NANG Magazine : นิตยสารหนังเอเชียที่สร้างขึ้นจากแพสชั่นของชายชาวอิตาเลียน

Highlights

  • Davide Cazzaro คือชายชาวอิตาเลียนผู้ก่อตั้งนิตยสารเชิงทดลองนามว่า NANG ซึ่งมีคอนเซปต์เกี่ยวกับ 'หนัง' และวัฒนธรรมการดูหนังในเอเชีย
  • ไม่ต้องบอกก็รู้ว่าเขาชอบหนังเอเชียมากแค่ไหนถึงได้ทำเรื่องราวที่บอกเล่าเรื่องราวของมันได้ แต่มากกว่านั้น NANG ยังมีความพิเศษคือธีมในแต่ละฉบับนั้นจะแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ทุกเล่มจะถูกควบคุมโดยบรรณาธิการรับเชิญที่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาสร้างเนื้อหาว่าด้วยเรื่องในแวดวงหนังเอเชียในแบบที่ไม่มีใครเคยทำ
  • คาซซาโรวางแผนว่าจะทำทั้งหมด 10 เล่มเพื่อให้คนอ่านสะสมเป็นคอลเลกชั่น โดย ณ ขณะนี้ NANG วางจำหน่ายถึงฉบับที่ 6 แล้ว

NANG Magazine Davide Cazzaro ยืมคำภาษาไทยคำหนึ่งมาใช้ตั้งชื่อนิตยสารของเขาในปี 2559

สามปีต่อมา เขาได้มาเยือนประเทศที่ให้กำเนิดคำนั้นเป็นครั้งแรก

ภายในตึกสีขาวเด่นของ BANGKOK CITYCITY GALLERY ยามนี้มีหนังสือศิลปะละลานตา Bangkok Art Book Fair คืองานที่ชวนเขามาเปิดบูทจำหน่ายนิตยสารของตัวเองให้เหล่านักอ่านชาวไทย

คาซซาโรเป็นชาวเวนิส ปัจจุบันพำนักอยู่ที่กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้มานานกว่าห้าปีแล้ว เขาเคยดูหนังเอเชียครั้งแรกที่งาน Venice Film Festival ในบ้านเกิด เคยทำงานด้านสื่อประชาสัมพันธ์ให้ Busan International Film Festival อยู่สองปี ก่อนตัดสินใจสร้างนิตยสารของตัวเองที่ว่าด้วยหนังและวัฒนธรรมการดูหนังของเอเชีย

หลังจากตามหาคำที่ใช่อยู่นาน คาซซาโรเลือกคำว่า ‘หนัง’ เพราะสามารถจำกัดความได้ครอบคลุมและง่ายต่อการจดจำ

 

nang1

 

NANG Magazine จึงเกิดขึ้นในฐานะนิตยสารอิสระที่จำกัดแผนการผลิตแค่ 10 เล่ม โดยแต่ละเล่มนั้นจะมีธีมที่แตกต่างกันชัดเจน  คอนเซปต์น่าสนใจนี้สะกิดให้เรานัดคุยกับเขาทันที

ในฐานะคนที่เติบโตมากับหนังเอเชีย เราสงสัยว่าอะไรที่ชายชาวอิตาลีผู้นี้หลงใหลถึงขนาดที่ต้องทำนิตยสารเกี่ยวกับมัน แถมยังทำในยุคที่ใครๆ ต่างบอกว่าสื่อสิ่งพิมพ์กำลังซบเซา

บ่ายวันหนึ่ง ในมุมเล็กๆ ของงานอาร์ตบุ๊กแฟร์ คาซซาโรเล่าให้เราฟังอย่างเห็นภาพ…ราวกับได้ดูหนัง

 

nang2

 

ตั้งแต่เมื่อไหร่ที่คุณตกหลุมรักการดูหนัง

นานมาแล้วครับ ตั้งแต่ตอนผมเป็นวัยรุ่น ความจริงต้องยกเครดิตให้พ่อกับแม่ของผมที่เป็นแฟนหนังตัวยง ดังนั้นพวกเขาจึงสนุกกับการดูหนังและพาผมไปดูหนังด้วยบ่อยๆ ไม่ว่าจะหนังแมสหรือหนังอิสระ นั่นคือช่วงที่ผมหลงใหลในศิลปะหนังมากๆ และทำให้ผมตัดสินใจไปศึกษาด้าน film study ที่มหาวิทยาลัยเวนิส

 

