Permaflora แบรนด์ดอกไม้ประดิษฐ์ที่พ่อปลูกให้สมจริงและลูกประดับให้เป็นงานศิลปะ

Highlights

  • Permaflora คือแบรนด์ที่งอกงามจากรากของ J.S.Flower โรงงานผลิตดอกไม้ประดิษฐ์แบบ OEM ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อ 30 ปีที่แล้วโดย จร–ศิลปชัย วัชระ
  • ในเวลานั้นถือเป็นช่วงโรยราของวงการดอกไม้ประดิษฐ์ แต่ศิลปชัยก็พลิกฟื้นธุรกิจกลับมาด้วยการพัฒนานวัตกรรมการผลิตดอกไม้ที่เหมือนจริงจนถ้าไม่หยิบมาพินิจพิเคราะห์ใกล้ๆ ก็ไม่มีทางแยกออก 
  • จีน–กัญญาภัทร วัชระ คือทายาทหนึ่งเดียวผู้สานต่อธุรกิจครอบครัว ภายใต้แนวคิดที่ว่า หากพ่อปลูก เธอจะใส่ปุ๋ย รวมทั้งมุ่งมั่นถางที่ทางใหม่ๆ ที่ดอกไม้ประดิษฐ์จะสามารถไปแย้มบานได้ในชีวิตผู้คน

Permaflora ในฐานะคนโรแมนติกและฟุ้งฝัน ฉันชอบมีดอกไม้ในชีวิต ในวันฟ้าเปิดแดดออก ดอกไม้ยิ่งเติมความสดใส ในวันฝนตกฟ้าครึ้ม ดอกไม้ช่วยบรรเทาความซึมเซา 

ฉันรักดอกไม้เท่ากันทุกดอก เบญจมาศ กุหลาบ กล้วยไม้ ลิลลี่ ทิวลิป ไฮเดรนเยีย โบตั๋น จะดอกอะไรก็ได้ ขอแค่เป็นดอกไม้จริงที่ต้องการน้ำและการทะนุถนอม

จนได้มารู้จักกับ Permaflora แบรนด์ดอกไม้ประดิษฐ์ที่สมจริงจนกลัวว่าหากหยิบจับไม่ระวัง กิ่งก้านใบจะชอกช้ำเอาเสียได้ แถมเขายังมีเรื่องเล่าประจำแบรนด์ว่ามีใครหลายคนเห็นแล้วต้องเผลอรดน้ำทุกทีไป ฉันถึงยอมเปลี่ยนใจและเปิดพื้นที่ให้ดอกไม้ประดิษฐ์เข้ามาเบ่งบานในหัวใจ

บ่ายวันเมฆมาก ฉันเลี้ยวรถเข้าไปจอดหน้าอาคารอิฐสีส้มแดงขนาดสามชั้น สิ่งแรกที่เตะตาคือ facade ธรรมชาติที่ถักทอจากใบไม้สีเขียวเข้ม ฉันเพ่งมองกิ่งก้านใบที่ปกคลุมกว่าครึ่งของตัวตึกแล้วก็อดสงสัยไม่ได้ว่า สิ่งที่เห็นตรงหน้าเป็นของจริงหรือของประดิษฐ์กันแน่ 

มองได้สักพักฉันก็ผลักประตูกระจกเข้าไปในห้องโถง แล้วต้องตะลึงพรึงเพริดไปกับกล้วยไม้หลากสี ชมพู ขาว ม่วง เหลือง ที่ห้อยย้อยลงมาจากเพดาน ใครจะคาดคิดว่ามาโรงงานแล้วจะมีประติมากรรมดอกไม้มาต้อนรับตั้งแต่ทางเข้า 

ฉันไต่บันไดขึ้นไปพร้อมกับความสงสัยที่ยิ่งทวีคูณ บนชั้นสามอันเป็นโชว์รูมแสดงสินค้าตัวอย่าง มีคนรอตอบคำถามของฉันอยู่แล้ว

.

ลิลลี่ของวิศวกรนักทดลองที่เชื่อว่า คราฟต์ + วิทยาศาสตร์ = นวัตกรรม

Permaflora เป็นแบรนด์น้องใหม่ที่เพิ่งแทงยอดอ่อนได้ยังไม่ทันครบปี แต่รากของแบรนด์คือ J.S.Flower บริษัทรับผลิตดอกไม้ประดิษฐ์ตามสั่ง (OEM) ที่มีโรงงานอยู่ทั้งที่กรุงเทพฯ และสระแก้ว ก่อตั้งในปี 2533 โดย จร–ศิลปชัย วัชระ บัณฑิตวิศวะฯ เคมี ผู้เอาจริงเอาจังกับการประดิษฐ์ดอกไม้ให้สมจริงที่สุด

