คุยกับ That Mad Woman เพจเฟมินิสต์และความเท่าเทียมทางเพศที่ออกมาส่งเสียงให้ทุกคนที่โดนกดขี่

Highlights

  • That Mad Woman คือเพจเกี่ยวกับเฟมินิสต์และความเท่าเทียมทางเพศบนอินสตาแกรมของ น้ำว้า–ยี่หวา ไชยศิลป์ และ เมล–เมลดา ฉัตรวิสสุตา นิสิตชั้นปีที่ 3 คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเฟมินิสต์รุ่นใหม่ที่อยากส่งเสียงเพื่อผู้หญิงและทุกคนที่โดนกดขี่
  • ในเวลาไม่ถึงเดือน เพจนี้มียอดผู้ติดตามพุ่งสูงมากกว่า 2 หมื่นคน ด้วยคอนเทนต์ที่นำเสนอเป็นภาพสไตล์เรโทร-สตรีท ประกอบคำบรรยายเข้าใจง่าย น่าแชร์ต่อ ซึ่งจับประเด็นที่กำลังร้อนในสังคม เช่น toxic masculinity, sexual harassment, เพศศึกษาที่โรงเรียนไม่ได้สอน, บุคคลข้ามเพศ ฯลฯ มาพูดในเชิงให้ความรู้ด้วยน้ำเสียงประนีประนอม
  • สิ่งที่ยี่หว่าและเมลดาหวังคือสังคมที่สิทธิทุกสิทธิเท่าเทียมกัน ทุกคนเคารพซึ่งกันและกัน และไม่ต้องตีกรอบเพศว่าต้องเป็นแบบไหนถึงจะเป็นคนที่มีคุณค่า เพราะทั้งสองเชื่อว่าทุกคนล้วนมีคุณค่าในตัวเอง

ถ้าคุณเป็นคนที่เสพติดการเลื่อนดูสตอรี่บนอินสตาแกรม เรามั่นใจว่าคุณต้องเคยเห็นคอนเทนต์ของเพจ That Mad Woman ที่ถูกแชร์บนสตอรี่ของเพื่อนมากกว่าหนึ่งครั้ง

แอดมินเพจ That Mad Woman

คอนเทนต์ว่าด้วยเฟมินิสต์และความเท่าเทียมทางเพศ ถ่ายทอดออกมาเป็นอัลบั้มภาพสีฉูดฉาด ใช้คำบรรยายอ่านง่าย และอยู่ในแพลตฟอร์มยอดนิยมอย่างอินสตาแกรม เหตุผลเท่านี้ก็เพียงพอที่จะทำให้คอนเทนต์ถูกแชร์ต่อบนโลกออนไลน์อย่างล้นหลาม แต่มากกว่านั้น การหยิบยกประเด็นทางสังคมซึ่งกำลังเป็นที่พูดถึงอย่าง sexual harassment, toxic masculinity หรือเพศศึกษาที่โรงเรียนไม่ได้สอน มาบอกเล่าด้วยน้ำเสียงละมุนละม่อม ประนีประนอมที่สุด อาจเป็นจุดเด่นที่ทำให้ยอดผู้ติดตามพุ่งสูงกว่า 20,000 คนภายในเวลาไม่ถึงเดือน


น้ำว้า–ยี่หวา ไชยศิลป์ และ เมล–เมลดา ฉัตรวิสสุตา คือแอดมินของเพจที่เรากำลังพูดถึง ไม่ต่างจากเด็กสาวหลายคนที่เติบโตมาในสังคมไทย ทั้งคู่ถูกสอนให้อยู่ในกรอบของความเป็นกุลสตรีเพศอันดีงาม กิน นั่ง เดิน หรือแม้แต่หายใจ สิ่งที่แตกต่างจากเด็กผู้หญิงทั่วไปคือพวกเธอตั้งคำถาม และยิ่งโตขึ้น ชุดคำถามที่มีมากขึ้นภายในใจก็ยิ่งทำให้อัดอั้น จำเป็นต้องระบายออก

