‘Soul’ บนโลกทุกวันนี้ มนุษย์ทุกคนสามารถเข้าถึงความสุขได้จริงๆ หรือ?

Highlights

  • Soul คือเรื่องราวของ Joe Gardner (ให้เสียงโดย Jamie Foxx) ครูสอนดนตรีชั้นมัธยมศึกษาในเมืองนิวยอร์กที่ใฝ่ฝันอยากจะเป็นนักดนตรีแจ๊ส
  • ประเด็นสำคัญของภาพยนตร์เรื่องนี้คือ–ไม่ว่าจะเล็กน้อยหรือยิ่งใหญ่–มนุษย์ทุกคนล้วนเกิดมาพร้อมกับเป้าหมายในชีวิต
  • คำถามอยู่ที่ว่า ในโลกทุกวันนี้ โครงสร้างของสังคมอนุญาตให้เรามีเป้าหมายในชีวิตสักแค่ไหน? หรือต่อให้เป้าหมายในชีวิตจะเป็นเรื่องที่ใครๆ ต่างก็มีได้ แต่การจะได้มาซึ่งเป้าหมายที่ว่านั้นยาก-ง่ายต่างกันสักแค่ไหน

Soul 1.

Soul คือเรื่องราวของ Joe Gardner (ให้เสียงโดย Jamie Foxx) ครูสอนดนตรีชั้นมัธยมศึกษาในเมืองนิวยอร์กที่ไม่ค่อยจะพึงพอใจกับชีวิตและหน้าที่การงานของเขาสักเท่าไหร่ ด้วยความใฝ่ฝันอยากจะเป็นนักดนตรีแจ๊สที่พอจะมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกับเขาบ้าง หากในความเป็นจริงเขากลับต้องจมปลักอยู่กับการสอนเด็กๆ ในโรงเรียนไปวันๆ ไม่มีอะไรตื่นเต้นไปกว่านั้น

น่าเบื่อ ซ้ำซาก ซังกะตาย

กระทั่งวันหนึ่ง ลูกศิษย์คนหนึ่งที่โจเคยสอนซึ่งปัจจุบันเป็นมือกลองในวงดนตรีแจ๊สชื่อดังก็โทรมาชวนเขาให้ลองมาเล่นเปียโนร่วมกับวงดูสักที โดยที่ไม่แน่ว่า หากฝีมือของโจโดดเด่นเข้าตาหัวหน้าวง เขาก็อาจจะได้ตำแหน่งมือเปียโนประจำวงไปเลยก็ได้ โจตกปากรับคำทันทีโดยไม่แม้แต่จะหยุดคิด และมุ่งตรงไปยังบาร์แจ๊สอย่างไม่คิดชีวิตเพื่อที่จะได้นั่งพรมนิ้วทั้งสิบบนเปียโน โชว์พรสวรรค์ทางดนตรีอันเหลือล้น จนหัวหน้าวงถึงกับต้องเอ่ยปากชวนเข้าวงแทบจะทันที

พริบตาที่ตระหนักว่าความฝันอยากจะเป็นนักดนตรีแจ๊สกำลังจะกลายเป็นความจริง โจลิงโลดจนเนื้อเต้น แต่แล้วในขณะที่เขากระโดดโลดเต้นกลับบ้านเพื่อจะไปเปลี่ยนเสื้อผ้าเป็นชุดสูทสำหรับโชว์แรกในค่ำวันนั้น โจก็ร่วงตกลงไปในท่อระบายน้ำจนวิญญาณของเขาหลุดออกจากร่างในทันที กายเนื้อพลันเปลี่ยนไปเป็นวิญญาณสีเขียวอมฟ้า ยืนมึนตึงอยู่ตรงตีนบันไดสีขาวทอดยาวสุดลูกหูลูกตาที่จะพาดวงวิญญาณนับล้านไปสู่การหลุดพ้น นิพพาน หรืออะไรก็ตามที่ยิ่งใหญ่และห่างไกลออกไป