อันที่จริงเมื่อ 30 ปีที่แล้ววงการดอกไม้ประดิษฐ์กำลังเหี่ยวแห้งและโรยรา เพราะตลาดใหญ่ที่สุดอย่างสหรัฐอเมริกาขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากไทยถึง 17 เปอร์เซ็นต์ จนผู้ผลิตแบกรับต้นทุนไม่ไหว ทยอยปิดตัวไปทีละเจ้าๆ ซึ่งหนึ่งในโรงงานที่ได้รับผลกระทบคือโรงงานรับผลิตดอกไม้กระดาษสาของพี่สาวแท้ๆ ของศิลปชัยนั่นเอง

“เรามีคนที่ทำงานอยู่ด้วยกันแล้วเก่ง และเราเชื่อว่าเราสามารถทำดอกไม้สวยได้” เขาอธิบายเหตุผลที่ตัดสินใจเปิดโรงงานแห่งใหม่ ในวันที่ใครต่อใครพากันสะกดคำว่าปิด

ศิลปชัยต่อยอดสองจุดแข็งที่เขาเชื่อมั่น โดยคิดค้นและค้นคว้าหาวิธีผลิตดอกไม้ประดิษฐ์แบบใหม่ๆ จากเดิมที่นิยมผลิตด้วยกระดาษสา เขาก็ลองใช้ผ้าไหมญี่ปุ่นราคาแพง จากเดิมที่นิยมแกะสลักแม่พิมพ์ปูนปลาสเตอร์ เขาก็ลองลอกลายกลีบใบจากดอกไม้ใบไม้จริง

สองสิ่งด้านบนเป็นเพียงหนึ่งในหลากหลายการทดลองของวิศวกรผู้นี้ เขาทดลองแล้วทดลองเล่าจนกระทั่งค้นพบสองสูตรสำเร็จที่นำทางให้ J.S.Flower ก้าวเข้าสู่ดินแดนที่ไม่เคยมีใครไปถึง

หนึ่ง คือการใช้ยางพาราเคลือบกระดาษสาให้นิ่ม

สอง คือการผลิตแม่พิมพ์แบบใหม่ที่สามารถประทับกลีบใบกระดาษสาให้มีสัมผัสสมจริง

ฉันนั่งฟังขั้นตอนการผลิตแบบใหม่ของศิลปชัยด้วยตาลุกวาว ไม่เคยคาดคิดมาก่อนว่า งานคราฟต์ที่ (ดูเหมือน) ต้องใช้มือและใจทำจะมีวิทยาศาสตร์เป็นส่วนผสมในสัดส่วนเกินครึ่ง

“เราจะทำงานคราฟต์ให้มีวิทยาศาสตร์อยู่ในนั้นก็ได้” ศิลปชัยตอบรับข้อสังเกตของฉัน “พูดอย่างนี้ดีกว่า งานคราฟต์หรืองานฝีมือไม่จำกัดอยู่เพียงอะไรเดิมๆ เราค้นคว้าได้ เราค้นคิดได้ เราเอาอะไรใหม่ๆ มาผสมผสานกับฝีมือได้” 

ดอกไม้ชนิดแรกที่ศิลปชัยและช่างฝีมือคู่ใจผลิตจนสำเร็จด้วยนวัตกรรมนี้คือลิลลี่ เหตุที่เป็นไม้ดอกชนิดนี้เพราะเขานั่งนับดอกไม้ในหนังสือหลายเล่มแล้วพบว่าลิลลี่เป็นดอกไม้ที่ปรากฏตัวบ่อยที่สุด จึงเดาว่าคนจะนิยมซื้อลิลลี่ประดิษฐ์มากที่สุด

ต้นปี 2534 ลิลลี่ดอกแรกดอกเดียวดอกนั้นถูกจัดแสดงไว้ที่ผนังด้านหนึ่งของโชว์รูม J.S.Flower ส่วนอีกด้านเป็นดอกไม้ประดิษฐ์นานาชนิดที่ผลิตด้วยกรรมวิธีแบบเดิม 

วันหนึ่งลูกค้าเจ้าใหญ่จากสหรัฐอเมริกามาดูสินค้าที่โชว์รูม

“เขาเดินมาที่ลิลลี่ดอกเดียวนี่แหละครับ มาหยิบจับ คิด สุดท้ายติดไว้ที่เดิม แล้วจูงมือผมเข้าไปในห้องทำงาน แล้วเริ่มบรรยายว่าบริษัทเขาใหญ่ขนาดไหน เขาเป็นผู้ซื้อของจากประเทศไทยมากที่สุดเลยนะ” วิศวกรรุ่นใหญ่ยิ้มเมื่อเล่าถึงวันเปลี่ยนชะตา 