เพจ That Mad Woman คือการส่งเสียงเพื่อตัวเธอเองและทุกคนที่โดนกดขี่

เฟมินิสต์ในความหมายของคุณคืออะไร

เมลดา : เฟมินิสต์คือการขับเคลื่อนที่ต้องการความเท่าเทียมของทุกคน จะส่งเสียงให้กับเพศทุกเพศ ไม่ว่าจะเป็นเพศอะไรก็ตาม ผู้ชาย ผู้หญิง LGBTQ+

ชื่อเพจของคุณมาจากเพลง mad woman ของ Taylor Swift หรือเปล่า

เมลดา : เปล่า จริงๆ ชื่อ That Mad Woman มาจากภาพลักษณ์ของเฟมินิสต์ที่คนมักจะบอกว่าเรางี่เง่า เป็นบ้า overreact หรือเรียกร้องเยอะเกินไป เราก็เลยเคลมตัวเองว่า เออ เราเป็น That Mad Woman คนนั้น เราเป็นผู้หญิงบ้าคนนั้นเอง แล้วเราก็จะพูดต่อ เราไม่แคร์ (หัวเราะ)

แล้วเป็นไงมาไงคุณถึงมาตั้งเพจนี้ได้

ยี่หวา : เราสนใจเรื่องสิทธิ ชอบอ่านสื่อและคอนเทนต์ต่างประเทศที่พูดเกี่ยวกับเรื่องนี้ ด้วยความที่เรายังไม่ค่อยเห็นคนทำคอนเทนต์แบบนี้ในไทย เราก็เลยอยากพูดเรื่องนี้ อยากอินฟอร์มให้คนรู้เยอะๆ ว่าเรื่องสิทธิมันเป็นเรื่องที่ซีเรียสนะ บวกกับก่อนหน้านี้เราไม่กล้าเรียกตัวเองว่าเป็นเฟมินิสต์เพราะคนในสังคมชอบมองว่าเฟมินิสต์คือคนที่เกลียดผู้ชาย เฟมินิสต์อยากมีอำนาจเหนือกว่า มันยังมีความเข้าใจผิด

เราเคยคุยกับเพื่อนผู้ชายคนหนึ่งที่เล่นมุกเหยียดผู้หญิง พอเราออกตัวไปว่าแบบนี้ไม่ได้นะ เขาตอบกลับมาว่า เฮ้ย มึงเป็นเฟมินิสต์เหรอ ซึ่งเรารู้สึกว่าการเรียกร้องสิทธิมันไม่ควรที่จะเป็นคำด่า คำเหยียดหยามหรือเปล่า เราจึงอยากพูดแทนคนอื่นว่าจริงๆ แล้ว เฟมินิสต์ไม่ใช่แบบนั้น เราไม่อยากอายที่จะต้องบอกว่าตัวเองเป็นเฟมินิสต์อีกแล้ว

โมเมนต์ไหนที่บันดาลใจให้คุณอยากเป็นเฟมินิสต์

ยี่หวา : จริงๆ เราทั้งสองคนมีจุดที่ทำให้อยากเรียกตัวเองว่าเฟมินิสต์ต่างกัน อย่างเราตอนแรกก็ไม่รู้ตัวหรอก เพราะตั้งแต่เด็กเราเป็นคนที่ไม่ค่อยอยู่ในกรอบ ก๋ากั่น นั่งก็ไม่ค่อยหุบขา พอเริ่มโตขึ้นมันก็จะมีคนมาบอกเราว่าต้องทำตัวยังไงถึงจะอยู่ในสังคมได้ จะต้องเรียบร้อย ทำตัวให้เป็นผู้หญิง สิ่งที่ทำให้เราตั้งคำถามกับตัวเองมาตลอดคือ แล้วผู้หญิงมันต้องเป็นยังไงล่ะ