ไม่เชื่อว่าตัวเองได้ตายไปแล้วจริงๆ! เรื่องราวต่อจากนี้ของ Soul จึงเป็นความพยายามของโจที่จะพาดวงวิญญาณของตัวเองหวนกลับไปหากายหยาบที่เขาเชื่อว่ายังอยู่ที่ไหนสักแห่งบนโลกมนุษย์ ความน่าสนใจของแอนิเมชั่นเรื่องนี้อยู่ที่ว่าแทนที่หนังจะเลือกโฟกัสที่ ‘พื้นที่หลังความตาย’ Soul กลับพาเราไปรู้จักกับ ‘พื้นที่ก่อนการเกิด’ (The Great Before) ดินแดนซึ่งโจได้หลุดเข้าไปโดยบังเอิญขณะที่เขาพยายามหาทางหลบหนีจากบันไดสีขาวหลังความตาย

2.

2.

อาจกล่าวได้ว่า คอนเซปต์ของ The Great Before คือพื้นที่สำหรับจัดเตรียมประชากรรุ่นใหม่ที่กำลังจะลงไปเกิดบนโลกมนุษย์ ด้วยเหตุนี้ ดินแดนแห่งนี้จึงเต็มไปด้วยวิญญาณของเด็กๆ ที่จะถูกกำหนดบุคลิกลักษณะและนิสัยใจคอก่อนที่พวกเขาจะถือกำเนิดเป็นมนุษย์ เพียงแต่บุคลิกลักษณะและนิสัยใจคอเหล่านี้ วิญญาณของเด็กๆ กลับไม่มีสิทธิจะกำหนดเอง แต่เป็น ‘Jerry’ สิ่งมีชีวิตที่ดูคล้ายกับเส้นแสงและเปลี่ยนรูปร่างไปมาได้ต่างหากที่ทำหน้าที่คัดเลือกว่าเด็กๆ คนไหน ‘เหมาะสม’ กับบุคลิกลักษณะแบบใด ในแง่หนึ่ง หน้าที่ของเจอร์รีจึงเป็นการออกแบบว่าเด็กๆ ควรจะไปเกิดเป็นมนุษย์แบบไหน แต่พร้อมๆ กันเจอร์รียังมีบทบาทเป็นดั่งพี่เลี้ยงและคุณครูที่คอยดูแล สอดส่อง และควบคุมพฤติกรรมของเด็กๆ ว่าอะไรที่พวกเขาทำได้และอะไรที่พวกเขาทำไม่ได้

แม้จะดูราวกับว่าเจอร์รีคือผู้ที่มีสิทธิกำหนดทุกอย่างแต่นั่นก็ไม่ใช่ความจริงเสียทีเดียว เพราะก่อนหน้าที่วิญญาณของเด็กๆ จะสามารถไปเกิดบนโลกมนุษย์ได้ พวกเขาจำเป็นจะต้องค้นพบ ‘เป้าหมาย’ (purpose) ซึ่งเป็นคุณลักษณะเฉพาะที่แตกต่างกันไปของวิญญาณแต่ละดวง เป้าหมายที่ว่านี้จะไม่มีใครคอยคัดเลือกหรือกำหนดให้ แต่เป็นหน้าที่ของวิญญาณเด็กๆ และ ‘พี่เลี้ยง’ (mentor)–ดวงวิญญาณของผู้คนที่ครั้งหนึ่งเคยอยู่บนโลกมนุษย์ที่ถูกจับคู่เข้าด้วยกันเพื่อช่วยกันตามหาว่าอะไรคือเป้าหมายในชีวิตของเด็กๆ แต่ละคน