ป็นหลักสูตรเกี่ยวกับอะไร

film study คือหลักสูตรที่ออกแบบมาเพื่อศึกษาเกี่ยวกับการดูหนังในฐานะความบันเทิง ปรากฏการณ์ และงานศิลปะ ให้เราได้ถกเถียงและเรียนรู้ทฤษฎีเกี่ยวกับหนังในยุคต่างๆ ผมได้มุมมองเรื่องหนังในหลายด้าน จากการดูหนังที่มาจากหลายประเทศและผู้กำกับหลายคน

 

นั่นคือครั้งแรกที่คุณได้ดูหนังเอเชียด้วยหรือเปล่า

จริงๆ ผมได้ดูหนังเอเชียครั้งแรกในเทศกาลหนังเวนิส ซึ่งเป็นเทศกาลหนังที่เก่าแก่ที่สุดในโลก ผมไปเทศกาลนี้ในปลายยุค 90 กับ ช่วงปี 2000 ต้นๆ ซึ่งจัดฉายหนังเอเชียที่น่าสนใจมากมาย ก่อนหน้านั้นหนังเอเชียมักไม่ค่อยฉายในวงกว้างและไม่เป็นที่รู้จักมากนัก นั่นทำให้ผมสนใจหนังที่มีลักษณะและที่มาที่แตกต่างจากหนังยุโรปหรือหนังอเมริกันอย่างสิ้นเชิง

ผมจำไม่ได้เหมือนกันว่าหนังเอเชียที่ผมได้ดูเรื่องแรกคือเรื่องอะไร แต่มีเรื่องหนึ่งที่ผมจำได้แม่นว่าเคยดูในปี 1999 แล้วรู้สึกประทับใจมาก คือหนังเรื่อง ‘Lies’ จากประเทศเกาหลีใต้ เป็นหนังที่กล้าหาญ เร้าใจ และทำให้ผมช็อกไปเลย ตั้งแต่ช่วงนั้นผมก็โฟกัสไปที่การดูหนังเอเชียโดยเฉพาะ และเริ่มทำงานเขียนเกี่ยวกับหนังเอเชียเช่นกัน

 

NANG Magazine

 

ดูเหมือนคุณจะชอบหนังเอเชียมาก มันมีเสน่ห์ยังไง

ผมจะรู้สึกประหลาดใจอยู่เสมอเมื่อได้ดูหนังที่เล่าเรื่องพื้นที่ที่แตกต่าง และบางประเทศในเอเชียมีเรื่องราวมากมายที่ยังไม่ได้บอกเล่า เรื่องราวเก่าแก่หลายเรื่อง หรือหลายเรื่องเกี่ยวกับประเพณีซึ่งยังไม่ถูกสำรวจโดยจอภาพยนตร์ นั่นแหละเป็นแง่มุมที่ผมคิดว่าเป็นศักยภาพที่ใหญ่สุดของหนังเอเชีย เปรียบเทียบกับบางแง่มุมในหนังอิตาเลียนหรือหนังในยุโรป

 

ยากไหมกับการหาหนังเอเชียดูในอิตาลี

ในช่วงปลายยุค 90s และช่วง 2000 ต้นๆ นั้นค่อนข้างยาก เพราะมีข้อจำกัดทางกฎหมายอยู่ ดังนั้นการจะดาวน์โหลดหนังออนไลน์สักเรื่องมันซับซ้อนมาก และเรื่องซับไทเทิลที่หายากก็เป็นปัญหาเหมือนกัน ต่างจากปัจจุบันที่ทุกอย่างง่ายขึ้นเยอะ เพราะฉะนั้นยุคก่อนผมมักจะไปงานเทศกาลหนังเวนิส ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มสำคัญที่คุณสามารถดูหนังหายากทั้งหลาย และบ่อยครั้งคุณจะได้พบกับผู้สร้างหนังและแขกที่มาร่วมงานด้วย

หลังจากเวนิส ผมก็ไปเทศกาลหนังปูซานในปี 2545 ในฐานะนักวิจารณ์ นั่นเป็นครั้งแรกของผมที่ได้ไปเทศกาลหนังในเอเชีย และอย่างที่คุณรู้ เทศกาลหนังปูซานโฟกัสที่หนังเอเชียเป็นส่วนใหญ่ เป็นโอกาสที่ดีที่ทำให้ผมได้ดูหนังเอเชียเยอะมากขึ้นเลยล่ะ

 