เรามีพี่ชายด้วย มันจึงเกิดการเปรียบเทียบอย่างชัดเจน เอ๊ะ ทำไมพี่ชายไม่เห็นเคยโดนสอนแบบเราเลย ทำไมเราถึงจะต้องถูกห้ามใส่เสื้อผ้าโป๊หรือเปิดเผยสัดส่วน ทำไมขีดจำกัดแบบนี้ถึงมีแค่กับผู้หญิง ในขณะเดียวกันเราก็เห็นสิ่งที่ผู้ชายโดนสอน อย่างเป็นผู้ชายแล้วห้ามร้องไห้ ผู้ชายต้องเสียสละให้ผู้หญิง ก็ยิ่งทำให้คิดว่าจริงๆ แล้วทุกคนกำลังถูกกดขี่จากค่านิยมของสังคมอยู่หรือเปล่า

เมลดา : ส่วนของเราไม่เหมือนของน้ำว้า ตั้งแต่เด็กเราจะเป็นคนที่ insecure ตลอดเวลา รู้สึกว่าเราจะต้องลดน้ำหนักเพื่อจะได้ถูกมองเห็นมากขึ้น ตอนเข้ามหา’ลัยเรามักเห็นคนผอม คนสวย ได้รับโอกาสต่างๆ ทำให้รู้สึกว่าเราต้องเป็นแบบนั้นถึงจะมีที่ยืน จนช่วงหนึ่งเราเป็น eating disorder เพราะเราไดเอตกับเทรนเนอร์ที่ตั้งกฎเกณฑ์ว่าต้องกินคลีน ห้ามกินขนมเลย แต่เราก็จะตบะแตกตอนกลางคืนตลอด พอรู้ตัวก็จะร้องไห้ ช่วงนั้นแยกตัวเองออกมาจากเพื่อน นั่งกินข้าวคนเดียวทุกวัน รู้สึกว่าไม่ไหวแล้ว ทำไมฉันต้องแคร์สายตาคนอื่นมากขนาดนี้ เราทำเพื่อใครกันแน่ ที่เราแคร์การลงรูปในไอจีมันใช่ความสุขจริงๆ หรือเปล่า


ตอนนั้นตั้งใจว่าจะฟื้นฟูตัวเอง รู้สึกว่าเรามาเริ่ม self-love journey ดีกว่า ไม่ต้องเอาคุณค่าของตัวเองไปยึดติดกับสิ่งภายนอก ช่วงนั้นรู้ตัวด้วยว่าที่เราอยากผอม เพราะเรากำลังให้ค่าความผอมว่าคือความสวย และนี่ไม่ใช่สิ่งที่เราคิดกับตัวเอง แต่ไปจำกัดคนอื่นด้วย เมื่อก่อนเราเจอคนอ้วนเราอาจจะคิดว่าไม่ค่อยสวยเลย และเราไม่อยากเป็นคนที่คิดแบบนั้น

 

หลังจากปลดล็อกแล้วเป็นยังไง

เมลดา : รู้สึกรักตัวเองมาก รู้สึกดีมาก มีความสุขขึ้นเยอะมากๆ ความรักที่เรามีให้ตัวเองเป็นความรักที่ดีที่สุดแล้ว

การเปิดเพจเกี่ยวกับเฟมินิสต์เปิดมุมมองใหม่ๆ ให้คุณบ้างไหม

ยี่หวา : พอเราออกมาจากกรอบแล้วเรายิ่งเห็นปัญหามากขึ้น เรายิ่งรู้สึก mad กับทุกอย่าง มันหนักตรงนี้ สิ่งหนึ่งที่ทำให้เรารู้สึกว่าต้องออกมาพูดเรื่องนี้เลยคือประเด็นการตีตรา เช่น สมมติมีผู้ชายคนหนึ่งไปมีเพศสัมพันธ์กับผู้หญิงคนอื่นที่ไม่ใช่แฟนตัวเอง คนมองว่าเป็นเรื่องปกติ แต่พอผู้หญิงทำบ้างกลับโดนตราหน้าว่า you’re a slut. เรารู้สึกว่า ทำไมอะ ก็เซ็กซ์เหมือนกัน เรื่องนี้ทำให้เราต้องออกมาพูด แล้วพอยิ่งมาพูด มันยิ่งเห็นปัญหาที่ใหญ่ขึ้น และทำให้อยากพูดไปทุกเรื่อง

เมลดา: ใช่ ตอนอยู่ในกรอบเรารู้สึกว่าเป็นคนตัวเล็ก พอเริ่มออกจากกรอบ รักตัวเอง รู้สึกว่าตัวเองมีพลัง รู้สึก powerful และรู้สึกโกรธทุกอย่าง เหมือน feminism ruins my life in the most possible way.