Soul คือภาพยนตร์ที่เชื่อว่า–ไม่ว่าจะเล็กน้อยหรือยิ่งใหญ่–มนุษย์ทุกคนล้วนเกิดมาพร้อมกับเป้าหมายในชีวิต เช่นที่ใครสักคนหนึ่งอาจเกิดมาพร้อมเป้าหมายในการเป็นนักดนตรีผู้ยิ่งใหญ่ ขณะที่เป้าหมายของใครอีกคนอาจไม่ใช่อะไรมากมาย เป็นแค่เรื่องง่ายๆ อย่างการตื่นมามีความสุขในทุกเช้า และแม้เรื่องราวของหนังจะพูดถึงการวิ่งไล่ตามความฝันในการเป็นนักดนตรีแจ๊สของโจ หากถึงที่สุดแล้ว Soul ก็ไม่ได้กำลังจะบอกกับเราว่า จงออกไปค้นหาเป้าหมายในชีวิตของตัวเอง แต่คือการแสดงให้เห็นระดับความหลากหลายต่อการตีความคำว่า ‘เป้าหมาย’ ของมนุษย์ต่างหาก

การที่แต่ละคนมองเห็นคุณค่าในเป้าหมายที่แตกต่างกันไป และภาคภูมิใจกับเป้าหมายของตัวเองได้อย่างไม่จำเป็นต้องคิดเปรียบเทียบกับใครๆ ต่างหากที่เป็นประเด็นสำคัญซึ่งแอนิเมชั่นเรื่องนี้บอกกับคนดู

3.

3.

แอนิเมชั่นของ Pixar มักจะสะท้อนมายาคติของสังคมอเมริกันในหลายๆ มิติ หากลองย้อนกลับไปดูผลงานเรื่องก่อนๆ เราอาจกล่าวได้ว่า Ratatouille (2007) คือภาพสะท้อนต่อมายาคติ ‘จากยาจกสู่เศรษฐี’ (From rags to riches) ซึ่งถ่ายทอดผ่านการไต่เต้าขึ้นเป็นยอดเชฟของ ‘Remy’ หนูท่อผู้มีพรสวรรค์ในการทำอาหาร ส่วน The Incredibles (2014) ก็ตอกย้ำถึงความสำคัญของสถาบันครอบครัว ในลักษณะเดียวกัน เรื่องราวของ Soul ก็ฉาบเคลือบด้วยหนึ่งในอุดมการณ์สำคัญที่ขับเคลื่อนสังคมอเมริกาในปัจจุบัน

อุดมการณ์ที่ว่าคือ ‘เสรีนิยมใหม่’ หรือ neoliberalism

เราคงจะเคยได้ยินว่าเสรีนิยมใหม่คือแนวคิดทางเศรษฐกิจที่ผงาดขึ้นมาในช่วงทศวรรษ 1980 เมื่อ Margaret Thatcher นายกรัฐมนตรีหญิงของอังกฤษและ Ronald Reagan ประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาก้าวขึ้นสู่อำนาจ ภายใต้การปกครองประเทศของบุคคลทั้งสอง เสรีนิยมใหม่ได้กลายเป็นแนวคิดหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของอังกฤษและสหรัฐอเมริกา ไม่ว่าจะเป็นการจำกัดบทบาทของรัฐให้น้อยที่สุด เพิ่มบทบาทให้กับการทำงานของตลาดเสรี เปิดเสรีให้กับการค้า การลงทุน และแปรรูปรัฐวิสาหกิจให้กลายเป็นของเอกชน

ในแง่หนึ่ง เสรีนิยมใหม่คืออุดมการณ์ทางเศรษฐกิจ หากนั่นก็ไม่ได้หมายความว่าพลังของแนวคิดนี้จะปรากฏอยู่เฉพาะในขอบเขตของเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว นั่นเพราะอุดมการณ์เสรีนิยมใหม่ยังส่งผลกระทบต่อชีวิตทางสังคมของผู้คนในยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อการกระตุ้นให้ปัจเจกบุคคลรับรู้ตัวตนของเขาในลักษณะของ ‘ตัวตนประกอบการ’ (entrepreneurial self)

