ข่าวที่ไม่เป็นข่าว รายงานโดย 3 นักข่าวเฉพาะกิจ Project Censored Thailand

Highlights

  • ข่าวการค้าทาสยุคใหม่ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ข่าวการแทรกแซงและดักจับกุมผู้ชุมนุมอย่างสงบของ FBI หรือข่าวที่ตีแผ่ต้นเหตุของปัญหา dead zone ในอ่าวเม็กซิโกที่มาจากของเสียในอุตสาหกรรมอาหารขนาดใหญ่ ทั้งหมดนี้คือตัวอย่างข่าวที่ Project Censored หยิบยกมาเล่าแทนสำนักข่าวกระแสหลัก และเป็นหลักฐานที่สะท้อนว่ายังมีเรื่องราวอีกมากที่เราไม่เคยมีโอกาสได้รับรู้ เพียงเพราะนักข่าวไม่หยิบยกขึ้นมานำเสนอ
  • เมื่อมีโอกาสทั้งที เราจึงชวนบุคลากรจากแวดวงสิทธิมนุษยชน สิ่งแวดล้อม และกฎหมาย มาริเริ่ม Project Censored Thailand ขึ้นเป็นการเฉพาะกิจ เพราะต่างคนต่างก็มีความอัดอั้นตันใจอยู่แล้วเป็นทุนเดิม เมื่อเรื่องราวที่พวกเขาคลุกคลีอยู่ทุกวี่วันไม่เคยถูกบอกเล่าผ่านข่าว จนท้ายที่สุดก็มักจะเงียบหายและผ่านเลยไปราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น

เพราะบนโลกนี้ยังมีเรื่องราวอีกมากมายที่ควรเป็นข่าว แต่กลับไม่เคยถูกนำเสนอ

ในระหว่างทางของการทำ a day 244 ฉบับ News ขั้นตอนการรีเสิร์ชทำให้ชาว a team ได้ทำความรู้จักกับองค์กรสัญชาติอเมริกันที่มีผลงานน่าสนใจอย่าง Project Censored ผู้ทำหน้าที่เผยแพร่ลิสต์รายชื่อข่าวตกสำรวจประจำปีที่รวบรวมจากแหล่งข่าวหลายวงการ

ข่าวการค้าทาสยุคใหม่ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ข่าวการแทรกแซงและดักจับกุมผู้ชุมนุมอย่างสงบของ FBI หรือข่าวที่ตีแผ่ต้นเหตุของปัญหา dead zone ในอ่าวเม็กซิโกที่มาจากของเสียในอุตสาหกรรมอาหารขนาดใหญ่ ทั้งหมดนี้คือตัวอย่างข่าวที่ Project Censored หยิบยกมาเล่าแทนสำนักข่าวกระแสหลัก และเป็นหลักฐานที่สะท้อนว่ายังมีเรื่องราวอีกมากที่เราไม่เคยมีโอกาสได้รับรู้ เพียงเพราะนักข่าวไม่หยิบยกขึ้นมานำเสนอ

หากย้อนกลับมาเทียบกับสถานการณ์ข่าวสารในบ้านเราทุกวันนี้ การปิดกั้นหรือเมินเฉยต่อข่าวบางประเภทเป็นปัญหาที่ใหญ่และเรื้อรัง แถมประเทศไทยเองก็ยังไม่มีองค์กรไหนมาทำหน้าที่คอยสอดส่องหาข่าวตกสำรวจมาเปิดหูเปิดตาคนในสังคมเหมือนกับ Project Censored

เมื่อมีโอกาสทั้งที เราจึงชวนบุคลากรจากแวดวงสิทธิมนุษยชน สิ่งแวดล้อม และกฎหมาย มาริเริ่ม Project Censored Thailand ขึ้นเป็นการเฉพาะกิจ เพราะต่างคนต่างก็มีความอัดอั้นตันใจอยู่แล้วเป็นทุนเดิม เมื่อเรื่องราวที่พวกเขาคลุกคลีอยู่ทุกวี่วันไม่เคยถูกบอกเล่าผ่านข่าว จนท้ายที่สุดก็มักจะเงียบหายและผ่านเลยไปราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น

 

นักสังคมสงเคราะห์เผย UNHCR ริบบัตรสองพี่น้องผู้ลี้ภัยจากเวียดนาม 5 ปีที่อยู่อย่างหวาดระแวง เมื่อกฎหมายไทยทำให้ผู้ลี้ภัยกลายเป็นคนไร้ตัวตน 

ศักดิ์ดา แก้วบัวดี รายงาน

เค และ เจ (นามสมมติ) สองพี่น้องชาวม้ง (มองตานญาด) จากหมู่บ้านในจังหวัด Dien Bien ทางตอนเหนือของเวียดนามต้องใช้ชีวิตอย่างหวาดระแวงในฐานะผู้ลี้ภัยที่ไม่ได้รับการคุ้มครอง หลัง UNHCR ยึดบัตรผู้อยู่ในความห่วงใย (Persons of Concern) ของพวกเขากลับคืนไปเมื่อปี 2560 เนื่องจากหมดโควตาการยื่นเอกสารเพื่อทำเรื่องเดินทางต่อไปสู่ประเทศที่สามซึ่งถูกปฏิเสธมาแล้วสองครั้งก่อนหน้านั้น 

สองพี่น้องตัดสินใจลี้ภัยข้ามมายังประเทศไทยเมื่อต้นปี 2555 หลังเผชิญเหตุการณ์สังหารหมู่ครั้งใหญ่ในบ้านเกิด ซึ่งเป็นชุมชนคนกลุ่มน้อยที่นับถือศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์ เคผู้เป็นพี่เล่าว่าเหตุการณ์ความขัดแย้งเริ่มปะทุขึ้นเมื่อปู่ของพวกเขาซึ่งเป็นครูสอนศาสนาในหมู่บ้านถูกจับตัวไป ก่อนเสียชีวิตลงในระหว่างการคุมตัวของเจ้าหน้าที่ทหาร จึงกลายเป็นชนวนเหตุให้เกิดการชุมนุมและการสังหารหมู่ที่คร่าชีวิตพ่อและแม่ของพวกเขาในเวลาต่อมา

หลังเดินทางมาถึงกรุงเทพฯ เคและเจอาศัยอยู่ที่โบสถ์คริสต์แห่งหนึ่ง และได้ขอความช่วยเหลือจาก UNHCR เพื่อเดินทางต่อไปยังประเทศที่สาม พวกเขาได้รับบัตร Persons of Concern เมื่อสิบปีก่อน แต่ห้าปีหลังจากนั้นเมื่อพวกเขาถูกปฏิเสธคำขอสองครั้งติดกัน เจ้าหน้าที่ก็ได้ยึดบัตรประจำตัวคืน พร้อมให้เหตุผลว่าเคสของพวกเขาถูกปิดลงแล้ว 

โดยทั่วไปเมื่อผู้ลี้ภัยถูกยึดบัตรและสถานะ Persons of Concern ผู้ลี้ภัยจะมีทางเลือก 2 ทาง ได้แก่ กลับประเทศหรืออยู่ต่ออย่างผิดกฎหมาย ซึ่งในกรณีนี้หากถูกจับก็จะถูกนำไปฝากขังไว้ที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองและพวกเขาคงไม่มีหวังได้ออกมาพบโลกภายนอกอีก

จากคำบอกเล่าของเค เมื่อพวกเขาพยายามชี้แจงถึงความยากลำบากในชีวิตที่จะตามมาหากพวกเขาพ้นสถานะการเป็น Persons of Concern เนื่องจากพวกเขาไม่เหลือทั้งครอบครัวและหมู่บ้านที่เวียดนามแล้วจึงไม่สามารถเดินทางกลับประเทศได้ หรือต่อให้กลับไปก็มีสิทธิที่จะถูกทางการตามจับ ด้านเจ้าหน้าที่จึงให้คำตอบว่า “ก็ตามใจนะ แต่ถ้าถูกตำรวจจับ ทาง UNHCR จะไม่รับผิดชอบและไม่เข้าไปช่วยเหลือ” 

ปัจจุบันเคและเจใช้ชีวิตในประเทศไทยมาเป็นเวลา 10 ปี โดย 5 ปีหลังคือการลักลอบอยู่อย่างผิดกฎหมาย พวกเขาจึงต้องคอยระวังตำรวจ ไม่สามารถทำงาน ไม่มีรายได้ และหากวันใดที่พวกเขาล้มป่วยลงก็ไม่สามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลได้อีกเช่นกัน

 

ธุรกิจรีไซเคิลชี้มหาดไทยควรแก้ พ.ร.บ.ค้าของเก่า ย้ำซาเล้งและธุรกิจรีไซเคิลยังผิดกฎหมาย เหตุใช้ พ.ร.บ.เก่าสมัย ร.7 

เปรม พฤกษ์ทยานนท์ รางาน

พระราชบัญญัติควบคุมการขายทอดตลาดและค้าของเก่า พุทธศักราช ๒๔๗๔ คือกฎหมายอายุ 89 ปี (แก้ไขล่าสุด พ.ศ. 2535) โดยมีเนื้อหาที่ร่างขึ้นเพื่อควบคุมธุรกิจการค้าของโบราณและการขายทอดตลาดในอดีต แม้มีการปรับปรุงแต่เนื้อหาล่าสุดก็ยังคงบีบบังคับให้ซาเล้งและธุรกิจการจัดการขยะในปัจจุบันเป็นอาชีพที่ต้องทำผิดกฎหมาย

เมื่อเปรียบเทียบข้อกำหนดตาม พ.ร.บ.กับแนวทางปฏิบัติโดยทั่วไปของร้านรับซื้อของเก่า รถซาเล้ง ตลอดจนธุรกิจรีไซเคิลอื่นๆ จะสังเกตได้ว่า กฎหมายหลายข้อไม่สอดคล้องกับการทำงานในยุคปัจจุบัน จึงเป็นการบีบบังคับทางอ้อมให้เจ้าของธุรกิจส่วนมากจำเป็นต้องฝ่าฝืนกฎหมายไปโดยปริยาย เห็นได้จากตัวอย่างดังต่อไปนี้

มาตราที่ 8 ระบุว่า ผู้ค้าของเก่านั้นต้อง (ข) มีสมุดบัญชีสำหรับการค้าของตนและจดรายการข้อสำคัญทั้งปวงแห่งการค้าลงไว้ทุกราย สมุดบัญชีตามที่กล่าวนี้ต้องทำตามแบบและนำมาให้เจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาตลงนามและประทับตราก่อนทุกเล่ม หรือ (ฆ) ทำเลขลำดับเป็นเครื่องหมายปิดไว้ที่ของให้ตรงกับเลขลำดับในสมุดบัญชีเพื่อสะดวกในการสำรวจ

ในแต่ละปีผู้ค้าของเก่าและขยะจำเป็นต้องต่อใบอนุญาตค้าของเก่า และเสียค่าธรรมเนียม 5,000 บาท พร้อมกับนำสมุดบัญชีไปให้เจ้าหน้าที่ลงชื่อและตราประทับ แต่ในความเป็นจริงแล้วการลงบัญชีการซื้อ-ขายทุกครั้งและทำรหัสในของเก่าทุกชิ้นเป็นเรื่องเกินความสามารถ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้รับซื้อของเก่ารายย่อยอย่างรถซาเล้ง ซึ่งรับซื้อของเก่าจากครัวเรือนปริมาณน้อย ต่างจากธุรกิจรับซื้อของเก่าขนาดใหญ่ที่เก็บข้อมูลในระบบคอมพิวเตอร์เป็นหลัก

ระบบการซื้อ-ขายที่ยุ่งยากและล้าหลังดังกล่าวยังส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพในการจัดการขยะในระดับประเทศ เมื่อในปัจจุบันประเทศไทยยังขาดหน่วยงานที่คอยกำกับดูแลเกี่ยวกับขยะโดยเฉพาะ และกฎหมายก็ไม่เอื้อต่อการทำงานของธุรกิจรายย่อยที่จะมาช่วยแก้ปัญหาดังกล่าว

แหล่งข่าวไม่ประสงค์ออกนามให้ข้อมูลว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในบ้านเกิดของตนไม่มีระบบการเก็บขยะ จึงเป็นภาระของครัวเรือนที่จะต้องนำขยะไปเผาหรือฝังในที่ดินของตนเอง ซึ่งขัดต่อกฎหมายที่ระบุว่า การจัดการขยะเป็นหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.)

เมื่อแหล่งข่าวทำเรื่องร้องเรียนไปยังศูนย์ราชการ ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ อบต.เดินทางมายังบ้านทันทีในเช้าวันรุ่งขึ้นเพื่อบังคับให้บุพการีของแหล่งข่าวลงชื่อยินยอมว่าตำบลดังกล่าวเป็นชุมชน zero bin ซึ่งจะไม่มีถังขยะและไม่มีนโยบายเก็บขยะ เป็นภาระหน้าที่ของประชาชนที่ต้องจัดการขยะด้วยตนเอง

กรณีดังกล่าวชี้ชัดว่า การที่กฎหมายในปัจจุบันให้อำนาจแก่ อปท.ในการจัดการขยะด้วยตนเอง ส่งผลให้กระบวนการจัดการขยะในประเทศไทยยังบกพร่อง กระจัดกระจาย และขาดการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ

 

iLaw แจงละเอียด 10 ข้อแก้ไขในรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ชี้หากยื่นผ่าน เตรียมเลือกตั้งนายกฯ ส.ว. องค์กรอิสระ ศาลรัฐธรรมนูญ และ ส.ส.ร.ใหม่ยกชุด

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ รายงาน

สืบเนื่องจากร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนซึ่งได้รับการผลักดันโดย iLaw พร้อมรายชื่อผู้ลงชื่อสนับสนุนอีก 100,732 คน ซึ่งถูกรวบรวมในระหว่างวันที่ 7 สิงหาคม – 19 กันยายน 2563 ที่ผ่านมา iLaw ระบุว่าผลที่จะตามมาหากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านการเห็นชอบจากรัฐสภา ได้แก่ การพ้นจากตำแหน่งของนายกรัฐมนตรี สมาชิกวุฒิสภา องค์กรอิสระ และศาลรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ยังต้องมีการเลือกตั้งสมาชิกสภา ร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เพื่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่ยกชุด ซึ่งใจความของ 10 ข้อแก้ไขในรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนนี้ ได้แก่

  1. ยกเลิกช่องทางนายกฯ คนนอก ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง
  1. ยกเลิกแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี หรือยุทธศาสตร์ชาติ คสช.ซึ่งนับเป็นกลไกยุทธศาสตร์ล้มรัฐบาลใดก็ตามในอนาคตที่อยู่ฝั่งตรงข้ามกับ คสช. เนื่องจากพระราชบัญญัติดังกล่าวให้อำนาจกับคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติในการปลดรัฐบาล
  1. ยกเลิกแผนปฏิรูปประเทศทั้ง 11 ด้านที่คนของ คสช.เป็นคนเขียน และจะยังมีตำแหน่งหน้าที่อยู่ภายในคณะกรรมการปฏิรูปด้านต่างๆ ต่อไปจนกระทั่งหลังการเลือกตั้งภายใต้รัฐบาลใหม่จนถึงปี 2565
  1. ยกเลิกที่มาของผู้บริหารท้องถิ่นแบบพิเศษที่ไม่ต้องมาจากการเลือกตั้ง รวมถึงบางรายที่มาจากการแต่งตั้งยุค คสช.ก็ยังอยู่ในตำแหน่งต่อไปได้โดยไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญ 
  1. ยกเลิกมาตราสุดท้ายของรัฐธรรมนูญปี 2560 ซึ่งนับเป็นการนิรโทษกรรม คสช.ที่ทำให้ประกาศ คำสั่ง และการกระทำทั้งหมดระหว่างที่ คสช.อยู่ในอำนาจเป็นสิ่งที่ชอบด้วยกฎหมายทั้งหมด และไม่สามารถเอาผิดย้อนหลังกับการทำรัฐประหารและการละเมิดสิทธิของประชาชนใดๆ ได้ 
  1. แก้ไขที่มานายกฯ โดยกำหนดให้นายกฯ ต้องเป็น ส.ส.เพื่อให้ว่าที่นายกฯ เป็นคนเดียวกับผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อลำดับที่หนึ่ง และมีรายชื่ออยู่ในบัญชีว่าที่นายกฯ ของพรรค 
  1. แก้ไขที่มาของ ส.ว. 250 คนซึ่งมาจากการสรรหาให้กลายเป็น ส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้ง โดยลดจำนวนลงเหลือ 200 คน รวมถึงแก้ไขการคำนวณจำนวน ส.ว.ต่อหนึ่งจังหวัดให้กลับไปสู่ระบบเดียวกับรัฐธรรมนูญปี 2540 โดยไม่มีอำนาจพิเศษที่จะเลือกนายกรัฐมนตรีหรือกำกับดูแลแผนยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศอีกต่อไป 
  1. แก้ไขที่มาองค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญ พร้อมกำหนดให้กรรมการชุดเดิมพ้นจากตำแหน่งทันที รวมถึงยกเลิกพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่จัดตั้งองค์กรเหล่านี้
  1. แก้ไขกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ง่าย โดยอาศัยแค่เสียงของสองสภารวมกัน ซึ่งเป็นหลักการเดียวกับรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ ที่ไม่จำเป็นต้องมีเสียงพิเศษของ ส.ว.หรือพรรคฝ่ายค้าน
  1. แก้ไขรัฐธรรมนูญให้มีการร่างใหม่ทั้งฉบับโดย ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้งจำนวน 200 คน โดยประชาชน 1 คนเลือก ส.ส.ร.ได้เพียง 1 คนหรือ 1 กลุ่ม

อ่านต่อได้ใน a day ฉบับ News สั่งซื้อได้ทาง godaypoets.com/product/pre-order-a-day-244 หรือ shopee bit.ly/2KAIun4

AUTHOR