ยี่หวา : (หัวเราะ)

เอกลักษณ์ของ That Mad Woman ที่แตกต่างจากเพจเกี่ยวกับเฟมินิสต์เพจอื่นคืออะไร

ยี่หวา : เราอยากให้มันเข้าถึงวัยรุ่น จึงเลือกทำในไอจีเพื่อให้เข้าถึงง่าย แชร์ง่าย มีวิชวลที่สวยงามสะดุดตา เราใช้กราฟิกสไตล์เรโทร-สตรีทนิดๆ โดยเลือกสีให้เข้ากับคอนเทนต์ที่อยากสื่อ ส่วนต่างจากเพจอื่นยังไง ด้วยความที่ยังไม่ค่อยมีเพจแบบนี้ในไทยก็จะไม่ค่อยเห็นความแตกต่างมาก

สิ่งที่เป็นเอกลักษณ์แน่ๆ คือชื่อเพจที่เหมือนเกรี้ยวกราด แต่คอนเทนต์ในเพจเราค่อนข้าง compromise อยู่นะ เนื้อหาที่ลงในเพจจะเป็น facts พุ่งตรงเข้าไปยังเรื่องใกล้ตัวที่คนยังไม่ค่อยรู้หรือมองข้าม ให้คนได้คิดตาม ตั้งคำถาม และจะไม่ค่อยมี opinions เพราะเราจะไม่เอาอารมณ์ไปสาดใส่ใคร หรือบางทีอาจเป็นคอนเทนต์ที่เกี่ยวข้องกับดราม่าที่กำลังเกิดขึ้น แต่ทำออกมาเป็นแนว informative เชิงให้ความรู้มากกว่า อย่างเช่น ประเด็น ห อ ม ที่เราจะไม่พูดถึงโดยตรง แต่ตอนนี้จะทำคอนเทนต์เกี่ยวกับเรื่อง sexual harassment ไปเลย

ยี่หวา That Mad Woman

พูดถึงกรณี ห อ ม ที่เป็นกระแสบนโซเชียลฯ อยู่พักใหญ่ คุณมีความเห็นยังไงกับเรื่องนี้

ยี่หวา : ตอนแรกที่เห็นเลยคือร้อง ew คือมันไม่ควร มันเป็นการดีเฟนด์ตัวเองด้วยการสร้างคำคำหนึ่งขึ้นมาเพื่อปิดบังจุดประสงค์จริงๆ เหมือนเอาไว้ดีเฟนด์ว่าไม่ได้ผิดอะไร ซึ่งจริงๆ มันผิด

เมลดา : เราคิดว่าคนที่เขาเขียนคำว่า ห อ ม หรือแม้กระทั่ง ข อ บ คุ ณ ค รั บ เขาก็น่าจะรู้อยู่แก่ใจว่าเจตนาของเขาคืออะไร ในเมื่อคนที่ถูกกระทำเขาก็ออกมาพูดแล้วว่าเขาไม่สบายใจ เขาก็ควรที่จะปรับปรุงตัว ไม่ใช่ดีเฟนด์ตัวเอง

ยี่หวา : แล้วจริงๆ เรารู้สึกว่า sexual harassment มันไม่ได้จำกัดแค่ผู้ชายทำเท่านั้น เราก็เห็นเหมือนกันว่ามีผู้หญิงหลายคนไปคอมเมนต์เชิง harass ในรูปไอดอลเกาหลี ซึ่งก็ไม่ถูกต้อง เราไม่เห็นด้วยไม่ว่าเพศไหนเป็นคนทำ

