The Art & Power of Acceptance: ปลดปล่อยตัวเองด้วยศิลปะแห่งการยอมรับ

Highlights

  • หนังสือ The Art & Power of Acceptance ซึ่งเขียนโดย Ashley Davis Bush บอกเล่าถึงเส้นทางที่เราจะพาใจตัวเองไปสู่การยอมรับ ทั้งการยอมรับในตัวเอง ผู้อื่น สถานการณ์ที่ไม่น่าอภิรมย์ หรือแม้แต่บาดแผลในอดีตที่ไม่อาจย้อนเวลาไปแก้ไขได้แล้ว ผ่านกุญแจชื่อ self-compassion 
  • การยอมรับไม่เท่ากับการยอมแพ้หรือการหยุดทำสิ่งต่างๆ ให้ดีขึ้น กลับกันการยอมรับคือทางเลือกที่ทุกคนเลือกได้ เพื่อปลดปล่อยตัวเองจากความทุกข์และการฝืนให้สิ่งต่างๆ เป็นไปอย่างใจต้องการ จนมองเห็นความเป็นไปได้อื่นๆ ที่ยังรอเราอยู่

สำหรับฉัน บางจังหวะความสงบทางใจเหมือนโอเอซิสกลางทะเลทราย 

เดินหาไกลเท่าไหร่ก็ยังไม่เจอ บางครั้งก็เห็นภาพลวงตา วิ่งไปที่จุดหมายที่คิดว่าใช่ หวังว่ามันจะปลดปล่อยชีวิตจากความเหนื่อยล้า แต่ฉันเพิ่งเข้าใจเช่นกันว่า ถ้าเอาแต่วิ่งตามภาพเหล่านั้นเราอาจไม่เคยไปถึง 

ยกตัวอย่าง ฉันมีภาพว่าถ้าคนรักทำตัวดีๆ กับฉันฉันคงจะมีความสุข ถ้าวันนี้ฉันทำงานได้ตามเป้าหมายแปลว่าฉันเก่ง ฉันจะรู้สึกดีและภูมิใจ แต่ในความเป็นจริง คนรักอาจไม่ได้ทำตัวเป็นคนรักที่ดีในวันนั้น การทำงานอย่างเคี่ยวกรำอาจจบวันด้วยความผิดพลาด 

พอสิ่งต่างๆ ไม่เป็นอย่างหวัง ใจฉันก็ผิดหวัง เหมือนตัวเองเป็นเด็กที่ดิ้นปัดๆ อยู่บนพื้นเพราะอยากได้ของเล่น สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาคือ ฉันอาจทะเลาะกับคนรักต่อเป็นชั่วโมง หรือทำงานต่อจนกว่าจะถึงจุดที่ตัวเองพอใจทั้งที่สมองตึงล้า เพื่อให้มัน ‘ได้อย่างที่อยากได้–ตอนนี้ เดี๋ยวนี้’  

สังเกตสิตอนนั้นเป้าหมายยังมาไม่ถึงหรอก แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเองเรียบร้อยแล้ว (โดยฉันไม่ใส่ใจจะหยุดมัน) คือ ความโคตรเหนื่อย โคตรเครียด เราติดกับดักการต่อสู้ที่ยังไม่ชนะ และมีสิทธิพ่ายแพ้เพิ่มเติมเพราะความเครียดกังวลที่ทำให้อ่อนล้าลงไปทุกที 

เพราะแบบนี้การ ‘ยอมรับสิ่งที่เป็น’ ทั้งตัวเรา คนอื่น หรือสถานการณ์รอบตัว จึงสำคัญมากในทางจิตวิทยา

Ashley Davis Bush ผู้เขียนหนังสือชื่อ The Art & Power of Acceptance เป็นนักจิตบำบัด เธออธิบายการยอมรับหรือ acceptance ว่าคือบันไดขั้นสำคัญของการเปลี่ยนแปลงทางจิตใจ 