แนวคิดเสรีนิยมใหม่เรียกร้องให้ปัจเจกบุคคลดำเนินชีวิตในลักษณะของ ‘องค์กร’ (enterprise) นั่นหมายความว่า รูปแบบการดำเนินชีวิตของบุคคลหนึ่งๆ จะถูกชี้นำจากวิธีคิดแบบองค์กรซึ่งประกอบด้วย ความทะเยอทะยาน (ambition) การคิดคำนวณ (calculation) และเป้าหมาย (purpose) 

ภายใต้การดำเนินชีวิตในลักษณะนี้ พฤติกรรมและทัศนคติต่อชีวิตของปัจเจกบุคคลจึงปรับเปลี่ยนไปในทิศทางที่สอดรับกับอุดมการณ์เสรีนิยมใหม่ นั่นคือ ความกระตือรือร้น (active) การพึ่งพาตัวเอง (self-reliant) และความรับผิดชอบต่อการกระทำของตัวเอง พูดให้ชัดขึ้นคือ ในสังคมที่ขับเคลื่อนด้วยพลังของแนวคิดเสรีนิยมใหม่ ปัจเจกบุคคลจะถูกปลูกฝังแนวคิดของการค้นหาตัวเอง (self-discovery) การพัฒนาตัวเอง (self-improvement) และศรัทธาในตัวเอง (self-belief) 

Soul

4. Soul

4.

หากมองเผินๆ พลังของอุดมการณ์เสรีนิยมใหม่ในลักษณะนี้ก็ดูจะเป็นเรื่องดี ไม่เห็นจะมีอะไรผิดตรงไหน แต่ปัญหาของการปลูกฝังแนวคิดแบบนี้อยู่ที่ว่าภายใต้ฉากหน้าที่ดูเหมือนจะส่งเสริมความหลากหลายของปัจเจกบุคคล ปัญหาหนึ่งที่มักจะถูกมองข้ามไปคือมนุษย์ทุกคนไม่ได้มีสิทธิที่จะเข้าถึงโอกาสในการดำเนินชีวิตและพัฒนาตัวเองในลักษณะองค์กรได้อย่างเท่าเทียมกันอย่างที่เสรีนิยมใหม่พยายามจะปลูกฝัง โดยที่ความไม่เท่าเทียมกันของโอกาสก็ไม่ได้หมายถึงแค่มิติทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว (เกิดมารวย-จน) แต่ยังรวมถึงมิติอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติ (race) เพศภาวะ (gender) และชนชั้น (class)

ในสังคมอเมริกา มิติต่างๆ นี้ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่ผลิตซ้ำความไม่เท่าเทียมกันในสังคมจนคล้ายจะเป็นสภาวะปกติที่ง่ายดายเสียเหลือเกินต่อการมองผ่านหรือแสร้งทำเป็นว่าไม่เห็น สหรัฐอเมริกาที่หรี่ตามองด้วยดวงตาเพียงหนึ่งข้างแทบจะไม่ต่างอะไรกับ The Great Before ในฐานะพื้นที่ฉ่ำหวานเคลือบน้ำตาลที่พนักงานของรัฐพยายามจะเป่าหูประชาชนปาวๆ ว่าเงื่อนไขพื้นฐานของการจะไปเกิดเป็นมนุษย์คือการค้นพบเป้าหมายในชีวิต เพราะไม่ว่าเป้าหมายของคุณจะยิ่งใหญ่หรือเล็กจ้อยกระจิริด ขอแค่มีเป้าหมาย คุณก็พร้อมจะดำเนินชีวิตในฐานะมนุษย์คนหนึ่งแล้ว