ในฐานะเจ้าของเพจ That Mad Woman สิ่งที่คุณ mad มากที่สุดคืออะไร

ยี่หวา : เรื่อง sexual harassment นี่แหละ เพราะในตอนนี้เห็นบ่อยมากในโซเชียลฯ สิ่งที่ทำให้เรา mad คือการที่คนไม่รู้ว่า (สิ่งที่เขาทำ) กำลังทำร้ายคนอื่นอยู่ บางทีเขากำลังสร้าง internalized misogyny หรือสร้างความเกลียดชัง มีอคติต่อผู้หญิง เราเคยไปเห็นผู้ชายคนหนึ่งทวีตว่า ผู้หญิงเป็นแค่เครื่องผลิตลูก เป็นที่ระบายอารมณ์ นี่แหละที่ทำให้ mad มากๆ

เมลดา : ในฐานะผู้หญิงเอง เวลาเห็นผู้ชายว่าผู้หญิงคนอื่น เราก็รู้สึกหัวเสียเหมือนกัน มันเหมือนสิ่งที่ทำกันมานานจนกลายเป็นเรื่องปกติไปแล้ว ทั้งที่ความจริงแล้วมันไม่ควรเป็นอย่างนั้น เขาไม่ควรคิดว่าตัวเองมีอำนาจในตัวผู้หญิงมากเกินกว่าความเป็นจริง หรือแม้กระทั่งผู้หญิงที่ตีตราผู้หญิงด้วยกันเองด้วยประโยค I’m not like the other girls ฉันไม่เหมือนผู้หญิงคนอื่นนะ อย่างนี้แปลว่าคุณ assume ว่าผู้หญิงคนอื่นเป็นยังไงเหรอ

เมลดา That Mad Woman

ตั้งแต่เปิดเพจมา เคยเจอคนที่ไม่เห็นด้วยเข้ามาโจมตีบ้างไหม

เมลดา : (หัวเราะ) เคย

ยี่หวา : โห มีแบบเขียนเป็น essay เลย มีเคสหนึ่งที่รู้สึกตลกมากคือ พอเพจเราพูดถึงเรื่องปิตาธิปไตย ระบอบชายเป็นใหญ่ที่บอกว่าผู้หญิงควรเป็นยังไง ห้ามสูบบุหรี่ ห้ามกินเหล้า ผู้หญิงไม่ควรไปเที่ยวกลางคืน แต่เราอยากจะบอกว่า ผู้หญิงจริงๆ จะเป็นอะไรก็ได้ แล้วมีคนคนหนึ่งมาคอมเมนต์ว่า อ้าว แล้วผมจะต้องชอบผู้หญิงที่กินเหล้า สูบบุหรี่ ผู้หญิงที่เที่ยวผับ แต่งตัวโป๊เหรอ คือเขาก็ยังไม่เก็ตพอยต์ของเราอยู่ดี สุดท้ายแล้วเขาก็ยังยึดโยงว่าความเป็นผู้หญิงมันต้องสนองนี้ดความเป็นชาย

เมลดา : ใช่ และเพราะเราอยากให้เพจเป็นพื้นที่เปิดรับการถกเถียง แลกเปลี่ยนความคิดกันได้อย่างอิสระ หลังจากนั้นเราจึงแคปเจอร์คอมเมนต์นั้นลงสตอรี แล้วเปิดให้คนมา discuss กันว่ารู้สึกยังไงกับคอมเมนต์นี้

เคยเจอคอมเมนต์ประเภท ‘ก็เพราะเรียกร้องเยอะแบบนี้ไงเลยไม่อยากสนับสนุน’ บ้างไหม

ยี่หวา : เห็นเยอะเหมือนกันที่บอกว่าเฟมินิสต์เซนซิทีฟ mad ไปกับทุกเรื่อง อ่อนไหวง่าย เรารู้สึกว่าคุณก็พูดได้นี่ เพราะคุณไม่ได้โดนกดทับเหมือนที่เราโดนมา เหมือนเขาพยายามทำให้สิ่งที่เราพบเจอมาทั้งชีวิตไม่ใช่เรื่องสำคัญ