เวลาประสบปัญหาทางใจ (ไม่ว่าสาเหตุจะเกิดจากสิ่งที่อยู่ภายนอกหรือภายในตัว ถ้ามันกระทบความรู้สึกในการใช้ชีวิตของเรา นั่นล้วนใช่) ในหนังสือเล่มนี้แอชลีย์ร่างภาพเส้นทางคร่าวๆ ที่เราจะไปสู่การเปลี่ยนแปลงให้เห็น และจุดแรกที่ทุกคนต่างเคยเจอคือ resistance หรือการฝืน การต่อต้าน 

เราไม่ยอมรับการเลิกรา เธอต้องไม่เลิกกับฉันแบบนี้ คนนั้นไม่ควรทำกับฉันแบบนั้น งานนี้ทำไมต้องเป็นแบบนี้ ทำไมต้องมาป่วยวันนี้ ฯลฯ ส่วนตัวแล้วจุดไหนเริ่มหัวเสีย คิดว่า ‘มันต้องไม่เป็นแบบนี้’ นั่นแหละใช่เลย 

สมการง่ายๆ ที่เธอเขียนไว้คือ suffering = pain + resistance ความรู้สึกทรมานเกิดจากความเจ็บปวดที่บวกการต่อต้านเข้าไปด้วย เราจะเหนื่อยล้าเพิ่มขึ้นจากการต่อสู้อย่างดิ้นรนว่านี่คือสิ่งที่เกิดกับฉัน แต่ฉันไม่ต้องการสิ่งนั้น และมันจะเป็นสงครามภายในใจเราเอง 

จุดมุ่งหมายโดยตรงของการพาใจมาสู่การยอมรับหรือการวางใจในจุดที่ตรงกับความเป็นจริง (alignment) ไม่ใช่เพื่อไปถึงการเปลี่ยนแปลงที่ปรารถนาเดี๋ยวนั้น แต่คือการช่วยให้เราหลุดจากการต่อสู้ พอเราเลิกต่อสู้ สิ่งที่ได้กลับมาแม้สถานการณ์ยังไม่เปลี่ยนแปลงก็คือความสงบในใจ เมื่อสงบเราก็มีแนวโน้มจะมองอะไรตามจริง คิดหรือตัดสินใจได้ดีขึ้น อาจมองเห็นทางเลือกอื่นๆ ที่ไม่ต้องเป็นอย่างที่คิดว่ามัน ‘ต้องเป็น’ 

เมื่อนั้นเราจึงมาสู่ขั้นของ possibility หรือความเป็นไปได้ที่หลากหลายขึ้น เราจะมองเห็นว่าสิ่งที่ฉันทำได้ในสถานการณ์นี้คืออะไร ความเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีขึ้นจะเกิดขึ้นได้ในขั้นนี้ (‘สิ่งที่ดีขึ้น’ มีได้หลากหลายหน้าตา ฉันคิดว่าแม้สุดท้ายคำตอบไม่เป็นไปอย่างใจนึก แค่เราได้เติบโตและเข้าใจอะไรมากขึ้น นั่นก็อาจนับเป็นสิ่งที่ดีที่เราจะมองเห็นได้มากขึ้นเช่นกัน) 

แต่แน่นอน ปัญหาหนึ่งที่เรามักประสบก็คือ การยอมรับนี่พูดง่ายแต่ทำยาก เหมือนบอกให้ปล่อยวางใครๆ ก็พูดได้ แต่ในการปฏิบัติจริงจะให้ทำยังไง? เรื่องของใจไม่ได้ควบคุมสั่งการได้ขนาดนั้น 

กุญแจสำคัญที่แอชลีย์บอกว่าช่วยให้การยอมรับเป็นไปอย่างง่ายขึ้น คือตัวแปรที่เรียกว่า self-compassion แปลเป็นไทยว่า ความเมตตากรุณาต่อตนเอง 

ขยายความตามความเข้าใจของฉัน คือการที่เรามองเห็นว่าตัวเรากำลังประสบอะไรอยู่บ้าง มองเห็นความรู้สึกที่ตัวเองกำลังเผชิญ รับรู้ความยากลำบาก ความเศร้า ความรู้สึกผิดที่แบกรับ ฯลฯ แทนที่จะรีบไปสู่เป้าหมายว่าทำยังไงถึงจะหลุดพ้นปัญหา กลับมาตรงนี้ก่อนว่าเราเป็นอะไร เหนื่อยไหม กำลังเจออะไรอยู่บ้าง 

แอชลีย์บอกว่า “ความเมตตาต่อตนเองคือการหยิบยื่นความอ่อนโยนให้ตัวเองโดยไม่ตัดสิน โอบรับทุกส่วนที่เราเป็น แม้แต่ในส่วนที่กำลังทุกข์ทรมาน” และหากอิงตามนิยาม self-compassion ของ Kristin Neff นักวิจัยที่ศึกษาตัวแปรนี้ ฉันอยากให้เราลองนึกดูว่า หากมีเพื่อนที่กำลังเจอสิ่งที่เราเจอ เราอยากพูดอะไรดีๆ กับเขาบ้าง ลองนำประโยคพวกนั้นมาบอกตัวเราเองดู

มีงานวิจัยสนับสนุนว่าความเมตตากรุณาต่อตัวเองช่วยลดภาวะวิตกกังวล ซึมเศร้า และความเครียดได้ หากเราฝึกฝนที่จะเมตตากับตัวเองจนกลายเป็นนิสัย สิ่งนี้ยังส่งผลต่อระบบประสาทภายในสมองด้วย 

พอมองตัวเองเป็นเพื่อน แทนที่จะโบยตีตัวเองต่อไปว่า “เห็นไหม แกห่วยว่ะ แกยังทำไม่ได้” หรือ “คนแบบแกก็ไม่แปลกหรอกที่จะไม่มีคนรัก” เราอาจเปลี่ยนมาบอกว่า “เราเห็นแกพยายามมาเยอะเลยนะ เหนื่อยอยู่ตอนนี้ไม่เห็นแปลก ไม่เป็นไร สิ่งที่แกเจออยู่มันสมเหตุสมผลที่จะร้องไห้ ไม่ต้องอดทนตลอดเวลาก็ได้” 

แอชลีย์ให้วิธีการมอบ self-compassion ให้ตัวเอง 3 ขั้นชื่อ ACT ได้แก่ Acknowledge รับรู้ว่าเรากำลังพบกับอะไร รู้สึกอะไร Connect รับรู้ว่าเราไม่ใช่คนเดียวในโลกที่กำลังเผชิญสิ่งเหล่านี้ เราไม่ได้โดดเดี่ยว และ Talk Kindly คุยกับตัวเองอย่างใจดี

ตลอดทั้งเล่มผู้เขียนเล่าถึงการยอมรับในมิติต่างๆ ได้แก่ การยอมรับตัวเอง การยอมรับผู้อื่น การยอมรับสถานการณ์ การยอมรับอดีต โดยยกตัวอย่างเรื่องราวของเคสที่หลากหลาย เช่น พ่อแม่ที่สูญเสียลูก สามีที่โดนภรรยาบอกเลิก หญิงผู้มีปัญหาน้ำหนักตัวและอับอายตัวเอง ฯลฯ พร้อมยกตัวอย่างขั้นตอน ACT ที่แต่ละคนลองใช้ 

อย่างเช่น Cindy หญิงสาวที่กลัวการไปร่วมงานแต่งงานเพื่อนเพราะมีภาวะ panic attack เธอพยายามบอกตัวเองว่า “การต้องไปร่วมงานนี้มันยากสำหรับเธอ เธอเกลียดภาวะนี้และกลัวว่ามันจะทำลายวันดีๆ ของเพื่อนเธอ มันเครียดมากจริงๆ–แต่เธอก็ไม่ใช่คนเดียวที่กำลังเผชิญปัญหานี้ ไม่ใช่คนเดียวที่กลัวว่าตัวเองจะต้องมีอาการแพนิกอีก ที่รัก สุดท้ายเธอจะโอเค เธอจะผ่านมันไปได้” 