อุตสาหกรรมหนังเอเชียในตอนนั้นกับตอนนี้เปลี่ยนไปบ้างไหม

ผมคิดว่ามีสิ่งที่น่าสนใจหลายๆ อย่างเกิดขึ้น อย่างการที่หนังเอเชียถูกจัดจำหน่ายไปฉายที่ต่างๆ ในประเทศเอเชียและช่องทางออนไลน์ที่ทุกคนเข้าถึงได้จากทั่วทุกมุมโลก การที่อุตสาหกรรมหนังจีนเติบโตขึ้น มีพลัง และสร้างการปฏิวัติได้ในตลาดจีน และแน่นอนตอนนี้มีการสร้างหนังอิสระมากขึ้น เนื่องจากต้นทุนที่ต่ำลง การทำหนังง่ายขึ้น ทำให้คนทำหนังอิสระนั้นกล้าลงทุนเพื่อสร้างหนังของตัวเอง ความน่าสนใจคือคนเหล่านี้แหละที่จะกลายเป็นคนทำหนังเมนสตรีมในอนาคต อย่างนวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ ที่ก็เริ่มจากการทำหนังอิสระเหมือนกัน

 

NANG Magazine

 

มีเส้นบางๆ คั่นอยู่ระหว่างคนที่ชอบดูหนังมากกับคนที่ชอบดูหนังมากจนต้องอยากทำอะไรบางอย่างกับมัน ในกรณีของคุณ อะไรที่ทำให้คุณตัดสินใจทำนิตยสาร

ในกรณีของผม มันเกิดจากความหลงใหลใน 2 สิ่งคือ ภาพยนตร์และสิ่งพิมพ์อิสระ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ผมมีความสนใจในเรื่องนี้ ผมชอบไปงานอีเวนต์กับงานอาร์ตแฟร์ที่เกี่ยวกับสื่อสิ่งพิมพ์อิสระ มีความหลงใหลในการอ่านมายาวนาน โดยเฉพาะหนังสือศิลปะและสิ่งพิมพ์ที่ทำขึ้นอย่างพิถีพิถัน ไม่ใช่สิ่งพิมพ์กระแสหลัก หากทำโดยองค์กรอิสระหรือคนตัวเล็กๆ ผมชอบอ่าน แต่ผมไม่เคยทำงานเกี่ยวกับสื่อสิ่งพิมพ์มาก่อนเลย และตอนนี้ผมกำลังทำเพื่อความหลงใหลทั้งสองอย่าง ผมรู้สึกเอนจอยไปกับการมองหาความเป็นไปได้ในสื่อสิ่งพิมพ์อิสระ และลงตัวที่การทำนิตยสารที่รวมสองความสนใจเข้าด้วยกัน

 

ชื่อนิตยสารของคุณมาจากคำว่า ‘หนัง’ ที่คุณบอกว่าชอบเพราะติดหู มีเหตุผลอื่นนอกจากนั้นอีกไหม

สำหรับผม นิตยสารที่ดีควรมีชื่อที่อ่านง่ายและนิยามที่ครอบคลุมตัวมันเอง ผมชอบความเบาของคำนี้ ที่สำคัญคือเป็นคำที่ประดิษฐ์ขึ้นในเอเชีย ผมชอบมากที่คำนี้มีที่มาจากโรงละครเงา ไปสู่โรงละครหุ่น และเป็นโรงหนังในปัจจุบัน ชอบที่มันเดินทางข้ามทศวรรษ เป็นชื่อเล่นของโรงหนังในไทย และในแง่หนึ่ง มันก็คล้ายมรดกของชาติ มีหลายปัจจัยเลยที่ทำให้ผมเลือกคำนี้มาตั้งเป็นชื่อนิตยสาร แต่หลักๆ คือความเรียบง่ายกับความเบาของมันนั่นเองที่ทำให้ต่างจากคำอื่น

 NANG Magazine

 

คอนเซปต์เบื้องหลังของ NANG คืออะไร

ผมอยากทำนิตยสารภาพยนตร์ที่แตกต่างจากเล่มอื่น เพราะค่อนข้างผิดหวังกับรูปแบบนิตยสารภาพยนตร์ที่เคยมีมา ซึ่งข้างในมักจะมีรีวิว ข่าว และคอลัมน์ประจำ ดังนั้นผมจึงสงสัยว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับนิตยสารภาพยนตร์ หากคุณนำเนื้อหาทั้งหมดนั้นออกไป แล้วแทนที่ด้วยสิ่งที่แตกต่างและมีศักยภาพมากกว่านั้น

ผมเริ่มพัฒนา NANG จากตรงนั้น เป็นนิตยสารว่าด้วยความหลงใหลในหนังเอเชียซึ่งแต่ละฉบับจะมีธีมที่แตกต่างกัน แน่นอนว่าไม่ใช่สิ่งใหม่ในวงการเพราะนิตยสารจำนวนมากทำแบบนี้ แต่ในขณะเดียวกัน นิตยสารที่เกี่ยวกับหนังก็แทบจะไม่มีใครทำเลย และผมคิดว่ามันน่าเสียดาย เพราะประเด็นหนังเอเชียนั้นมีศักยภาพค่อนข้างมากที่เราสามารถพูดคุยและสำรวจมัน

ผมทำงานร่วมกับบรรณาธิการรับเชิญที่จะเปลี่ยนไปในทุกๆ ฉบับ ดังนั้นธีมก็จะเปลี่ยนไปทุกฉบับเช่นกัน

 

หมายความว่าธีมในแต่ละฉบับก็จะถูกกำหนดจากบรรณาธิการของฉบับนั้น

ใช่ครับ พวกเขามีอิสระเต็มที่ในการทำทุกอย่างที่พวกเขาต้องการเลย จะบ้าคลั่งแค่ไหนก็ได้ (หัวเราะ) บ.ก.กับผมจะคุยกันว่าธีมไหนมีความเป็นไปได้ หลังจากขั้นตอนนี้ ผมจะพยายามถอยออกมาแล้วปล่อยให้ บ.ก.ได้ทำงานและควบคุมฉบับนั้นในทิศทางที่พวกเขาสนใจ พวกเขายังสามารถเลือกได้ด้วยว่าอยากได้นักเขียนคนไหนมาร่วมงาน ผมพยายามให้อิสระพวกเขาในการปลุกปั้นฉบับของเขาตามต้องการ

สิ่งที่ดีของการให้อิสระกับ บ.ก.อย่างเต็มที่คือ พวกเขาจะพยายามทำเล่มที่ดีที่สุดในแบบของตัวเอง นั่นคือความสวยงามของการทำตามความหลงใหล ทำในสิ่งที่คนอื่นไม่เคยทำ มันน่าสนใจที่ บ.ก.บางคนนั้นชอบการแข่งขันในกลุ่ม บ.ก.กันเอง พวกเขาล้วนอยากทำนิตยสารที่ดีที่สุด พวกเขาจะแบบ ‘โอเค ฉันจะทำเล่มของฉันให้ดีกว่าเล่มของคนอื่นได้ยังไง’ (หัวเราะ) และนั่นก็เป็นผลดีต่อตัวนิตยสารเช่นกัน

 

NANG Magazine

 

NANG Magazine เล่าให้ฟังหน่อยได้ไหมว่าขั้นตอนการทำแต่ละฉบับเป็นอย่างไร

เริ่มจากการเลือก บ.ก. ผมไม่มีสูตรตายตัวในการเลือกเลย บางคนเป็นเพื่อนกัน บางคนคือคนที่ผมชอบงานเขามานานหรือชอบไอเดียที่เขาเสนอ การทำงานกับพวกเขานั้นเครียด แต่การทำงานกับเพื่อนตัวเองก็เครียดเหมือนกันนะ (หัวเราะ) การเลือกคนมาทำงานเป็นความสมดุลที่ละเอียดอ่อน เหนืออื่นใด ผมต้องแน่ใจว่า บ.ก.ทุกคนสามารถทำงานภายใต้กรอบเวลาได้

เราทำปีละ 2 ฉบับ ทำให้เสร็จทีละ 1 ฉบับ แต่ในขณะเดียวกัน เราก็ไม่ได้ฟิกเวลาว่าต้องทำฉบับก่อนหน้าให้เสร็จก่อนถึงจะทำอีกฉบับได้ แต่ละฉบับก็ทำควบคู่กันไป อย่างตอนนี้ผมเพิ่งทำฉบับที่ 7 เสร็จ และกำลังเดินเครื่องเต็มกำลังกับฉบับที่ 8 ในขณะเดียวกันก็กำลังเตรียมงานฉบับที่ 9 และเลือก บ.ก. ฉบับที่ 10 เรียบร้อยแล้ว อาจเพราะแต่ละฉบับนั้นมีเนื้อหาที่เหนือกาลเวลา ผมคิดว่านั่นทำให้เราทำงานกันแบบนี้ได้

 

NANG Magazine ความท้าทายของการทำงานนี้คืออะไร

การทำงานภายใต้ระยะเวลาที่จำกัด ผมต้องบริหารทุกองค์ประกอบให้งานสามารถเดินได้ และยังเป็นนิตยสารที่พัฒนาอย่างยั่งยืนด้วยเหมือนกัน เพราะฉะนั้นผมจึงต้องบริหารกำไร ยอดขาย ให้สามารถทำต่อได้ นอกจากนี้ ผมยังมีจำนวนคนทำงานที่จำกัด จึงสร้างความกดดันมากๆ ในแง่การทำงานภายใต้ระยะเวลาที่มี

 

 

NANG Magazine ได้ยินมาว่าคุณจะทำแค่ 10 ฉบับ ทำไมถึงจำกัดไว้แค่นั้น

NANG เป็นสื่อสิ่งพิมพ์เชิงทดลอง นั่นคือเหตุผลว่าทำไมมันถึงจำกัดแค่ 10 ฉบับ ผมคิดว่าวิธีที่ดีที่สุดที่จะจำกัดความ NANG คือมันเป็นนิตยสารที่ ‘สะสมได้’ ที่เก็บง่าย และเป็นสิ่งที่คนอ่านจะกลับมาอ่านได้ตลอด หากมองจากมุมนั้น สิ่งที่เราตีพิมพ์นั้นต้องเป็นสิ่งที่ไม่เคยเผยแพร่ที่ไหนมาก่อน มีงานเขียนและรูปภาพที่มีคุณภาพและหลากหลาย นี่แหละที่ทำให้ NANG แตกต่าง

และเพราะมี บ.ก.รับเชิญนี่แหละที่ทำให้โครงสร้างในการทำนิตยสารนั้นมีความซับซ้อน เป็นอีกเหตุผลที่เราต้องทำนิตยสารที่จำกัดจำนวนเล่มอย่างชัดเจน อีกใจผมก็คิดว่า ทำไมจะไม่ทำล่ะ เพราะทุกคนก็รู้อยู่แล้วว่านิตยสารแต่ละเล่มมีเวลาชีวิตที่จำกัดของมัน นิตยสารหลายๆ เล่มทำต่อเพียงเพราะพวกเขาต้องทำต่อ หลายครั้งที่พวกเขารู้สึกว่า ‘โอ้ ต้องทำฉบับใหม่แล้ว เราจะทำอะไรดี’

เพราะฉะนั้น ทำไมถึงไม่กำหนดไปเลยล่ะว่ามี 10 ฉบับตั้งแต่แรก เราก็จะได้เฉลิมฉลองทั้งจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุด ตอนจบของนิตยสารเราจะได้ไม่ต้องเศร้า

 

 

ทั้งๆ ที่เราสามารถสร้างคอนเทนต์เกี่ยวกับหนังได้ในหลายรูปแบบ เช่น บล็อก วิดีโอ แฟนเพจเฟซบุ๊ก ทำไมคุณถึงเลือกทำออกมาในรูปแบบสื่อสิ่งพิมพ์ล่ะ

นิตยสารมีลำดับการเผยแพร่ของมันเป็นประจำ แต่สำหรับผม มันคือเรื่องความสำคัญของสื่อสิ่งพิมพ์ด้วย ผมชอบสิ่งพิมพ์ ประสบการณ์การอ่านงานพิมพ์ และอย่างที่บอกไป ผมพยายามทำนิตยสารประเภทอื่นที่ไม่ใช่นิตยสารหนังปกติ นอกจากนี้ ผมยังชอบ ‘การคุยกัน’ ระหว่างภาพและข้อความ สิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อเราเริ่มใส่รูปภาพลงบนหน้ากระดาษ นี่คือองค์ประกอบที่ทำให้ผมหลงใหลในนิตยสารที่เป็นสิ่งพิมพ์ นอกจากนี้มันยังเป็นสิ่งที่สะดวกต่อการสะสม มันเป็นไปไม่ได้เลยที่คุณจะสามารถสะสมหน้าเว็บเก่าๆ ไว้เพราะมันจะหายไปทันทีหากเจ้าของเว็บหยุดจ่ายเงินสำหรับเว็บไซต์ แต่เมื่อคุณตีพิมพ์บางอย่าง สิ่งนั้นจะอยู่ไปอีกนาน

 


Cazzaro’s Favorite NANGs

ในฐานะที่คลุกคลีและมีความรักในหนังเอเชียอย่างเต็มเปี่ยม เราจึงขอให้คาซซาโรเลือก ‘หนังเอเชีย’ ที่เขาประทับใจที่สุดมา 3 เรื่องให้เราและคุณผู้อ่านตามไปดู จะเป็นเรื่องอะไรบ้าง คำตอบและตัวอย่างอยู่ด้านล่างแล้ว

Lies (1999)
Director: Jang Sun-woo
Country: South Korea

 

Goodbye, Dragon Inn (2003)
Director: Tsai Ming-liang
Country: Taiwan

 

Singapore GaGa (2005)
Director: Tan Pin Pin
Country: Singapore

 


ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับ NANG Magazine ได้ ที่นี่

 

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรม และศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อย รวบรวมผลงานไว้ที่ pathipolr.myportfolio.com