คิดว่าอะไรกดทับผู้หญิงไทยจนทำให้เขาไม่ได้เป็นตัวของตัวเอง

เมลดา : เริ่มจากปิตาธิปไตยของไทย สังคมชายเป็นใหญ่ ที่เขาสอน ตั้งกฎเกณฑ์ ตีกรอบความเป็นหญิงว่าต้องอ่อนน้อมถ่อมตน ทำให้ไม่สามารถเป็นตัวของตัวเองได้ อีกเรื่องหนึ่งที่เราคิดว่าส่งผลกระทบคือ male gaze เพราะผู้ชายได้ครอบครองสื่อมาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว แล้วเขาก็ได้กำหนดว่าอะไรคือความสวย อะไรคือสิ่งที่ดูดี เหมือนได้กำหนดมาตรฐานความงามว่าผู้หญิงจะต้องเป็นยังไง แล้วมันกลายเป็นว่าผู้หญิงก็ซึมซับสิ่งนั้นโดยที่ไม่รู้ตัว กลายเป็นว่าความสวยเป็นสิ่งที่สำคัญมากของผู้หญิง

แล้วลองคิดถึงผู้หญิงกลุ่มชายขอบที่เป็นคนอ้วน คนดำ หรือคนที่เขาไม่ได้เป็นไปตาม beauty standard เขาต้องตั้งคำถามกับตัวเองว่า เพียงเพราะรูปลักษณ์หน้าตาของฉัน ฉันจึงมีค่าน้อยกว่าคนที่เป็นผู้หญิงที่ตรงตาม beauty standard เหรอ

ยี่หวา : รู้สึกเหมือนกัน norm ของไทยที่ได้รับผลกระทบมาจากสังคมชายเป็นใหญ่ทำให้ผู้หญิงหลายคนที่เขาอยากออกนอกกรอบความเรียบร้อย ความสุภาพ แต่พอกล้าออกจากกรอบมา กลับโดน judge โดน assume ไปต่างๆ นานาว่าเป็นคนยังไง ทำให้เขาไม่มีความมั่นใจในตัวเอง เลยต้องกลับไปอยู่ในกรอบของสังคม

กรอบแนวคิดแบบชายเป็นใหญ่ที่ฝังรากลึกจนทำให้ทุกคนไม่เท่าเทียมกันสักทีสามารถแก้ไขได้ไหม

เมลดา : แก้ไขได้ ถ้าเราเปิดใจรับฟังกันมากขึ้น

ยี่หวา : ในเจเนอเรชั่นใหม่ๆ เรายังมีความหวัง แต่เจนฯ เก่าๆ ก็…(หัวเราะ) เรายังหวังกับคนรุ่นใหม่ได้ เพราะเขาเริ่มรับฟังมากขึ้น เริ่มมีความคิดเป็นของตัวเอง เริ่มถกเถียง ตั้งคำถาม เพราะมันไม่ได้กดทับแค่เพศหญิง มันกดทับทุกๆ เพศเลย ถ้าวันหนึ่งมารู้ตัวว่ายังไม่สายไป มันก็ยังเปลี่ยนแปลงได้

ถ้าเราจะเริ่มเปลี่ยนแปลงหรือเริ่มแก้ไขอะไรเล็กๆ น้อยๆ เราจะเริ่มจากอะไรได้บ้าง

ยี่หวา : สำหรับคนที่โดนกดทับ การเปิดใจ educate ตัวเองและ educate คนอื่นจะช่วยได้มากเลย ส่วนคนที่กดทับอยู่ เราว่าต้องเริ่มจากการที่รู้ตัวก่อนว่าเรากำลังอยู่ในสังคมชายเป็นใหญ่ ต้องรู้ก่อนว่าปัญหาคืออะไร พอรู้ตัวมันก็ทำให้ง่ายต่อการเปิดใจรับข้อมูล

เมลดา : การเห็นคุณค่าในตัวเองด้วย พอเราเริ่มเห็นคุณค่าในตัวเองแล้ว เราจะเห็นคุณค่าในสิ่งอื่นๆ มากขึ้น เราก็จะแชร์มายด์เซตนี้ให้คนอื่นๆ ได้เหมือนกัน ก็จะช่วยกันไปด้วย