 “ในที่สุดเขาก็บอกว่า เขาชอบดอกลิลลี่ที่ติดบนบอร์ด ขายเขาคนเดียวได้ไหม ตอนนั้นเราหิวออร์เดอร์เราก็ตกลง ธุรกิจของเราเกิดได้นับแต่ตอนนั้นครับ”  

 

กล้วยไม้ของโรงงานระดับโลกที่ไม่เคยหยุดทำ R&D

ศิลปชัยและทีมช่างฝีมือทดลองผลิตดอกไม้ชนิดอื่นๆ ด้วยนวัตกรรมใหม่ที่ว่า และขยายคลังดอกไม้ของ J.S.Flower ให้ครอบคลุมหลากหลายประเภท แม็กโนเลีย ทิวลิป โครคัส ไฮเดรนเยีย จามจุรี บัว ฯลฯ ลามไปถึงกิ่งไม้ ใบไม้ หญ้า มอสส์ หรือกระทั่งดินปลอมและน้ำปลอมสำหรับจัดดอกไม้ใส่กระถางและแจกัน 

แต่ดอกไม้ยอดนิยมตลอดกาลต้องยกให้กล้วยไม้ฟาแลนนอปซิส (phalaenopsis) หรือกล้วยไม้สกุลเขากวางอ่อนที่อ่อนช้อยและสง่างามสมชื่อ

แม้ดอกไม้ของ J.S.Flower จะติดตลาดทั่วโลกและมีออร์เดอร์เข้ามาอย่างล้นหลามแล้ว แต่ศิลปชัยก็ไม่เคยหยุดค้นคว้าหาวิธีการผลิตที่ล้ำสมัยและสร้างสรรค์ดอกไม้ได้สมจริงกว่าเดิม อย่างกล้วยไม้ฟาแลนนอปซิสที่เป็นสินค้าอันดับหนึ่งของโรงงานก็พัฒนามาถึงรุ่นที่ 5 เลยทีเดียว โดยปัจจุบันวัตถุดิบหลักในการผลิตคือผ้าโพลีเอสเตอร์แบบไม่ถักทอ (non-woven) ที่อัพไซเคิลมาจากขยะพลาสติก ซึ่งเมื่อย้อมสีแล้วจะได้สีสันสดใสชัดเจนกว่ากระดาษสา และยางเทียมที่พัฒนาขึ้นในห้องแล็บในสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีคุณภาพและคงทนกว่ายางพารา อยู่ได้นานโดยไม่เปลี่ยนสีและไม่ส่งกลิ่น

เห็นศิลปชัยมุ่งมั่นกับการทำดอกไม้ประดิษฐ์ให้สมจริงที่สุดอย่างนี้ ฉันจึงอดถามไม่ได้ว่า ถ้าคนเราต้องการดอกไม้ประดิษฐ์ที่เหมือนจริง ทำไมถึงไม่ใช้ดอกไม้จริงไปเลยล่ะ 

เขาทวนคำถามก่อนตอบด้วยน้ำเสียงจริงจัง “บางคนเขาก็เห็นคุณค่าของดอกไม้ประดิษฐ์ มันไม่ได้มีแค่ความเหมือน มันมีจิตวิญญาณ มี craftsmanship อยู่ข้างใน

“มีคนรดน้ำดอกไม้เราเยอะมากเพราะเขานึกว่ามันเป็นต้นจริง แต่พอเขารู้ว่ามันปลอม แรกเลยเขาจะตกใจ แล้วพอดูดีๆ เขาก็จะเห็นรายละเอียดเยอะมาก ส่วนใหญ่เราจะเจอลูกค้าที่ประทับใจในฝีมือ คือเวลาเราทำดอกไม้ประดิษฐ์ เราไม่ได้ทำแค่รูปทรงหรือสี เราทำอย่างพิถีพิถัน”

ศิลปชัยไม่พูดเปล่า แต่ยังชวนฉันเข้าไปดูกระบวนการทำอย่างพิถีพิถันที่ว่าถึงในโรงงานขนาดย่อมบนชั้นเดียวกับโชว์รูม 

ในนั้นฉันพบช่างฝีมือรุ่น OG ของ J.S.Flower กำลังนั่งทำงานอย่างขะมักเขม้น พวกเธอส่วนใหญ่มีประสบการณ์ในการทำดอกไม้ประดิษฐ์มายาวนานเทียบเท่าอายุโรงงาน แม้บางคนจะไม่เท่าก็น้อยกว่าเพียงไม่กี่ปีเท่านั้น ฉันได้เห็นแม่พิมพ์ของดอกไม้หลากหลายชนิด เห็นการระบายสีกลีบดอกไม้ทีละกลีบด้วยมืออย่างบรรจง เห็นการใช้หัวแร้งร้อนจัดรีดให้กลีบนั้นพลิ้วไหว ยามประกอบเป็นดอกจะได้เลียนแบบธรรมชาติได้มากที่สุด 

ที่ฉันเล่ามาเป็นเพียงขั้นตอนคร่าวแสนคร่าวเท่าที่เวลาไม่กี่ชั่วโมงจะอำนวยให้เห็น เพราะอันที่จริงกว่าจะสำเร็จเป็น​ดอกไม้ประดิษฐ์คุณภาพสูงที่ส่งออกไปทั่วโลกจำนวน 1 ดอก ช่างฝีมือต้องอยู่กับดอกไม้ดอกนั้นอย่างน้อยที่สุด 2-3 วันเลยทีเดียว

รู้อย่างน้ีแล้วฉันก็อดคิดไม่ได้ว่า ดอกไม้ประดิษฐ์เป็นงานคราฟต์ที่อาศัยความเชี่ยวชาญและความพิถีพิถันไม่ต่างอะไรกับผ้าไหมมัดหมี่หรือถ้วยเบญจรงค์เลยนี่นา

FAUX FLOWER DECONSTRUCTION. Sometimes it’s not about the end result— it’s about the process. See how our faux flowers are made in reverse order #phalaenopsis #handcrafted

Posted by Permaflora on Friday, July 3, 2020

.

กล้วยไม้ดอกแรกของทายาทผู้ไม่กลัวความผิดพลาด

ตลอดเวลาที่พูดคุยกับศิลปชัย มีหญิงสาวคนหนึ่งนั่งอยู่ข้างเขา บางคำถามศิลปชัยจะพยักพเยิดไปที่เธอ “ให้เขาเล่าดีกว่า ยุคนี้มันยุคของเขาแล้ว”

จีน–กัญญาภัทร วัชระ คือหญิงสาวคนนั้น

ลูกสาวคนเดียวของศิลปชัยและผู้สืบทอดหนึ่งเดียวของ J.S.Flower เพิ่งเข้ามาทำงานที่บ้านเต็มตัวเมื่อต้นปีที่ผ่านมา การมาของเธอนำมาซึ่งแบรนด์ Permaflora ที่เธอนิยามว่าเป็นเพียงการจัดระเบียบขุมทรัพย์ที่โรงงานมีอยู่แต่เดิม แล้วนำเสนอมันให้กับคนกลุ่มใหม่ๆ อย่างประติมากรรมดอกไม้แสน insta-worthy จับใจชาวมิลเลนเนียลที่เราเจอ ณ ชั้นล่างก็เป็นฝีมือของเธอ

“ดอกไม้ของเราสวยมาก แล้วคุณพ่อก็ทำไว้เยอะมาก มันแค่ต้องการแบรนดิ้งที่ชัดเจนว่าเราคือใคร เราทำดอกไม้คุณภาพดีขนาดไหน คนที่ทำเก่งขนาดไหน เราแค่ต้องสื่อสารให้คนรู้” เธอว่าอย่างนั้น 

แต่ก่อนจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้บริหารมือวางอันดับสองของโรงงานอย่างทุกวันนี้ กัญญาภัทรเคยแวะเวียนไปทำงานสายสร้างสรรค์ในหลากหลายตำแหน่ง ด้วยไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะกลับมาสานต่อกิจการครอบครัว

“เมื่อก่อนเราก็ไม่ได้เห็นคุณค่าของงานคราฟต์ขนาดนั้น” กัญญาภัทรเริ่มต้นเล่า

“เราเคยบอกคุณพ่อด้วยว่า ไม่ทำโรงงานนะ อยากเป็นดีไซเนอร์ แต่พอไปเรียนปริญญาโท (สาขา Information Experience Design ที่ Royal College of Art) เราพบว่าที่คณะ Design Products มีกลิ่นเหมือนโรงงานเลย ที่นั่นเขาให้ค่ากับการอยู่ใกล้การลงมือทำมาก ถึงกับต้องจ่ายเงินเพื่อมาเรียนในที่ที่มี facility เหล่านี้ แล้วเรามีสิ่งนี้อยู่ที่บ้าน เราคิดอะไรอยู่ เราต้องเห็นค่ามันมากกว่านี้”

‘ค่า’ อย่างแรกที่กัญญาภัทรหมายถึงคือ ‘ค่าของคราฟต์’ 

“พี่ๆ เขาทำกันมา 30 ปี ถ้าเขาเลิกทำองค์ความรู้นี้จะไปไหน จะอยู่ที่เราคนเดียวเหรอ ถ้าอยู่ที่เราคนเดียวเราจะทำยังไง” 

ว่าแล้วหญิงสาวจึงตัดสินใจไปฝากตัวเป็นศิษย์กับเหล่า OG ในโรงงาน แต่ไม่นานก็ค้นพบว่าการฝึกทำด้วยตัวเองคงไม่อาจเก็บรักษาและสานต่อองค์ความรู้ในการทำดอกไม้ประดิษฐ์ที่พัฒนาอย่างต่อเนื่องมากว่า 30 ปีได้ 

“ฟาแลนฯ ดอกแรกของเราเละมาก มันยากมาก เราคงต้องฝึกไปอีกนาน” เธอเล่ากลั้วหัวเราะ

“กว่าจะทำได้มันต้องฝึกฝน มันต้องเข้าใจเข้าไปในจิตวิญญาณ ภาษาอังกฤษเขาเรียก tacit knowledge คือความรู้ที่อยู่ในการขยับมือ ในความเคยชิน ไม่ใช่ความรู้ที่อยู่ในนี้ (ชี้ที่หัว) มันอ่านหนังสือเอาไม่ได้ พี่ๆ เขาทำแบบนี้มา 30 ปี สิ่งที่เขาทำได้ ต่อให้มีทุน มีเงินสักเท่าไหร่ ก็ไม่สำคัญเท่ากับมีเวลา การลงเวลากับบางอย่างมันคือชีวิตเลยนะ”

‘ค่า’ อย่างที่สองที่กัญญาภัทรมองเห็นคือ ‘ค่าของคน’ 

“โรงงานที่นี่สร้างตอนปี 2533 เราอายุแค่ 3 ขวบ เพราะฉะนั้นพี่ๆ ที่อยู่ที่นี่ก็เลี้ยงเรามา ตอนเที่ยงเราก็นั่งวงกินส้มตำกับเขา ตอนเขาทำงานเราก็ชอบนั่งตักพี่ๆ เขาเล่น เราเคยลองเข้าดอกไม้ มือไหม้เลยเพราะปืนกาวมันร้อน แต่มันก็สนุก มันเป็นความอบอุ่นนะ” เธอพาเราย้อนเวลา รอยยิ้มฉายชัดบนใบหน้า

“ตอนนี้ที่เรามาสานต่อ เราไม่ได้หวังจะรวยสี่พันล้าน เรากับคุณพ่อคิดแค่ว่าเอาให้รอด เอาให้อยู่ได้อย่างยั่งยืน แค่นั้นพอ เพราะเราหวังว่าพี่ๆ ที่อยู่กับเรามา 30 ปีจะอยู่กับเราไปได้นานที่สุด เขาจะมี support network เขาจะมีชีวิตที่ดี ที่ผ่านมาเราอยู่กันด้วยความรัก อยู่กันมานานขนาดนี้ เขาก็ครอบครัว มันเป็นธุรกิจก็จริง แต่เป็นธุรกิจที่เราพยายามทำให้มีมนุษยธรรมที่สุด”  

เพราะเข้าใจ ‘ค่า’ ของธุรกิจครอบครัวอย่างถ่องแท้ งานสำคัญของกัญญาภัทรในตอนนี้จึงเป็นการทำตลาดขายปลีกในประเทศภายใต้แบรนด์ Permaflora ผ่านช่องทางออนไลน์​ ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์ เฟซบุ๊ก หรืออินสตาแกรม เพื่อหารายได้หล่อเลี้ยงโรงงาน ทั้งเฉพาะหน้าในวันที่ออร์เดอร์จากต่างประเทศลดลงเพราะวิกฤตโควิด-19 รวมทั้งปูทางสู่อนาคตที่การส่งออกอาจไม่เฟื่องฟูเท่ายุคก่อน 

“เมื่อก่อนเราก็ไม่มั่นใจว่าจะรันธุรกิจได้หรือเปล่า MBA ก็ไม่ได้จบมา ความรู้ทางบัญชีก็ไม่มี แต่พอทำงานไปสักพักหนึ่งเราก็เห็นว่าตอนทำงานยังไงก็ต้องเรียนรู้ตลอดเวลา ยังไงทุกอย่างมันก็ต้องฝ่า งั้นก็มาฝ่าตอนนี้เลยดีกว่า ไม่ใช่รอจนเราอายุ 40 บริษัทใกล้เจ๊งเต็มแก่แล้วค่อยมาฟื้น ตอนนั้นคงฟื้นกันไม่ได้”

ทายาทไฟแรงเล่าว่า เธอรับเอาแนวคิดและความเชื่อในการทำงานมาจากคุณพ่อผู้นิยามตัวเองว่า ‘นักอุตสาหกรรม’ ไม่ใช่ ‘นักธุรกิจ’ ในความหมายที่ว่า เขาไม่มัวแต่นั่งเคาะเครื่องคิดเลขเพื่อหาผลกำไรสูงสุด แต่เขาอุตสาหะ ‘ลงมือทำ’ ดอกไม้ประดิษฐ์ที่ดีที่สุด บวกกับ ‘ทดลอง’ ทำอะไรใหม่ๆ อยู่เสมอ 

“เราใช้คอนเซปต์เดียวกับคุณพ่อ คือลุยเลย อย่างการจัดดอกไม้เพื่อขายออนไลน์เราก็ลองทำเลย อันนี้เคยเห็นคนอื่นจัดสวย อันนี้น่าทำ อันนี้เราคิดไม่ถึง ไหนลองทำดู จัดเสร็จถ้าไม่มีคนสนใจก็เก็บไว้ก่อน ถ้ามีคนสนใจก็ขายไปเลย ถ้ามีใครสนใจอีกก็ทำอีก เราเคลื่อนตัวเร็วและใช้ข้อได้เปรียบที่เรามีโรงงานอยู่ใกล้ตัว มีคนพร้อม custom สินค้าให้เราเสมอ เราลองตลาดไปเรื่อยๆ อะไรที่ขายได้ อะไรที่คนสนใจ เราก็ทำต่อ

“เราไม่กลัวที่จะทำอะไรผิดพลาด เพราะการ fail มันทำให้เราได้เรียนรู้อะไรเยอะแยะ มันคือการ fail better คือ fail คราวนี้เราจะไม่เจ็บตัวเท่าคราวก่อน เพราะอย่างน้อยมันก็เสียนิดเดียวแล้วได้มา ไม่ใช่ว่าไม่กล้าทำอะไรเลย แล้วไปเสียทีเดียวเสียเยอะ ถือเป็นการกระจายความเสี่ยงอย่างหนึ่ง ดังนั้นเตรียมใจไว้เลยว่ามันจะไม่สำเร็จในทันที แต่เราจะได้ก้าวไปก้าวหนึ่งแล้ว”

 

ดอกบัวหัวกลับของดีไซเนอร์สาวที่ชอบตั้งคำถาม

กัญญาภัทรชวนเราลงไปชั้นสองเพื่อไปดูห้องอันเป็นคลังเก็บโปรโตไทป์ ไม่ว่าจะเป็นกลีบที่แสดงตัวอย่างการผสมสี แม่พิมพ์รุ่นต่างๆ ตั้งแต่ปูนปลาสเตอร์ไปจนถึงทองเหลือง หรือกระทั่งใบไม้ กิ่งไม้ เกสร ที่ขึ้นแบบด้วยวัสดุที่แตกต่างกัน ว่ากันง่ายๆ สิ่งของทุกชิ้นในห้องนี้คือบทบันทึกประวัติศาสตร์ 30 ปีฉบับย่นย่อนั่นเอง

“ถ้าเปรียบงานของคุณตอนนี้ เหมือนคุณพ่อปลูกดอกไม้ไว้ แล้วคุณเอามาจัดใส่แจกันให้สวยที่สุด ให้คนเห็นมากที่สุด พูดแบบนี้ได้หรือเปล่า”​ เรากวาดตามองสิ่งของรอบกายแล้วลองสรุปความ

แต่หญิงสาวเห็นต่างออกไป “พ่อปลูกดอกไม้ แล้วเรามาใส่ปุ๋ยมากกว่า เราอยากทำให้มันยั่งยืน อยากให้มันมีรากลึกมากกว่าจะยิ่งใหญ่แต่ล้มง่าย และเราอยากตัดกิ่งให้มันแตกยอด เพราะไม่งั้นดอกไม้ก็จะเหี่ยวไป”

รากลึกที่เธอว่าคือการค่อยๆ ปรับเปลี่ยนทัศนคติที่ผู้คนมีต่อดอกไม้ประดิษฐ์ “เวลาคนคิดถึงดอกไม้ประดิษฐ์ก็จะอี๋ ดอกไม้ปลอม เพราะดอกไม้ประดิษฐ์ที่เราเห็นกันทั่วไปคุณภาพไม่ค่อยดีเท่าไหร่นัก เวลาวางขายก็วางแน่นๆ ฝุ่นเกาะทั้งร้าน แล้วเราจะทำยังไงให้คนเห็นว่าดอกไม้ประดิษฐ์มันมีค่า 

“พอดีว่าเราเกิดมาในแวดล้อมของสิ่งนี้ สิ่งที่เราทำก็เป็นเหมือนการทดแทนบุญคุณนิดหนึ่งนะ เราอยากค่อยๆ สื่อสาร ค่อยๆ นำเสนอค่าของมันให้คนอื่นเห็น ซึ่งมันไม่ใช่แค่การจัดดอกไม้ให้สวยที่สุดในโลก เอามาถ่ายรูป แล้วคนจะอินเลย ขั้นตอนมันเป็นธรรมชาติกว่านั้นมาก เริ่มจากเราต้องให้เกียรติของที่เราทำว่ามันไม่ใช่แค่เงินในกระเป๋า เราต้องให้เกียรติตั้งแต่ตัวดอกไม้ คนทำ ขั้นตอนการทำ การจัดวาง ทุกๆ อย่าง แล้วคนจะค่อยๆ ซึมซับมันไป ซึ่งการทำแบบนี้ต้องใช้ความมานะพยายาม เรามีของสวยๆ งามๆ ในใจ แต่เราไม่มีทางถ่ายทอดได้ตั้งแต่วันแรกหรอก เพราะการถ่ายทอดเป็นสกิลสำคัญอย่างหนึ่งเหมือนกัน”

ส่วนยอดที่แตกออกมาใหม่คือดอกไม้ประดิษฐ์สไตล์ใหม่ที่สวนทางกับสิ่งที่คุณพ่อพยายามทำมาโดยตลอด นั่นคือดอกไม้ประดิษฐ์ที่ไม่สมจริงเลยสักนิด

“เราทำดอกไม้ประดิษฐ์ได้เหมือนจริง แต่แล้วยังไงต่อล่ะ” ทายาทรุ่นสองเล่ากระบวนการคิด 

“เราเลยตั้งคำถามว่า แล้วทำไมต้องเหมือนจริงด้วยล่ะ นี่มันงานคราฟต์นะ เราไฮไลต์ความเป็นคราฟต์มากขึ้นได้ไหม เลยเป็นที่มาของการทำดอกไม้ที่ไม่เหมือนจริง เราลองคิดว่าดอกไม้จริงอยู่ที่ไหนได้บ้าง อยู่ที่ไหนไม่ได้บ้าง โอเค ดอกไม่จริงเอาไปปักบนเพดานไม่ได้ งั้นเราเอาดอกไม้ของเราไปปักบนเพดานเลย เพราะมันไม่ต้องใช้น้ำ เหมือนเราหาพื้นที่ใหม่ๆ ให้กับมัน”

กัญญาภัทรนำทางเราไปชมดอกบัวที่บานสะพรั่งจากบนเพดานของโถงทางเดินชั้นสอง ดูเผินๆ มันเหมือน installation art ในพิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยสักแห่ง 

“เราอยากให้ดอกไม้ของเรากลายเป็น design item กลายเป็น wearable art เราอยากทำอะไรที่หลุดโลกไปเลย ใส่มอเตอร์ให้ดอกไม้เคลื่อนไหวได้ หรือปกติฟาแลนฯ ตามธรรมชาติช่อหนึ่งมีแค่ 10-12 ดอก ถ้าจะเลี้ยงให้ได้ดอกมากกว่านั้นมันยาก เขาเพาะขายกัน 200,000-300,000 งั้นเราทำฟาแลนฯ ช่อหนึ่ง 24 ดอกไปเลยก็แล้วกัน เราเชื่อว่าด้วยความสวยงามและด้วยทักษะของพี่ๆ ดอกไม้ของเรามีโพเทนเชียลที่จะไปไกลกว่านี้อีก”

ถึงตรงนี้ศิลปชัยเสริมว่า “เขาคิดไม่เหมือนผมเลย แล้วมันดีด้วย ตอนนี้ผมมีหน้าที่สนับสนุนเขาอย่างเดียว เขาอยากได้อันนี้ เขาคิดอันนี้ ผมก็จะทำให้”

“แต่วิธีคิดก็เป็นเฟรมเวิร์กเดียวกันกับคุณพ่อเลยนะ” ผู้เป็นลูกยืนยันจะให้เครดิต “เราจะไม่มีความคิดว่า เฮ้ย คนอื่นเขาทำแบบนี้กัน งั้นเราทำแบบนี้บ้าง แต่เราจะพยายามคิดงานให้ออริจินอลที่สุด แม้การคิดงานแบบนี้จะทำให้เราต้องทำงานเยอะ แบบที่เราก็เห็นคุณพ่อทำงานเยอะ เพราะเขาเป็นคนที่มีไอเดียออริจินอล คิดไม่เหมือนคนอื่น เลยต้องอธิบายเยอะ ทำให้ดูเยอะ ถามว่ามันเป็นสไตล์การทำงานที่หนักไหม หนัก แต่มันสบายใจ เราไม่ต้องทำตามกฎเกณฑ์ใครเลย คิดว่าอันนี้ถูกก็ลอง”

 

หน่อทิวลิปที่งอกงามขึ้นมาใหม่ได้เสมอของ Permaflora 

“เหมือนนี่จะเป็นยุคทองของโรงงานเลยนะ มีทั้งคุณพ่อ มีทั้งคุณ ช่วยกันบริหาร” เราชวนคุย

“เป็นยุคหัวเลี้ยวหัวต่อมากกว่า ตัวเราเองต้องการให้มันเป็นยุคที่ไม่ปั่นป่วนมาก แค่เราอยู่ได้ เรามีจุดยืนของเราในตลาด เลี้ยงทุกคนได้อย่างสบายๆ”

คำตอบของกัญญาภัทรสอดคล้องกับเรื่องเล่าของศิลปชัยที่ว่า ตลอด 30 ปีที่ผ่านมาโรงงานแห่งนี้เผชิญกับมรสุมหลายต่อหลายลูก ทั้งค่าเงินที่สวิงไป-มา กำแพงภาษีนำเข้า นโยบายภาครัฐ หรือกระทั่งสึนามึโควิด-19 ที่ซัดออร์เดอร์หายไปจนเกลี้ยง พวกเขายืนหยัดท่ามกลางความไม่แน่นอนทั้งหลาย จึงไม่แปลกที่เธอจะต้องการเรียบง่ายเพียง ‘ยุคที่ไม่ปั่นป่วนมาก’

“ถ้าให้เปรียบ Permaflora เป็นดอกไม้สักดอก จะเป็นดอกอะไร” เราสงสัย

เธอนิ่งคิดก่อนให้คำตอบ “ต้องเป็นดอกไม้ที่ทนพอสมควร ทนต่อมรสุมหลายๆ มรสุม ไม่ว่ายังไงก็จะบานให้ได้ ร่วงไปก็จะบานใหม่ คงเป็นหน่อ (bulb) นี่แหละ พวกหน่อทิวลิป หน้าหนาวมามันก็หายไปเลย แต่หมดหน้าหนาวมันก็ยังผุดขึ้นมาใหม่ได้เสมอ”​ 

แม้ช่วงเวลานี้จะถือเป็น ‘หน้าหนาว’ ตามคำเปรียบเปรยของเธอ แต่กระนั้นทายาทสาวก็เตรียมไอเดียใหม่ๆ มากมายที่จะใส่ปุ๋ยให้ Permaflora งอกงามแข็งแรงกว่าเก่า เธอเล่าถึงแผนการในอนาคตด้วยพลังล้นเหลือ ตั้งแต่โรงเรียนที่จะปลูกช่างฝีมือยุคใหม่ เวิร์กช็อปจัดดอกไม้ประดิษฐ์ด้วยตัวเอง​ ไปจนถึงรันเวย์แฟชั่นที่เธออยากจะลองฝีมือตกแต่งด้วยดอกไม้ที่แสนภาคภูมิใจดูสักครั้ง

แต่เหนืออื่นใด แววตาเธอเปล่งประกายที่สุด น้ำเสียงเธอตื่นเต้นที่สุด ยามพูดถึงการได้ลงมือทำอะไรก็ตามด้วยตัวเอง ต่อให้สิ่งนั้นจะเป็นการยกกระถางต้นไม้จากชั้นหนึ่งขึ้นไปชั้นสามก็ตาม

“ตอนนี้ความสุขของเราคือการได้อยู่ใกล้ชิดกับการทำงาน มันมีโควตหนึ่งของ Voltaire ที่ว่า Work keeps you sane. อาจไม่ใช่ประโยคนี้ตรงเป๊ะ แต่พูดประมาณนี้แหละว่า ‘การทำงานทำให้เราไม่เป็นบ้า’ การที่เราได้อยู่กับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น ไม่สำคัญว่ามันจะสำเร็จหรือไม่ การได้ลุ้น การได้ลองคิด แล้วมีคนพร้อมทำให้ มีคนอยู่ข้างๆ ที่พร้อมสนับสนุนเรา มันเป็นความสุขอย่างหนึ่งนะ” 

ฉันก้าวออกมาข้างนอกอาคารอิฐสีส้มแดงในยามเย็นย่ำแสงน้อย ภายนอกเปียกชื้น ฝนตกลงมาเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ ฉันไม่ได้สังเกต แถมไม่ได้รู้สึกถึงความซึมเซาแม้สักนิด เพราะอยู่รายล้อมดอกไม้สดใสมาตลอดทั้งบ่าย 

ศิลปชัยและกัญญาภัทรเดินตามออกมาส่ง เห็นโอกาสอยู่ตรงหน้า ฉันจึงรีบถามคำถามที่สงสัยมาตลอดหลายชั่วโมง

“ใบไม้พวกนี้ของจริงหรือเปล่าคะ” ฉันชี้นิ้วไปที่แผงใบไม้เขียวชอุ่ม “พอเห็นดอกไม้เหมือนจริงมาก เลยไม่แน่ใจขึ้นมาเลย” 

“จริง ของจริง”​ ศิลปชัยตอบ

“แต่ถ้าให้ทำขึ้นมาก็ทำได้นะ” 

แล้วเย็นวันนั้นก็จบลงด้วยเสียงหัวเราะของพวกเราทุกคน

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย

Video Creator

ชาคริต นิลศาสตร์

อดีตตากล้องนิตยสาร HAMBURGER /ค้นพบว่าตัวเองมีความสุขและสนุกทุกครั้งที่ได้ทำงานภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว