สมาธิดีไซน์ : รวมงานศิลปะและดีไซน์ที่ช่วยสงบจิตสงบใจในยามอยากกรี๊ดดังๆ

Highlights

  • หากดูเทรนด์ของปี 2019 ทักษะที่คนทำงานจำนวนมากเน้นสร้างมักเป็นเรื่องเชิงวิชาชีพเป็นหลัก แต่เมื่อโควิด-19 มาเยือน การทำสมาธิกลับกลายเป็นหนึ่งในทักษะที่คนอยากเรียนรู้มากที่สุดในปี 2020
  • การทำสมาธิในยุคนี้ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ที่วัดเสมอไป เพราะงานออกแบบและศิลปะจำนวนมากถูกผลิตมาเพื่อให้คนทำสมาธิได้ง่ายขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ทำสมาธิกลางชินจูกุที่มีดีไซน์มินิมอลแบบสปา ห้องทำสมาธิในออฟฟิศโดยเฉพาะ ไปจนถึงการ์ตูน Sesame Street ตอนพิเศษเรื่องการทำสมาธิ

สมาธิ

จากรายงานของ World Economic Forum 10 ทักษะที่คนทำงานสนใจเรียนรู้มากที่สุดในปี 2020 อันดับที่ 5 คือ การทำสมาธิ (meditation) ไม่เพียงเท่านั้น อันดับอื่นๆ ยังเป็นทักษะเชิงอารมณ์และสังคมแทบทั้งหมด อย่างการรับฟัง การมีสติ หรือความเมตตากรุณา ต่างกันอย่างสิ้นเชิงจากปี 2019 ที่คนมักเทความสนใจไปที่ทักษะทางวิชาชีพอย่าง algorithm, cloud computing หรือ deep learning

จะว่าเป็นสถิติที่น่าแปลกใจก็ไม่เชิง เพราะในปี 2020 ความท้าทายทางเทคโนโลยีกลายเป็นเรื่องรอง หรือเผลอๆ อาจจิ๊บจ๊อยไปเลยด้วยซ้ำเมื่อเทียบกับวิกฤตมากมายที่อุบัติขึ้นท้าทายมนุษย์โลก ท่ามกลางความเปราะบางและสั่นไหว ทักษะอย่าง ‘การทำสมาธิ’ จึงเป็นเหมือนชุดปฐมพยาบาลทางใจที่หลายคนแสวงหาในปีที่ผ่านมา 

 

อย่าเพิ่งนึกถึงพิธีกรรมทางศาสนา เพราะปัจจุบันมีงานวิจัยทางประสาทวิทยาศาสตร์นับไม่ถ้วนที่ศึกษาเรื่องการทำสมาธิอย่างจริงจังและรายงานถึงคุณประโยชน์มากมาย ทั้งช่วยเรื่องความคิด ความทรงจำ ความเข้าอกเข้าใจผู้อื่น ช่วยรักษาสมดุลทางอารมณ์ ไปจนถึงกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ แต่มากกว่าประโยชน์ใดๆ สำหรับตัวผมเอง การทำสมาธิคือช่วงเวลาสั้นๆ ที่เราจะได้มีโอกาสเชื่อมต่อกับตัวเองบ้างท่ามกลางโลกที่บังคับให้เราต้องเชื่อมต่อกับสิ่งอื่นตลอดเวลา

ความท้าทายของการฝึกสมาธิคือเราไม่สามารถเรียนรู้ได้ด้วยการอ่านหรือรับความรู้จากผู้เชี่ยวชาญเพียงอย่างเดียว แต่ต้องลงมือปฏิบัติด้วยตัวเอง และใช่ว่าการเริ่มต้นฝึกสมาธิจะทำได้ง่ายๆ สำหรับทุกคนซะที่ไหน (ลองรำลึกความทรงจำในคาบพระพุทธฯ ที่เราโดนบังคับให้นั่งสมาธิคงพอนึกออก) กำแพงทางศาสนาและขั้นตอนการปฏิบัติที่ถ่ายทอดให้เข้าใจยากเข้าขั้นแอ็บสแตรกท์คือปราการด่านใหญ่ที่กั้นผู้คนจากทักษะนี้

แต่ท่ามกลางความท้าทายนี้ ยังมีคนที่พยายามสร้างสะพานเชื่อมให้ผู้คนทั่วโลกสามารถเข้าถึงการทำสมาธิได้ง่ายขึ้นโดยไม่ต้องผ่านศาสนาหรือพิธีเคารพบูชาอะไร

สะพานนั้นเรียกว่า ‘ศิลปะและงานออกแบบ’

 

สมาธิสเปซ

หลายปีก่อนเมื่อครั้งไปเที่ยวโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ผมลองเสิร์ชหาสถานที่น่าสนใจไม่ไกลจากที่พักและพบกับสถานที่ชื่อ Muon Meditation Studio เมื่อได้อ่านก็พบว่ามันคือ ‘สถานที่นั่งสมาธิ’ ที่ตั้งอยู่ใจกลางชินจูกุ ย่านที่มีผู้คนพลุกพล่านที่สุดในโตเกียว ตอนนั้นผมอุทานขึ้นมาในใจว่า “เฮ้ย มันมีที่สำหรับนั่งสมาธิที่ไม่ใช่วัดด้วยว่ะ”

แม้ไม่ได้เข้าไปใช้บริการเพราะต้องจองล่วงหน้า แต่ดูจากภาพก็พอจะเห็นว่าบรรยากาศของ ‘สมาธิสถาน’ แห่งนี้ นอกจากจะไม่ใกล้เคียงกับวัดหรือสถานปฏิบัติธรรมยังดูจะใกล้เคียงกับสปาหรือฟิตเนสมากกว่าด้วยซ้ำ ตั้งแต่รีเซปชั่นตกแต่งแบบมินิมอล ทางเดินแคบและยาวที่มีแค่แสงสลัวนำทาง ห้องล็อกเกอร์ให้เราวางสัมภาระทุกอย่างเอาไว้ และห้องสำหรับทำสมาธิที่ไม่ได้มีอาสนและพระประธานแต่มีเพียงแท่งไฟสีเหลืองอุ่นให้คนนั่งลงตรงหน้าและใช้แสงไฟนั้นเป็นตัวช่วยทำสมาธิและกำหนดใจ

สมาธิ

สมาธิ

สมาธิ

ภาพ : ondesign.co.jp/city/interior/2536

หลายคนสนใจการทำสมาธิ แต่สถานที่อย่างวัดหรือสถานปฏิบัติธรรมก็ห่างไกลจากไลฟ์สไตล์หรือแม้แต่ความเชื่อของคนคนนั้น การออกแบบพื้นที่อย่าง Muon จึงช่วยปลดพันธนาการการนั่งสมาธิที่เคยผูกติดอยู่กับพื้นที่ทางศาสนาและเปิดพื้นที่ให้คนกลุ่มใหม่ๆ เข้ามาเรียนรู้ทักษะนี้

แม้ไม่มีอะไรใกล้เคียงกับศาสนสถาน แต่ ondesign สตูดิโอผู้ออกแบบสมาธิสถานเล่าว่าทุกประสบการณ์ที่เกิดขึ้นในนี้ออกแบบโดยอ้างอิงจากประสบการณ์ในศาสนสถานและห้องชงชาในวัฒนธรรมญี่ปุ่นเกือบทั้งหมด เช่น ทางเดินยาวนั้นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของศาลเจ้าญี่ปุ่น (นอกจากจะทำให้บริเวณวัดสงบจากการรบกวนของเขตเมืองยังเป็นกุศโลบายให้ผู้มาเยือนละทิ้งเรื่องราวของโลกภายนอกไว้ข้างหลัง) ส่วนห้องนั่งสมาธิได้แรงบันดาลใจมาจากป่าไผ่ที่เห็นตามวัดญี่ปุ่น ซึ่งช่วยสร้างประสบการณ์ของความสันโดษแม้ผู้ใช้บริการจะเพิ่งเดินฝ่าคลื่นมนุษย์ในชินจูกุมาเดี๋ยวเดียว

สมาธิ

สมาธิสถานหรือห้องสมาธิ เป็นสัญญาณบอกว่า ‘ความสงบ’ กลายเป็นสิ่งมีค่าและเป็นที่ต้องการในสภาพแวดล้อมที่วุ่นวายและหาความสงบได้ยากอย่างเขตเมือง โดยเฉพาะในออฟฟิศ ล่าสุดสตูดิโอออกแบบอย่าง Office Of Things จึงทำโปรเจกต์ออกแบบห้องสมาธิสำหรับติดตั้งในที่ทำงานโดยเฉพาะ เป็นโครงการระยะยาวเพื่อค้นหาคำตอบว่า การมีพื้นที่ผ่อนคลายจิตใจในสถานที่ทำงานจะสร้างประโยชน์อะไรให้กับคนและองค์กรบ้าง

สมาธิ

ภาพ : oo-t.co

ในออฟฟิศปกติ เมื่อพนักงานอยากหลบออกไปพักสมองจากงานเป็นเวลาสั้นๆ ห้องครัว ตู้กดน้ำ หรือพื้นที่สูบบุหรี่อาจจะเป็นคำตอบ แต่หลายครั้งในสถานที่เหล่านั้นเราก็ยังไม่วายต้องเจอกับเพื่อนร่วมงานและบทสนทนาที่สุดท้ายทำให้เราไม่ได้อยู่กับตัวเองอยู่ดี ห้องสมาธิจึงถูกออกแบบมาให้เข้าไปได้ทีละคน ภายในมีเบาะนุ่มๆ บุไว้รอบ บนเพดานออกแบบแสงช่วยให้เกิดความสงบ และเสียงเงียบที่ทำให้เราเหมือนหลุดเข้าไปอีกโลกในเวลาสั้นๆ ก่อนจะกลับมาทำงานด้วยความสดชื่น สามารถโฟกัสและตัดสินใจกับงานตรงหน้าได้ดีขึ้น

ปัจจุบันห้องสมาธิถูกนำไปติดตั้งในออฟฟิศระดับโลกอย่างยูทูบและกูเกิล แม้ตอนนี้จะเข้าสู่ช่วงเวิร์กฟรอมโฮม (อีกครั้ง) แต่ในช่วงเวลาที่อยู่บ้าน งานและชีวิตอาจกลืนกันเป็นเนื้อเดียว ผมคิดว่าการหาพื้นที่ทำสมาธิเพื่อพักใจ พักจากงาน และเชื่อมต่อกับตัวเองก็ยังคงเป็นสิ่งจำเป็น

 

สมาธิทีวี

หากนึกถึงสื่อที่ช่วยฝึกสมาธิ ความคิดแรกคงหนีไม่พ้นเทปเสียงธรรมะ “หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ” ที่เราคุ้นหูตั้งแต่เด็ก ตอนนั้นฟังทีไรเป็นนั่งหลับสัปหงก และตัวผมในตอนนั้นก็นึกไม่ถึงว่าในอนาคตจะมีสื่อช่วยฝึกสมาธิในรูปแบบที่ทั้งน่ารักและสนุกอย่างแอนิเมชั่น

Headspace Guide to Meditation คือซีรีส์แอนิเมชั่นโดย Andy Puddicombe ผู้สอนเรื่องการทำสมาธิและผู้ก่อตั้ง Headspace บริษัทเทคโนโลยีที่ส่งเสริมการดูแลสุขภาพด้วยการทำสมาธิ (พวกเขาเป็นที่รู้จักจากแอพพลิเคชั่นฝึกทำสมาธิในชื่อเดียวกัน) ซีรีส์ชุดนี้เกิดขึ้นจากคำถามง่ายๆ ว่า “เราจะพา Headspace ไปอยู่ในที่ที่เหนือความคาดหมายกว่านี้ได้ยังไง?” และเน็ตฟลิกซ์คือคำตอบ

ซีรีส์นี้ออกฉายในวันที่ 1 มกราคม 2021 พอเหมาะพอดีกับช่วงที่บางคนต้องกักตัวอยู่บ้านในช่วงการระบาดของโควิด-19 ที่ทำเอาชีวิตสั่นคลอน “รายการนี้เป็นเสมือนเครื่องมือที่คนสามารถเก็บไว้ในกล่องเครื่องมือของตัวเอง เพื่อเตรียมพร้อมเผชิญหน้ากับอะไรก็ตามที่กำลังจะเกิดขึ้น” Morgan Selzer หัวหน้าทีมคอนเทนต์และโปรดิวเซอร์พูดถึงซีรีส์สมาธิชุดนี้

สมาธิ

เนื้อหาแต่ละตอนเล่าเรื่องตั้งแต่การปล่อยวาง การทำความรู้จักความโกรธ การจัดการกับความเจ็บปวด ฯลฯ แม้ฟังดูเป็นเรื่องหนักแต่การเล่ามันออกมาใช่ว่าจะต้องเคร่งเครียด กลับกันแอนิเมชั่นเรื่องนี้คุยกับเราด้วยน้ำเสียงเป็นกันเองและลายเส้นน่ารักจนลืมว่าเนื้อหาที่แท้จริงอาจไม่ได้ต่างจากเทปธรรมะที่เคยฟังตอนเด็กๆ เลย 

ความยาวของแต่ละตอนออกแบบให้อยู่ที่ราวๆ 20 นาทีเพื่อไม่ให้หนักเกินไปจนกลายเป็นเครียด ครึ่งแรกเป็นเนื้อหา เรื่องราวของตัวละคร ส่วนครึ่งหลังว่าด้วยการฝึกสมาธิรูปแบบต่างๆ เช่น ช่วยเรากำหนดจังหวะการหายใจหรือการเคลื่อนความรู้สึกไปตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย เรื่องเหล่านี้ถ้าแค่ฟังเฉยๆ อาจนึกภาพตามไม่ออก แต่เมื่อเห็นแอนิเมชั่นลูกบอลกลมๆ กลิ้งไปตามร่างกายเราก็ทำให้นึกภาพตามได้ง่ายขึ้น

ก่อนหน้านี้ Headspace เคยร่วมมือกับการ์ตูนในตำนานอย่าง Sesame Street ผลิตการ์ตูนซีรีส์ที่ชื่อ Monster Meditation ที่พาตัวการ์ตูนอย่างเอลโมหรือคุกกี้มอนสเตอร์มาสอนเทคนิคการหายใจและทำสมาธิเพื่อคลายความตึงเครียดให้เด็กๆ ใครกักตัวอยู่บ้านพร้อมกับลูก นี่อาจเป็นทางออกที่ช่วยผ่อนคลายได้ทั้งครอบครัว

 

สมาธิเทคโนโลยี

ถ้าถามว่าอะไรเป็นปัจจัยที่กระชากสมาธิและพัดพาสติของเราให้กระเจิงมากที่สุด หนึ่งในคำตอบคงหนีไม่พ้นเทคโนโลยี ตั้งแต่เรื่องราวในนิวส์ฟีดที่ไล่ตามเท่าไหร่ก็ไม่เคยทัน ไปจนถึงโนติฟิเคชั่นที่เด้งเตือนขึ้นมาทุกห้านาที ในยามที่อยากดึงสติกลับมาสู่เนื้อตัว การหลีกหนีเทคโนโลยีก็ดูจะเป็นทางออกที่ดี

แต่นั่นก็อาจไม่ใช่ทางออกเดียว สำหรับบางคนที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงจากมันได้ เทคโนโลยีอาจมีส่วนช่วยให้เรามีสมาธิและเรียกสติกลับมาได้เช่นกัน

แอพพลิเคชั่นอย่าง Headspace, Calm หรือ Breathe มีรูปแบบคล้ายแบบฝึกหัดสมาธิประจำวัน แอพฯ เหล่านี้ใช้ประโยชน์จากการออกแบบเสียงและภาพ ทำหน้าที่เสมือนเป็นไกด์ให้ลมหายใจของเราปรับเข้าสู่โหมดความสงบได้เร็วขึ้น

และเมื่อมีเทคโนโลยีอย่าง Muse อุปกรณ์สวมศีรษะที่มีไว้สำหรับตรวจจับคลื่นความถี่ในสมองหรือ EEG (Electroencephalography) นอกจากจะได้ฝึกสมาธิแล้ว เรายังสามารถ ‘เห็น’ สมาธิของตัวเองอย่างเป็นรูปธรรมด้วยการติดตามการเปลี่ยนแปลงคลื่นสมองของตัวเองในแต่ละวันด้วย 

และเป็นเทคโนโลยีอย่าง EEG นี่เองที่ทำให้คำที่เราได้ยินบ่อยๆ ในการฝึกสมาธิอย่าง ‘มองดูความคิดที่เกิดขึ้น’ หรือ ‘เท่าทันอารมณ์ของตัวเอง’ จับต้องได้มากขึ้น

ศิลปิน Lisa Park ใช้เครื่องมือรูปแบบใกล้เคียงกันสร้างงานศิลปะจัดวางกึ่งเพอร์ฟอร์แมนซ์ชื่อ Eunoia II ในงานนั้นเธอสวมอุปกรณ์จับคลื่นความถี่สมองไว้บนศีรษะและทำสมาธิ ความถี่ที่เกิดขึ้นในสมองของเธอจะสะท้อนออกมาเป็นวงกระเพื่อมของน้ำที่จัดวางไว้รอบๆ ยิ่งคลื่นในหัวสงบมากเท่าไหร่ คลื่นข้างนอกก็สงบเท่านั้น

หรืองานศิลปะชื่อ Mind Mirror โดยศิลปิน Freyja Sewell ก็ใช้เทคโนโลยี EEG สร้างอุปกรณ์สวมศีรษะที่ทำให้ผู้นั่งสมาธิสามารถมองเห็นสมาธิของตัวเองเป็นโมชั่นกราฟิก เสมือนได้ ‘ส่องกระจกใจ’ ตามชื่องาน การได้เห็นภาพคลื่นสมองของตัวเองกระเพื่อมอยู่บนสมาร์ตโฟนช่วยให้ผู้ฝึกสมาธิเรียนรู้ว่าต้องปฏิบัติแบบใดคลื่นสมองจึงจะอยู่ในสภาวะสงบที่สุด

แม้สมาธิจะมีข้อดีมากมาย แต่หากทำสมาธิแล้วไม่หายวุ่นวายใจร้อยเปอร์เซ็นต์ก็อย่าเพิ่งรีบโทษตัวเองหรือการทำสมาธิไปเสียก่อน

“มันไม่ใช่คทาวิเศษที่เสกปิ๊งแล้วปี 2021 จะดีขึ้นในทันตา แต่มันคือวิธีที่เราจะดูแลจิตใจตัวเองให้ผ่านปีนี้ไปได้” Morgan Selzer พูดถึงซีรีส์ Headspace Guide to Meditation และเขาคงหมายถึงการทำสมาธิด้วย

อย่างที่เขาบอก สมาธิคือ ‘เครื่องมือ’ หนึ่งที่ใครจะหยิบใช้เมื่อไหร่ก็ได้ และศิลปะและการออกแบบก็ช่วยให้คนเข้าถึงเครื่องมือชุดนี้ได้ง่ายขึ้น–การออกแบบพื้นที่ทำหน้าที่สลายพรมแดน เปิดกว้างให้สมาธิไม่ถูกจำกัดอยู่ในกรอบของศาสนา การออกแบบสื่อช่วยทำเรื่องเข้าใจยากให้เข้าใจง่าย การออกแบบเทคโนโลยีช่วยอำนวยความสะดวกให้การใช้เครื่องมือนี้เป็นไปได้ง่ายขึ้น

 

สุดท้าย ผมอยากลองชวนทุกคนหายใจเข้าลึกๆ และหายใจออกยาวๆ…ช้าๆ สักสิบรอบ

ทำสมาธิให้กำลังใจตัวเองสักหนึ่งที ก่อนออกไปลุยกับปี 2021 ให้เต็มที่


อ้างอิง

ondesign.co.jp

vulture.com

weforum.org

AUTHOR