นั่นคือนัยที่อยู่เบื้องหลังคำพูดที่เจอร์รีบอกกับวิญญาณของเด็กๆ คือความหมายที่หลบซ่อนอยู่เบื้องหลังกระบวนการออกแบบพลเมืองใน The Great Before ที่จะผลิตสร้างปัจเจกบุคคลซึ่งจะเกิดมาเพื่อตามหาเป้าหมายอะไรสักอย่างในชีวิต

วิญญาณของเด็กๆ ค้นพบเป้าหมายส่วนตัวของพวกเขาจากนั้นถึงค่อยไปเกิด คำถามคือ แล้วสังคมแบบไหนกันล่ะที่รอเด็กๆ อยู่บนโลกมนุษย์? นั่นคือปริศนาที่ Soul ไม่เคยบอกให้เราได้รู้

Soul

5.

Luca Maveilli ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัย Kent ประเทศอังกฤษเสนอว่า “เสรีนิยมใหม่ปรับใช้ตรรกะแบบตลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลักการเรื่องการแข่งขับกับทุกๆ มิติของชีวิตมนุษย์” เขาเห็นว่าเสรีนิยมใหม่ยังส่งผลให้รัฐปฏิบัติตัวในลักษณะที่เป็นผู้ประกอบการผ่านการพยายาม ‘ทำให้เกิดผลสูงสุด’ (maximize) ไม่ใช่แค่เฉพาะในมิติทางเศรษฐกิจ แต่ยังรวมถึงมิติอื่นๆ ด้วย Maveilli ชี้ว่า ในสายตารัฐ ประชาชนจึงไม่ต่างอะไรจาก ‘ทุน’ ที่จะสามารถ ‘ยกระดับได้’ ทั้งในแง่ของวัฒนธรรม อารมณ์ และชื่อเสียง

หากเราลองพิจารณา The Great Before ในฐานะรัฐที่ขับเคลื่อนด้วยอุดมการณ์เสรีนิยมใหม่ เงื่อนไขที่ว่าวิญญาณของเด็กๆ ทุกคนจะต้องค้นพบเป้าหมายของตัวเองจึงเป็นโครงการยกระดับคุณค่าของปัจเจกบุคคล ที่ในท้ายที่สุดคุณลักษณะเหล่านี้จะกลับมาสร้างประโยชน์ให้กับรัฐมากกว่าตัวปัจเจกบุคคลด้วยซ้ำ

Soul

พูดให้ง่ายกว่านั้นคือ ผ่านการลงทุนในโครงการยกระดับปัจเจกบุคคล ผลตอบแทนที่ The Great Before จะได้กลับมาอย่างแน่นอนคือ ‘ประสบการณ์’ ของปัจเจกที่จะกลายเป็น ‘คำแนะนำของพี่เลี้ยง’ เพื่อพัฒนาประชากรรุ่นถัดไป สายพานของการพัฒนานี้จะดำเนินไปโดยที่ประชากรรุ่นต่อๆ ไปก็ย่อมจะมีคุณภาพมากขึ้น เช่นเดียวกับความมั่นคงและมั่งคั่งของรัฐที่จะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ

ปัญหาคือ สายตาของรัฐเพียงแต่จะมองไปที่ผลประโยชน์ซึ่งส่องสว่างตรงปลายทาง ทว่าในระหว่างทาง รัฐกลับไม่รับรู้หรือคิดจะรับผิดชอบต่อความเสี่ยง บาดแผล และผลกระทบใดๆ ที่ปัจเจกบุคคลจะได้รับจากการแสวงหาเป้าหมายในชีวิต

ในแง่นี้เจอร์รีจึงไม่ต่างอะไรจากตัวแทนของรัฐ ที่ภายใต้ประโยคซึ่งคอยตอกย้ำกับวิญญาณของเด็กๆ ว่า ชีวิตมนุษย์ต้องมีเป้าหมาย กลับไม่ได้สนใจจริงๆ หรอกว่า กว่าที่ใครสักคนหนึ่งจะค้นพบเป้าหมายที่ว่านั้นได้ พวกเขาต้องพบเจอกับอะไร 

ต่อให้ในช่วงท้ายที่หนังจะพยายามบอกว่า คุณค่าทั้งหมดของชีวิตไม่ใช่การมีเป้าหมายแต่คือการค้นพบความสุขในการมีชีวิตต่างหาก ทว่าคำปลอบประโลมนี้ก็เป็นเพียงแค่การกระตุ้นเตือนให้ปัจเจกบุคคลมีความสุขกับชีวิตโดยปฏิเสธที่จะคำนึงถึงความไม่เท่าเทียมกันของโอกาสในการจะมีความสุขกับชีวิตของแต่ละปัจเจกบุคคล

รัฐไม่ได้สนใจหรอกว่า–บนโลกมนุษย์–วิญญาณของเด็กๆ แต่ละคนจะสะบักสะบอมสักแค่ไหน รัฐไม่ได้ใส่ใจด้วยซ้ำว่าแม้จะมีคนนับล้านๆ ตายจากไปโดยยังไม่มีแม้กระทั่งโอกาสที่จะค้นพบเป้าหมาย หรือเพียงจะพูดได้ว่า ชีวิตที่เกิดมาของพวกเขามีความสุขดีแล้ว

Soul

6.

ตลกร้ายอยู่ตรงที่ว่า แม้ Soul จะเป็นแอนิเมชั่นเรื่องแรกของ Pixar ที่ตัวละครเอกเป็นคนผิวดำ แต่ในสหรัฐอเมริกาในปัจจุบัน ช่องว่างของความเหลื่อมล้ำระหว่างคนผิวขาวกับคนผิวดำยังคงห่างไกลกันอยู่มาก สถิติหนึ่งระบุว่าแม้ในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา ตัวเลขความแตกต่างระหว่างคนผิวขาวและคนผิวดำที่เรียนจบไฮสกูลจะลดน้อยลงเป็นอย่างมากก็จริง แต่นั่นก็เป็นคนละเรื่องกับสถิติในระดับมหาวิทยาลัยที่คนผิวดำยังคงได้รับโอกาสทางการศึกษาน้อยกว่าคนผิวขาว เช่นเดียวกับอัตราการตกงานระหว่างคนผิวขาวกับคนผิวดำท่ามกลางวิกฤตการณ์โควิด-19 ที่เปิดเผยให้เห็นว่าความไม่เท่าเทียมกันทางเชื้อชาติยังคงฝังรากแน่นอยู่ในสังคมอเมริกา นี่ยังไม่รวมการเสียชีวิตของ George Floyd ที่ได้กลายเป็นชนวนสำคัญในการประท้วงใหญ่เมื่อกลางปี 2020 ที่ผ่านมา

ในขณะที่ Soul คือเรื่องราวของการแสวงหาเป้าหมายในชีวิต แอนิเมชั่นเรื่องนี้กลับมองข้ามข้อเท็จจริงที่สร้างข้อจำกัดในการแสวงหาเป้าหมายในชีวิตของผู้คนนับล้านๆ แน่นอนว่าประเด็นนี้คงจะเป็นเรื่องที่พออ้อมแอ้มได้บ้างหากตัวละครเอกของเรื่องเป็นคนผิวขาว แต่เมื่อโจเป็นคนผิวดำ ปัญหาเชิงโครงสร้างกับชีวิตประจำวันย่อมเป็นสองสิ่งที่แยกกันไม่ขาด และการจะมองเห็นแง่งามจากอะไรเล็กๆ ง่ายๆ รอบตัวก็ดูจะไม่ใช่อะไรที่เชื่อได้อย่างสนิทใจนัก

แน่นอน การมีความสุขกับสิ่งเล็กๆ รอบตัวไม่ใช่เรื่องผิด เช่นเดียวกับการมีความฝันใหญ่ๆ ในชีวิตก็เป็นเรื่องที่น่าชื่นชม แต่คำถามคือ โครงสร้างของสังคมทุกวันนี้อนุญาตให้เรามีเป้าหมายในชีวิตสักแค่ไหน? หรือต่อให้เป้าหมายในชีวิตจะเป็นเรื่องที่ใครๆ ต่างก็มีได้ แต่การจะได้มาซึ่งเป้าหมายที่ว่านั้นยาก-ง่ายต่างกันสักแค่ไหนล่ะ

เพราะลำพังแค่การจะมองเห็นแง่งามของใบไม้ที่ร่วงหล่นจากฟ้ามันคือความสุขเล็กๆ ง่ายๆ ที่มนุษย์ทุกคนจะสามารถเข้าถึงได้จริงๆ หรือ

เราคงจะเคยได้ยินว่าเสรีนิยมใหม่คือแนวคิดทางเศรษฐกิจที่ผงาดขึ้นมาในช่วงทศวรรษ 1980 เมื่อ Margaret Thatcher นายกรัฐมนตรีหญิงของอังกฤษและ Ronald Reagan ประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาก้าวขึ้นสู่อำนาจ ภายใต้การปกครองประเทศของบุคคลทั้งสอง เสรีนิยมใหม่ได้กลายเป็นแนวคิดหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของอังกฤษและสหรัฐอเมริกา ไม่ว่าจะเป็นการจำกัดบทบาทของรัฐให้น้อยที่สุด เพิ่มบทบาทให้กับการทำงานของตลาดเสรี เปิดเสรีให้กับการค้า การลงทุน และแปรรูปรัฐวิสาหกิจให้กลายเป็นของเอกชน
ในแง่หนึ่ง เสรีนิยมใหม่คืออุดมการณ์ทางเศรษฐกิจ หากนั่นก็ไม่ได้หมายความว่าพลังของแนวคิดนี้จะปรากฏอยู่เฉพาะในขอบเขตของเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว นั่นเพราะอุดมการณ์เสรีนิยมใหม่ยังส่งผลกระทบต่อชีวิตทางสังคมของผู้คนในยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อการกระตุ้นให้ปัจเจกบุคคลรับรู้ตัวตนของเขาในลักษณะของ ‘ตัวตนประกอบการ’ (entrepreneurial self)
เราคงจะเคยได้ยินว่าเสรีนิยมใหม่คือแนวคิดทางเศรษฐกิจที่ผงาดขึ้นมาในช่วงทศวรรษ 1980 เมื่อ Margaret Thatcher นายกรัฐมนตรีหญิงของอังกฤษและ Ronald Reagan ประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาก้าวขึ้นสู่อำนาจ ภายใต้การปกครองประเทศของบุคคลทั้งสอง เสรีนิยมใหม่ได้กลายเป็นแนวคิดหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของอังกฤษและสหรัฐอเมริกา ไม่ว่าจะเป็นการจำกัดบทบาทของรัฐให้น้อยที่สุด เพิ่มบทบาทให้กับการทำงานของตลาดเสรี เปิดเสรีให้กับการค้า การลงทุน และแปรรูปรัฐวิสาหกิจให้กลายเป็นของเอกชน
ในแง่หนึ่ง เสรีนิยมใหม่คืออุดมการณ์ทางเศรษฐกิจ หากนั่นก็ไม่ได้หมายความว่าพลังของแนวคิดนี้จะปรากฏอยู่เฉพาะในขอบเขตของเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว นั่นเพราะอุดมการณ์เสรีนิยมใหม่ยังส่งผลกระทบต่อชีวิตทางสังคมของผู้คนในยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อการกระตุ้นให้ปัจเจกบุคคลรับรู้ตัวตนของเขาในลักษณะของ ‘ตัวตนประกอบการ’ (entrepreneurial self)

AUTHOR