ผลลัพธ์คือเธอเกิดภาวะแพนิกระหว่างมื้อค่ำหลังงานแต่งจบลง แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปคือเธอไม่ได้คิดว่า ‘สิ่งนี้ไม่ควรเกิดขึ้น’ แต่มองเห็นว่าตัวเองเผชิญความยากอะไรอยู่จนกลับมาเป็นเพื่อนกับตัวเองได้ พอเธอรับมือตัวเองได้ดีขึ้น เมื่ออาการแพนิกกลับมาเธอจึงกลัวภาวะนี้น้อยลงตามไปนั่นเอง

นี่เป็นแค่ตัวอย่างหนึ่งให้เห็นภาพคร่าวๆ เท่านั้น แอชลีย์เขียนแต่ละบทอย่างค่อนข้างละเอียดลออ ไม่ใช่แค่หนังสือ self-help ให้ทำตามสูตรโดยไม่มีคำอธิบาย ยังมีแง่มุมเล็กๆ อีกเยอะมากที่ถักทอร้อยเรียงให้เข้าใจว่าทำไมการยอมรับจึงสำคัญ รวมทั้งมีแบบฝึกหัดท้ายบทให้เราได้ลองฝึกฝนกับตัวเอง 

ตัวฉันเอง พอกลับมาเห็นว่าตัวเองพยายามอย่างหนักแค่ไหนเพื่อไม่ทำให้คนอื่นผิดหวัง เพื่อให้ตัวเองรู้สึกมีค่า แต่ระหว่างทางมันช่างเต็มไปด้วยความกดดัน พอรับรู้น้ำหนักที่ตัวเองถือไว้ เราจึงเปิดทางเลือกให้ตัวเองวางมันลงได้ หรือถ้ายังวางไม่ได้ ก็บอกตัวเองได้เช่นกันว่า ‘ไม่เป็นไร ตอนนี้มันอาจยังยากสำหรับเธอ ค่อยเป็นค่อยไป’ 

พลังของการยอมรับยังเชื่อมโยงไปสู่สายตาที่เรามองคนรอบข้าง เมื่อเรายอมรับให้ตัวเองเป็นอย่างที่ตัวเองเป็น ไม่ว่าจะล้มเหลว เละเทะ โกรธแค้น ซึมเศร้า ฯลฯ หากเรามองตัวเองด้วยสายตาใหม่ เราจะเรียนรู้ที่จะมองด้านลบของคนรอบข้างด้วยสายตาที่เข้าอกเข้าใจ ยอมรับพวกเขาอย่างที่เป็นได้มากขึ้น

“เมื่อเราฝึกฝนการยอมรับตัวเองให้แข็งแรงได้ เราจะมีพลังที่จะยอมรับทุกสิ่งได้เช่นกัน” แอชลีย์บอกไว้

ศิลปะการยอมรับปรับใช้ได้ในทุกมิติของชีวิต เพราะเป็นเรื่องธรรมดาที่ชีวิตจะมีสิ่งที่เราไม่ถูกใจ ทั้งตัวเรา คนรอบข้าง อดีตที่แก้ไขไม่ได้ สภาพแวดล้อมหรือโรคภัยในปัจจุบันที่ทำให้การใช้ชีวิตของทุกคนเปลี่ยนแปลงไป การมีชีวิตเป็นเรื่องท้าทาย จึงไม่แปลกที่เราจะรู้สึกกังวลหรือกลัว หากฝึกใจให้ยืดหยุ่น เราจะอยู่กับสิ่งต่างๆ อย่างยอมรับและต้อนรับมันในฐานะบทเรียนหนึ่ง 

เพราะจุดสำคัญที่แอชลีย์เน้นย้ำคือ การยอมรับไม่ใช่การยอมแพ้ แต่เป็นประตูที่เปิดกว้างไปสู่ความเป็นไปได้อื่นๆ อีกมากมาย 

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย