ดอกไม้ / ลูกโป่ง / ชีวิต : ปรัชญาของ Daisy Balloon ศิลปินผู้มอบลมหายใจให้ลูกโป่ง

ไม่กี่วันมานี้ ฉันไปดูงานของ Daisy Balloon มา

เล่าอย่างย่นย่อ งานของพวกเขาคือการจับเอาลูกโป่งนับพันนับหมื่นมาสูบลม บิด และจัดวางจนกลายเป็นประติมากรรมขนาดเล็กใหญ่ (ส่วนมากจะใหญ่) ขยายขอบเขตความสัมพันธ์ระหว่างเรากับลูกโป่งให้กว้างขึ้น จากแค่เป็นของเล่นเพียงชั่วคราว ตอนนี้มันกลายเป็นงานศิลปะที่เราต้องแหงนหน้ามอง

การจับเอาลูกโป่งแสนเปราะบางมาทำเป็นโครงสร้างดูแข็งแรงเป็นเสน่ห์เฉพาะตัวที่ทำให้ฉันตกหลุมรักงานของ Daisy Balloon ตั้งแต่แรกเห็น ก่อนจะรู้ว่าส่วนผสมระหว่างความอ่อนโยนและระเบียบแบบแผนนี้เกิดจากมือของ ริเอะ โฮโซะคาอิ และ ทาคาชิ คาวาดะ สองศิลปินชาวญี่ปุ่นผู้บินมาจัดนิทรรศการลูกโป่งที่เมืองไทยพอดี

นั่นจึงเป็นที่มาของบทสนทนากับพวกเขาที่เปลี่ยนมุมมองที่ฉันมีต่อลูกโป่งไปตลอด

 

จากช่อดอกไม้สู่ช่อลูกโป่ง

“จินตนาการที่ผมมีต่อลูกโป่งเปลี่ยนไปหมดเลยเมื่อผมพบกับริเอะ” ทาคาชิ ชายหนุ่มผู้เป็นกราฟิกดีไซเนอร์ของ Daisy Balloon ว่าไว้อย่างนั้นในงานทอล์กที่ Open House เซ็นทรัลเอ็มบาสซี่ สถานที่จัดนิทรรศการล่าสุดของพวกเขา “ตอนแรกผมคิดว่าบอลลูนจะต้องมีน้ำหนักเบา ลอยอยู่ในอากาศ และมีฟอร์มเฉพาะตัว แต่พอได้มารู้จักริเอะ บอลลูนของผมหนักจนวางกับพื้นได้เลย”

ย้อนกลับไปก่อนหน้าที่พวกเขาจะรู้จักกัน ริเอะเคยเป็นนักจัดดอกไม้มาก่อน จนกระทั่งร้านดอกไม้ที่เธอทำงานอยู่เริ่มนำลูกโป่งเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของช่อดอกไม้ด้วย ความสัมพันธ์ระหว่างเธอกับลูกโป่งจึงผลิบานจากตรงนั้น

“ตอนแรกฉันไม่ได้สนใจลูกโป่งเท่าไหร่ แต่พอได้เริ่มสัมผัสลูกโป่ง ฉันก็รู้สึกสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ ฉันจึงเริ่มฝึกฝนและเรียนรู้เทคนิคการทำลูกโป่งมากขึ้น ตอนนั้นฉันรู้สึกว่าน่าจะเอาลูกโป่งมาทำเป็นชิ้นงานได้นอกเหนือจากช่อดอกไม้ก็เลยแยกตัวออกมาเป็นอิสระเพื่อจะทำผลงานของตัวเอง

“ตอนแรก ฉันก็รู้เท่ากับที่เรารู้กันว่าลูกโป่งจะมีลักษณะกลมๆ หลังจากนั้นฉันก็ได้เจอบอลลูนที่เป็นเส้นยาวๆ ซึ่งเอามาบิด ปรับแต่งให้โค้งงอเป็นรูปร่างได้ หลังจากที่ได้รู้จักบอลลูนประเภทนี้ก็เริ่มมีไอเดียหลากหลายเข้ามาว่าน่าจะทำเป็นผลงานได้มากกว่านี้”

