NO SOUND IN SPACE : สตูดิโอทำเสียงที่บอกว่าเพราะไม่มีเสียงในอวกาศ โลกที่มีเสียงจึงดีที่สุดแล้ว

Highlights

  • NO SOUND IN SPACE คือสตูดิโอด้านงานเสียงอายุปีกว่าของ ตั้ม–สถาปัตย์ ธีรนิตยภาพ หรือที่หลายคนรู้จักเขาในชื่อ ‘ตั้ม โมโนโทน’
  • จากการเริ่มต้นสร้างที่นี่ให้เป็นโฮมสตูดิโอในฝัน ตลอดระยะเวลาปีกว่าที่ผ่านมาตั้มพาตัวเองและทีมลุยทำงานต่างๆ มากมาย ภายใต้ความเชื่อว่าศิลปะกับพาณิชย์คือการบาลานซ์ที่ไปด้วยกันได้
  • สุดท้ายถึงแม้งานที่ทำไม่ใช่งานศิลป์ส่วนตัวร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ทีม NO SOUND IN SPACE เชื่อว่างานนี้เปรียบเหมือนการทำงานกลุ่มที่แต่ละส่วนล้วนสำคัญเท่ากันหมด

เราเคยมาเยี่ยมเยียน NO SOUND IN SPACE แล้วเมื่อปีกว่าที่ผ่านมา

ครั้งนั้นเรามาในวาระที่สตูดิโองานเสียงแห่งนี้เพิ่งเปิดทำการ ตั้ม–สถาปัตย์ ธีรนิตยภาพ (หลายคนรู้จักเขาในชื่อ ‘ตั้ม โมโนโทน’) ผู้ก่อตั้ง เป็นคนพาเราเดินชมแต่ละจุดของสตูดิโอด้วยตัวเอง สิ่งที่เราสนทนากันในวันวานเป็นเรื่องของสเปซ การออกแบบ และสถานที่ทำงานในฝัน

พูดให้ง่ายคือวันนั้นเราคุยกับตั้มเรื่อง ‘พื้นที่’ มากกว่าเรื่องงาน

แต่หลังจากนั้นหนึ่งปี NO SOUND IN SPACE ต้อนรับคนมากหน้าหลายตา งานเสียงมากมายหลายแบบ และทีมงานใหม่ๆ ที่เข้ามาช่วยเติมแต่ง พวกเขาร่วมสร้างงานเสียงคุณภาพที่หลายคนต่างชื่นชมทั้งในแง่ศิลปะและคอมเมอร์เชียล เมื่อรวมกับสถานที่และการทำงานระดับมืออาชีพ ส่งผลให้ในเวลานี้สตูดิโอของตั้มกลายเป็นที่ที่คนในวงการล้วนรู้จักและอยากทำงานด้วยสักครั้ง

ดังนั้นในโอกาสที่โคจรมาพบกันอีก เราจึงอยากอัพเดตกับตั้มเสียหน่อยว่าการทำงานในฝันในที่ทำงานในฝันกับทีมในฝันของเขาตลอดปีที่ผ่านมาเป็นยังไงบ้าง

“ความสวยงามกลายเป็นฉากหลังแล้ว พอทุกอย่างเข้าที่ ต่อจากนั้นเป็นการดูว่าตรงไหนต้องซ่อมบ้างและตรงไหนควรทำให้ดีที่สุด” ตั้มบอกกับเราแบบนั้นในช่วงหนึ่งของการพูดคุย และการสนทนาครั้งนี้ยังมี คิท–พีรพัฒน์ กิตติวัชร หนึ่งในทีมผู้ก่อตั้งและมิวสิกคอมโพสเซอร์ประจำสตูดิโอร่วมวงด้วย

อะไรคือเหตุผลที่เขาเอ่ยคำข้างต้น และทำไม NO SOUND IN SPACE จึงเขียนนิยามในเพจของตัวเองว่า We have a wealth of experience and technical ability – and are dedicated to bringing your project to life.’

