Chéri นิทรรศการภาพถ่ายชื่ออ่านยากที่เล่าเรื่องความรักในสายตาของนักฟิสิกส์

แวบแรกที่ได้ยินว่าติวเตอร์ฟิสิกส์และช่างภาพสตรีทอิสระอย่าง ตีตี้-ศิรวิทย์ คุววัฒนานนท์ จะมีนิทรรศการเดี่ยวเป็นของตัวเอง เราก็จินตนาการว่ามันจะต้องเต็มไปด้วยภาพแสงและเงา สายรุ้ง ดวงดาว และอื่นๆ ที่ดูเป็นเด็กสายวิทย์แน่ๆ เพราะที่ผ่านมา ผลงานของเขาที่เคยได้รับรางวัล (และเข้าชิงรางวัล) ก็ล้วนแต่เป็นภาพที่คนเรียกกันว่าแนววิทยาศาสตร์ทั้งนั้น

ผิดคาด เมื่อถึงวันที่ตีตี้พาเราเดินดูงานจริงๆ เรากลับพบว่านิทรรศการภาพถ่าย Chéri (อ่านว่าเชอรี) กลับเล่าเรื่องที่เป็นธรรมดาสามัญที่สุดของมนุษย์ เรื่องที่ไม่ต้องเป็นถึงนักวิทยาศาสตร์เราก็สามารถค้นพบและสัมผัสได้ด้วยตัวเอง เรื่องที่เรียกสั้นๆ ว่าความรัก

My Cherie Amour

ความรักก้อนแรกที่เราสัมผัสได้อยู่ในป้ายชื่อนิทรรศการตัวใหญ่บนผนังที่เขียนว่า Chéri นอกจากคำๆ นี้จะมีความหมายว่าที่รักในภาษาฝรั่งเศสแล้ว มันยังมาจากชื่อเพลงรัก My Cherie Amour ที่เขาโปรดปราน และชื่อเพื่อนรักสมัยมหาวิทยาลัยที่ยังอยู่ในความทรงจำ

“ตอนกำลังเลือกชื่อกันอยู่ก็มีคนเสนอมาว่าชื่อ Chéri มั้ย แปลว่าที่รัก ผมได้ยินชื่อปุ๊บก็เอาเลย เพราะว่ามันเป็นชื่อเพื่อนผมที่วิศวะที่เสียไปแล้วตอนปีสอง ตอนนั้นเขาเรียนหนักจนอาหารเป็นพิษ ติดเชื้อที่ขั้วหัวใจ เดือนกว่าๆ ก็เสีย เพราะเพื่อนผมเขาเสียชีวิตเร็วมาก ผมเลยคิดว่าอย่างน้อยๆ ก็สร้างอะไรไว้ให้มันอยู่แทนเขาน่าจะดี

“มันลงล็อกกับทุกอย่างที่ผมคิดไว้ เพราะไหนๆ ในนิทรรศการ ผมก็จะเล่าเรื่องความรักในหลายๆ บริบทแล้ว ชื่อนี้ก็สื่อถึงชีวิตของผู้หญิงคนหนึ่งที่มีทั้งช่วงที่เศร้า ช่วงที่ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ช่วงที่ได้เจอกัน ชื่อเขามันทำให้เรารู้สึกถึงหลายอย่างก็เลยคิดว่าน่าจะเป็นชื่อที่เป็นตัวแทนนิทรรศการได้ดี”

Gravitation : ความรักของมนุษย์

เพราะคำพูดของ หนิง-อัครา นักทำนา ช่างภาพสตรีทรุ่นพี่ที่บอกว่าภาพของตีตี้ ‘มีความรักอยู่ในทุกภาพที่ถ่าย’ เขาจึงเข้าใจว่าอะไรคือสิ่งที่ตัวเองโฟกัสมาตลอด และตัดสินใจว่างานนี้จะพูดถึงความรักในหลากหลายบริบทผ่านเลนส์กล้องและสายตาของตัวเขาเอง เริ่มจากงานเซต Gravitation ที่เล่าบริบทความรักของมนุษย์ที่ทุกคนรู้สึกร่วมไปด้วยได้เหมือนดูภาพยนตร์

“ตอนแรกงานเซตนี้ชื่อ Because you promised me. เป็นประโยคที่ผมชอบในเรื่อง Interstella ซึ่งดูเป็นประโยคบอกเล่าไปหน่อย พอคิดชื่อใหม่ผมเลยตั้งชื่อว่า Gravitation เพราะหนังมันดำเนินเรื่องด้วยแรงโน้มถ่วงพอสมควร อีกอย่างคือตอนนี้แรงโน้มถ่วงยังเป็นสิ่งที่มนุษย์ยังไม่เข้าใจมันเต็มที่ เป็นสิ่งที่เรายังสงสัยว่าตกลงมันมีอยู่จริงๆ หรือเปล่า”

Dimensional Analysis : ความรักของพืช สัตว์ สิ่งของ

ถัดจากโซนแรกที่เต็มไปด้วยรูปผู้คน ตีตี้ต้อนรับเราเข้าสู่งานเซตที่สองที่เปลี่ยนเป็นงานคอนเซปชวลไร้เงาของผู้คน และเปลี่ยนตัวเอกในภาพเป็นสัตว์บ้าง ต้นไม้บ้าง หรือแม้กระทั่งสิ่งของไร้ชีวิต เพื่อตั้งคำถามว่านอกจากคนแล้ว สิ่งเหล่านี้จะมีความรักและความรู้สึกเหมือนเราบ้างมั้ย? และถ้าคิดว่ามี จะรู้ได้ยังไงว่าเราไม่ได้คิดไปเอง

“งานชุดนี้ชื่อ Dimensional Analysis (การวิเคราะห์เชิงมิติ) เป็นเรื่องแรกที่ผมสอนเด็กเกี่ยวกับฟิสิกส์เลย มันหมายถึงการมองมิติที่ต่างกัน วิเคราะห์ว่าของที่ต่างมิติเข้ากันได้หรือไม่

“งานเซตนี้เป็นภาพสิ่งที่ไม่มีชีวิตหรือไม่ใช่มนุษย์ แต่ผมถ่ายให้มันเหมือนมีความรู้สึกอยู่ในภาพ อย่างเช่นความโกรธแค้น อารมณ์เหมือนโดนทิ้ง หรืออยากกลับบ้าน อย่างรูปจิ้งจอก มันเป็นตัวที่ผมเจอบ่อยที่สวนสัตว์ดุสิต ทุกครั้งที่เจอมันจะทำท่าพยายามจะขุดกำแพงซึ่งผมก็รู้สึกว่ามันน่าสงสาร คนแปดสิบเปอร์เซ็นต์ก็รู้สึกเหมือนผม แต่ก็จะมีคนอีกยี่สิบเปอร์เซ็นต์ที่บอกว่ามันตลก ซึ่งมันดีนะเพราะเวลามนุษย์เรารีแอกต์เร็วๆ มันจะออกมาจากจิตใต้สำนึกเลย ทำให้เราค้นพบตัวเองได้เหมือนกัน”

Visible Light Spectrum : ความรักของนักฟิสิกส์

ในบรรดาภาพทั้งสามเซต ภาพเซตสุดท้ายน่าจะเป็นภาพที่เป็นตัวแทนของตีตี้มากที่สุด เพราะบนผนังเต็มไปด้วยภาพแสง เงา สายรุ้ง ภาพดวงไฟที่เหมือนดวงดาว และอื่นๆ ที่ดูยังไงก็น่าจะเป็นสิ่งที่ติวเตอร์ฟิสิกส์อย่างเขารัก แต่นั่นก็เป็นเพียงแค่สายตาที่คนอื่นมอง ภาพตรงกลางจึงเป็นภาพท้องฟ้าที่แม้ดูธรรมดา แต่ก็เป็นสิ่งที่เขาชอบถ่ายมากที่สุด

“งานเซตนี้ชื่อ Visible Light Spectrum หรือแสงที่ตามองเห็น เป็นสิ่งที่คนคิดว่ามันมีอยู่แค่นี้ แต่จริงๆ มันมีแสงมากกว่านั้นเยอะ เหมือนตัวผมเอง

“ช่วงแรกๆ ที่ถ่ายรูปแล้วดูเป็นฟิสิกส์ เราถ่ายแค่เพราะมันยาก มันเจ๋ง แต่ช่วงหลังๆ ผมเริ่มเบื่อที่ทุกคนเห็นผมเป็นติวเตอร์ฟิสิกส์แล้วต้องทำงานแบบนี้ ผมอยากให้คนเข้าใจว่าตัวเรามีอะไรมากกว่านั้น ไม่ใช่แค่เรื่องแสง สี แต่เป็นเรื่องอินเนอร์ลึกๆ มากกว่า”

Amour-Cherie-My

แม้บริบทความรักจากเซตแรกไล่เรียงไปยังเซตสุดท้ายจะเป็นความรักที่เข้าใจยากขึ้นเรื่อยๆ แต่หากลองเดินย้อนจากเซตสุดท้ายกลับไปเซ็ตแรก เราจะเห็นการเดินทางของตีตี้ จากภาพถ่ายแนวหวือหวาเป็นวิทยาศาสตร์ สู่ภาพที่ถ่ายทอดมวลความรักที่ธรรมดาแต่ประทับใจ

การเดินทางนี้เริ่มขึ้นเมื่อเขาชนะรางวัล Young Street Photography Contest 2017 และได้รางวัลเป็นตั๋วเครื่องบินและที่พักไปถ่ายรูปที่มาเก๊าเป็นเวลาสี่วัน

“ตอนฝึกเราต้องวิ่งตามคนอื่น ต้องแข่งขัน แต่พอถึงจุดหนึ่งมันก็มีรูปมาเก๊าที่เปลี่ยนชีวิต ตอนนั้นเขาบอกให้ไปตึก MGM เพราะผมน่าจะชอบ แต่พอไปผมก็ไม่ชอบ (หัวเราะ) ผมเลยเดินออกมาที่ถนน ตอนนั้นมันเงียบมาก มีแค่ไฟจากตึกสะท้อนออกมาเป็นสีเหลืองแล้วก็ผู้ชายกับผู้หญิงใส่เสื้อขาวจูงมือกันมาจะข้ามถนน ฟีลลิ่งมันเหมือนดูภาพยนตร์อยู่ ตอนที่ถ่ายรูปผมแค่ชอบแล้วรู้สึกอยากถ่ายเก็บไว้ แต่สุดท้ายมันเปลี่ยนความหมายในการถ่ายรูปของเราไปมาก จากที่เราพยายามที่จะถ่ายให้คนอื่นชอบ กลายเป็นพยายามเล่าเรื่องของตัวเรา”

แน่นอนว่าผลลัพธ์ของการเปลี่ยนแปลงคืออะไรคงไม่ต้องบอก เพราะตอนนี้เรายืนอยู่ในงานนิทรรศการเดี่ยวของเขาเรียบร้อยแล้ว

หลังจากเดินดูงานจนทั่ว เราถามเขาเป็นอย่างสุดท้ายว่าอะไรคือสิ่งที่เขาอยากให้เกิดขึ้นจากนิทรรศการนี้

“ผมมองว่าจุดประสงค์หลักของผมคือความรัก รายได้หรือการที่คนอื่นดูภาพแล้วชมว่าเก่งจังไม่ใช่จุดประสงค์ของผม เพราะฉะนั้นตอนทำงานนี้ หลายอย่างที่ผมตัดสินใจ ผมไม่ได้ทำเพื่อให้งานดีขึ้น แต่ผมทำเพื่อให้คนไม่ทะเลาะกันมากกว่า อย่างถ้าจัดงานแล้วพนักงานสักสิบคนช่วยกันตอกตะปูแล้วทะเลาะกัน ผมไม่โอเค

“หลายคนมาดูงานของผมก็ช่วยผมเรื่องการจัดเรียงรูปหรือบอกว่าเรื่องนี้มันสำคัญมาก แต่สำหรับผม ผมไม่ซีเรียสเพราะงานของผมเป็นงานเกี่ยวกับความรัก ถ้ามันจบลงด้วยการที่ทุกคนไม่รักกัน แปลว่าผมทำงานไม่สำเร็จ”

ใครสนใจอยากดูนิทรรศการ Chéri ของตีตี้สามารถไปชมได้ที่ YELO House ซอยเกษมสันต์ 1 ได้ตั้งแต่วันที่ 5-29 กรกฎาคม 2561 เวลา 11:00-20:00น. (ปิดทุกวันอังคาร)
หรือติดตามงานภาพถ่ายเพิ่มเติมได้ที่อินสตาแกรม
titi.kittikorn

ภาพ ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ, ศิรวิทย์ คุววัฒนานนท์

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ

ช่างภาพนิตยสาร a day ที่เพิ่งมีพ็อกเก็ตบุ๊กเล่มใหม่ชื่อ view • finder ออกไปเจอบอลติก ซื้อสิ ไปซื้อ เฮ่!