลักฐานการใช้ชีวิตบนเนื้อตัวและสิ่งที่ตกหล่นอยู่รอบตัวก็ทำให้เดาได้ว่าพวกเขาใช้พื้นที่ตรงนี้เป็นเสมือนบ้านมานานพอควร

หลายครั้งที่เดินผ่านตรงนั้น ใจหนึ่งอยากลองไปนั่งข้างๆ ถามเขาว่ามาจากไหน กำลังจะไปที่ไหน ชีวิตก่อนหน้านี้ของเขาเป็นยังไง สุดท้ายเวลากับภาระที่รออยู่ข้างหน้าก็ผลักให้เราก้าวเท้าผ่านคนเหล่านั้นไปเฉยๆ

คนไร้บ้านหรือ ‘homeless’ คือเพื่อนร่วมเมืองที่เราพบในทุกวัน ไม่ใช่แค่หัวลำโพงแต่แทบทุกมุมเมืองที่เราผ่าน แม้มีงานศิลปะและสื่อมากมายพูดถึงคนไร้บ้าน หรือเราอาจจะเคยเห็นชีวิตของพวกเขาบ่อยๆ ผ่านภาพถ่ายสตรีท สกู๊ปข่าวในทีวี หรือหนังสารคดีที่เข้าไปเก็บเรื่องราวของพวกเขามาเล่าบนจอ ทว่าเรากลับรู้จักคนกลุ่มนี้น้อยมาก สื่อที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นแค่การพูดแทนและเล่าต่อของใครบางคนเท่านั้น เราไม่เคยฟังเรื่องราวของคนไร้บ้านที่เล่าโดยคนไร้บ้านจริงๆ เลยสักครั้ง

หากคนไร้บ้านเล่าอะไรสักอย่างให้เราฟังได้ เขาจะอยากเล่าอะไร?” คือคำถามที่กลายมาเป็นหนังสือ The Book of Homelessness หนังสือภาพเล่มแรกของโลกที่สร้างสรรค์โดยคนไร้บ้าน

the book of homelessness

 

The House of Homelessness

จุดเริ่มต้นของหนังสือเล่มนี้ย้อนกลับไปในปี 2013 YMCA Hostel ในย่าน North London ประเทศอังกฤษ โฮสเทลแห่งนี้ถูกใช้เป็นสถานที่พักพิงของคนไร้บ้านในลอนดอนโดยเฉพาะกลุ่มเยาวชน ปัญหาคือเมื่อเด็กและวัยรุ่นไร้บ้านจากหลากหลายที่มารวมตัวกันโดยไม่มีเป้าหมายว่าจะใช้ชีวิตยังไงต่อไป ความเสี่ยงที่พวกเขาจะเลี้ยวสู่เส้นทางอาชญากรรมและความรุนแรงจึงมีสูง โฮสเทลจึงขอความร่วมมือจาก Marice Cumber ผู้จัดงานด้านศิลปวัฒนธรรมในย่าน Crouch End ที่อยู่ละแวกใกล้เคียง โดยให้โจทย์ไปว่า ‘ศิลปะ’ จะพัฒนาชีวิตวัยรุ่นไร้บ้านให้เติบโตไปในทางที่สวยงามได้ยังไงบ้าง

‘Accumulate–The Art School for The Homeless’ หรือโรงเรียนศิลปะเพื่อคนไร้บ้านจึงถูกก่อตั้งขึ้น โดยมีทุนตั้งต้นเป็นการนำผลไม้เหลือทิ้งจากที่คนบริจาคให้ YMCA Hostel มาแปรรูปเป็นแยมขาย จากนั้นจึงนำเงินที่ได้มาจัดเวิร์กช็อปศิลปะและการออกแบบให้วัยรุ่นไร้บ้าน เมื่อมีคอร์สแล้วพวกเขาก็ชักชวนครูจากมหาวิทยาลัยด้านการออกแบบ Ravensbourne มาเป็นวิทยากรและให้นักศึกษามาเป็นผู้ช่วยสอน

ทุกๆ ปี Accumulate จะจัดคอร์สให้วัยรุ่นทั้งหลายที่นี่เรียนรู้และทำโปรเจกต์ร่วมกัน ทั้งคอร์สถ่ายภาพ ทำหนัง กราฟิกดีไซน์ ภาพประกอบ การเขียนเชิงสร้างสรรค์ แฟชั่น ประติมากรรม และอื่นๆ อีกมาก จุดมุ่งหมายใหญ่คือสร้างทักษะและผลักดันวัยรุ่นไร้บ้านเหล่านี้ให้เข้าสู่ระบบการศึกษาและการจ้างงาน หลังจากจัดคอร์สต่อเนื่องได้สามปี โรงเรียนเฉพาะกิจแห่งนี้ก็เริ่มอยู่ได้ด้วยทุนสนับสนุนและขยับขยายไปเปิดสาขาในโฮสเทลอีก 8 แห่งทั่วลอนดอน

ในปี 2016 จากแค่เวิร์กช็อปประจำปี คัมเบอร์เริ่มต่อยอดโปรเจกต์สู่การมอบกองทุนเพื่อการศึกษา วัยรุ่นในคลาสที่มีความสามารถโดดเด่นจะได้เข้าเรียนในสาขา Creative & Digital Media ที่มหาวิทยาลัย Ravensbourne และสามารถย้ายออกจากโฮสเทลไปมีที่อยู่ของตัวเองได้ จากทุนเดียวในปีแรก ปีถัดมาพวกเขาก็ขยายโควตาเป็นการมอบ 4 ทุน จนถึงตอนนี้โครงการได้ส่งเด็กเข้าเรียนมหาวิทยาลัยไปแล้ว 20 คน

the book of homelessness

the book of homelessness

 

The Book of Homelessness

สำหรับคัมเบอร์ การพาวัยรุ่นไร้บ้านมาเจอกับศิลปะไม่ได้มีเป้าหมายเพียงแค่สร้างงานสร้างอาชีพ แต่เธอมองว่าศิลปะคือเครื่องมือที่ดีที่ทำให้พวกเขาสามารถถ่ายทอดเรื่องของตัวเองออกมาได้

ในหนัง รายการทีวี หรือสารคดีมากมาย คนไร้บ้านมักมีสถานะเป็นเพียง ‘subject’ หรือ ‘คนที่ถูกพูดถึง’ เสมอ น้อยครั้งที่พวกเขาจะมีโอกาสเล่าเรื่องของตัวเองด้วยเสียงของตัวเองจริงๆ และจากประสบการณ์ของคัมเบอร์ ชีวิตคนไร้บ้านที่นำเสนอผ่านสื่อก็ไม่ได้ใกล้เคียงกับประสบการณ์จริงของพวกเขาเลย นั่นทำให้เธอนึกถึงแพลตฟอร์มอะไรบางอย่างที่เหมาะสำหรับคนไร้บ้านที่มีเรื่องจะเล่า

The Book of Homelessness จึงเกิดขึ้น หนังสือขนาด 160 หน้าเล่มนี้บรรจุภาพวาดและกราฟิกเรียงร้อยไปกับบทความและบทกวี โดยศิลปินผู้สร้างสรรค์ผลงานทั้งหมดคือคนไร้บ้านที่อาศัยใน YMCA Hostel และบ้านชั่วคราวที่เข้าร่วมเวิร์กช็อปในโรงเรียนศิลปะเพื่อคนไร้บ้านเป็นเวลาหนึ่งปี

หลายอย่างที่คนเข้าใจผิด การตีตรามากมายที่ผู้คนกระทำต่อคนไร้บ้าน พวกเขาอยากบอกว่านั่นอาจไม่ใช่ความจริงทั้งหมด ความจริงที่แตกต่างออกไปอยู่ที่นี่

ความเจ็บปวด การถูกทำร้าย ความไร้ศักยภาพ ครอบครัว สงคราม การถูกทอดทิ้ง ความรักที่สูญหาย การก้าวผ่านชีวิตที่ยากลำบาก การต่อสู้ และความสำเร็จ เล่าด้วยน้ำเสียงที่เต็มไปด้วยความรู้สึกดิบและตรงไปตรงมา” คัมเบอร์เล่าถึงสิ่งที่บรรจุในหนังสือเล่มนี้

ภาพการ์ตูนที่วาดด้วยลายเส้นขาว-ดำเล่าโมเมนต์ของการถูกพ่อแม่ไล่ออกจากบ้าน, ภาพคอลลาจสีสันสดใสปะติดปะต่อความรู้สึกของ LGBTQ+ ที่ต้องหลบซ่อนตัวตน, ภาพแผนที่แทนเส้นทางเดินของชีวิตที่มีอุปสรรคปะปนกับเรื่องสนุก, ภาพลายเส้นหวือหวาของคนจมน้ำที่กำลังชูมือขอความช่วยเหลือ, ภาพถ่าย self-portrait ที่ปิดปากตัวเองด้วยคำว่า VICTIM

ด้านบนคือส่วนหนึ่งของชีวิตไร้บ้านที่ถูกบอกเล่าในหนังสือ หลายชิ้นก็เป็นภาพลายเส้นไร้เดียงสา หากหลายชิ้นถ้าไม่บอกอาจคิดว่าทำโดยกราฟิกดีไซเนอร์มืออาชีพ

the book of homelessness the book of homelessness the book of homelessness

the book of homelessness

กระบวนการเวิร์กช็อปของ Accumulate เริ่มขึ้นช่วงเดือนมกราคมและต่อเนื่องยาวนานเกือบปี เหตุที่กระบวนการเวิร์กช็อปต้องอาศัยเวลาเป็นสำคัญไม่ใช่แค่เพื่อให้เด็กๆ ในคอร์สฝึกทักษะจนมีฝีไม้ลายมือใกล้เคียงมืออาชีพเพียงอย่างเดียว แต่เวลายังเป็นเครื่องมือสำคัญที่เหล่าวิทยากรและกระบวนกรจากมหาวิทยาลัย Ravensbourne ต้องใช้เพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้ผู้เข้าร่วมเวิร์กช็อปทุกคนรู้สึกเชื่อใจและสามารถเล่าเรื่องราวที่อยากจะเล่าออกมาได้ เพราะหลายเรื่องเป็นบาดแผลใหญ่ในชีวิตพวกเขา ทั้งการถูกข่มขืน ถูกล่วงละเมิด ยาเสพติด การถูกทำร้ายจากครอบครัว ฯลฯ การใช้ ‘การเล่าเรื่อง’ พาพวกเขาข้ามผ่านเรื่องราวเลวร้ายอย่างปลอดภัยและไม่เปิดแผลขึ้นมาจึงสำคัญ

Mitchel หนึ่งในศิลปินในโครงการและเจ้าของผลงานในหนังสือให้สัมภาษณ์กับ The Guardian ว่าบางครั้งการมองกลับไปยังความผิดพลาดที่เคยเกิดขึ้นก็ทำให้เศร้า แต่การได้มองเห็นที่ที่เราจากมา ทั้งเคยเป็นขโมย นอนเต็นท์ เข้า-ออกคุกเป็นว่าเล่น ก็เป็นเรื่องดีที่ได้เห็นว่าตอนนี้ผมกำลังเติบโตไปข้างหน้า

ส่วน Amalia ศิลปินอีกคนในหนังสือเล่าว่าจากประสบการณ์ของคนไร้บ้าน ฉันได้รู้ว่าชีวิตไม่สามารถมอบสิ่งที่คุณต้องการได้เสมอไป แต่ชีวิตมอบศักยภาพให้คุณเป็นคุณในเวอร์ชั่นที่ดีที่สุดได้ ช่วงเวลาที่ได้ทำงานศิลปะและบทกวีในหนังสือทำให้ฉันเห็นพลังของการสร้างสรรค์ มันช่วยให้ฉันเติบโต เปลี่ยนแปลง และเยียวยาฉันจากความไม่มั่นคง จากประสบการณ์ที่ถูกคนในครอบครัวทำร้าย และจากการเป็นคนไร้บ้าน

เห็นหนังสือเล่มนี้แล้ว เราอดไม่ได้ที่จะนึกถึงหนังสือของบ้านเราอย่าง My Echo, My Shadow and Me โดยสำนักพิมพ์ a book และโครงการ Conne(x)t Klongtoey หนังสือเล่มนี้มีรูปแบบและจุดเริ่มต้นใกล้เคียงกันคือเริ่มจากคอร์สการศึกษาเฉพาะกิจด้านศิลปะและการออกแบบ 4 แขนงคือ การแต่งเพลงและผลิตดนตรีแรป ศิลปะการสักและสตรีทอาร์ต การออกแบบแฟชั่น และการถ่ายภาพ ที่จัดขึ้นเพื่อพัฒนาศักยภาพให้เด็กในชุมชนคลองเตย

หนังสือภาพถ่ายเล่มนี้ทำหน้าที่เป็นทั้งผลงานจบคอร์สของเด็กๆ ในคลาสถ่ายภาพ ทั้งยังเป็นประตูให้คนภายนอกเข้าไปสัมผัสชีวิตของเด็กๆ ในชุมชนคลองเตย หนึ่งในชุมชนที่สื่อนำเสนอเรื่องราวมากที่สุดแต่เราแทบไม่เคยได้ยินเสียงจริงๆ จากปากพวกเขาเลย ภาพถ่ายและไดอารีที่เขียนโดยลายมือเด็กในชุมชนจึงพาคนอ่านไปพบโลกอีกใบในคลองเตยที่สื่อใดก็ไม่สามารถพูดแทนได้

 

โมเดลของ Accumulate–The Art School for The Homeless, The Book of Homelessness รวมถึง My Echo, My Shadow and Me ไม่ต่างกัน นั่นคือศิลปะไม่ได้เป็นเพียงกระบวนการสร้างชิ้นงานแต่กลายเป็น ecosystem หรือระบบนิเวศที่ทำให้ผู้คนในกระบวนการสร้างสรรค์เกิดการเรียนรู้และการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดี และมีการหมุนเวียนทรัพยากรไปสู่คนทุกฝ่าย โมเดลแบบนี้แตกต่างจากการช่วยเหลือแบบผู้ให้ผู้รับที่เราคุ้นเคย ซึ่งมีแต่จะผลิตซ้ำสถานะที่สูงกว่าต่ำกว่าขึ้นในสังคม

สำหรับ The Book of Homelessness ทุกคนคือผู้รับ ทุกคนได้เรียนรู้ ทุกคนได้ประโยชน์ไม่ว่าทางใดทางหนึ่ง กำไรจากการขายหนังสือจะแบ่งครึ่งระหว่างโครงการกับศิลปินเจ้าของผลงาน โดยส่วนที่เป็นของโครงการจะกลายเป็นทุนการศึกษาสำหรับปีถัดไป อาจารย์มหาวิทยาลัยได้มีโอกาสเรียนรู้การทำงานกับกลุ่มคนที่ไม่เคยสัมผัส นักศึกษาออกแบบได้ทบทวนความรู้ที่ตัวเองมี ลองฝึกสกิลการสอนตั้งแต่ยังเรียนไม่จบ วัยรุ่นไร้บ้านในโครงการได้ทักษะทางศิลปะและโอกาสในการเรียนต่อที่มากขึ้น และที่สำคัญที่สุด ศิลปะทำให้พวกเขาสามารถเล่าเรื่องที่ตัวเองอยากเล่าในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ไม่ใช่ตัวละครที่ใครต่อใครนำไปเล่าต่อและผลิตซ้ำชุดความคิดเดิมๆ ที่มีต่อคนไร้บ้านออกสู่สังคม

ผมชอบที่หนังสือใช้ชื่อว่า The Book of Homelessness หรือหนังสือของชีวิตที่ไร้บ้านแทนที่จะเป็น The Book of ‘Homeless’ หรือหนังสือของคนไร้บ้านเพราะ หนึ่ง–คงไม่มีใครในหนังสือเล่มนี้อยากถูกแปะป้ายว่าเป็นคนไร้บ้านไปตลอด ความไร้บ้านเป็นเพียงสภาวะหนึ่งให้พวกเขาได้เรียนรู้และถ่ายทอดมันออกมาผ่านงานศิลปะ ความไร้บ้านเป็นส่วนเสี้ยวของชีวิตที่หวังว่าวันหนึ่งมันจะต้องผ่านไป

และสอง–ผมมองว่าหนังสือเล่มนี้ไม่ใช่บันทึกเรื่องราวของคนไร้บ้าน แต่คือหนังสือที่เล่าประสบการณ์ของภาวะไร้บ้าน’ ที่ทุกผู้ทุกคนต้องเคยเผชิญไม่ว่าจะมีบ้านหรือไม่ ชีวิตของคนมีบ้านและคนไร้บ้านอาจดูแตกต่างกัน แต่ลึกๆ ในความเป็นมนุษย์เราไม่ได้ต่างกันมากนัก มนุษย์ทุกคนล้วนเคยรัก ถูกทอดทิ้ง เจ็บปวด สูญเสีย และมีความหวัง เราทุกคนต่างต้องเจอภาวะไร้บ้าน’ ในวันใดวันหนึ่งของชีวิต

และเมื่อวันนั้นมาถึง หวังว่าหนังสือเล่มนี้จะช่วยทำให้รู้ว่าเราจะเรียนรู้และก้าวผ่านมันไปยังไง


อ้างอิง

accumulate.org.uk

creativereview.co.uk

itsnicethat.com

theguardian.com

ภาพประกอบทั้งหมดจาก Accumulate: The Book of Homelessness (Copyright © Book of Homelessness, 2020)

AUTHOR