หลังจากลาออกในปี 2002 ริเอะเริ่มออกเดินทางไปดูอีเวนต์เกี่ยวกับลูกโป่งทั้งในญี่ปุ่นและต่างประเทศ เพื่อดูงานที่หลากหลายและฝึกเทคนิคการทำลูกโป่งแบบต่างๆ จนได้เจองานศิลปะจากลูกโป่งที่เปลี่ยนชีวิตเธอและทาคาชิในเวลาต่อมา

“มีอยู่วันหนึ่ง ฉันไปเห็นคนทำ balloon dress ฉันรู้สึกว่า โอ๊ะ น่าสนใจมาก ก็เลยได้ไอเดียจากตรงนั้น” หลังจากวันนั้น ริเอะหอบแรงบันดาลใจก้อนโตกลับมายังญี่ปุ่นเพื่อจะลองทำบอลลูนเดรสของตัวเองบ้าง และเริ่มต้นชีวิตในฐานะศิลปินลูกโป่งอย่างเต็มตัว

แต่เอ๊ะ เธอรู้สึกเหมือนยังขาดอะไรไปอย่างหนึ่ง

เมื่อดอกเดซี่เริ่มผลิบาน

เมื่อมีเทคนิคและไอเดียทำลูกโป่งอยู่พอประมาณ ริเอะก็นึกขึ้นมาได้ว่าเธอยังขาดหน้าเว็บไซต์ที่จะเป็นพื้นที่เผยแพร่ผลงานของเธอด้วย

“หลังจากเริ่มฝึกฝนและเริ่มทำลูกโป่งให้เป็นรูปร่างหลากหลายขึ้นแล้ว ฉันก็คิดว่าจะเริ่มทำงานมากขึ้นก็เลยคิดว่าจะเปิดโฮมเพจซึ่งต้องมีการออกแบบหน้าโฮมเพจ แต่เพราะฉันทำด้วยตัวเองยังไม่คล่องมากก็เลยต้องขอความร่วมมือจากบริษัทดีไซเนอร์ ฉันจึงได้เจอกับออฟฟิศของคุณคาวาดะ”

อย่างที่ทาคาชิเล่า ชุดเดรสลูกโป่งที่ริเอะเอามาให้เขาดูทำให้เขาตกตะลึงที่เห็นลูกโป่งถูกดัดแปลงเป็นสิ่งอื่นนอกจากของเล่นธรรมดาๆ แต่ยิ่งไปกว่านั้น เขายังเกิดไอเดียงานศิลปะจากลูกโป่งมากมายจนออกปากชวนให้ริเอะมาสร้างผลงานด้วยกัน โดยงานแรกของพวกเขาในปี 2009 คือชุด balloon dress หน้าตาเหมือนชุดจากฟองสบู่ ที่ดูเปราะบาง แต่ก็สามารถคงรูปทรงไว้ได้อย่างสวยงาม

ธรรมชาติในงานของ Daisy Balloon

“สมมติว่าถ้าจะเริ่มทำผลงานสร้างสรรค์ขึ้นมาสักอย่างหนึ่ง คุณคาวาดะจะเป็นผู้ริเริ่มไอเดียขึ้นมา โดยที่ฉันจะเป็นคนลงมือทำ เพราะฉะนั้น พูดง่ายๆ ก็คือคนหนึ่งจะเป็นมันสมอง อีกคนก็จะเป็นมือ หรือเป็นผู้จัดทำนั่นเอง” ริเอะตอบข้อสงสัยของฉันว่าพวกเขาแบ่งงานกันทำอย่างไร

ส่วนในเรื่องของไอเดียตั้งต้นของผลงาน ทาคาชิเล่าว่าเขามักจะได้แรงบันดาลใจมาจากธรรมชาติรอบๆ ตัว อันรวมไปถึงสเปซที่ใช้จัดงานแต่ละครั้งอีกด้วย

“ผมมักจะเริ่มจากธรรมชาติรอบๆ ตัว เอามาบวกกับกราฟิกดีไซน์ ที่ต้องใช้กราฟิกเข้ามาช่วยออกแบบโครงสร้างเพราะกราฟิกดีไซน์ช่วยเพิ่มมุมมองในการออกแบบให้มากขึ้น ส่วนเวลาจัดนิทรรศการ เราจะเข้าไปดูพื้นที่แล้วก็ตัดสินจากบรรยากาศที่รายล้อมพื้นที่นั้นๆ และบุคคลที่มาใช้พื้นที่ว่ามีลักษณะพิเศษยังไง เราพยายามเอาธรรมชาติของสเปซมาประมวลแบบง่ายๆ เป็นความคิดที่บริสุทธิ์ เพื่อสร้างเป็นผลงานขึ้นมา”

ริเอะและทาคาชิไม่เพียงสร้างผลงานจากลูกโป่งเป็นงานศิลปะในนิทรรศการเท่านั้น แต่พวกเขายังมีผลงานอีกหลากหลาย เช่น การจัดดิสเพลย์หน้าร้านค้า หรือแม้กระทั่งการออกแบบชุดให้นักร้องไอเดียหลุดโลกอย่าง Björk

“เวลาทำเดรสให้นางแบบหรือศิลปิน เราต้องออกแบบให้เข้ากับสไตล์ของเขาด้วย รวมถึงต้องเข้ากับธีมและคอนเซปต์ของงาน สเตจ รวมถึงดนตรีที่จะเล่น มูฟเมนท์ของเขา ต้องคิดว่าถ้าศิลปินคนนี้เดินออกมาในเพลงนี้เราจะต้องทำชุดยังไง” ทาคาชิอธิบาย

เริ่มต้นคือลูกโป่งเสมอ

นอกจากลูกโป่ง ฉันแอบเห็นว่า Daisy Balloon ยังหยิบจับเอาวัสดุอื่นๆ เข้ามาใช้ด้วย เช่น เส้นด้ายอ่อนนุ่มหรือสเตนเลสเงาวับ แต่ไม่ว่าจะเปลี่ยนวัสดุเป็นอะไร พวกเขามักเริ่มต้นไอเดียจากความเป็นลูกโป่งเสมอ

“ในบางผลงาน เราจะใช้วัสดุนอกเหนือจากลูกโป่งเพราะว่ากับลูกโป่งเราต้องอัดก๊าซเข้าไปทำให้อาจจะเกิดปัญหา” ริเอะเล่าถึงจุดเริ่มต้นให้ฉันฟัง ในขณะที่ทาคาชิช่วยเสริมเรื่องกระบวนการทำงานกับวัสดุแปลกใหม่ที่พวกเขาเลือก

“ไม่ว่าเราจะใช้วัสดุอะไร เราจะใช้ลูกโป่งเป็นตัวตั้งต้น อย่างเช่น งาน Balloon Shell-LAKE ก็ใช้วัสดุเป็นด้ายธรรมดาๆ เราเริ่มจากการเอาบอลลูนมาทำเป็นรูปร่างก่อน แล้วจึงเอาด้ายไปเรียงร้อยถักทอให้เกิดเป็นรูปร่างขึ้นมา หลังจากนั้นเราจึงเจาะบอลลูนให้แตก เกิดเป็นโครงสร้างของด้ายที่เป็นรูปบอลลูน”

ดอกไม้ / ลูกโป่ง / ชีวิต

เทียบกับงานศิลปะแขนงอื่นๆ ลูกโป่งดูจะบอบบางและต้องใช้การทะนุถนอมมากกว่าวัสดุอื่นๆ จนฉันสงสัยว่าอะไรคือเสน่ห์ที่ทำให้ทั้งคู่ทำงานกับความยากมาได้เกือบสิบปี

“ฉันว่าลูกโป่งเป็นสิ่งที่เด็กก็ชอบ ผู้ใหญ่ก็ชอบ เพราะฉะนั้นทุกคนจึงเปิดใจเข้าหามันได้ง่าย นอกจากนี้ ลูกโป่งยังมีเสน่ห์ที่เราสามารถเปลี่ยนรูปร่างมันให้หลากหลายได้ ฉันจึงสนุกกับการได้ทำงานที่หลากหลาย และจับใจคนทุกเพศทุกวัย” ริเอะนิ่งคิดก่อนค่อยๆ เล่าให้ฉันฟังต่อ

“อันที่จริงการทำงานกับลูกโป่งมีความละเอียดอ่อนคล้ายกับการทำงานกับดอกไม้สดหรือสิ่งมีชีวิต คือต้องการการดูแล ทะนุถนอม คนมักจะคิดว่าการทำงานกับลูกโป่งนั้นยากเพราะว่ามันจะแตกง่าย แต่ที่จริง สิ่งนี้มีทั้งข้อดีและข้อเสีย จะเรียกว่าเป็นความพิเศษของลูกโป่งก็ได้ เพราะเมื่อเราใส่อากาศเข้าไปในลูกโป่ง มันจะค่อยๆ เสื่อมสลายลง เราอาจสร้างรูปแบบให้มันก็จริง แต่ในวันแรกของผลงานกับวันสุดท้ายที่เราเห็น ลูกโป่งจะมีหน้าตาเปลี่ยนแปลงไป อาจจะดูเหี่ยวเฉาลงมา เหมือนลูกโป่งมีชีวิตของมันตั้งแต่เริ่มต้นจนจากไป”

“ถึงอย่างนั้น ฉันคิดว่าถ้าฉันทำงานด้วยตัวคนเดียว ฉันคงทำมาไม่ได้ถึงทุกวันนี้ แต่เพราะฉันได้ความช่วยเหลือจากคุณคาวาดะในส่วนของการสร้างสรรค์ งานถึงออกมาได้ดีขนาดนี้”

ส่วนทาคาชิบอกว่าเป้าหมายในการทำงานกับลูกโป่งตลอดเวลาที่ผ่านมาและต่อไปของเขา คือการขยายขอบเขตการรับรู้ที่คนมีต่อลูกโป่ง เช่นเดียวกับที่ริเอะเคยเปิดโลกให้เขาเมื่อเธอแนะนำ balloon dress ให้เขารู้จักเมื่อนานมาแล้ว

“ผมอยากจะสร้างผลงานที่ทำลายความคิดเดิมๆ เกี่ยวกับลูกโป่งที่ทุกคนมีอยู่ และสร้างจินตนาการเกี่ยวกับลูกโป่งในรูปแบบใหม่ขึ้นมา เปลี่ยนมุมมองที่เห็นว่าลูกโป่งต้องลอยอยู่เฉยๆ ให้เป็นรูปแบบอื่นไปเลย อย่างตอนนี้ งานของพวกเราค่อนข้างเป็นผลงานแบบอนาล็อก แต่ว่าเพราะปัจจุบันเรากำลังอยู่ในยุคดิจิทัล ผมจึงอยากผสมงานอนาล็อกกับดิจิทัลเข้าด้วยกัน เหมือนกับการเอาคนกับเทคโนโลยีเข้ามาผสานกันเป็นผลงาน”

ฉันฟังแล้วก็ยังไม่แน่ใจว่างานในอนาคตของ Daisy Balloon จะมีรูปร่างหน้าตาและชีวิตจิตใจแบบไหน

แต่ที่ฉันแน่ใจคือสิ่งนั้นจะเป็นลูกโป่งแบบที่ฉันไม่เคยจินตนาการถึงมาก่อนแน่นอน

http://daisyballoon.com/

ภาพ ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ, DAISY BALLOON

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ

ช่างภาพนิตยสาร a day ที่เพิ่งมีพ็อกเก็ตบุ๊กเล่มใหม่ชื่อ view • finder ออกไปเจอบอลติก ซื้อสิ ไปซื้อ เฮ่!