ให้เสียงของพวกเขาเป็นคำตอบ

ครั้งที่แล้วคุณเคยบอกว่า ‘ที่นี่คือการงานและที่ทำงานในฝัน’ อยู่กับสิ่งนี้มาหนึ่งปีผลเป็นไงบ้าง

ตั้ม : ในตอนนั้นที่คุยกันเรายังอยู่ในช่วงเห่อ จำได้ว่าคุยแต่เรื่องดีไซน์ ในความเป็นจริงตอนนี้ความสวยงามกลายเป็นฉากหลังแล้ว พอทุกอย่างเริ่มเข้าที่ ที่เหลือคือการดูว่าเราต้องซ่อมตรงไหน ตรงไหนมีปัญหา ตรงไหนควรทำงานแบบไหน มันเป็นเรื่องการลงมือทำ และเราทำมาเรื่อยๆ ตลอดหนึ่งปี

ถ้าถามเราเราว่า NO SOUND IN SPACE สนุกขึ้นนะ ที่นี่ดูมีชีวิตขึ้น ตัวอย่างเช่นเมื่อปีที่แล้วที่เจอกันเราอาจรู้สึกว่าหนังสือที่วางในชั้นต้องเนี้ยบ แต่ตอนนี้เรารู้สึกว่าปล่อยให้ไม่ตรงกันบ้างดีกว่า มันดูจริงและไม่ทำให้เกร็ง คนที่เข้ามาเขารู้สึกได้ 

 

แล้วผลตอบรับเรื่องงานล่ะ

ตั้ม : พวกเราได้ลองอะไรเยอะ ได้เจอคนนอกก็มาก โดยรวมเราว่าเข้าเป้านะ คนรู้จักเราในชื่อนี้มากขึ้น อย่างน้อยเพื่อนเรารู้ว่าที่นี่มีตัวตน คนที่เคยมาก็บอกว่าดีใจที่ได้มา คนที่ไม่เคยมาก็บอกว่าอยากมา ดังนั้นในแง่ชื่อเสียงเราถือว่าสำเร็จ เอเจนซีหลายเจ้าเริ่มรู้จัก ส่วนเรื่องเงินก็ค่อยเป็นค่อยไป ของแบบนี้ต้องไม่รีบ ธุรกิจมีขั้นตอนของตัวเอง ต้องค่อยๆ ทำ เราโชคดีที่มีทีมที่ค่อยๆ โต ค่อยๆ ขยายด้วย อย่างคิทก็เริ่มกลับมาปีนี้เพราะปีที่แล้วเลี้ยงลูก (หัวเราะ)

คิท : (หัวเราะ)

กับการทำงานด้านเสียง พวกคุณนิยามงานของตัวเองตอนนี้ว่ายังไงบ้าง

คิท : สิ่งที่เราทำคือการทำงานกับลูกค้า ดังนั้นงานของสตูดิโอมีความเป็นศิลปะกับคอมเมอร์เชียลผสมกันอยู่ โดยแต่ละงานมีทั้งสองอย่างนี้มาก-น้อยต่างกันไป แต่โดยส่วนตัวผมถือว่าสิ่งที่ผมทำเรียกรวมๆ ว่างานดีไซน์ และงานดีไซน์ต้องสวย ไม่สวยไม่ได้ 

ตั้ม : งานเสียงเหมือนงานคราฟต์เลย

คิท : ใช่ๆ

ตั้ม : เราชอบเปรียบกับการตัดเสื้อ ลูกค้าเข้ามาหาเราเพราะอยากให้เราตัดเสื้อแบบ custom-made เราเป็นเหมือนดีไซเนอร์ที่ต้องคุยกับทั้งลูกค้าและสไตลิสต์ ดังนั้นเราทำตั้งแต่วัดตัว เลือกผ้า เลือกกระดุม ทำแพตเทิร์น ขึ้นตัวอย่างให้สวย เอามาให้ลองทาบ ลูกค้าชอบไหม สไตลิสต์ชอบไหม เปลี่ยนโน่นนี่จนเขาโอเค หลังจากนั้นต้องมาเก็บรายละเอียด งานเสียงเลยเป็นเหมือนงานฝีมือดีๆ นี่เอง

 

ดูต่างกับงานเพลงอยู่เหมือนกันที่ตอบโจทย์เรื่องศิลปะส่วนตัวเพียงอย่างเดียว

ตั้ม : งานนี้คือพาณิชย์ศิลป์ และอย่างที่คิทบอกว่าสัดส่วนในแต่ละงานของฝั่งศิลป์และพาณิชย์ไม่เท่ากัน แต่สำหรับเราเราว่าไม่มีงานไหนเลยที่เอนไปด้านใดด้านหนึ่งร้อยเปอร์เซ็นต์ ถึงบางงานดูขายมากๆ แต่สำหรับคนทำเสียงเรามีจังหวะที่ต้องคิด ทำยังไงให้ฟังแล้วลื่น ทำยังไงให้คล้อยตาม ดังนั้นเราต้องบาลานซ์สองสิ่งนี้ตลอด ยิ่งแต่ละงานเป็น custom-made เราจึงไม่มีทางคาดเดาได้ล่วงหน้า ความพร้อมของเราจึงสำคัญ

โดยส่วนตัวคุณบาลานซ์ศิลปะและพาณิชย์ยังไง

คิท : พอผมยึดว่าสิ่งที่ตัวเองทำคืองานดีไซน์ที่ต้องทำให้สวย ดังนั้นนี่จึงเป็นอีกโจทย์ว่าผมจะทำยังไงให้สองสิ่งนี้กลืนกัน บางงานอาจไม่ได้มีส่วนศิลป์ให้คนภายนอกเห็นเลยก็ได้ แต่อย่างน้อยเราจะใส่เข้าไป

ตั้ม : ส่วนเราเจอคำถามนี้ประจำ (หัวเราะ) เราเริ่มจากการเป็นศิลปิน แต่ต้องมาทำงานรองรับสิ่งที่ไม่ใช่ศิลปะร้อยเปอร์เซ็นต์ คนอื่นอาจไม่ชอบ แต่เราคิดว่าตัวเองทำได้ เราเลือกมองว่าศิลปะที่เราใส่เข้าไปทำหน้าที่เป็นกระดูกสันหลังที่อยู่ข้างในที่ไม่ต้องบอกให้ใครรู้ เรารู้อยู่คนเดียวให้ชุ่มชื่นหัวใจก็พอ เพราะถึงเป็นงานพาณิชย์ขนาดไหน ด้วยความเป็นเราเราอยากทำออกมาให้มีความสวยงามเชิงดนตรีและส่วนที่ลูกค้าอยากได้เราต้องไม่ขาด เราใช้ศิลปะเป็นส่วนเสริมเรื่องตรงนี้มากกว่า เหมือนการทำงานที่ต้องมีทั้งศาสตร์และศิลป์ไปพร้อมๆ กัน

 

มีตัวอย่างไหม

ตั้ม : (เงียบคิด) เราเคยได้โจทย์ให้ทำเพลงที่แสดงถึงความรู้สึกของการกิน chef’s table เราต้องถ่ายทอดออกมาในรูปแบบเสียง สิ่งที่เราทำคือต้องไปกินอาหารก่อน ลองสัมผัส รับรู้รสชาติ และตีความออกมา งานนั้นถือว่ายาก แต่พอทำออกมาสำเร็จเราก็ภูมิใจ

สื่อสารเรื่องนี้กับทีมบ้างไหม ยังไงบ้าง

ตั้ม : เราบอกคนในทีมเสมอว่า เวลาทำงานไปนานๆ สิ่งที่ต้องมีแน่ๆ จากประสบการณ์ที่ได้มาคือความเก่ง แต่อีกอย่างที่สำคัญมากเช่นกันคือการพลิกแพลงระหว่างทำงาน เราต้องแก้สิ่งที่เกิดขึ้นตรงหน้าให้ได้ ต้องหาทางออกให้ทุกฝ่ายสบายใจมากที่สุด

เวลาที่คนทำงานนี้ใหม่ๆ เจอเหตุการณ์แบบนี้ ส่วนใหญ่จะทำอะไรไม่ถูก เราเองเคยเป็นแบบนั้น แต่พอทำมาสักพักเราจะเริ่มรู้ว่า อ๋อ ถ้าเป็นแบบนี้ต้องทำยังไง ถ้าลูกค้าไม่พอใจเราต้องทำใหม่ให้ลูกค้าฟังให้ได้ และต้องมี 2 แบบให้เขาเลือกนะ หรืออย่างคอมเมนต์ของคนที่ไม่ใช่คนดนตรี เราเข้าใจแบบคนดนตรีไม่ได้ ยกตัวอย่างเช่นถ้าลูกค้าบอกว่า ‘ยังไม่สนุก’ หน้าที่เราคือถามเช็กว่า ‘ไม่สนุกนี่เท่ากับอะไร’

คิท : บางคนอาจหมายถึงให้เพิ่มบีตให้เร็วขึ้น แต่บางคนหมายถึงให้เปลี่ยนชิ้นดนตรี ดังนั้นเหมือนเราต้องคุยให้เห็นตรงกันและค่อยๆ แก้ไป

 

เหมือนถ่ายทอดประสบการณ์

คิท : ใช่ๆ เพราะเราเคยผ่านมาแล้ว อย่างน้อยเรารู้ว่าต้องจัดการยังไง มันทำให้เราใจเย็นกว่า ทีมเราสื่อสารกันตลอดเลยไม่ค่อยมีปัญหา อาจมีไอเดียไม่ตรงกันบ้าง แต่ผมมองเป็นเรื่องดี เราได้รู้ว่าในทุกปัญหาไม่ได้มีทางออกทางเดียว ต้องช่วยปรับกันไป

ตั้ม : เป็นเรื่องของบรรยากาศการทำงานด้วย ถ้าทำอะไรไม่ถูก แน่นอนว่าเราจะเครียด คนที่ทำงานกับเราก็ไม่มีความสุขตาม ดังนั้นต้องเรียนรู้จังหวะและค่อยๆ ปรับใช้กันไป ทุกคนในทีมมีอาวุธเยอะอยู่แล้ว สิ่งที่เราทำเลยเหมือนการทำให้เขารู้ว่าต้องใช้อาวุธไหนและเมื่อไหร่มากกว่า

พองานด้านเสียงที่ทำต้องไปประกอบกับอย่างอื่น เวลาปล่อยงานออกมาทีมรู้สึกเป็นเจ้าของขนาดไหน

ตั้ม : เรามองงานที่ตัวเองทำเป็นงานกลุ่มนะ เราทำร่วมกัน ในงานมีชื่อทุกคนอยู่ในนั้น งานนี้คืองานเซอร์วิส เราไม่ได้ทำมาใช้เอง ไม่ใช่ตัวกูของกู เรามีหน้าที่ช่วยทำให้สิ่งที่ลูกค้าคิดออกมาดีที่สุด เขาต้องภูมิใจเมื่องานเสร็จว่าเขาเป็นคนกำหนดทิศทางได้ เราแค่ต้องซัพพอร์ตไอเดียเขาให้สุดทาง สุดท้ายคือการทำงานร่วมกันหมด ดนตรีส่วนหนึ่ง ภาพส่วนหนึ่ง แต่ละอย่างทำหน้าที่ของตัวเองอยู่

 

ตอนเห็นงานออกไปสู่สาธารณชนเป็นความรู้สึกแบบไหน

คิท : เรารอลุ้นกันเลย ยิ่งเวลาเห็นคนมาคอมเมนต์ว่า ‘เพลงเพราะจัง’ นี่คือดีใจมาก หรือต่อให้บางงานคนไม่ชมเพลง เขาชมงานโดยรวม ทีมเราก็ดีใจ เพราะรู้ว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งในนั้น 

ตั้ม : ภูมิใจ ยิ่งเวลาเห็นคนแชร์ๆ เยอะยิ่งภูมิใจ เรานั่งอ่านทุกคอมเมนต์เลย สำหรับเรานี่คือคุณค่าเชิงศิลปะ เป็นรางวัลของคนทำงาน แม้เพลงไม่ได้เด่นกว่าภาพ แต่ถ้าโดยรวมไปถึงคนดูได้สำหรับเรานี่คือพลัง

สุดท้ายกับปีนี้ NO SOUND IN SPACE มีแผนงานอะไรบ้าง

ตั้ม : เราอยากทำหลายอย่างมาก แต่ไม่อยากพูดเยอะ กลัวโม้ไปหน่อย (หัวเราะ) แต่ถ้าเอาที่เป็นรูปเป็นร่างแล้วคือ live session ที่เพิ่งมีไปตอนต้นเดือน เราอยากทำให้เป็น full function มากขึ้นไปอีก อยากให้คนภายนอกนึกถึงเราเวลาเขานึกถึงการทำเสียงที่ดี

เพราะสำหรับเรา เราเชื่อตามชื่อของที่นี่เลย มันไม่มีเสียงในอวกาศนะ ดังนั้นเราที่อยู่บนโลกที่มีเสียงคือโชคดีที่สุดแล้ว

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

สรรพัชญ์ วัฒนสิงห์

ชีวิตต้องมีสีสัน