ภาพฝันสุดท้ายที่คุณอยากเห็นคืออะไร

เมลดา : เป็นสังคมที่สิทธิทุกสิทธิเท่าเทียมกัน เคารพซึ่งกันและกัน และไม่ต้องตีกรอบ gender role ว่าต้องเป็นแบบไหนถึงจะเป็นคนที่มีคุณค่า อยากให้ทุกคนเคารพกันและกัน เป็นตัวของตัวเอง และได้รับการปฏิบัติที่เท่าเทียมกัน

ยี่หวา : อยากให้ทุกคนรับรู้สิทธิของตัวเองและเคารพสิทธิของคนอื่นด้วย อยากให้มันไม่ต้องมาตีกรอบว่าเพศนี้จะต้องเรียนอะไร จบไปทำงานอะไร อยากให้เรื่องแบบนี้มันหมดไป อยากให้มีการเข้าถึงโอกาสทุกๆ อย่างเท่าเทียมกัน ทั้งของผู้หญิง ผู้ชาย และ LGBTQ+

That Mad Woman

ถ้าผู้หญิงหรือเพศใดก็ตามที่โดนกดทับอ่านมาถึงตรงนี้ คุณอยากบอกอะไรกับพวกเขา

เมลดา : อยากให้รักตัวเองให้มากๆ เห็นคุณค่าของตัวเองมากๆ ไม่ต้องเปรียบเทียบกันและกันว่าใครสวยกว่าหรือเก่งกว่า อันนี้ไม่ใช่คำปลอบใจนะ แต่อยากให้ทุกคนรู้สึกจริงๆ ว่าตัวเองก็มีดีในแบบของตัวเองได้ และก็ไม่ได้ทำเพื่อใคร ทำเพื่อตัวเองจริงๆ เพราะฉันรักตัวเอง พอเรารักตัวเอง มันทำให้เรารับรู้ถึงสิทธิของตัวเองด้วย เรารู้สึกว่าการรักตัวเองมันคือการนำไปสู่ความกระจ่างรู้ในทุกเรื่องเลย

ยี่หวา : อยากให้ผู้หญิงทุกคนรู้สึกว่ามันคือเวลาของเราที่จะต้องออกมาพูดถึงสิ่งที่ไม่เป็นธรรม อยากให้รู้สึกว่าเขาไม่ได้อยู่ตัวคนเดียว ไม่ใช่คนคนเดียวที่คิดแบบนี้ แล้วสิ่งที่เขาตั้งคำถามมันไม่ใช่เรื่องผิดเลย อยากให้เขาได้มีโอกาสทบทวนกับตัวเอง และเลือกชอยส์ของตัวเองได้


ติดตามเพจ That Mad Woman ต่อได้ทาง อินสตาแกรม

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

สรรพัชญ์ วัฒนสิงห์

ชีวิตต้องมีสีสัน

Video Creator

อภิวัฒน์ ทองเภ้า

เป็นลูกชายคนเดียวของพ่อแม่, เป็นศิษย์เก่านิเทศศาสตร์ ม.มหาสารคาม แต่เป็นคนอุดรธานี, เป็นวิดีโอครีเอเตอร์ ประสบการณ์ 2 ปี, เป็นคนเบื้องหลังงานวิดีโอของ a day และเป็นคนปลุกปั้นสารคดี a doc, เป็นคนนอนไม่เคยพอ, เป็นหนึ่ง คือ เป็นหนึ่งเดียวกับสรรพสิ่ง สรรพสิ่ง คือ ไม่เป็นอะไรเลย, ตอนนี้เป็นหนี้ กยศ. และรับจ้างทั่วไป [email protected]

ชาคริต นิลศาสตร์

อดีตตากล้องนิตยสาร HAMBURGER /ค้นพบว่าตัวเองมีความสุขและสนุกทุกครั้งที่ได้ทำงานภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว